กรุงเทพ...
ขณะที่ข้างบ้านของไทยกำลังดำเนินการ ‘ฆ่าพระ’ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ความเงียบและความนิ่งเฉยกลับเป็นสิ่งเดียวที่รัฐบาลไทยทำ (อันที่จริงก็ไม่เงียบนัก รัฐบาลไทยก็ออกมาพูดนั่น พูดนี่อยู่บ้าง) คนในสังคมไทยและนานาประเทศจึงอดไม่ได้ที่จะถามว่า ทำไม?
ไม่บ่อยครั้งนักที่ในเวทีระหว่างประเทศจะยกให้ไทยขึ้นมามีอิทธิพลอยู่ในระดับเดียวกับมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีนและอินเดีย โดยเฉพาะในกรณีความรุนแรงในประเทศพม่า สังคมโลกคาดหวังและเชื่อว่าหากจีน อินเดีย และไทย ยอมที่จะละทิ้ง ‘ผลประโยชน์’ เพื่อแลกกับมนุษยธรรม อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลทหารพม่าก็คงไม่อำมหิตได้ถึงเพียงนี้ และอย่างมากที่สุดอาจหมายถึงการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเร็วกว่าที่คิด
แต่ความคาดหวังก็คือความคาดหวัง หลังจากที่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พูดในเวทีการประชุมสหประชาชาติถึงเหตุการณ์ในพม่าว่าไทยจะต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ไม่กี่วันต่อมาธนาคารเพื่อการส่งออกหรือเอ็กซิมแบงก์ก็ยังคงส่งเงินกู้งวดที่เหลือให้กับประเทศพม่า ชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราก็ได้แต่งงเป็นไก่ตาแตก
‘ผลประโยชน์’ คงเป็นคำอธิบายที่รวบรัด ชัดเจนที่สุดที่ทำให้เราเฉยชาต่อความตายได้มากถึงเพียงนี้
และในลำน้ำสายหนึ่งริมพรมแดนด้านตะวันตกของประเทศไทยก็คืออีกหนึ่ง (ในหลายๆ) ผลประโยชน์ที่เป็นต้นเหตุของความเงียบ
ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวเสี้ยวเล็กๆ ของชีวิตริมฝั่ง ‘สาละวิน’ มหานทีสายสุดท้ายแห่งอุษาคเนย์ที่ยังคงเป็นอิสระจาก ‘เขื่อน’
ชีวิตคนริมฝั่งน้ำที่ต้องอยู่กับความไม่มั่นคง คราบน้ำตา และความตาย อันเกิดจากน้ำมือรัฐบาลทหารพม่าและการคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของ 'การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ หรือ ‘กฟผ.’
แม่สะเรียง...
ไผ่-เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต บอกกับเราตอนที่กำลังขะมักเขม้นกับข้าวไข่เจียวตรงหน้าว่า เมื่อไปถึงแม่น้ำสาละวินแล้ว อย่าพูดถึงแม่น้ำโขง เพราะเดี๋ยวเรือจะสตาร์ทไม่ติด เธอย้ำว่าไม่ได้พูดเล่นและเหตุการณ์ที่ว่าเคยเกิดขึ้นจริงๆ
มีเรื่องเล่าว่าสาละวินและโขงเป็นสายน้ำพี่น้องที่ต่างแข่งขันวิ่งออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ควรพูดถึงแม่น้ำโขงขณะที่ยืนอยู่ริมสาละวิน
ด้วยความยาว 2,800 กิโลเมตรที่ไหลมาจากหิมาลัย เดินทางมาไกลมากั้นพรมแดนประเทศระหว่างไทย-พม่าเป็นระยะทาง 118 กิโลเมตร แม่น้ำสาละวินจึงเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของโลก เป็นสายน้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ไหลผ่านกลุ่มชาติพันธุ์หลายหลาก-กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ยะไข่ อาข่า เป็นต้น
คงเพราะความยิ่งใหญ่ของสาละวิน มันจึงเย้ายวนนักสร้างเขื่อนอย่าง กฟผ. ให้ทำการศึกษาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำมาตั้งแต่ปี 2524 และมีแรงผลักดันเรื่อยมาจวบจนกระทั่งยุครัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ซึ่งเราก็รู้ดีอยู่ว่าสนิทสนมกลมเกลียวกับรัฐบาลทหารพม่าแค่ไหน) แรงผลักก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เชื่อกันว่าสาเหตุหนึ่งของการย้าย พล.อ.สุรยุทธ์จากผู้บัญชาการทหารบกไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์มีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า
สบเมย...
เสียงเครื่องยนต์เรือครวญครางเศร้าโศก ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนร่างอุ้ยอ้ายของมันเข้าสู่กลางลำน้ำสาละวินอย่างเชื่องช้า ผู้ชำนาญสายน้ำหนึ่งคนเป็นผู้ควบคุมเรือและอีกหนึ่งคนนอนราบอยู่ที่หัวเรือเพื่อคอยดูร่องน้ำ
เรือเชื่องช้าลำนี้จะล่องตามกระแสน้ำจากแม่สามแลบลงไปทางใต้ประมาณ 1 ชั่วโมงสู่หมู่บ้านสบเมย ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ 132 ครอบครัว 600 กว่าคน
(สบเมยคือจุดที่แม่น้ำเมยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ก่อนจะเดินทางออกสู่ทะเลที่มะละแหม่งในประเทศพม่า)
เรามาถึงสบเมยในยามบ่ายอ่อนๆ หลังจากเอาสัมภาระเข้าที่พักและนอนเอาแรงกันพอหอมปากหอมคอ เวลาบ่ายแก่ๆ ทุกคนก็มารวมกันที่บริเวณจุดจอดเรือ หลายคนใช้เวลาจำนวนหนึ่งหมดไปกับการถ่ายรูป ไม่ก็เหม่อมองสายน้ำอย่างสงบแต่ภายในคงคิดฝันอะไรมากมาย
ห่างจากสบเมยลงไปตามสาละวินอีก 47 กิโลเมตร โครงการเขื่อนฮัตจี กำลังถูกเร่งรัดจาก กฟผ. และจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2551 โดยทาง กฟผ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัท ชิโน ไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของจีน และก่อตั้ง บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขึ้นเพื่อการสร้างเขื่อนในต่างประเทศโดยเฉพาะ
ใช่, กฟผ. อ้างว่าเขื่อนนี้ตั้งอยู่ในประเทศพม่าจึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อประเทศไทย แต่มันคือกลวิธีอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยรู้สึกว่าเขื่อนกั้นลำน้ำสาละวินเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนไทย และเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจใยดี แค่รอไฟฟ้าราคาถูกก็พอแล้ว
คำถามมีอยู่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะชาวบ้านสบเมย กฟผ. มีเครื่องรับประกันอะไรว่าเขื่อนที่ห่างออกไป 47 กิโลเมตรจะไม่ทำให้น้ำท่วมมาถึง เพราะที่ผ่านมา กฟผ. ไม่เคยมีคำชี้แจงใดๆ ต่อสาธารณะในกรณีการสร้างเขื่อนฮัตจีเลย
เพียรพรเล่าให้ฟังว่าคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภาชุดที่แล้ว เคยเรียก กฟผ. เข้าไปชี้แจง แต่ กฟผ. ก็เพียงแค่ชี้แจงด้วยวาจาและบอกว่าไม่สามารถให้เอกสารและเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงเห็นได้ว่าระดับความโปร่งใสของโครงการเขื่อนฮัตจีต่ำแค่ไหน
เพราะแม้แต่ชาวบ้านสบเมยเอง กฟผ. ก็ไม่เคยมาบอกอย่างเป็นทางการว่าจะมีการสร้างเขื่อน
อย่างไรก็ตาม แม้การสร้างเขื่อนในประเทศพม่าซึ่งเป็นเผด็จการจะไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ กฟผ. ก็เรียนรู้จากประสบการณ์ได้ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหาข้อมูลมาตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม เหตุนี้ กฟผ. จึงได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะให้ทางสถาบันฯ เข้าชี้แจงถึงผลการศึกษา
แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่รุนแรงกว่านั้นยังไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม...
เขื่อนที่ กฟผ. อยากจะสร้างคืออาวุธสงครามและเงินของรัฐบาลทหารพม่าที่จะใช้ปราบปรามชนกลุ่มน้อย
“เราจะเห็นว่าเขื่อนทุกที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่สู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า ตั้งแต่รัฐฉานจนถึงจุดที่จะสร้างเขื่อนฮัตจีจะมีการเพิ่มขึ้นของทหาร ชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านบางส่วนก็หลบอยู่ในป่าหรือหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เราประเมินดูแล้ว ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวินมีอยู่ 75,000 คน” จาย จาย เจ้าหน้าที่จากองค์กรสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐฉาน อธิบาย
หรือกรณี เขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน ที่ บริษัท เอ็มดีเอ็กซ์ ของไทยทำสัญญาสัมปทานซื้อ-ขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และรัฐบาลพม่าได้ลงนามให้สัมปทานก่อสร้างเขื่อนแก่เอ็มดีเอ็กซ์ ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างอย่างดีให้กองกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น จากปี 2539 ที่มีเพียง 10 กองพัน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 30 กองพัน ส่งผลให้ชาวบ้านทางตอนกลางและใต้ของรัฐกะฉิ่นต้องเผชิญกับนโยบายขุดรากถอนโคนของทหารพม่า ถ้าใครได้เคยอ่านหนังสือ ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ ที่จัดทำโดย กลุ่มกิจกรรมผู้หญิงไทยใหญ่ (Shan Woman’s Action Network-SWAN) และ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) เรื่องราวในหนังสือก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่
ประชาชนกว่า 3 แสนคนถูกบังคับให้ทิ้งบ้านเรือนและไปอาศัยในพื้นที่ควบคุมของทหาร บางส่วนถูกบังคับให้ใช้แรงงาน ขณะที่ชาวบ้านอีกไม่น้อยยินยอมที่จะใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ตามป่าเขา กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศของตนเอง รอคอยวันที่จะกลับคืนเหย้าเรือนของตน
“เขื่อนทำให้ทหารพม่าสามารถเข้าไปในพื้นที่มากขึ้นโดยอ้างว่าเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กับโครงการ” เพียรพรเล่าถึงเคราะห์กรรมและตลกร้ายที่ชาวบ้านในพม่าต้องเผชิญ “ตัวอย่างที่รัฐคะเรนนีซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของสาละวินที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าลอปิตาเพื่อปั่นไฟส่งให้ที่ย่างกุ้ง เมื่อจะมีการสร้างโรงไฟฟ้า ทหารพม่าก็เข้ามาเคลียร์พื้นที่ ชาวบ้านหลายหมื่นคนต้องย้ายออก รอบๆ โรงไฟฟ้าและตลอดแนวสายส่งไปจนถึงย่างกุ้งก็จะมีกับระเบิดและทหารพม่าดูแลอยู่ตลอด ประมาณการว่ามีกับระเบิดอยู่หลายหมื่นลูก ถ้าชาวบ้านซึ่งเป็นชาวคาเรนนีหรือคะยาเกิดไปเหยียบเข้า นอกจากรัฐบาลจะไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยแล้ว ชาวบ้านยังจะต้องจ่ายเงินให้รัฐบาล ฐานทำลายทรัพย์สินของทางราชการ”
สำหรับกรณีเขื่อนฮัตจีก็ไม่ผิดแผกกับตัวอย่างข้างต้น ชาวบ้านที่นั่นกำลังเผชิญต่อภัยคุกคามเช่นเดียวกับที่ท่าซาง ชาวบ้านที่สบเมยบอกกับเราว่ามีผู้อพยพหนีจากฝั่งพม่ามาขึ้นที่สบเมยเป็นระยะๆ คนเหล่านี้จะถูกส่งตัวไปยังค่ายผู้อพยพ 2 ค่าย-ค่ายแม่ลาอูและค่ายแม่ลามา-ที่อยู่ใกล้ๆ กับบ้านสบเมย ซึ่งปัจจุบันมีผู้อพยพอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน
หรือ กฟผ. จะบอกว่าไม่รู้เรื่องเหล่านี้?
ท่าตาฝั่ง...
ย้อนกลับไปสู่คำถามเบื้องต้นว่า ทำไมต้องสร้างเขื่อน คำตอบคือไฟฟ้า สิ่งที่ต้องถามต่อจึงมีอยู่ว่าเราต้องการไฟฟ้ามากจนถึงกับต้องหลงลืมชีวิตผู้คนเชียวหรือ
มีงานวิชาการระบุว่าประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และสามารถใช้ต่อไปได้ถึง 10 ปีโดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม
มนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเผยแพร่และรณรงค์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า
“ระบบไฟฟ้าของไทยเราไปประกันให้กับการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมซึ่งใช้ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ และเราต้องลงทุนมหาศาลเพื่อจะประกันไม่ให้ไฟฟ้าของ 2 ภาคธุรกิจนี้ดับแม้แต่ 1 นาที ในขณะที่หมู่บ้านอย่างสบเมยหรือหมู่บ้านรอบนอกออกไป ไฟฟ้าดับครึ่งวันก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่กระทบต่อชีวิตของประชาชนมากนัก แต่ กฟผ. ต้องลงทุนเพื่อคนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผมคิดว่าเป็นการผลักภาระต้นทุนการใช้ไฟฟ้ามายังประชาชนทั้งประเทศ”
เขายังบอกด้วยว่า ไฟฟ้าราคาถูกที่ กฟผ. โฆษณา เป็นต้นทุนที่คิดเฉพาะค่าก่อสร้างเขื่อน โดยไม่ได้บวกรวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และราคาชีวิตที่ประเมินไม่ได้ของชาวบ้านที่ล้มตายในพม่า
วันรุ่งขึ้น เรือเชื่องช้าของเราล่องทวนสายน้ำสาละวินสู่หมู่บ้านท่าตาฝั่งที่มีประชากร 600 คน ทั้งชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและคนพม่าที่อพยพเข้ามา
หมู่บ้านที่สงบงามแห่งนี้ ชาวบ้านพาเราเดินลัดเลาะผ่านทุ่งข้าวเขียวขจีกลางหุบเขา เยี่ยมชมวิถีชีวิตและเหมืองฝายที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะดำรงอยู่ไปอีกนานแค่ไหน
เหนือขึ้นไปจากหมู่บ้านท่าตาฝั่ง กฟผ. อยากจะสร้าง เขื่อนเว่ยจี ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตรัฐคะเรนนีและรัฐฉาน ในประเทศพม่า แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าต้องการ ขณะที่อีกส่วนจะท่วมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน
ใต้ลงไปจากหมู่บ้านท่าตาฝั่ง กฟผ. อยากจะสร้าง เขื่อนดา-กวิน หมายความว่าหมู่บ้านท่าตาฝั่งจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ แต่อาจจะไม่มีผลกระทบมากนักเพราะ กฟผ. บอกกับสังคมว่าพื้นที่บริเวณนี้ ‘ไม่มีคนอาศัยอยู่’
สิ่งเดียวที่ยื้อเวลาการสร้าง 2 เขื่อนนี้ไว้ตอนนี้คือเสียงคัดค้านที่ทำให้รัฐบาลจำต้องระงับโครงการไว้ชั่วคราว
ยามค่ำคืนหลังจากรับประทานอาหารจนอิ่มหมีพีมัน พวกเรากับชาวบ้านนั่งล้อมวงคุยกันถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ต้องการเขื่อน เพราะเขาคือลูกหลานของแผ่นดินผืนนี้ แต่ถ้าประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเขื่อนนี้ พวกเขาก็จะยอม ชาวบ้านได้รับบทเรียนจากการก่อสร้างเขื่อนที่ผ่านๆ มาว่า กฟผ. ก็ไม่เคยรับประกันใดๆ ว่าจะชดเชยความเสียหายให้แก่ชาวบ้านได้อย่างที่พูด
พ่อเฒ่าคนหนึ่งพูดในที่ชุมนุมว่า กฟผ. ไม่เคยพูดเรื่องเขื่อนเลย แต่เขาเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดทำนองว่า “คนสาละวินไม่มีความหมาย”
ชาวบ้านยังเล่าอีกว่า ที่ผ่านมา กฟผ. มักจะเอาของมาแจกหรือไม่ก็ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้ามารักษาชาวบ้าน ซึ่งระยะหลังๆ ชาวบ้านเองก็รู้ทันจึงนัดหมายกันที่จะไม่มารับการรักษา
บังเอิญว่าในที่ชุมนุมตรงนั้น มีลูกจ้างของ กฟผ. มาร่วมฟังอยู่ห่างๆ เป็นลูกจ้างที่มาอาศัยกับหน่วยทหารพรานในพื้นที่เป็นเวลานานแล้วโดยชาวบ้านเองก็รู้ดีว่าเขาเป็นใคร เมื่อถูกเชิญให้เข้ามาที่กลางที่ชุมนุม ลูกจ้าง กฟผ. ผู้นี้บอกว่า เขามาอยู่ที่นี่ได้ 4-5 ปีแล้ว วัตถุประสงค์ก็เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว
เราจึงซักไซ้ต่อว่าเก็บข้อมูลเพื่ออะไร เพราะดูเหมือนว่าหน้าที่นี้จะไม่ใช่หน้าที่ของ กฟผ. เขาตอบว่า
“เก็บข้อมูลไว้เฉยๆ”
ก่อนที่ค่ำคืนจะเรียกร้องให้ทุกคนกลับบ้านพักผ่อน พ่อเฒ่าปกากะญอคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “อย่าไปกั้นน้ำเลย คนเราสั่งน้ำ สั่งดินไม่ได้”
กรุงเทพ...
ภาพของเรือเชื่องช้าล่องกลับมาขึ้นที่แม่สามแลบยังประทับความทรงจำ แม้ว่าเราจะกลับถึงเมืองหลวงแล้ว
สาละวินเป็นหนึ่งในหลายๆ ผลประโยชน์ที่เรามีกับรัฐบาลทหารพม่า ไม่ใช่แค่ กฟผ. แต่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในผู้มีผลประโยชน์หลัก ท่อก๊าซไทย-พม่าคือตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งสังคมไทยตระหนักดีว่า องค์กรทั้งสองแห่งนี้ทรงอิทธิพลมากเพียงใด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ช่างเงียบกริบ
จะกระไรนักกับพระที่ถูกฆ่าในเมืองพม่ากับชาวบ้านที่ถูกฆ่าตามป่าเขา ทั้งสองกลุ่มก็เป็นคนที่ตายได้เหมือนกัน กฟผ. คงจะมีวิธีแบบนี้กระมังจึงไม่แยแสเหตุการณ์ความรุนแรงในพม่า บางคนถึงกับบอกว่าถ้าจะต้องสร้างให้ได้ อย่างน้อยก็น่าจะยับยั้งไว้ก่อนเพื่อเป็นการกดดันพม่าให้หยุดการเข่นฆ่าประชาชน แต่ก็ไม่
ในโลกทุนนิยมที่กำลังก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและไม่อนุญาตให้เราตั้งคำถามต่อการพัฒนา มันจึงยากเย็นที่จะมีใครโพล่งออกมาว่า เราพอใจอยู่หรือกับไฟฟ้าที่ต้องแลกด้วยชีวิตของคนจำนวนมาก หรือเราไม่รู้สึกอะไรเพราะมันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้และคน ‘พวกนั้น’ ก็ไม่ใช่คนไทย
...เราอยากให้เรือที่เรานั่งเชื่องช้าลงกว่านี้
***********************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล