xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางของคำถามที่ถูกลืม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชีวิตคืออะไร?

ในบางภาวะของชีวิต หลายคนอาจเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองเพื่อจะพบว่ามันเป็นคำถามที่ฟังดูง่ายแต่ตอบยาก เป็นคำถามที่ถูกถามมาตลอดระยะเวลา 3,000 ปีของประวัติศาสตร์ทางความคิดของมนุษยชาติ แต่กลับมีน้อยคนที่ตอบได้-พระเยซู ท่านนบีมูฮัมหมัด และพระพุทธเจ้า-คือหนึ่งในจำนวนน้อยนั้น

ยุคสมัยเปลี่ยนไป สายลมแห่งความก้าวหน้า ความมั่งคั่ง เทคโนโลยี การศึกษา ฯลฯ พัดพาคำถามนี้จากไป เราหลงลืมแม้กระทั่งว่าเราเป็นใครและนั่นอาจเป็นความเคว้งคว้างที่สุดของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม แม้คำถามบางคำถามจะถูกลืม แต่คนอีกจำนวนหนึ่งคิดว่ามันเป็นคำถามที่ ‘ต้อง’ ถาม วิจักขณ์ พานิช ชายหนุ่มวัย 27 ปี อยู่ในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ สมาชิกในครอบครัวต่างมีการศึกษาในระดับสูง เขาเติบโตขึ้นในร่มเงาแบบนี้ ในช่วงวัยหนึ่ง คำถามมากมายสู้รบตบมืออยู่ข้างใน รวมทั้งคำถามที่ว่าชีวิตคืออะไร เกิดเป็นความพยศว่า ‘ทำไมเราจะต้องทำอย่างที่คนอื่นอยากให้ทำ’ เขาเลือกเรียนวิศวะ ที่จุฬาฯ แทนที่จะเรียนหมอตามความตั้งใจของที่บ้าน

ระหว่างเรียน เขาใช้จ่ายเวลาจำนวนหนึ่งเทลงขวดเหล้า เผาไปกับมวนบุหรี่ และใช้ชีวิตเสเพล แต่คำถามที่ว่าชีวิตคืออะไรยังคงอยู่ กระทั่งเขาได้มีโอกาสฝึกนั่งสมาธิตามคำชักชวนของเพื่อน และเขาพบว่านั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญ

เขาจึงเลือกที่จะเดินทางค้นหาคำตอบนั้นต่อไปโดยไม่ยี่หระต่อความคาดหวังภายนอก หลังเรียนจบ เขาบวชที่สวนโมกขพลาราม 1 ปี และหลังจากนั้นเขาตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยทางเลือกที่มุ่งเน้น ‘การเรียนรู้’ มากกว่าใบปริญญา

เขากลับมาเมืองไทยด้วยพื้นที่ภายในที่กว้างขวางกว่าเดิม ถามว่าคุณเจอสิ่งที่คุณค้นหาหรือเปล่า? ‘ทั้งเจอและไม่เจอ’ นั่นคือคำตอบของเขา

*อิสรภาพ
ผมเชื่อว่าทุกคนต้องการค้นพบตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่เรามีทั้งหมด เหมือนในทางศาสนาจะบอกว่าเราเดินทางเพื่อค้นหาอิสรภาพ แต่ผมมองว่าอิสรภาพมันเหมือนการได้เอาตัวเราและศักยภาพที่เรามีทั้งหมดออกมา เป็นการค้นพบความหมายของการดำรงอยู่จริงๆ ทุกคนมีจุดนี้ที่โหยหา เราอยากจะมีพื้นที่ลักษณะหนึ่งที่เราได้เป็นตัวของตัวเอง มีคนยอมรับ มีคนชื่นชมในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง มีความหมายกับคนรอบข้าง

แต่เนื่องจากว่าในครอบครัว ระบบการศึกษา ทุกอย่าง มันกดทับสิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยความคาดหวัง ความคิด กดทับความสวยงามที่เรามีอยู่ข้างใน โดยที่ความสวยงามนั้นมันอยู่เหนือการวัดค่าของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทอง ใบปริญญา หรือการชื่นชมของคน แต่การกดทับตรงนี้มันทำให้เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะมอง

*ค้นหา
เวลาผมเดินตามท้องถนนแล้วเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตเสเพล หรือเดินตามท้องถนนแล้วเห็นรุ่นน้องกินเหล้า สูบบุหรี่ จากประสบการณ์ของผมที่เคยผ่านตรงนั้นมาแล้ว ผมมองว่ามันเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่คนอยากกบฏ อยากพยศกับความคาดหวังของสังคมที่มองว่า คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ใส่สูท ผูกเนกไท คนที่เป็นอาจารย์ต้องดูดี ทุกคนตอนเป็นวัยรุ่นเราจะค้นหาตัวเองออกมาในลักษณะฉีกตัวเองออกมา และเราก็ต้องหาจุดที่เป็นตัวตนของเราในระดับที่เราสวมแล้วรู้สึกว่ามั่นใจ

ผมว่าจุดนั้นก็มีลักษณะคล้ายกัน คือตอนที่ผมแสวงหาช่วงแรก ผมต้องการแสวงหาตัวตนของผม ผมเลือกเรียนวิศวะแทนที่จะเรียนหมอ ผมเลือกจะใช้ชีวิตอิสระ แต่พอถึงจุดเปลี่ยนตรงนั้นผมเริ่มเข้าใจว่าการกบฏของเรา มันก็ยังเป็นการไปเกาะเอาสิ่งภายนอกบางอย่างมาใส่ตัวเองอยู่ดี แค่เปลี่ยนหมวก

แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยน ผมเริ่มเข้าใจว่าเรามีอะไรบางอย่างที่เราค้นพบภายในที่เป็นตัวเราจริงๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก เราค้นพบตัวเองจริงๆ ว่าเราต้องการอะไร

*สวนโมกข์
สวนโมกข์เป็นครั้งแรกที่ผมได้ศึกษา เรียนรู้ เพราะตั้งแต่เรียนประถมจนถึงปริญญาตรี ผมเรียนตามที่คนอื่นบอกตลอด แต่สวนโมกข์เป็นครั้งแรกที่ผมสัมผัสได้ถึงพื้นที่ที่ผมได้ค้นหา ได้สำรวจตัวเองจริงๆ ว่าเราชอบอะไร เป็นพื้นที่ด้านใน ช่วง 1 ปีนั้น ผมไม่มีตารางชีวิต ผมทำอะไรก็ได้ จะหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่านก็ได้ ผมอ่านหนังสือที่อยากอ่านเยอะมาก หนังสือด้านสังคม ประวัติศาสตร์ประเทศไทย ได้อ่านงานอาจารย์ป๋วย อาจารย์ปรีดี อาจารย์สุลักษณ์ การปฏิวัติด้านใน เหมือนผมเข้าไปในอีกโลกหนึ่งที่เป็นตัวผม มันเปิดศักยภาพภายในตัวเราที่เรารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่เราอยากจะมีส่วนร่วม เรามีศักยภาพ มีสิ่งที่บอกเราว่าเราเจอแล้ว

*นาโรปะ
การเรียนการสอนที่นาโรปะที่ผมรู้สึกชัดเจนมากคือเขามีพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เป็นตัวของตัวเอง มันจะมีความชื่นชมที่คุณได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา หรือแสดงสิ่งที่คุณสนใจออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาทั่วไปที่ชื่นชมคนที่สามารถทำตามความคาดหวังของระบบ มันเป็นพื้นที่ที่ปิด และถ้าใครอยู่ในพื้นที่ที่ปิดนี้ได้อย่างดีก็ถือว่าเป็นคนเก่ง คือมันมีการตัดสิน การวัดคุณค่าเยอะมาก

แต่ที่นาโรปะจะเป็นลักษณะของพื้นที่ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นใหญ่ สามารถแสดงออก แสดงแรงบันดาลใจ แสดงศักยภาพทั้งหมดที่ตัวเองมี อาจารย์ก็มีลักษณะเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยดูแลเรา คอยตบ คอยเล็มให้เรามองย้อนได้ชัดขึ้น ช่วยดึงศักยภาพออกมาได้มากขึ้น หรือบางจุดที่อาจจะเป็นความทะเยอะทะยานจนเกินไป เขาจะตบเรากลับมา และให้เรามองว่าที่ลึกลงไปกว่านั้นเราต้องการอะไร

จุดหนึ่งของนาโรปะคือเรามีความคาดหวังอะไรไป มันจะโดนทำลายหมด เพราะอย่างที่ผมบอก การที่เราไปเรียนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านในจริงๆ ถ้าเราไปเรียนอะไรแล้วได้สิ่งนั้นออกมา เหมือนกับว่าเรารู้ว่าไปเรียนแล้วจะได้อะไร แล้วก็ได้สิ่งนั้นมา ผมว่าแบบนี้มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่นาโรปะจะทำให้ความคาดหวังแรกของเราหายไปเลย เราผิดหวัง แต่เราไปค้นพบเจอแรงบันดาลใจที่ลึกขึ้นกว่าเดิม

ถ้าอยากจะไปเรียนที่นาโรปะ สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือต้องศรัทธาในเสียงด้านในของตัวเอง เราค้นหาอะไร เราต้องการไปเรียนที่นี่เพื่ออะไร คือมันไม่มีคำตอบตายตัว แต่เราจะไปเรียนเพื่อเปิดตัวเองจริงๆ เพื่อให้เห็นว่ามีหนทางแบบนี้อยู่และกล้าจะเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง เพื่อที่จะได้ทดลองทำ ทดลองเข้าไปคุยกับอาจารย์ที่แปลกๆ แล้วหนทางมันจะเปิดของมันเอง ดังนั้น คนที่จะไปเรียนที่นาโรปะก็ต้องทำใจในระดับหนึ่งว่าอาจจะผิดหวัง แต่ถ้าปริญญาโทเมืองนอกกับในเมืองไทยแล้วไม่มีอะไรที่เรารู้สึกว่าเราอยากจะเรียนจริงๆ ก็น่าลองไปที่นาโรปะ แต่ผมไม่สามารถการันตีได้ว่าการไปเรียนที่นาโรปะจะ Fulfill

*เชอเกรียม ตรุงปะ รินโปเช
เชอเกรียม ตรุงปะ รินโปเชเป็นผู้ก่อตั้งนาโรปะ เป็นคนที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิตผมอีกจุดหนึ่ง ผมได้แรงบันดาลใจจากเขามาก ในการค้นพบพุทธธรรมในตัวเอง พุทธธรรมต้องค้นพบด้วยตัวเอง พุทธธรรมไม่ใช่รูปแบบ

ตอนแรกที่ผมไปที่นาโรปะจะมีรูปท่านอยู่ที่นั่น ผมก็สงสัยว่าคนคนนี้คือใครและผมจะค่อนข้างกลัวเพราะว่าเรามาจากประเทศพุทธเถรวาทที่เน้นเรื่องศีลเป็นหลัก แล้วผมได้ยินเรื่องของท่านตรุงปะเยอะคือเรื่องผู้หญิง อบายมุข ไปสอนธรรมะที่ไหนก็กระดกเหล้า พฤติกรรมที่แบบ...มันน่ากลัวครับ ผมรู้สึกว่าทำไมอาจารย์คนนี้เขาเป็นพุทธจริงๆ เหรอ มันเกิดอะไรขึ้น จนผมได้มาเจออาจารย์ของผมคือริชชี่ เรย์ เขาเป็นคนที่เปลี่ยนชีวิตที่นาโรปะของผม ผมกลายเป็นนักเรียนทางธรรมของเขา เขาเป็นลูกศิษย์ตรงคนแรกๆ ของตรุงปะ ฉะนั้น เขาจะถ่ายทอดจิตวิญญาณของพุทธธรรมของตรุงปะมาสู่ผมอย่างชัดเจน เขาเป็นคนที่ดูภายนอกปกติมาก เหมือนโปรเฟสเซอร์ปริญญาเอกคนหนึ่ง มีภรรยาคนเดียว ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ดูเป็นคนที่ปกติมาก ผมก็สงสัยว่าเขาเป็นลูกศิษย์ตรุงปะได้ยังไงและเขารักอาจารย์ของเขามาก

การที่ผมฝึกกับริชชี่ ผมรู้สึกเข้าใจจิตวิญญาณของท่านตรุงปะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จริงๆ ทำให้ผมเข้าใจเรื่องการเดินทางของเราเองมากกว่า จุดหนึ่งที่ผมได้จากท่านมากก็คือคนเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราไม่ได้ภาวนาเพื่อที่จะดัดจริตให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ เราไม่ได้ภาวนาเพื่อจะเป็นอะไร แต่เพื่อเป็นตัวของตัวเอง ภาวนาคือการมองตัวเอง เพราะฉะนั้นแค่เรารู้ว่าเราเป็นแบบนี้ รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ทำอะไร โดยที่ไม่ต้องซ่อน ไม่จำเป็นต้องกลัว ผมว่าแค่นั้นก็พอแล้ว

ใช่, เหมือนกับอรหันต์อยู่ที่ใจ

ถ้าผมจะพยายามอธิบาย มันก็คล้ายๆ กับวิทยายุทธ์ของจีน แรกๆ ต้องฝึกแบบเข้ม มีศีล มีวินัย แล้วจะมีกระบวนท่าที่พลิ้วไหว สุดท้ายคือต้องไม่มีกระบวนท่า คือเขาผ่านการฝึกมาถึงจุดที่ต้องถอดกระบี่ทิ้งไป

*การเดินทาง
ความขัดแย้งที่เกิดจากศาสนาสายต่างกัน เกิดขึ้นจากคนที่พยายามยึดมั่นในแนวคิดของตัวเอง แต่สำหรับคนที่ฝึกปฏิบัติเพื่อเข้าใจตัวเองจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย เพราะเขารู้ว่าหัวใจของการเดินทางด้านในคืออะไร สิ่งที่ผมเรียนรู้จากนาโรปะเขาจะเรียกว่าสายการปฏิบัติ เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องการเดินทางด้านใน ไม่ใช่มาทะเลาะกันเรื่องปรัชญา

การทำความเข้าใจของที่นั่นจึงแบ่งการเดินทางด้านในเป็น 3 ขั้นคือหินยาน มหายาน และวัชรยาน แต่ไม่ได้หมายถึงแนวคิดหรือลัทธิ

ขั้นของหินยานคือคุณจะต้องดูตัวเอง ฝึกอยู่กับตัวเอง เข้าใจถึงความโดดเดี่ยวของชีวิต คุณต้องเข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้วทุกสิ่งก็กลับมาอยู่ที่ใจเรา เราจะสามารถเข้าใจใจเราได้อย่างไร ฝึกจิต เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ สมถะและวิปัสสนา เข้าวิเวกเป็นเดือนๆ

พอถึงจุดหนึ่งที่เราฝึกกับตัวเอง เราค้นพบพื้นที่ด้านในของตัวเอง เข้าไปสัมผัสถึงพื้นที่ว่างด้านในของตัวเองมากขึ้น จุดนี้เราจะรู้สึกว่าเราสามารถรวมคนอื่นเข้ามาในการฝึกของเราได้ด้วย เหมือนพื้นที่ด้านในมันกว้างขึ้นจากเดิม สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นโดยที่ไม่สูญเสียพื้นที่ตรงนั้นไป นี่คือขั้นของมหายาน คือการคิดถึงคนอื่น ทำประโยชน์ให้คนอื่น ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับคนอื่น

วัชรยานก็คือมหายาน แต่เป็นเหมือนอีกขั้นหนึ่งของมหายาน วัชรยานจะลงมาท้าทายกับจุดที่มหายานอาจจะละเลยไป จะมีการท้าทายระบบสังคม ความคิด มหายานอาจจะช่วยเหลือคนอื่น ทำประโยชน์ ทำความดี แต่วัชรยานจะเน้นแม้กระทั่งว่าความดีคืออะไร เราอาจจะไม่สนใจเลยว่าทำเพื่อให้ดี ขั้นนี้จะลงไปถึงคนที่อยู่ในชายขอบของสังคมได้มากขึ้น จะไม่มีการตัดสินว่าคนนี้ดีหรือไม่ดี แต่ทุกคนมีความดีงามพื้นฐานอยู่แล้ว

*ความธรรมดา
บทความชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนชื่อ ‘ง่ายงามในความธรรมดา’ ความธรรมดา มันไม่ใช่ว่าเราจะบอกว่าสิ่งไหนธรรมดาหรือไม่ธรรมดา แต่ธรรมดาในที่นี่คือความเป็นธรรมชาติของตัวเรา เป็นตัวของตัวเอง รู้ว่าเราทำอะไร รู้ว่าเราทำในสิ่งที่เราชอบ และรู้ว่าเราพอใจ มันเป็นความเต็ม

*ศรัทธา
ในเรื่องการศึกษาหรือด้านในจะมีคำหนึ่งที่ว่า ‘พุทธสภาวะ’ คือธรรมชาติของการตื่นรู้ของคน เราอาจจะทำดี ทำชั่ว แต่ในความดี-ชั่วมันจะมีข้างหลังอีกขั้นหนึ่ง คือธรรมชาติของการที่จะรู้ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานมากกว่าการตัดสินดี-เลว ผมศรัทธาตรงนี้ของคน มันคือความดีงามพื้นฐานของมนุษย์ มันไม่ใช่ว่าดีตรงข้ามกับเลว แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถเปิดตาเรียนรู้โลกได้ เรียนรู้เหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุปัจจัยหรือที่อาจารย์พุทธทาสเรียกว่าอิทัปปัจจยตา มนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ตลอดโดยที่เราไม่ต้องนิยามความถูก-ผิดเลยด้วยซ้ำ

ศรัทธานี้ผมมองจากประสบการณ์ของผมมากกว่านะ ถ้าคนเราเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งจริงๆ ผมเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะมีความงามโดยธรรมชาติของเขาเองหรือที่ผมเรียกว่า ‘ธรรมดา’ โดยที่เราไม่ได้ทำเพราะอยากจะเป็นคนดีหรือไม่ได้ทำเพื่อเป้าหมายว่าสิ่งนั้นต้องออกมาดี แต่เราทำด้วยความเข้าใจ

*พื้นที่
ผมไม่มีคำแนะนำสำหรับวัยรุ่น แต่มันเป็นแรงบันดาลใจของผมที่อยากจะสร้างพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสค้นหาตัวเอง เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจริงๆ ที่ได้พูดคุยถึงประสบการณ์ในชีวิตของเขาโดยที่ไม่ถูกตัดสิน ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่น่าจะมีพื้นที่อย่างนี้มากขึ้น แทนที่จะถูกตัดสินตลอดเวลาว่าเจ๋ง ไม่เจ๋ง ดี ไม่ดี จากสังคม จากครอบครัว ขณะเดียวกันก็คิดว่าเราเป็นคนที่เดินทางมาก่อนเขา เราจะเป็นพี่เลี้ยงให้คนเหล่านี้ได้ยังไง ไม่ใช่เราปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้

*จิตตปัญญาศึกษา
จิตตปัญญาศึกษาคือการเรียนรู้ตนเอง ผู้อื่น และสังคม แต่ต้องไม่แยกขาดจากเรื่องด้านใน ผมพูดตรงๆ เลยว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนมองก็รู้ว่ามันมีอะไรที่ผิดปกติในระบบการศึกษาทุกวันนี้ จริงๆ การเรียนรู้ในชีวิตมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ตอนนี้ระบบมันแข็งกระด้างกระทั่งทำให้พื้นฐานเลือนไปหมด พื้นฐานที่ทำให้คนเข้าใจว่าชีวิตคือการเรียนรู้ แต่ใบปริญญา การวัดผล ครูบาอาจารย์ การคาดหวังของสังคม มันกดทับเรื่องง่ายๆ ของการเรียนรู้

*ประตู
ผมใช้พุทธเป็นประตูสู่การเรียนรู้มากกว่า ทุกวันนี้ศาสนาเหมือนเป็นหมวกอีกใบหนึ่ง เหมือนเวลาคุณจะไปสมัครงาน คุณก็ต้องกรอกว่าคุณนับถือศาสนาอะไร ถามไปเพื่ออะไร มันเหมือนเป็นกำแพงมากกว่า แต่คนลืมไปว่าทำไมเราไม่มองชุดความรู้หรือปรัชญาของศาสนานั้นเป็นประตูเพื่อที่จะเห็นชีวิตของเราเอง แม้แต่การศึกษาเองก็ดูว่าคุณจบมหาวิทยาลัยอะไรมา ทุกคนกลับไปยึดกรอบตรงนั้น แต่ทำไมเราไม่มองว่ามหาวิทยาลัยก็เป็นประตูสู่การเรียนรู้ชีวิต เหตุนี้ศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งซะมาก แทนที่เราจะได้คุยว่าคุณได้เรียนรู้อะไรมา

*เจอ-ไม่เจอ
สิ่งที่ผมเจอที่สุดคือผมเข้าใจความหมายของคำว่าชีวิตคือการเรียนรู้ ที่ผมเขียนในหนังสือก็มีอยู่บทหนึ่งที่เขียนว่าเป้าหมายคือการเดินทาง เหมือนกับว่าเราไม่ได้มีจุดหมายแต่จุดหมายคือการที่เราได้เดินทาง ได้พบความงามของผู้คน ได้ท้าทายตัวเอง พบเจอสิ่งใหม่ๆ เปิดใจตัวเองมากขึ้น ตรงนี้คือการเดินทาง คือความงดงามโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว มันทำให้ผมเชื่อมั่นว่าการศึกษาไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญามารองรับ และมันทำให้ผมมั่นใจว่าผมไม่จำเป็นต้องเรียนปริญญาเอก ผมเคยคิดว่าจะเรียนปริญญาเอก ตอนไปเรียนนาโรปะ ผมตั้งใจไว้ว่าถ้าการศึกษาที่นาโรปะมันเวิร์กจริงๆ ผมจะต้องอยู่ในจุดที่การไม่ได้ปริญญาเอกจะต้องไม่ทำให้ผมรู้สึกด้อย

ส่วนที่ไม่เจอก็คือเป้าหมาย เพราะการเจอคือเจอความรู้สึกที่บอก แต่ที่ไม่เจอคือคิดไม่ออกว่าเจอหรือยัง เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้ไปเจออะไร แต่เราไปเจอเส้นทางสายหนึ่งที่ต้องเดินไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้เจออะไรเลย สมัยก่อนเราก็คิดว่าการเดินทาง การแสวงหา มันต้องเจออะไร แต่การได้คำตอบว่าเราไม่เจอมันก็คือสิ่งที่ผมเจอ สุดท้ายก็ยอมรับมันได้ และรู้สึกว่าได้เจอในสิ่งที่ชีวิตนี้ต้องการ เรามั่นใจในการเดินทาง มั่นใจในชีวิตตัวเอง

.........................

ไม่มีคำถามว่า ‘ชีวิตคืออะไร?’ เพราะไม่รู้ว่าจะถามเขาไปเพื่ออะไร เพราะเขาเองก็ไม่ใช่คำตอบของคำถามนี้

คำตอบมีได้มากมายและจำเพาะตามแต่ละบุคคล นิยามของคนหนึ่งอาจไม่ใช่นิยามของอีกคนหนึ่ง การเดินทางของคนหนึ่งอาจไม่ใช่เส้นทางที่อีกคนหนึ่งเลือกเดิน ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครตอบว่าอะไร

แต่ในโลกที่ไม่อนุญาตให้เราคัดง้างด้วยคำถามแบบนี้ (เพราะเป็นอันตรายต่อระบบทุนนิยม ระบบการศึกษาอย่างยิ่งยวด) อาจเป็นเพราะเราสยบยอม ถูกทำให้หลงลืม หรืออะไรก็ตามแต่

บางที...เราจึงอาจต้องเริ่มจากคำถามที่ว่า

‘เราจะกล้าตั้งคำถามหรือเปล่า?’

*********************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล








กำลังโหลดความคิดเห็น