ในยุคบริโภคนิยมที่สงครามแห่งการแก่งแย่งลูกค้าเข้มข้นขึ้นทุกวัน เจ้าของกิจการก็พยายามนำเสนอสินค้าหรือการบริการในรูปแบบใหม่เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค บ้างก็คิดค้นกันขึ้นมาเองในไทย บ้างก็นำเข้าไอเดียจากต่างประเทศ “เมด คาเฟ่” ก็เป็นอีกหนึ่ง ”สินค้า” นำเข้า ที่มาแบ่งพื้นที่การตลาดจากกลุ่มวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ในกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น
*จุดเริ่มต้นทางสังคม
ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมและมีอิทธิพลเหนือความเป็นอยู่ของใครหลายๆ คน ลานว่างใกล้ๆ บ้านที่เคยมีเด็กๆ ในละแวกมาจับกลุ่มวิ่งเล่นกันไม่มีให้เห็นบ่อยนักอีกแล้ว เด็กๆ ยุคใหม่ไปอยู่ที่ไหนกันหมด? ไม่มาวิ่งเล่นกันแล้วหรือ? กิจกรรมทางสังคมระหว่างเด็กๆ ในวัยเดียวกันไม่มีอีกแล้ว ทั้งที่กิจกรรมการเล่น การพูดคุยกัน นับเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยทำให้พวกเขาเจริญเติบโต มีความรู้ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
จะว่าไปก็คงไม่แปลกนักที่เด็กๆ ยุคใหม่ไม่สนใจง้อเพื่อนข้างบ้าน หรือสนามเด็กเล่นที่ไหนในเมื่อคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตก็ตั้งอยู่ในบ้านพร้อมจะเป็นเพื่อนกับเขาตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เองก็ต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันทางสังคมสูง เวลาที่จะอยู่ดูแลใกล้ชิดกับลูกๆ ก็น้อยลง คุณลูกก็สร้างโลกอยู่กับการ์ตูนและคอมพิวเตอร์ ที่นับวันความสัมพันธ์ก็นับจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น....มากเสียจนอาจจะบอกได้ว่าสนิทกันมากกว่าสมาชิกในบ้านที่เป็นมนุษย์จริงๆ เสียอีก
เรากำลังพูดถึงปัญหาพื้นฐานของประเทศพัฒนาแล้ว และคราวนี้ประเทศที่เรากำลังหมายถึงก็คือ ญี่ปุ่น
“สมัยที่ผมยังเด็กหลังเลิกเรียนผมมักจะออกไปวิ่งเล่น ขี่จักรยานกับเพื่อนๆ แถวบ้าน แม้ว่าเด็กๆ ยุคนั้นรู้จักการ์ตูนดีกันอยู่แล้วทุกคน แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือเกมจะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างในยุคปัจจุบันนี้เท่าไรนัก กิจกรรมหลักๆ หลังเลิกเรียนจึงเป็นกิจกรรมนอกบ้านกับกลุ่มเพื่อนๆ มากกว่า ขณะที่เด็กยุคนี้มักจะขลุกตัวเล่นเกมอยู่ที่บ้านมากกว่าจะอยากออกไปหากิจกรรมอื่นๆ ทำ บางทีอาจเป็นเพราะในยุคที่เศรษฐกิจของประเทศรุ่งเรืองเช่นในปัจจุบัน ประชาชนไม่มีปัญหาเรื่องปากท้อง เด็กๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ในบ้านอย่างครบครัน จนอาจจะเรียกว่ามากเกินไปด้วยซ้ำ การนั่งเล่นเกมหรือดูการ์ตูนอยู่บ้านให้ความเพลิดเพลินมากกว่าที่จะออกไปหาเพื่อนๆ หรือหากิจกรรมนอกบ้านทำ ความทะเยอทะยานหรือความอยากเห็น อยากเป็นอะไรใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น ในเมื่อทุกอย่างที่เด็กๆ อยากได้ ถูกจำลองไว้ที่หน้าจอสี่เหลี่ยมๆ เล็กๆ ตรงหน้าพวกเขาเรียบร้อยแล้ว” อัสซึฮิโร่ นากายาม่า หนุ่มจากโตเกียวพูดถึงสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน จากประสบการณ์ตรงของเขาเอง
ในประเทศญี่ปุ่นสังคมเด็กๆ (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือการ์ตูน โลกทั้งใบของเขาเกือบจะเป็นโลกเดียวกันกับโลกของการ์ตูนเสียแล้ว เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการ์ตูน รักการ์ตูน และรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการ์ตูน คนญี่ปุ่นเรียกพวกเขาว่า “โอตาคุ” ( บุคคลผู้มีความชื่นชอบในการ์ตูน หรือเกม มักจะใชักับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจะหมายถึงบุคคลที่มีความสนใจงานอดิเรกอย่างใดอย่างหนึ่งเอามากๆ) เหล่าโอตาคุผูกพันอยู่ในโลกของการ์ตูน แม้แต่หญิงสาวที่เขาชื่นชอบก็ได้ต้นแบบจากตัวละครหญิงในการ์ตูนสาวน้อย ตัวละครหญิงสาวน่ารัก สดใส ในชุดแต่งกายแบบโลลิต้า ถือเป็นแบบฉบับที่ได้รับความนิยมในหมู่โอตาคุเป็นที่สุด
เมื่อเหล่าโอตาคุมีมากขึ้น ธุรกิจรูปแบบใหม่ในประเทศญี่ปุ่นที่มาสนองตอบความต้องการของพวกเขาก็เกิดขึ้น “เมด คาเฟ่” (Maid Cafe) ร้านอาหารที่มีสาวเสิร์ฟหน้าตาน่ารัก แต่งตัวในชุดสาวใช้แบบยุโรป ที่เราอาจคุ้นตาในภาพยนตร์ แต่ไม่คุ้นเคยในชีวิตจริง คาดผ้ากันเปื้อนสีขาว ผูกโบสีชมพูหวานแหวว มาคอยต้อนรับดูแลลูกค้าให้ลูกค้าท่านนั้นรู้สึกราวกับเป็นเจ้านายผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเธอ อาจจะกล่าวได้ว่าเมด คาเฟ่ก็เหมือนการทำฝันของเหล่าโอตาคุที่จะได้เจอะเจอ พูดคุยกับหญิงสาวที่พวกเขาเคยได้แต่เห็นในการ์ตูน ออกมาโลดแล่นในชีวิตจริง พูดคุยเอาใจพวกเขาได้จริงๆ
ลองนึกถึงภาพของชายหนุ่มในร้านอาหารที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยหญิงสาวในชุดสดใสรอต้อนรับเหล่าโอตาคุทุกท่าน ที่ปกติแล้วจะเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ถนัดในการเข้าสังคมมากนัก เข้ามารับประทานอาหารโดยมีเมดมาดูแลอย่างใกล้ชิด เขียนชื่อคุณด้วยซอสบนข้าวห่อไข่ ไต่ถามคุณว่าวันนี้ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยมั้ย หรือถ้าคุณอยากได้เมดคนที่ถูกใจมาถ่ายรูปคู่ หรือจะพูดคุยเป็นการส่วนตัวสัก 30 นาทีก็ย่อมทำได้ แน่นอนว่าคงไม่ได้ให้ฟรี มีค่าใช้จ่ายที่เหล่าโอตาคุต้องเสียเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการตามต้องการ แต่ก็นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ ที่ให้บริการในลักษณะใกล้เคียงกันในประเทศญี่ปุ่น
“ในเมื่อสังคมญี่ปุ่นมีการแข่งขันที่สูงขึ้นมากทุกคนเอาแต่ทำงาน เวลาที่จะพูดคุยสื่อสารกับคนรอบข้างก็ลดลง แต่เวลาที่อยู่คนเดียวกลับมีมากขึ้น บางคนเริ่มเก็บตัวและรู้สึกเขินอายที่จะต้องเข้าสังคม การ์ตูน เกมจึงเข้ามามีบทบาทและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชายหนุ่มญี่ปุ่นบางกลุ่ม และเมด คาเฟ่ก็เข้ามาทำหน้าที่ของความเป็นผู้ดูแล เอาใจใส่ ช่วยให้คลายเหงาได้ไม่เลวเลยทีเดียว” Acesman Web Master จาก Kartoon-discovery ชายหนุ่มอีกคนที่แม้จะไม่ได้คลั่งไคล้ในเมด คาเฟ่ แต่ความชื่นชอบการ์ตูนของเขาก็เป็นตัวทำให้เขาสนใจเรื่องราวความเป็นมาของร้านนี้ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตัวเมด คาเฟ่เองก็ทำหน้าที่ของมันในแง่ของการตลาดด้วย ในปัจจุบัน มีเมด คาเฟ่เพิ่มขึ้นถึง 30 กว่าแห่งในย่านอากิฮาบาระ (ย่านที่มีเมด คาเฟ่เยอะที่สุดในญี่ปุ่น) คอนเซ็ปต์ของเมดคาเฟ่แต่ละแห่งก็หลากหลายมากขึ้น จากที่เราเคยเห็นแต่เมด คาเฟ่ในลักษณะที่บริกรเป็นสาวใช้ เดี๋ยวนี้ก็มีทั้งเมด คาเฟ่น้องสาว เมด คาเฟ่แม่ชีซึ่งการบริการก็จะเป็นรูปแบบเฉพาะขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ที่ทางร้านวางไว้ เมด คาเฟ่ในปัจจุบันจึงไม่ได้จำกัดวงลูกค้าแค่เหล่าโอตาคุเท่านั้น เอกลักษณ์ของมันทำให้คนกลุ่มอื่นๆ หันมาสนใจ และให้ความสำคัญกับมันเสมือนหนึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเลยทีเดียว เมด คาเฟ่ในปัจจุบันจึงไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าแค่เหล่าโอตาคุเท่านั้น นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็ตบเท้าเข้ามาเยี่ยมชมและใช้บริการเช่นกัน
“ผมคิดว่าเมด คาเฟ่มันก็ให้อะไรแก่สังคมประเทศญี่ปุ่นนะ มันมีทั้งความเฉพาะตัวและความหลากหลายอยู่ในตัวของมัน หลายๆ ประเทศก็ให้ความสนใจ นอกจากประเทศในเอเชียอย่างไต้หวันหรือไทยแล้ว เมด คาเฟ่ยังไปบุกตลาดไกลถึงแคนาดาอีกด้วย เมื่อไหร่ที่คุณเจอร้านเมด คาเฟ่ เอกลักษณ์ของมันบอกให้คุณรู้ได้ทันทีว่ามันเป็นร้านสัญชาติใด อย่างที่เราเรียกกันว่าเป็น Pop Culture ความเป็นญี่ปุ่นก็ถูกเผยแพร่ไปพร้อมๆกัน” Acesman กล่าว
*เมื่อวัฒนธรรมอยู่ในสภาพไร้พรมแดน
ในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งกระแสธารแห่งวัฒนธรรมใดๆ ได้ ความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็เช่นกัน มิได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ แต่ยังหลั่งไหลข้ามพรมแดนไปยังชนชาติอื่นๆ และแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย
หลายปีที่ผ่านมาการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเด็กไทย เริ่มจากการ์ตูนเด็กๆ การ์ตูนสัตว์ประหลาด ขบวนการห้าสี วิวัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นการ์ตูนและเกมที่มีรูปแบบ แสง สี เสียง ที่มีความน่าสนใจมากขึ้น เด็กๆ ที่เคยดูการ์ตูนหรือเล่นเกมก็มีกิจกรรมเพิ่มขึ้นคือการแต่งตัวเลียนแบบตัวการ์ตูนที่พวกเขาชื่นชอบ หรือที่เรียกกันว่าการแต่งคอสเพลย์ บางคนก็แต่งเป็นหญิงสาวในชุดหวานแหววตามแบบการ์ตูนสาวน้อยอย่างในร้านเมด คาเฟ่ หรือในแวดวงหมู่คนรักการ์ตูนมีการพูดคุยกันถึงเมด คาเฟ่ จึงทำให้เมด คาเฟ่เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในชื่อเสียงของการบริการและในความเป็นโมเดลเสมือนจริงอันหนึ่งของโลกการ์ตูน
ในประเทศญี่ปุ่นที่สังคมและวัฒนธรรมของคนยุคใหม่ค่อนข้างเปิดกว้าง การมีบริการเช่นเมด คาเฟ่จึงไม่ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตกเป็นประเด็นทางสังคม แต่หากบริการเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย คงจะต้องก่อให้เกิดการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางแน่นอน เมด คาเฟ่ที่เปิดให้บริการในเมืองไทยรูปแบบจึงแตกต่างไปจากที่เห็นในญี่ปุ่นบ้าง ขึ้นอยู่กับเจ้าของร้านว่าจะวางรูปแบบร้านไว้ที่จุดใด
“ตอนนี้ถ้าไปที่ญี่ปุ่นก็จะเจอเมด คาเฟ่เยอะมาก แต่รูปแบบของแต่ละแห่งก็จะแตกต่างกันไป อาจจะเน้นที่อาหาร เน้นที่บริการ หรือเน้นที่เครื่องแบบ แต่เมื่อทำเลของเราอยู่ที่สยามสแควร์ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและวัยรุ่น การให้บริการในลักษณะดูแลเจ้านายอาจไม่เหมาะสมนัก เราจึงมาเน้นความเป็นเมด คาเฟ่ที่เป็นแบบมาจากการ์ตูน เน้นการแต่งกายที่แปลกตาของพนักงาน ให้มันดูสดใส น่ารัก ดูเหมือนเป็นเมดในการ์ตูน แต่ต้องมิดชิด ไม่ดูโป๊ หรือเซ็กซี่ ขณะเดียวกันเราก็ยังคงรักษาคอนเซ็ปต์ของการปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยความเป็นมิตร ดูเป็นกันเอง สามารถที่จะพูดคุยกันได้ เพราะพนักงานที่นี่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กที่ชื่นชอบการแต่งกายแบบคอสเพลย์แล้วก็ชื่นชอบการ์ตูนอยู่แล้ว ลูกค้าหลักที่มาที่นี่ก็เช่นกัน ความสนใจที่ตรงกันของพวกเขาทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปอย่างออกรสและสนุกสนาน” ทวีลาภ กัมพลกัญจนา ชายวัย 27 เจ้าของร้านอากิบะ เมด คาเฟ่แห่งแรกในเมืองไทย หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงผู้หลงรักการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ จนผันตัวเองมาเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับการ์ตูน เล่าถึงเมด คาเฟ่ในแบบเมดอินไทยแลนด์ของเขา
เมด คาเฟ่อีกแห่งของกรุงเทพฯตั้งอยู่ที่อโศก ย่านที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่กันอย่างคับคั่ง กลุ่มเป้าหมายของทางร้านจึงต่างออกไป
“เจ้าของร้านนี้เป็นชาวญี่ปุ่นและเห็นว่าคนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มจะรู้จักและสนใจเมด คาเฟ่กันมากขึ้น จึงคิดจะเปิดเมด คาเฟ่แบบต้นตำรับขึ้นมา โดยการซื้อลิขสิทธิ์เมด คาเฟ่ภายใต้ชื่อ ‘พินาฟัวร์’ ของญี่ปุ่นเข้ามาเปิดบริการในเมืองไทย คือเราอยากจะได้เมด คาเฟ่แบบต้นตำรับเข้ามาจริงๆ เพราะกลุ่มลูกค้าหลักที่เราต้องการคือกลุ่มคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย เราก็พยายามจะเน้นที่การบริการ ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนว่ากำลังอยู่บ้านมากกว่าเหมือนมาที่ร้านอาหารทั่วไป” รัตนพล พลอินทร์ หนุ่มอายุ 26 ครูสอนภาษาญี่ปุ่นและผู้จัดการร้านเริ่มเล่าถึงที่มาของร้าน
เมื่อจุดขายของทางร้านเน้นที่การบริการ และมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวญี่ปุ่นที่อาจจะรู้จักและคุ้นเคยกับบริการในรูปแบบเมด คาเฟ่มาบ้างแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาของการบริการที่แตกต่างไปบ้างเมื่อเมด คาเฟ่นั้นเปิดบริการอยู่ในเมืองไทย
“เราก็กลัวเหมือนเพราะบางทีลูกค้าที่เป็นคนญี่ปุ่นจะไม่เข้าใจว่าของเราเป็นร้านที่เปิดในเมืองไทย แม้จะเป็นสาขาแต่ก็มีบางจุดที่แตกต่าง เคยมีลูกค้าถามเหมือนกันว่าพาพนักงานกลับได้ไหม เราก็ต้องพยายามอธิบายให้ลูกค้าฟัง ถ้าเราอธิบายให้เขาฟังดีๆเขาก็เข้าใจ และก็บอกพนักงานว่าถ้ามีอะไร หรือถูกจับเนื้อต้องตัว ให้พนักงานแจ้งได้ เพราะร้านไม่ได้เป็นแบบนั้น” รัตนพลกล่าว
ที่โต๊ะถัดไปไม่ไกลมีแขกชาวญี่ปุ่น 2-3 คนกำลังคุยกับเมดอย่างสนุกสนานเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ ดูเผินๆแล้วอาจจะนึกว่าเธอเองก็เป็นสาวยุ่นเช่นกัน แถมชื่อที่ติดที่เสื้อก็ยังเขียนว่ายูนะเสียด้วย เราจึงขอให้เธอเล่าถึงที่มาที่ไปของการมาทำงานที่นี่
“ชื่อ ยูนะ นี่ตั้งตามที่ตัวเองชอบ และลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนญี่ปุ่น ถ้าใช้ชื่อญี่ปุ่น ก็จะเรียกง่ายกว่า ตอนที่ร้านเปิดใหม่มีน้องที่รู้จักทำอยู่ที่นี่แล้วเขาก็ชวนมาทำก็เลยมาทำสนุกๆ เพราะตอนนี้ก็เพิ่งก็เรียนจบคณะศิลปศาสตร์เอกภาษาญี่ปุ่นมาหมาดๆ กลัวว่าถ้าไม่ได้ใช้ภาษาบ้างเดี๋ยวจะลืมเสียหมด ก็เลยอยากจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองจะสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อยู่ตลอดเวลาจะได้ไม่ลืม แต่ก็คงรับเป็นแค่งานพาร์ตไทม์ ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นงานประจำ งานที่นี่เป็นงานบริการก็ทำให้ได้เราฝึกฝนตัวเอง เพราะต้องคอยแก้สถานการณ์ต่างๆ ต้องฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นทั้งจากการพูดคุยกับลูกค้าหรือกับเพื่อนร่วมงาน ได้รู้จักคนมากขึ้น ปกติก็ชอบแต่งคอสเพลย์อยู่แล้วด้วย งานนี้เลยยิ่งถูกใจใหญ่” กุลธิดา หิมะคุณ นักศึกษา เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี
*บทสรุปของกระแสวัฒนธรรมที่หลั่งไหล
การมีเมด คาเฟ่หรือการแต่งคอสเพลย์อาจมองดูเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ หรือเป็นการรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาโดยละทิ้งความเป็นไทยที่เคยมี แต่ทวีชัยกลับมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมีประโยชน์หรือก่อให้เกิดโทษก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลมากกว่า
“ถ้าจะให้พูดแบบกำปั้นทุบดินแบบที่ใครๆ ชอบตอบกันคงจะต้องบอกว่าด้านดีของมันก็คือดีกว่าเอาเวลาไปเที่ยวกลางคืน มั่วยาเสพติดหรืออะไรอย่างนั้น แต่จริงๆ ถ้าจะให้พูดอย่างเป็นกลางก็คือการมาทำงานหรือมารวมตัวกันที่เมดคาเฟ่ หรือการแต่งคอสเพลย์นี้มันก็คืองานอดิเรกหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและสังคมเรามากกว่า ถามว่ามันมีโทษมั้ยมันก็เป็นไปได้ แต่มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานครอบครัวและการศึกษา และกลุ่มเพื่อนมากกว่า หนึ่ง-การจัดมารวมตัวกันที่นี่พวกเขาก็ได้พบปะเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน บางคนก็เริ่มมีความรู้สึกว่าอยากจะตัดเสื้อผ้าเป็นอาชีพ หรือบางคนที่ชอบอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นก็เกิดความสนใจเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น บางคนก็เกิดแรงบันดาลใจคิดงานสร้างสรรค์การแต่งกายหรืออะไรอีกหลายๆ อย่างขึ้นมาอาจเปิดเป็นร้านหรือขายเครื่องประดับที่เกี่ยวกับคอสเพลย์ก็ได้
“เราอาจจะมองว่ามันไร้สาระหรือการหลงใหลในสิ่งเหล่านี้เหมือนกับว่าเราถูกกลืนวัฒนธรรม แต่ถ้าลองเปิดใจให้กว้างมันก็คืองานอดิเรกหนึ่งที่พวกเขาสนใจและรักที่จะทำเท่านั้น" ทวีลาภทิ้งท้าย
ใครที่เคยคิดว่าการสนใจการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์และจะทำให้เสียการเรียน ณชพงศ์ กนกสุทธิวงศ์ แขกประจำของอากิบะและเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความสนใจและรักในการ์ตูน เปิดเทอมที่จะมาถึงนี้เขากำลังจะเตรียมตัวเข้าเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่คงจะการันตีให้ได้ว่าความชื่นชอบต่อการ์ตูน ไม่ได้ทำให้เขาละทิ้งหน้าที่ต่อการเรียนไป
“มาที่นี่บ่อยสัปดาห์หนึ่ง 2-3 วัน แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมแบบนี้ก็จะมาเกือบทุกวัน รู้จักที่นี่เพราะเพื่อนแนะนำมา ปกติชอบอ่านการ์ตูนก็จะรู้จักเมด คาเฟ่อยู่แล้วว่าเป็นยังไง ตอนช่วงสอบเอนทรานซ์ก็ชอบเอาหนังสือมานั่งอ่านที่นี่สบายดี สบายใจด้วยเพราะอย่างเมดในร้าน เราก็รู้จักและเป็นเพื่อนกัน สามารถคุยเล่นกันได้ ทำให้บรรยากาศในร้านดูผ่อนคลายและเป็นกันเอง ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะชอบอะไรถ้าเรารู้จักหน้าที่และแบ่งเวลาให้ดีงานอดิเรกที่เรารักก็จะไม่ส่งผลเสียต่อตัวเราเป็นอันขาด” ณชพงศ์กล่าว
ความสนใจของวัยรุ่นไทยต่อการ์ตูน อาจไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากความเหงา ความโดดเดี่ยวในสังคม หากแต่เป็นเพียงแฟชั่นในยุคหนึ่งเท่านั้น งานอดิเรกที่พวกเขารักอาจไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นไทย แต่ถ้ามันจะเป็นทางเลือกให้พวกเขาได้ค้นพบตัวเอง ผู้ใหญ่คงไม่ต้องเข้าไปห้ามปรามหรือกีดกัน เพียงแต่คอยดูแลให้คำแนะนำ สอนให้เขารู้จักแบ่งเวลา พร้อมกับคงสำนึกในความเป็นไทยไว้ในใจ กระแสโลกาภิวัตน์ที่ผ่านเข้าไทยมาตามสายเคเบิลหรือทางดาวเทียม ย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญหาบานปลายต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน
***********************
เรื่อง - ตวงฤทัย สุมาลยาภรณ์