วันเวลาเปลี่ยน...สิ่งต่างๆก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่งานศิลปะที่นับว่าวิจิตรสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดก็เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไปความเก่าก็ทำลายผลงานอันล้ำค่า บั่นทอนความสวยงามและคุณค่าของมันลงไป เฉกเช่น บานประตูประดับมุก ของหอมณเฑียรธรรม แห่งวัดพระแก้ว ซึ่งแม้จะสวยงามและสมบูรณ์เพียงใด เมื่อเวลาดำเนินผ่านไป 200 กว่าปี ก็ทำให้บานประตูประดับมุกบานนี้ได้รับความเสียหายและทรุดโทรมลงตามกาลเวลาของมัน
รู้จักที่มาของบานประตูประดับมุก
สำหรับบานประตูประดับมุกที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหอมณเฑียรธรรม แห่งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วนั้น เป็นบานประตูช่องกลางใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ที่ถูกขนาบข้างด้วยประตูสำหรับประชาชนทั้งฝั่งซ้ายและขวานี้ เดิมทีเป็นประตูของวัดบรมพุทธาราม จังหวัดอยุธยา เป็นบานประตูไม้สักทอง อายุราว 256 ปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2294 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยช่างโบราณสมัยอยุธยาแกะสลักลวดลายลงรักประดับมุกอย่างงดงาม มีสภาพสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
จากประวัติวัดพุทธาราม กล่าวว่า ครั้นถึง พ.ศ.2294 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้โปรดให้ซ่อมวัดนี้อีกครั้งหนึ่ง และได้โปรดฯ ให้สร้างบานประตูมุก สำหรับพระอุโบสถวัดบรมพุทธารามเพิ่มขึ้น ต่อมาได้เกิดไฟไหม้พระอุโบสถวัดพุทธาราม บานประตูหน้าต่างประดับมุกถูกไฟไหม้เสียหายไปมาก แต่ก็ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างบางส่วน พระธรรมราชาเจ้าอาวาสองค์ 1 (พระธรรมราชา คุ้ม ในรัชกาลที่ 3) จึงไปเก็บเอาบานมุกที่รอดไฟไหม้คือ บานประตูใหญ่ 1 คู่ ตู้หนังสือบานประดับมุก 2 ใบ ซึ่งบางชิ้นมีรอยไฟไหม้ บางชิ้นเห็นได้ว่าดัดแปลงมาจากของอื่น มาบูรณปฏิสังขรณ์ไว้ยังวัดศาลาปูน กรุงศรีอยุธยา
สำหรับบานประตูใหญ่คู่ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ประดับมุกเป็นลายกระหนกไม่ถูกไฟไหม้ยังมีสภาพดีทั้ง 2 แผ่น แต่มุกที่ประดับมีร่วงหายไปบ้าง หลังจากบูรณะแล้วได้นำไปทำบานหน้าต่างใหญ่ซุ้มยอดปราสาท ซึ่งเป็นช่องกลางข้างหน้าพระอุโบสถ วัดศาลาปูน เหมือนเช่นที่เคยอยู่ที่วัดพุทธาราม
ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 บานมุกคู่นี้ได้ถูกปลดเอาลงมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร มาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดฯให้ย้ายไปประกอบเป็นบานประตูหอมณเฑียรธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2475
นอกจากบานประตูประดับมุก ณ หอมณเฑียรธรรมนี้แล้ว ที่วัดเบญจมบพิตรก็มีอีกบานหนึ่ง และมีลักตัดไปทำเป็นตู้ใส่หนังสือบานหนึ่ง ตู้ใบนี้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงได้มาและประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งทั้ง 3 บานล้วนแต่เป็นงานที่มีฝีมืองดงามและยอดเยี่ยมทั้งสิ้น
ลักษณะลวดลายของบานประตู
อำพล สัมมาวุฒิ นักวิชาการช่างศิลป์ 8ว. สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ลวดลายที่เห็นอยู่นี้เป็นลวดลายเดิมที่ได้คัดลอกไว้ตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. 2536-2537 ตอนนั้นได้มีภารกิจในการซ่อมบานประตู ช่วงที่ซ่อมในตอนนั้นก็คือตั้งแต่ช้างเอราวัณลงมา ตอนนั้นลายมุกล่อนหมดเลย จึงต้องทำทั้งบาน เลยถือโอกาสคัดลอกลายเก็บไว้ด้วย
อำพล อธิบายเกี่ยวกับลักษณะลวดลายของบานประตูว่า ตรงกลางประตูจะเรียกว่านมอกเลา หรือศูนย์กลางของอกเลา ลวดลายที่เห็นเรียกว่า ลายกนกเปลว ลักษณะโครงสร้างลายลักษณะก้านขด แล้วก็ออกช่อเป็นพวกสัตว์หิมพานต์ต่างๆ เป็นภาพสัตว์หิมพานต์เป็นชั้นๆ แต่ละชั้นก็จะว่างลำดับตั้งแต่ล่างไปจนถึงสูงสุด
โดยเริ่มตั้งแต่รูปยักษ์ถือตะบองคือท่านเท้าเวชสุวรรณ มีพระนารายณ์ทรงครุฑ ต่อมาคือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณซึ่งเป็นช้างสามเศียร แล้วก็มีพระพรหมทรงหงส์ ที่เป็นกบกยอดนั้นก็สันนิฐานกันว่าแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยนั้นคงเป็นสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด เช่นเดียวกับในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่คงจะพัฒนาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
“ส่วนที่เป็นของเดิมแท้ๆจากสมัยอยุธยาเลยก็น่าจะตรงบริเวณบุษบกยอดทั้งสองฝั่ง อยู่จากปลายกนกลงมาประมาณฟุตกว่าๆ ที่ผมสันนิฐานว่าใช่เพราะว่าลวดลายนี้ค่อนข้างจะเก่า หอยก็เก่า แต่ส่วนที่ลงมาจากนั้นจะมีการซ่อมแซมบูรณะมาโดยตลอด สังเกตว่ากลุ่มลวดลายมีความแตกต่างกัน ส่วนด้านหลังบานก็จะมีลายรดน้ำที่เป็นลายพื้นชาติสีแดง ซึ่งจะแตกต่างจากของที่อื่นๆที่มักจะเป็นสีดำ” ช่างสิบหมู่ กล่าวเพิ่มเติม
การบูรณะซ่อมแซมบานประตู
อารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้เก็บรักษาบานประตูประดับมุก หอมณเฑียรธรรมในพระบรมมหาราชวังไว้มิให้ชำรุดเสียหาย เนื่องจากพบว่าบานประตูมุก 1 คู่ด้านทิศตะวันตก ได้รับแดดตอนบ่ายซึ่งร้อนมาก ทำให้มุกและยางรักเสื่อมและทรุดโทรม ชำรุดให้เห็นเป็นจุด ควรรีบดำเนินการซ่อมแซม กรมศิลปากรเห็นสมควรจะเปลี่ยนใหม่จึงได้ดำเนินการจัดสร้างบานประตูประดับมุกขึ้นใหม่ 1 คู่ เพื่อใช้แทนของเดิมที่จะต้องนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จากมูลเหตุและความสำคัญดังกล่าวกรมศิลปากรจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดหาไม้สักทองเพื่อจัดสร้างบานประตูทดแทน และมอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ดำเนินการจัดสร้างบานประตูประดับมุกโดยการคัดลอกลวดลายและจัดทำลวดลายเหมือนของเดิมทุกประการ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและประณีตเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบานประตูประดับมุก หอมณเฑียรธรรม ขึ้นใหม่ใช้แทนของเดิมที่ต้องทำการเก็บรักษาไว้เพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ และเพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมด้านประดับมุกแบบโบราณให้แพร่หลายสืบไป ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
การคัดเลือกไม้
สมชัย เพียรสถาพร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ผมได้รับมอบหมายจากท่านปลัดกระทรวงฯให้มาดูแลเรื่องนี้ ตอนที่ได้รับการติดต่อมาก็ยินดีช่วย เพราะงานสนองพระราชดำรินี้เป็นหน้าที่ของเราซึ่งเป็นข้าแผ่นดิน กระทรวงฯยินดีสนับสนุน ด้านคุณสมบัติของไม้นั้น ไม้สักถือว่าเป็นสุดยอดของไม้อยู่แล้ว และปัจจุบันก็อยู่ในวิสัยที่เราพอจะหาได้จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจากไม้ที่เราได้เก็บไว้นานแล้ว หรือว่าตามแหล่งของกลางตามจังหวัดต่างๆก็ดี เรามีความมั่นใจว่าจะจัดหาไม้ให้ได้ตามที่ต้องการ เราจะถวายสิ่งที่ดีที่สุด เพราะถือว่าเป็นมรดกของชาติที่ให้ไว้เพื่อเก็บรักษาต่อไป”
โดยทางสำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจภาคเหนือบน (ออป.ลำปาง) ได้จัดหาไม้ไว้ให้พิจารณาแล้วคือ ไม้สักทอง อายุประมาณ 500 ปี จากป่าแม่ตุ๋ย จังหวัดลำปาง ตัดเมื่อพ.ศ.2501 โต 4.63 เมตร ยาว 9.00 เมตร ปริมาตร 15.15 ลบ.เมตร เป็นเนื้อไม้แห้ง และเป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศในขณะนี้อีกด้วย
บุญเลิศ ศรีสุขใส ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจภาคเหนือบน (ออป.ลำปาง) กล่าวว่า “ไม้นี้เราตัดมานานมากแล้ว บังเอิญต้นไม้ต้นนี้ตรงโคนจะเป็นโพรง ทางการเห็นว่าถ้าปล่อยไว้คงจะถูกแมลงทำลายไปมากกว่านี้ อีกทั้งเห็นว่าไม้สักต้นนี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ คือ มีขนาดใหญ่และยาว รูปทรงค่อนข้างสวย จึงได้เห็นชอบพร้อมกันในสมัยนั้นให้ตัดไม้สักต้นนี้มาเก็บรักษาและอนุรักษ์เอาไว้ให้รุ่นหลานได้เห็น จะได้รู้ว่าไม้ใหญ่นั้นใหญ่ขนาดไหน และเอาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษา”
ในเรื่องของไม้ที่ต้องการ บานประตูประดับมุกหอมณเฑียรธรรม 1 ช่องประตู จะประกอบด้วยบานประตู 2 บาน ซ้าย ขวา พร้อมอกเลา ขนาดแต่ละบานกว้าง 28 นิ้ว 143 นิ้ว (ไม่รวมเดือยบนล่าง) หนา 3.5 นิ้ว อกเลาหนา 4 นิ้ว ความความหนา 7.5 นิ้ว ขนาดพื้นที่ประดับด้วยลายมุก 7,216 ตารางนิ้ว และพื้นที่เขียนลายรดน้ำด้านหลังบาน 5,852 ตารางนิ้ว
ส่วนวิธีการประมาณไม้ที่จะนำไปสร้างบานประตูนั้น บุญเลิศ แนะว่า “มีวิธีคิดที่ง่ายที่สุดคือ เอา 3 ไปคูณ เช่น สมมุติว่าเราต้องการไม้ที่แผ่นความโตที่ 70เซนติเมตร เราก็เอา 3 คูณ หรือถ้าเราต้องการไม้ที่มีความกว้าง 80เซนติเมตร เราก็เอา3คูณ ก็คือ 240 เซนติเมตร ฉะนั้นต้นไม้ที่จะเอามาเลื่อยขนาด 80 เซนติเมตรได้ ต้องมีเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 280 เซนติเมตร เพราะต้องเผื่ออีกประมาณ 20-30% ไม้ที่จะใช้ได้ควรมีความโต ไม่ต่ำกว่า 300-350 เซนติเมตร แต่ถ้าจำกัดจริงๆ 280 เซนติเมตร ก็ใช้ได้”
สำหรับวิธีการที่จะเอามาแปรรูป ธรรมชาติของไม้ ไส้ไม้จะอยู่ตรงกลางเราก็ต้องเลือกใช้ไม่ซ้ายก็ขาว หรือไม่บนก็ล่าง แต่ไม้ท่อนนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีใจกลางไม้อยู่ด้านริม ซึ่งนับตั้งแต่ใจกลางมาเป็นส่วนที่ดีเราสามารถแปรรูปได้ทั้งหมด เท่าที่ดูจากลักษณะท่อนไม้ ถ้าการเปิดหน้าเราจะต้องเปิดจากด้านในเข้าไปจนกว่าจะได้ความยาวเท่ากับแผ่นไม้ที่ต้องการ จากนั้นจะเปิดเข้าไปเท่ากับความหนาของไม้ ก็จะได้เป็นแผ่นไม้ที่ต้องการ ตัวกระพี้จะอยู่ด้านริม ซึ่งไม้แก่ๆแบบนี้ตัวกระพี้จะหายหมดแล้ว
ด้านวิธีการรักษาไม้สัก โดยธรรมชาติของไม้สักแล้วจะมีแมลงมารบกวนน้อยมาก เพราะเนื้อไม้จะมีสารต้านแมลงอยู่ ข้อสำคัญคือต้องทำการยกพื้นไม่ให้โดนดิน เพราะว่าดินอาจจะทำให้มีความชื้น และเชื้อรา รักษาในร่ม ไม่ให้แดดส่องหรือว่าฝนตกมาโดนก็พอเพียงแล้ว
การประดับมุก
ไม้ที่จะใช้ทำเป็นบานประตูเพื่อประดับมุกนั้น ควรจะเป็นไม้ที่แห้ง ยืดหดตัวน้อย เนื่องจากลายมุกจะเป็นลายที่ยืดติดกับพื้นผิว ถ้าพื้นผิวมีการยืดหดตัวมากโอกาสที่มันจะแยกตัวก็มีมากเหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นไม้ชนิดนี้ที่ตัดมานานแล้วน่าจะใช่ได้เพราะว่ามีความแห้ง ถ้าเป็นไม้สดจะมีการหดตัวสูง
สำหรับขั้นตอนการทำบานประตูประดับมุก อำพล เล่าว่า หลังจากได้ไม้มาแล้วหัวหน้าช่างวิจิตรจะมีการเหลาโคนให้ได้รูปทรงแล้วมีอกเลาติด เสร็จแล้วก็ส่งมาถึงกลุ่มช่างสิบหมู่ ซึ่งตอนนี้แม้จะยังอยู่ในช่วงพิจารณาเลือกไม้สักทอง ทางสำนักช่างสิบหมู่ก็ได้ดำเนินการเตรียมวัสดุสำคัญคือ เปลือกหอยมุก ไปก่อน โดยใช้เปลือกหอยทะเลที่ชื่อว่า “หอยอูฐ”
“ขนาดของมุกที่นำมาประดับต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว เพราะหอยขนาดนี้จะได้สีรุ้งที่เป็นสีชมพู แต่ถ้าเล็กกว่านั้นสีชมพูจะน้อยลงไม่สวย ตอนนี้เราเตรียมหอยไว้แล้วประมาณ 1,000 กิโลกรัม ฟังดูแล้วเหมือนจะเยอะแต่หอยตัวหนึ่งหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยเนื้อหอย เปลือกหินปูนที่ห่อหุ้มอยู่ เราจะต้องนำมาเจียออก แล้วเอาชิ้นที่เราจะใช้งานไปขัดอีกครั้งหนึ่งให้บางๆ อาจจะได้เนื้องานประมาณ 10 % จากหอย 100 % หนึ่งกิโลกรัมก็จะเหลือไม่กี่ขีด คิดว่า 1,000 กิโลกรัมน่าจะพอต่อการทำงาน” อำพล อธิบาย
จากนั้นก็นำลวดลายที่ได้คัดลอกไว้แล้วมาติดบนผิวมุก แล้วก็ฉลุลายทีละตัวออกมาโดยใช้โครงเลื่อยช่างทอง ที่มีใบเลื่อยที่คม ฉลุมาแล้วก็เอาตะไบขัดแต่งขอบลาย จะสังเกตลวดลายว่าลายมุกจะเป็นลายที่ไม่ติดกันเป็นชิ้นๆ ตัวใครตัวมัน ลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ในการประดับงาน เนื่องจากเปลือกหอยจะมีความโค้ง สามารถจะฉลุลายกนกเป็นชิ้นยาวๆได้ แล้วการที่จะผนึกลายที่โค้งบนพื้นที่เรียบนั้นทำไม่ได้ ช่างโบราณเขาเลยต้องแบ่งลายเป็นชิ้นๆแบบนี้ ฉะนั้นจึงเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา
เมื่อได้ลายเป็นชิ้นแล้ว นำลวดลายเหล่านั้นไปติดบนบานประตูโดยใช้ยางรักผสมกับสมุก สมุกคือผลที่ได้จากพืช เช่นกะลามะพร้าว หรือหญ้าแฝก แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นงานช่างมุกจะใช้กะลามะพร้าว เพราะแข็งแรง เอากะลามะพร้าวเผาให้เป็นถ่านแล้วบดให้เป็นฝุ่นผงเลย แล้วก็นำมาคลุกเคล้ากับยางรัก เรียกว่า “รักสมุก” อัดลงไปตามร่องลายต่างๆ การประดับมุกแบบนี้นี้เรียกว่า “มุกถมลาย” ก็คือการเอารักกับมุกถมลงไปในร่องลาย
“เมื่อรักแห้งแล้วจึงจะขัด เรียกว่า “ขัดปาดหน้าผิว” ซึ่งจะขัดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตัวลายปรากฏขึ้นมา แล้วก็ขัดมันอีกที เขาเรียกว่า “ขบวนการขัดมันถมลาย” ส่วนด้านหลังบานจะมีลายทองรดน้ำ เราก็จะส่งให้หัวหน้าฉลอง ฉัตรมงคล ไปดูแล เขาจะทำการเขียนลวดลายรดน้ำ พอเขียนเสร็จแล้วก็จะนำไปติดตั้งต่อไป” อำพล กล่าว
ขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้มีโครงการจัดสร้างบานประตูประดับมุกขึ้นใหม่ให้เหมือนเช่นของเดิมอีก 1 คู่เพื่อใช้แทนบานประตูเก่า ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะใช้ไม้สักทองอายุ 500 ปีจากจังหวัดลำปาง หรือจะต้องคัดเลือกคัดสรรไม้สักทองที่เหมาะสมที่สุดกันต่อไป ก็เป็นเรื่องที่ทางกรมศิลปากรและหน่วงงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณา และดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันบานประตูประดับมุกอายุกว่า 200 ปีบานนี้ ก็ยังคงถูกใช้เป็นบานประตูช่องกลาง ฝั่งทิศตะวันตก หอมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และยังคงเป็นมรดกที่มีคุณค่าทางงานศิลป์ให้เราได้ศึกษากันต่อไป