xs
xsm
sm
md
lg

กำแพงธรรมชาติ…คำตอบของชีวิตยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพฉากสังคมที่แออัดด้วยการแข่งขัน การลงทุน และหนทางการแก่งแย่งกันก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศถูกตัดสลับแปรเปลี่ยนไปเป็นภาพฉากวิถีชีวิตการกินอยู่แบบธรรมชาติๆ วัฒนธรรมชาวไทยภูเขาธรรมดาๆ ที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายและมนตร์เสน่ห์อันน่าหลงใหล

ภายหลังจากที่ห้วงระยะเวลาพาเราเดินทางมาอยู่บนเทือกเขาสูงที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,200 – 1,300 เมตร และยังมีความหนาแน่นของประชากร 222 คน ต่อตารางกิโลเมตร บนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่จัน – แม่สลอง ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งในเรื่องของแนวเขตติดต่อ และทรัพยากรธรรมชาติ

หากใช้สายตาที่ไม่ต้องใช้ทักษะการสังเกตมากมายเท่าไหร่นัก มองลัดเลาะลงไปตามแนวทิวเขาน้อยใหญ่ จะเห็นเป็นภาพพาโนรามาของที่อยู่อาศัยตามแนวพื้นที่ลาดชัน และการเกษตรแบบขั้นบันได เหมือนดั่งตัวต่อเลโก้เลยทีเดียว

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่จัน – แม่สลอง คาบเกี่ยวสองอำเภอในจังหวัดเชียงรายคือ อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่ฟ้าหลวง นานมาแล้วที่ชาวบ้านทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต้องประสบกับปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้านด้วยกัน เช่น พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย การพังทลายของหน้าดินในพื้นที่การเกษตรเนื่องจากต้องทำการเกษตรบนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยไม่มีการทำแนวระดับหรือเกษตรเชิงอนุรักษ์ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่พอเพียงกับความต้องการของชุมชน

แต่ในเวลานี้สภาพแวดล้อม และปัญหาดังกล่าวกำลังจะเริ่มจางหายไป นั่นเป็นเพราะการเล็งเห็นความสำคัญของ “หญ้าแฝก” ที่กำลังกลายเป็นกำแพงมีชีวิต ที่หยั่งรากลึกลงสู่ดิน ช่วยโอบอุ้มชีวิตชาวไทยภูเขาเหล่านี้ไว้

หญ้าแฝก...พืชมหัศจรรย์
อย่าคิดว่า “หญ้า” จะเป็นได้แค่เพียงวัชพืชเท่านั้น

เพราะหากจะว่ากันไปตามแบบฉบับของการศึกษาที่จะทำให้เข้าใจถึงความเป็นหญ้าแฝกมากขึ้นต้องบอกว่า หญ้าแฝกเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่นเดียวกับ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย แต่มีสิ่งที่แตกต่างนั่นคือ หญ้าแฝกจะมีรากที่แผ่กระจายลงไปในพื้นดินตรงๆ เส้นโต และแตกแขนงเป็นรากฝอยจำนวนมาก สานกันแน่นจนสามารถเปรียบได้ดั่งตาข่ายที่หยั่งลึกลงไปในดินเป็นแนวดิ่ง

ด้วยระบบรากที่ยาว ทำให้หญ้าแฝกสามารถช่วยในการอุ้มน้ำ และยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง นอกจากนี้ยังมีลำต้นที่ชิดติดกันอย่างแน่นหนา ช่วยในการดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินให้ดี คุณลักษณะสองประการนี้ทำให้หญ้าแฝกไม่เพียงแต่ช่วยอนุรักษ์ดินเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูโครงสร้างดินที่สูญเสียธาตุอาหารให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์

ชาวไมซอร์ ประเทศอินเดียได้ทำการปลูกหญ้าแฝกมาแล้วประมาณกว่า 200 ปี เพื่อเป็นอาหารสัตว์ แต่แนวความคิดในการนำหญ้าแฝกมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำได้เริ่มขึ้นเมื่อ 50 ปี ที่ผ่านมานี้ โดยในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก สำหรับเกาะฟิจิได้มีบริษัทน้ำตาลที่นำการปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำมาใช้ในไร่อ้อยมาแล้วมากว่า 30 ปี ซึ่งผลปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยแนวหญ้าแฝกซึ่งปลูกเป็นแถวขวางความลาดชันของพื้นที่ในไร่อ้อยนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี สามารถปรับพื้นที่นั้นให้มีสภาพความลาดชันลดลงเกิดเป็นพื้นที่ขั้นบันไดดินสูง 3 - 4 เมตร ซึ่งสรุปว่าหญ้าแฝกเป็นแนวทำให้เกิดการสร้างขั้นบันไดดินได้โดยธรรมชาติในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

ซึ่งการปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ลาดชัน หรือเทือกเขาสูงนั้นจะเป็นการช่วยให้ผลผลิตของเกษตรกรงอกเงยยิ่งขึ้น เพราะสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ และมีแร่ธาตุครบถ้วนจะคงอยู่ไม่สูญสิ้นไปกับสายน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ โดยผู้ที่นำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำก็สามารถทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ลงทุนน้อย จนผู้ปลูกสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง จากจุดนี้เองทำให้หญ้าแฝกจึงกลายเป็น “พืชมหัศจรรย์” ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเปรียบเปรย

9 ชาติพันธุ์ร่วมใจแก้ไขปัญหาสภาพดิน
เตือนใจ ดีเทศน์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เล่าให้ฟังว่า มูลนิธิฯ ได้เริ่มต้นทำงานในพื้นที่หมู่บ้านชาวเขา ในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่จัน – แม่สลอง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคนปัจจุบัน โดยจัดตั้งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ลำดับที่ 292 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

ในปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ขยายขอบข่ายการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมศักยภาพขององค์กรชาวบ้านทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย โดยเน้นการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีศักยภาพ สืบสานงานพัฒนาและการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยประชาชนส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่จัน – แม่สลอง ประกอบไปด้วย 9 ชาติพันธุ์ ได้แก่ อาข่า ลีซู ลาหู่ เมี่ยน ม้ง ไทยใหญ่ ลั๊วะ จีนยูนนาน และชาวไทยล้านนา ซึ่งมีการใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง และยังคงปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน พื้นที่ดินทำกินขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงที่ตั้งบ้านเรือนของประชาชนและถนนหนทาง ซึ่งมักเกิดปัญหาการพังทลายของหน้าดินอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก

“มูลนิธิฯ หันมาส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการปลูก และการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก ซึ่งได้น้อมรับนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อเร่งปรับสภาพพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง

“รวมทั้งยังมีการนำหญ้าแฝกไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมชุมชนเข้มแข็งภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย เพื่อเผยแพร่คุณค่าของหญ้าแฝกแก่ชุมชนชาวไทยภูเขาอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง

“ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มูลนิธิฯ จึงร่วมมือกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยนำเอาพระราชดำริมาส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำที่มีการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และสนองความต้องการตามพระราชประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกร และทรงปรารถนาให้ประชาชนนำความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกไปประยุกต์ใช้อย่างได้ผล” เตือนใจเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการรณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก

ครั้งดินถล่ม ณ หมู่บ้านกิ่วสะไต
กิ่วสะไต เป็นชื่อของหมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดินถล่ม และการพังทลายของหน้าดินสูงมาก โดยลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขา มีเส้นทางถนนสายแม่จัน – ฝาง ตัดผ่านเหนือหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าอาข่า และประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก

จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่บอกว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาหมู่บ้านนี้ได้เกิดปัญหาดินถล่มจนทำให้บ้านเรือนเสียหาย แต่ชาวบ้านยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ทำกิน บวกกับการต่อต้านการฝึกซ้อมหนีภัยพิบัติ เพราะมีความเชื่อว่า การซ้อมอาจจะเป็นเสียงสะท้อน หรือสัญญาณเตือนว่าภัยอาจจะเกิดขึ้นได้

ปิติ หลียา หัวหน้าโครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ต้นน้ำแม่จัน – แม่สลอง เล่าให้ฟังว่า

“การปลูกหญ้าแฝกเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ชุมชนหันมาสนใจป้องกัน และแก้ไขปัญหาดินถล่ม ที่อาจกำลังจะเกิดในอนาคตมากขึ้น เนื่องจากได้มีการทำการรณรงค์ส่งเสริมตลอดจนเข้าไปให้ความรู้ และลงมือทำให้เห็น จนชาวบ้านเกิดความเข้าใจ หลังจากที่เขารู้และเข้าใจในคุณสมบัติของหญ้าแฝกแล้ว ก็เกิดการพร้อมใจกันลงมือ ลงแรงร่วมกันปลูก ร่วมกันปฏิบัติ

“ทุกวันนี้ที่หมู่บ้านกิ่วสะไต ต้องนำหญ้าแฝกมาปลูกบริเวณไหล่ถนนเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันการพังทลายของดินที่อาจจะมาตามสายน้ำ เพราะหากเกิดดินถล่มมาอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ได้ การทำเช่นนี้ถือเป็นการบรรเทาภัยพิบัติรูปแบบหนึ่ง ชะลอความเร็วของน้ำตามทางน้ำธรรมชาติ” ปิติ กล่าวด้วยน้ำเสียง และสีหน้าเป็นห่วงเป็นใยชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

ปิติ ยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า การปลูกหญ้าแฝกมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ลาดชัน ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่การปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและหรือการปลูกในพื้นที่เกษตรในลักษณะต่างๆ นั้น เป็นการใช้ประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์ ซึ่งมีคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินราคาเป็นตัวเงินให้เกษตรกรเห็นได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกษตรกรบางส่วนยังไม่ยอมรับหญ้าแฝกปัญหาที่มักจะพบเสมอๆ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่การเกษตรก็คือ การที่เกษตรกรต้องสูญเสียพื้นที่ดินจำนวนหนึ่งจากพื้นที่ที่ปลูกพืชรายได้เอาไปปลูกหญ้าแฝก โดยที่ไม่มีรายได้โดยตรงจากการปลูกหญ้าแฝก

สะท้อนไปยังชุมชน
หล่อป้อง อายีกู่ ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า อายุ 37 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านป่าคาสุขใจ หมู่ 5 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง เป็นคนหนึ่งที่เริ่มปลูกหญ้าแฝกผสมผสานกับการทำการเกษตรมานานกว่า 4 ปี เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านป่าคาสุขใจมีการดำรงชีพที่พึ่งพิงป่า พึ่งพิงธรรมชาติมาโดยตลอด อาหารของชุมชนในฤดูฝนส่วนมากจะเป็นอาหารป่า ยึดวิถีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัว จึงต้องเคารพ อนุรักษ์แหล่งอาหาร และที่ทำกิน

แต่การทำการเกษตรบนพื้นที่สูงนั้นทำให้ต้องมีการชะล้างหน้าดินไปเป็นจำนวนมาก และเกษตรกรก็ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้เหมือนอดีต จึงต้องหันมาหามาตรการการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และรักษาความชุ่มชื้นในดินด้วยการปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับสลับกันไปกับพืชผล

“ในการร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาหันมาปลูกหญ้าแฝกได้ก่อให้เกิดประโยชน์อเนกอนันต์ ต่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทั้งการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร การอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเป็นการนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน และสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ รวมถึงฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ป่าต้นน้ำ

“หญ้าแฝกไม่ได้ช่วยในเรื่องดิน และน้ำเท่านั้น เพราะส่วนต่างๆ ของหญ้าแฝกสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรได้ เช่น คลุมดินรักษาความชุ่มชื้น และเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้แก่ดินเมื่อย่อยสลายแล้วเช่นเดียวกับปุ๋ยหมัก สร้างชีวิตยั่งยืนให้แก่ครอบครัวเล็กๆ รวมไปถึงชุมชนใหญ่ๆ” หล่อป้อง เล่าให้ฟัง

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนำโดย สมบูรณ์ มาเยอะ หมอดินอาสา จากหมู่บ้านอาแบ หมู่ 7 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านอาแบตั้งมากว่า 100 ปี ส่วนใหญ่ประชากรในชุมชนเป็นชาวอาข่า อาชีพคือการเกษตร ปลูกข้าวไร่ ข้าวนา ข้าวโพด และถั่วเหลือง

โดยชาวบ้านอาแบมีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ กินอยู่กันแบบพอเพียง รู้จักที่จะพึ่งตนเอง พึ่งธรรมชาติ พึ่งพาป่า ภูเขา ต้นไม้ และสายน้ำ โดยปราศจากวี่แววในความทันสมัยของเทคโนโลยี

“พวกเราอาศัยอยู่ในบริเวณนาที่ราบ เพื่อปลูกข้าว ซึ่งภายหลังรู้จักและเรียกขานกันในนาม “นาสมบูรณ์” ประกอบไปด้วยแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ การทำการเกษตรผสมผสาน การผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังน้ำ และการทดลองเพื่อพัฒนาระบบการเกษตรเชิงอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งได้นำกรอบแนวคิดการเกษตรแบบพอเพียง และการปลูกหญ้าแฝกไปใช้ในการทำงานระดับชุมชนและระดับตำบลอีกด้วย” สมบูรณ์ เล่าให้ฟัง


เสียงจากเยาวชนที่ซึมซับการปลูกหญ้าแฝกมาตั้งแต่ยังละอ่อนอย่าง วิเศษ ศักดิ์สิทธานุภาพ นักเรียนชั้นมัทธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศึกษาสงห์เคราะห์แม่จันทร์ บอกว่า การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ลาดชันทำให้สภาพดินที่เสื่อมโทรมปลูกพืชอะไรก็ไม่ขึ้นกลับมาฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง

“ที่บ้านใช้หญ้าแฝกเพื่อการปรับความสมดุลของดิน และน้ำ เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ที่เริ่มปลูกสภาพพื้นที่ที่เคยเสื่อมโทรมกลับมีสภาพดีขึ้น พืชผลที่ปลูกไว้กินกันในครอบครัว และทั้งที่เอาไว้ขายดีขึ้นในพริบตา

“เท่าที่ได้สัมผัสหญ้าแฝกไม่ได้มีประโยชน์แค่ทำให้พืชผลดีเท่านั้น เพราะส่วนต้นและใบหญ้าแฝกนำมาเป็นวัสดุมุงหลังคา เช่นเดียวกับการใช้ใบจาก และหญ้าแฝกที่มีใบเหมาะสมที่จะนำมาทำงานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสาน และงานทอได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรมที่เป็นที่นิยมและใช้ได้ทุกสถานที่ ทุกโอกาสในปัจจุบัน” วิเศษกล่าวถึงประโยชน์นานัปการของหญ้าแฝก


ในสภาวะแวดล้อมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การตกของฝนแปรปรวนไม่แน่นอน ความรุนแรงของพายุฝนมีมากขึ้น เกิดสภาพน้ำท่วมฉับพลัน บางพื้นที่แห้งแล้งมีผลกระทบต่อทุกคนทั้งชุมชนเมืองและชนบท การปลูกหญ้าแฝกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำสามารถทำได้อย่างรวดเร็วหากทุกคนมีส่วนร่วมจะปลูกได้เป็นพื้นที่กว้างขวาง สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน ลดความแห้งแล้งทั้งในพื้นที่เพาะปลูก และชุมชนเมือง

ทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีความสำคัญแก่ทุกชีวิต ถ้าดินเสียหาย ชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร ?

*************
เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ







เด็กชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆร่วมกันปลูกหญ้าแฝก
ร่วมมือ ร่วมใจกันปลูกหญ้าแฝก







กำลังโหลดความคิดเห็น