เบื้องหลังความวิจิตรประณีตงดงามของพระอารามหลวง หรือความสง่างามของพระบรมมหาราชวังที่ตั้งตระหง่านสวยเด่นเป็นสง่า สร้างความรู้สึกเย็นตา แก่ผู้ที่ได้พบเห็นให้ได้รู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานที่บรรพบุรุษได้สะสมทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อสร้างไว้ให้เป็นมรดกตกทอดแก่รุ่นหลานให้ได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ แต่หลายคนไม่เคยรู้ว่าเบื้องหลังความสวยงามของโบราณสถาน หรือพระราชวัง อันทรงคุณค่าเหล่านั้น ได้มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้ร่วมกันทั้งสร้างและบูรณะซ่อมแซมให้คงคุณค่าคู่ควรแก่การเป็นมรดกของแผ่นดินไว้สืบไป เพราะทุกคนจะรู้จักแต่ชื่อ "คนสร้าง" แต่ไม่มีใครจารึกชื่อ "คนซ่อม" เอาไว้ งานซ่อมวังจึงเหมือนคนปิดทองหลังพระ
จาก "ช่างสิบหมู่"สู่คนซ่อมวัง
ในอดีตตั้งแต่ครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่มีบทบาทในการสร้างพระราชฐาน และ บูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามหลวง คือ "ช่างหลวง" ซึ่งเป็นบรรดาช่างศิลป์ของไทยสาขาต่างๆ ที่มักเป็นคนมีฝีมือดี มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมประเภทต่างๆ เช่น ประเภทวิจิตรศิลป์ มัณฑนศิลป์ ประณีตศิลป์ เป็นต้น เพื่อบริการแก่ราชการในส่วนพระองค์สมเด็จพระมหากษัตริย์ เช่นการสร้างเครื่องราชูปโภคราชพาหนะ พระราชมณเฑียรสถาน สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ รวมทั้งบทบาทในการสร้างปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ศาสนสถาน และสังฆภัณฑ์ ของพระมหากษัตริย์
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดระเบียบบริหารราชการใหม่ เนื่องจากว่าในช่วงต้นที่มีการสร้างราชธานีรัตนโกสินทร์ ได้มีช่างหลวงฝีมือดีกระจัดกระจายอยู่ตามกรมต่างๆ ในงานก่อสร้างหน่วยงานราชการ ดังนั้นรัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดฯให้ มีการตั้ง "กรมช่างสิบหมู่" ขึ้นมาเพื่อรวบรวมช่างสิบหมู่ไว้ด้วยกัน โดยมีพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ (หม่อมเจ้าดิศ) เป็นอธิบดีคนแรก แต่พอมาถึงในรัชกาลที่ 6 งานช่างสิบหมู่ได้ไปรวมอยู่กับกรมมหรสพ แต่ปัจจุบันนี้ "กรมช่างสิบหมู่" ได้เปลี่ยนแปลงเป็นส่วนราชการในรูปของ "สำนักช่างสิบหมู่" สังกัดกรมศิลปากร
ความเปลี่ยนแปลงของช่างไทยจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงรับช่างจากยุโรปเข้ามาทำงานช่างต่างๆ มากขึ้น เช่นการนำช่างจากยุโรปมาสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งต่างๆ รวมไปถึงพระราชวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ตามแบบศิลปะตะวันตก โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นช่างสำคัญที่นำการช่างตะวันตกมาผสานกับการช่างไทย ศิลปะของไทยจึงเริ่มผสมผสานเป็นแบบสากลมากยิ่งขึ้น จนทำให้มีการตั้งสถาบันการสอนวิชาการช่างอย่างตะวันตกขึ้นมาเหมือนในปัจจุบันนี้ เช่น การตั้งคณะวิศวกรรมฯ และคณะสถาปัตยกรรม เป็นต้น
เมื่อวันเวลาผ่านไป พระราชวังหรือโบราณสถานที่เคยสร้างไว้ในอดีตตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา เริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แม้จะมีการก่อสร้างหรือบูรณะแต่ต้องอาศัยงบประมาณสูง ที่ผ่านมาจึงสามารถซ่อมแซมได้ไม่เต็มที่
จนเมื่อช่วง 30-40 ปีมานี้ เริ่มให้ความสำคัญในการอนุรักษ์โบราณสถานมากขึ้น มีการบูรณะโบราณสถานหลายแห่งอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องใช้ทั้งฝีมือของช่างสิบหมู่และแรงงานก่อสร้างของเอกชนมาช่วย
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคนภายนอกที่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้งานอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดงานศิลปะโดยช่างในวัง นานวันเข้าเมื่อช่างหลวงหรือช่างสิบหมู่ได้ถูกกำหนดหน้าที่ให้ทำงานหลัก เช่น การออกแบบตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี , ออกแบบตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา , การจัดสร้างคชาภรณ์ หรือเครื่องทรงช้างต้นสำหรับพระเศวตอดุลยเดช พาหนฯช้างเผือก , บูรณะปฏิสังขรท่านท้าวมหาพรหม เป็นต้น
งานบูรณะอาคารโบราณสถานที่เริ่มมีมากขึ้นจึงต้องอาศัยช่างรับเหมาจากภายนอก โดยมีสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมงานบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ทั้งงานวิศวกรรมและงานสถาปัตบกรรม โดยการบูรณะซ่อมแซมใหม่นั้นจะต้องคงไว้ในรูปแบบและศิลปะของเดิม
"แชฟ้า" งานอนุรักษ์จากรุ่นสู่รุ่น
"เราเริ่มจากการเข้าไปทำงานในวัง มีพวกเจ้านายชวนไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมารับงานซ่อมวังเป็นชิ้นเป็นอัน" ชัชวาลย์ สมิทธพงศ์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด แชฟ้า เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าไปมีส่วนในการซ่อมวังในยุคแรก ๆ ของการทำธุรกิจนี้
ห้างหุ้นส่วนจำกัด แชฟ้า ถือได้ว่าเป็นเจ้าแรกๆ ที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสรับงานซ่อมวังอาคารโบราณสถานในประเทศไทย และด้วยความใส่ใจในรายละเอียดของงานที่ทำทุกชิ้น จึงทำให้แชร์ฟ้ามีชื่อติดอยู่ในวงการงานอนุรักษ์เรื่อยมา
ชัชวาลย์ เล่าว่า บริษัทแชร์ฟ้าได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยที่บิดาของเขายังทำงานรับเหมาก่อสร้างอาคารทั่วไป มีอยู่วันหนึ่งบิดาได้เข้าไปรู้จักกับเจ้านายที่อยู่ในวัง และมีโอกาสรับงานซ่อมแซมวังเล็กๆน้อยๆ จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการบูรณะพระราชวังรวมทั้งพระอารามหลวงที่สำคัญๆ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี
"งานซ่อมวังหรือพระอารามหลวงที่เป็นงานอนุรักษ์หรือขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานนั้น การดำเนินการซ่อมแซมจะไม่เหมือนงานก่อสร้างหรือซ่อมอาคารทั่ว ๆ ไป เพราะต้องใช้ทั้งความพิถีพิถัน ประสบการณ์ และการหาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่จะเข้าไปซ่อม" ชัชวาลย์กล่าว
ความที่การซ่อมวัง ไม่เหมือนกับการซ่อมอาคารทั่ว ๆ ดังนั้นชัชวาลย์ จึงเล่าขั้นตอนที่กว่าจะมาเป็นงานซ่อมพระราชวังแต่ละแห่งว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นลำดับแรกในการซ่อมแซมคือ การสำรวจตัวอาคาร และหลังจากนั้นจะต้องศึกษาดูว่าอาคารหลังนั้นมีที่มาอย่างไร เพราะพระราชวังหลายแห่งมีอายุการสร้างมากกว่าอายุของผู้เข้าไปซ่อมเสียอีก
" บางอาคารที่ไม่มีรายละเอียดเก่า ๆ ของผู้สร้างเอาไว้เป็นต้นแบบ เราจะต้องไปหาข้อมูลในหอจดหมายเหตุ หรือถ้ามีภาพถ่ายเก่า ๆ ก็สามารถนำมาใช้ประกอบในการทำงานได้ แต่ถ้าบังเอิญโชคดี อาจจะมีซากของเก่าที่ผู้รับเหมาคนเก่ารื้อทิ้งไว้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีมากในการทำงาน"
เมื่อได้ซากของเก่ามาเป็นตัวอย่างแล้ว ภาระกิจในการซ่อมวังต่อไปคือการนำของเก่าเหล่านั้นมาทดลองประกอบว่าถูกต้องตรงตามของเดิมหรือไม่ ซึ่งอาจจะนำมาเทียบกับภาพถ่ายเก่า ๆ ที่เคยถ่ายเก็บเอาไว้
ชัชวาลย์เล่าถึงตัวอย่างของการเข้าไปซ่อมวังบางขุนพรหมว่า " อย่างวังบางขุนพรหมนั้น มีการรื้อซ่อมในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม แล้วเก็บซากเดิมเอาไว้ เมื่อเรามาทำการซ่อมใหม่อีกครั้ง ก็ได้นำซากเก่ามาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายที่มีอยู่ แล้วประกอบขึ้นใหม่ ให้ทางคณะกรรมการพิจารณาว่าถูกต้องตรงตามของเดิมหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าถูกต้องแล้ว เราจึงนำของเก่านั้นมาเป็นต้นแบบเพื่อทำของใหม่ขึ้นมา"
เขาเล่าเพิ่มเติมว่าวังบางขุนพรหม การซ่อมวังบางขุนพรหมนั้น สิ่งที่ยากและเปลี่ยนแปลงไปหมดคือส่วนของหลังคา
"ในอดีตหลังคาของวังนี้เคยเปลี่ยนมาเป็นกระเบื้องลอนธรรมดา แต่ปัจจุบันนี้เราได้เปลี่ยนกลับไปเป็นกระเบื้องว่าว รวมทั้งระบบภายในอาคารซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย อย่างเมื่อก่อนไม่ติดแอร์ แต่ตอนนี้เราต้องเดินสายติดตั้งแอร์รวมทั้งเปลี่ยระบบไฟฟ้าจาก 110 โวลต์ มาเป็น 220 โวลต์"
ปัจจุบันห้างหุ้นส่วนจำกัด แชฟ้า ดำเนินกิจการรับซ่อมวังและพระอารามหลวงในเขตกรุงเทพฯเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะรับงานสถาปัตยกรรมสากลมากกว่างานสถาปัตยกรรมไทย ผลงานที่ผ่านมา เช่น วังบางขุนพรหม , ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย , อาคารเกอเต้ หรือ"บ้านพระอาทิตย์" ในปัจจุบัน เป็นต้น
จากเด็กรับจ้างกลายมาเป็นเถ้าแก่
ประมุข บรรเจิดสกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการ สร้าง ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างพระราชวังและพระอารามที่สำคัญต่างๆ ของเมืองไทย
เขาเริ่มด้วยการเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมศิลปากรตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานสารพัดตั้งแต่เป็นเด็กแบกไม้ แต่โชคดีที่มีโอกาสได้ฝึกปรือฝีมือกับ 4 ทหารเสือของกรมศิลปากร อย่าง อ.ไพฑูร เมืองสมบูรณ์ , อ.พิมาน มูลประมุข , อ.อำนาจ พุ่มเสรี และอาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ จนทำให้เขาเป็นผู้ที่มีวิทยายุทธ์กล้าแกร่งสามารถออกมารับเหมางานซ่อมพระราชวังเอง
จวบจนวันนี้เป็นเวลาถึง 50 ปีที่ประมุขได้โลดเล่นอยู่ในวงการนี้เขาได้ฝากทั้งผลงานที่เป็นสถาปัตยกรรมไทย และสากล ออกสู่สายตาทั้งคนไทย และต่างชาติได้ชื่นชมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังได้สร้างช่างฝีมือดีออกมาประดับวงการสถาปัตยกรรมได้ไม่น้อย
"ผมเริ่มจากเข้ามาทำงานกินเงินรายวันกับกรมศิลปกร แต่พอเรียนรู้งานไปได้สักพักหนึ่งจึงออกมาตั้งบริษัทเองเมื่อปี 2515 หลังจากนั้นก็รับงานสร้างและซ่อมแซมโบราณสถานที่สำคัญมาโดยตลอด"
ผลงานที่ผ่านมาของประมุขส่วนใหญ่มีทั้งงานซ่อมและงานสร้าง ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุษบกหลวงพ่อทองคำที่วัดไตรมิตรฯ สร้างวัดพระธาตุเชิงชุม ที่จังหวัดสกลนคร และผลงานที่เกี่ยวกับการสร้างโบราณสถานอีกมากมาย
แต่ผลงานที่ประมุขภูมิใจที่สุดในฐานะที่รับซ่อมโบราณสถานมานานถึง 50 ปี คือการส่งศาลาไทยไปประกวดที่ประเทศเบลเยียม
"เมื่อปี 2500 เป็นครั้งแรกที่ผมได้ออกมาตั้งห้างหุ้นส่วนเอง และผมได้ส่งศาลาไทยที่มีชื่อว่า จำลองอาภรณ์พิโมกข์ ส่งไปประกวดที่ประเทศเบลเยียม ปรากฏว่าผลงานไปเข้าตากรรมการ ได้รับรางวัลที่ 1 หลังจากนั้นก็มีงานซ่อมอาคารโบราณสถานเข้ามาโดยตลอด" ประมุขกล่าว
โรงฝึกช่าง
การซ่อมงานอนุรักษ์นั้นไม่ใช่งานก่อสร้างธรรมดา ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ช่างที่ก่อสร้างบ้านทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ด้านงานศิลปะ ต้องใช้ความประณีต ละเอียดอ่อน ใจเย็น และหัวใจสำคัญที่สุดของการก่อสร้างหรือซ่อมแซมโบราณสถานก็คือ "ช่าง" นั่นเอง
ประมุข เล่าให้ฟังว่า กว่าที่จะได้ช่างที่ชำนาญงานสักคนซึ่งสามารถทำงานได้ระดับมืออาชีพนั้น จะต้องใช้เวลาฝึกนานถึง 10 ปี และที่สำคัญคนที่ทำงานด้านนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในงานอนุรักษ์ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน การค้นหาช่างมืออาชีพนั้นจะเริ่มจากให้ช่างใหม่แต่ละคนทำงานที่ง่ายที่สุดก่อน แล้วเมื่อรู้ว่าใครพอจะมีแววทางด้านไหนจึงให้รับผิดชอบส่วนนั้น
"หัวใจสำคัญของการฝึกช่างอยู่ที่การสร้างความเข้าใจให้กับช่างทุกคนโดยอาศัยประสบการณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาช่วย"
ความที่ประมุขเริ่มต้นการทำงานที่กรมศิลปากรในยุคของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี นั้น เมื่อเขาแยกตัวออกมาตั้งบริษัท ก็ได้ช่างมือดีของกรมศิลป์หลายคนมาร่วมงานด้วย ซึ่งช่างเหล่านี้กลายมาเป็นครูช่างที่ฝึกลูกศิษย์รับสืบทอดงานศิลปะต่อ ๆ กันมา
"อย่างเรื่องการวาดลายรดน้ำนั้น ตอนนี้ผมได้ฝึกเหลนของของกรมศิลปากรมาทำงานด้วย คือเริ่มจากหม่อมเจ้าเฉลิมสมัย กฤดากร ซึ่งเป็นผู้สร้างศาลาเฉลิมกรุง ได้ถ่ายทอดงานศิลปะสู่ลูกศิษย์คือ อ. ประดิษฐ์ ยุวภูกะ ต่อจากนั้นอ.ประดิษฐ์ก็ถ่ายทอดความรู้สู่อ.แต้ม ซึ่งเป็นช่างที่มีฝีมือด้านวาดลายรดน้ำ ปัจจุบันอาจารย์แต้มก็ยังทำงานอยู่กับผม และได้ถ่ายทอดฝีมือลายรดน้ำให้แก่รุ่นที่ 4 ซึ่งก็ทำงานอยู่กับผมเช่นกัน ซึ่งกว่าจะได้ช่างฝีมือระดับครูสักคนต้องใช้เวลาฝึกนานมาก ทั้งนี้ช่างที่เขียนลวดลายจะต้องเป็นคนที่มือเที่ยงที่สุด ต้องฝึกมาจากอาจารย์ถึงอาจารย์ เพราะบางทีลายลดน้ำถ้าสลัดพู่กันผิดนิดหน่อยปลายของลายก็จะไม่สวย"
ศาลาไทยโกอินเตอร์
ล่าสุดห้างหุ้นส่วนจำกัด ปวช.ลิขิตการสร้าง ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างศาลาไทยทั้งหมด 3 หลัง เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรียังต่างแดน
ประมุข เล่าว่าศาลาไทยทั้ง 3 หลังนี้ ทำในลักษณะเป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปประกอบที่เมืองนอก โดยการเข้า "สลัก" หรือที่ปัจจุบันเรียกระบบนอกดาวน์ อันเป็นภูมิปัญญาของไทยที่มีมาแต่โบราณแล้ว
ศาลาทั้ง 3 หลังประกอบด้วย "ศาลายอดบุษบก" เป็นศาลาที่สร้างถวายแด่ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนนีหรือสมเด็จย่า และส่งไปที่ประดิษฐานที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถัดมาคือ "ศาลาตรีมุข" สร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ส่งไปที่เมืองฮัมบรวก ประเทศเยอรมนี และศาลาหลังสุดท้ายคือ "ศาลา จ.ป.ร." เพื่อส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีเนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในไม่ช้านี้ความงดงามของศิลปะศาลาไทยคงจะได้มีโอกาสอวดโฉมให้คนต่างประเทศได้สัมผัส
ส.บุญมีฤทธิ์ฯกับความภูมิใจในงานอนุรักษ์
จากช่างพื้นบ้านที่จบการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ด้วยใจที่ใฝ่การเรียนรู้ รักงานทางด้านอนุรักษ์ จึงทำให้ เสงี่ยม บุญมีฤทธิ์ เรียนรู้งานก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยชีวิตมาเกือบตลอดชีวิต สามารถเปิดบริษัทรับเหมาประมูลสร้างและซ่อมแซมพระราชวัง
เสงี่ยม บุญมีฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม จำกัด ได้ย้อนถึงที่มาของตัวเองก่อนที่จะมารับงานซ่อมวังว่า เขาได้เริ่มมาจากครอบครัวที่มีพ่อเป็นช่างพื้นบ้านรับจ้างทำงานซ่อมวัดแถวบ้าน ซึ่งทำให้เขาสามารถซึมซับและเรียนรู้วิธีการทำงานไม้อย่างชำนาญ และวันหนึ่งเขาก็ได้มีโอกาสเข้ามารับเหมางานซ่อมในวัง และได้มาพบกับ ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกพระราชวัง ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย ปี 2530 เขาจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน
"ไปทำงานกับท่าน ม.ร.ว.มิตรารุณ ท่านได้ฝากให้ลูกน้องของท่านดูแลผมให้ดี เพราะท่านบอกกับลูกน้องของท่านว่าผมมีแววทางด้านนี้ หลังจากนั้นจึงมีงานซ่อมพระที่นั่งเล็กๆน้อยๆ เข้ามาเรื่อยๆ" เสงี่ยมกล่าว
เมื่อมีความชำนาญในระดับหนึ่งแล้ว เสงี่ยมก็ตัดสินใจเปิด บริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม จำกัด เพื่อรับซ่อมวัง ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ได้ทำงานด้านอนุรักษ์เขาได้ฝากผลงานด้านอนุรักษ์ ไว้อย่างมากมาย แต่ผลงานที่เสงี่ยมรู้สึกภาคภูมิใจที่สุดคือ เขาได้เป็นหนึ่งในผู้สร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร สถานที่ที่เตรียมไว้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศเมื่องานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
"งานที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือการที่ได้ทำงานตามแบบที่อาจารย์ หม่อมมิตรารุณได้ออกแบบไว้ เพราะผมถือว่าเป็นการสืบสานผลงานของท่าน เหมือนกับที่เราต้องการให้ลูกหลานมาสืบสานงานต่อจากเรา"
เหตุผลที่เสงี่ยมรู้สึกภูมิใจที่สุดกับผลงานชิ้นนี้ เพราะว่าเขาสามารถสานต่อผลงานชิ้นสุดท้ายของม.ร.ว.มิตรารุณ ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบพระที่นั่งบรมสถิตยฯ เป็นคนแรก
ปัจจุบันนี้เสงี่ยมกำลังซ่อมแซมวัดมกุฏกษัตริยาราม ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระราชสมภพครบ 200 ปี
อาชีพของคนซ่อมวังนั้น ดูเหมือนจะเป็นงานปิดทองหลังพระ ทั้งนี้ เพราะโบราณสถานแต่ละแห่งจะมีชื่อ "คนสร้าง" แต่มักไม่มีชื่อ "คนซ่อม" จารึกอยู่ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาเหล่านี้ก็มีความภาคภูมิใจในหน้าที่ผู้สืบสานงานอนุรักษ์ศิลปของไทยเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นความงดงามของโบราณสถานสืบต่อไป
*********************
เรื่อง - ปาณี ชีวาภาคย์ / ศศิวิมล แถวเพชร