xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานเงาะโรงเรียน จากปีนังถึงแผ่นดินสยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้หรือไม่ว่า เงาะโรงเรียนลูกสีแดงสด ที่มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย เป็นที่ติดอกติดใจของใครหลายคนนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร กว่าจะมาเป็นเงาะสดๆ ให้เราได้ลิ้มชิมรสกันอย่างทุกวันนี้...ที่ชื่อเสียงของเงาะโรงเรียนกลายเป็นที่ติดหูติดปากกันมาช้านาน แต่คอเงาะทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า ต้นกำเนิดของเงาะโรงเรียนขนานแท้และดั้งเดิมนั้น ไม่ใช่สวนผลไม้ทางภาคตะวันออกอย่างจังหวัดระยอง หรือจันทบุรีอย่างที่ใครคาดคิด หากแต่มาจากภาคใต้ของประเทศ ในดินแดนที่อุดมไปด้วยเหมืองแร่และสายฝนอย่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีคำขวัญว่า

"เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ" แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกินที่มีอยู่มากมายหลายชนิด และเงาะอร่อยที่ว่าคือ เงาะโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้มีสายพันธุ์อายุยืนยาวสืบต่อมาจากเงาะโรงเรียนต้นแรกเกินกว่าครึ่งศตวรรษแล้วนั่นเอง

เงาะ ‘นาสาร’ จากอดีตอันรุ่งเรือง

เสียงล้อเหล็กบดกับรางเมื่อรถไฟค่อยๆ จอดเทียบชานชาลา ผู้โดยสารที่เตรียมจะลงสถานีนี้เริ่มลุกขึ้นเก็บข้าวของ ขณะที่คนที่ยังไม่ถึงจุดหมายก็ลุกไปล้างหน้าล้างตา เตรียมหาเสบียงมื้อเช้ารองท้อง ก่อนที่รถไฟสายใต้ขบวนนี้จะมุ่งหน้าไปยังบ้านส้องเป็นสถานีถัดไป

“เฮาะไม๊ครับ เฮาะหวานๆ” เสียงเด็กชายร่างเล็กแต่แข็งแกร่ง ร้องตะโกนขายสินค้าขณะแบกเงาะพวงใหญ่สีแดงสดไว้เต็มไม้เต็มมือ

“หนูๆ ขายอะไรน่ะ” ผู้หญิงคนหนึ่งยื่นหน้าออกไปถาม เพราะได้ยินเสียงแต่ดูไม่ทัน

“ขาย ‘เฮาะ’ ครับ” เด็กชายยิงฟันตอบ ก่อนยื่นผลไม้ขนดกในมือให้ดูประกอบ คนถามจึงถึงบางอ้อ

“อ๋อ เงาะน่ะเอง”

บรรยากาศเช่นนี้หาดูได้ทั่วไปตามสถานีรถไฟนาสาร ที่ตั้งอยู่ในตำบลบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเพราะบริเวณหน้าสถานีรถไฟนาสาร คือย่านจำหน่ายผลไม้แหล่งใหญ่ของบ้านนาสาร ซึ่งจะคึกคักมากในหน้าผลไม้ ช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ย. ผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาลทั้งเงาะ มังคุด ไปจนถึงสะตอฟักใหญ่สดๆ ถูกลำเลียงจากสวนมาขายถึงที่ ทำให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมา มีโอกาสอิ่มอร่อยได้ระหว่างเดินทาง

และในอดีต ทางรถไฟสายเดียวกันนี้ ก็คือเส้นทางที่ลำเลียงผลไม้จากภาคใต้เหล่านี้ ไปสู่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ชื่อของเงาะโรงเรียนอำเภอนาสารเป็นที่โด่งดัง มีการขยายพันธุ์ไปยังต่างจังหวัดโดยตั้งชื่อเงาะจากแหล่งกำเนิด ก่อนที่จะถูกเงาะโรงเรียนจากภาคตะวันออกกลบจนค่อยๆ จางหายไปกับกระแสกาลเวลา

จากเงาะโรงเรียนนาสาร ถูกเรียกหดสั้นเหลือเพียงแค่เงาะโรงเรียน ที่มาและต้นกำเนิดของเงาะสายพันธุ์นี้จึงมีไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ แม้คนไทยจะยังซื้อเงาะโรงเรียนรับประทานกันอยู่แทบทุกครัวเรือนก็ตาม

รำลึกเงาะโรงเรียนนาสารต้นแรก

อำเภอนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “เงาะโรงเรียนชื่อเฟื่อง รวยเหมืองแร่ แท้น้ำผึ้ง น่าทึ่งปลาเม็งยำ เลิศล้ำถ้ำผา เพลินตาน้ำตกสวย งดงามด้วยอุทยาน” นอกจากต้มยำปลาเม็ง ร้าน ‘ซินฮั้วล้ง’ ใกล้สถานีรถไฟนาสารที่ใครมาต้องแวะชิมให้ได้แล้ว หากมาที่นี่แล้วไม่ได้ชิมเงาะโรงเรียนพันธุ์แท้ดั้งเดิม ถือว่าคนนั้นยังมาไม่ถึงนาสาร

จิรศักดิ์ ชัยฤทธิ์ นายอำเภอบ้านนาสาร กล่าวถึงความเป็นมาของเงาะโรงเรียนพันธุ์ดีที่การันตีว่า ‘รสชาติอร่อยที่สุดของไทย’ ว่าในราวปี พ.ศ.2480 นายเค หว่อง (K.Wong) ชาวจีนสัญชาติมาเลเซียได้เดินทางมาทำกิจการเหมืองแร่ดีบุก ที่บ้านเหมืองแร่และขุนทองหลาง โดยได้สร้างบ้านพักขึ้นในบริเวณโรงเรียนนาสารในปัจจุบัน

นายเค หว่องได้นำเงาะพื้นเมืองจากเมืองปีนังมารับประทานและทิ้งเมล็ดไว้ข้างบ้านพัก ด้วยสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ดี และมีความชุมชื้นอุณหภูมิพอเหมาะ ทำให้เมล็ดที่ถูกทิ้งได้งอกขึ้นมารวมทั้งหมดจำนวน 3 ต้น

ต่อมานายเค หว่อง ได้เลิกกิจการและขายที่ดินพร้อมบ้านพักให้แก่กระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ทางราชการได้ปรับปรุงบ้านพักเป็นอาคารเรียน และย้ายโรงเรียนจาก วัดนาสาร มาก่อตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นที่นี่ ซึ่งคือบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนนาสารในปัจจุบัน

ต้นเงาะจำนวน 3 ต้น ได้ออกดอกติดผลในเวลาต่อมา ในจำนวนต้นเงาะสามต้นนั้น มีเงาะต้นหนึ่งที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติจนกลายเป็นแม่พันธุ์ของเงาะพันธุ์โรงเรียนต้นแรก เงาะที่สายพันธุ์ว่ามีลักษณะพิเศษคือ ผลเงาะสุกจะมีผมสีแดงแต่ปลายผมสีเขียว ถึงแม้ผลจะสุกจัดก็ตาม ผลค่อนข้างกลม เปลือกบาง เนื้อกรอบ รสหวานหอมซึ่งต่างจากพันธุ์เดิม

ครั้นถึง พ.ศ. 2500-2501 เงาะพันธุ์ยาวี เจ๊ะโมง เปเราะ จากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เริ่มแพร่หลาย ชาวบ้านนาสารเห็นว่า ตนเองก็มีเงาะพันธุ์ดีเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงพยายามขยายพันธุ์ จากต้นแม่ที่อยู่ที่โรงเรียนนาสาร”โดยมีนายแย้ม พวงทิพย์ ครูใหญ่โรงเรียนนาสารในเวลานั้น เป็นผู้ริเริ่มคิดให้มีการขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งปลูก และขายพันธุ์ให้พี่น้องชาวสวนนาสารนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอบ้านนาสาร เมื่อเห็นว่าเงาะนี้ยังไม่มีชื่อเรียก จึงได้เรียกกันว่า “เงาะพันธุ์โรงเรียนนาสาร”ตามต้นแม่พันธุ์ที่อยู่ที่โรงเรียนนาสาร ‘เงาะโรงเรียน’ จึงผงาดขึ้นในตลาดผลไม้ไทยนับแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2505 เกิดมหาวาตภัยครั้งใหญ่ที่แหลมตะลุมพุก อำเภอบ้านนาสารก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เงาะโรงเรียนต้นแม่หักโค่นเพราะวาตภัย จึงได้มีการขยายพันธุ์เงาะมาปลูกไว้ในสวนของโรงเรียน ได้อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อยู่ด้านหลังอาคารฉัตรแก้ว มีประมาณ 25 ต้นและได้มีการปลูกเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง

ปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมพสกนิกรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีชาวสวนทูลเกล้าฯถวายผลเงาะพันธุ์โรงเรียนและขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะใหม่ แต่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ชื่อเงาะพันธุ์โรงเรียนดีอยู่แล้ว” นับแต่นั้นมาไม่มีใครคิดเปลี่ยนชื่อเงาะพันธุ์นี้อีก

ทุกวันนี้ แม้เงาะโรงเรียนต้นแรกของนาสารจะจากไปเพราะภัยธรรมชาติและแรงพายุแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังมีอนุสรณ์ถึงต้นไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่อำเภอของพวกเขา อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนาสาร อาจารย์คำแหง วิชัยดิษฐ์ ผู้ซึ่งเคยรู้และเคยเห็นต้นเงาะต้นแรก ไปชี้จุดที่เงาะโรงเรียนเคยปรากฏอยู่ในอดีต โรงเรียนนาสารได้ร่วมกับวัดนาสาร (พระครูปัญญาสารวิสิฐ เจ้าคณะอำเภอบ้านนาสาร) จัดสร้างต้นตอเงาะจำลองขึ้นแทนต้นเดิมซึ่งได้โค่นล้มจากผลกระทบเมื่อคราวเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ.2505

ทางด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชุมศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนนาสาร และนายบุญชัย ตันสกุล ครูโรงเรียนนาสาร ได้ประสานไปยังราชบัณฑิตยสถาน เรื่องขอบัญญัติศัพท์ เทพและหรือเทพธิดาผลไม้เพื่ออันเชิญในพิธีทำขวัญเงาะโรงเรียนนาสาร ส่วนของพิธีกรรมได้ประสานไปยังสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์ธงชัย จันทหิรัญ ให้คำแนะนำขั้นตอนประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้อง (อ่านรายละเอียดได้ในล้อมกรอบเรื่องพิธีทำขวัญเงาะ)

นพมาศ สุริยานนท์ อาจารย์โรงเรียนบ้านนาสาร กล่าวว่า คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านนาสารต่างผูกพันกับเงาะโรงเรียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังมีเงาะโรงเรียนหลายสิบต้นที่ปลูกไว้ในบริเวณโรงเรียนเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในวิชา กพอ. ตั้งแต่การเพาะปลูก ดูแลรักษาตัดแต่งกิ่ง ไปจนถึงการเก็บผลผลิต ซึ่งจะนำมาแจกจ่ายกันในโรงเรียน หากเหลือจากบริโภคก็จะหัดให้เด็กๆ รู้จักนำเงาะที่เหลือไปแปรรูปทั้งทำเป็นเงาะเกล็ดหิมะ, เงาะสามรส และแยมเงาะ

อนาคตเงาะโรงเรียนนาสาร

อำเภอบ้านนาสาร มีพื้นที่ปลูกเงาะโรงเรียนประมาณ 26,000 ไร่ เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ 1,100 กิโลกรัม พื้นที่ส่วนที่เหลือมีการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ อาทิ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลางสาด และมีพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีกได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ช่วงนี้ผลผลิตของเกษตรกรกำลังทยอยออกสู่ตลาด ทางอำเภอบ้านนาสารจึงได้ประสานให้พ่อค้าเข้ามาตั้งจุดรับซื้อเงาะโรงเรียนในพื้นที่ โดยได้เปิดโอกาสให้มีการร่วมปรึกษาวางแผนการตลาดและการจัดการผลผลิตเงาะโรงเรียน ร่วมกับตัวแทนของสหกรณ์และตัวแทนผู้ผลิตเงาะโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา โดยให้สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร และ ธกส. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับซื้อผลผลิตทั้งของสมาชิกและเกษตรกร ทำให้การวางแผนการจัดการตลาดผลไม้ในปีนี้เป็นไปได้ด้วยดี

ทางด้านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ สุพัตรา ธนเสนีย์วัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สหกรณ์จังหวัดในภาคใต้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการค้าผลไม้ กับห้างค้าปลีกทั้งแม็คโคร บิ๊กซี คาร์ฟู เทสโก้โลตัส รวมถึงบริษัทผู้ส่งออกและพ่อค้าในพื้นที่ เพื่อรับซื้อผลไม้จากสหกรณ์การเกษตรภาคใต้รวม 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช และชุมพร ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้จัดหากองทุนพัฒนาสหกรณ์ 50 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ให้สหกรณ์นำไปเป็นทุนหมุนเวียนและรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก รวมทั้งจัดงานมหกรรมบริโภคผลไม้ไทยขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นทางออกหนึ่งให้สหกรณ์ผู้ผลิตได้นำผลไม้ไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งใจจัดขึ้น เพื่อเรียกชื่อเสียงของแหล่งกำเนิดเงาะโรงเรียนแห่งแรกในประเทศไทยคืนมาคือ เทศกาลเงาะโรงเรียนนาสาร ซึ่งนับเป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปีของอำเภอ ซึ่งปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษเพื่อน้อมเกล้าถวายในหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 80 พรรษา ภายในงานนอกจากจะมีการจำหน่ายผลไม้ในพื้นที่ โดยเฉพาะเงาะโรงเรียนที่สามารถเลือกซื้อจากเกษตรกรได้โดยตรงในราคายุติธรรมแล้ว ยังมี การประกวด ‘ธิดาเงาะ’ ที่นับเป็นสีสันเทศกาลเงาะโรงเรียนนาสารที่จัดต่อเนื่องยาวนานมานับ 10 ปี

วิรัตน์ รัตนคงทรัพย์ ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร วัย 69 ปี ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2513 กล่าวว่า ในอดีตชาวนาสารหากไม่ทำเหมืองแร่ดีบุก ก็ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ โดยเฉพาะเงาะโรงเรียนที่กลายเป็นต้นไม้ประจำบ้านที่ทุกหลังคาเรือนต้องปลูกไว้ ปัจจุบันนี้ทางสหกรณ์มีสมาชิก 1,115 คน แต่ทว่าสวนเงาะรุ่นเก่าๆ กลับมีคนทำน้อยลงไป เหตุเนื่องจากสภาพสวนไม่สมบูรณ์เหมือนในอดีต ที่เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เงาะโรงเรียนนาสารเคยส่งไปขายถึงปากคลองตลาดจำนวนมากขนาดต้องขนด้วยสิบล้อและทางรถไฟกันไม่หวาดไม่ไหว แต่เขาก็ยังมีความหวังว่าในอนาคต เงาะโรงเรียนนาสารจะกลับมาสร้างชื่อและเป็นที่รู้จักอีกครั้ง ท่ามกลางผลไม้ต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดไทยในขณะนี้

*******************

พิธีการทำขวัญเงาะ

พิธีการทำขวัญเงาะโรงเรียน ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในคืนวันที่ 19 กรกฎาคม 2546 ณ โรงเรียนนาสาร บริเวณสถานที่กำเนิดเงาะต้นแรก เหตุผลที่มีการทำขวัญเงาะ เนื่องมาจากสาเหตุที่ราคาเงาะตกต่ำ บางฤดูกาลประสบภัยแล้ง ต้นเงาะเฉาตายได้ผลไม่เต็มที่ เกษตรกรเสียขวัญ เสียกำลังใจ บางรายเป็นหนี้สิน ความคิดริเริ่มที่จะให้มีการทำขวัญเงาะโรงเรียนจึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกร

การทำขวัญเงาะเพื่อเรียกขวัญเงาะโรงเรียนกลับคืนมาโดยยึดแนวคิดแห่งพิธีการ“ทำขวัญข้าว”เป็นแบบอย่าง การทำขวัญข้าวนั้นอันเชิญพระแม่โพสพ ซึ่งเป็นเทพธิดาอันศักดิ์สิทธิ์มาร่วมในพิธี แต่ในการทำขวัญผลไม้ได้อันเชิญ “แม่พระผลาหาร”มาร่วมในพิธี

การประกอบพิธีกรรมทำขวัญเงาะ แบ่งออกเป็นสองช่วงคือกลางวันและตอนกลางคืน ภาคกลางวัน เริ่มประกอบพิธีที่หน้าศาลเพียงตา เบิกแม่ธรณี โดยการถวายเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย สาคูน้ำแดง 5 ถ้วย, ธูป จำนวน 21 ดอก, หมากพลู 5 คำ, มะพร้าวอ่อน 1 ลูก, กล้วยน้ำว้า 1 หวี, เทียนไข 6 เล่ม (มัดเป็นกำ) เมื่อเสร็จจึงจุดธูปชุมนุมเทวดา จากนั้นถวายอาหารเครื่องบวงสรวงสังเวย สวดร้อยกรองบาลี บทพระปริตรลงด้วยเมตตาใหญ่ ส่งเทวดาด้วยบททุกขนัดตตา สัพเพพุทธา มหากาชยันโต ลาเครื่องบวงสรวง ตักอาหารใส่กระทง วางหน้างาน

ภาคกลางคืน จะเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครูหมอขวัญ แนะนำตัวหมอ เบิกแม่ธรณี จุดธูปชุมนุมเทวดา พิธีทำขวัญ รับขวัญ เชิญเงาะโรงเรียน ขอพรเทวดา และอวยพรร่วมงาน สวดร้อยกรองบาลี บทพระปริต สัพเพพุทธา มหากาชยันโต

*******************










กำลังโหลดความคิดเห็น