ว่ากันว่านอกจากรายการเด็ก รายการสารคดีแล้ว รายการที่มุ่งให้ความรู้ การศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้คนทีวีดูไม่ฉลาดสักเท่าไหร่หากคิดแสวงหาผลประโยชน์ในรูปของเงินตรา
แต่ถึงแม้เรื่องจริงจะชวนให้น่าน้อยใจสำหรับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทว่าก็มักจะมีคนทีวีบางส่วนพร้อมจะเป็นคนไม่ฉลาดอย่างที่ว่าอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ณ. ปัจจุบัน หนึ่งในรายการเหล่านี้ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือรายการที่มีชื่อว่า "ติวเตอร์" ทาง Happy Vareity ของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
"รู้สึกว่าจากการประเมินก็ดีนะ เด็กชอบ พ่อแม่ดีใจโทรมาขอบคุณที่ astv เยอะด้วย..." สนชัย ลิ้มทองกุล ผู้บริหาร CampusTVOnline เผยถึงกระแสตอบรับหลังต่อยอดนำร่องนำเอารายการ "tutor" มาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ทางช่อง Happy Vareity (astv3) ในช่วงเวลา 17.00 - 17.30 น. ทุกๆ วันจันทร์ - ศุกร์ ในช่วงระยะเวลานาน 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา
หากย้อนกลับไปถึงการสอนหนังสือผ่านหน้าจอทีวีนั้นที่เด่นๆ และเป็นงานเป็นการที่สุดก็คือสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (สศทท.) วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ด้วยรูปแบบที่ค่อนข้างจะเป็นทางการนั่นเองที่ทำให้ของดีๆ นี้ไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่
"เราก็เลยเอารูปแบบของการสอนแบบกวดวิชามาใช้ อาจารย์ที่สอนก็เป็นอาจารย์ที่เขาอยู่ในโรงเรียนกวดวิชาอยู่แล้ว ก็ไปเคลียร์กับทางอาจารย์ ไปเคลียร์เนื้อหากับอาจารย์ก่อนว่าจะเผยแพร่อย่างไร ผู้ปกครองหลายคนก็ดีใจ"
"ต้องบอกว่ารูปแบบการเรียนเนี่ยมันเหมือนกับรูปแบบกวดวิชาชั้นนำเลย แต่ว่าสามารถเรียนได้ทางคอมพิวเตอร์และทางโทรทัศน์ คือที่เราเอามาออกทางทีวีก็เพราะเรามองว่าบางทีเด็กๆ ไม่ค่อยจะมีเวลาในการเดินทางไปเรียน แล้วอีกอย่างราคามันก็ค่อนข้างจะแพง แต่ตรงนี้คือฟรี"
"แล้วเด็กที่เรียนกับอาจารย์พวกนี้เขาก็บอกว่าเหมือนกันเลย คุณภาพเหมือนกันไม่แตกต่าง เรารู้สึกดีใจนะที่มันไม่แตกต่างจะได้ไม่ต้องออก ไปนอกบ้าน ไม่ต้องไปเสี่ยงกับสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้อง ส่งลูกเรียนแล้วไปนั่งรอในห้าง คือมันคือคอนเซ็ปต์ที่เราต้องการทำอะไรเพื่อสังคม”
สนชัยบอกว่าโครงการนี้มีส่วนทำให้บรรดาเจ้าของโรงเรียนสอนกวดวิชาดูท่าจะไม่ยินดีเท่าไหร่เหตุเพราะผลประโยชน์ที่เสียไป ส่วนเรื่องของการหาโฆษณาเพื่อมาสนับสนุนทาง astv3 นั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่
"ก็มีคนสนใจพอประมาณ แต่ก็มีส่วนใหญ่ที่มองว่าเด็กจะยอมดูอยู่กับเราหรือ ทีนี้พอดูยอดจากคอลเซ็นเตอร์ที่ติดต่อเข้ามาความรู้สึกพวกสปอนเซอร์ก็ดีขึ้น ก็กำลังคิดว่าจะเริ่มลงเขาหาคำตอบของเขาก่อนว่าเด็กนักเรียนจะยอมเปลี่ยนพฤติกรรมมั้ย ที่เคยไปนั่งเรียนตามศูนย์การค้า ห้องเรียน แล้วเขาจะยอมเรียนหน้าจอมั้ย หน้าคอมมั้ย"
"อีกอย่างนะบางทีอาจารย์ดังๆ เนี่ยคอร์สสอนสด ไม่มีหรอกครับ ดีวีดีทั้งนั้น แล้วเมื่อคุณจะต้องดูวิดีโอเนี่ยคุณนั่งหน้าคอมก็เหมือนกัน แถมเรายังมีอาจารย์ วิชาประจำภาควิชาคอยตอบคำถามหน้าเว็บบอร์ดอีก อ.ก็จะมาตอบคำถามให้ด้วย แล้วคำถามก็รวบรวมขึ้นบอร์ดไว้ แล้วเด็กก็มาเปิดอ่าน นี่เราเพิ่งผ่านระยะทดลอง ตอนนี้ผลโอเค เราก็จะเริ่มประชาสัมพันธ์น่ะครับ”
"แรกๆ คนสอนก็หายากอยู่นะเพราะอาจารย์ที่สอน ในโรงเรียนกวดวิชา เนี่ยเขาไม่ค่อยยินดีมาสอนออกทีวีหรอก มาก็เรียกค่าตัวแพงมาก เพราะเขาถือว่าออกอากาศแล้วเด็กก็อัดเทปไว้ได้เลย พออัดเทปไว้ได้ก็ไม่มีคนมาเรียนกับเขา เขาก็เสียรายได้ แล้วเขาก็ไม่ต้องการจะทำแบบนี้"
"คือมันก็มีเรื่องงผลประโยชน์เป็นหลักอยู่น่ะ มองรายได้เป็นเรื่องใหญ่เราก็คงโทษเขาไม่ได้ ก็มีเยอะที่กล่าวโจมตีเราในเว็บบอร์ดว่าทำโรงเรียนกวดวิชาเสียรายได้ ก็ช่วยให้เด็กได้เรียนในราคาถูกน่ะ ไม่เป็นไร ทีมที่เขาทำกับเราเขาก็แฮปปี้นะ เขาก็เชื่อว่าถ้ามันเวิร์คก็อยากทำให้สังคมมั่ง มันเรื่องของจิตใจมากกว่า”
...
ยุค "ครู" ไม่อยู่โรงเรียน
การเกิดขึ้นอย่างมากมายของโรงเรียนกวดวิชาทำให้ปัจจุบันหายากทีเดียวที่เหล่าที่ได้ชื่อว่า ครู ทั้งหลายจะอยู่ในโรงเรียนเหมือนที่เราคุ้นเคยในมุมมองของ "ฮ้วง เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร" หนึ่งในทีมอาจารย์ที่สอนอยู่ในรายการ "tutor"
"ครูบางคนเนี่ยจบด็อกเตอร์มาเลยนะคะ บางคนไม่ยอมไปเป็นครูตามมหาวิทยาลัย มาเป็นครูสอนตามโรงเรียนกวดวิชา คือมาสอนเป็นอาชีพหลัก พอมาประสบความสำเร็จก็จะเปิดเป็นโรงเรียนของตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นแพทเทิร์นนี้น่ะค่ะ สำหรับเดี๋ยวนี้”
“ที่ผ่านมากระแสอะไรมันยังไม่เท่านี้นะ ยังไม่แข่งกันขนาดนี้ ในห้องก็เรียนกันเงียบๆ ครูก็สอนเก่ง แต่มันก็หวือหวาขึ้นห้องก็ต้องมีสีสันสวยงาม คือที่ไหนไม่สวยเนี่ยจะดูโรยไปเลย ก่อนหน้านี้โรงเรียนที่เราสอนเนี่ยไม่ได้ปรับปรุง เพราะคิดว่ามันไม่น่าเกี่ยวกัน ไม่จำเป็น เราให้ความรู้อย่างเดียว เราเน้นความรู้อยู่แล้ว"
"ปรากฏว่ามันกระทบเหมือนกันนะ พอมีโรงเรียนหนึ่งสีสันสวยงามน่ารักมาเลย เด็กเขาก็อยากลอง ก็เลยเปลี่ยนกันหมดเลยทั้งสยาม บางทีสร้างโรงเรียนเหมือนสปาไปเลย”
ถามถึงเหตุผลคำตอบก็คงจะอยู่ที่นิยามตลกๆ ของระบบทุนนิยมที่ว่า ของดีฟรีๆ ถูกๆ ไม่มีในโลกนั่นเอง
“เอาเป็นว่าพอเขารู้ว่าครูคนไหนสอนเก่งเนี่ยจ้างหมดถ้ากำลังทรัพย์ไหว ขนาดกำลังทรัพย์ไม่ไหวก็ยังให้คุณแม่ไปจำนำของก็มีค่ะ..(หัวเราะ) มันเหมือนกับว่าเขาก็อยากได้ของดี มันเหมือนกับเป็นสินค้าไปแล้วน่ะ"
"โรงเรียนบางโรงเรียนเนี่ยมีประมาณเด็กกับครูโอเค สมดุลก็แล้วไป การจัดคลาสก็ลงตัว ไม่เยอะมากครูดูแลทั่วถึงก็ดีไป อย่าเยอะมาก ถ้าคลาสหนึ่งนักเรียนน้อยบางโรงเรียนก็ค่าเทอมนี่เป็นแสนนะคะ คือโดยเฉลี่ยเด็กไทยเนี่ยจะประสบปัญหาเหมือนกันว่าครูน้อยเด็กเยอะ"
"ไหนครูจะต้องมีการตรวจการบ้าน ทำข้อสอบ แล้วครูตามโรงเรียนเนี่ย ทำหน้าที่แบบว่าเชิญผู้อำนวยการ อธิบดีมาเยี่ยมอะไรแบบนี้ เขามีหน้าที่อย่างอื่นอีก และอาจจะไม่มีเวลาที่จะจัดดูแลเด็ก แต่ครูที่ทำได้ก็มีนะ แต่ส่วนใหญ่ครูที่ทำได้ก็คือ บ้านพร้อมไม่จำเป็นต้องหาเงินแล้ว”
ธรรมชาติของการสอนในโรงเรียนกวดวิชานั้นอาจารย์สาวสวยเผยว่าจะต้องเอาตนเองไปอยู่ในโลกของเด็ก...
"มันจะต่างจากครูตามโรงเรียนนะ เพราะเวลาเราเป็นครูที่โรงเรียนเนี่ย ครูที่โรงเรียนสามารถเอาเด็กมาอยู่ในโลกของครู ต้องมีระเบียบมีวินัย กินข้าวต้องห้ามเสียงดัง อย่าคุยเสียงดัง"
"นั่นคือการเอาเด็กไปอยู่ในโลกของเรา แต่ว่าในโรงรียนกวดวิชาเนี่ย เราต้องรู้ว่าธรรมชาติเขาเป็นแบบนั้นคือพูดเสียงดัง เขาชอบเอะอะโวยวาย กรี๊ด เราต้องทำความเข้าใจน่ะค่ะ เป็นครูสอนกวดวิชาเราจะไปจี้เขาไม่ได้ จะไปคิดว่าทำไมเด็กไม่ไหว้ เด็กก้าวร้าว เขาก็จะไม่ชอบบทบาทมันจะแตกต่างกัน”
เผยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากไปเสียทีเดียวหากจับจุดได้
“การจะทำตัวเองให้เป็นที่รู้จักมันต้องใช้เวลาค่ะ มันไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วได้รับความนิยมทันที ต้องทำการบ้านหนัก แน่นอนว่าถ้าดังก็มีผลแน่ๆ ค่ะ ถ้าเป็นคนดังคนสนใจอยู่แล้ว แต่เราก็ใช้เวลาไม่นานหรอกค่ะ กว่าจะเข้าไปอยู่ในใจเด็กๆ ได้ มันอยู่ที่ว่าเราทำการบ้านหรือเปล่า"
"อย่างของเรานี่ใช้เวลา 5 เดือนค่ะ แต่เป็น 5 เดือนที่ทำการบ้านหนักมาก อ่านหนังสือทุกเล่ม ลงทุน ก็คือเงินที่เราลงทุนเนี่ยก็ใช่ว่าเราจะได้กำไรเสมอไปนะ เราก็เอาไปเรียนเพิ่มเติม ตอนแรกก็ยังสอนไม่เก่งใช่มั้ยเงินก็ไม่เยอะ ก็เอาเงินตรงนั้นไปใช้ลงทุนเรียนเพิ่ม ไปซื้อหนังสือ ลงเรียนที่ๆ เขาบอกดังๆ น่ะ ทุกที่เลย"
"แล้วเวลาสอนก็ดูความต้องการของเด็กว่าเด็กต่างจังหวัด หรือว่าเด็กสยาม ถ้าเราอยู่สยาม เราก็ทำตัวเป็นเด็กกรุงเทพ แต่ถ้าเราสอนปริมณฑลเราก็ต้องเห็นใจเด็กต่างจังหวัดด้วย เราจะไปพูดคำว่าบ้านนอกกับเด็กต่างจังหวัดไม่ได้"
"แต่ถ้าพูดกับเด็กสาขาสยาม เราพูดได้ อย่าพูดสำเนียงแบบนี้นะมันบ้านนอก เด็กก็ขำ มันต้องดูน่ะว่าสอนใครอยู่..."
...
"ดารา" หรือ "ครู"
หากพิจารณาจากบุคลิกของเหล่าติวเตอร์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ในรายการฯ ต้องยอมรับว่าทั้งหมดดูจะไม่มีภาพของการเป็นครู - อาจารย์ในแบบฉบับดั้งเดิมสักเท่าไหร่ หากแต่จะออกไปในทางของการเป็น "ดารา" เสียมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ อ.ฮ้วงเองก็ยอมรับว่ามันอาจจะต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นดาราที่มีสมองด้วย
"อย่างที่ฮ่องกงนี่ครูกวดวิชานี่เหมือนดาราเลยนะคะ แล้วก็ลูกค้าของสินค้าแบรนด์เนมเจ้าใหญ่ๆ เนี่ย คือครูกวดวิชา ครูใส่เสื้ออะไรไป เด็กก็จะมอง เด็กก็จะทำตาม ของเขาก็คือเป็นดาราเลยน่ะค่ะ มันเป็นสไตล์นั้นไปแล้ว”
“เราเหมือนโมเดลของเขาเลยนะ แต่ว่าต้องมีคุณธรรม เพราะว่าเด็กเนี่ยเป็นผ้าขาวจริงๆ ถ้าได้มาสอนจะรู้เลยว่าเดี๋ยวนี้เด็กเป็นตุ๊ดเยอะมาก เพราะว่าส่วนหนึ่งอาจารย์สอนกวดวิชาเป็นตุ๊ดเยอะ พอมาเรียนก็จะเจอคุณครู คุณครูก็ดูน่ารักจังเลย นักเรียนซึ่งกำลังงงๆ ว่าเราจะเป็นดีมั้ย พอมีแนวก็เออ..เป็นดีกว่า"
"หรือแม้แต่เด็กผู้หญิง สมัยเรียนครูจะสอนไม่ให้สะดีดสะดิ้ง แต่เดี๋ยวนี้อย่างเราเนี่ยเราสอนเนี่ย เราก็สะดีดสะดิ้งนะ ไม่งั้นเด็กมันก็ง่วงน่ะ เราก็รู้สึกผิดนะตอนแรกที่สอน สะดีดสะดิ้งทุกอย่าง คือให้เด็กสนใจ แต่เด็กคือผ้าขาวไงคะ เขาแยกแยะไม่ออกหรอกค่ะ เราต้องบอกเขาตรงนี้คำพูดเราท่าทางเราต้องเคลียร์นะคะ เพราะเวลาเราทำบ่อยๆ เขาไม่เคลียร์ไงว่าไหนชีวิตจริง ไหนวิธีการสอน"
"พอมีวันหนึ่งเราเห็นเด็กเล่นทำท่าเหมือนเราสอนก็เลยรู้สึกว่าเราพลาดแล้ว เราไปใส่ตรงนี้ในตัวเด็กซึ่ง จริงๆ เราต้องพยายาม เด็กทุกคนเดี๋ยวนี้แต่งตัวเป็นอั้มหมด ใส่เกาะอก ซีทรู ถ้ามาเรียนหนังสือมันก็ดูไม่งามน่ะ ตรงนั้นโรงเรียนกวดวิชาต้องระวัง เราต้องนึกไว้เสมอว่าเราก็เป็นครู เราต้องสอนเรื่องการปฏิบัติตัว ต้องสอนเขาด้วยค่ะ"
จากจำนวนของเด็กม.ปลายในหลักที่น่าจะเกือบครึ่งล้านของทั้งประเทศที่เข้าเรียนตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ ติวเตอร์สาวบอกว่ามีบางส่วนซึ่งอาจจะมิได้หวังเรื่องของความรู้อะไรมากมายนัก หากแต่ทำเพราะเป็นเรื่องของแฟชั่นรวมถึงการได้ออกจากบ้านในวันหยุดนั่นเอง
“ส่วนเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่คือเรียนปานกลางนะ ถ้าเก่งมากถึงขั้น1 ใน 5 ของประเทศเขาไม่มาเรียนแล้วค่ะ เขาเอาเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นเด็กใฝ่ดี อยกาเรียนเก่งเขาก็จะมาเรียนกวดวิชา เด็กบางกลุ่มก็คือไม่อยากอยู่บ้านเท่านั้นเอง แล้วก็ขอให้ได้ออกจากบ้านเท่านั้นก็มี มามองสาวๆ ในห้องก็มี แต่งตัวหล่อๆ สวยๆออกจากบ้าน แล้วเลือกสาขาอย่างสยามอะไรแบบนี้ก็มี ซึ่งพวกนี้แต่สาขาปริมณฑลจะไม่มีนะ”
ขณะที่อีกหนึ่งติวเตอร์อย่าง "เค ดิลก บัวรอด" อาจารย์สอนเคมี มองถึงเรื่องนี้ว่า...“ผมว่ามันมีหลายกลุ่มครับ ส่วนใหญ่จะมีกลุ่มที่ผู้ปกครองดำเนินการให้ต้องมาสมัครเรียนให้ แต่ก็จะมีอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนกัน ตัวเด็กเองที่ขวนขวายมาเรียนเอง ประเด็นหลักที่เขามาเรียนผมมองอย่างนี้นะครับว่าเขามุ่งหวังที่จะเข้ามหาวิทยาลัย เป็นประเด็นหลักเลย ประเด็นอื่นก็เป็นองค์ประกอบที่เข้ามารวมกัน"
"อย่างถ้าอยู่ระดับม.4-ม.5 เขาก็จะเน้นเพื่อให้เขาสอบได้คะแนนดีๆ เพราะเกรดต้องเอามาคิดในการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แนวโน้มของสถาบันกวดวิชามีแต่สูงขึ้นครับ คืออย่างนี้นะครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่สถาบันอุดมศึกษายังมีขีดความสามารถในการรับนักเรียนเข้าไปศึกษายังไม่พอ อย่างไรเสียมันก็มีการแข่งขันน่ะครับ เมื่อมีการแข่งขันสถาบันกวดวิชาก็เกิดขึ้นตลอด”
ส่วนหนึ่งในความคิดของเด็กหลายคนต่อการเข้าเรียนตามสถาบันกวดวิชาก็คือความคาดหวังที่จะได้เรื่องของสูตรลับ - สูตรลัด ที่ไม่มีอยู่ในโรงเรียนทั่วไปของกระทรวงศึกษาฯ แต่อย่างไรเสียในส่วนของเคแล้วเขาก็ยังรู้สึกว่าพื้นฐานและความจำก็ยังเป็นส่วนที่สำคัญอยู่
"ก็มีน้องมีเด็กหลายคนที่เป็นตัวแทนโอลิมปิก หรือเด็กเตรียมอุดม หลายคนจะบอกว่าเคยเรียนกวดวิชามั้ย เขาจะบอกไม่ได้เรียน แต่ว่าจะมีเล็กเช่อร์ มีอะไรเต็มไปหมดเลย”
“ของผมเวลาผมสอนเนี่ยสุดท้ายเราต้องยอมรับนิดหนึ่งครับว่ามาลงเอยด้วยความจำ แต่เราจะสอนให้เขาเข้าใจ เพราะถ้าเขาเข้าใจมันก็จะลงเอยไปสู่ความจำได้เอง เขาจะยอมรับและจำมันได้ง่ายขึ้น แม้ว่าต่อไปเขาจะลืม แต่เขาเคยมีความเข้าใจมาก่อน เขาก็จะใช้ความเข้าใจนั้นวิเคราะห์แล้วก็ดึงความจำมาใช้ได้อีก"
"แต่นี้มันมีปัญหาเยอะครับ เพราะเท่าที่ผมไปเรียนด็อกเตอร์เพิ่มเติ่มเนี่ย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเขาจะต่อต้าน สถาบันกวดวิชา ที่สอนให้เด็กจำอย่างเดียว แล้วพอเข้าไปในมหาวิทยาลัย มันก็มีแต่จำอย่างเดียว คิดได้ แต่แสดงวิธีทำไม่เป็น แสดงวิธีทำไม่ได้ สูตรลัดมันก็ดีน่ะครับ ถ้ามันออกมาตรง แต่ถ้าใช้แล้วมันจะมีเงื่อนไขในการใช้อยู่ ถ้าเด็กไม่รู้แล้วไปเจอโจทย์อีกแบบหนึ่งมันก็ไม่ตรงน่ะครับ”
“อีกอย่างเราสอนวัยรุ่น อันนี้ต้องมีศึกษามุกบ้าง เราก็ใช้ชีวิตประจำวันที่ผมเจอมาเรื่อยๆ เอาเรื่องตรงนั้นตรงนี้ มาคุย ถ้าเด็กเขาอยู่กับเราแล้วเราจะดึงเรื่องอะไรมาคุยมาสอนเนี่ยเขาฟังนะ มันมีหนังสือวิจัยเหมือนกันครับว่าเด็กเนี่ยจะให้ความสนใจกับเราเนี่ย แค่ไม่เกิน 15 นาที เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ต่างๆ เราควรจะลงไปได้เลย ชวนเขาออกนอกเรื่องไปซัก 2-3 นาทีแล้วก็กลับเข้ามาใหม่ เพื่อให้เขาได้รีเฟรชตัวเอง แล้วหลังจากนั้นก็กลับมาคุยกันต่อ”
แม้เด็กหลายคนจะมองว่าสายวิทย์ฯ เป็นสายการเรียนที่ค่อนข้างจะยากและพยายามหลีกเลี่ยง ทว่าในส่วนของอาจารย์หนุ่มแล้วเจ้าตัวกลับมองแตกต่างด้วยเหตุผลที่น่าสนใจว่า...
“ถ้าน้องคนไหนก็ตามที่หัวพอใช้ได้แล้วก็ไม่ใช่แบบว่าเกิดมาเพื่อเรียนสายศิลป์โดยเฉพาะนะผมว่าเรียนสายวิทย์ดีกว่า เพราะทุกสาขาวิชาที่สายวิทย์เรียนจะสอบได้หมด คือหมายความว่าทุกสาขาวิชาชีพสายวิทย์สอบได้หมด แต่สายศิลป์จะสอบไม่ได้"
"อย่างเด็กที่เพิ่งขึ้นม.4 ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน ถ้าเป็นไปได้ก็เรียนสายวิทย์ไว้ก็ดีครับ ดีกว่า มันกว้างกว่าเยอะ แต่ถ้าเรียนไปแล้วรู้ตัวมากขึ้นว่าควรไปทางไหน ก็ค่อยว่ากัน เพราะว่าบางทีมารู้ตัวว่าชอบวิศวะฯแต่ไม่ได้เรียนสายวิทย์มา ก็อาจอดไงครับ ฝากไว้แค่นี้แหละครับ”
***********