xs
xsm
sm
md
lg

ยามชายแดน...ยามเฝ้าแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึง ‘รั้วของชาติ’ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เป็นอันดับแรก หากน้อยคนนักจะรู้ว่า ในพื้นที่เทือกเขาสูงห่างไกลออกไป ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำหน้าที่คอยปกปักดูแลผืนแผ่นดินไทยอย่างไม่ย่อท้อ พวกเขาเหล่านี้เปรียบได้กับ ‘ยาม’ ที่ช่วยสอดส่องความปลอดภัยไม่ให้เกิดปัญหาแผ่ขยายจนคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

ถ้าคุณกำลังคิดว่าพวกเขาเหล่านี้ คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คุณคิดผิด...

เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นคนตัวเล็กๆ ธรรมดา ที่ขนาดหัวใจใหญ่เกินตัวแล้ว พวกเขาเหล่านี้แทบไม่มีอาวุธใดๆ นอกจากปืนลูกซองเก่าๆ ไม่กี่กระบอก ไม่มีเครื่องแบบโก้หรู มีเพียงชุดประจำเผ่าที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย หากแต่ทักษะการเอาชีวิตรอดในป่า หูตาที่ว่องไว ความสามารถทางภาษาที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนมาจากไหน กลับทำให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นด่านหน้าเฝ้าระวังความปลอดภัยที่ทรงประสิทธิภาพเกินกว่าใครจะนึกถึง

ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง หรือแม้แต่คนชรา ทุกคนสามารถเป็น ‘ยามชายแดน’ ได้ทั้งสิ้น หน้าที่นี้ไม่มีใครบังคับ แต่เป็นความสมัครใจ เต็มใจ...ที่จะทำเพื่อพ่อหลวง-แม่หลวงของแผ่นดิน แม้ว่าพวกเขาบางคน จะไม่มีแม้กระทั่งสัญชาติไทยก็ตาม

‘บ้านยามชายแดน’ บ้านเล็กในป่าใหญ่

จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกของประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับประเทศพม่า ซึ่งมักจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งต่อความมั่นคงของชาติ จากปัญหาดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้มีพระราชดำรัสกับผู้บัญชาการทหารบก และคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ให้หน่วยราชการต่างๆ ช่วยเหลือราษฎรไทยภูเขาด้วยการให้ที่อยู่อาศัย และให้ทำกินในพื้นที่เดิม โดยไม่ต้องอพยพลงมาในพื้นที่ราบ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ที่บรรพบุรุษของพวกเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติมา ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยการให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย และการปฏิบัติตามกฎหมายไทย ตลอดจนให้ราษฎรชาวไทยภูเขาได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธาร และให้ความร่วมมือกับทางราชการด้านความมั่นคง

ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรและทรงงานในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วภาคเหนือ จากสายพระเนตรอันยาวไกล ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ และได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นห่วงความมั่นคงตามแนวชายแดน ทรงเป็นห่วงว่า ราษฎรชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ฝ่ายตรงข้ามที่เขาไม่หวังดีต่อประเทศ เขาจะใกล้ชิดคนเหล่านี้มากกว่าเรา ถ้าเราไม่ใกล้ชิด เขาก็จะมายุยงส่งเสริมเขาเป็นอื่น เราก็ลำบาก จะต้องรักษาคนเหล่านี้ไว้ จะต้องรักษาประเทศชาติไว้ รักษาคน รักษาประเทศ ทหารก็ดี ตำรวจชายแดนก็ดี หรือกรมป่าไม้ก็ดี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ถ้าราษฎรที่เขาอยู่ตลอด เขามีความสำนึกเป็นไทย เขารักประเทศไทย เขาหวงแหนแผ่นดิน เขาก็จะเป็น ‘ยาม’ ที่ดี แต่คนเหล่านี้เขาอยู่ได้ เขาต้องรัก เขาเชื่อถือเรา เพราะฉะนั้นจึงให้สร้าง บ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านเล็กคือ สร้างเล็กๆ เพื่อไม่ให้ป่าเสียหาย”

สภาพพื้นที่บริเวณแนวชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ติดต่อกับประเทศพม่ามีสภาพเป็นป่ารกทึบ เขาสูงซับซ้อนสลับกับลำน้ำ อยู่ห่างไกลและกันดาร ทำให้การแบ่งเส้นเขตแดนในหลายพื้นที่ไม่มีความชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า และเกิดปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยของกองกำลังต่างชาติบ่อยครั้ง รวมทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ใช้เป็นที่พักพิงหลบซ่อน และสะสมกำลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะบริเวณด้านทิศตะวันตก ของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ว่างที่สำคัญ และไม่มีราษฎรอาศัยอยู่เลย ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์กับพลเอก นิพนธ์ ภารัญนิตย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ เรือนประทับแรมปางตองว่า ให้พิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านในรูปแบบ “บ้านยามชายแดน” ด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อพัฒนาราษฎรในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีส่วนร่วมรักษาอธิปไตยของชาติอย่างมีระบบ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ที่ได้มีพระ กระแสรับสั่ง กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้ กองพลพัฒนาที่ 3 พิจารณาวางแผนการ และประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อจัด ตั้งหมู่บ้านยามชายแดนขึ้น บริเวณพิกัด LB 7529 และกองทัพภาคที่ 3 อยู่ระหว่างการออกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะทำงานโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กองพลพัฒนาที่ 3 จึงได้จัดทำแผนแม่บทโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้น ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวยึดถือแผนแม่บทโครงการจัดตั้งหมู่บ้านราษฎรชาวไทยภูเขาฯ บ้านปางคอง เป็นแนวทางในการดำเนินงานและให้สอดคล้องกับพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เน้นการพัฒนาหมู่บ้านในลักษณะบ้านเล็กในป่าใหญ่เพื่อพัฒนาราษฎรในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีส่วนร่วมรักษาอธิปไตยของชาติอย่างมีระบบ สอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์ชาติและระบบการต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จ

พ.อ.เกษม วังสุนทร รองเสนาธิการกองพลพัฒนาที่ 3 ผู้ช่วยผอ.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 กล่าวถึงโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนว่า หมู่บ้านในโครงการฯ เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่บนภูเขา เพราะชาวเขามีความคุ้นเคยกับการอยู่บนภูเขามากกว่าพื้นราบ และเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยพอสมควร โดยจะเลือกพื้นที่ซึ่งเป็นช่องว่าง และไม่มีราษฎรอยู่อาศัยในพื้นที่เลย ในอดีตเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามแนวชายแดนจึงไม่สามารถมีระบบแจ้งเตือนได้ทันเวลา

“บริเวณพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นหมู่บ้านยามชายแดน เป็นพื้นที่การสู้รบเก่าของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน และมีการวางกับระเบิด วัตถุระเบิดไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ พิกัด LB 7429 และ LB 7529 บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่สู้รบเก่า และเป็นช่องทางจะเข้าสู่บ้านแม่ส่วยอู ( เดิม ) และ บ้านขุนห้วยเดื่อ ( เดิม ) ได้”

แต่เนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน มีการวางทุนระเบิดและกับระเบิดเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีการรุกล้ำอธิปไตย เนื่องจากความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดน เป็นเหตุให้ราษฎรละทิ้งบ้านเรือน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวนี้เกิดช่องว่างเป็นระยะทางตามแนวชายแดนเกือบ 23 กิโลเมตร ซึ่งหากเดินทางจากแนวชายแดนบริเวณนี้จะถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน โดยไม่ผ่านหมู่บ้านใดๆ เลย เป็นระยะทางสั้นเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น พิจารณาแล้วน่าจะเป็นจุดล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศ คณะทำงานโครงการฯ จึงได้คัดเลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า ‘โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน’

อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่บริเวณตามแนวชายแดน เนื่องจากการปล้นฆ่าและชิงทรัพย์จากกองกำลังทหารต่างชาติกลุ่มต่างๆ ทำให้มีการละทิ้งบ้านเรือนอพยพ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ภายในมากขึ้น ทางกองทัพจึงจัดตั้งถิ่นฐานถาวรตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีสถานภาพเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย และกำหนดแนวเขตแดนให้ชัดเจนเพื่อลดปัญหาการกระทบกระทั่ง และความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ราษฎรสามารถปกป้องรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของตนเองได้ รวมทั้งสามารถแจ้งเตือนภัยให้กับกลุ่มบ้านใหญ่หรือส่วนราชการได้อย่างทันเวลา

ทำหมู่บ้านให้เป็น ‘บ้าน’

เมื่อจัดตั้งหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ต้องทำคือเน้นการจัดระเบียบชุมชน โดยจะดำเนินการจัดตั้งชุมชนให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างแท้จริง จัดตั้งบ้านเรือนให้กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ครอบครัวละประมาณไม่เกิน 1 ไร่ โดยรอบๆ บ้านเรือนจะจัดให้มีผักสวนครัวรั้วกินได้ และปลูกไม้ผลเพื่อบริโภค รวมทั้งจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกข้าวไว้เพื่อการบริโภคและพื้นที่เกษตรกรรมในลักษณะแปลงรวมโดยใช้พื้นที่ร่วมกันตามความเหมาะสม

เส้นทางเข้าพื้นที่เป็นเส้นทางลำลองและทางเดินเท้า ระบบน้ำใช้ในรูปแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ทั้งอุปโภค บริโภค และการเกษตรหากจะสร้างขึ้นต้องเอื้อประโยชน์ต่อการบูรณภาพดินแดน และเหตุผลทางยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศด้วย ไฟฟ้าใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ต่อสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งปวง สำหรับการติดต่อสื่อสารใช้โทรศัพท์ทางไกลชนบทผ่านดาวเทียมและระบบวิทยุ

เมื่อเสาบ้านมั่นคงเรียบร้อย อันดับต่อไปก็คือการเสริมความมั่นคงทางจิตใจ โดยสร้างจิตสำนึกด้วยการฝึกอบรมราษฎรให้มีความพร้อมที่จะป้องกันตนเองร่วมปฏิบัติกับทหาร และเป็นยามคอยแจ้งเหตุหรือเป็นแหล่งข่าวให้หน่วยกำลังรบหลัก หรือทางราชการได้เป็นอย่างดี รวมถึงการจัดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยและหอกระจายข่าวภายในหมู่บ้าน

ทั้งนี้ รองเสนาธิการกองพลพัฒนาที่ 3 ชี้แจงว่า การจัดอบรมให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำหน้าที่เป็น ‘ยามชายแดน’ นอกจากเพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการลุกล้ำอธิปไตยของกองกำลังต่างชาติแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อเฝ้าติดตามพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลอันมาพึงประสงค์อันเป็นภัยต่อความมั่นคง อาทิ กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด กลุ่มนายทุนผู้ค้าไม้ เป็นต้น

“แต่เราไม่ได้ติดอาวุธหนักให้กับชาวบ้านในโครงการหมู่บ้านยามชายแดนฯ เนื่องจากในพื้นที่มีกองกำลังป้องกันประเทศอยู่แล้ว เราไม่อยากให้เขาไปไล่จับ เพราะหากมีการสูญเสียเกิดขึ้น จะเป็นผลเสียต่อตัวราษฎรเอง เราไม่อยากให้ชุมชนเป็นที่เพ่งเล็งของฝ่ายตรงข้าม เราไม่ต้องการให้เขาเป็นนักรบ แต่อยากให้ช่วยป้องกันตนเองได้และคอยแจ้งเหตุแก่ทางเจ้าหน้าที่เท่านั้น”

พ่อหลวงสุรพล สร้างแผ่นผา ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแม่ส่วยอู ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงแดง ที่มีประชากรเป็นราษฎรอาสาสมัครอยู่ทั้งหมด 139 คน จำนวน 28 หลังคาเรือน โดยส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน และที่ราบระหว่างหุบเขาของฝั่งลำห้วย อีกทั้งยังอยู่ห่างจากแนวชายแดนไทย-พม่า เพียง 2.5 กิโลเมตร เมื่อปี 2546 ทางราชการจึงได้เข้าไปขอความร่วมมือจากราษฎรในพื้นที่เพื่อช่วยสอดส่องเป็นยามเฝ้าระวังสถานการณ์ตามแนวพรมแดน

โดยชาวบ้านได้จัดเวรยามออกลาดตระเวนคืนละ 5-10 คน หากมีคนแปลกหน้าน่าสงสัยจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน ก็จะส่งข่าวถึงทางเจ้าหน้าที่รัฐให้ทราบต่อไป ปกติแล้วอุปนิสัยของชนเผ่ากะเหรี่ยงแดงมักจะรักสงบและสันโดษ กอปรกับช่วงฤดูฝนเส้นทางเข้าหมู่บ้านทางรถยนต์ไม่สามารถเข้า-ออกได้ ต้องใช้การเดินเท้า ทำให้หมู่บ้านอาสาสมัครยามเฝ้าแผ่นดินเผ่ากะเหรี่ยงแดงแห่งนี้ ต้องถูกโดดเดี่ยวนานนับ 4 เดือนต่อปี แต่พวกเขาก็ไม่คิดโยกย้ายอพยพจากพื้นที่จุดนี้ไป

ทางด้านชาวไทยใหญ่ก็เป็นชนกลุ่มน้อยอีกเผ่าหนึ่งที่เข้าร่วมในโครงการหมู่บ้านยามชายแดน ออ มงคลรัตนพร คือตัวแทนของชาวไทยใหญ่ที่บางส่วนยังประสบปัญหาไร้สัญชาติ แต่กระนั้น พวกเขาก็ยังรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดิน...ที่แม้เขาจะไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายก็ตาม

บ้านปางคอง จัดตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยราษฎรอาสาสมัครไทยใหญ่ 15 ครอบครัว และมูเซอ 18 ครอบครัว ทว่า ความแตกต่างทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ก็หาได้เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันของชนเผ่าทั้งสองแต่อย่างใด

“แต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นที่ลูกน้องขุนส่าเคยมีอิทธิพล แต่เดี๋ยวนี้ทหารไทยได้กวาดล้างและมีราษฎรเข้าไปอยู่จะได้ป้องกันให้ประเทศของเรา จากเดิมทหารพม่าเคยเข้ามาได้สบาย เดี๋ยวนี้ก็ปิดกั้นไม่ให้รุกล้ำเข้ามา ก็จะเป็นแนวกันชนชายแดน”

ขณะที่ฉันทนา วงค์โต หญิงสาวชาวไทยใหญ่บอกว่า เธอรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบครัวชาวไทยใหญ่ที่สมัครใจต่างเต็มใจเข้าร่วมในโครงการหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อทำหน้าที่ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง

..................................

วันนี้ ขณะที่เรากำลังหลับใหล หรือใช้ชีวิตโลดแล่นไปกับความเร่งรีบของสังคมเมือง บนเทือกเขาสูงห่างไกลในตอนบนของประเทศไทย ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ย่อท้อ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ในทิศตรงกันข้าม ผืนดินทางภาคใต้ที่กำลังร้อนระอุด้วยเปลวไฟลามเลียจนแทบเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างให้มอดไหม้เป็นจุน วิถีทางการแก้ปัญหาโดยใช้น้ำมันสาดลงไปในกองไฟ อย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน นั้นใช่ทางออกสุดท้ายแล้วหรือ? หรือว่าเราควรทบทวนน้อมนำแนวพระราชดำริของสองพระองค์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี














กำลังโหลดความคิดเห็น