xs
xsm
sm
md
lg

11 ช้างสำคัญแห่งแผ่นดินไทย จากโรงช้างต้นสู่วิถีธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นอกจากที่ “ช้าง” จะถือครองความเป็นเจ้าสถิติ “ความใหญ่ที่สุดในโลก” ของบรรดาสัตว์บกทั้งหมดทั้งมวลแล้ว สำหรับสังคมสยามและต่อมาจนเป็นสังคมไทยนั้น “ช้าง” ยังดำรงสถานะความเป็น “มงคล” ต่อสังคมและประเทศชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ช้าง” ยังเป็นหนึ่งใน “สัปตรัตนะ” หรือ “แก้วเจ็ดประการ” อันเป็นสัญลักษณ์แห่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอีกด้วย

และสำหรับรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้น ด้วยพระบารมีของพระองค์ทำให้ในแผ่นดินนี้มีช้างเผือกและช้างสำคัญมาสู่พระบารมีมากที่สุดถึง 20 ช้าง และในขณะนี้ยังคงยืนโรงอยู่ถึง 11 ช้าง และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเล็งเห็นแล้วว่า การนำช้างไปใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพช้างสำคัญเหล่านี้ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำช้างสำคัญทั้งหมดไปยืนโรง ณ โรงช้างต้นที่จังหวัดลำปางและสกลนคร อันเป็นพระมหากรุณาอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อช้างสำคัญเหล่านี้

***“ช้างต้น” มงคลจักรพรรดิ์

น.สพ.มล.พิพัฒนฉัตร ดิศกุล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวังให้ข้อมูลถึงศุภลักษณะหรือลักษณะอันดีแห่งช้างมงคลว่า จะต้องมีตา ขนหาง ขนรอบตัว เล็บ เพดานปาก ผิว และอัณฑโกศ (อวัยวะเพศ) เป็นสีขาวหรือสีหม้อดินใหม่ ตามคติความเชื่อ ซึ่งจะเรียกว่า ช้างเผือก

"ช้างเผือกแบ่งออกเป็นสามชั้น คือช้างเผือกเอก ช้างเผือกโท และช้างเผือกตรี พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ หรือที่เรียกกันว่า "คุณพระเศวตใหญ่" ที่มาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นช้างเผือกโท" นายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวันอรรถาธิบายพร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับช้างต้นในราชวงศ์จักรีว่า มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีในแทบทุกรัชสมัยแห่งพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์

กล่าวคือในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) มี 11 ช้าง , ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่2) มี5 ช้าง , ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) มี 11 ช้าง ,ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) มี 12 ช้าง ,ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) มี 19 ช้าง ,ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) มี 1 ช้าง , ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่7) มี 1 ช้าง

สำหรับในแผ่นดินรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้น ถือเป็นแผ่นดินที่มีช้างต้นมาสู่พระบารมีมากที่สุด ถึง 20 ช้างด้วยกัน ในจำนวนนั้นมีช้างสำคัญหรือช้างที่มีมงคลลักษณะ 7 ประการ ซึ่งได้เข้าพระราชพิธีขึ้นระวางพระราชนามเป็นช้างเผือกจำนวน 10 ช้าง ล้ม (ตาย) ไปแล้ว 4 เหลือ 6 ช้าง และถ้านับรวมกับช้างประหลาดหรือช้างที่มีมงคลลักษณะบางประการ บวกรวมกับช้างสำคัญที่ยังไม่ได้เข้าพระราชพิธีขึ้นระวาง ปัจจุบันนี้ มีช้างต้นจำนวน 11 ช้าง ซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้

1.พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทราชาติ สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการปรมินทรบพิตร สารศักดิ์เลิศฟ้า ชื่อเดิม พลายแก้ว เป็นช้างพลายเผือกโท เป็นช้างลูกเถื่อน น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ณ โรงช้างต้น เขาดินวนา (สวนสัตว์ดุสิต) เป็นช้างสำคัญในตระกูล “พรหมพงศ์” จำพวก “อัฏฐทิศ” ชื่อ “กมุท” สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2547 และประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547

2.พระเศวตสุทธวิลาศ อัฏฐคชชาต พิษณุพงศ์ ดำรงประภาพมหิมัน ตามรพรรณไพศิษฏ์ ผริตวรุตตมมงคล ดาสศุภผลสวัสดิวิบุล อดุลยลักษณ์เลิศฟ้า เป็นช้างพลายเผือก (สีดอ) เป็นลูกเถื่อน ชื่อเดิม “พลายบุญรอด” เป็นช้างสำคัญในตระกูล “พิษณุพงศ์” จำพวก “อัฏฐทิศ” จำพวก “ดามพหัสดินทร์” จมื่นศิริ วังรัตน์ เป็นผู้ตรวจคชลักษณ์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2520 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

3.พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิต อัฏฐทิศพงศ์กมลาสน์ อรรคราชทิพยพาหน ถกลกิตติคุณกำจร อมรสารเลิศฟ้า เป็นช้างพัง ลูกเถื่อน ชื่อเดิม “ขจร” ถวายเป็นช้างสำคัญในตระกูล “พรหมพงศ์” จำพวก “อัฏฐทิศ” ชื่อ “กมุท” จมื่นศิริ วังรัตน์ เป็นผู้ตรวจคชลักษณ์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2520 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร เมื่อประมาณ 2538

4.พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดี โรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์อัฏฐทิศพิศาล พิเสฐ ธารธรณิพิทักษ์คุณารักษ กิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้า เป็นลูกช้างพังลูกเถื่อน ชื่อเดิมเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “จิ” ต่อมาเรียกว่า “จิตรา” น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2520 เป็นช้างสำคัญอยู่ในตระกูล “พรหมพงศ์” จำพวก “อัฏฐทิศ” ชื่อ “อัญชัน” ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ณ โรงช้างต้น จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2520

5.พระเศวตภาสุรคเชนทร์ นวเมนทราพาหน สุทธวิมลวิษณุพงศ์ คุณธำรงดามพหัสดินทร์ สุพัชรินทร์อนันตพล คชมงคลเลิศฟ้า เป็นช้างพลายลูกเถื่อน ชื่อเดิม “ภาศรี” เป็นช้างสำคัญในตระกูล “พรหมพงศ์” จำพวก “อัฏฐคช” ชื่อ “ดามพหัสดินทร์” จมื่นศิริ วังรัตน์ เป็นผู้ตรวจคชลักษณ์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงพิธี จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2521 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

6.พระเทพวัชรกิริณี ดามพหัสดีพิษณุพงศ์ โสตถิธำรงวิสุทธิลักษณ์ อำนรรฆคุณสบสกนธ์ วิมลสารโสภิต พิบูลกิตติ์เลิศฟ้า เป็นช้างพัง ชื่อเดิม “ขวัญตา” เป็นช้างจัดอยู่ในตระกูล “วิษณุพงศ์” จำพวก “อัฏฐคช” ชื่อ “ดามพหัสดินทร์” จมื่นศิริ วังรัตน์ เป็นผู้ตรวจคชลักษณ์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงพิธี จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2521 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร เมื่อ พ.ศ.2538

7.ช้างพลาย “วันเพ็ญ”น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2521 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

8.ช้างพลาย ชื่อ “ยอดเพชร” เป็นช้างที่เกิดในตระกูล “พรหมพงศ์” จำพวก “อัฏฐทิศ” ชื่อ “กมุท” ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ปัจจุบันอายุประมาณ 28 ปี

9.ช้างพลาย “ขวัญเมือง” เป็นช้างที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของจังหวัดเพชรบุรี จมื่นศิริ วังรัตน์ ตรวจสอบคชลักษณ์ ปรากฏว่า เป็นช้างในตระกูล “พรหมพงศ์” จำพวก “อัฏฐทิศ” ชื่อ “อัญชัน” จัดพิธีถวาย ณ มุขตะวันออก พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2523 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

10.พัง “มด” เป็นช้างพังลูกเถื่อน น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2522 ปัจจุบันนำไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร

และ11.พลาย “ทองสุก” เกิดประมาณปี 2514 เป็นช้างที่เกิดในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ปัจจุบันมีอายุประมาณ 34 ปี

***การดูแลช้างสำคัญ

น.สพ.มล.พิพัฒนฉัตรเปิดเผยถึงข้อมูลการดูแลช้างสำคัญต่อไปอีกว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นว่าพระราชวังสวนจิตรลดาในปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยหน่วยงานหลายฝ่าย เนื้อที่ที่เคยกว้างพอจะให้ช้างสำคัญเหล่านี้ได้เดินออกกำลังกายก็ถูกแทนที่ด้วยนานาโครงการตามพระราชดำริ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ย้ายช้างสำคัญเหล่านี้ไปอยู่ในโรงช้างหลวงที่จังหวัดลำปางและจังหวัดสกลนคร

“แต่ไม่ใช่ว่าจะย้ายกันปุบปับนะครับ เราต้องเตรียมงานกันหลายปีทีเดียว เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรไปไกลในเรื่องที่เราคิดกันไม่ถึง ก็คือทรงรับสั่งว่าช้างต้นเหล่านี้ถึงเวลาอาหารก็จะมีคนเอาอาหารมาให้ ถ้านำไปไว้ที่โรงช้างจังหวัดลำปางและสกลนครที่มีพื้นที่ป่าให้ช้างเดินออกกำลังกายและใกล้ชิดธรรมชาติแล้ว แต่เรื่องการปรับตัวหาอาหารในป่าของช้างต้นเหล่านี้จะทำได้หรือไม่”

“จึงทรงมีรับสั่งให้สัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวังพร้อมด้วยคณะทำงานเคลื่อนย้ายช้างสำคัญบางช้างไปทดลองใช้ชีวิตแบบกึ่งธรรมชาติอยู่เป็นนาน ซึ่งในระหว่างนี้ก็มีรับสั่งให้ถวายรายงานการใช้ชีวิตและการปรับตัวของช้างอย่างละเอียดเป็นประจำทุกเดือน จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายปี จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เคลื่อนย้ายช้างสำคัญไปไว้ที่โรงช้างต้นจังหวัดลำปาง และโรงช้างต้นจังหวัดสกลนครได้ทั้ง 10 ช้าง”

ส่วนอีก 1 ช้างคือ “คุณพระเศวตใหญ่ฯ” นั้นได้ถูกนำไปไว้ในพระราชวังไกลกังวลตามโบราณราชประเพณีที่ช้างเผือกสำคัญประจำรัชกาลจะต้องอยู่ใกล้พระเจ้าแผ่นดินเพื่อความเป็นมงคล ซึ่งขั้นตอนการเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตใหญ่นั้น ทางสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวังได้ดำเนินการอย่างระมัดระวังเป็นที่สุด ซึ่งด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้วยมงคลแห่งช้างสำคัญในรัชกาลอย่างคุณพระเศวตรใหญ่ฯ นี้ ทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างราบรื่นทุกประการ

ส่วนการดูแลนั้นจะเป็นไปตามตารางที่ค่อนข้างจะเป็นกิจวัตรประจำที่เหมือนกันทุกวัน ก็คือตอนเช้า 7 นาฬิกา ควาญจะนำช้างออกจากโรงช้างไปฝึกเข้าแถว ฝึกยืนนิ่งๆ นั่งนิ่งๆ หมอบนิ่งๆ ฝึกทำความเคารพโดยการยกงวงขึ้นจบ ฝึกรับของจากพระหัตถ์

“จากนั้นประมาณ 8 โมงกว่าๆ ก็จะปล่อยเข้าป่า โดยจะปล่อยโซ่ยาว 50 เมตรเพื่อให้เดินไปหากินในป่าได้ กระทั่งบ่ายสองโมงครึ่งก็นำออกจากป่า พาไปเล่นน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วนำไปอาบน้ำหน้าโรงเรือน ในส่วนของการอาบน้ำถ้าเป็นของโบราณจริงๆ เราใช้มะขามเปียกถูแทนสบู่ แต่ตอนนี้เราใช่สบู่เหลวเด็กอาบเพื่อจะได้ไม่กัดผิวหนังของช้าง”

“จากนั้นอาบน้ำเสร็จก็พาเข้าโรงเรือน ทอดหญ้าให้น้ำ เป็นอันจบกิจวัตร พอเช้าก็ทำแบบนี้ใหม่ และในเรื่องของอาหารนั้น ช้างจะกินอาหารประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ดังนั้นใน 1 วัน จะกินอาหารเฉลี่ยตัวละ 200 – 250 กิโลกรัม โดยอาหารก็จะเป็นพวกหญ้า กล้วยประมาณ30-40หวี อ้อย 5-10ลำยาว และจะมีพวกอาหารเสริมและเกลือแร่ด้วย”

และเมื่อถามถึงการดูแลตรวจสุขภาพช้างสำคัญนั้น น.สพ.พิพัฒนฉัตรให้ข้อมูลว่า จะมีการสังเกตอาการอยู่ตลอดเวลาจากควาญช้างและสัตวแพทย์ หากมีอาการผิดปกติจะได้ดูแลได้ทันท่วงที และจะมีการตรวจสุขภาพใหญ่ ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระอยู่ทุกๆ 6 เดือน

ส่วนบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลช้างสำคัญนั้นน.สพ.พิพัฒนฉัตรกล่าวว่า ต้องเลือกเฟ้นกันมากทั้งเรื่องของความสามารถและความประพฤติ โดยตามปกติแล้วช้างสำคัญแต่ละช้างนั้นจะต้องมีควาญประจำตัวดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อยที่สุด 2 ควาญต่อ 1 ช้าง โดยควาญเหล่านี้ กว่าจะมาเป็นควาญช้างต้นได้นั้น ต้องผ่านการทดสอบปฏิบัติเสียก่อน

“เราจะให้สอบปฏิบัติ คืออย่างแรกเลยต้องดูก่อนว่าเข้าช้างถูกไหม ช้างบางช้างจะตาซ้ายไม่ดี ถ้าควาญไปเข้าข้างซ้ายแล้วช้างเห็นไม่ถนัดก็อาจจะฟาดเอาได้ คือควาญต้องหาข้อมูลก่อนว่าช้างนี้ชอบอะไรไม่ชอบอะไร ต้องดูว่าเข้าช้างเป็นไหม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความประพฤติด้วย อันนี้เน้นมากเพราะบางช้างก็ไม่ชอบกลิ่นบุหรี่ ไม่ชอบกลิ่นเหล้า เป็นต้น”

***พระมหากรุณาธิคุณต่อช้างไทย

นายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวังได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ว่า ไม่ใช่เฉพาะช้างต้นหรือช้างสำคัญเท่านั้น ที่ทรงมีพระเมตตาห่วงใย แต่สายธารแห่งพระกรุณานี้ยังแผ่ไปถึงช้างไทยทุกตัวทุกเชือกอีกด้วย

“เรามีทีมสัตวแพทย์ประมาณ 6-7 คน แต่เราไม่ได้เพียงแต่ดูแลช้างสำคัญเท่านั้น คือไม่ว่าจะมีเคสจากโรงพยาบาลสัตว์ไหนติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือ เราจะไปช่วยเหลือทุกกรณีโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย รักษาฟรีหมด เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ”

น.สพ.พิพัฒนฉัตรกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่มีต่อช้างไทยนั้น ไม่เป็นที่กังขาด้วยมีหลายต่อหลายโครงการตามพระราชดำริที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชน รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานเป็นกรณีๆ ไป

เช่น ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันนี้มีกรณีลูกช้างเพศผู้ แม่ชื่อพังแก้ว เป็นช้างจากอำเภอแม่แตง ไม่ยอมให้ลูกช้างกินนม ทางโรงพยาบาลก็ติดต่อมายังรพ.ช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างเชียงใหม่ ทางโรงพยาบาลก็รับมาดูแลแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อนมให้ลูกช้างตัวนั้น เมื่อมีการตีข่าวนี้ออกไปทางโทรทัศน์และความทราบถึงพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 300,000 บาท เพื่อซื้อนมให้ลูกช้างตัวนั้น

“ตอนแรกทราบเรื่องผมก็จะนำไปให้วันศุกร์นี้เพราะผมมีประชุมที่นั่นพอดี แต่ทรงมีรับสั่งว่าหากรอถึงวันศุกร์เกรงว่าลูกช้างจะรอไม่ไหว และเป็นอันตราย จึงมีรับสั่งให้รีบโอนผ่านธนาคารไปอย่างด่วนที่สุด ด้วยทรงมีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยลูกช้างตัวนั้น” น.สพ.พิพัฒนฉัตรให้ข้อมูล

นอกจากนี้สายพระเนตรและน้ำพระราชหฤทัยแห่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังได้แผ่ไปยังมุมที่หลายๆ คนอาจจะยังคิดไปไม่ถึง นั่นคือช้างชราและช้างบาดเจ็บที่ถูกเจ้าของทิ้ง ก็ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ดูแลด้วย

*******************

เรื่อง - เจิมใจ แย้มผกา














กำลังโหลดความคิดเห็น