xs
xsm
sm
md
lg

นิว“ราชมังคลาฯ-ศุภชลาศัย” ปรับโฉมใหม่ระดับ“เอเอฟซี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเวทีการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติหาก ไล่เรียงความสำคัญกันแล้ว ฟุตบอลโลกเปรียบเสมือนพี่ใหญ่ ที่แฟนลูกหนังทุกประเทศทั่วโลกต่างอยากเห็นนักฟุตบอลติดธงชาติของตนเองลงบดแข้งไล่ล่าตาข่ายกันแทบทั้งสิ้น ความสำคัญรองลงมาเห็นจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับชิงแชมป์แห่งทวีป ไม่ว่าจะเป็นศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป, แอฟริกัน เนชันส์คัพ, โคปปา อเมริกา ฯลฯ

ส่วนฟากเอเชียก็มิได้น้อยหน้า มีการแข่งขันในระดับภูมิภาคซึ่งอยู่ภายใต้ความควบคุมของ “เอเอฟซี” หรือสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียอยู่หลายรายการ โดยการแข่งขันในซีกโลกตะวันออกนั้นแบ่งเป็น อีสต์ เอเชียน คัพ, เซาท์ เอเชียน ฟุตบอล เฟเดอเรชัน คัพ เวสต์ เอเชียน ฟุตบอล เฟเดอเรชัน แชมเปี้ยนชิป และที่คนไทยจะได้สัมผัสในฐานะเจ้าภาพร่วมและช่วยเชียร์นักฟุตบอลไทยในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้คือ “เอเอฟซี เอเชียนคัพ”

1.

ความสัมพันธ์ระหว่างทีมฟุตบอลไทยกับรายการระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟุตบอลโลกนั้น หากจะกล่าวว่าเป็นฝันไกลที่ยังไปไม่ถึงก็คงจะไม่ผิดความจริงไปสักเท่าไรนัก แต่ในระดับภูมิภาคอย่าง เอเชียน คัพ แล้วทีมชาติไทยโชว์ฝีเท้าไม่ได้น้อยหน้าใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2007 ที่ได้สิทธิหลุดเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายหลังไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดการแข่งขันกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอีก 3 ประเทศ อันประกอบไปด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ในฐานะเจ้าภาพแม้ว่าไทยจะได้สิทธิเข้าร่วมการแข่งขันไปโดยอัตโนมัติ แต่ก็ถูกจัดให้อยู่ในสายแข็งที่มีคู่แข่งอย่าง ออสเตรเลีย โอมาน และ อิรัก เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้แก่เหล่า สต๊าฟโค้ชในการวางเส้นทางเพื่อผ่านเข้าไปเล่นในรอบที่ 2 ไม่น้อย แต่อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นภาระหนักอึ้งของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องสภาพความพร้อมของสนามที่จะใช้ทำการแข่งขันในครั้งนี้อันได้แก่ ราชมังคลากีฬาสถาน และสนามศุภชลาศัย

นับตั้งแต่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ได้ถูกเนรมิตขึ้นจนกลายมาเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีการประเดิมใช้สนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกกับมหกรรมกีฬาระดับทวีปอย่าง เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ระหว่าง วันที่ 6-20 ธันวาคม 2541 จนถึงปัจจุบันนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ 9 ปี ที่สังเวียนแข้งอันได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรำศึกหนักมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่การแข่งขันรายการเล็กๆไปจนถึงงานใหญ่ระดับชาติ

ส่วนสนามศุภชลาศัยนั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอยู่ภายใต้การกำกับและดูแลของกรมพลศึกษา เป็นสนามที่ครั้งหนึ่งได้รับการขานชื่อว่าเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ สร้างขึ้นแล้วเสร็จในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 โดยกรมพลศึกษาได้ใช้ชื่อสนามอย่างเป็นทางการว่าสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย อันเป็นผู้ก่อตั้งกรมพลศึกษา และจากอดีตจนถึงปัจจุบันสนามแห่งนี้ผ่านงานใหญ่มาแล้วหลากหลายทัวร์นาเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ฟุตบอลคิงส์คัพ ควีนส์คัพ รวมไปถึงการแข่งขันนัดอุ่นเครื่องของทีมชาติไทย

จากอดีตจนถึงปัจจุบันทั้ง 2 สนามได้รับการปรับปรุงตามระยะการใช้งาน แต่สำหรับการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซี เอเชียน คัพ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทั้ง 2แห่งคือสนามที่ใช้ทำการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ทำให้ต้องมีการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อให้ได้สนามที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ "เอเอฟซี" กำหนด โดยก่อนหน้านี้มีข่าวสารที่ออกตามหน้าสื่อมวลชนเกี่ยวกับความพร้อมของไทยนั้นดูจะไม่เป็นที่พอใจของ “เอเอฟซี” สักเท่าไรนัก หลังการตรวจสนามถึงสองครั้ง จนทำให้มีกระแสข่าวว่าไทยอาจจะหลุดจากตำแหน่งเจ้าภาพร่วมของการแข่งขันครั้งนี้

แต่ล่าสุดหลังจากความพยายามขนานใหญ่ของทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย และ กรมพลศึกษา ทั้ง 2 สนามได้รับการบูรณะใหม่เสร็จสิ้นทันกำหนด แถมยังจัดให้มีการแข่งขันเพื่อทดลองสนามกันไปแล้วในรอบเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

2.

สนามราชมังคลากีฬาสถานแห่งค่ายหัวหมากนั้นใช้ระยะเวลา 2 เดือน ในการยกเครื่องใหม่ และกลับมาอวดสายตาแก่แฟนกีฬาอีกครั้งในเกมอุ่นเครื่องที่ขุนพลนักเตะทีมชาติไทยโชว์เพลงแข้งขอดเกล็ดมังกรเอาชนะทีมชาติจีนไป 1-0 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดยในแมตช์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทดสอบสนามอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากมีการปิดปรับปรุงไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเอเอฟซีที่เดินทางมาตรวจสังเวียนแข้งด้วยตัวเองได้เอ่ยปากชมสนามของไทยว่ามีความพร้อมกว่าเจ้าภาพชาติอื่นๆ โดยนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ประธานฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพของประเทศไทย ได้กล่าวถึงการเดินทางมาตรวจสอบสนามของเอเอฟซีในครั้งนี้ว่า

“มิเชล ไช ตัวแทนจาก เอเอฟซี ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมสนามของเจ้าภาพทั้ง 4 ชาติ พึงพอใจกับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และเมื่อดูจากทั้ง 4 ประเทศที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพแล้ว ประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุด”

การเผยโฉมหน้าของราชมังคลาฯฉบับปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ สิ่งที่ดูแปลกตาไปอย่างชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเก้าอี้ซึ่งถูกติดตั้งทั่วอัฒจันทร์ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งแน่นอนว่าการใส่ที่นั่งลงไปทำให้ความจุของ “นิวราชมังคลาฯ”

จากเดิมที่สามารถรองรับคลื่นมหาชนได้ถึง 65,000 คน ลดลงเหลือเพียง 46,000 ชีวิต

นอกจากอัฒจันทร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว สิ่งที่สะดุดตาไม่แพ้กันในเกมนี้คือพื้นหญ้าที่ดูเรียบและยังเขียวสดไปทั่วสนาม โดยการปรับพื้นหญ้าครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนมาใช้วิธีการปลูกแทนการนำแผ่นหญ้ามาปู ส่งผลให้พื้นหญ้ามีความยึดเกาะแน่นไม่หลุดง่าย ซึ่งทั้ง 2 สิ่งที่ว่ามานี้ “นายกนกพันธุ์ จุลเกษม” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยถือว่าเป็นจุดขาย ที่จะทำให้แฟนฟุตบอลได้ตื่นตะลึงตั้งแต่แรกพบแน่ โดยกล่าวว่า

“สิ่งที่จะทำให้คนดูรู้สึกประทับใจเมื่อเข้ามาในสนามราชมังคลาฯในยุคปรับปรุงใหม่ก็คือ อัฒจันทร์ ที่ผมใช้วิธีไล่สีเก้าอี้เป็นชื่อสนามเหมือนในต่างประเทศ รวมไปถึงพื้นหญ้าที่เขียวสดไปทั้งสนาม นอกจากนี้ผมกำลังศึกษาอยู่ว่าจะตัดหญ้ายังไงให้มันเป็นลวดลายดูสวยงามกว่านี้”

แม้จะมีงบประมาณในการปรับปรุงสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเพียงแค่ 50 ล้านบาท แต่”นาย กนกพันธุ์” ก็ยอมรับว่าค่อนข้างพอใจกับการปรับปรุงครั้งนี้ เนื่องจากต้องเจียดเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของห้องพักนักกีฬา, ห้องแพทย์, ห้องตรวจสารกระตุ้น, ห้องพักกรรมการ, ห้องแถลงข่าว, ห้องรับแขกวีไอพี หรือแม้แต่ห้องบรรยายเกม พร้อมกับได้รับคำชมจากเอเอฟซีว่า ราชมังคลาฯ เป็นสนามฟุตบอลที่ดีที่สุดในอาเซียน

นอกจากนี้นายกนกพันธุ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมเคยไปดูสนามกีฬาที่ญี่ปุ่นและจีน บอกตามตรงว่าสนามของเราอาจด้อยกว่าเขาในด้านเทคโนโลยี เพราะงบประมาณที่เรามีถ้าเทียบกับชาติอื่นนับว่าน้อยมาก แต่ด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้สามารถทำให้ราชมังคลาฯเป็นสนามที่ดีที่สุดในอาเซียนได้ก็ถือว่าเกินพอแล้ว”

ส่วนนายชัยภักดิ์ แสดงความมั่นใจว่าราชมังคลาฯโฉมใหม่ ดีพอที่จะสามารถจัดฟุตบอลระดับเวิลด์ คลาส ได้เลย “ระบบต่างๆที่วางไว้ในสนามเป็นระบบที่เมื่อ ฟีฟ่า หรือ เอเอฟซี ต้องการมาจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับใด ก็สามารถจัดได้ทันที ส่วนที่เกรงกันว่าฟุตบอลเอเชียนคัพ ซึ่งจะเตะกันในช่วงฤดูฝนอาจจะมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ตรงนี้ผมรับประกันได้เลยว่าปัญหาเรื่องน้ำท่วมสนามไม่มีแน่นอน”

3.

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สังเวียนแข้งจะได้มาตรฐานระดับสากล แต่ในเกมอุ่นเครื่องกับจีนที่ผ่านมา ถือว่ายังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกคือ เรื่องของการจัดการแข่งขัน ซึ่งผู้ว่าฯ กกท. เปิดเผยถึงเรื่องที่ทางเอเอฟซีท้วงติงมาว่า

“ในเกมกับทีมชาติจีนทางเอเอฟซีชี้แจงมาว่าจุดที่เราต้องปรับปรุงคือในส่วนของการจัดการแข่งขัน ซึ่งต้องให้ได้มาตรฐานเดียวกับการจัดศึกฟุตบอลโลก อย่างเช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ทางเข้าออกที่ต้องมีรั้วกั้นตั้งแต่ก่อนเข้าสนาม หรือแม้แต่ที่จอดรถวีไอพี ซึ่งระบบต่างๆ เหล่านี้จะมีการนำมาใช้ในเกมอุ่นเครื่องกับทีมชาติฮอลแลนด์ ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้”

นั่นหมายความว่า ในเกมอุ่นเครื่องระหว่าง ทีมชาติไทย กับ “อัศวินสีส้ม” ฮอลแลนด์ นอกจากจะเป็นการดึงดูดความสนใจของแฟนบอลในการมาเยือนของยอดทีมจากยุโรป ที่มีนักเตะชั้นนำระดับโลกร่วมเดินทางมาโม่แข้งอย่างมากมายแล้ว สนามราชมังคลากีฬาสถานฉบับปรับปรุงใหม่กับมาตรฐานระดับสากล รวมถึงระบบจัดการแข่งขันที่ยกระดับเทียบเท่าระดับโลก ก็ถือเป็นความน่าสนใจที่คอลูกหนังจะได้ไปสัมผัสบรรยากาศในวันนั้นว่าจะได้มาตรฐานจริงตามที่ “บิ๊กแน็ต” และผู้ว่าฯ กนกพันธุ์ การันตีเอาไว้หรือไม่

นอกจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่เป็นสนามหลักในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2007 ฟุตบอลรายการนี้ยังมีโปรแกรมที่ต้องมาฟาดแข้งกันที่ “สนามศุภชลาศัย” ด้วยแม้อดีตสนามกีฬาแห่งชาติจะถูกใช้แข่งเพียงแค่เกมเดียวในนัดสุดท้ายของรอบแรก ระหว่างทีมชาติโอมาน กับ อิรัก ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 แต่สนามศุภชลาศัย ก็ต้องเข้ารับการปรับปรุงตัวเองให้ได้มาตรฐานระดับสากลเช่นกัน หลังเปิดใช้มาเกือบ 70 ปี

การนำเก้าอี้ชุดใหม่เข้าติดตั้งพื้นที่รอบสนามตามมาตรฐานของเอเอฟซี ซึ่งส่งผลให้ความจุของสนามจะลดลงเหลือแค่ 20,000 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยจุผู้ชมได้ถึง 50,000 คน แม้การปรับปรุงจะลดพื้นที่รองรับแฟนลูกหนังลงไปมาก แต่ นายทินกร นำบุญจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (สพก.) กล่าวถึงการปรับปรุงในครั้งนี้ว่า

“ความพิเศษของสนามศุภชลาศัยโฉมใหม่ก็คือการใช้เก้าอี้สีแดงเพลิงทั่วทั้งสนาม ซึ่งผมรับรองว่าจะช่วยเพิ่มบรรยากาศในการเชียร์ได้มากขึ้น ซึ่งถึงแม้ความจุจะลดลงเหลือ 20,000 คน แต่ผมว่าในยุคปัจจุบันความจุเท่านี้ถือว่ากำลังดี”

การปรับปรุงสนามศุภชลาศัยในครั้งนี้ คงไม่ใช่จุดประสงค์หลักเพื่อใช้แข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพเท่านั้น หากแต่การทุ่มงบถึง 30 ล้านบาท ยังมีเป้าหมายเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 8-18 สิงหาคมนี้มากกว่า ซึ่งนายทินกรหวังว่า ในการแข่งขันกีฬาปัญญาชนในครั้งนี้จะสามารถเรียกบรรยากาศเก่าๆ ของสนามศุภชลาศัยกลับมาได้อีกครั้ง

ผอ.สพก.กล่าวว่า “ผมอยากจะเชิญชวนทุกคนให้มาชมการแข่งขันที่สนามศุภฯ ซึ่งเป็นสนามที่เก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และผมหวังว่าจะได้เห็นบรรยากาศการเชียร์เก่าๆกลับมาอีกครั้ง”

ถึงเวลานี้ ราชมังคลากีฬาสถาน ได้ชื่อว่าเป็นสนามที่ได้มาตรฐานระดับสากลเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ สนามศุภชลาศัย ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงเพื่อยกระดับขึ้นมาให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐานระดับโลก แต่คงจะไม่มีประโยชน์หากขาดสิ่งที่จะทำให้สนามเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่จะมาเติมเต็มก็คือแฟนกีฬาที่จะเข้าไปเชียร์และร่วมสร้างบรรยากาศภายในสนาม เมื่อถึงเวลานั้น เราคงจะเรียก ราชมังคลากีฬาสถาน และ สนามศุภชลาศัย ว่าเป็นสนามระดับโลกอย่างแท้จริง

*************
เรื่อง - เชษฐา บรรจงเกลี้ยง/ ระพีวัฒน์ เลิศวุฒิสกุล







กำลังโหลดความคิดเห็น