“Summer นี้ ไปฝึกภาษาในต่างแดน แถมได้เที่ยวโดยไม่ต้องเสียเงิน เพราะหักจากค่าแรง”
“สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ฝึกงานในต่างประเทศ เรียนรู้ภาษาจากเจ้าของภาษา”
เหล่านี้ล้วนเป็นข้อความเชิญชวนที่ปรากฏให้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างดาษดื่น ชักชวนให้นิสิต นักศึกษาวัยกำลังเรียนรู้ให้อยาก “ลองของ” หาช่องทางบินลัดฟ้าไปไขว่คว้าประสบการณ์แปลกใหม่ในต่างแดน
โครงการทำงานภาคฤดูร้อนในต่างแดนนั้น รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษาในชื่อ “โครงการทำงานและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อน” (Summer Work/travel Program) หรือ WAT นั่นเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าประเทศได้ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยได้รับวีซ่าประเภท J-1 สำหรับการศึกษาแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการ WAT จะไปทำงานตามสัญญาการจ้างงานระยะสั้นและท่องเที่ยวภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน
-1-
ธัญญาภรณ์ จันทรเวช เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชีวิตข้ามแดนกับโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้รายละเอียดของโครงการ WAT ไว้ในหนังสือ “Work & Travel เสี่ยงบริสุทธิ์ ขุดคุ้ยเส้นทางท่องเที่ยวเชิงกรรมกร” ว่า การเข้าร่วมโครงการ WAT ผู้เข้าร่วมต้องมีสถานภาพเป็นนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท โดยจะได้รับค่าแรงประมาณ 6-8 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อชั่วโมง ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถทำงานได้สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสามารถหางานอื่นๆ ได้ในเวลาว่าง หลังสิ้นสุดการทำงานตามสัญญาจ้าง
การเดินทางเข้าร่วมโครงการ WAT นั้น มิใช่ว่าใครๆ ก็เดินทางไปได้ เพราะปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้ลัดฟ้าไปต่างประเทศได้ก็คือ “เงิน”
ขวัญมนัส เบญญาอภิกุล นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel เมื่อปี 2549 เล่าถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างแดนว่า ค่าเข้าร่วมโครงการใช้ไปประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา โดยยังไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน เงินที่นำติดตัวไปใช้ในต่างประเทศ และค่าเดินทางเมื่อไปถึงต่างประเทศแล้ว ซึ่งรวมๆ แล้วใช้เงินสำหรับเข้าร่วมโครงการนี้ ประมาณ 2 แสนบาท
“ดิฉันเข้าร่วมโครงการ WAT เมื่อประมาณปี 2549 โดยสมัครผ่านทางนายหน้าในเมืองไทย และได้เดินทางไปรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อไปถึงได้พบกับนายหน้าชาวรัสเซีย ซึ่งทางนายหน้าแจ้งให้ทราบว่ามีงานให้ทำ 2 ประเภท แต่ไม่ใช่งานที่เราแจ้งขอไว้ แต่เราเดินทางไปถึงแล้วก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่รีบรับทำงาน ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทุกๆ วัน สรุปดิฉันได้งานแม่บ้านทำความสะอาดห้องพักในโรงแรม”
ส่วนที่พักอาศัยนั้น ขวัญมนัส เปิดเผยว่า นายหน้าชาวรัสเซียได้จัดบ้านพักให้ โดยในบ้าน 1 หลัง มีเด็กไทยพักอยู่ด้วยกัน 12 คน ซึ่งนายหน้าระบุว่าค่าที่พักคิดในอัตราสัปดาห์ละ 70 เหรียญฯ
“ถ้าคิดตามราคาที่นายหน้าบอกเรา เราก็เข้าใจว่าเดือนละ 280 เหรียญ แต่เราต้องจ่ายจริงเดือนละ 300 เหรียญฯ เพราะเขาคิดในอัตราวันละ 10 เหรียญฯ นอกจากนี้เขาจะจัดรถรับส่งไปทำงานโดยคิดค่ารถด้วย ซึ่งรถที่เอามารับส่งเรานั้น ก็จะรับส่งคนอื่นๆ เช่นกัน ก็จะต้องนั่งกันแออัดมาก โดยค่าที่พักและค่ารถที่เราต้องจ่ายให้กับนายหน้าชาวรัสเซียนั้นเขาจะเก็บล่วงหน้าเลย”
ขวัญมนัส บอกอีกว่า ก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ บริษัทนายหน้าที่ประเทศไทย ได้แจ้งว่าโครงการWork and Travel คือการไปทำงาน ว่างจากงานก็ไปเที่ยว โดยเอาเงินที่ได้จากการทำงานไปเที่ยว ซึ่งทันทีที่เดินทางออกจากเมืองไทยแล้ว นายหน้าที่ประเทศไทยแทบไม่มีบทบาทใดๆ ในการเข้าไปดูแลเด็กไทยเลย
“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราจะถูกส่งตัวให้กับนายหน้าชาวรัสเซียเมื่อเดินทางถึงสหรัฐอเมริกา แต่เราจะค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยตัวเองว่า สุดท้ายจะไม่มีใครเข้ามาดูแลช่วยเหลือเรา จะมีแค่เรากับเพื่อนๆ เท่านั้น ที่จะต้องช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเคยมีกรณีที่เพื่อนป่วยและไม่สามารถทำงานได้ จึงแจ้งขอเปลี่ยนงานกับนายหน้าชาวรัสเซีย ก็ได้รับแจ้งว่าหากไม่ทำงานก็ให้ออกจากโครงการฯ ไปเลย พอติดต่อกลับมาที่นายหน้าในเมืองไทยก็ได้รับคำตอบว่า ขอให้ทนๆ ทำไปเถอะ นายหน้าในไทยบางคนปิดมือถือหนีไปเลย ขณะที่หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาก็จะอยู่ไกลจากที่ทำงาน และเมื่อโทรไปขอความช่วยเหลือก็จะให้ข้อมูลเป็นหลักการกว้างๆ เท่านั้น”
ขวัญมนัส บอกด้วยว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ บางคน แจ้งขอเปลี่ยนงานแต่นายหน้าไม่หางานใหม่ให้ หรืองานใหม่ยังไม่น่าพอใจ นายหน้าก็อาจจะให้ออกจากบ้านพักเลย และถือว่าสิ้นสุดการร่วมโครงการฯ ซึ่งเด็กต้องออกมาหาที่พัก และหางานทำใหม่เอาเอง แต่ก็ถือว่าการออกมาหางานทำเองก็จะมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ถูกนายหน้าหักค่าแรง
“หลังจากกลับมามีเงินกลับมาคืนให้แม่ ประมาณ 700 เหรียญฯ และได้เที่ยวที่สหรัฐอเมริกาแค่วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับวันเดียวเท่านั้น แต่ถามว่าหากมีโอกาสอยากจะไปอีกไหม ก็อยากจะไปอีก เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราควรจะทำอะไรบ้าง”
-2-
ธัญญาภรณ์ เสริมข้อมูลที่ได้พูดคุยกับนักศึกษาที่เดินทางเข้าร่วมโครงการ WAT เพิ่มเติมว่า ใช่ว่าคนที่เข้าร่วมโครงการ WAT จะพบเจอแต่ประสบการณ์เลวร้าย บางคนก็ได้ประสบการณ์ที่ดีกลับมา แต่ที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมโครงการฯ เสียชีวิตมาแล้ว โดยเด็กคนดังกล่าวทำงานในสวนสนุกที่สหรัฐอเมริกา ตำแหน่งผู้คุมเครื่องเล่น ทุกวันช่วงเช้าต้องดูแล ตรวจสอบ และควบคุมอุปกรณ์เครื่องเล่น
“น้องเขาได้รับมอบหมายให้คุมรถไฟเหาะ ขณะที่ทำหน้าที่เดินตรวจสอบรางรถไฟอยู่บนรางรถไฟก่อนให้บริการ พนักงานอีกคนหนึ่งได้ทำการทดสอบรถไฟ ทำให้น้องคนนั้นถูกรถไฟเหาะชนและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทางสวนสนุกได้บอกว่ามีทางเดินเล็กๆ ไว้สำหรับใช้เดินตรวจสอบรางรถไฟ แต่จากคำบอกเล่าของเพื่อนคนไทยที่ทำงานที่เดียวกันบอกว่า แม้จะมีทางเดินไว้ให้เดินตรวจรางรถไฟ แต่โดยปกติไม่มีใครเดินตามทางนั้น เนื่องจากเป็นทางที่เล็กและแคบมาก ลำบากต่อการเดินตามปกติ ซึ่งกรณีดังกล่าว ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นได้มีการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร”
ธัญญาภรณ์ บอกด้วยว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าตำแหน่งงานที่เด็กไทยได้รับในการเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารจานด่วน ร้านขายลูกอม ร้านขายไอศกรีม งานโรงแรม และงานในสวนสนุก เป็นต้น ซึ่งลักษณะการทำงานจะอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอเมริกันโดยแท้ และเด็กไทยมักได้รับมอบหมายให้ทำงานหนัก หรือเข้าทำงานในเวลาที่ต้องทำความสะอาดร้าน โดยพนักงานชาวอเมริกันมักจะเลือกงานและช่วงเวลาทำงานที่ไม่ต้องรับภาระหนักไปก่อน นอกจากนี้หากมีการทำงานล่วงเวลาก็มักจะไม่มีการจ่ายโอที
“ปัญหาคือระบบการดูแลและสวัสดิการในต่างแดนไม่มีใครดูแล ขณะที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็เป็นปัญหาสำคัญ และเมื่อเกิดปัญหาหนึ่งขึ้นก็มักจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นห่วงโซ่ ซึ่งเราควรจะมีเจ้าภาพที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบเด็กที่ข้าร่วมโครงการ WAT โดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา”
-3-
ขณะที่ สุภัท กุขุน ผอ.สำนักงานบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่นักศึกษาโครงการ WAT เป็นอย่างมาก หลายๆ กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นกระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายได้ เนื่องจากบริษัทนายหน้าเหล่านี้จะอ้างว่า ไม่ใช่บริษัทจัดหางาน
“เมื่อสอบถามไปยังกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็ได้รับคำตอบว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ได้จัดการศึกษา ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ก็บอกว่าดูแลนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ไม่มีอำนาจในการดำเนินการ จึงไม่มีเจ้าภาพในการดูแลเด็กกลุ่มนี้”
ขณะเดียวกันเด็กไทยที่เดินทางไปบางส่วนไม่มีความพร้อม ทำให้ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ซึ่ง ผอ.สำนักงานบริหารแรงงานไทยฯ แบ่งกลุ่มเด็กที่เข้าร่วมโครงการ WAT ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.พวกที่อยากไปต่างประเทศ และได้ไป ผลที่ตามมาคือ ได้ไปแต่ไม่พร้อมที่จะไปจึงเกิดปัญหาตามมาเช่น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 2.อยากไปและพัฒนาตัวเองจนสามารถไปได้ มีความพร้อมระดับหนึ่งแต่ยังไม่ดีที่สุด และ 3.มีความพร้อมจะไปต่างประเทศและได้ไปต่างประเทศ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อกลับมาก็จะเป็นคนที่มีคุณภาพ ดังนั้น หากนักศึกษาต้องการเข้าร่วมโครงการ WAT ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเอง
ด้าน ชาญชัย เจียมบุญศรี กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาสถานกงสุลไทยในต่างประเทศได้รับการร้องเรียนถึงปัญหาในโครงการ WAT จำนวนมาก ปัญหาที่ร้องเรียนบ่อยคือ ถูกส่งไปฝึกงานในบริษัทที่นักศึกษาไม่สนใจ และอยู่รวมกันอย่างแออัด การบริหารจัดการไม่ดีพอ ไม่เหมาะสม หลายคนจึงไม่สามารถอยู่ได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการจัดการไม่ดีพอ ส่วนหนึ่งเพราะการจัดการในบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำงานอย่างเป็นระบบ และไม่มีหน่วยงานหลักที่เป็นกลไกดูแลให้เหมาะสม หลายกรณีนักศึกษามาร้องเรียนได้แจ้งหน่วยงานที่คิดว่าเกี่ยวข้องแก้ไขให้เหมาะสม
“แต่สถานกงสุลก็เป็นแค่หน่วยงานปลายทางที่ไม่สามารถเข้าไปป้องกันปัญหาได้ ซึ่งสถานกงสุลได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศธ.และกระทรวงพาณิชย์ ให้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดระเบียบ กฎเกณฑ์ที่ถูกต้องในเรื่องนี้ เนื่องจากคาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ควรมีเจ้าภาพหลักที่จะรับผิดชอบและเราควรร่วมกันออกระเบียบที่ถูกต้อง ครอบคลุมทุกแง่มุม เพื่อควบคุมดูแลธุรกิจเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษาไทย เพราะเท่าที่ผ่านมาไม่มีระเบียบใดๆ รองรับ ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเจ้าภาพที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้เลย”
ข้อแนะนำเพื่อลดโอกาสเสี่ยงสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ WAT
1.ตรวจสอบการรับรู้ของตนเองที่มีต่อโครงการฯ ว่าเข้าใจสถานการณ์จริงที่ต้องเผชิญอย่างถูกต้องและครบถ้วนเพื่อจำกัดความคาดหวังที่พอเหมาะต่อการเข้าร่วมโครงการ
2.จัดหาข้อมูลเพื่อการเตรียมตัวเข้าร่วมโรงการฯ และประกอบการการตัดสินใจเลือกในทุกขั้นตอนการเข้าร่วมตามแหล่งต่างๆ เช่น ข้อมูลจากบริษัทตัวแทน ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน และข้อมูลคำบอกเล่าประสบการณ์ผ่านกระทู้ต่างๆ ในเว็บไซต์
3.ประมินความสามารถ ศักยภาพ และความพร้อมโดยพิจารณาความต้องการและบริบทของตนให้เหมาะกับทุกขั้นตอนการเข้าร่วม โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
- การเลือกบริษัทตัวแทนในประเทศไทย เนื่องจากในแต่ละบริษัท มีข้อแตกต่างกัน กล่าวคือ บริษัทใหญ่จะมีระบบการจัดการที่รัดกุมเชื่อถือได้มากแต่การคัดเลือกค่อนข้างยากและมีคนเข้าร่วมเยอะ เกิดปัญหาแย่งงานกัน ขณะที่บริษัทขนาดเล็กจะดูแลทั่วถึง และขั้นตอนดำเนินงานไม่ยุ่งยาก มีผู้เข้าร่วมในแต่ละแห่งน้อย มีงานให้ทำงาน แต่วิ่งที่สำคัญคือ ไม่มีความปลอดภัยและระบบการจัดการไม่รัดกุมนัก เหล่านี้เป็นต้น เวลาเลือกบริษัทตัวแทนจึงต้องพิจารณาโดยเริ่มที่พื้นฐานตัวเยาวชนเองก่อนว่าต้องการอะไรจากการเข้าร่วมโครงการเป็นหลัก รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานของเยาวชนเอื้ออำนวยให้มากน้อยเพียงใด เช่น ฐานะการเงินจากทางบ้านที่พร้อมให้การสนับสนุนกรณีไม่มีงานทำหรือไม่ ขณะที่ตัวเยาวชนก็ต้องการเปิดประสบการณ์การทำงานและการอยู่ร่วมกับสังคมคนหมู่มาก ซึ่งต้องการความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงน้อย เพราะฉะนั้น ด้วยเงื่อนไขภายใต้บริบทดังกล่าว เยาวชนคนนี้จึงมีความเหมาะสมกับบริษัทใหญ่มากกว่า เป็นต้น
- การเลือกสถานที่ทำงานและนายจ้าง เช่นเดียวกับการเลือกบริษัทตัวแทน เยาวชนจำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์เฉพาะของตนให้ถี่ถ้วน แล้วจึงศึกษาข้อจำกัดและข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันในสถานที่ทำงานแต่ละแห่ง เช่น การไปทำงานที่สวนสนุกที่มีคนไทยเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมาก การเลือกไปทำงานในโรงแรม หรือธุรกิจที่พักนั้นจะได้รับค่าทิปพิเศษ นอกจากนี้ หากต้องการประสบการณ์ทำงานที่ตื่นเต้นหลากหลาย เยาวชนอาจเลือกไปทำงานในร้านสะดวกซื้อต่างๆ เป็นต้น
- การเลือกตำแหน่งงาน ที่พักและวิถีการดำเนินชีวิต นอกจากการเลือกบริษัทที่ดำเนินการต่างๆ หรือการเลือกสถานที่ทำงานในเมืองที่อาศัยอยู่แล้ว เยาวชนต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดไปถึงตำแหน่งงาน โดยเฉพาะวิถีการกิน อยู่ หลับนอน และการเดินทาง เหล่านี้เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ
4.หลังจากได้รับข้อมูล และประเมินความเหมาะสมของตัวเองแล้ว ต้องมีการวางแผนการดำเนินชีวิตทั้งแผนการเที่ยว แผนการสำรองเงินใช้จ่าย แผนรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่าที่พอทำได้อย่างรอบคอบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ต่อไป
ข้อมูล : หนังสือ WORK & TRAVEL เสี่ยงบริสุทธิ์ขุดคุ้ยเส้นทาง “ท่องเที่ยวเชิงกรรมกร”
*****************
เรื่อง...คีตฌาณ์ ลอยเลิศ