ผู้ใหญ่หลายคนอาจรู้สึกชื่นใจระคนชื่นชม เมื่อเห็น ลูกหลานตัวจ้อยกลับจากโรงเรียนและพูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษคล่องปร๋อ สำเนียงชัดเปรี๊ยะเหมือนเจ้าของภาษามาเดินอยู่ข้างๆ การได้มาซึ่งความสามารถเหล่านี้คงต้องยกความดีให้กับผู้ปกครองที่ตัดสินใจเลือกระบบการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ รวมถึงการตัดสินใจสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ที่นับแล้วเป็นมูลค่าสูงเอาการ
อย่างไรก็ดี การฝึกภาษาอังกฤษในบรรยากาศห้องเรียนที่สดใส สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ประกอบกับมีคุณครูชาวต่างชาติใจดีคอยผลักดันให้ เด็กๆ กลุ่มนี้สามารถโต้ตอบกับครูอาจารย์ได้อย่าง ไม่เคอะเขินนั้น ยังไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า เด็กๆ กลุ่มนี้จะเติบโตเป็นคนที่มีความสุข มีปัญญา และมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา สมดังเจตจำนงของเหล่าผู้ปกครองที่ฟากฝังบุตรหลานมาเข้าเรียนได้ไม่ นั่นจึงเป็นที่มาของหลักสูตรการเรียนแบบผสมผสาน ระหว่างจิตวิญญาณแห่งความเป็นตะวันออกของศาสนาพุทธ เข้ากับศาสตร์แห่งการคิดวิเคราะห์ ของวัฒนธรรมตะวันตก ดังที่โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทานำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ในชื่อหลักสูตร 'Mini-English Program'
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุบล เลี้ยววาริณ ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้อำนวยการการจัดหลักสูตร Mini-English เปิดเผยว่า 'คนไทยหลายคนมีความรู้สึกว่า การที่เราสื่อสารกับฝรั่งไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และทำให้เสียความมั่นใจ เมื่อเขามีบุตรหลาน จึงมองเห็นความสำคัญด้านภาษาอังกฤษมาเป็นอันดับแรก การจัดหลักสูตรสองภาษาจึงต้องสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องภาษาอังกฤษของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ได้ เช่น การจัดให้มีคุณครูเจ้าของภาษา (Native Speaker) เป็นผู้สอนเพื่อให้เด็กได้ซึบซับวิธีการพูด การออกเสียงที่ถูกต้องตั้งแต่ยังเล็ก'
'แต่ด้วยความเป็นคนไทย เราไม่ต้องการให้เด็กๆ ที่เรียนในหลักสูตร Mini-English ของเรากลายเป็นฝรั่งตามครูผู้สอนไปเสียหมด ครูจึงเลือกสอดแทรกวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนวิธีปฏิบัติตามพุทธศาสนา ลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การจัดพิธีไหว้ครู การทำบุญตักบาตร การนั่งสมาธิ เป็นต้น เพราะอย่าลืมว่า เด็กๆ กลุ่มนี้ยังต้องโตขึ้นในสังคมไทย เขาควรจะเป็นเด็กที่น่ารักตามแบบฉบับของคนไทย นอกเหนือจากความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองตามแบบฉบับตะวันตกค่ะ'
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจึงกำหนดให้มีการทำบุญ บริจาคสิ่งของอยู่เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้นักเรียนทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรภาษาอังกฤษได้ฝึกการเสียสละสิ่งของให้กับคนที่ด้อยกว่า รวมถึงเลือกใช้การ นั่งสมาธิของพุทธศาสนามาเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเรียนของเด็กๆ ด้วย
'เราเรียกโครงการนี้ว่าการฝึกดูจิตค่ะ จุดเริ่มต้นมาจากเด็ก ครูพบว่านักเรียนปัจจุบันค่อนข้างซนมาก อยู่นิ่งไม่ได้เลย ก็คิดกันว่าทำอย่างไรให้เขาอยู่นิ่งๆ สักพักโดยที่เราไม่ต้องเอ็ดเขา วันหนึ่งก็ปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมาก็เลยบอกเด็กๆ ว่า เอ้า เรามาฝึกดูจิตกันดีกว่า ดูจิตทำอย่างไร ก็บอกให้เด็กนั่งนิ่งๆ นะ หายใจเข้าลึกๆ แล้วก็ผ่อนออก ทำสัก 3 ครั้ง แล้วมองที่จิตของตัวเอง อยู่กับตัวเองสักครู่ จากนั้นก็ปล่อยให้เขาเล่นตามปกติ'
ศาสตราจารย์อุบลเล่าต่อว่า ช่วงแรกของการ ฝึกดูจิตหรือการนั่งสมาธิที่นำมาใช้กับเด็กๆ นั้น มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้เด็กสามารถสงบนิ่งได้เท่านั้น แต่ มีอาจารย์ท่านหนึ่งนำไปใช้ในการเรียนการสอนเพิ่มเติม ด้วยการให้เด็กนักเรียนนั่งสมาธิก่อนเริ่มเรียนทุกครั้ง และพบว่ามีผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจเกิดขึ้นหลังจากการประกาศคะแนนสอบ
'อาจารย์ท่านนั้นนำคะแนนของเด็กในห้องมาเปรียบเทียบกับเด็กห้องอื่นๆ ที่ไม่ได้ฝึกดูจิตเป็นประจำ เห็นชัดเลยว่า เด็กนักเรียนที่อ่อนที่สุดในห้องของอาจารย์กลับมีคะแนนสูงกว่าเด็กที่เรียนเก่งที่สุดในห้องอื่นๆ เสียอีก จากนั้นมา ครูเลยกำหนดให้ทุกระดับชั้น นำการฝึกดูจิตนี้ไปใช้ควบคู่กับการเรียนการสอน ก่อนจะเริ่มต้นเรียนวิชาต่อไปให้ฝึกดูจิต 1 นาที ซึ่งในช่วงแรก อาจารย์ฝรั่งที่สอนในหลักสูตรภาษาอังกฤษเขาไม่เข้าใจ และมองว่าทำไมโรงเรียนเรามีการปฏิบัติเยอะแยะเต็มไปหมด ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ทำให้มองแนวการสอนแบบนี้ว่าจะทำให้เด็กๆ กลายเป็นคนเก็บตัว-เงียบขรึมไปหรือเปล่า แต่เราก็อธิบายให้เขาฟังว่า การกำหนดให้หายใจเข้าลึกๆ ตามวิถีชาวพุทธเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการนำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมอง เหมือนเราบูทคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ เมื่อครูต่างชาติได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาเริ่มเข้าใจ และยอมรับแนวคิดนี้แล้วค่ะ'
แม้จะเริ่มหลักสูตรภาษาอังกฤษได้เป็นปีที่สอง ด้วยจำนวนนักเรียนทั้งสองรุ่นรวมกันไม่ถึง 25 คน แถมยังถือเป็นน้องใหม่หมาดๆ ในระบบการเรียนการสอน แบบสองภาษา แต่โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาก็หนีไม่พ้นกฎข้อที่ว่า 'ต้องเลี้ยงตัวเอง' ด้วยเช่นกัน
'ค่าใช้จ่ายหลักๆ ของหลักสูตรคือเงินเดือนครูต่างชาติ เพราะครูเหล่านี้ค่าตัวแพงมาก ห้องหนึ่งๆ มีเด็กประมาณ 10 คน ค่าเทอมที่เก็บจากเด็กเอาไปจ่ายเงินเดือนครูหนึ่งปีก็เกือบหมดแล้วค่ะ'
สาเหตุที่ค่าจ้างครูต่างชาติมีราคาแพง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อกำหนดที่ระบุไว้ในหลักสูตรว่าครูผู้สอนต้องเป็น Native Speaker หรือครูเจ้าของภาษานั่นเอง ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้ซึบซับการออกเสียงที่ถูกต้อง ดังนั้นคุณครูฝรั่งในหลักสูตรภาษาอังกฤษนี้จึงส่งตรงจากประเทศอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ วิชาที่รับหน้าที่สอนคือภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยในแต่ละห้องจะมีคุณครูชาวไทยเป็นผู้ช่วยอีกห้องละ 1 ท่านด้วย
หันไปฟังเสียงจากเด็กๆ ผู้เรียนกันบ้าง ด.ญ.เอนดา ปรียอซูซีลอ หรือน้องอลีน นักเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษชั้น ป.2 โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนให้ฟังสั้นๆ ว่า 'ชอบเรียนค่ะ เพราะได้บวกเลข ได้เล่นเกมเยอะแยะ สนุกดี เพื่อนๆ ในห้องก็ สนุกไปกับเกมเหมือนกัน นอกจากนั้นยังได้ไปเที่ยวตาม สถานที่ต่างๆ ที่ชอบที่สุดคือการไปเที่ยวดรีมเวิลด์ค่ะ ส่วนการฝึกดูจิตจะทำเป็นประจำตอนเริ่มเรียน วิชาใหม่ ข้อดีคือช่วยให้สมองโล่งขึ้นค่ะ'
แม้จะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่ผู้บริหารและคณาจารย์ต่างเลือกแล้วที่จะเดินเคียงคู่ไปกับวัฒนธรรมไทย รวมถึงไม่มองข้ามความสำคัญของพุทธศาสนา จึงอาจถือเป็นความแปลกใหม่ที่พบได้ยากจากหลักสูตรภาษาอังกฤษของโรงเรียนอื่นๆ จุดต่างเล็กๆ ในหลักสูตรภาษาอังกฤษของโรงเรียนแห่งนี้ แม้จะยังไม่สะท้อนผลลัพธ์ที่ชัดเจนให้ปรากฏแก่สังคมไทยได้ในปัจจุบัน แต่เชื่อว่า ต้นกล้าน้อย ๆ ที่บ่มเพาะขึ้นมาจากสภาวะดังกล่าว จะสามารถเติบโต ขยายกิ่งก้านสาขา กลายเป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่ต้นไม้ต้นอื่นๆ ได้อีกมากมายอย่างแน่นอน