ในห้องกว้างที่โอบล้อมด้วยกระจกเงา...
หนุ่ม สาวสรีระสวยเริ่มต้นเปิดฟลอร์ด้วยลีลาพลิ้วไหวอย่างเป็นอิสระ เสมือนกับว่าพวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงที่กำลังขับขานอยู่ ซึ่งท่วงท่าที่ผู้รักการเต้นหรือบรรดาขาแดนซ์ทุกคนพร้อมใจกันสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดีดตัว กระโดด หรือกลิ้งไปกลิ้งมาด้วยความรวดเร็วนั้น สามารถแสดงออกถึงลีลาที่แข็งแรงกระฉับกระเฉงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
*สเต็ป 1 เปิดฉาก
บนโลกสมัยใหม่ที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่ารสนิยมของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และมีอยู่กระจัดกระจายมากมายบนดาวเคราะห์ดวงกลมๆ ดวงนี้ ด้วยเหตุนี้ทำให้คำว่ารสนิยมนั้นเต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน และสามารถเกิดขึ้นมาแบบจู่โจมโดยบางครั้งไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า จนรสนิยมที่คล้ายคลึงกันสามารถจับตัวกันได้เป็นกลุ่มก้อนแล้วประกอบกันขึ้นเป็น Trend ซึ่งทำให้หลายๆ คนเกิดอาการ In มานักต่อนักแล้ว
แล้วสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากเวลานี้คือ เมื่อกาลเวลาย่างเข้าสู่ปี 2007 พฤติกรรมการบริโภคสื่อของมนุษย์ส่วนใหญ่น้อมรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาใช้แบบเต็มขั้น จนกลายเป็นกระแสความนิยมที่กำลังอินเทรนด์และมาแรงในเมืองไทยตอนนี้อย่างภาพยนตร์ แนวเพลง สไตล์การแต่งตัวจากฝั่งยุโรป รวมถึงตัวศิลปินจากเมืองโสม และดินแดนอาทิตย์อุทัย ที่กำลังเดินทางมาทำให้วัยรุ่นไทยจำนวนไม่น้อยหลงใหล และคลั่งไคล้ จนถอนตัวไม่ขึ้น
สำหรับรูปแบบการเต้นก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการเดินทางไปตามความนิยมของกระแสสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนถึงเวลานี้การเต้นที่ฮิตฮอตที่สุดในบ้านเรา กลายเป็นรูปแบบที่เรียกกันติดปากว่า ‘KOREA Style’ ‘JAPAN Style’ และ ‘LA Style’ และเหตุที่ต้องเรียกเช่นนี้ เพราะจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น เนื่องมาจากสไตล์ต่างๆ นั้นมาพร้อมกับการนำเสนอหรือรูปแบบของความนิยมที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน
*สเต็ป 2 ก่อร่างสร้างเทรนด์
เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันดีในนาม ครูอู๋ ผู้หญิงที่มีหลายสถานะในตัวคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบท่าเต้นให้แก่ศิลปินแกรมมี่ หรือแดนเซอร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมือวางอันดับหนึ่งของเมืองไทย จากสถาบัน D-Dance Troupe ในวันนี้เธอดูโด่ดเด่นกว่าใครๆ ด้วยการเป็นผู้นำในการขยับสรีระ และโยกย้ายไปตามท่วงทำนองเพลงที่มีจังหวะไม่อืดอาด
แดนเซอร์อันดับหนึ่งของเมืองไทยเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้กระแสความนิยมของการเต้นสมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าตัวโครงสร้างแท้จริงนั้นยังคงอยู่อย่างเดิม ขณะเดียวกัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแล้วอย่างชัดเจนนั่นคือ รูปแบบหรือสไตล์การนำเสนอ
ในความเป็นจริงคือ สไตล์การเต้นเกิดขึ้นและมีอยู่แล้วในอดีต แต่ทุกวันนี้หลายคนเอาสไตล์การเต้นนั้นมาดัดแปลงรูปแบบของการนำเสนอให้มีความแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น โดยอิงจากกระแสความนิยมของสังคมเป็นหลัก ซึ่งศัพท์ที่มักใช้เรียกสไตล์ของการเต้นที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบันในวงการเท้าไฟจะเรียกว่า “สตรีทแดนซ์” (Street Dance)
หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าสตรีทแดนซ์ มีมานานแล้วในกลุ่มพวกคนผิวดำ แล้วได้จืดจางหายไปทีละเล็กทีละน้อยตามกาลเวลา หลังจากนั้นพอเวลาเดินทางมาถึงประมาณปี 1990 สตรีทแดนซ์ก็ได้กลับมามีบทบาทและได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นนับเป็นช่วงเวลาที่เฟื่องฟูมากของสตรีทแดนซ์ จนกลายเป็นที่รู้จักตลอดเรื่อยมาถึงปี 2000 ซึ่งมีรูปแบบหนึ่งของสตรีทแดนซ์ ที่ฮิตมากๆ จนสามารถเรียกกันติดปากได้ว่า “ฮิปฮอป” (Hip-hop) แต่ว่าคำว่าฮิปฮอปนั้นก็เป็นชื่อเรียกดนตรีชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน
“โดยปกติทุกๆ ปีต้องมีการเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่ออัปเดตเทรนด์การเต้นรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำมาสอนต่อให้แก่ศิลปิน และผู้ที่มีใจรักการเต้นในเมืองไทยโดยตลอด เพราะว่าประเทศญี่ปุ่นกับอเมริกาจะมีการเชื่อมต่อกันในเรื่องวงการแดนเซอร์อยู่ตลอดเวลา
“ตั้งแต่เริ่มต้นทำ D-Dance มาจะเห็นชัดเจนว่า การเต้นในเมืองไทยจำนวนมากจะได้รับกระแสความนิยมมาจากสังคมต่างชาติ โดยเฉพาะเวลานี้ก็ต้องเป็นแบบฉบับเกาหลี ญี่ปุ่น และอเมริกาที่กำลังมาแรง เนื่องจากปัจจุบันการสื่อสารนั้นเชื่อมต่อกันหมด ยิ่งมีการนำเสนอรูปแบบของศิลปินต่างชาติเข้ามาในบ้านเรามากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความนิยมในรูปแบบต่างๆ เห็นชัดยิ่งขึ้น อย่างการเต้น ‘KOREA Style’ ‘JAPAN Style’ และ ‘LA Style’ ที่กำลังนิยมในเวลานี้ เหตุผลหนึ่งมาจากศิลปินของแต่ละชาติที่มีบทบาทต่อบ้านเรามาก” ครูอู๋เล่าให้ฟัง
*สเต็ป 3 แสดงสด
เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาในประเทศญี่ปุ่นนิยมการเต้นฮิปฮอปและเกิร์ล ฮิปฮอปเป็นอย่างมาก แต่ในทุกวันนี้ได้เริ่มเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ แล้ว และตอนนี้ทุกคนก็กำลังหันมาสรรหาแนวทางในการเต้นแบบใหม่ๆ จนกลายเป็นแอลเอ สไตล์ ที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้ถูกพูดถึงในวงการเต้น
แอลเอ สไตล์ คือการเต้นที่มีความต่อเนื่องและสต็อปโมชันในเวลาเดียวกัน เป็นการผสมผสานระหว่างแจ๊ซกับฮิปฮอปและก็เป็นการเคลื่อนไหวเล็กๆ (Tide) ซ่อนอยู่ ที่ญี่ปุ่นกำลังนิยมมาก และความที่ประเทศญี่ปุ่นนิยม เมืองไทยเลยนิยมตาม เพราะเรารับกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาแบบเต็มๆ อยู่แล้ว การเต้นแอลเอ สไตล์ จะเห็นได้ชัดเจนในศิลปินอย่างจัสติน ทิมเบอร์เลก ในชุดล่าสุด หรืออีกคนคือเจนเน็ต แจ็คสัน
“ต่อมาที่นิยมไม่แพ้กันคือ เจแปน สไตล์ ที่จะมีความเป็นฮิปฮอปหรือ New School Hip-hop ให้เห็นอยู่ในสไตล์นี้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพราะฮิปฮอป มี Old School, Middle School, New School ก็คือการผสมผสาน หรือถ้าพูดง่ายๆ นั่นคือ ทุกคนพยายามที่จะวิ่งหาสิ่งใหม่ แล้วนำมาพัฒนาจากของเดิม จึงกลายเป็นที่มาของการเต้นสไตล์ญี่ปุ่นที่กำลังเป็นที่ชื่นชอบของใครต่อใครหลายคน เจแปน สไตล์จะเป็นอย่างศิลปินพวกจอนนี่จูเนียร์
“สุดท้ายในส่วนของเกาหลี สไตล์ เริ่มเห็นชัดมากขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่ศิลปินอย่าง เรน และดงบังชิงกิ เข้ามาเปิดตัวในบ้านเรา จากนั้นจะเห็นว่าคนไทยต่างให้ความนิยมนักร้องเกาหลีสูงมากยิ่งขึ้น และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกาหลี หนังเกาหลี รวมทั้งการเต้นแบบเกาหลี ต่างก็ได้รับความสนใจเพิ่มสูงขึ้นด้วย
“หลายคนอาจเกิดจากความสงสัยว่า สไตล์การเต้นแบบนี้เขาเรียกว่าอะไร จากการที่เรนนำเสนอ แล้วคนก็ชื่นชอบสไตล์การเต้นของเรน จนเกิดเป็นรูปแบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งการเต้นแบบเกาหลี สไตล์จะเน้นการเต้นในลักษณะที่ดูแล้วแสดงออกถึงความแข็งแรงและกระฉับกระเฉง”ครูอู๋พูดถึงสไตล์ท่าเต้นแบบต่างๆ ที่กำลังนิยมในเมืองไทยทุกวันนี้
ครูอู๋ยังบอกต่ออีกว่าในเมืองไทยศิลปินอย่างกอล์ฟ-ไมค์ ถือว่าเป็นส่วนผสมระหว่าง 2 รูปแบบ ซึ่งมีทั้ง เกาหลี สไตล์ และเจแปน สไตล์ อยู่ในนั้น และความจริงในเมืองไทยเคยมีการเต้นอย่างนี้มาก่อนแล้ว
“อย่างศิลปินหญิงคนหนึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนก็มีการเต้นที่ผสมผสานแบบ New School Hip-hop แต่เวลานั้นหลายคนอาจไม่รู้ และไม่สนใจ เพราะยังไม่เป็นกระแสเท่าทุกวันนี้ เหมือนกับว่าเรามอบให้ในวันที่คนไม่ได้สนใจ ผิดที่ผิดเวลาไป ความลงตัวมันต่างกัน จึงได้รับความสนใจต่างกันมาก”
ส่วนเรื่องความยากง่ายของแต่ละท่วงท่าในแต่ละสไตล์ครูอู๋บอกว่า อาจจะแตกต่างกันออกไป สไตล์เกาหลี จริงๆ แล้วต้องใช้ความแข็งแรงจึงต้องมีการล็อกกล้ามเนื้อเป็นหลัก ต้องรู้จักการควบคุมกับแบบสุดๆ ส่วนสไตล์ญี่ปุ่น เป็นลักษณะ ฮิปฮอปที่ต้องอาศัยความคล่องตัว และการถ่ายน้ำหนัก โดยทั้งหมดจะรวบรวมอยู่ในแอลเอ สไตล์ เนื่องจากสไตล์นี้ต้องใช้การควบคุมร่างกาย และการเหวี่ยงแขนแล้วต้องหยุดทันทีในปลายทาง จึงต้องใช้ทั้งแรง และการควบคุมในเวลาเดียวกัน
ส่วนวิธีการเต้นเพลงช้าเพลงเร็วนั้นจะมีความแตกต่าง ตรงที่เพลงเร็วเหมือนกับการเต้นต้องใช้ความพยายามที่จะให้ตรง และถูกต้องตามจังหวะ ส่วนในเพลงช้าจะมีช่วงเวลาจากห้องที่ 1 ไปห้องที่ 2 นั้นยาวนานกว่าเพลงเร็ว ทำให้นักเต้นสามารถใส่จังหวะอะไรลงไปได้ หลักๆ แล้วคือเพลงช้าสามารถดีไซน์ท่าได้มากกว่าเพลงเร็ว เพราะจังหวะจะห่างทำให้กำหนดจังหวะเพิ่มเติมได้
“ความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าสำหรับแอลเอสไตล์ตอนนี้เป็นอะไรที่ยาก อย่างน้อยต้องมีพื้นฐานการเต้นที่ดีก่อน เพราะมันไม่ใช่การเต้นแบบฟรีสไตล์ทั่วไป” ครูอู๋กล่าว
ความคิดเห็นส่วนตัวของหญิงสาวผู้ชื่นชอบเต้นแอลเอ สไตล์อย่าง ปวีณา วิศาล หรือ ดาว วัย 25 ปี มองว่าการเต้น แอลเอ สไตล์ เป็นการเต้นที่เหมาะสำหรับผู้หญิง เพราะมีการแสดงออกถึงความเซ็กซี่เล็กน้อย
“ส่วนตัวมีความสนใจเรื่องการเต้นอยู่แล้ว และยังชื่นชอบดนตรีสไตล์นี้อยู่ด้วย จึงสมัครไปเรียนเต้นแบบแอลเอ สไตล์ ซึ่งตอนนี้การเต้นแบบแอลเอ สไตล์เป็นกระแสที่กำลังมาแรงมากในบ้านเรา คงเป็นเพราะเริ่มต้นจากกระแสดนตรีฮิปฮอปที่เข้ามาบ้านเราเยอะมาก
“แอลเอเป็นการผสมผสานระหว่างฮิปฮอปกับแดนซ์ อีกอย่างสไตล์นี้เป็นการเต้นแบบผู้หญิงที่ให้ความรู้สึกลื่นไหล งดงาม ฝึกความอ่อนช้อย จึงอยากเต้นให้ได้เหมือนกับศิลปินที่เราปลื้มอยู่ และจะรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ แล้วเรามีความสามารถเต้นได้ในแบบดังกล่าว”ดาวกล่าว
“เวลาเรียนต้องมีการให้ข้อมูลแก่ทุกคนเสมอว่า เพลงนี้ใช้ท่าเต้นแนวไหน ฮิปฮอป สตรีท ป๊อปปิ้ง ร็อกกิ้ง ซึ่งบางคนแรกๆ ก็จะแยกไม่ออก แต่ถ้าดูบ่อยๆ แล้วจะแยกออกเอง ซึ่งหากจะบอกเป็นคำพูดนั้นก็คงยากไป ต้องฝึกซ้อมดูเป็นภาพบ่อยๆ เหมือนกับการเลือกเพชรเลือกพลอย ซึ่งต้องใช้ชั่วโมงบิน และทักษะ แต่ก็สามารถบอกได้โดยพื้นฐานเลยว่า ในกลไกหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นพื้นฐานนั้นย่อมจะมีการแตกหรือต่อยอดออกมาอีก เพราะแต่ละคนมีความเฉพาะตัวที่เป็นตัวของตัวเอง เวลาออกแบบท่าก็จะมีสไตล์ของตัวเองออกมาให้เห็นซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน
“การพรีเซ็นต์ท่าทางออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าการเต้นแต่ละครั้งนั้นเป็นสไตล์ไหน ต้องเกิดขึ้นจากความร่วมกันระหว่างผู้เต้นทีมเดียวกัน และตัวศิลปินเองด้วยถ้าเราทำสไตล์แบบนี้บ่อยๆ จนคนดูจับได้ว่าลักษณะนี้คืออะไร ก็จะมีคนเริ่มเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่มากขึ้น” ครูอู๋เล่าให้ฟัง
*สเต็ป 4 ทำฝันให้เป็นจริง
เสียงเพลงบรรเลงไปเรื่อยทำหน้าที่ของมันไปตามปกติ ภายในห้องสี่เหลี่ยมยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศที่แสนสนุกและเป็นกันเอง แถมยังปกคลุมไปด้วยแววตาของความพยายามจากบรรดาลูกศิษย์วัยกำลังเจริญเติบโตหลายๆ คน ที่ต่างฝีมือแพรวพราวไม่น้อยเลย...
“ชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของคนที่มาเรียนส่วนใหญ่ฝันอยากเป็นแดนเซอร์ให้แก่นักร้อง หรือศิลปินมืออาชีพ เนื่องจากเราปลุกปั้นแดนเซอร์มีอาชีพออกมาหลายต่อหลายรุ่น เดี๋ยวนี้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ที่คาดหวังเช่นนั้น และอีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นพวกที่ต้องการหากิจกรรมทำในเวลาว่าง
“ส่วนใหญ่ผู้ที่กำลังสนใจมาเรียนเต้นมักจะอายุอยู่ที่ประมาณ 15-25 ปี ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัยรุ่นชัดเจน แล้วตอนกำลังนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ก็เริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ! เพราะว่าเมื่อก่อนตลาดของสถาบันสอนเต้นลักษณะนี้จะเป็นวัยรุ่นที่โตมากๆ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์” ครูอู๋กล่าว
จันจิรา จันทร์พิทักษ์ชัย หรือ จันจิ สาววัย 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เธอใช้เวลาว่างที่มีทุ่มเทให้แก่การศึกษารูปแบบการเต้นในลักษณะต่างๆ แต่สำหรับเกาหลี สไตล์ ถือเป็นครั้งแรกที่เธอได้เคยสัมผัส โดยผ่านจากการเรียนโครงการเอ็กซ์ตรีม แดนซ์มาหมาดๆ
“เกาหลี สไตล์ เป็นการเต้นที่ใหม่สำหรับเรา จึงรู้สึกชื่นชอบ และตื่นเต้นมากที่ได้เรียน การเต้นรูปแบบนี้จะดูแข็งแรง นอกจากนี้ ยังได้ความสนุกสนานกับการเรียน ฝึกความพร้อมทางร่างกาย พร้อมๆ กับได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ในวัยเดียวกัน และรู้จักการแสดงออกอย่างเหมาะสม
“การมีรูปแบบการเต้นเข้ามาใหม่มาอย่างต่อเนื่องจะจุดประกายให้วงการแดนเซอร์คึกคักขึ้นอีกครั้ง โดยคัดสรรสิ่งใหม่ๆ เข้ามาใช้จุดกระแสเพื่อให้คนที่รักการเต้นหันมาเต้นกันอีกครั้ง เพราะช่วงหลังๆ วงการนี้เงียบลงไปมาก”
ไม่ต่างจากเด็กหญิงนามว่า ปัณฑ์ชนิต จันทร์ประเสริฐ หรือ มิ้น วัย 14 ปี ที่กลำงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เธอได้ทำความรู้จักกับการเต้นเกาหลีสไตล์มาสักระยะหนึ่ง และความฝันสูงสุดอยากเป็นแดนเซอร์ให้แก่ศิลปินมืออาชีพ
“ก่อนหน้านี้ได้เรียนเต้นมาแล้วหลายรูปแบบ โดยคลุกคลีอยู่ในวงการเท้าไฟนี้มาประมาณ 5-6 ปีได้ การเต้นแบบเกาหลีเป็นแนวที่แสดงออกถึงความแข็งแรง และเป็นการเต้นในรูปแบบใหม่ที่กำลังนิยมกันมากในกลุ่มวัยรุ่นบ้านเราเวลานี้
“โดยส่วนตัวได้เริ่มชื่นชอบการเต้นแบบนี้จากการดูคอนเสิร์ตที่เรนเต้น จึงทำให้อยากจะมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน จนสามารถได้เป็นแดนเซอร์มืออาชีพให้แก่ศิลปิน จะเป็นศิลปินคนไหนก็ได้ ไม่สน แค่ขอได้เต้น ได้ทำในสิ่งที่ใจต้องการเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว
“ทางครอบครัวพ่อ แม่ ให้ความสนใจ ทางด้านนี้ด้วย จึงสนับสนุนเข้ามาเรียน ซึ่งในสถาบันที่เรียนอยู่นั้นกลุ่มเพื่อนๆ ค่อนข้างจะเฟรนด์ลีมาก และอัปเดตเทรนด์ตามกระแสที่กำลังเกิดขึ้นด้วยจึงทำให้เรามีความสามารถใหม่ๆ” มิ้นกล่าว
ทางด้านสาวน้อย อรณิชา กรินชัย หรือ พราว วัย 14 ปี ที่เข้ามาเรียนการเต้นในคอร์ส เจแปน สไตล์ เล่าว่าเหตุที่เริ่มเข้ามาเรียนเกิดจากความประทับใจในภาพยนตร์ วัฒนธรรม และภาษาญี่ปุ่น และชื่นชอบศิลปินไทยที่นำเสนอการเต้นรูปแบบนี้อยู่ด้วยคือกอล์ฟ–ไมค์ จึงนำมาเป็นแรงบันดาลในในการเข้ามาเรียนและศึกษาการเต้นในคอร์สเจแปน สไตล์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการก้าวไปเป็นแดนเซอร์มืออาชีพ และใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์คุ่มค่าอย่างแท้จริง
“การเรียนเต้นนั้นไม่ได้เฉพาะแค่การย่างก้าวและท่วงท่าในการเต้น การเต้นมีข้อดีอะไรเยอะเยอะมากมายที่ซ่อนอยู่ สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความเชื่อมัน ความมั่นใจเวลาที่จะต้องออกไปยืนแถวหน้า ถึงเวลาที่จะต้องเต้นคู่ สำคัญที่ต้องอ่านใจเพื่อนให้ออก ต้องรู้จักเป็นผู้นำและผู้ตาม และยังมีความกล้าตัดสินใจที่จะลงมือทำ นอกจากนี้การจะต่อท่าก็ต้องใช้สมาธิ
“ทุกวันนี้สถาบันสอนเต้นราคาไม่แพงอย่างที่คิด อยากให้เด็กไทยได้เรียนเต้น และไม่ใช่การเรียนเพื่ออยากได้ท่าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนกับคนที่มีประสบการณ์ เป็นมืออาชีพ มองการเต้นไม่ใช่เรื่องของบันเทิง เพราะมันเป็นเรื่องของการศึกษาด้วย ทุกวันนี้มีสถาบันสอนเต้นปริมาณไม่น้อยที่เติบโตในบ้านเรา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้เลือกหลายๆ สถาบัน” พราวกล่าว
ดูเหมือนกับว่าคนไทยชอบเต้นและมีโอกาสได้เรียนกันมากขึ้น แต่วงการเต้นในรูปแบบของการแสดงบ้านเรายังไม่หลากหลายถ้าเทียบกับเมืองนอก เพราะยังไม่ค่อยรู้จักใช้ความชำนาญในการเต้นมากพอ จนกลายเป็นรูปแบบของบันเทิงที่ไม่มีความลึกในการใช้ทักษะในการเคลื่อนไหว นั่นอาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขของงบประมาณหรือเวลา ซึ่งถ้าอยากจะวิ่งแข่งกับเมืองนอก ต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนถึงแม้เราจะเจอเงื่อนไขอะไรมากมาย ต้องพยายามทำให้เต็มที่แล้วจะไม่รู้จักคำว่าแพ้ และอีกไม่นานเราอาจจับทางการเต้นให้ออกมาเป็นแบบไทย สไตล์ได้ในเวลาไม่นาน
*********************
เรื่อง : นาตยา บุบผามาศ