xs
xsm
sm
md
lg

เกียรติยศเปื้อนมลทิน “โด๊ป”ฉาววงการกีฬา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เรื่องของ แมเรียน โจนส์ นับว่าเป็นบทเรียนสำหรับวงการกรีฑานี่คือตัวอย่างของการกระทำผิดที่จะคอยเตือนใจคนที่คิดใช้สารกระตุ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะว่าคุณไม่สามารถโกหกได้ตลอดไป และเหรียญรางวัลที่ได้มาโดยไม่บริสุทธินั้นสุดท้ายผู้ที่ได้ก็ไม่ภูมิใจในชัยชนะของตนเองอยู่ดี"

นี่คือคำกล่าวของ“ทราวิส ที ไทการ์ด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ สมาพันธ์ต่อต้านสารกระตุ้นแห่งสหรัฐอเมริกา (USADA) หลังคดีฉาวของ แมเรียน โจนส์ นักกรีฑาสาวชื่อดังชาวสหรัฐฯเจ้าของ 5 เหรียญรางวัลโอลิมปิก 2000 ถูกตัดสินว่าเธอใช้สารกระตุ้นจริงและมีผลทำให้เธอถูกริบคืนเกียรติยศจากซิดนี่ย์เกมทั้งหมด
แม้คดีของ แมเรียน โจนส์ จะจบไปแล้วแต่เธอไม่ใช่นักกีฬารายแรกที่ได้รับตราบาปด้วยน้ำมือตนเอง

ในอดีตนั้นมีนักกีฬาหลากหลายประเภทที่พยายามไขว้คว้าเอาเกียรติยศมาครองโดยไม่สนใจวิธีการ บรรทัดต่อจากนี้ คือบทความที่เรียบเรียงมากจาก ซีบีเอส สปอร์ต กับ 10 คดีฉาวโด๊ปยา ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนสอนใจเหล่านักกีฬาที่กำลังคิด หรือ เคยใช้สารกระตุ้นให้ได้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถ้าหากยังคงมุ่งมั่นคว้าชัยชนะโดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่ทำลงไปถูกต้องหรือไม่

นโยบายโคตรโกงของ “เยอรมันตะวันออก”

เป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยกันมานานว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า 17 ล้านคน จะสามารถกวาดเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า ภายในเวลาแค่ 4 ปี ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการถูกเฉลย เมื่อความจริงปรากฏออกมาว่า รัฐบาลเยอรมันตะวันออก ซึ่งต้องการประกาศความยิ่งใหญ่เหนือเยอรมันตะวันตก และ ชาติมหาอำนาจ อย่าง อเมริกา และ สหภาพโซเวียต(ในอดีต) จับนักกีฬากว่าพันคนของตัวเองฉีดสารสเตอรอยด์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทุกอย่างเป็นไปตามเป้า เยอรมันตะวันออกประสบความสำเร็จในกีฬาหลายประเภท อย่างไรก็ตาม ผลเสียเกิดขึ้นตามมา เมื่อนักกีฬาเหล่านั้นได้รับผลข้างเคียงจากการใช้สารกระตุ้น ทั้งนี้ภายหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 มีนักกีฬาว่ายน้ำชื่อดัง 3 ราย ได้แก่ “คอร์เนเลีย เอนเดอร์” “บาร์บาร่า ครอส” และ “แคโรล่า นิตช์เก” พร้อมใจกันออกมาแฉความจริงที่ว่า พวกเธอได้รับการฉีดสารกระตุ้น ที่ตอนแรกเข้าใจว่า เป็นเพียงวิตามิน มาตั้งแต่ยังเป็นนักกีฬาเยาวชน
“เอนเดอร์” ซึ่งคว้า 4 เหรียญทอง และ 4 เหรียญเงิน จากโอลิมปิกเกมส์ ระหว่างปี 1972-1976 เผยว่า เธอได้รับการฉีดสารต้องห้ามมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เช่นเดียวกับ “นิตชเก้” ที่ถูกฉีดสารสเตอรอยด์ และฮอร์โมนเพศชาย มาตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยภายหลังเธอได้กลายเป็นนักกีฬาคนแรกที่ตัดสินใจคืนเหรียญรางวัล ที่ได้มาแบบไม่ชอบธรรม รวมทั้งขอให้ฝ่ายจัดการแข่งขันลบชื่อของเธอออกจากการบันทึกสถิติของกีฬาโอลิมปิกอีกด้วย

ขณะที่ ครอส เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิก และเป็นผู้ครองสถิติแชมป์โลกยาวนานกว่า 8 สมัย ถูกบังคับให้ออกจากการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1976 เนื่องจากทางทีมงานเกรงว่าถ้ามีการตรวจสารกระตุ้นเธอเสี่ยงต่อการตรวจพบว่า โด๊ปยา แม้ในภายหลังผู้ที่เกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังกระบวนการโด๊ปยาสุดฉาวจะถูกศาลตัดสินจำคุกและปรับเพียงน้อยนิด ทว่าอย่างน้อยที่สุดนักกีฬาที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับผลข้างเคียงจากการใช้สารกระตุ้นก็ได้การเหลียวแลจากรัฐบาลที่เตรียมเงินชดเชยให้รายละไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3 แสนบาท) ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลืออีกกว่า 2.18 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 68 ล้านบาท) แม้พอเอาเข้าจริงจะมีนักกีฬาออกมารับสิทธิ์เพียง 197 รายจากทั้งหมดกว่าพันราย

“แพน แอม เกมส์ 1983” เกมแห่งความอัปยศ

การตรวจโด๊ปที่ทันสมัยเริ่มถูกนำมาใช้ในเกมระดับนานาชาติ 2 รายการในปีนั้น ซึ่งรวมถึงการแข่งขันแพน แอม เกมส์ ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาระหว่างประเทศในทวีปอเมริกา

“กาย เกรเว็ตต์” นักกีฬายกน้ำหนักของแคนาดา ถูกตรวจพบสารกระตุ้นเป็นรายแรก ก่อนที่เขาและเพื่อนร่วมทีมอีกคนจะถูกริบเหรียญรางวัลและโดนแบนอีก 2 ปี อย่างไรก็ดี นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับการตรวจพบว่า มีนักกีฬาไม่ผ่านผลตรวจร่างกายอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงการพาเหรดขอถอนตัวแบบไร้คำอธิบายของทัพนักกีฬาจากสหรัฐฯ และจากประเทศอื่นอีกกว่าสิบคน

วงการกรีฑามะกันสุดหมกเม็ด

นี่อาจเป็นคดีโด๊ปยาที่มีการหมกเม็ดมากที่สุดในวงการกีฬาเลยก็ว่าได้ หลังจากมีรายงานว่า นักกรีฑาอเมริกัน 19 คน ยังคงลอยนวลเดินหน้าไล่ล่าเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ระหว่าง ปี 1988-2000 ต่อไป แม้ผลการตรวจโด๊ปของพวกเขาจะออกมาเป็นบวกก็ตาม

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คนทั่วไปอาจสงสัย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีใครแปลกใจเลย “คาร์ล ลูอิส” ลมกรดชื่อดังของสหรัฐฯ ซึ่งส้มหล่นได้รับเหรียญทองจากกรณี ที่ “เบน จอห์นสัน” ถูกตรวจพบว่า ใช้สารสเตอรอยด์ ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงโซล เผยว่า “ไม่มีการสัญญาว่า จะหยุดการใช้สารกระตุ้น ผู้คนรู้ดีว่า วงการกีรฑานั้นสกปรก และสิ่งผลักดันก็คือการทำลายสถิติ”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 ลูอิส เจ้าของ 5 เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก ตกเป็นหนึ่งในนักกีฬาสหรัฐฯ ที่มีมากกว่า 100 คน ที่ไม่ผ่านผลการตรวจโด๊ป ในระหว่างปี 1988-2000 จากการเปิดเผยข้อมูลกว่า 30,000 หน้าของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อความจริงปรากฏ วงการกรีฑามะกันก็ถูกตราหน้าว่า “เป็นพวกขี้โกง” ไปอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

“เบน จอห์นสัน” แพะรับบาป

ดื่มด่ำความสำเร็จในการเป็นเจ้าแห่งความเร็วประเภทวิ่ง 100 เมตร ด้วยสถิติ 9.79 วินาที ที่โอลิมปิกกรุงโซล ในปี 1988 ได้ไม่นาน “เบน จอห์นสัน” ลมกรดชาวแคนาดา ก็ถึงคราวช็อก เมื่อต่อมาเขาถูกตรวจพบว่า ใช้สารกระตุ้นในการแข่งขัน ทำให้เหรียญทองต้องตกไปอยู่ในมือของคู่ปรับเก่า “คาร์ล ลูอิส” และถูกแบนออกจากวงการอีก 2 ปี

จากความผิดในข้อหาโด๊ปยาของจอห์นสัน ก็ทำให้วงการกรีฑาของแคนาดาถูกจับตามองเป็นอย่างมากราวกับว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในวงการกีฬา อย่างไรก็ตาม คงไม่มีอะไรจะน่าเจ็บใจไปมากกว่า การที่สุดท้ายแล้วในอีก 15 ปี ต่อมา มีการเปิดเผยว่า ลูอิส ลมกรดชาวมะกัน ก็เป็นนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นในการแข่งขันครั้งนั้นเช่นเดียวกัน

“มิเชล สมิธ” กับผลงานก้าวปกระโดด

ชาวไอร์แลนด์อาจชื่นชมยินดีกับผลงาน 3 เหรียญทอง และ1 เหรียญเงิน ของเหงือกสาว “มิเชล สมิธ” ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่แอตแลนต้า ในปี 1996 แต่ถ้าใครที่ติดตามผลงานของเธอมาโดยตลอดจะทราบดีว่า ความสำเร็จในครั้งนี้มันน่าจะมีอะไรเคลือบแฝงอยู่

โดย 3 ปีก่อน เหงือกสาวจากไอร์แลนด์ ทำได้แค่อันดับที่ 90 ของโลก ในการแข่งขันว่ายน้ำเดี่ยวผสม 400 เมตร ทว่าหลังจากได้ “อีริค เดอ บรูอิน” ซึ่งเคยถูกแบนเป็นเวลา 4 ปี จากกรณีโด๊ปยา มาเป็นโค้ช เธอก็มีผลงานที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา (ในปีถัดมา เธอรั้งอันดับที่ 17 ของโลกในการแข่งขันประเภทกรรเชียง 200 เมตร)
แต่ความลับก็ไม่มีในโลก เมื่อมีการตรวจพบสารกระตุ้นในร่างกายของสมิธ เหรียญรางวัลถูกริบ และเธอก็ถูกแบนจากวงการเป็นเวลา 4 ปี 

สารพัดสารต้องห้ามของทัพว่ายน้ำจีน

สารต้องห้ามทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Dihydrotestosterone, Anabolic Steroids และ Erythropoietin ล้วนแล้วแต่เป็นสารที่ถูกนำมาใช้ในทัพนักกีฬาว่ายน้ำจีน ก่อนหน้านี้ จีนแทบจะไม่เคยประกาศศักดาในการแข่งขันว่ายน้ำระดับนานาชาติได้เลย จนกระทั่งในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า ทัพนักกีฬาจากจีนทำผลงานสุดแจ่มคว้ามาได้ 4 เหรียญทอง นอกจากนี้ ทัพเหงือกสาวจีน ยังสร้างความตกตะลึง เมื่อสามารถโกยเหรียญทองในการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลก ประจำปี 1994 ได้มากถึง 12 เหรียญจากทั้งหมด 16 เหรียญ

เช่นเดียวกันเมื่อความสำเร็จอันล้นพ้นถูกเปลี่ยนเป็นความสงสัย ทัพนักกีฬาว่ายน้ำของจีน 11 คน ถูกตรวจพบสารต้องห้ามในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ปี 1994 ต่อมาอีกสี่ปี ในการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลก มีการตรวจพบการโด๊ปยาในนักกีฬาจีน 4 ราย นอกจากนี้ยังตรวจพบสารต้องห้ามประเภท Human Growth Hormones ในห้องพักของ “หยวน หยวน” นักว่ายน้ำของจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะให้คำมั่นสัญญาว่า จะเข้มงวดในการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬามากขึ้น ทว่าจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า มีนักกีฬาว่ายน้ำจีนไม่ผ่านผลการตรวจร่างกายมากกว่าชาติอื่นๆ ถึง 3 เท่า ก็ทำให้นักกีฬาว่ายน้ำรุ่นใหม่ของจีนต้องลงทำการแข่งขันท่ามกลางความคลางแคลงใจของของผู้คนต่อไป

เบื้องหลัง “ตูร์ เดอ ฟรองซ์”

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เงินรางวัลอันมหาศาลของการแข่งขันที่ขึ้นชื่อว่า ทรหดที่สุด อย่าง “ตูร์ เดอ ฟรองซ์” จะดึงดูดให้ผู้เข้าแข่งขันทำทุกวิถีทางเพื่อชัยชนะ แม้กระทั่งการพึ่งสารกระตุ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1960s นักปั่นจักรยานทางไกลพยายามเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองด้วยเครื่องดื่มผสมแอมเฟตามีนกับแอลกอฮอร์ ซึ่งเป็นผลให้ “ทิม ซิมป์สัน” นักปั่นชาวอังกฤษ เสียชีวิตขณะทำการแข่งขันในปี 1967 ต่อมาในการแข่งขันปี 1998 เกิดเรื่องอื้อฉาวในวงการสองล้อ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบสาร Erythropoietin ในรถของทีมนักปั่น Festina ซึ่งต่อมา 6 ใน 9 นักปั่นของทีม ถูกตรวจพบว่า ใช้สารกระตุ้นในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบ สารสเตอรอยด์ในร่างกายของหัวหน้าทีม Credit Agricole ในการแข่งขันปี 2002
นี่อาจไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์สของวงการจักรยานทางไกล เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา การโด๊ปยาปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีว่า จะหมดลงง่ายๆ 

สารสเตอรอยด์กับวงการเบสบอล

เป็นคำยืนยันที่ไม่ได้มาจากปากคนในวงการแค่คนเดียว เพราะหลังจากที่ประกาศอำลาสนามในปี 2002 “โจเซ่ แคนเซโก้” อดีตนักเบสบอลชื่อดัง ออกมาแฉว่า มีนักเบสบอลกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้สารสเตอรอยด์ ซึ่งรวมถึงตัวเขาด้วย เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อต่อมา “เคน แคมินิตี้” อดีตผู้เล่นเอ็มวีพีของเอ็มเอลบี ยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Sports Illustrated ว่า มีนักเบสบอลกว่าครึ่งที่พึ่งสารสเตอรอยด์

จากการตรวจร่างกายนักกีฬาทั้งหมด 1,438 คน ในปี 2003 พบว่า มีผู้ใช้สารสเตอรอยด์ คิดเป็น 5-7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับบัญชีรายชื่อนักกีฬาในเมเจอร์ลีกถึง 2 เท่า ทำให้ในฤดูกาลต่อมา เอ็มเอลบี คลอดนโยบายสุ่มตรวจโด๊ปในนักกีฬา ซึ่งกำหนดบทลงโทษร้ายแรงถึงขั้นขับออกจากการแข่งขัน

ชัยชนะจอมปลอมของนักสกีทางไกล

เป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่มีการใช้สารกระตุ้นอย่างแพร่หลาย หลังจากคณะกรรมาธิการโอลิมปิกแห่งชาติ (ไอโอซี) ตรวจพบหลักฐานการใช้สารต้องห้ามของทีมสกีออสเตรียในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ซอลต์ เลค ซิตี้ ซึ่งภายหลังนักกีฬา 2 คนของทีม ถูกตัดออกจากการแข่งขัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทีมถูกแบนจากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในอีก 2 ฤดูกาล

นอกจากนี้ นักสกีรัสเซีย ซึ่งคว้าแชมป์ และ รองแชมป์ ในการแข่งขันสกีทางไกล 5 กิโลเมตร ที่โอลิมปิก ซอลต์ เลค ซิตี้ ต้องคืนเหรียญรางวัลในอีก 18 เดือนต่อมา หลังจากตรวจพบว่า พวกเขาใช้สารกระตุ้นในการแข่งขัน ทำให้อันดับ 3 ในการแข่งขันคว้าเหรียญทองไปครองท่ามกลางความงุนงงของผู้คน

เรื่องฉาวโฉ่ในวงการสกียังไม่หมด เมื่อการแข่งขันสกีชิงแชมป์โลกในปี 2001 ที่ฟินแลนด์มาถึง และปรากฏว่า นักสกีเจ้าถิ่นถูกจับโด๊ปยาได้ถึง 6 คน โดย 3 ใน 6 เป็นนักกีฬาระดับหัวแถวของฟินแลนด์

สารนันโดรโลนกับเครื่องดื่มบำรุงกำลัง

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาไม่ผ่านการตรวจร่างกายเพราะสารนันโดรโลนกันมาก และแม้นักกีฬาจะอ้างว่า สารต้องห้ามดังกล่าวถูกเจือปนอยู่ในเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ซึ่งพวกเขาดื่มเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทว่าคณะกรรมาธิการโอลิมปิกแห่งชาติ (ไอโอซี) และ สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (ไอเอเอเอฟ) ซึ่งไม่สนใจคำกล่าวอ้างเหล่านั้น ยืนยันว่า นักกีฬาต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ร่างกายตัวเองรับเข้าไป

ทั้งนี้กรณีสุดอื้อฉาวเกี่ยวกับสารนันโดรโลน เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ปี 2004 ซึ่ง “เกร็ก ลูเซ็ดสกี้” อดีตนักหวดมือ 4 โลกชาวอังกฤษ มีผลการตรวจโด๊ปเป็นบวก อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลังลูเซ็ดสกี้ จะพ้นข้อกล่าวหา ทว่าสารกระตุ้นดังกล่าว ยังถูกตรวจพบในนักเทนนิสอาชีพอีกกว่า 47 ราย

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง - จริยา จินตชาติ




จัสติน แกตลิน ความกระหายในสถิติทำให้เขายอมใช้ทางลัด
จัสติน แกตลิน ความกระหายในสถิติทำให้เขายอมใช้ทางลัด
เบน จอห์นสัน อีกหนึ่งลมกรดฉาวจากโอลิปิก



กำลังโหลดความคิดเห็น