xs
xsm
sm
md
lg

“หงส์ฟ้ารามัญ”วงทะแยมอญหนึ่งเดียวในไทย เล่นด้วยใจสำนึกรักความเป็นมอญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อันชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์” บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่แสดงให้เห็นว่าดนตรีเป็นสิ่งจรรโลงใจของทุกผู้คน ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้คนมาจากชนชาติใด จะเป็นชาติไทย ชาติฝรั่ง หรือชาติไหนๆ ก็ตามแต่ ล้วนแล้วแต่ก็มีดนตรีในหัวใจ รวมไปถึงมีเรื่องของศิลปะดนตรีเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องของประเพณี และวัฒนธรรมความเป็นชนชาติของชาตินั้นๆ ด้วยแทบทั้งสิ้น

เฉกเช่นชนชาติ “มอญ” ซึ่งเป็นชนชาติเก่าแก่ที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และการค้าขาย แต่กลับถูกรุกรานประเทศจนกลายเป็นชนชาติที่ไม่มีแผ่นดินจะอาศัย จำต้องเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอพยพเข้าสู่ดินแดนประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวมอญก็ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยความสงบสุข และคงไว้ซึ่งความเป็นชาติมอญ ที่ยังธำรงไว้ในเรื่องของภาษา ศาสนา ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ

โดยเฉพาะเรื่องของศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรีนั้น ชาวมอญยังคงรักษา อนุรักษ์ และสืบสานตกทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีการแสดงทางด้านดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวมอญที่เรียกกันว่าการแสดง “ทะแยมอญ” ที่ทุกวันนี้น้อยคนนักจะรู้จัก และได้เห็นการแสดงทะแยมอญนี้ว่าเป็นเช่นไร

**“ทะแยมอญ” ศิลปะทางดนตรีของชาวมอญ

"ทะแยมอญ" เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกการละเล่นของชาวมอญในประเทศไทย พระมหาจรูญ จอกสมุทร ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งว่า คำว่า “ทะแย” น่าจะเป็นคำภาษาไทยที่เพี้ยนมาจากภาษามอญว่า “แตะเหยห์” แปลว่า “ร้อง” แต่คนมอญไม่ค่อยนำมาใช้เป็นภาษาพูด ดังนั้น แตะเหยห์ จึงคงปรากฏเป็นภาษาเขียนเท่านั้น แต่ถ้านำคำ “แตะเหยห์” มาเทียบคำต่อคำให้เป็นภาษาไทยจะได้ตรงกับคำว่า “ทเยห์” และคำว่า “มอญ” ก็ตรงกับคำว่า “หม่นหรือโมน” จึงน่าจะเป็นไปได้ที่คนไทยเรียกเพี้ยนจาก “แตะเหยห์โมน” มาเป็น “ทะแยมอญ” ดังที่เรียกกันในทุกวันนี้

แต่ในหมู่คนมอญจะเรียกการละเล่นทะแยมอญนี้ว่า “แหมะแขวก” “ปัวแขก” “ฮะมายแขวก” หรือ “แขวกโมน” ซึ่งคำเหล่านี้มีความหมายเหมือนกันหมายถึงการเล่นที่มีทั้งดนตรีและขับร้อง “แขวก” แปลว่า เพลง “ปัว” แปลว่า มหรสพ “ปัวแขก” จึงหมายถึงมหรสพที่มีการขับร้องและดนตรี

การละเล่นทะแยมอญนั้น มีลักษณะเป็นวงดนตรีประเภทวงเครื่องสาย เป็นเพลงปฏิพากย์คล้ายกับการเล่นเพลงพื้นเมืองของไทย เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว มีนักดนตรี และมีนักร้องหญิง-ชายขับร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ พร้อมทั้งร่ายรำประกอบ มีเนื้อร้องที่ไม่หยาบคาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา นิทาน คติสอนใจ ชาดก และประวัติศาสตร์ โดยนำเนื้อหามาผูกเป็นเรื่องราวขับร้องให้ฟังแทนการอ่านหรือเล่าเรื่อง ซึ่งการแสดงทะแยมอญ สามารถเล่นได้ทั้งงานมงคลรื่นเริง หรืองานอวมงคลต่างๆ

**"หงส์ฟ้ารามัญ" วงทะแยมอญบางกระดี่ หนึ่งเดียวในเมืองไทย

ปัจจุบันนี้การแสดง “ทะแยมอญ” ของชาวมอญ เรียกว่าแทบจะหาฟังและหาชมได้ยากยิ่ง แต่ถือว่ายังเป็นเรื่องดีที่มีคนมอญอย่าง “ชุมชนชาวมอญบางกระดี่” ในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ได้ทำการรวมตัวกัน เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดก วัฒนธรรมประเพณีการละเล่นทะแยมอญนี้ไว้เป็นอย่างดี โดยจัดตั้งเป็นคณะทะแยมอญขึ้นมา ภายใต้ชื่อคณะว่า “หงส์ฟ้ารามัญ” ที่ถือได้ว่าเป็นวงทะแยมอญวงเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้

โดยมีแกนนำหลักเป็นผู้ก่อตั้งวง 2 ท่าน คือ ลุงจำเรียน แจ้งสว่าง และ ลุงกัลยา ปุงบางกะดี่ อายุ 64 ปี ที่ตอนนี้เป็นหัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญ บอกถึงการแสดงทะแยมอญว่า แต่เดิมนั้นมักจะเล่นกันตามบ่อนสะบ้า เล่นเพื่อความสนุกสนานครึกครื้น มีการร้องเพลงเชียร์ฝ่ายของตน เพลงที่ใช้ร้องเป็นเพลงมอญ มีทั้งความสนุก ตลกขบขัน โดยจะร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง หลังจากที่เล่นสะบ้าแพ้ชนะกันแล้ว

“เมื่อสมัยก่อนมีงานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช เขาจะแสดง มีเครื่องดนตรีคนละชิ้นมารวมกัน มาแสดงกัน ตอนเล็กๆ ลุงก็ชอบใจอยู่ มีซออันหนึ่งก็ตามเขาไปเรื่อย แล้วพอร้องได้ จำทำนองได้ เขาก็ให้ขึ้นไปร้องรำทำเพลง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นคณะ ทีหลังพอผู้หลักผู้ใหญ่แสดงไม่ไหว เราก็มารวมตัวกันเป็นคณะ ประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ใช้ชื่อว่าหงส์ฟ้ารามัญ เพราะทางมอญส่วนมากสัญลักษณ์เป็นหงส์ เราก็เลยคิดว่าต้องหงส์ฟ้ารามัญนี่แหละดี” ลุงกัลยา บอกถึงความเป็นมาให้ฟัง

ลุงกัลยา บอกว่าการแสดงทะแยมอญจะประกอบไปด้วยผู้แสดงหลักๆ คือ มีนักร้องทั้งหญิงชาย และนักดนตรี โดยภาษามอญจะเรียกว่า แหมะแขวก ซึ่งโดยส่วนตัวลุงกัลยานั้นสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้แทบทุกชนิด แต่ที่เห็นลุงกัลยาเล่นอยู่ที่วงตอนนี้ก็คือเล่นซอ และลุงยังสามารถเป็นนักร้อง นักรำได้อีกด้วย

สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่นทะแยมอญนั้น จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีหลัก 5 ชิ้น คือ 1.โกรเจิกป๊อย (เป็นซอสามสายมอญ) 2.จยาม (จะเข้) 3.ปุงตัง (กลองลักษณะคล้ายเปิงมาง) 4.คะเด หรือ หะเด (ฉิ่ง) 5.กะโลด หรือ ละโลด (ขลุ่ย) แต่ปัจจุบันนี้มีการนำซอด้วง ฉาบ และกรับมาร่วมบรรเลงด้วย

“ทำนองดนตรีที่ใช้เล่นทะแยมอญมี 2 แบบ แบบแรกเป็นทำนองมอญดั้งเดิม มีชื่อเรียกเป็นภาษามอญ ใช้บรรเลงขับร้องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างทำนอง เจิกมัว โปคเซ ชากกราย อะหล่นเซีย หะแกงัว เกมเจิน แต่พอเดี๋ยวนี้ก็มีการนำเอาทำนองเพลงไทยมาใช้บ้าง แต่เอามาแค่ทำนอง เนื้อร้องก็ยังต้องเป็นภาษมอญอยู่” ลุงกัลยา บอกพร้อมกับเล่นซอเป็นทำนองมอญให้ฟัง

และเมื่อพูดถึงนักร้อง ก็ต้องมาคุยกับนักร้องตัวเอกประจำวงอย่าง ลุงจำเรียน แจ้งสว่าง อายุ 57 ปี ซึ่งลุงจำเรียนถนัดในการร้องและรำเป็นอย่างมาก โดยนักร้องทะแยมอญผู้ชายจะเรียกว่า “แหมะแขวกหนิเตราะห์” และนักร้องทะแยมอญผู้หญิง เรียกว่า “แหมะแขวกหนิแปร”

“ผมถนัดรำกับร้อง ไม่ได้รับการถ่ายทอดอะไรมาหรอก เพียงแต่ใช้วิธีจำเค้ามา พวกท่ารำเป็นท่ารำของมอญ ร้องก็ร้องภาษามอญ อย่างเนื้อร้องบางทีผมก็คิดเอง แต่งเองขึ้นมาบ้างเพื่อให้เข้ากับทำนองเพลงลูกทุ่งบ้าง มีเนื้อร้องแบบเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหญิงกับชาย แต่ต้องเป็นภาษามอญเท่านั้นไม่อย่างนั้นไม่ใช่ทะแยมอญ” ลุงจำเรียนบอก

พร้อมยังบอกอีกว่าการแสดงมอญนั้นยังงดงามไปด้วยการแต่งกายของนักแสดง อย่างผู้แสดงฝ่ายชาย จะนุ่งโสร่ง หรือนุ่งผ้าลอยชาย เสื้อคอกลมสีสันสดใสฉูดฉาด มีผ้าคล้องไหล่ ที่เป็นแบบลายปักของชาวบางกระดี่เรียกว่า “หยาดหะเริมโต๊ะ” มีดอกไม้ทัดหู เป็นดอกไม้ปลอมที่ทำด้วยพลาสติกมีพู่ห้อยตุ้งติ้งเรียกว่า “ปะกาวแหมะแคว” และมีการแต่งหน้า แต้มแป้งเป็นลวดลายพองาม

ส่วนผู้แสดงฝ่ายหญิง จะใส่เป็นเสื้อเข้ารูปรัดเอว มีผ้า “หะเริมโต๊ะ” คล้องคอ สไบเฉียงหรือพาดไหล่ นุ่งผ้าถุงยาวถึงข้อเท้า ป้ายด้านข้าง ผ้าจะเป็นผ้าลายหรือผ้าพื้นก็ได้ ถ้าไปบรรเลงงานศพผู้หญิงมักใส่สีดำ และทรงผมจะเกล้ามวยและประดับด้วยเครื่องประดับผมที่เรียกว่า “แหมะแควปาวซก” แต่ปัจจุบันเครื่องประดับผมเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม

สำหรับการแสดงทะแยมอญ เมื่อนักดนตรีพร้อม นักร้องพร้อม ก่อนเริ่มทำการแสดงจะต้องมีพิธีกรรมตามความเชื่อของการแสดงทะแยมอญ คือ ทำพิธีบูชาพระรัตนตรัย บิดา-มารดา เทพยดา เจ้าที่เจ้าทางทั้งปวง และไหว้ครูบาอาจารย์ โดยจะมีดอกไม้ ธูปเทียน เงิน 12 บาท และขันใส่น้ำใส่น้ำมนต์ทำน้ำมนต์ และผู้ที่จะทำพิธีจะเป็นครูผู้อาวุโสที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมได้ ซึ่งการประกอบพิธีกรรมเช่นนี้ก็เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้การแสดงสำเร็จไปได้ด้วยดี

และเมื่อทุกอย่างพร้อมก็เริ่มทำการแสดงทะแยมอญได้ โดยเริ่มด้วยเพลงไหว้ครู เพลงประจำวง จากนั้นก็ร้องเพลงที่ใช้ร้องในงานต่างๆ คำร้องมักนิยมกลอนสี่ (เวียะเกิณ) ที่บทหนึ่งมีสี่บรรทัด บรรทัดละสามวรรค แล้วมีการเปลี่ยนเนื้อหาของเพลงให้ตรงหรือเกี่ยวข้องกับกาลเทศะ โดยมีเนื้อหาที่ดีไม่มีคำหยาบคาย มีการร้องเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหญิงและชาย ร่ายรำอย่างอ่อนช้อยไปมาตามจังหวะดนตรีอย่างสนุกสนานครื้นเครง ทำให้ผู้ที่ได้ชมการแสดงทะแยมอญต่างได้รับความสุข สนุกสนานสำราญใจกันอย่างเต็มที่

** หงส์ฟ้ารามัญร่วมใจอนุรักษ์ทะแยมอญ ให้คงอยู่คู่ชาวมอญ

สำหรับคณะหงส์ฟ้ารามัญนั้น เรียกได้ว่าทำการแสดงทะแยมอญด้วยความรัก และด้วยใจที่ต้องการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงดนตรีทะแยมอญนี้อย่างเต็มที่ โดยทุกวันนี้การแสดงทะแยมอญก็ได้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมการแสดงอันดีงามนี้สู่คนรุ่นอื่นต่อไป

จำนงค์ เขยะตา อายุ 50 ปี เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่มีความตั้งใจในการฝึกฝนเล่นดนตรี เพื่อทำการแสดงทะแยมอญ โดยเป็นนักดนตรีเล่นจะเข้ที่มีฝีไม้ลายมือไม่เป็นสองรองใคร

“ตอนอายุ 30 ผมก็สนใจเข้ามาอยู่กับหงส์ฟ้ารามัญ เข้ามาตีกลองก่อน จากนั้นพออายุสัก 40 ก็ขยับมาเล่นจะเข้ ตอนแรกดีดไม่เป็นก็เบื่อ ดูเหมือนกับยาก แต่พอเป็นแล้วก็ไม่ยากเหมือนดีดกีตาร์เลย” จำนงค์บอกให้ฟัง

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์การแสดงทะแยมอญนี้ จำนงค์บอกจากใจว่า “ผมดีใจมากเลยที่ได้เข้ามาอยู่วงหงส์ฟ้ารามัญนี้ ผมชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และตอนนี้ผมสอนลูกชายเหมือนกัน ให้ตีกลองแบบนี้ แบบนี้นะ ส่วนจะเข้ก็ค่อยฝึกหัดกัน อยากให้เขาได้บ้าง ต่อไปผมไม่อยู่ จะได้สืบทอดต่อไป”

ด.ช.วัฒนชัย ปุงบางกะดี่ หรือน้องเอฟ อายุ 13 ปี เป็นหลานชายของลุงกัลยา ที่ถือว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่ว่ามีใจรักในการร่วมอนุรักษ์การแสดงทะแยมอญ ซึ่งน้องเอฟถือว่าเป็นนักดนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในวงก็ว่าได้ โดยเล่นดนตรีประเภทฉิ่ง กรับ และซอด้วง

“ผมเข้ามาเล่นกับคณะตั้งแต่อายุ 12 ปี ผมมีใจรัก และสนใจเพราะที่บ้านเล่นอยู่แล้ว ก็มาช่วยเล่น แรกๆ ก็ว่ายากเหมือนกัน แต่พอเล่นไปนานๆ ก็เริ่มคล่อง และได้ไปออกงานกับทางคณะ ผมว่าการแสดงทะแยมอญควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อนๆ ผมที่รู้ว่าผมเล่นทะแยมอญได้ ผมก็ชวนเขามาเล่นด้วย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญไป เหมือนอย่างที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้” น้องเอฟ ถ่ายทอดความรู้สึก

ดูเหมือนว่าชาวมอญบางกระดี่จะร่วมแรงร่วมใจกันรักษาวัฒนธรรมการแสดงทะแยมอญนี้ไว้อย่างดียิ่ง ซึ่งลุงกัลยาได้พูดถึงการมองอนาคตของการแสดงทะแยมอญที่บางกระดี่นี้ไว้ว่า

“หงส์ฟ้ารามัญ เรียกได้ว่าเป็นคณะเดียวที่มีการแสดงทะแยมอญอยู่ที่ประเทศไทยนี้ ก็พยายามฝึกเด็กๆ เอาไว้ ฝึกไปทีละอย่างๆ พยายามให้ครบอยู่ ให้ช่วยกันอนุรักษ์มอญอย่างเดิมๆ อยากให้หมู่มอญเราอนุรักษ์วัฒนธรรมภาษามอญ และการละเล่นดนตรีมอญ เครื่องสายมอญ ทะแยมอญเราอนุรักษ์ไว้ เขาจะได้รู้ว่าทะแยมอญเป็นวัฒนธรรมประเพณีของมอญ ของคนไทยเชื้อสายมอญที่ยังมีอยู่”

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ชาวมอญจะไม่มีแผ่นดินเป็นของตัวเอง แต่ทว่าพวกเขาก็ยังคงมีซึ่งชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอันดี ที่สืบเนื่องและธำรงรักษาไว้อย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้

******************

เรื่อง - ทีมข่าวท่องเที่ยว

ผู้ที่สนใจอยากจะให้คณะหงส์ฟ้ารามัญ ไปทำการแสดงทะแยมอญ สามารถติดต่อไปได้ที่ บ้านทะแยมอญ ลุงกัลยา ปุงบางกระดี่ โทร. 0-2896-9763 และลุงจำเรียน แจ้งสว่าง โทร. 0-2869-9260, 08-9919-6725

หรือหากอยากจะไปเที่ยวชมชุมชนมอญบางกระดี่ สามารถติดต่อไปท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ที่คณะกรรมการการท่องเที่ยวบ้านมอญบางกระดี่ สอบถามรายละเอียดโทร. 08-3155-0987, 08-1645-5445, 08-1923-2384, 08-6603-3038, 08-1810-1830

สำหรับการเดินทางไปยังชุมชนมอญบางกระดี่ หากขับรถมาทางถนนพระราม 2 มุ่งหน้าจังหวัดสมุทรสาคร หลังจากลงสะพานวงแหวนถนนพระราม2 จะมีทางแยกเข้าถนนบางกระดี่ทางซ้ายมือ วิ่งไปตามถนนบางกระดี่จนเจอสะพานสูงข้ามคลองสนามชัย ลงสะพานไปจะเจอวัดบางกระดี่อยู่ทางขวามือ ส่วนชุมชนมอญบางกระดี่จะอยู่ริมคลองสนามชัยใกล้กับวัด








กำลังโหลดความคิดเห็น