หากสงครามคือ ผลผลิตอันอัปลักษณ์ที่สะท้อนความรุนแรงโหดร้ายของมนุษย์ 'กีฬาโอลิมปิก' ก็น่าจะเป็นเครื่องมือแห่งสันติภาพ เป็นสนามที่ใช้ปลดปล่อยพลังงานไปในเกมกีฬา มากกว่าจะมุ่งหน้าประหัตประหารกันด้วยคมอาวุธ
นับตั้งแต่เปลวไฟของคบเพลิงโอลิมปิกถูกจุดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงเบอร์ลิน ในปี 1936 หลังจากนั้นดวงไฟที่เป็นสัญลักษณ์แห่งสามัคคีและสันติภาพของมนุษยชาติก็ถูกส่งต่อไปทั่วโลกทุกๆ สี่ปี และกำลังจะเดินทางสู่ทวีปเอเชียตะวันออกไกลเป็นครั้งที่ 3 โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่แผ่นดินมังกร ซึ่งประเทศจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008
แม้หลายคนจะคุ้นชินกับภาพการส่งต่อคบเพลิงโอลิมปิก แต่น้อยคนที่จะรู้เบื้องหลังและที่มากว่าจะเป็นคบเพลิงแต่ละอันนั้น มีความเป็นมาอย่างไร คบเพลิงที่ใช้ในการวิ่งเป็นสัญลักษณ์เปิดการแข่งขันโอลิมปิกมิได้ถูกออกแบบโดยไร้จุดประสงค์ หากแต่สื่อความหมายและซ่อนสัญลักษณ์มากมายไว้อยู่เบื้องหลังเปลวไฟนั้น
ดีไซน์ 'กรีก-เก๋' คบเพลิงโอลิมปิกยุคใหม่
คบไฟดวงแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกยุคใหม่ สว่างไสวขึ้นเป็นครั้งแรกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้นเพียง 3 ปี ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อ ปี ค.ศ. 1936 ก่อนที่กองทัพของฮิตเลอร์จะบุกโจมตีโปแลนด์ อังกฤษและฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
คบเพลิงเหล็กหล่อที่ใช้ในครั้งนี้ถูกออกแบบโดยช่างหล่อ ชื่อ Lemcke ที่ด้ามของคบเพลิง จารึกคำว่า "Fackelstaffel-Lauf Olympis-Berlin 1936" โดยมีสัญลักษณ์วงแหวนแห่งโอลิมปิคทั้ง 5 และ นกอินทรีย์เยอรมัน รวมอยู่ด้วย ขณะที่ส่วนฐานจะมีรูปเส้นทางที่ใช้วิ่งจากโอลิมเปียสู่เบอร์ลิน
สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งถัดมาที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว, เฮลซิงกิ และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษต้องระงับไป จนกระทั่งสงครามสงบ จึงมีการจัดโอลิมปิกขึ้นอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ในปี 1948 ในการวิ่งคบเพลิงครั้งนี้ได้จัดให้มีการใช้คบเพลิงถึง 3 แบบ ในแต่ละช่วง คือ คบเพลิงแบบมาตรฐาน, คบเพลิงแบบแก๊สที่ผู้ถือจะใช้ระหว่างที่ต้องเดินทางข้ามทะเล และ คบเพลิงสำหรับผู้วิ่งคบเพลิงคนสุดท้าย
ตัวคบเพลิงจารึกคำว่า "XIV OLYMPAID LONDON 1948" และทำจากสแตนเลส มันถูกสร้างมาเพื่อการวิ่งช่วงสุดท้ายของการเดินทาง คือ ช่วงวิ่งเข้าสู่สนามกีฬา และ ใช้แมกนีเซียมเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟ เพื่อให้แสงสว่างที่มองเห็นได้ไกล เหนือขึ้นไปบนสนามกีฬา หรือ แม้จะต้องมองในแสงแดดที่จัดมากก็ตาม
คบเพลิงโอลิมปิกครั้งถัดมาที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในปี 1952 เป็นคบเพลิงรูปกรวย จารึกคำว่า "XV Olympia Helsinki 1952" ที่ฐานของกรวย และ คำว่า "Helsinki Helsinfors" ที่วงแหวนวงล่างสุดของคบเพลิง และตกแต่งด้วยลายมงกุฎใบลอเรล (Layrel) ที่ตรงกลางและด้านในของกรวย ตรงข้าม ก็ตกแต่งด้วยลายสัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิค ส่วนด้ามทำจากไม้เคลือบเงา
ส่วนคบเพลิงที่ใช้ในโอลิมปิกปี 1956 ที่กรุงเมลเบิร์นและสต็อคโฮล์มเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ใช้แบบที่เอามาจากการแข่งขันโอลิมปิค ที่ ลอนดอน ในปี 1948 โดยออกมาให้มีลักษณะของถ้วยเหล้าองุ่น ห่วงโอลิมปิค และ จารึกคำว่า "XVI Olympaid Melbourne 1956" คบเพลิงสำหรับการแข่งขันขี่ม้าที่สต็อกโฮล์ม ในปีเดียวกันนี้ก็ออกแบบมาในแบบเดียวกัน
ช่วงต้นนี้ คบเพลิงยังถูกออกแบบในลักษณะอนุรักษ์นิยมอยู่ อาทิ คบเพลิงโอลิมปิคที่กรุงโรม ในปี 1960 ที่เจตนาให้ออกแบบมาคล้ายคบเพลิงแบบดั้งเดิม (Classic Model)เพื่อเป็นการระลึกถึงอนุสรณ์ของโอลิมปิค และ ที่ฐานจารึกคำว่า "Giocchi della XVII Olympaid" ยุคต่อมาจึงเริ่มมีการประยุกต์เทคนิคสมัยใหม่ เช่น คบเพลิงโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ปี 1964 ที่ทำมาจากกระบอกลูกสูบ เคลือบด้วยแสตนเลส และ ใช้ดินประสิวเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ด้ามถือถูกออกแบบมาให้เข้ากันกับตัวคบเพลิง โดยทำจากอลูมิเนียมซึ่งมีน้ำหนักเบา เพื่อจะได้ไม่ทำให้คบเพลิงหนักไปกว่าเดิม หรือคบเพลิงโอลิมปิกที่เม็กซิโก ปี 1968 ที่ริเริ่มออกแบบเป็นรูปกัลกัลป์ตามสัญลักษณ์ของการแข่งขันครั้งนั้น
เห็นได้ว่าอลูมิเนียมถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำคบเพลิงมากขึ้นในโอลิมปิกครั้งหลังๆ เช่น โอลิมปิกที่มอนทรีอัล ในปี 1976 ทีมงานกราฟฟิกและดีไซน์ของคณะกรรมการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ได้คัดเลือกแบบใช้งานได้สะดวกที่สุดเป็นหลัก โดยต้องทำจากวัสดุน้ำหนักเบา ซึ่งได้เลือกใช้อลูมิเนียมในที่สุด เพราะนักกีฬาแต่ละคนต้องวิ่งโดยถือคบเพลิงคนละ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังออกแบบส่วนเผาไหม้ของคบเพลิงให้มีสีดำ เพื่อจะได้เห็นได้ชัดเจนเมื่อถ่ายรูปออกมา
นอกจากน้ำหนักเบาแล้ว ความสวยงามก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งในการออกแบบ เช่น คบเพลิงโอลิมปิกที่ลอสแองเจลลิสในปี 1984 ด้ามจับเป็นหนังผสมผสานกับวงแหวนโลหะ และมีคำบรรยายเขียนว่า "Games of the XXIII Olympiad Los Angeles 1984" และมีรูปภาพของ The Memorial Coliseum อยู่บนคบเพลิง รวมทั้งมีคำขวัญอยู่บนคบเพลิงว่า "Citius Altius Fortius" เป็นภาษาโรมัน 3 คำ แต่ละคำสื่อถึงนักกีฬาโอลิมปิก ดังนี้ Citius (swifter) ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุด Altius (higher) ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุด Fortius (stronger) ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องแข็งแกร่งที่สุด
น่าสังเกตว่า วัฒนธรรมกรีกอันเป็นต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิกมีอิทธิพลในการออกแบบคบเพลิงในการแข่งขันแต่ละครั้ง เช่น คบเพลิงโอลิมปิกแอตแลนตา ในปี 1996 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคบเพลิงที่เรียบง่ายในสมัยโบราณ - กลุ่มของลายเส้นผูกกันเป็นเกลียวคล้ายขลุ่ย อีกทั้งยังสะท้อนถึงลายเส้นคลาสสิคแบบกรีกโบราณอีกด้วย ตัวคบเพลิงประกอบด้วยเส้นอลูมิเนียม 22 เส้น (แต่ละเส้นหมายถึงการแข่งขันโอลิมปิกแต่ละครั้ง) วงแหวนสีทองอันแรกจารึกคำว่า "Atlanta 1996" และสัญลักษณ์ของโอลิมปิกเกมส์ วงแหวนอันที่สองเป็นชื่อของเมืองเจ้าภาพที่จัดงานครั้งนี้ คบเพลิงนี้เป็นคบเพลิงที่ยาวที่สุดตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นต้นมา และเป็นอันเดียวที่ด้ามจับถูกดีไซน์ให้อยู่ตรงกลาง
ใช่ว่าจะมีแต่คบเพลิงที่ถูกออกแบบให้มีสไตล์กรีก-โรมันอย่างเดียวเท่านั้น คบเพลิงโอลิมปิกที่มีดีไซน์ทันสมัยก็มีหลายอัน เช่นคบเพลิงโอลิมปิกปี 1992 ซึ่งถูกสร้างสรรโดยดีไซน์เนอร์ชาวบาร์เซโลน่า ชื่อ Andre' Ricard รวมถึง คบเพลิงโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ ปี 2004 ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้รับรับแรงบันดาลใจมาจากใบมะกอก โดยแบบของคบเพลิงนี้วาดมาจากลายเส้นของใบมะกอกได้อย่างลงตัว ดีไซน์ที่ดูมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ถูกเลือกมาเพื่อช่วยยกระดับของประกายไฟ การวางรูปแบบทั้งหมดของคบเพลิงถูกสร้างออกมาให้เห็นความต่อเนื่องของประกายไฟมายังตัวคบเพลิง และไม่ใช่เพียงแต่ต่อเนื่องกับเปลวไฟเท่านั้น แต่มันยังต่อเนื่องมาจนถึงมือของผู้ถือคบเพลิงอีกด้วย ด้วยน้ำหนัก 700 กรัม และ ความสูงที่ 68 เซนติเมตร ทำจากโลหะ แมกนีเซียม และ ไม้ต้นมะกอกสัญลักษณ์ของสันติภาพ นับเป็นคบเพลิงที่มีดีไซน์ทันสมัยแต่ยังสื่อความหมายของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคได้อย่างครบถ้วน
แต่ครั้งแรกที่ประเทศเจ้าภาพเริ่มสอดแทรกสัญลักษณ์และวัฒนธรรมของตนลงในคบเพลิงโอลิมปิก คือ โอลิมปิกที่กรุงโซล ปี 1988 ที่เกาหลีใต้ออกแบบให้มีตราสัญลักษณ์รูปวาดลายเส้นแบบเกาหลีอยู่บนด้ามคบเพลิงด้วย และคบเพลิงโอลิมปิคที่ซิดนีย์ ปี 2000 ที่ได้แรงบันดาลใจสำหรับการสร้างคบเพลิงครั้งนี้มาจาก สถาปัตยกรรม 'ซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์', สายน้ำสีน้ำเงินของมหาสมุทรแปซิฟิกและเส้นโค้งของบูมเมอแรง ตัวคบเพลิงจึงรวมกันเป็นสามชั้น หมายถึง ดิน น้ำ และ ไฟ
และล่าสุด คบเพลิงโอลิมปิคที่จีนจะเป็นเจ้าภาพในปี 2008 นี้ นับเป็นคบเพลิงที่มีดีไซน์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ยิ่ง นับตั้งแต่สีสันสดใสที่เลือกใช้สีแดงอันเป็นสีมงคลของคนจีน ไปจนถึงลวดลายและรูปทรงที่สะท้อนถึงความเป็นจีนออกมาบนตัวคบเพลิง
"เมฆแห่งคำสัญญา" คบเพลิงแห่งสันติภาพแดนมังกร
"เมฆแห่งคำสัญญา" คือชื่อแนวคิดหลักของคบเพลิงโอลิมปิคปี 2008 ที่เพิ่งเผยโฉมไปเร็วๆ นี้ หลังจากทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิค ครั้งที่ 29 ของกรุงปักกิ่ง (BOCOG) ได้ทำการคัดเลือกจากจำนวนผู้เสนอแนวคิดกว่า 300 ราย จนกระทั่งในที่สุด ผลงานการออกแบบคบเพลิงที่ได้รับการคัดเลือกก็คือ คบเพลิงทรงม้วนสาส์น ของทีมนักออกแบบของเลอโนโว บริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อดังของประเทศจีน ที่เลือกสื่อสัญลักษณ์ของความเป็นจีนผ่านแนวคิดในการออกแบบ
ทีมนักออกแบบของเลอโนโว ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของม้วนสาส์นของชาวจีนสมัยโบราณ และได้นำมาดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้น โดยเน้นที่การใช้วัสดุ และสร้างสรรค์ขึ้นให้มีลักษณะคล้ายกับมือทั้งสองข้างประสานเข้าด้วยกัน คบเพลิงสำหรับโอลิมปิค เกมส์ 2008 กรุงปักกิ่งนี้จึงมีความแตกต่างจากคบเพลิงโอลิมปิค ครั้งที่ผ่านๆ มา
กลุ่มก้อนเมฆมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง และมักพบเห็นได้เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรมและภาพวาด เครื่องเรือน และ นิทานปรัมปรา รูปลักษณ์ของ "เมฆแห่งคำสัญญา" เป็นตัวแทนของศิลปวัฒนธรรมของจีนที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา กลุ่มเมฆที่ได้ออกแบบให้วางตัวยาวไปกับพื้นหลังสีเงิน เป็นสีแดงสด ซึ่งเป็นโทนสีเดียวกับที่ใช้ในงานศิลปะและอันยิ่งใหญ่ของประเทศจีน รวมถึงประตูสู่เมืองต้องห้าม และมรดกทางวัฒนธรรมของจีนอื่นๆ อีกมาก
เหยา หยิงเจี๋ย ประธานบริษัท เลอโนโว กล่าวว่า "สีแดงสด แสดงถึงสปิริตแห่งความเป็นชนชาติ และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่ถือกำเนิดมาแต่ครั้งสมัยโบราณ รูปแบบของเมฆสะท้อนให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของอารยธรรมแห่งโลกตะวันออก ปรัชญาของชาวจีนมักจะไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับลักษณะของเมฆ ที่มีความสำคัญ แต่ไม่จำเป็นว่าจะสัมผัสได้เสมอไป ก้อนเมฆยังเป็นตัวแทนแห่งความอิสระ สามารถรวมตัวเกิดขึ้นและเดินทางไปในทิศทางใดก็ได้"
เบื้องหลังแรงบันดาลใจในการออกแบบ "เมฆแห่งคำสัญญา" (Cloud of Promise) มาจากการประชุมระดมความคิดเบื้องต้น ซึ่งจัดขึ้นโดยเลอโนโว เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงสิ่งท้าทายต่างๆ ในการออกแบบคบเพลิงที่สามารถแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความเจริญทางอารยธรรมของจีนที่มีมายาวนานกว่า 5,000 ปี ผู้ร่วมประชุมรายหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ประเทศจีนได้ให้ไว้กับโลก คือ การเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์สาส์นกระดาษ ซึ่งลักษณะศิลปะม้วนกระดาษแบบโบราณที่คิดค้นเมื่อ 1,000 ปีก่อน น่าจะนำมาใช้เป็นโมเดล ผู้ร่วมประชุมรายนี้ยังได้ม้วนกระดาษ ราวกับเป็นม้วนสาส์นที่ใช้ในอดีตและชูขึ้น ซึ่งกลายเป็นประกายความคิดแรกของการออกแบบคบเพลิงในเวลาต่อมา
เหยา หยิงเจี๋ย ผู้อำนวยการ ศูนย์อินโนเวชั่น ดีไซน์ เซ็นเตอร์ ของ เลอโนโว ที่กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า "กระดาษม้วนเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของชาวจีน เนื่องจากชาวจีนโบราณนิยมถ่ายทอดงานเขียนและภาพวาดบนกระดาษจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เสมือนเป็นการเก็บรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน"
ไม่เพียงแต่กระบวนการออกแบบคบเพลิงจะตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกับการออกแบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ แล้ว สมาชิกในทีมออกแบบทั้ง10 คน ของศูนย์ออกแบบเลอโนโว ซึ่งล้วนแต่เคยได้รับรางวัลในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์มาแล้ว ก็ทุ่มเวลายาวนานกว่า 10 เดือนให้กับกระบวนออกแบบและการลงรายละเอียดทางด้านเทคนิค รวมถึงการค้นหาบทสรุปในการหลอมรวมสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมจีนเข้ากับสปิริตของโอลิมปิค เกมส์ ผลลัพธ์ก็คือ "เมฆแห่งคำสัญญา" คบเพลิงที่ไม่ว่าจะเป็นสีสัน รูปทรง ลวดลาย และผิวสัมผัส ล้วนแต่สะท้อนถึงประเพณีและประวัติศาสตร์ของโอลิมปิค เกมส์ 2008 กรุงปักกิ่ง และประเทศจีน ได้เป็นอย่างดี
ในขั้นตอนการออกแบบคบเพลิงครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบของเลอโนโวมากกว่า 30 คน รวมถึงทีมหลักทั้ง 10 คน ซึ่งทำให้ทีมออกแบบนี้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นจากเยอรมัน สิงคโปร์ สหรัฐ อเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อิตาลี และจีน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของนักออกแบบแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งมีตั้งแต่กราฟฟิค ดีไซน์ เคมี วิศวกรรม วัสดุศาสตร์ มนุษยวิทยา ศิลปศาสตร์ และประวัติศาสตร์ และเป็นเวลาหลายเดือน ที่ทีมงานทุกคนต่างร่วมกันเบรนสตอร์มอย่างหนัก เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นถึงรูปแบบของคบเพลิงที่ต้องการจากมุมมองที่แตกต่างกัน
ความลงตัวอย่างเป็นธรรมชาติ : ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
หัวใจในการออกแบบคบเพลิงก็คือความเคารพต่อความสมดุลย์ของชาวจีนที่มีมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งแนวคิดนี้ถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์ "หยิน" และ "หยาง" แนวคิดนี้ยังมีส่วนสำคัญต่อการออกแบบคบเพลิงในทุกด้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ทีมเลอโนโวพยายามที่จะสร้างความสมดุลย์ระหว่างผู้ถือคบเพลิงกับตัวคบเพลิงเอง ด้วยการทำให้คบเพลิงมีน้ำหนักเบา และรับกับมือของผู้ถืออย่างสมบูรณ์ที่สุด แนวคิดนี้ทำให้ทีมออกแบบได้เสนอทางออกด้วยการนำยางมาใช้เป็นวัสดุสำคัญในการประกอบด้ามถือตรงบริเวณสีแดง ทำให้ด้ามถือนุ่ม และให้ความรู้สึกอุ่น การนำยางมาใช้นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการทำคบเพลิงโอลิมปิค มีใช้แต่เฉพาะในงานศิลปะและอุตสาหกรรมเท่านั้น
"เวลาออกแบบคอมพิวเตอร์ เราจะคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้เป็นสิ่งแรก ทั้งในด้านขนาด น้ำหนัก องค์ประกอบในด้านความปลอดภัย การวางมือใช้งานแป้นพิมพ์ การป้องกันการตกหล่น เป็นต้น และนี่ก็คือสิ่งที่พวกเรานำมาใช้กับการออกแบบคบเพลิง เพื่อให้ได้คบเพลิงที่สวยงามต่อผู้ที่ได้เห็น และถนัดมือมีน้ำหนักเบาสำหรับผู้ที่ต้องถือ" เหยา หยิงเจี๋ย กล่าวเสริม
ตัวคบเพลิงได้รับการออกแบบให้ดูทันสมัยด้วยการใช้โลหะผสมอลูมินัมและแมกนีเซียม มีขนาด 720 x 50 x 40 มิลลิเมตร และยังมีน้ำหนักเบามาก เพียง 1,000 กรัม หรือ 2.21 ปอนด์ คบเพลิงได้รับการออกแบบให้สามารถรักษาเปลวไฟให้จุดติดได้นานอย่างน้อย 15 นาที โดยที่ความสูงของเปลวไฟเมื่อไม่มีลมจะอยู่ที่ 25 เซ็นติเมตร หรือ 9.85 นิ้ว โดยประมาณ
เพื่อแสดงออกถึงการผสมผสานทางอารมณ์ของศิลปะจีนดั้งเดิมกับการออกแบบสมัยใหม่ ตัวคบเพลิงจึงใช้สีพื้นหลักเป็นสีแดงสดและสีเงินสว่าง สำหรับด้ามจับยาวสีแดง สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดถึงการเลือกใช้วัสดุในการทำพื้นผิวให้นุ่ม เพื่อให้เหมาะกับการจับถือสำหรับผู้ถือคบเพลิง ที่จุดกึ่งกลางของคบเพลิงซึ่งเป็นปลายด้านบนของด้ามจับ สีจะเปลี่ยนเป็นสีเงินโดยมีลายเส้นละเอียดสีแดงที่เป็นลวดลายรูปกลุ่มเมฆบนพื้นผิวตลอดความยาวของคบเพลิง
จุดที่ด้ามจับและตัวคบเพลิงมาชนกันเรียกว่าเป็นเส้นกึ่งกลาง ซึ่งเป็นลักษณะการออกแบบที่สำคัญที่ใช้กันในงานศิลปะและงานออกแบบทุกประเภทของประเทศจีน ทุกเมืองใหญ่ในประเทศจีนจะมีปรากฏให้เห็นถึงหลักปรัชญานี้ ยกตัวอย่างเช่น ใจกลางกรุงปักกิ่งที่มีแนวเส้นกึ่งกลางตัดผ่านเป็นจุดที่เมืองต้องห้ามได้ถูกสร้างขึ้นมา
กว่าจะมาเป็นคบเพลิงโอลิมปิค
ทีมผู้ออกแบบคบเพลิงอันประกอบด้วยนักเคมี ช่างศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุ นักออกแบบ และวิศวกร ต้องระดมสมองและทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาทางออกของปัญหาทางเทคนิคในทุกกรณี เพื่อให้ได้ผลงานที่ไม่ซ้ำใคร คบเพลิงโอลิมปิค เกมส์ กรุงปักกิ่ง ปี 2008 จะต้องเป็นทั้งงานศิลปะและสามารถทำงานได้ดีอีกด้วย
ขั้นตอนการผลิตจริงของคบเพลิงสร้างความท้าทายในด้านเทคนิคแก่ทีมออกแบบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมงานต้องหาวิธีรักษาสภาพของสีหลักทั้งสองสี ได้แก่ สีเงินและสีแดง ไม่ให้ปนเปื้อนกัน ในขณะที่ต้องรักษาความเข้มเด่นชัดของแต่ละสีอย่างชัดเจน และความสว่างชัดของลายเส้นอันนุ่มนวลของกลุ่มเมฆเอาไว้ ทีมออกแบบจึงได้พัฒนาขั้นตอนการทำงานต่างๆ ขึ้นเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้
ในขั้นตอนแรก ลายเส้นของกลุ่มเมฆจะถูกสลักนูนบนอลูมินัมขัดเงาที่บริสุทธิ์และคุณภาพดีที่สุด เพื่อสร้างความเด่นชัดระหว่างพื้นสีและกลุ่มเมฆ แม้รอยเล็กๆ และความไม่สมบูรณ์ต่างๆ จะต้องถูกขัดออกไปให้หมดก่อนที่จะทำการพ่นสีลงไป หลังจากทำการขัดเงาแล้ว คบเพลิงทั้งอันจะถูกพ่นสีเป็นสีเงิน และถูกเคลือบบางๆ ด้วยกาวชนิดพิเศษ ฟิล์มหลายชั้นที่มีลายเส้นรูปเมฆจะถูกนำมาติดเข้าบนกาวดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก คือการใช้แสงเข้าแกะสลักเป็นลายเส้นบนคบเพลิงที่ได้พ่นสีแล้ว คล้ายกับการถ่ายภาพในปัจจุบัน แสงจะถูกส่องลงไปบนส่วนที่โปร่งแสงของฟิล์มเพื่อให้กาวแข็งตัวอยู่บนพื้นผิวของสีเงิน ลายเส้นรูปเมฆที่ถูกสลักลงไปบนผิวของฟิล์มจะบังแสงมิให้ผ่านลงไป ทำให้กาวใต้รูปกลุ่มเมฆไม่แข็งตัว
ขั้นตอนต่อไปคือการค่อยๆ ลอกฟิล์มออกและค่อยๆ ล้างเอากาวที่ไม่แข็งตัวออกไปด้วยน้ำ เหลือไว้เพียงลายเส้นรูปกลุ่มเมฆ ตามด้วยขั้นตอนทางเคมีอันซับซ้อน เพื่อทำให้พื้นผิวเรียบและกัดเซาะเอาสีเงินภายใต้ลายสลักรูปเมฆออก เหลือไว้เพียงลวดลายสลักรูปกลุ่มเมฆที่เรียบและสมบูรณ์ ขั้นตอนสุดท้ายคือส่วนที่ถูกกัดเซาะออกรูปลายเส้นกลุ่มเมฆจะถูกพ่นสีทับด้วยสีแดงเคลือบแล็คเกอร์แบบจีน ก่อให้เกิดลวดลายสลักรูปกลุ่มเมฆด้วยลายเส้นอันนุ่มนวลสีแดง ขั้นตอนอันยุ่งยากเหล่านี้เป็นการป้องกันมิให้สีทั้งสองไหลเข้ามาผสมกันหรือจืดจางหายไป
ส่วนด้ามจับของคบเพลิงจะได้รับการพ่นสีที่มีส่วนผสมพิเศษของสีแดงแล็คเกอร์และสียาง ด้ามจับสีแดงจะเริ่มต้นที่ตรงกึ่งกลางของตัวคบเพลิงพอดี ซึ่งเป็นตัวแทนของความสมดุลย์ทางธรรมชาติตามหลักหยิน-หยาง ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวัฒนธรรมจีน
กว่าจะสำเร็จมาเป็นคบเพลิง เปลวไฟสัญลักษณ์ที่สื่อถึงประเทศจีนที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคปี 2008 นี้ มิใช่เรื่องง่าย การวิ่งคบเพลิงเพื่อเดินทางผ่านทวีปต่างๆ ทั้ง 5 ทวีป รวมทั้งกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยในช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า จึงเป็นการวิ่งเพื่อส่งผ่านความหมายแห่งสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายในการแข่งขันครั้งนี้ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก