“กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงที่ไม่เคยหลับใหลของประเทศไทย ถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีหลากหลายมุมซึ่งแตกต่างกัน แต่ภาพของกรุงเทพฯ ที่เราคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้ คงจะเป็นภาพของรถราที่ติดขัดอยู่บนถนนแทบทุกสายในช่วงเวลาเร่งด่วน ภาพตึกสูงๆ ที่ผุดขึ้นแทนที่ต้นไม้ ภาพผู้คนรีบร้อนไปด้วยธุระของตนเอง คนเมืองบางคนจึงอาจเบื่อความเร่งรีบและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษของกรุงเทพฯ จนอยากหลีกหนีไปให้ไกล
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งของกรุงเทพฯ แทบไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตื่นแต่เช้ามารับอากาศบริสุทธิ์ ออกจากบ้านเพื่อมารดน้ำต้นไม้ ให้อาหารเป็ด ไก่ และปลา หว่านดำต้นข้าวในทุ่งนา ก่อนที่จะเดินทักทายเพื่อนบ้านใกล้เคียง มีวิถีชีวิตแบบชนบทที่ยังประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรม รวมทั้งมีบรรยากาศรอบบ้านราวกับอยู่ต่างจังหวัดอย่างไรอย่างนั้น
สำหรับคนที่เบื่อบรรยากาศของกรุงเทพในแบบแรก น่าจะหาโอกาสออกจากป่าคอนกรีตแล้วลองออกไปสัมผัสกับบรรยากาศของ “ชนบท” ดูบ้าง ซึ่งบ้างครั้งอาจไม่ต้องไปไกล เพราะกรุงเทพฯ ยุคนี้ พ.ศ. นี้ ยังคงมีบรรยากาศของชนบทแอบแฝงอยู่ นับเป็นอีกด้านหนึ่งของเมืองกรุง ที่หลายๆ คนหากมีโอกาสไปสัมผัสแล้ว บางทีอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “นี่คือกรุงเทพฯ จริงๆ หรือ?”
*เหลือเชื่อ!! กรุงเทพฯยังมีทุ่งนา
เชื่อไหมว่า หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครเคยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวมาก่อน?
ด้วยความที่เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ในแถบนี้จึงอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว บริเวณสนามหลวงหน้าพระบรมมหาราชวัง หรือที่เรียกว่าทุ่งพระเมรุก็เคยเป็นที่ทำนาปลูกข้าวของชาวบ้านมาก่อน ทุ่งพญาไท ทุ่งบางกะปิ พื้นที่เหล่านี้ก็เคยเป็นทุ่งรวงทองมาแล้วทั้งนั้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พื้นที่เกษตรเหล่านี้จึงเปลี่ยนตามไป เป็นถนนหนทาง ศูนย์การค้า บ้านจัดสรร เป็นพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
แม้กรุงเทพฯ จะก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่ก็ใช่ว่าพื้นที่เกษตรที่เคยมีจะหายไปทั้งหมด เพราะในเขตรอบนอกของกรุงเทพฯ บางแห่งที่รอดพ้นจากการซื้อขายที่ดินไปทำบ้านจัดสรร ก็ยังคงมีการรับมรดกที่ดินและสืบทอดอาชีพเกษตรกรจากปู่ย่าตายายมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นที่ “ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา” หรือ หมู่บ้านลำไทร ในเขตหนองจอก เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำเกษตรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นปู่ย่า
อาจารย์สมชาย สมานตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ประจำแขวงโคกแฝด และเกษตรกรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด ปี 2549 เล่าถึงวิถีเกษตรที่ยังคงมีอยู่ในเขตหนองจอกให้ฟังว่า ในแขวงโคกแฝดนี้มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่กว่าหมื่นไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรแทบทุกอย่างผสมผสานกันไป
“ที่นี่เราหลักยึดหลักตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรกรรมของที่นี่เป็นเกษตรอินทรีย์ เราไม่ใช้สารเคมี เพื่อสุขภาพของคนในชุมชนเอง” อ.สมชายกล่าว
เนื่องจากที่นี่เป็นพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง ภายในชุมชนจึงแบ่งออกเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ เช่น “บ้านปลายนา” ซึ่งมีทุ่งนากว้างใหญ่อยู่ด้านหลังบ้าน และแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนให้ความรู้เกี่ยวกับการทำนาที่เน้นการพึ่งตนเองและพึ่งพิงธรรมชาติ เช่น เครื่องมือสีข้าวเพื่อใช้บริโภคกันเองภายในครอบครัว รวมทั้งมีแปลงนาบกสาธิตให้ดูด้วย หรือที่ “ลำไทรฟาร์ม” ก็เป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับหงส์ดำ สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่นำรายได้มาสู่ชุมชน และอีกหลายฐานการเรียนรู้ที่มีผู้ไปเยือนเพื่อศึกษาดูงานอยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนั้นแล้วแต่ละบ้านก็ยังปลูกพืชผักผลไม้ เลี้ยงปลาไว้กินกันเองในครอบครัว เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่ยังมีชีวิตเรียบง่าย และยังอิงอยู่กับวิถีเกษตรอย่างแท้จริง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกลิ่นอายบรรยากาศของความเป็นชนบทที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป จึงไม่แปลกเลยที่ต้องมีป้ายติดเตือนใจไว้ภายในชุมชนว่า “ที่นี่กรุงเทพฯ”
อีกหนึ่งชุมชนในเขตสะพานสูง ไม่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิเท่าไรนัก ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ยังมีการทำนาปลูกข้าวกันอยู่ ตลอดสองข้างทางที่รถวิ่งผ่านก็ยังมีทุ่งนาเขียวขจี หรือหากมาในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะพบว่าพื้นที่ถนนถูกเบียดบังไปเป็นลานตากข้าวเปลือกอีกต่างหาก
ณรงค์ บัวศรี หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรเขตสะพานสูง กล่าวถึงการทำเกษตรกรรมในพื้นที่แถบนี้ว่า พื้นที่เกษตรประมาณ 1,000 ไร่ในเขตสะพานสูงนั้นก็มีทั้งการทำนา ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ แต่พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่จะเป็นการทำนามากที่สุด
ภายในบ้านของณรงค์เองจะมีเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป็นโรงสีข้าวชุมชนของกลุ่มเกษตรกรทำนาเขตสะพานสูง เพื่อไว้สำหรับสีข้าวของชาวบ้านที่เก็บเกี่ยวมาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแต่จะเอาพวกเปลือกข้าว แกลบ หรือรำข้าว เพื่อเอาไปขายเป็นอาหารให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ และนำเงินมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกลุ่มเกษตรกร
“ข้าวที่สีได้จากโรงสีนี้ นอกจากเราจะเก็บไว้เพื่อบริโภคเองแล้ว ก็ยังส่งไปจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงด้วย โดยจะใช้ชื่อของกลุ่มเกษตรกรเขตสะพานสูง” ณรงค์บอก
นอกจากจะเป็นโรงสีข้าวของชุมชนแล้ว ในอนาคตก็จะมีการสร้างโรงเรือนขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการอบรมให้ความรู้ใหม่ๆ แก่เกษตรกรในชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาและคนที่สนใจอีกด้วย
และสำหรับผู้ที่อยากจะมาสัมผัสบรรยากาศของทุ่งนาเมืองกรุงทั้งสองแห่งนี้ ก็สามารถมาพักในโฮมสเตย์ภายในชุมชนได้เช่นกัน
*ใครว่ากรุงเทพฯ ไม่มีทะเล?
เขตบางขุนเทียน เป็นเขตเดียวของกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย และที่ “ชุมชนแสนตอ” แขวงท่าข้าม ก็เป็นชุมชนหนึ่งในเขตบางขุนเทียนที่ยังคงมีการทำประมงน้ำเค็มกันอยู่
แยกซ้ายจากถนนพระราม 2 วิ่งเข้าสู่ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ลึกเข้าไปอีกประมาณสิบกิโลเมตร จากนั้นยังต้องนั่งเรือล่องไปตามคลองอีกประมาณ 5 นาที เราจึงมาถึงชุมชนแสนตอ และได้พบกับ ลุงสอน พึ่งสาย อดีตประธานชุมชนแสนตอ ที่จะเป็นคนพาเราไปดูการทำประมงในพื้นที่แถบนี้
ลุงสอนเล่าถึงชุมชนแสนตอให้ฟังว่า ที่ชุมชนนี้มีคนอาศัยอยู่ 52 หลังคาเรือน และทุกบ้านก็ทำอาชีพประมงกันหมด แม้พื้นที่ของชุมชนจะไม่ได้ติดทะเลเพราะมีคลองกั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็มีการขุดบ่อเพื่อทำประมง และปล่อยน้ำจากทะเลเข้ามาในบ่อ โดยสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงนั้นก็คือหอยแครง กุ้ง และปูทะเล
แม้จะเป็นการขุดบ่อเลี้ยง แต่ก็เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ คือไม่ได้ให้อาหาร เพราะอาหารของสัตว์เหล่านี้ก็คือแพลงก์ตอนที่มีอยู่ในน้ำทะเลอยู่แล้ว ลุงสอนเล่าให้ฟังถึงการเพาะเลี้ยงหอยแครงที่ถือว่าเลี้ยงง่ายมาก เพียงแค่ซื้อพันธุ์หอยแครงซึ่งเป็นหอยตัวเล็กๆ เอามาปล่อยในบ่อ จากนั้นก็ปล่อยลืมไปได้เลย เพราะไม่ต้องให้อาหาร ไม่ต้องประคบประหงมมากนัก จากนั้นอีก 6-7 เดือนก็หอยแครงก็จะตัวโตพอที่จะงมขึ้นมาขายได้
ส่วนกุ้งและปูทะเลนั้นก็เลี้ยงรวมอยู่ในบ่อเดียวกัน ไม่ได้ให้อาหารเร่งโตเร่งขนาดแต่อย่างใด จะเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการทำประมงอินทรีย์ เพราะไม่มีการใช้สารเคมี แม้ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะไม่ได้ผลในปริมาณมากหรือมีน้ำหนักตัวมากมาย แต่ก็ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อดินต่อน้ำเหมือนกับการเลี้ยงแบบบ่อพัฒนาที่ต้องให้อาหาร ซึ่งทำให้มีสารเคมีตกค้างและเกิดน้ำเน่าเสียได้
ด้วยความที่พื้นที่ของชุมชนอยู่ลึกเข้ามาจากถนนใหญ่ แถมยังไม่มีถนนเข้าถึง ต้องเดินทางมาโดยทางเรือเท่านั้น ทำให้บรรยากาศภายในชุมชนแสนตอเงียบสงบ บ้านแต่ละหลังตั้งเว้นระยะห่างๆ กัน บริเวณหน้าบ้านทุกหลังก็มีบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่เป็นสถานที่ทำงาน เช้าขึ้นมาก็ลงบ่อไปงมหอยงมกุ้งไปขายได้เงินมา ไม่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าหรือฝ่ารถติดเพื่อไปทำงานเหมือนคนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ
บรรยากาศที่หาไม่ได้ง่ายๆ เช่นนี้ย่อมมีคนอยากไปสัมผัส ที่ชุมชนแสนตอจึงเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีผู้ที่ให้ความสนใจแวะเวียนมาเยี่ยมอยู่เรื่อยๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งผู้ที่มาเยี่ยมชมที่นี่ก็จะได้มาเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล ได้มาสนุกกับการพายเรือแคนูในบ่อเลี้ยง อีกทั้งจะได้สนุกกับการงมหอยแครงด้วยตัวเอง และหากใครติดใจบรรยากาศเงียบสงบเป็นธรรมชาติของที่นี่ ก็สามารถขออนุญาตลุงสอนมากางเต็นท์นอนริมบ่อเลี้ยงหอยได้
“ที่บางขุนเทียนก็ถือเป็นที่เดียวของกรุงเทพฯ ที่ยังทำประมงชายทะเล บางคนมาเที่ยวแล้วก็บอกว่า ไม่นึกว่าในแถบนี้จะยังมีบรรยากาศอย่างนี้อยู่” ลุงสอนกล่าว
*ฟาร์มแพะเลี้ยงแกะ ที่เขตทุ่งครุ
ลึกเข้าไปในซอยประชาอุทิศ 69 เขตทุ่งครุ เราจะได้ยินเสียงแกะ เสียงแพะ ร้องแบ๊ะ..แบ๊ะ...มาแต่ไกล เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของ “กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ” ซึ่งมีสมาชิกกว่า 60 หลังคาเรือนมารวมตัวกันเลี้ยงแพะและแกะเพื่อจำหน่ายเนื้อและนม ที่ต้องเป็นสัตว์สองชนิดนี้ก็เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นคนไทยอิสลาม จึงเลี้ยงแพะและแกะไว้เพื่อบริโภคแทนเนื้อหมู
เกษม มหันตเกียรติ เลขาของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของการเลี้ยงแพะและแกะของที่นี่ว่า จะมีโรงเรือนสร้างเป็นคอกกว้างๆ ให้พวกแพะและแกะมีบริเวณพื้นที่ได้เดิน ส่วนการให้อาหารก็จะกินหญ้าคล้ายกับการเลี้ยงวัว เพียงแต่พวกแกะและแพะจะกินหญ้าน้อยกว่า
สำหรับการเลี้ยงแกะและแพะของที่นี่ จะเลี้ยงเพื่อขายเนื้อและนม โดยเนื้อแกะจะมีราคาดีกว่าเนื้อวัว ขายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 170 บาท ส่วนเนื้อแพะจะขายได้ประมาณ 200 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเนื้อเหล่านี้จะซื้อขายกันภายในชุมชน นอกจากนั้นก็ยังส่งไปขายตามห้างสรรพสินค้าด้วย
และนอกจากเลี้ยงเพื่อกินเนื้อแล้ว นมแพะก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากเชื่อว่านมแพะจะช่วยบำบัดอาการของโรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ฯลฯ ได้ ภายในชุมชนจึงมีทั้งแพะเนื้อ แพะนมและแกะเลี้ยงไว้กว่าร้อยตัว และทำให้บรรยากาศในฟาร์มเลี้ยงนั้นดูเหมือนไม่ได้อยู่ในเขตเมือง แต่ดูเหมือนจะอยู่ในชานกรุงมากกว่า
นอกจากสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่ว่ามาเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีอีกหลายแห่งด้วยกันที่ยังมีบรรยากาศเหมือนชนบท และยังมีการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพ เช่น เขตลาดกระบัง เขตสายไหม เขตคลองสามวา ที่ยังมีการทำนาปลูกข้าว หรือจะเป็นอีกฟากหนึ่งของกรุงเทพฯ เช่น เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตหนองแขม ก็ยังมีการทำสวนผัก สวนผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อส่งขายตามที่ต่างๆ เช่นกัน
และนี่ก็คือวิถีชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่บางคนอาจจะยังไม่เคยเห็น และไม่อยู่ในความคิดของใครหลายๆ คน ภาพของย่านสยามสแควร์เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนเกษตรที่เขตหนองจอกแล้ว ดูจะเป็นความแตกต่างแบบคนละขั้ว แต่ก็เป็นความต่างที่รวมอยู่ด้วยกันได้ในเมืองเมืองเดียว... ที่กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรแห่งนี้
******************
เรื่อง-ทีมข่าวท่องเที่ยว
โฮมสเตย์ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เขตหนองจอก ราคาที่พัก 100 บาท/คน/คืน ค่าอาหารหลัก 70 บาท/คน ค่าอาหารว่าง 25 บาท/คน ค่าบริการทางมัคคุเทศก์ 500 บาท/คน/วัน ค่าวิทยากร 1,500 บาท/ครั้ง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์สมชาย สมานตระกูล โทร.08-7145-0557,โฮมสเตย์กรุงเทพกลางนา ราคาห้องพัก ห้องละ 2 คน/คืน 400 บาท (ไม่รวมอาหาร) สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.08-9535-5836,สนใจท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ชุมชนแสนตอสอบถามได้ที่ โทร.0-2849-1640 กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ โทร.08-1811-6016