xs
xsm
sm
md
lg

แบดมินตันไทย กีฬาเจ้าฟ้าสู่สามัญชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะเอ่ยถึงกีฬาที่สามารถพบเห็นทั่วไปทุกหัวระแหง นับตั้งแต่ตามถนนตรอกซอกซอย สนามหญ้าหน้าบ้าน ไปจนถึงคอร์ตในโรงยิมเนเซียม ‘แบดมินตัน’ คงเป็นชื่อแรกๆ ที่คนไทยจะนึกถึงอย่างคุ้นเคย

ถึงแม้พระมหากษัตริย์ไทยจะทรงรับสมาคมกีฬาหลายประเภทไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่มีกีฬาเพียงไม่กี่ประเภทที่ปรากฏว่ามีเชื้อพระวงศ์ทรงให้ความสนพระทัยทรงเล่นกีฬาชนิดนั้นอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้น คือ กีฬาแบดมินตัน กีฬาที่เป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่เจ้าฟ้าจนถึงสามัญชน

เปิดตำนานแบดมินตันไทย

กีฬาแบดมินตันได้แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว มีปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า ในปี พ.ศ. 2456 พระยานิพัตกุลพงษ์ เป็นคนไทยรุ่นแรกที่สร้างสนามแบดมินตันให้ลูกหลานเล่นเป็นการออกกำลังในยามว่าง ณ บริเวณบ้านริมคลองสมเด็จเจ้าพระยา ในเวลาต่อมา หลวงชลาไลยกล เห็นว่าแบดมินตันเป็นกีฬาที่ดี เหมาะกับคนไทย เล่นได้ทั้งชายและหญิง เด็กเล็กและผู้ใหญ่ จึงสร้างสนามเพิ่มขึ้นอีก และเล่นแบดมินตันกันเป็นประจำในหมู่ญาติมิตรที่ตำบลสมเด็จเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานว่า กีฬาแบดมินตันเป็นที่นิยมเล่นกันประปรายในราชสำนักของไทยสมัยพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าสนามแบดมินตันในสมัยนั้นจะยังเป็นสนามกลางแจ้ง เวลามีลมพัดแรง หรือฝนตกก็เล่นแบดมินตันกันไม่ได้ ทว่าแบดมินตันก็เป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป ส่วนมากมักเล่นกันตามบ้านผู้ดีมีตระกูล วังเจ้านาย และในราชสำนัก

เมื่อกีฬาแบดมินตันแพร่หลายในหมู่คนไทยมากขึ้น คุณหลวงประคุณวิชาสนอง ได้จัดให้มีการแข่งขันแบดมินตันในราชวิทยาลัย แข่งขันในประเภทต่างๆ ต่อมาการแข่งขันได้แพร่หลายกว้างขวางออกไปอีก มีการแข่งขันประเภททีมสามคน ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันประเภทที่สำคัญที่สุด และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเล่นแบดมินตันประเภททีมสามคน

พ.ศ.2493 ผู้มีใจรักกีฬาแบดมินตันกลุ่มหนึ่ง อาทิ หลวงธรรมนูญวุฒิกร (นายประวัติ ปัตตพงศ์) นายยง อุทิศกุล, นายณัติ นิยมวานิช ได้ร่วมก่อตั้งสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยขึ้น พร้อมกับเรียนเชิญพระยาจินดารักษ์ (นายจำลอง สวัสดิชูโต) มาเป็นนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยคนแรก จดทะเบียนเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตัน นานาชาติ ไอบีเอฟ. ในปี พ.ศ. 2494 เป็นสมาชิกอันดับที่ 19 ของโลก สมาคมแบดมินตันไทยเมื่อแรกตั้งมีอยู่ 7 สโมสร คือสโมสรสมานมิตร, สโมสรบางกอก, สโมสรนิวบอย, สโมสรยูนิตี้, สโมสร ส.ธรรมภักดี, สโมสรสิงห์อุดม และสโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเป็นสโมสรสมาชิกของสมาคมอยู่เพียง 2 สโมสร คือ สโมสรนิวบอย และสโมสรยูนิตี้เท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือสหพันธ์รัฐมลายู สามารถเอาชนะทีมชาติของยุโรป จนได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนประเภททีมชายของโลก หรือโธมัสคัพ สร้างความตื่นเต้นให้แก่ประชาชาติเอเชียอย่างยิ่ง ที่ทีมจากเอเชียสามารถแข่งกีฬาจนเอาชนะชาติใหญ่ๆ จากชาติตะวันตกได้ ท่ามกลางกระแสดังกล่าว ไทยได้เชิญนักแบดมินตันอันดับโลกของมลายู อาทิ ว่องเปงสูน อองโปหลิม อุยเต็คฮ็อค อิสเมล บิน มาร์จัน ฯลฯ เข้ามาสาธิตการเล่นกีฬาแบดมินตันมาตรฐานสากลในประเทศไทย เริ่มมีการสร้างสนามแบดมินตันมาตรฐานในร่ม มีการปรับปรุงพัฒนาวิธีการเล่นแบดมินตันให้ดียิ่งขึ้น แต่การเล่นแบดมินตันของคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเล่นกันนอกร่ม ต่อมาได้มีการสร้างสนามแบดมินตันมาตรฐานสากลแห่งแรกภายในบริเวณบ้านซอยพร้อมมิตรของ หลวงธรรมนูญวุฒิกร และ นางอวยพร ปัตตพงศ์ พร้อมทั้งได้เคี่ยวเข็ญฝึกฝนลูกหลานจนกระทั่งนักแบดมินตันไทยมีมาตรฐานการเล่นก้าวเข้าสู่ระดับโลก

ลูกศิษย์แบดมินตันของคุณหลวงธรรมนูญวุฒิกร มีพื้นฐานการเล่นที่ถูกต้อง จนสามารถนำพาทีมชาติแบดมินตันโธมัสคัพไทยไปครองตำแหน่งชนะเลิศแห่งเอเชียใน ปี ค.ศ. 1957 เข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ Inter Zone ของโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาแบดมินตันของไทยในปี ค.ศ.1958 คุณหลวงทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนเช้าเย็น ส่งเสริมปลุกปั้นพัฒนานักแบดมินตันไทยหลายคน อาทิ พินิจ ปัตตพงศ์, ประเทือง ปัตตพงศ์, อัจฉรา ปัตตพงศ์, ธนู ขจัดภัย, เจริญ วรรธนะสิน, บุบผา แก่นทอง, สงบ รัตนุสสรณ์, บัณฑิต ใจเย็น, ศิลา อุเลา ฯลฯ นักกีฬาเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานของท่านทั้งนั้น นักแบดมินตันหลายคนของท่านได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศการแข่งขันออล-อิงแลนด์และครองตำแหน่งชนะเลิศของโลกในการแข่งขันแบดมินตันนานาชาติจากหลายประเทศ เมื่อหลวงธรรมนูญวุฒิกรถึงแก่อนิจกรรม ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งวงการแบดมินตันของไทย’

ในปี พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระราชวงศ์จักรีชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ ได้พระราชทานและประทานพระอุปถัมภ์แก่กีฬาแบดมินตันอย่างเข้มแข็ง ในปีเดียวกันนั้นในหลวงทรงเป็นองค์อุปถัมภกรับสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงแบดมินตันด้วยพระองค์เอง

สมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมอบถ้วยพระราชทานที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยช่างฝีมือเยี่ยมของประเทศแห่งยุคสมัย ให้แก่สมาคมฯ สำหรับผู้ครองตำแหน่งชนะเลิศแบดมินตันชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยวแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2497 และถ้วยพระราชทานของทั้งสองพระองค์ยังเป็นถ้วยรางวัลกีฬาที่สวยงามแม้กาลเวลาจะผ่านมาร่วมครึ่งศตวรรษ

นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พระราชศักดิ์ในสมัยนั้น) ทรงสนับสนุนทุนทรัพย์ส่งนักแบดมินตันไทยไปแข่งขัน ออล-อิงแลนด์ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 และที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญไม่เฉพาะแต่วงการแบดมินตันเท่านั้น แต่เป็นของวงการกีฬาเมืองไทย คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระทานราชทุนการศึกษาส่วนพระองค์ให้แก่ ‘เจริญ วรรธนะสิน’ นักแบดมินตันทีมชาติไทย ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ยังความปลาบปลื้มของวงการกีฬาไทยอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะในยุคนั้นยังไม่มีหน่วยงานกีฬาของรัฐเช่นปัจจุบัน

ในปีต่อๆ มา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ทรงสนับสนุนทุนทรัพย์ส่งนักแบดมินตันไทยไปแข่งขันออล-อิงแลนด์และประเทศต่าง ๆ ในยุโรป พร้อมทั้งทรงประทานกำลังใจด้วยการเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันอย่างใกล้ชิดทั้งในเอเชียและยุโรป ท่านพระองค์หญิงยังทรงสร้างสนามมาตรฐานขึ้นและก่อตั้งสโมสรแบดมินตันแร็กเกตมิวเซียมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510

ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 วงการแบดมินตันเริ่มใช้แนวทางการตลาดสิทธิประโยชน์เข้ามาบริหาร เริ่มระบบการดึงผู้อุปถัมภ์รายการจากต่างประเทศเข้ามาแทนระบบบริจาคช่วยเหลือ พร้อมเริ่มต้นจัดการแข่งขันกรังด์ปรีซ์เซอร์กิตโลกที่มีเงินรางวัลนับล้านบาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นการพลิกโฉมวงการแบดมินตันไทยให้ก้าวทันนานาชาติ

‘ไทยแลนด์โอเพ่น’ ลีกแห่งความภูมิใจของคนไทย

สมาคมแบดมินตันไทยได้รับการยอมรับจากสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (ไอบีเอฟ) ว่าเป็นสมาคมฯ ระดับแนวหน้าที่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกที่สำคัญๆ อาทิ การแข่งขันโธมัส-อูเบอร์คัพ รอบชิงชนะเลิศกรังด์ปรีซ์เซอร์กิตโลก และการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นประจำปี ชิงเงินรางวัลหลายล้านบาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ถึงปัจจุบัน

อีกหนึ่งองค์กรที่สำคัญ และให้การสนับสนุนเยาวชนเพื่อความเป็นเลิศด้านกีฬาแบดมินตันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึงกว่า 27 ปี คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 90 ล้านบาท

มัทนา เหลืองนาคทองดี ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรเครือซิเมนต์ไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนกีฬาแบดมินตันของ SCG ว่า องค์กรมองเห็นศักยภาพในกีฬาแบดมินตันของเด็กไทยที่สามารถไปสู่ระดับโลกได้ โดยเริ่มจากเยาวชนอายุไม่เกิน 12-18 ปี เพื่อเฟ้นหาเยาวชนฝีมือดีจากทุกภูมิภาค ที่จะมาเป็น‘ช้างเผือก’ เพื่อผลักดันสู่แชมป์ระดับชาติในอนาคต

“เราให้การสนับสนุนมาถึงปัจจุบัน 27 ปีแล้ว และในระหว่างที่ทำไม่เคยหยุดเลย แม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็ไม่เคยหยุด เพราะว่าการสนับสนุนแบบนี้ถ้าสมมติว่าสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เราก็จะได้เยาวชนที่มีความสามารถจริงๆ และสามารถสร้างนักกีฬาแบดมินตันเยาวชนผลักดันขึ้นสู่ทีมชาติได้ เด็กที่ชนะการแข่งเป็นแชมป์ SCG จูเนียร์แบดมินตันส่วนใหญ่จะเข้าสู่ทีมชาติ” มัทนากล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทีมชาติแทบจะทุกคนต้องเคยผ่านสนามแข่งของ SCG มาก่อน แม้กระทั่งโค้ชทีมชาติอย่าง สมพล คูเกษมกิจ หรือ ปราโมทย์ ธีรวิวัฒน์ ล้วนก็เคยผ่านสถาบัน SCG มาแล้วทั้งนั้น

“ตรงนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า องค์กรใดให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เราก็จะได้รับความสำเร็จในแง่ที่ได้เห็นวงการแบดมินตันไทยเจริญเติบโต มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จะเห็นได้เลยว่าเทคนิคในการตีของเด็กดีขึ้นอย่างมาก”

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997-2000 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแชมเปี้ยนแบดมินตันแห่งเอเชียหลายครั้ง แต่ลีกภายในประเทศเมื่อพ้นจากระดับเยาวชนไปยังไม่มีการต่อยอด ทาง SCG จึงทำการจัดแข่งขันออล-ไทยแลนด์ร่วมกับทางสมาคมฯ และแตกแขนงออกไปเป็นการแข่งระดับโลก คือ SCG ไทยแลนด์โอเพ่น หรือที่เดิมเคยเรียกว่าการแข่งขัน SCG เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ทำให้เยาวชนที่ขึ้นมาเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติได้มีโอกาสลงแข่งแมตช์ระดับโลกในเมืองไทย

“นักกีฬาทีมชาติเราถ้าไม่มีผู้สนับสนุนการออกไปแข่งในต่างประเทศ เราจะไม่สามารถไปแข่งเพื่อจะเก็บเวิลด์แรงกิ้งอันดับต้นๆ ได้ เราจะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ทาง SCG ก็ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการแข่งขันในต่างประเทศ ส่วนนักกีฬาก็ได้รับการดูแลจากทางสมาคม ในการไปแข่งต่างประเทศนักกีฬาก็จะได้กำลังใจโดยมีการตกลงกันว่า ถ้าสมมติว่านักกีฬาของเราเข้าสู่เวิลด์แรงกิ้งในแต่ละอันดับ ก็จะมีค่าอันดับมือเพิ่มขึ้นจากเงินเดือน”

โดยนักกีฬาแบดมินตันแต่ละคนนอกจากจะมีเงินเดือนประจำแล้ว ยังจะได้เพิ่มหากสามารถรักษาอันดับเอาไว้ได้ เช่น หากนักกีฬาอยู่ในตำแหน่งเวิลด์แรงกิ้งอันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัลจาก SCG เดือนละ 320,000 บาท ทุกเดือนตราบเท่าที่ยังอยู่ในอันดับ 1 ของโลก

เนื่องจากกีฬาแบดมินตันนั้น เงินรางวัลในการแข่งขันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น กอล์ฟ หรือเทนนิส ทำให้ทาง SCG และสำนักงานทรัพย์สินฯ เพิ่มเงินรางวัลให้นักกีฬาที่ได้อันดับหนึ่งอีกสองเท่าของเงินรางวัล และหนึ่งเท่าสำหรับอันดับที่สองและสาม ตามลำดับ ซึ่งในการแข่งขันแบดมินตันสิงคโปร์โอเพ่นที่ผ่านมา บุญศักดิ์ พลสนะ ที่คว้าแชมป์อันดับหนึ่งก็ได้รับเงินรางวัลเพิ่มอีกกว่าล้านบาท

“แต่เราไม่เรียกเงินตรงนี้ว่าอัดฉีด เพราะอัดฉีดคือชนะแล้วถึงจะให้ แต่ตรงนี้เราตกลงกันก่อนที่จะไป อันนี้เป็นกติกาที่นักกีฬาเซ็นสัญญากับเราว่า ถ้าเขาเข้าเป็นนักกีฬาในสังกัด SCG แล้วก็จะได้ โดยที่ได้เงินเดือนประจำทุกเดือนตามการฝึกซ้อม ถ้ายังเรียนหนังสืออยู่ก็อาจจะน้อยกว่านักกีฬาอาชีพ นอกจากนักกีฬาแล้วโค้ชผู้ดูแลทาง SCG ก็มีรายได้ให้ประจำ ซึ่งก็เป็นกำลังใจส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่ต้องไปหาอาชีพอื่นหรือรายได้ไม่พอ ก็เป็นส่วนที่ช่วยให้เขาหันมาให้ความสนใจและมุ่งมั่นเสริมทีมให้กับแบดมินตันเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับวงการแบดมินตันไทย”

นอกจากการเก็บตัวฝึกฝนทางด้านเทคนิคแล้ว วิทยาศาสตร์การกีฬาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง SCG และสมาคมฯ ให้ความสำคัญ มีการนำนักกีฬาทีมชาติและทีมดาวรุ่งมาเก็บตัวฝึกซ้อมในระบบวิทยาศาสตร์การกีฬา ควบคู่กับการฝึกซ้อมเทคนิคและทักษะในกีฬาแบดมินตัน ดูแลนักกีฬาให้เล่นแบดมินตันอย่างเต็มเวลาเสมือนหนึ่งนักกีฬาอาชีพ โดยจะจัดการเรื่องการเรียนและดูแลอาชีพภายหลังจากการเลิกเล่น นอกจากนี้ ยังได้นำระบบประเมินผลมาใช้อย่างจริงจัง โดยจัดการทดสอบสมรรถภาพของนักกีฬา หากไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกให้แข่งขันในแมตช์สำคัญ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้นักกีฬาพัฒนาฝีมือ และมุ่งฝึกซ้อม อย่างจริงจังต่อเนื่อง

ล่าสุด เพื่อปลุกกระแสให้เยาวชนหันมาเล่นกีฬาแบดมินตันกันมากขึ้น ทางสมาคมฯ และปูนซิเมนต์ไทยจึงจัดการแข่งขัน SCG Badminton Star Challenge ขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2550 ณ ห้างสรรพสินค้า ซีคอนสแควร์ โดยจะมีพิธีเปิดงาน SCG Badminton Star Challenge ในช่วงบ่าย และนับเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์ ได้เสด็จเพื่อทรงเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย โดยนอกจากนี้ในงาน SCG Badminton Star Challenge ผู้เข้าร่วมงานจะได้ชมการแข่งขันแบดมินตันระหว่างนักกีฬาทีมชาติและดารา รวมทั้งชมการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง

“นอกจากจะมีนักกีฬาเป็นโรลโมเดลแล้ว การที่ปัจจุบันเราจะชักจูงเยาวชนให้หันมาสนใจก็ต้องมีเซเลบริตี้ต่างๆ มาช่วยกันดึงเพื่อให้เด็กมาสนใจดู ถ้าเขาดูแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีก็อาจหันมาสนใจเล่น อันนี้ก็อาจเป็นการปลุกกระแสกีฬาแบดมินตันให้เกิดความนิยมของเยาวชนที่จะหันมาเล่นกีฬา” มัทนาทิ้งท้าย

เจ้าหญิงนักกีฬา

เรื่องราวความสนพระทัยในกีฬาแบดมินตันของพระบรมวงศานุวงศ์ไทย ได้รับการถ่ายทอดไว้ในเอกสารบทความ และบทพระราชทานสัมภาษณ์ในหลายสื่อ ซึ่งได้รวบรวมเกร็ดสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ ได้เขียนบทความเรื่อง "สมเด็จพระเทพฯ ทรงกีฬาที่ มศว ประสานมิตร" ในหนังสือเจ้าฟ้านักพัฒนาฯ ว่านับเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่ทางการกีฬาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขณะทรงเป็นนิสิตปริญญาเอก สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์รุ่นที่ 4 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันกีฬาขึ้นที่โรงพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขต ประสานมิตร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2525

เหตุการณ์ในวันแข่งขัน...สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาในชุดวอร์มสีเทาขลิบแดง ทรงถือแร็กเกตแบดมินตันมาด้วยพระองค์เองทรงแย้มพระสรวลรับการถวายความเคารพของเหล่านิสิตอยู่ตลอดเวลา พระองค์ลงแข่งรายการที่หนึ่ง คือ การแข่งขันแบดมินตันคู่ผสม พระองค์ท่านคู่กับรองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ การแข่งขันรายการที่สอง คือ บาสเกตบอลทีมผสมพระองค์ทรงนำทีมลงสนามในชุดเสื้อสีบานเย็นมีตราภาพสีพระหัตถ์ (รูปปลาแรด) ประทับกลางอกเสื้อและทรงกางเกงวอร์มขายาวสีเทาขลิบแดง

พระองค์ท่านทรงร่วมเล่นกีฬาแบดมินตันกับบาสเกตบอลกับพระสหายอย่างไม่ถือพระองค์ และทรงมีน้ำพระทัยเป็นนักกีฬา เมื่อทีมพัฒนศึกษาศาสตร์ได้รับชัยชนะในการแข่งขันบาสเกตบอล พระองค์ก็มิได้ทรงแสดงอาการดีใจและเมื่อกีฬาแบดมินตันของทีมพัฒนาศึกษาศาสตร์ประสบความพ่ายแพ้ ก็ยังคงสัพยอกกับพระสหายโดยไม่มีความผิดหวังแต่ประการใด เมื่อแข่งขันเสร็จก็ยังคงประทับอยู่ในโรงพลศึกษาอีกระยะหนึ่งและเสด็จกลับท่ามกลางความชื่นชมยินดีของเหล่านิสิตและคณาจารย์ทุกคน

วันรุ่งขึ้น ดร.อุไร แฉล้ม พระสหายหญิง กราบบังคมทูลว่า ทรงเหนื่อยหรือไม่ ทรงมีรับสั่งตอบว่า ไม่เหนื่อยหรอก สนุกดี เมื่อ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์กราบบังคมทูลถามว่าทรงได้รับบาดเจ็บที่พระชานุ (เข่า) ในขณะทรงบาสเกตบอล เป็นความจริงเพียงใด พระองค์แย้มพระสรวลสั่งตอบว่า ไม่มีหรอกไม่ได้เป็นอะไรเลย

พระองค์รับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรข่าวการแข่งขันจากโทรทัศน์ แล้วทรงมีรับสั่งชมเชยว่า เก่งนี่ ขนาดเล่นแบดมินตันไม่เป็น ก็ยังสามารถแข่งกับเขาได้ พอเวลาประมาณสองยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า และได้ทรงสอนให้เล่นแบดมินตันอยู่ตั้งนาน

บทความดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพระจริยวัตรของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยที่ทรงสนับสนุนการออกกำลังกาย รวมถึงกีฬาแบดมินตัน และภายหลังภาพของราชวงศ์กับกีฬาดังกล่าวก็ยิ่งชัดเจนขึ้นตามลำดับ

สภาพของวงการกีฬาแบดมินตันไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้จะประสบความสำเร็จจากการแข่งขันระดับนานาชาติหลายครั้ง แต่ความตื่นตัวหันมาสนใจในกีฬาแบดมินตันของเยาวชนไทยก็นับว่ายังน้อย เมื่อเทียบกับกีฬาบางประเภท จนกระทั่ง เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าหญิง ได้ทรงริเริ่มสนพระทัยในกีฬาแบดมินตันอย่างจริงจัง ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะ พระองค์ได้ทรงชนะเลิศในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ จนทรงสามารถก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในที่สุด สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติได้ให้ความสนใจและได้ขนานพระนามแก่พระองค์ว่า ‘เจ้าหญิงนักกีฬา’

จากกระแสดังกล่าว ได้ปลุกให้มีความตื่นตัวสนใจกีฬาแบดมินตันไทยขึ้นในเมืองไทยอีกวาระหนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ พระองค์หญิงทรงกลายเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนไทยในการที่จะมุ่งมั่นเรื่องของกีฬาให้ประสบความสำเร็จ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ

************


สราลีย์ ทุ่งทองคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น