บ่อยครั้งที่ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยหยิบยื่นเงื่อนไขให้เราต้องเลือก และไม่ว่าเราจะเลือกอะไรก็ตามบางสิ่งบางอย่างก็ต้องสูญเสียไป มันคือความทารุณของชะตากรรมในยุคสมัยของเรา
ปี 2548 เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ ขนาดที่พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ถึงกับเอ่ยปากว่าตั้งแต่อยู่เชียงใหม่มาจนแก่เฒ่าไม่เคยเจอะเจอน้ำท่วมครั้งไหนรุนแรงเท่าครั้งนี้มาก่อน ...ใครจะรู้ว่าจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น น้ำจะนำพาเรื่องราวต่างๆ ตามมาที่สะท้อนให้เห็นถึงแรงเสียดทานของจิตวิญญาณกับความเปลี่ยนแปลง
เมื่อปีที่แล้ว พื้นที่ตรงนี้ได้นำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งในการสร้างพนังสองฝั่งน้ำปิงระหว่างชาวเชียงใหม่กับหน่วยงานราชการ โดยทางการบอกว่าจำเป็นต้องสร้างพนังกั้นน้ำสองฝั่งน้ำปิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำให้ชาวเชียงใหม่จำนวนหนึ่ง ภาคีคนฮักเจียงใหม่ และนักวิชาการด้านสังคมและวิศวกรรมในพื้นที่ต้องออกมาคัดค้าน เนื่องจากการสร้างพนังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ซ้ำร้าย พนังจะทำให้จิตวิญญาณของสายน้ำปิงต้องสั่นคลอน ชาวเชียงใหม่บางคนถึงกับบอกว่ายอมให้น้ำท่วม แต่จะไม่ยอมให้ใครเอาคอนกรีตมากั้นระหว่างเขากับแม่ปิง การสร้างพนังจึงถูกยกเลิกไปในที่สุด
ปีนี้ 2550 ความพยายามของภาครัฐที่จะป้องกันการเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม และก็ไม่ผิดแผกจากครั้งก่อนที่การดำเนินการของรัฐจำต้องแลกเปลี่ยนกับความล่มสลายของเอกลักษณ์และจิตวิญญาณของคนล้านนาซึ่งไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ
*น้ำท่วมเป็นเหตุ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในปี 2548 ทำให้ สำนักชลประทานที่ 1 มีแนวคิดที่จะรื้อฝายเก่าแก่ 3 ฝายในแม่น้ำปิง ประกอบด้วยฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาลออก แล้วสร้างประตูระบายน้ำขึ้นแทน เนื่องจากมองว่าสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมเป็นเพราะแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ เพราะลำน้ำบางช่วงแคบและมีสิ่งกีดขวางในลำน้ำ สิ่งกีดขวางที่ว่าก็คือฝายทั้ง 3 ฝาย
“ตรงนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้บางส่วน มันเป็นวิธีการขั้นพื้นฐาน การแก้ปัญหาเบื้องต้นให้ตรงจุดคือการขยายลำน้ำและรื้อถอนสิ่งกีดขวางออก นี่เป็นหลักธรรมดาทั่วๆ ไป เราจึงคิดโครงการนี้ออกมาเสนอผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล อธิบายด้วยเหตุผลซึ่งเขาก็ยอมรับ” แสงรัตน์ เบญจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 สังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เหตุผล
แต่ความซับซ้อนมีมากกว่าการรื้อฝาย เพราะฝายที่ทางสำนักชลประทานที่ 1 ต้องการรื้อ ไม่ได้เป็นแค่ไม้หรือหินที่ชาวบ้านนำไปขวางลำน้ำเพื่อยกระดับน้ำขึ้น พูดอย่างไม่เกินเลยความเป็นจริงนักย่อมต้องกล่าวว่า ฝายเป็นมากกว่าเศษหิน เศษไม้ แต่มันเป็นระบบภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับแผ่นดินล้านนามาแสนนาน ทดน้ำจากลำน้ำปิงไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรนับหมื่นไร่ กระทั่ง ฝายกลายเป็นบางสิ่งภายในที่จับต้องไม่ได้แต่มีค่าหรือที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’
รศ.ชูโชค ยุพงษ์ หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า
“การสร้างประตูน้ำมันได้ผลบ้างอยู่แล้วในการระบายน้ำท่วม ระบายน้ำได้มากขึ้น แต่ความคุ้มค่าทางด้านจิตใจ จิตวิญญาณของคน วัฒนธรรมของชาวล้านนา เป็นสิ่งที่ผมประเมินไม่ได้ไงครับ เหมือนกับบอกว่าเราป้องกันน้ำท่วมได้ปีละพันสองพันล้าน แต่ว่านานๆ เกิดครั้ง แต่จิตวิญญาณที่ผูกพันกับเหมืองฝายแบบเก่าที่ทำกันมานานแล้ว เราต้องตีมูลค่าทางสังคมด้วยซึ่งเป็นคนละเกณฑ์ ผมถึงบอกว่าต้องชั่งน้ำหนักดู ทาง มช. จึงไม่ได้ฟันธงว่าสนับสนุนหรือคัดค้าน ดังที่ผมบอกว่ามูลค่าทางสังคมมันมีซึ่งเราประเมินยากมาก”
*เหมืองฝาย ภูมิปัญญาเก่าแก่ของชาวล้านนา
ฝายคืออะไร? ถ้าให้สรุปสั้นๆ ตรงนี้ก็ต้องอธิบายว่า ‘ระบบเหมืองฝาย’ คือระบบการจัดการน้ำแบบหนึ่งซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของคนล้านนาที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพญาเม็งรายมหาราช-ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่หรืออาจจะเก่าแก่กว่านั้น
ส่วนตัวฝายก็คือเขื่อนน้ำล้นเตี้ยๆ ที่ชาวบ้านทางล้านนาสร้างขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้ไม้รวกปักขวางลำน้ำทั้งแม่น้ำและลำธาร แล้วอัดด้วยฟาง กิ่งไม้ ใบไม้ เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเล็กน้อย และจะต้องขุดคลองข้างลำน้ำที่เรียกว่า เหมือง เพื่อทดเอาน้ำจากลำน้ำเข้าสู่เหมืองไหลไปยังพื้นที่การเกษตร ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงระบบนี้จึงเรียกว่า เหมืองฝาย
เหมืองฝายต่างๆ จะมีแก่เหมือง แก่ฝาย เป็นผู้ดูแล และคอยบริหารจัดการ ปันส่วนน้ำให้แก่ชาวบ้านและลูกเหมือง รวมถึงต้องคอยซ่อมแซม ขุดลอกเหมืองฝายให้อยู่ในสภาพดีตลอดเวลา
“ส่วนใหญ่แล้วคนภาคเหนือถ้าเข้าใจชุมชนชนบทก็คงไม่เห็นด้วยที่จะรื้อระบบเหมืองฝาย เพราะระบบนี้เป็นระบบการจัดการน้ำของแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนทั้งแอ่ง ไม่ใช่เฉพาะที่อำเภอสารภี การจัดการน้ำทั้งแอ่งมันต่อเนื่องกันตั้งแต่ฝายแรกจนถึงฝายลูกสุดท้ายของแม่น้ำปิงซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 11 ฝายต่อเนื่องกัน ฝายลูกหนึ่งจะส่งน้ำกินพื้นที่ 3-4 หมื่นไร่ การที่จะรื้อลูกใดลูกหนึ่งก็ต้องมีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่รื้อลูกที่เหลือ เมื่อรื้อไปแล้วอีกหลายหมื่นชีวิตจะทำยังไง เพราะชาวบ้านยังทำเกษตรกรรมอยู่ จะเอาระบบจ่ายน้ำที่ไหนมาทดแทน” พรพิไล เลิศวิชา เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยตั้งคำถาม
ระบบเหมืองฝายจึงเป็นระบบการจัดการน้ำเก่าแก่ที่ชาวบ้านดูแลและควบคุมกันเองมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อความเป็นรัฐขยายใหญ่โตและรวบอำนาจการจัดการน้ำเอาไว้เสียเอง ระบบเหมืองฝายจึงได้รับผลกระทบและอ่อนแอลง แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังคงสภาพอยู่ได้แม้จะทุลักทุเลไปบ้าง
ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจในปัจจุบันของเมืองเชียงใหม่ แม้พื้นที่รอบนอกจะยังมีการทำการเกษตร แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับคนในตัวเมือง (ซึ่งน่าจะมีเสียงที่ดังกว่า) ระบบเหมืองฝายไม่ได้มีความยึดโยงใดๆ กับชีวิตของพวกเขาอีกแล้ว ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อไปว่าจะลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 กลุ่มหรือไม่ เพราะทั้งฝ่ายสำนักชลประทานที่ 1 และฝ่ายคัดค้านต่างก็กล่าวเหมือนกันว่าคนเชียงใหม่สนับสนุนฝ่ายตน
*ผลประโยชน์ทับซ้อน???
การรื้อฝายทั้ง 3 ฝายได้รับการริเริ่มในปี 2545 ทางการให้เหตุผลเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลักโดยไม่มีเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งชาวบ้านก็ออกมาคัดค้านจนเรื่องเงียบลง ครั้นถึงปี 2548 แนวคิดที่จะรื้อฝายก็กลับมาอีกครั้งด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม เหตุผลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมานี้เองเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจโครงการสร้างประตูระบายน้ำ แสงรัตน์ อธิบายเรื่องนี้ว่า
“เหตุผลไม่เปลี่ยนหรอกครับ ทางชลประทานทราบมานานแล้วปัญหาตัวเมืองเชียงใหม่ต้องเกิดน้ำท่วมแน่นอน เพราะลักษณะรูปร่างของแม่น้ำปิงมันมีปัญหาหลักๆ ที่โครงการนี้ก็ได้ศึกษาอยู่ แต่มันขึ้นกับแนวนโยบายในช่วงจังหวะเวลานั้นๆ ว่าจะยกเรื่องใดขึ้นมาเป็นตัวหลัก แต่จริงๆ ถ้าทำโครงการนี้ประโยชน์มันเกิดหลายทาง เช่น ยกประเด็นน้ำท่วมก็เป็นแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นประโยชน์หลัก ประโยชน์อื่นก็มีตามขึ้นมา ผลประโยชน์พลอยได้อย่างเรื่องการท่องเที่ยว การประมง มันก็พูดได้หมดครับ โครงการเขียนมาแต่ละอย่างก็ต้องนำเสนอว่ามีประโยชน์หลายกรณีหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ แต่ประเด็นในช่วงปี 2545 ผมยังไม่ได้มา รัฐบาลตอนนั้นเขาอาจจะบูมเรื่องการท่องเที่ยว ดังนั้น การยกโครงการนี้ขึ้นก็ต้องเอาตัวนั้นเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันในปี 2545 เขาก็ต้องยกว่าสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย”
นอกจากเหตุผลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้ว ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างความคลางแคลงใจให้กับชาวบ้าน เพราะดูเหมือนว่าชาวบ้านจำนวนหนึ่งจะเชื่อว่ามีการตุกติกเกิดขึ้นจริงๆ
ชาวบ้านในพื้นที่บอกกับเราว่าความพยายามรื้อฝายมีมานานแล้ว เนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นดังกล่าวมีโรงแรมแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่เหนือฝายพญาคำขึ้นไป จึงต้องการรื้อฝายเพื่อให้เรือสามารถแล่นผ่านได้ตลอดจากโรงแรมของตนไปจนถึงเวียงกุมกามและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สถานบันเทิงต่างๆ ตลอดสองฝั่งลำน้ำเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะตามมา ซึ่งเรื่องนี้ถูกกล่าวถึงมานานพอสมควร
*น้ำหนักของทางเลือก
เอาล่ะ พักเรื่องฉาวๆ ที่ยังหาบทสรุปนี้ไม่ได้เสียก่อน และหันมาพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการรื้อฝายและสร้างประตูระบายน้ำกันต่อ
กล่าวกันว่าปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ จริงๆ แล้วเกิดจากการรุกล้ำแม่น้ำปิง การรุกล้ำลำเหมือง การตั้งบ้านเรือนในอดีตที่ผ่านมาโดยขาดการวางแผนจัดการที่ดีพอเพราะเมืองเชียงใหม่มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ เมื่อผู้คนตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ที่เคยเป็นแอ่งรับน้ำ สร้างถนนปิดทางไหลของน้ำ จะอย่างไรเสียน้ำก็ต้องท่วม
รศ.ชูโชค บอกว่าขณะที่ประเด็นการรื้อฝายยังหาข้อสรุปไม่ได้ การแก้ไขปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำปิงจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการก่อน
“เท่าที่ผมเข้าไปมีส่วนอยู่บ้าง พบว่ามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาการรุกล้ำน้ำปิง ตอนนี้ก็กำลังฟ้องและชนะทุกคดี ผมว่าจุดนี้เป็นจุดที่ประชาชนจะชอบเพราะเรารื้อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนที่รุกล้ำน้ำปิงออกไปได้น่าจะดีกว่า ในสายตาผมตอนนี้อยากให้การแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำปิงให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากที่สุด คงจะช่วยระบายน้ำได้มากขึ้น แต่จะให้พอกับน้ำที่มาเหมือนปี 2548 ก็คงท่วมเหมือนเดิมเพราะน้ำปิงต้องกว้างกว่านั้นเยอะ ฉะนั้น การสร้างประตูน้ำก็คือส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีหรือไม่มี อย่างน้อยการรุกล้ำน้ำปิงต้องทำก่อน ส่วนการจะสร้างประตูน้ำหรือไม่ก็ขอให้ชั่งน้ำหนักดูระหว่างการได้ผลประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วม ตีว่าหลายๆ ปีเกิดครั้งหนึ่ง กับมูลค่าของจิตวิญญาณของคนเมืองที่ผูกพันกับฝายเก่าแก่”
แต่สิ่งที่ชาวบ้านอย่าง พ่อหลวงสมบูรณ์ บุญชู และยังเป็นผู้ช่วยแก่ฝายพญาคำบอกว่าลำเหมืองคือช่องทางระบายน้ำ ถ้าทางการลงไปดูแล ขุดลอกลำเหมือง ยับยั้งการบุกรุกอย่างจริงจังก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ การรื้อฝายจึงไม่ใช่ทางออกตามที่กล่าวอ้าง แต่สิ่งที่เขาหวั่นเกรง ไม่ใช่แค่การรื้อทำลายจิตวิญญาณเท่านั้น แต่มันยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนต้นน้ำและท้ายน้ำ
“น้ำจากฝายนี้ส่งไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ถึง 32,000 ไร่ แต่กรมชลประทานบอกว่าแค่หมื่นกว่าไร่เท่านั้น ทางราชการบอกว่าจะสร้างประตูระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ แต่ข้อมูลที่ออกมากลับไม่ตรงกัน ชาวบ้านไม่เชื่อว่าการรื้อฝายและสร้างประตูน้ำจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ อีกเรื่องคือพี่น้องจะได้รับน้ำอย่างไร การบริหารจัดการน้ำแบบไหน ผู้ใช้น้ำทางท้ายน้ำจะได้รับความเดือดร้อน เกิดการแย่งน้ำกัน พี่น้องชาวบ้านไม่อยากให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจึงขอใช้อย่างเดิม ทุกวันนี้เราบริหารกันได้แล้ว”
ประเด็นนี้ แสงรัตน์ บอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบ เพราะเมื่อมีประตูน้ำก็สามารถควบคุมปริมาณการไหลของน้ำได้เหมือนเดิม น้ำยังคงไหลอย่างที่เคยเป็นมา ส่วนกรณีที่กลัวน้ำจะไม่ไหลเข้าลำเหมือง ทางชลประทานก็จะไปสร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณฝายท่าวังตาลเพื่อทดน้ำเข้าลำเหมืองให้
ในทางวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ชูโชคบอกว่า ถ้าน้ำมามากเหมือนกับปี 2548 ลำเหมืองก็คงรับน้ำไม่พอ เขาบอกว่าเหมืองฝายรับน้ำได้ไม่น่าเกิน 20 คิวต่อวินาทีซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำส่วนเกิน ส่วนกรณีเรื่องความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น เขาเชื่อว่าต้องเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าฝ่ายราชการเป็นคนดูแลจัดการเองทั้งหมด เขาจึงเสนอว่าถ้ามีการสร้างจริงจะต้องให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการมาดูแลด้วย
ในมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม พรพิไล ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า
“การรื้อฝายแล้วทำประตูน้ำหมายความว่าจะยังรักษาการจ่ายน้ำเอาไว้ เพียงแต่รื้อระบบของฝายแบบนี้ออกเป็นประตูปิดเปิดน้ำ แปลว่าระบบจ่ายน้ำยังอยู่แต่รูปการณ์ของฝายจะเลิกไป ปัญหาก็คือว่าระบบจ่ายน้ำแบบใหม่นี้เป็นระบบที่ประกันได้จริงๆ หรือว่าจะสามารถจ่ายน้ำในพื้นที่นี้ได้สำเร็จและจะไม่มีปัญหาถึงขั้นวิกฤต ปัญหาใหญ่ที่สุดคือว่าในแอ่งนี้ยังไม่พบว่ามีที่ใดเลยที่สามารถออกแบบระบบจ่ายน้ำมาเป็นแบบอื่น อย่าลืมว่าระบบจัดการน้ำแบบนี้ไม่ได้มีแต่ที่เชียงใหม่-ลำพูนเท่านั้น ในบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน เมืองที่อยู่ในหุบเขาก็ต้องใช้ระบบนี้ทั้งหมด หมายความว่ามันเป็นระบบจัดการของพื้นที่ที่อยู่ในหุบ
“ถ้าจะประกันว่าสำเร็จจริง จุดนี้จะเป็นคำถามที่ตอบลำบากเพราะว่าหลายอันที่ทำมาส่วนใหญ่มีปัญหาว่าทำแล้วจ่ายน้ำไม่ได้จริง และการจัดการน้ำแบบฝายนี้เป็นระบบที่ชาวนารู้จัก ถ้าเปลี่ยน ระบบจัดการก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นรัฐจัดการซึ่งเดิมชุมชนเป็นผู้จัดการ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นรัฐจัดการก็ต้องตอบคำถามต่อไปว่ารัฐจะทำยังไงจึงจะประกันว่าการจัดการระบบใหม่ที่รัฐจะดำเนินการจะมีคุณภาพเหมือนที่ชาวบ้านจัดการอยู่เดิม”
สืบสวัสดิ์ สนิทวงศ์ หนึ่งในผู้คัดค้านการรื้อฝายบอกว่าเร็วๆ นี้ทางกลุ่มชาวบ้านผู้ใช้น้ำจะมีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนเพื่อเสนอวิธีบรรเทาปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องรื้อฝาย “ตรง 2 ข้างปีกฝายทำให้เปิดได้ เอากระสอบหรืออะไรก็ได้มาถม เวลาน้ำมามากจริงๆ ก็รื้อออกเลย เป็นทางฉุกเฉิน เปิดออกเพื่อให้น้ำไหลลงไปเยอะๆ สองคือการขุดลอกลำเหมือง เปิดให้น้ำจากน้ำปิงไหลเข้าลำเหมือง”
*คนเชียงใหม่ต้องตัดสินใจ
แสงรัตน์ - วัฒนธรรมก็เกิดขึ้นได้ทุกสมัย มีการเปลี่ยนแปลงได้ เวลาเปลี่ยนไปก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง แต่เราคิดในหลักการที่จะแก้ปัญหา ในเชิงวิศวกรรมก็จะทำให้ถูกต้องที่สุด สร้างความเดือดร้อนน้อยที่สุด โครงการนี้ก็อยู่ในเกณฑ์นี้คือแก้ปัญหาได้ตรงจุด ความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่จะเกิดจากการดำเนินโครงการต้องมีน้อยที่สุด และค่าลงทุนน้อยที่สุด จึงได้ข้อสรุปว่าเห็นสมควรดำเนินโครงการนี้
พรพิไล - คิดว่าการรื้อฝายจะได้ไม่คุ้มเสียอยู่แล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะตอบไม่ได้ว่าระบบวิศวกรรมที่ออกแบบและอยู่มาหลายพันปีไม่ดีอย่างไร ของที่อยู่มาได้เป็นพันปีแสดงว่ามันทนทานต่อสภาพธรรมชาติ ระบบใดที่คงทนข้ามกาลเวลาแสดงว่าระบบนั้นได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นระบบที่เสถียร เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ฉะนั้น การที่จะนำระบบใหม่เข้ามา ก่อนอื่นต้องทบทวนว่าระบบเดิมเสียหายตรงไหน อันใหม่ดีกว่ายังไง ต้องคุยกันให้ลึกซึ้ง ซึ่งก็เห็นด้วยที่กรมชลฯ พยายามคิดเรื่องใหม่ๆ แต่อยากจะให้อภิปราย พูดคุย แลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ต้องตอบคำถามเก่าๆ ให้ครบก่อน ต้องขอย้ำว่าภูมิปัญญาก็คือการออกแบบและปรับปรุงแบบความรู้หรือเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ ถ้าจะยกเลิกก็คงจะยากหน่อย ต้องคุยกันเยอะ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
เราขอส่งท้ายด้วยความคิด ความเห็นจากทั้งสองฝ่าย
ถ้าจะให้สรุปแบบไม่สรุปก็ต้องบอกว่า คนเชียงใหม่เองนั่นแหละที่จะต้องร่วมคิด ร่วมถกเถียง และตัดสินใจ ภาครัฐจะต้องเปิดให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการหมกเม็ด ให้ชาวเชียงใหม่เป็นผู้เลือกและกำหนดชะตากรรมของตนเอง
คนเชียงใหม่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจิตวิญญาณกับการพัฒนา
**********************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
“ถ้าจะระเบิดฝาย ฮื้อระเบิดใจป้อหมื่นก่อนจึงจะสำเร็จ”
พ่อหมื่น ทิพยเดช แก่ฝายพญาคำคนปัจจุบันที่มีอายุล่วงเลยถึง 78 ปี เขาถือเป็นวงศ์วานว่านเครือที่สืบเชื้อสายมาจากพญาคำ ผู้ริเริ่มสร้างฝายพญาคำ ชีวิตของพ่อหมื่นผูกพันกับฝายแห่งนี้มาตั้งแต่วัยหนุ่ม กระทั่งได้รับความยอมรับนับถือจากชาวบ้านให้เป็นแก่ฝาย
พ่อหมื่นเล่าว่าเป็นคนลำพูนโดยกำเนิด อยู่อาศัยก็ที่ลำพูน สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมเหมืองฝายอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมจึงได้มาเป็นแก่ฝายพญาคำซึ่งอยู่ในเชียงใหม่ พ่อหมื่นอธิบายว่าระบบเหมืองฝายของล้านนาเวลาเลือกคนมาเป็นแก่ฝายจะต้องเลือกคนที่อยู่ท้ายน้ำที่สุดมาเป็น เพราะถ้าเลือกคนทางต้นน้ำอาจจะเกิดเก็บน้ำไว้ใช้เอง ไม่เกิดการจัดสรรปันส่วนอย่างยุติธรรม
ตลอดช่วงชีวิตการเป็นแก่ฝาย พ่อหมื่นมีวิธีการจัดการน้ำด้วยหลักการที่เรียบง่ายที่สุดโดยยึดหลักความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และพูดจากันดีๆ ไม่ให้เสียน้ำใจกัน
“สมมติว่าคนนั้นมันแข็ง มันลู่ (ลัก) น้ำเปิ้น ป้อจะดูว่าในไร่ ในสวนเขามีอะหยัง บ่มีอะหยัง ของที่ในไร่ ในสวนเขาบ่มี ป้อจะขอจาวไร่ จาวสวน เอาไปหื้อเขา เอาใจเขา เขาก็ฮื้อปันน้ำกันไป อย่าโมโหโทสะ มันจะบ่ลงรอยกัน”
ฟังเรื่องราวที่พ่อหมื่นเล่า พบว่าคนที่จะเป็นแก่ฝายได้ต้องถือว่ามีดี ในที่นี้หมายถึงต้องเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน มีบารมี ชาวบ้านไว้เนื้อเชื่อใจ ขนาดที่ว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือใครก็ตาม ถ้าทำผิดกฎระเบียบการใช้น้ำที่แก่ฝายและชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้นก็ต้องถูกลงโทษตามกฎระเบียบเสมอกัน
ความผูกพันที่มีมานานระหว่างพ่อหมื่นและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษทำให้พ่อหมื่นประกาศว่าพร้อมตายไปกับฝาย ให้เอารถมาตักหิน ตักไม้ที่ฝายพญาคำไปพร้อมๆ กับตัวพ่อหมื่น
“ถ้าจะระเบิดฝาย ฮื้อระเบิดใจป้อหมื่นก่อนจึงจะสำเร็จ”