xs
xsm
sm
md
lg

วิถีคนเมืองเพชร คน น้ำ และความหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘เพชรบุรี’ ดินแดนแห่งขนมหวาน น้ำตาลสด ที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรม อีกทั้งทรัพย์ในดินสินในน้ำ ตลอดจนช่างฝีมือหลายสิบแขนง จนเมืองเพชรได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่รวมงานช่างฝีมือยุคโบราณมากที่สุดแห่งหนึ่ง กระทั่ง ‘สกุลช่างเพชร’ ถูกขนานนามติดปากผู้คนไม่ว่าใกล้ไกล ถึงความประณีตงามงดด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งเชิงช่าง ไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์, งานประติมากรรม ฯลฯ ที่อยู่เคียงคู่แม่น้ำเพชรมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย

วันนี้ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก คนเมืองเพชรยังคงยืนหยัดต้านกระแสธารแห่งยุคสมัยที่ถาโถมเข้าสู่เมืองเล็กๆ ริมชายฝั่งทะเลแห่งนี้ไม่หยุดยั้ง แม่น้ำเพชรที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตริมฝั่งเริ่มแห้งขอดและสกปรกลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ค่อยๆ จืดจางลงในความรู้สึกของลูกหลานเมืองเพชรเอง แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ริเริ่มฟื้นฟูคืนชีวิตให้แม่น้ำเพชรกลับคืนมาไหลรินและใสสะอาดเช่นในอดีต รวมทั้งมุ่งมั่นอนุรักษ์งานฝีมือในเชิงช่างเอาไว้เพื่อสืบทอดแก่ลูกหลานเมืองเพชรรุ่นต่อไปในอนาคต

เดิน-ล่อง-ปั่น ‘รักน้ำเพชร’

แสงแดดที่แผดเปรี้ยงไม่ทำให้สองขาเล็กๆ ที่มุ่งมั่นระย่อต่อเปลวแดด แม้เหงื่อจะผุดบนใบหน้าและแผ่นหลังจนชุ่มโชก แต่ขบวนจักรยานที่เคลื่อนไหวเป็นแนวสีฟ้าบนถนนมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี เพื่อบรรจบกับขบวนเรือที่ล่องขึ้นมาสมทบจากปากอ่าวบางตะปูน สถานที่อันเป็นปลาย ‘แม่น้ำเพชร’ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สายเลือดสายชีวิตของคนเพชรบุรี ยังคงเคลื่อนไปข้างหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง ประดุจสายน้ำที่ไหลจากยอดเขาลงสู่ปากทะเล เพื่อเป็นสื่อกลางรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณค่าวิถีชุมชนแห่งนี้

จากป่าต้นน้ำแก่งกระจาน ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรีสู่ปากอ่าวบางตะบูน ‘แม่น้ำเพชร’ ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน สั่งสมแร่ธาตุอาหารสำหรับสรรพชีวิตทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเท่านั้น หากแต่แม่น้ำเพชร ยังเป็นสายธารแห่งชีวิตความเป็นอยู่ เชื่อมโยงผู้คนในลุ่มน้ำซึ่งมีพื้นเพประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แตกต่างกัน สายน้ำได้หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นให้เป็นหนึ่งเดียว

ฉะนั้น ความผันแปรของแม่น้ำเพชรไม่ว่าจะในแง่มุมของสิ่งแวดล้อมหรือความสัมพันธ์กับสังคมที่รายรอบ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของชุมชนคนเมืองเพชรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การจัดกิจกรรมรณรงค์จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ แก่ตัวแทนเยาวชนในพื้นที่ของวงดนตรีโฮปแฟมมิลี่และกลุ่มดินสอสี โดยการสนับสนุนของ สสส. ที่นำโครงการ ‘บ้านในฝัน’ สัญจรสู่จังหวัดเพชรบุรีต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยใช้ชื่อว่า ‘รักน้ำเพชร’ ในปีนี้ จึงมิใช่เพียงการอนุรักษ์แม่น้ำเพชร ในนัยของการดูแลรักษาความสะอาดเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการสร้าง ‘หัวใจ’ ที่ผูกพันโยงใยระหว่างสายน้ำแห่งชีวิตกับจิตใจของผู้คน อันเป็นต้นธารในการหล่อเลี้ยงชุมชนให้เป็นสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

กิจกรรมรณรงค์ ‘รักน้ำเพชร’ ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การล่องเรือเก็บขยะ, การขี่จักรยานจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ฯลฯ รวมทั้งจัดค่ายปลูกจิตสำนึกให้แก่ตัวแทนนักเรียนในพื้นที่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพชร ได้แก่ โรงเรียนแก่งกระจานวิทยา (ป่าต้นน้ำ) โรงเรียนบ้านลาดวิทยา (กลางน้ำ) โรงเรียนพรหมานุสรณ์, โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ (แม่น้ำในเมือง) และโรงเรียนบางตะบูนวิทยา (ปลายน้ำ-ป่าชายเลน) เพื่อรณรงค์ให้สาธารณะเห็นถึงความสำคัญของสายน้ำเพชร จึงเป็นการโหมโรงก่อนที่จะถึงงานบ้านในฝันสัญจร ตอน รักน้ำเพชร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2550 เวลา 15.00-21.00 น. โดยใช้ลานวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นสถานที่จัดงาน เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์วัดกับชุมชนในมิติที่เกื้อหนุนกัน ให้คนทั่วไปได้เห็นคุณค่าและความหมายของวัดในเชิงสาระประโยชน์ที่สอดคล้องกับชีวิตปัจจุบัน

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะวัดใหญ่สุวรรณารามแห่งนี้ คือ สถาปัตยกรรมโบราณทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมวิชาช่างเกือบทุกแขนงของเมืองเพชรเอาไว้ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

วัดใหญ่สุวรรณาราม ‘โรงครู’ เมืองเพชร

เสียงปี่พาทย์ ร้องรำละคร ดังแว่วมาจากหมู่เรือนไทยที่ตั้งอยู่ภายในรั้วกำแพงของวัดใหญ่สุวรรณาราม ท่ามกลางรถทัวร์ของนักท่องเที่ยวที่จอดอยู่เรียงราย เด็กๆ นับสิบกว่าคนกำลังฝึกซ้อมรำและบรรเลงดนตรีไทยอย่างขะมักเขม้นอยู่ใต้ถุนเรือนไทยบ้าง หรือบนตัวศาลาใต้ร่มไม้บ้าง

“กลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี” คือชื่อของกลุ่มคนเมืองเพชรที่ประกอบไปด้วย พ่อครูแม่ครู ศิลปินพื้นบ้าน พระสงฆ์องค์เจ้า ตลอดจนชาวเมืองเพชรทั่วไปทีมีจิตใจอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของเพชรบุรี

สมศักดิ์ อิสมันยี รองประธานและรักษาการประธานกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงที่มาในการก่อตั้งกลุ่มฯ ว่า เริ่มมาจากเมื่อครั้งที่เขาและสมาชิกในกลุ่มมีโอกาสไปร่วมงานรำลึกที่อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้พบกับการแสดงของเด็กชาวเขาจากโรงเรียนสุนทรวิทยาของนิดและตี้ วงกรรมาชน จึงได้แรงบันดาลใจว่าน่าจะนำเด็กๆ ที่ขาดโอกาสในจังหวัดเพชรบุรีมาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองเพชร จากบุคคลที่เรียกว่า ‘พ่อครู แม่ครู’

ด้านสุวรรณ ปรางรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ กล่าวว่า ทั้งตัวเขาและสมศักดิ์นั้นเติบโตมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ และทำงานการเมืองอยู่กับภาคประชาชนมาตลอด สุวรรณอยู่เพชรบุรีซึ่งมีพ่อครูแม่ครู มีศิลปะการแสดงหลายสาขามาก มีละครชาตรี โขน หนังตะลุง ลิเก ลำตัด หรือว่าหุ่นกระบอก ทว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้ทั้งอารยธรรมต่างประเทศที่เข้ามาหรือสื่อต่างๆ ทำให้กิจกรรมตรงนี้ที่เป็นงานด้านศิลปวัฒนธรรมค่อนข้างจะซบเซาลงไป พวกเขาจึงพยายามคิดกันว่าควรจะหาทางออกอย่างไรดี

“ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นรากเหง้าทางความคิดที่พ่อครูแม่ครู ผู้เฒ่าผู้แก่ได้สะสมเรียนรู้เอาไว้จนเป็นเหมือนกับทรัพยากรของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ผมก็เลยได้ไปพูดคุยประสานกับพ่อครูแม่ครูว่าเรามีวิชาความรู้ตรงนี้น่าจะมาทำงานร่วมกัน บังเอิญผนวกกับมันเป็นความวิตกกังวลของผู้ใหญ่ในชุมชนที่เป็นห่วงว่าเด็กๆ ทุกวันนี้เขาจะเดินไปทางไหนกัน แล้วยังมีปัญหาเรื่องเกม เรื่องยาเสพติดที่รุมเร้าเข้ามากับเด็ก ซึ่งเขาไม่มีภูมิปัญญาที่จะไปต่อต้าน ทำอะไรก็ตามกระแสหมด ก็เลยมีการรวมตัวกันของพ่อครูแม่ครูหลายๆ แขนง”

ในช่วงแรกนั้น เริ่มต้นด้วยกลุ่มพ่อครูแม่ครูที่สอนละครชาตรี โขนสด กลองยาว หนังตะลุง และการตัดเย็บชุด รวมถึงดนตรีไทย จนกระทั่งในปี 2547 ทางกลุ่มฯ ได้รับงบประมาณจากผู้ว่าฯ ซีอีโอ และนำมาจัดกระบวนการเรียนการสอนวิชาช่างแขนงต่างๆ ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม
เหตุที่เลือกเอาวัดเป็นที่ทำการของกลุ่มนั้น ก็เนื่องมาจากก่อนหน้านี้ทางกลุ่มฯ ได้รับอนุญาตจากทางเทศบาลเมืองเพชรบุรี ให้ใช้ศาลาจัตุรมุขเป็นที่ทำการฝึกซ้อมรำละคร สอนวิชาช่างนาฏศิลป์ท้องถิ่นต่างๆ แต่ทว่าศาลาดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเวทียกพื้น ไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ ทำให้ไม่สะดวกในการเรียนรู้ของเด็กๆ ความทราบถึงพระครูวัชรสุวรรณาทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดใหญ่สุวรรณาราม ท่านจึงเมตตาให้เด็กๆ และพ่อครูแม่ครูมาใช้สถานที่ภายในวัดเป็นโรงเรียนชั่วคราวแทน

“ปัญหาเริ่มแรกในการทำโครงการก็คือว่า เวลาเราฝึกเด็กในวันเสาร์อาทิตย์ตั้งแต่สามโมงเช้าจนถึงบ่ายสามโมง เราจะเอาอาหารกลางวันที่ไหนให้เด็กกิน ผมก็ต้องมาหาพระที่วัดใหญ่ฯ ก็คือ หลวงพ่อชุบหรือพระครูวัชรสุวรรณาทร มาขอความกรุณาจากท่าน หลวงพ่อก็เลยอนุมัติให้แม่ครัวทำอาหารให้แบ่งกันไปตามชุมชนต่างๆ”

ไม่เพียงแต่เป็นทั้งโรงเรียนที่ให้ทั้งวิชาและข้าวปลาอาหารเท่านั้น วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเพชรแห่งนี้ ยังมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนอีกด้วย สุวรรณเล่าว่า ทุกครั้งที่เขาเข้าหามวลชนเพื่อชักจูงให้เข้าร่วมกิจกรรม เขาจะนิมนต์หลวงพ่อชุบมาเป็นประธานในการประชุมทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนเมืองเพชรยังคงผูกพันกับศาสนาอยู่อย่างแนบแน่น

พระสมุห์นริศ นริสฺสโร เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนของพระครูวัชรสุวรรณาทร กล่าวว่า ในอดีต พ่อครูแม่ครูกับวัดมีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากวัดก็คือแหล่งเรียนรู้วิชาการแขนงต่างๆ ในชุมชน การที่วัดใหญ่สุวรรณารามเปิดโอกาสให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองเพชรเข้ามาใช้พื้นที่ จึงนับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ดึงเด็กๆ ไม่ให้หันเหไปสู่สิ่งไม่ดี โดยใช้ศิลปะชักนำเข้ามาใกล้ชิดกับวัดอีกทางหนึ่ง โดยที่เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือยัดเยียด ด้วยธรรมะนั้นไม่จำเป็นต้องศึกษากับพระ แต่เรียนรู้ผ่านพ่อครูแม่ครูก็ได้

พ่อครูแม่ครูเมืองเพชร ‘เรือ’ ที่ไม่มีค่าจ้าง

หญิงวัยกลางคนและชายชราผมสีดอกเลา กำลังฝึกซ้อมท่าร่ายรำละครชาตรีให้แก่เด็กๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บ้านไม้เก่าแก่อันเป็นทั้งเรือนนอนและที่อยู่อาศัย ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงเรียนสอนวิชารำละครชาตรีในชุมชนแห่งนี้มาหลายปี โดยที่หลายต่อหลายครั้ง ผู้สอนก็ไม่ได้ค่าจ้างค่าออนแต่อย่างใด หากก็ยังเต็มใจถ่ายทอดวิชาแขนงนี้ไว้ให้มีผู้สืบทอดรุ่นหลัง

พ่อครูไพฑูรย์และแม่ครูบุญธรรม จันทร์สุข เป็นผู้ฝึกสอนวิชานาฏศิลป์ ละครชาตรี และการละเล่นพื้นบ้าน ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ เมืองเพชรมานานกว่า 5 ปี โดยเฉพาะละครชาตรี ซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านเก่าแก่ของคนเพชรบุรีนั้น แม่ครูบุญธรรมได้เล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า ละครชาตรีเมืองเพชรนั้นมีมาตั้งแต่สมัย ร.4 เสด็จแปรพระราชฐานมาที่พระนครคีรี ได้ทอดพระเนตรและทรงชื่นชมละครชาตรีของเมืองเพชร ที่หลวงอภัยพลรักษ์ (สุข หน้าพระลาน) ถวายการแสดง ต่อมา “หม่อมเมือง” ซึ่งเป็นหม่อมในรัชกาลที่ 5 และเป็นชาวเพชรบุรี ด้วยเป็นผู้มีความสามารถในการเล่นละครชาตรี จึงมักเล่นถวายหน้าพระที่นั่งทุกครั้งที่เสด็จมา จนได้รับพระราชทานบริเวณ “หน้าพระลาน” เพื่อเป็นที่แสดงละครเป็นประจำ

พ่อครูไพฑูรย์และแม่ครูบุญธรรมเองนั้นก็สืบเชื้อสายมาจากหลวงอภัยพลรักษ์ นามสกุล ‘จันทร์สุข’ นั้นก็เป็นการตั้งชื่อสกุลตามนามภรรยาของหลวงอภัย (จันทร์) กับหลวงอภัยฯ (สุข) โดยต้นตระกูลคือเจ้าของคณะละครคณะแรกของเมืองเพชรบุรี ชื่อคณะละคร ‘สุข หน้าพระลาน’ (ปัจจุบันอยู่เยื้องหน้าวัดกำแพงแลง) ที่พ่อครูแม่ครูทั้งสองสืบทอดต่อมานั่นเอง

“ละครชาตรีนี่มันจะสูญหายไปแล้ว ก็อยากจะสืบทอดละครชาตรีให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลัง เด็กๆ ที่เขามาเรียนรำไทยหลังเลิกเรียน ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ไปแสดงละครแก้บนเป็นค่าขนมบ้าง อาชีพดั้งเดิมเราเป็นละครมาก่อน ตอนนี้คิดว่าอายุมากแล้ว ก็อยากจะถ่ายทอดให้วิชาให้เด็กๆ ไป เราก็ไม่มีรายได้อะไร แต่ถือว่าทำงานให้กลุ่มเราเต็มใจที่จะช่วยอยู่แล้ว เรามีความรู้แต่เรื่องอุปกรณ์เราไม่มีที่จะให้เด็กๆ ” แม่ครูบุญธรรมกล่าว

เช่นเดียวกับ แม่ครูดวงรัตน์ พานศรี ผู้สอนละครรำพื้นบ้านแก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน ต.ช่องสะแก ลูกศิษย์ของแม่ครูดวงรัตน์มีแทบจะเรียกได้ว่าทั้งตำบล โดยเธอสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน แต่การให้โดยไม่หวังผลของแม่ครูกลับส่งผลดี เพราะนอกจากมีผู้สืบทอดแล้ว โรคภัยไข้เจ็บที่เคยรุมเร้าก็หมดไปด้วย ลูกศิษย์หลายรุ่นที่จบออกไปต่างก็นับถือเธอเป็นครู “ในหมู่บ้านจะมีคนรัก ไปที่ไหนก็เรียกครูนิดๆ ยกมือไหว้ตลอด เราก็ภูมิใจ ไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร แม่ครูเป็นละครชาตรีก็ถ่ายทอดวิชาให้ และครูที่ถ่ายทอดนาฏศิลป์ให้ก็คือครูเจือ เครือจันทร์ ที่ท่านเคยเป็นละครในวัง ท่านออกมาก็เป็นครูตามโรงเรียนได้ถ่ายทอดให้ และขอให้เราได้หัดเด็กต่อไป”

พรพิมล ศศิโรจน์ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ขนมไทยและอาหารไทยโบราณ บอกว่า อยากให้เยาวชนเมืองเพชรกลับไปสู่ยุคเดิมๆ ที่ดำรงชีวิตตามแบบวิถีไทย การได้เรียนรู้ศิลปะท้องถิ่นจะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กหลงไปกับสื่อรูปแบบต่างๆ ทุกวันนี้ เมืองเพชรเองก็ไม่ต่างอะไรกับเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาจากภายนอก วิถีคนเมืองเพชรที่เคยทำการเกษตรเป็นอาชีพดั้งเดิมก็ค่อยๆ หมดไป พรพิมลยกตัวอย่างน้ำตาลสดขึ้นชื่อของเมืองเพชรที่ในอดีตซื้อขายกันกิโลละ 20 บาท ปัจจุบันนี้ราคาขึ้นไปเกือบเท่าตัวคือ กิโลละ 40 บาท เนื่องจากคนเพชรเองไม่ค่อยมีเวลามานั่งทำน้ำตาลขายแล้ว เยาวชนรุ่นหลังเองก็รู้จักแต่ซื้อหาทุกอย่างมากกว่าจะลงมือทำเอง กลุ่มพ่อครูแม่ครูที่แม้มีความรู้และความตั้งใจถ่ายทอดให้ แต่ก็ยังขาดปัจจัยสนับสนุนอีกมาก ต้องพึ่งการสนับสนุนจากภายนอก

ชำนาญ เครือนาค ชี้ให้เห็นปัญหาในอดีตที่ผ่านมาของกลุ่มที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองเพชรบุรีว่า แต่ละกลุ่มต่างคนต่างอยู่ และพ่อครูแม่ครูแต่ละคนก็ไม่มีรายได้ จึงมาปรึกษากันในกลุ่มว่า ทำอย่างไรให้พ่อครูแม่ครูอยู่ได้ มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ หลังจากนั้นก็พยายามนำแต่ละกลุ่มออกไปรับงานแสดงตามที่ต่างๆ แต่ปรากฏว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงกลับมาที่ต้นเหตุว่า ทำยังไงกลุ่มนาฏศิลป์ท้องถิ่นเมืองเพชรจึงจะแข็งแรง

“พ่อครูแม่ครูคือแก่นทางวัฒนธรรมที่พร้อมจะหยิบจับต้องได้ แต่การสนับสนุนทางภาครัฐและเอกชนมีน้อยมาก จะว่าเราเข้าไม่ถูกจุดก็ได้ แต่ถ้าเราจะหางานแสดง มันก็ไม่ได้มีบ่อยๆ มันไม่ได้ทำให้พวกเขาอยู่ได้ เลยมองไปถึงว่าถ้าเราเปิดการแสดงเป็นหลักเป็นแหล่ง มีทัวร์มาดู ถ้าเราเข้ามาอยู่ในวัดใหญ่ก็น่าจะอยู่ได้ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในโปรแกรมทัวร์อยู่แล้ว” ชำนาญหวังต่อไปว่า ในอนาคตหากทางภาครัฐอย่าง ททท.ให้การสนับสนุน ทางกลุ่มฯ จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตขึ้นที่นี่ ซึ่งสิ่งที่ทางกลุ่มมุ่งหวังและเป็นห่วงก็คือ ความอยู่รอดระยะยาวของศิลปินท้องถิ่น

“ถ้าคุณเข้าไปเห็นเด็กในชุมชนที่ผมไปสัมผัสแล้ว เด็กในชุมชนบางชุมชนครอบครัวมีปัญหา เห็นแล้วสะท้อนว่า เราน่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีกว่านี้ แต่มันเกินกว่ากำลังที่เราจะทำได้ เด็กยังขาดโอกาสกันเยอะมาก เด็กบางคนพ่อแม่เป็นเอดส์เสียชีวิต เด็กก็จะอยู่กันตามลำพัง ถ้าปล่อยไว้อีกเด็กก็จะไปสร้างปัญหาสังคม ทีนี้มีพ่อครูแม่ครูมาจับมาฝึกมาสอน มันก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งในช่วงเวลาที่เขามีงาน แต่ถ้าไม่มีงาน ปล่อยเขาไว้ เขาก็ต้องไปตามธรรมชาติที่ชีวิตเขาจะเป็น เราไม่สามารถเลี้ยงดูอุ้มชูเขาได้ เพียงแต่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่เห็นและพยายามดึงเขากลับ เพื่อให้สังคมของเด็กเพชรบุรีได้ถ่ายทอดศิลปะเหล่านี้ต่อไป เราไม่ได้แบมือขอใคร ขออย่างเดียวก็คือขอให้สังคมได้เห็นและให้โอกาส”

“เราต้องการให้สังคมให้โอกาสกับเด็กในชุมชนของเพชรบุรีที่ใฝ่เรียนรู้ ใฝ่อนุรักษ์ โดยผ่านทางพ่อครูแม่ครูถ่ายทอดให้ เพื่อให้เด็กพวกนี้เป็นกำลังในการสืบทอดวัฒนธรรมที่ดี” ชำนาญทิ้งท้าย

หัวใจคนเพชร

“ผมว่าสังคมทุกวันนี้ยังมีคนดีอยู่มาก คนที่อยากทำงานเพื่อบ้านเมือง คนที่อยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งผมถือว่าเป็นสรรพกำลังของแผ่นดินยังมีอยู่อีกเยอะ แต่โอกาสที่จะเข้ามาทำงาน แสดงบทบาททางสังคมกลับค่อนข้างจะมีโอกาสน้อย ทุกท่านที่มานั่งตรงนี้ผมเชื่อว่าในแต่ละท่านมีความพร้อมและมีความคิดว่า การที่จะทำงานเพื่อสังคมต้องมารวมกัน ต้องมาจับมือเป็นพันธมิตรกัน ผมว่างานแต่ละอย่างในประเทศนี่ไม่ยากถ้าเราจับมือกัน” สุวรรณสรุป

ขณะที่ชำนาญสะท้อนถึงระบบการทำงานของภาครัฐที่มองไม่ค่อยเห็นคนตัวเล็กๆ ในท้องถิ่นที่มีความตั้งใจจะทำกิจกรรมเพื่อชุมชนว่า “เราเคยเดินเข้าไปของบมาอนุรักษ์ เขาไม่ให้ ชื่อเสียงของพวกเรามันไม่มี ผมเคยเข้าไปขอ เขาบอกว่าโครงการของเรามันก็เดิมๆ เหมือนกับชาวบ้านทั่วไปที่มาขอ มันไม่เห็นตื่นเต้นเร้าใจ ทำประชาสัมพันธ์ไม่ได้ มันโฆษณาไม่ได้”

“เราไม่ได้พูดคำว่าอนุรักษ์อย่างฟุ่มเฟือยหรือเพ้อเจ้อ คนอื่นพูดคำว่าอนุรักษ์เขาได้รับการสนับสนุนอย่างเหลือเฟือ แต่เราทำกันมา 2-3 ปีแล้ว ถามว่าแข็งแรงไหม ผมบอกเลยว่าคำว่าแข็งแรงคือ เรามีพ่อครูแม่ครูมีกำลังที่แข็งแกร่ง มีใจที่มุ่งมั่น แต่ข้างในเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่ คำว่าอนุรักษ์หมายถึงหนังตะลุงยังอยู่ ละครชาตรียังอยู่ ยังอยู่ในที่นี้คือความเป็นอยู่ของคนที่สืบทอดได้มีชีวิตที่ดี ถ้าละครชาตรียังอยู่แต่ชีวิตของคนทำละครชาตรีไม่ดีเลย ผมว่าอยู่ไปแบบนี้สังคมก็จะพลอยไม่ดีไปด้วย”

สมศักดิ์ที่นั่งฟังอยู่ด้วยเสริมปิดท้ายว่า “อาจจะมีคำถามว่า เราทำงานอนุรักษ์ เราอนุรักษ์ไปทำไม เพราะวัฒนธรรมมันเคลื่อนไปข้างหน้าตามสภาพของสังคมตลอด งานพวกนี้เป็นงานเก่า สุดท้ายมันก็ตายไป สิ่งที่เราทำผมคิดว่า เวลาวัฒนธรรมมันเคลื่อนไป มันเกิดการคัดแยก ผมคิดว่าพวกเรากำลังทำหน้าที่คัดแยก สิ่งที่ดีเรารักษาไว้ สิ่งที่ไม่ดีหลายอย่างเราก็ต้องคัดแยกออกไป แล้วที่สำคัญคือว่า ถ้าเราทำให้คนรุ่นต่อไปนี้ได้เห็นว่า เราเป็นใคร มาจากไหน สิ่งเหล่านี้มันเป็นรากฐานของสังคม ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นใครเรามาจากไหน เรามองเห็นข้างหลัง เราก็จะมองเห็นข้างหน้าได้อย่างมั่นคง อย่างปัจจุบันที่เราเห็นไม่มั่นคงก็เพราะว่าเราทิ้งข้างหลังไปหมดเลย สิ่งที่เราทำก็เพื่อต้องการความมั่นคงต่อไปในระยะยาว”










กำลังโหลดความคิดเห็น