เริ่มแล้วกับกิจกรรมคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ประจำงานฟุตบอลประเพณี จุฬา- ธรรมศาสตร์ ที่แม้จะผ่านกาลเวลากว่าครึ่งศตวรรษก็ยังคงไว้ซึ่งมนต์ขลังอย่างไม่เสื่อมคลาย โดยทางนักศึกษาแห่งรั้วเหลือง-แดงได้เลือกวันดีช่วงปลายฝนต้นหนาวเฟ้นหา "ว่าที่" เชียร์ลีดเดอร์กันไปแล้วเรียบร้อย จากผู้สมัคร 85 คน คัดเหลือเพียง 13 คนเท่านั้น ซึ่งก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เบื้องหน้าสแตนด์เชียร์ด้วยความสวยสง่าสมกับนามลูกแม่โดม จำเป็นต้องอาศัยความพยายาม ความตั้งใจ และการฝึกฝนอย่างหนักที่เจ้าตัวเอง ก็อาจไม่เคยนึกฝันว่าจะต้องพบเจอก็เป็นได้
ย้อนอดีตรูปแบบการเชียร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อันเป็นยุคตั้งต้นของการนำเชียร์แบบกลุ่ม ทางมหาวิทยาลัยได้เลือกท่วงท่าอันสง่างามของวาทยกรในการควบคุมวงดนตรีขนาดใหญ่มาเป็นต้นแบบแนวคิด และแรงบันดาลใจ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ย่างเข้าสู่ปี พ.ศ. 2550 การนำเชียร์ของธรรมศาสตร์ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นมาตรฐาน จนอาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ผ่านประสบการณ์เชียร์ลีดเดอร์แห่งรั้วธรรมศาสตร์มักจะได้รับการยอมรับจากสังคมในแง่ของคุณสมบัติการเป็นผู้นำที่ดี และมีทักษะในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ผนวกกับความมีระเบียบวินัยจากการฝึกฝนอย่างหนักตลอดการเตรียมงานนั่นเอง
ความสำเร็จของเชียร์ลีดเดอร์ยุคก่อนหน้า กับสามเดือนหฤโหดที่กำลังรอคอยเหล่า "ว่าที่" เชียร์ลีดเดอร์รุ่นล่าสุดนี้ กำลังจะถูกพิสูจน์อีกครั้งว่าไม่อาจผ่านไปได้เพียงแค่มีคุณสมบัติ "หน้าตา-รูปร่าง-ชาติตระกูล-ฐานะ" แต่ทั้ง 13 ชีวิตจะต้องถูกคลุกเคล้าให้เข้ากันภายใต้คำเพียงหนึ่ง นั่นคือ "ระเบียบวินัย" ซึ่งนั่นหมายรวมถึงความตรงต่อเวลา รับผิดชอบ และมีความอดทนสูง เพื่อให้ทีมดำรงไว้ซึ่งความเป็นทีม และมีความสง่างามควรค่าแก่การนำเชียร์ ซึ่งเชื่อได้ว่าอดีตเชียร์ลีดเดอร์ทุกคนจากรั้วแม่โดมยังคงยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความประทับใจที่น้อยคนจะได้สัมผัสจากการทุ่มเทแรงใจแรงกายดังกล่าว
หลังจากนี้ไป ภาพการซ้อมวิ่งรอบสนามบอลทุกวันตั้งแต่ 17.00 น. ของเหล่าว่าที่เชียร์ลีดเดอร์จะกลายเป็นสิ่งคุ้นตาของผู้คนที่อยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการซ้อมประกอบด้วย การวิ่ง (ชาย 5 รอบ และหญิง 4 รอบ) ตามด้วยการซ้อมท่าพื้นฐานอีกไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง และท่าเลข 8 อีกวันละ 1,000 ครั้ง จากนั้นจะเข้าสู่รูปแบบการซ้อมในแต่ละวันต่อเนื่องไปจนถึงสองยาม ซึ่งหากใครไม่สามารถข้ามฝ่าด่านปราการนี้ไปได้จนถึงวันจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ก็หมายความว่า เขาเหล่านั้นไม่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็น "เชียร์ลีดเดอร์" ได้นั่นเอง และคือนี่เหตุผลว่า ทำไม เราจึงต้องใส่คำว่า "ว่าที่" ก่อนจะตามมาด้วยคำว่าเชียร์ลีดเดอร์แห่งรั้วโดมทุกครั้งไป
****************
1. บิ๊ก - อรรถวุฒิ จิวะพรทิพย์
นักศึกษาชั้นปี 2 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บอกว่าเขาจะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนการที่เขาสมัครเข้าคัดเลือกเป็นเชียร์ลีดเดอร์ เพราะเห็นรุ่นพี่ที่คณะได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์แล้วเขารู้สึกว่าเท่ดี ก็เลยขอตาม อย่างบ้าง
2. แคน - กรันย์ แจ้งเจนกิจ
นักศึกษาชั้นปี 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบอกว่าการที่เขาได้รับการคัดเลือกมาจนถึงจุดนี้ เขาเชื่อว่าการทำหน้าที่ตรงนี้เป็นการฝึกให้มีความรับผิดชอบ ส่วนการแข่งขันบอลประเพณีนั้นจะช่วยทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างเพื่อนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. นัท - ณัฐพล อภิกิจเมธา
นักศึกษาชั้นปี 2 คณะแพทยศาสตร์ บอกการที่เขาสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเชียร์ลีดเดอร์นั้นมาจากความตั้งใจของเขาเอง และเขาไม่ห่วงเรื่องการเรียนเพราะการเรียนแพทย์สำหรับเขาแล้วไม่หนักมากนัก และการซ้อมก็ซ้อมเฉพาะหลังเลิกเรียน หากวันไหนที่จำเป็นจะต้องเรียนในช่วงเวลาที่ซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ เขาก็จะเลือกเรียนไว้ก่อน
4. แบงค์ - กฤต ราชายนต์
นักศึกษาชั้นปี 1 คณะแพทยศาสตร์ บอกสำหรับเขาแล้วเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ในการที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์รุ่น 64 เพราะเท่ากับเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย และจะพยายามทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
5. มด - ศิรินาถ ศรีสุทธิกุล
นักศึกษาชั้นปี 3 คณะนิติศาสตร์ บอกว่าการที่เธอเรียนทางด้านกฎหมาย ถือว่าเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่จะทำให้เธอสามารถทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่าไม่มีการเก็บคะแนนระหว่างเรียน จะสอบในช่วงปลายภาคเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
6. พลอย - แพรวพรรณ สาโรชวิมลสินธุ์
นักศึกษาชั้นปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ บอกว่าการได้รับคัดเลือกเป็นเชียร์ลีดเดอร์นั้นจะต้องพยายามทำให้เต็มที่ เพราะเป็นเหมือนหน้าตาของมหาวิทยาลัยที่มีคนจับตามองอยู่ตลอด และเธอเชื่อว่าการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ที่ดีหาใช่การมีหน้าตาสะสวยเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีบุคลิกที่ดีด้วย
7. ต้า - ภัทริกา วัฒนา
นักศึกษาชั้นปี 2 คณะศิลปศาสตร์บอกช่วงที่รู้ผลการคัดเลือกนั้น เธอดีใจมากที่ได้เป็นตัวแทน ของมหาวิทยาลัยในฐานะเชียร์ลีดเดอร์รุ่นที่ 64 ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นนางฟ้า แต่สำหรับตัวเธอแล้วเธอคิดว่าการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ไม่ใช่นางฟ้า และจะต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรงที่สุด เพื่อที่จะทำหน้าที่ในวันงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
8. ปุ้ย - วุฒิชัย พันธุ์บุญ
นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่าหลังจากรู้ผลการคัดเลือกแล้วเขารู้สึกภูมิใจที่สุด และจะตั้งใจทำให้เต็มร้อย เพราะการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นการแข่งขันเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เต็มที่แล้วอาจจะทำให้งานออกมาดูไม่ดีก็เป็นได้
9. กอล์ฟ - อาทิตย์ สิงห์ลำพอง
นักศึกษาชั้นปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ บอกเขารู้สึกดีใจที่ทำได้สำเร็จตามที่ต้องการหลังจากทุ่มเทฝึกซ้อมมานาน และการที่ได้รับการคัดเลือกเป็นความภาคภูมิใจที่สุดหลังจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้
10. มิ้ง - ณภัทรา กมลรักษา
นักศึกษาชั้นปี 1 คณะศิลปศาสตร์ บอกว่า ตัวเธอเองทุ่มเทกับการฝึกซ้อมมากเพื่อให้ผ่านการคัดเลือก เมื่อได้รับการคัดเลือกจึงรู้สึกดีใจสุดๆ เพราะเหมือนได้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว ส่วนสาเหตุที่เธออยากจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์นั้นมาจาก การที่ได้ดูการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งก่อนๆ เธอได้เห็นพี่ๆ ดูสวยมากๆ จึงเหมือน เป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์
11. สอง - ชนิดา ภัทรเวสสกุล
นักศึกษาชั้นปี 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ บอกว่างานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับเธอและเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานฟุตบอลประเพณี
12. ปุ้ย - กมลวรรณ วงศ์วัฒนาวรกุล
นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ บอกว่าจนถึงวันนี้เธอเองก็ยังรู้สึกตื่นเต้นอยู่ และจะพยายามฝึกซ้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด เพราะปีนี้เป็นปีสุดท้ายของการเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว
13. กวาง - วิรุฬห์ ท้วมรุ่งโรจน์
นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าเชียร์ลีดเดอร์เผยว่านาทีนี้ถือว่า เต็มร้อยแล้ว และพอใจกับคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาอีก 12 คน ซึ่งระยะเวลาอีกประมาณ 3 เดือนที่เหลือก็จะต้องฟิต ซ้อมร่างกายให้สมบูรณ์ที่สุด ส่วนการที่เขาได้เป็นหัวหน้าเชียร์ ลีดเดอร์รุ่น 64 นั้น เขาจะต้องทำตัว เป็นแบบอย่างที่ดีให้เพื่อนร่วมทีมเชียร์ลีดเดอร์ได้เห็น