xs
xsm
sm
md
lg

FILM’S FILMDOM โลกภาพยนตร์ของผู้กำกับรุ่นเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในจังหวะชีวิตที่เด็กธรรมดาๆ ต้องกลายมาเป็นผู้กำกับ ต้องยอมรับว่าหลายคนอาจกำลังหมั่นไส้เด็กหนุ่มคนนี้!!!!! ความหมายถูกต้องตามนั้นทุกคำพูด อีกทั้งเจ้าตัวยังออกปากบอกว่าเห็นด้วย

เรากำลังจะพาคุณไปรู้จักกับเด็กหนุ่มในวัย 13 ปี ที่สร้างความสุขให้แก่ตนเองโดยการใช้เวลาว่างที่มีเขียนบทภาพยนตร์ จับกล้องถ่ายทำ และกำกับหนังสั้นด้วยตนเอง จนทำให้นามว่า เปรมปภัทร ผลิตผลการพิมพ์ หรือ ฟิล์ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ถูกจั่วหัวว่าเป็นผู้กำกับหนังสั้นที่มีอายุน้อยที่สุดในเมืองไทยไปแล้ว

ซึ่งหากจะพูดเรื่องแบบนี้ในแถบประเทศโซนฝั่งยุโรปอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเหลือเชื่อมากนัก แต่สำหรับในบ้านเราต้องบอกว่าหายาก!

ฟิล์มเป็นเด็กหนุ่มเรียนดีที่อาจารย์เห็นคะแนนเฉลี่ยรวมแล้วต้องบอกว่าไม่อยากให้เลือกเรียนในวิชาทำอาหาร โดยให้ย้ายไปศึกษาเรื่องราวของวิทยาศาสตร์แทน ซึ่งดูท่าทางเขาคงไม่ค่อยพอใจกับการตัดสินใจของอาจารย์ครั้งนี้เท่าไหร่นัก แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ นับจากนี้มาดูกันให้รู้แล้วรู้รอดกันว่า ชีวิตของเด็กเรียนดีวัย 13 ปีกับการหันเหมากำกับภาพยนตร์สั้นนั้นจะ ‘แอ็กชั่น’ ‘ดราม่า’ หรือ ‘คอมมาดี’ ขนานไหนกัน?

*เมื่อมนุษย์ตัวเล็กๆ อยากก้าวเป็นผู้กำกับ

เรื่องมันเริ่มต้นจากความชอบ และความสนใจในงานภาพยนตร์มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ในขณะที่ย้อนกลับไปประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นในบ้านเรากำลังเดินทางถึงขีดสุด เด็กหนุ่มจึงตระเวนพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายคอร์ส และเพราะเหตุผลนี้เองทำให้ทุกครั้งที่เด็กตัวเล็กๆ คนนี้ได้ลงมือทำอะไรที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ หัวใจของเขามักจะพองโตมากอย่างไม่น่าเชื่อ!

“วันหนึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องมากำกับหนัง และกลายมาเป็นผู้กำกับหนังที่มีอายุน้อยที่สุดของเมืองไทยในเวลานี้ ต้นเหตุจากความเบื่อหน่ายในช่วงปิดเทอม จึงชวนน้องๆ มาเปิดอินเตอร์เน็ตหาโครงการดีๆ เพื่อจะเข้าไปทดลองล่ารางวัล สุดท้ายก็เจอโครงการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยจึงอยากมีส่วนร่วม เพราะเวลาที่ผมได้ทำโปรเจกต์อะไรสักอย่างเหมือนเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขอย่างหนึ่งเช่นกัน

“แต่ครั้งแรกที่เข้ารวมประกวดและได้รางวัลอย่างชัดเจนคือ ผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘ที่แท้’ ในโครงการหนังยอดแย่ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้จัด โดยผมไม่เคยคิดเลยว่าจะทำหนังให้ออกมาดูแย่ แต่ที่ต้องตั้งคอนเซ็ปต์นี้ไว้ เพราะคิดว่าการที่เราจะสร้างหนังสักเรื่องนั้นไม่จำเป็นที่จะทำให้ออกมามีองค์ประกอบครบทุกอย่างก็ได้ เรียกได้ว่าฟรีสุดๆ เพื่อให้หลุดพ้นออกมาจากกรอบเดิมๆ สุดท้ายกลายเป็นว่าได้รางวัลจูเนียร์ยอดแย่มาครอง


“สำหรับหนังเรื่องแรกของผมก็ไม่รู้จะประเมินอะไร ยังไง แต่กับรางวัลหนังยอมแย่นี้มันคงเหมือนกับราสเบอรีเน่าคือ คล้ายๆ กับเป็นรางวัลที่ห่วยๆ ของฮอลลีวู้ด ซึ่งตัวผมมีความภูมิใจในด้านหนึ่งคือสามารถทำหนังมาแล้วได้รางวัล แต่รางวัลที่ได้นั้นก็เป็นรางวัลยอดแย่ แต่นั่นมันก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้รางวัลแล้วหนังจะดี” ฟิล์มเล่าถึงความเป็นมา และโอกาสที่ทำให้เขาได้ก้าวมายืน ณ จุดนี้

*‘ก็เหมือนเดิม’ กลายเป็นหนังแจ้งเกิด

หลังจากภาพยนตร์สั้นยอดแย่เสร็จสิ้น ฟิล์มยังคงฝังตัวเองอยู่กับการผลิตหนังสั้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนสามารถคลอดหนังสั้นเรื่องที่ 2 ที่แจ้งเกิดความเป็นฟิล์มอย่างเต็มตัวนั่นคือ ‘ก็เหมือนเดิม’ โดยหนังสั้นเรื่องนี้มีฉากแสดงถึงความอึดอัดผสมความอบอุ่นของครอบครัวอยู่ ซึ่งฟิล์มบอกว่า หนังอาจจะดูน่ารัก แต่บางครั้งเขากลับมองว่าการปล่อยให้เด็กอยู่บ้านคนเดียว เป็นอะไรที่ร้ายแรงมาก...

“เรื่องนี้สื่อถึงครอบครัวที่ลูกมีความคาดหวังว่าวันหนึ่งแม่จะพาไปเที่ยวทะเล แต่แม่กลับไม่เคยมีเวลาว่างเลย ในทุกวันเด็กคนนั้นก็จะปฏิบัติทุกอย่างซ้ำซาก เหมือนเดิมโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นตื่นนอน โทรศัพท์ กินข้าว ซื้อขนมแล้วแม่ก็กลับมาเพียงแค่เคลียร์ค่าใช้จ่ายให้เท่านั้น ซึ่งหมดสิ้นเรื่องความสัมพันธ์ไปเลย คล้ายๆ กับภาพยนต์เรื่อง NoBodyknow ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นความจริงของครอบครัวส่วนใหญ่ในสังคมเวลานี้สักประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ได้เลย”

“’ก็เหมือนเดิม’ กลายเป็นหนังซึ่งผมภาคภูมิใจมาก เป็นหนังที่ดูแล้วประทับใจ มีความสุข ซึ่งได้เข้ารอบ 1 ใน 9 โครงการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยเมื่อปีก่อน และต่อมาเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษชื่อว่า Jury Prize จาก Movie Mania ของจุฬาฯ" เด็กหนุ่มกล่าวพร้อมแสดงสีหน้าแห่งความปีติ

ตลอดเวลาที่ถ่ายทำหนังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้กำกับวัยเด็กที่ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชนคนนี้ มักจะหาวิธีทางที่ง่าย และสะดวก เพื่อนำมาเป็นเทคนิคใหม่ๆ สำหรับการเรียนรู้ของตัวเขาเอง ซึ่งในความจริงแล้วจะพบว่าการทำภาพยนตร์สักเรื่องอาจไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด

“เราไม่ควรมองอะไรให้มันมาก และยาก สิ่งสำคัญคือถ้าอยากจะทำอะไรแล้วควรลงมือทำ แล้วเราจะรู้เองว่ามันง่าย หรือยาก และเป็นอย่างที่คิดไว้หรือไม่

“ซึ่งกล้องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับการถ่ายทำ กล้องอะนาล็อกตัวแรกของชีวิตที่คุณอาเป็นผู้ซื้อให้ถือเป็นแรงบันดาลใจที่แท้จริงให้เขาหันมาสนใจงานทางด้านนี้ เวลาถ่ายทำผมใช้กล้องอะนาล็อคกใช้วิธีการตัดต่อในตัวกล้อง ถ้าถ่ายผิดก็จะต้องย้อนกลับแล้วถ่ายใหม่ แล้วที่สำคัญคือต้องถ่ายเรียงเฟรมด้วย ตัดเรื่องเทคนิคของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกไปเลย ซึ่งผมรู้สึกชอบมันตรงระยะเวลา ประสิทธิภาพ และความคมชัด ซึ่งผมคิดว่ามันดีกว่ากล้องดิจิตอลตัวใหม่ของผม”ฟิล์มเล่าให้ฟัง

*จิตวิญญาณความเป็นผู้กำกับ

จิตวิญญาณความเป็นผู้กำกับได้ซึมลึกอยู่ในร่างกายฟิล์มตั้งแต่เล็กๆ สมัยอยู่ชั้นประถมปลายครูและเพื่อนๆ ร่วมชั้นเห็นแววถึงกับมอบโอกาสให้ฟิล์มได้กำกับและแสดงละครเวทีแบบเด็กๆ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการที่สูงกว่าเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันทำให้ทุกครั้งที่ฟิล์มกล้าครีเอตงาน และตั้งใจทำทุกชิ้น จนเขาสามารถสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ตนเองได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากรูปแบบของการนำเสนอรายงานที่มักจะดูโอเวอร์ และโดดเด่นกว่าเพื่อนๆ เสมอจนคุณครูพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจดจำเด็กหนุ่มคนนี้ได้ดี...

“เรื่องกล้าทำ หรือไม่กล้าทำผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่การที่คนเราจะมีความคิดพุงกระฉูดขนาดนี้ต้องอยู่ที่เทคนิคการเรียนรู้สภาพแวดล้อม และสิ่งต่างๆ ที่เราเจอ

“มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปส่งน้องเรียนศิลปะในหมู่บ้านกับอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อว่าอาจารย์สุพรรณ อินสมตัว แล้วอาจารย์ท่านให้ผมลองวาดรูปให้ดู แล้วเขาบอกว่ารู้สึกชอบใจเลยชักชวนผมไปเรียน ซึ่งผมก็ต้องเสียเงินสามพันบาท ซึ่งหากถามว่าเงินจำนวนสามพันบาทคุ้มมั้ยเพื่อแลกกับการได้รับรู้ความคิดเขา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก เพราะสิ่งนี้ต้องเรียกว่าเป็นเหมือนบันไดก้าวสำคัญของชีวิตผมในอนาคตเลย

“ผมมองอาจารย์ท่านนี้เป็นไอดอลของผมเลย เพราะความคิดเขาแปลกออกไป ซึ่งถ้ามีคนอย่างนี้อยู่สังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น โดยท่านจะบอกเสมอว่าปกติเวลาที่เราทำงานศิลปะ ไม่ต้องแคร์ใครทั้งสิ้น แล้วศิลปินก็จะดูศิลปินกันเอง คือทำทุกอย่างที่เราอยากทำ ทำทุกอย่างตามความชอบ เพราะชาวบ้านมองภาพศิลป์กับศิลปินมองภาพศิลป์จะไม่เหมือนกัน แล้วท่านยังมีแนวคิดอื่นๆ อีกมากที่ผมชอบ อย่างเช่นท่านมีเชื่อมันในศักยภาพของเด็กๆ ทุกคน ว่าเด็กทุกคนเกิดมามีศักยภาพเต็มที่ แต่เราจะดึงสิ่งที่มีอยู่นั้นออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนกัน

“ทุกวันนี้ผมจึงเชื่อมันในศักยภาพของตนเองมากที่สุด แล้วผมต้องทำในสิ่งที่ผมอยากทำ” ฟิล์มกล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งแต่สีหน้านั้นแสดงออกถึงความหนักแน่น

*เดินตามความฝันของฟิล์ม

...ชีวิตของเราทุกคนเหมือนนาฬิกาที่เดินอยู่ตลอดเวลา แต่นาฬิกาที่สมบูรณ์แบบนั้น จำต้องมีถ่านที่ดี เฟืองที่ดี กลไกที่ถูกต้อง และความสมพันธ์ระหว่างเข็มสั้น และเข็มยาว ดังนั้นเราทุกคนจึงแตกต่างกันออกไป...

ฟิล์มบอกด้วยว่า ทุกก้าวย่างที่เขาเดินทางไปข้างหน้า เขาต้องทำตามความฝันของตัวเองให้ได้ แต่ในเวลานี้เด็กชายที่มีทั้งความสามรถในด้านการเรียนและกิจกรรมคนนี้อาจจะยังไม่แน่ใจในคำจำกัดความของคำว่า ’ความฝัน’ ของตนเอง

“ความฝันของผมอาจจะการได้สื่อสิ่งที่มีอยู่ในหัวออกไปในรูปแบบที่ทำให้คนสนใจ อยากรับรู้ แต่ก็ยังยืนยันว่าไม่ชอบทำอะไรที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน และก็ไม่ชอบการมีแบบแผนที่มาบีบเราจนเกร็งและแน่นเกินไป เหมือนกับการเลี้ยงดูเด็กของผู้ใหญ่หลายๆ คน ไม่ควรจะตีกรอบให้ลูกตัวเองมากนัก ควรจะมองลูกตามสไตล์ของเขา

“เพราะหลายๆ คนก็มีความคิดและมุมมองที่แตกต่างกันออกไป รูเดียวกันบางคนอาจจะดูว่าเล็ก บางคนก็อาจคิดว่าใหญ่ก็ได้”
ฟิล์มกล่าว

*ปฏิวัติหนังสั้นสมานฉันท์กับยุทธเลิศ

เท่านั้นไม่พอล่าสุดที่ผ่านมาไม่นานฟิล์มยังได้ร่วมโชว์ฝีไม้ลายมือในการมีส่วนร่วมกำกับภาพยนตร์สั้นคอนเซ็ปต์สมานฉันท์กับคุณต้อม ยุทธเลิศ ผู้กำกับหนังชื่อดังอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

“ผมกับคุณพ่อช่วยกันปฏิวัติบทขึ้นมา เพราะคำว่าสมานฉันท์เวลานี้ผมมองว่ามันยากมาก ซึ่งบทที่ผมแต่งมานั้นก่อนจะไปถึงมือพี่ต้อมมันก็ดูแหว่งๆ โหว่ๆ อยู่ พอถึงมือพี่ต้อมก็ได้มีการนำมาปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้มันออกมาเป็นหนังสั้นมากขึ้น

“เรื่องเลยออกมาคราวๆ ประมาณว่า เด็กสองกลุ่มแยกสนามฟุตบอลกัน คณะกรรมการจึงสั่งปิด ผลสรุปคือ ทั้งสองกลุ่มก็ต้องไปเล่นฟุตบอลข้างถนนด้วยกัน

“การทำงานร่วมกับพี่ต้อมเป็นสิ่งสนุกมากครับ คือเราเพียงแค่ร่วมกันแสดงออกความคิดเห็นและมุมมอง โดยการถ่ายทำ การจัดแสง หรือหลายๆ อย่างจะมีคนทำให้หมด เหมือนได้ไปยืนอยู่ในฐานะผู้กำกับเต็มตัว จริงๆ” ฟิล์มกล่าว

*ปรากฎการณ์ใหม่ผู้กำกับไทยวัย 13

สำหรับเด็กวัย 13 กับการลงมือทำหนังสั้นสักหนึ่งเรื่อง คงสามารถสร้างได้ทั้งปัญหาและประสบการณ์

“ต้องบอกว่าสำหรับเด็กชั้นมัธยาศึกษาปีที่ 2 ที่ทำหนังด้วยตัวเอง ต้องขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของแต่ละคน อย่างผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตจะเดินไปในเส้นทางนี้ต่อไปหรือเปล่า ความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่หลายๆ คน ต้องปรับสภาพให้เข้ากับสังคมให้ได้ ขึ้อยู่ที่เราว่าจะไปในคอนเซ็ปต์ไหน อยากให้คนรอบข้างมองยังไง แต่ก็ต้องไม่ลืมยึดหลักความเป็นตัวเองที่มีอยู่ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นสังคมคงไม่ต้องมีการแยกผู้หญิง ผู้ชาย สังคมนี้คงไม่ต้องมีหลายพรรคการเมืองด้วย” ฟิล์มกล่าวให้ฟัง

คุณหนูผู้กำกับยังเล่าต่อด้วยว่า หลายๆ ครั้งที่ได้มีโอกาสดูหนังแปลกๆ ที่คุณพ่อหามา แต่โดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีซับไตเติล และพากย์ไทย ซึ่งเขาก็ไม่ได้เก่งภาษาฝรั่งเศส หรือเชี่ยวชาญภาษาอื่นๆ เท่าไหร่ แต่เขาคิดว่าการได้ดูภาพ มุมกล้อง และการจัดไฟ สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่

มาถึงเวลานี้โปรเจกต์ใหม่ที่กำลังทำการตัดต่อของเด็กชายหน้าตาเรียบร้อยคนนี้คือ ‘ความรักคือเส้นขนาน’ ซึ่งเป็นการนำบทที่ผู้เป็นพ่อเคยแต่งไว้มาทำการถ่ายทอดเป็นหนังสั้น ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าคงจะดีในรูปแบบหนึ่ง

และอีกด้านหนึ่งของเด็กชายผู้กำกับอายุน้อยคนนี้คือ ความสนใจในการอ่านหนังสือ ทำหนังสือทำมือที่ตนเองชอบเพื่อหาประสบการณ์ให้ตัวเอง ทุกวันนี้เขายังมีผลงานด้านข้อเขียนโดยเป็นการแนะนำให้เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันได้ดูหนังที่ดี ซึ่งอยู่ในคอลัมน์ Film For Friends นิตยสาร Cream

“ผมไม่อยากเก็บสาระดีๆ ไว้เฉยๆ” ผู้กำกับเด็กเอ่ยปาก

*ไถ่ถามความต้องการของตัวเอง

ระยะเวลากว่า 2 ปี จากวันแรกที่เริ่มจับกล้องถ่ายทำหนังสั้นอย่างจริงจัง จนทุกมีผลงานหนังสั้นจำนวน 6 เรื่องผ่านสายตาใครต่อใครหลายคน คงไม่มากไม่น้อยเกินไป

“ต้องถามตัวเองว่าชอบที่จะแบบนี้หรือเปล่า เพราะถ้าไม่ชอบแล้วทำไปก็คงไม่มีความสุข และถ้าคุณของก็ต้องมีความฝันและแรงบันดาลใจ ประสบความสำเร็จ

“โครงการหลักๆ ที่ต่อไปนี้ผมคิดว่าจะส่งประกวดทุกปีคือ โครงการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย และแน่นอนว่าผู้เข้าประกวดส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งถ้าหากมองในเรื่องเทคนิคผมอาจจะแย่กว่าเขาอยู่ แต่ถ้ามองในเรื่องประเด็นผมจะรู้สึกชอบประเด็นที่กำลังจะนำเสนอมากกว่า” ฟิล์มกล่าวถึงการวางแผนที่จะสร้างผลงานภาพยนตร์สั้นต่อไปในอนาคต

อีกไม่ช้า ไม่นานคอหนังสั้นอาจจะได้มีโอกาสดูหนัง 4 เรื่อง 4 สไตล์ ของเปรมปภัทรจูเนียร์ เพราะนี่คือโครงการที่เด็กตัวเล็กๆ แต่จินตนาการสูงคิดไว้ว่ากำลังจะลงมือปฏิรูปในไม่ช้านี้ และหากจะถามว่าก้าวต่อไปถ้าเลือกได้อยากทำหนังแนว แก๊งเตอร์ มาเฟียย้อนยุค ใช่มั้ย ฟิล์มไม่ตอบได้แต่พยักหน้าตาม

บางครั้งเรื่องราวไร้สคริปต์ และไม่มีบทตายตัวแน่นอนของผู้กำกับวัย 13 ที่มีพลังมากมายคนนี้ อาจถือเป็นสิ่งที่ว่า ‘แปลก’ และ ‘ใหม่’ ของวงการภาพยนตร์บ้านเรา ที่อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถึงแม้หลักไมล์ในการทำงานของเด็กหนุ่มผู้กำกับไฟแรงคนนี้จะยังน้อยนิด แต่เชื่อว่าสิ่งที่เขาเลือกทำอยู่นั้นมหาศาลไปด้วยความสามารถที่จะสะท้อนคำพูดบางคำพูด ความรู้สึกบางความรู้สึก ที่เราอาจไม่เคยได้สัมผัสในชีวิตจริง

***********************

เรื่อง : นาตยา บุบผามาศ







กำลังโหลดความคิดเห็น