xs
xsm
sm
md
lg

มีดเมืองอุทัยธานี ศิลปะแห่งศัสตราวุธ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิลปะบนงานมีดของช่างทิน
หากพูดถึง “มีด” นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ในการตัด หั่น เฉือน สับแล้ว มีดยังถือเป็นศัสตราวุธที่ดูอันตราย น่ากลัว และน่าหวาดเสียว เพราะเกิดใครพลาดท่าไปถูกความแหลมคมของใบมีดเข้า รับรองว่าดูไม่จืดแน่นอน

กระนั้นในความคมและความน่าหวาดเสียว กลับมีเหล่าช่างแห่งจังหวัดอุทัยธานีแปลงความเสี่ยงเป็นงานศิลป์ กลายเป็นมีดอันสวยงาม ถึงขนาดที่หลายๆคนซื้อหามาเก็บไว้เป็นคอลเลกชั่นพิเศษ ที่ดูแล้วไม่ต่างจากงานศิลปะชิ้นเอกเลยแม้แต่น้อย

จากตำนานปืนเถื่อน...สู่ตำนานมีดชั้นยอด

ในอดีตอุทัยธานีเคยขึ้นชื่อในฐานะเมืองปืนเถื่อน เพราะที่นี่เป็นแหล่งปืนเถื่อนชั้นดี ทำให้ผู้คนที่อยากมีปืนไว้ในครอบครองนิยมเดินทางมาสรรหาปืนเถื่อนกันที่นี่

วิรัตน์ บัวสำลี หรือ ช่างแขก ช่างทำมีดชื่อดังแห่งจังหวัดอุทัยธานี เล่าว่า ตนเกิดมาก็เห็นพวกพี่ป้าน้าอาทำปืนกันอยู่แล้ว สำหรับหมู่บ้านที่ทำปืนกันในช่วงนั้นจะทำกันประมาณ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านหนองอีเติ่ง หมู่บ้านจักษา และหมู่บ้านหาดทะนง ซึ่งทุกคนทุกครอบครัวในหมู่บ้านจะมีอาชีพลักลอบทำปืนเถื่อนทั้งสิ้น

“สมัยที่เป็นเด็กผมจะเป็นแผนกส่งส่วย คือวันว่างเสาร์-อาทิตย์ ก็จะหิ้วอาหารกลางวันไปส่งพวกที่ทำปืนอยู่ในป่า ช่วงที่รอระหว่างพักกลางวันก็จะถูกใช้ให้แทงเหล็กหรือใช้ทำงานเล็กๆน้อยๆเป็นประจำ โดยจะถูกขู่ว่า ให้รีบทำเร็วๆ เดี๋ยวตำรวจมาจับ ผมก็เลยจะกลัวตำรวจมาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ด้วยอาชีพทำปืนเถื่อนจึงต้องหลบหลีกตำรวจอยู่ตลอด ทำให้ผมต้องคอยหนีตำรวจจนเรียกได้ว่าหลบหนีจนเก่งเลยทีเดียว” ช่างแขกเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนาน

ในอดีตชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในเมืองอุทัยฯได้ลักลอบทำปืนเถื่อนเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลประกาศให้ผู้มีปืนในครอบครองต้องเอาปืนไปขึ้นตั๋ว หรือ ขึ้นทะเบียน ทำให้ผู้คนทั่วประเทศต่างมุ่งมาที่อุทัยธานีเพื่อหาซื้อปืนเถื่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคทองของเหล่าช่างทำปืนเถื่อนเลยก็ว่าได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี พ.ศ.2519-2520 ทางการก็ได้ประกาศปราบปรามปืนเถื่อน และได้ทำการล้างบางอย่างหนักทั้งทางบกและทางอากาศโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่จับ พวกทำปืนต้องหนีหัวซุกหัวซุน ในขณะที่ช่างแขกได้เล่าว่าเขาเองก็ต้องโดดหนีลงแม่น้ำสะแกกรังว่ายข้ามฝั่งเกือบแย่ หลังจากนั้นอาชีพทำปืนเถื่อนในอุทัยฯก็ค่อยๆหมดไป

ปี พ.ศ.2520 หลังจากปราบปรามปืนเถื่อนแล้ว สมเด็จย่าได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนและได้ทรงดำริให้ช่างปืนเถื่อนทั้งหลายเปลี่ยนอาชีพมาทำกรรไกรแทน และได้ทรงจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพทำกรรไกรขึ้น

จากนั้นมาตำนานปืนเถื่อนเมืองอุทัยจึงได้ปิดฉากลง พร้อมๆกับตำนานใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากการทำกรรไกร ช่างหลายคนแตกแขนงออกมาทำหัวเข็มขัด และมีด ซึ่งช่างแขกได้เล่าถึงสาเหตุที่ตนหันมาทำมีดว่า

“ที่เริ่มมาทำมีดเนื่องจากเกิดเบื่อหน่ายจากความจำเจของการทำปืน คิดว่ามีดมีความหลากหลายทั้งมีดเดินป่า มีดปีนเขา มีดนักประดาน้ำ มีดสำหรับขี่ม้า มีดสำหรับลงเรือ มีดสำหรับตกปลา ก็เลยเกิดความสนใจและสงสัยในคุณสมบัติของมีดต่างๆเช่น มีดตกปลาว่าทำไมเวลาตกน้ำแล้วไม่จม มีดนักประดาน้ำมันทำอย่างไรทำไมต้องใช้ มันเป็นอย่างไร เมื่อศึกษาดูแล้วก็รู้ว่าเวลาดำน้ำลงไปต้องไปเจออะไรหลายอย่าง เช่น หอยมือเสือ อวนที่เรือตังเกตัดขาดทิ้งไว้ในน้ำ เราจึงต้องผลิตมีดสำหรับนักประดาน้ำโดยตรง”

จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน...สู่ศัสตราวุธชั้นเยี่ยม

ช่างแขก กล่าวถึงการทำมีดในช่วงแรกๆของตนว่า “แถวบ้านผมอยู่ในเขตห้วยขาแข้ง ทุกปีเหล่ากวางจะผลัดเขา ชาวบ้านจะเก็บเขากวาง รวมถึงไม้ต่างๆมาขาย ผมจึงเกิดความคิดที่จะนำเขากวางมาใส่ด้ามมีด และนำพวกไม้ต่างๆ เขาควาย มาทำเป็นด้ามด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วผมก็ได้เอางาช้าง กระดูกหน้าแข้งนกกระจอกเทศ วัว ควาย เขากระทิง หัวกระทิง มาดัดแปลงใส่ด้ามมีด และหัวเข็มขัด จนคนที่มาพบเห็นเกิดความสนใจ แต่ช่วงนั้นวัสดุเหล็กยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ เหล็กที่ใช้ทำมีดก็คือเหล็กแหนบรถยนต์ จึงเรียกมีดนั้นว่า มีดอีเหน็บ ซึ่งเป็นมีดพื้นบ้านที่คนเดินป่าบ้านเรา ต้องพกติดตัว”

ต่อมาช่างแขกได้รับการแนะนำเรื่องเหล็ก และวิธีทำเหล็กจากผู้เชี่ยวชาญ และจากลูกค้าขาประจำที่ได้สั่งเหล็กเนื้อดีจากประเทศเยอรมนีมาให้ช่างแขกลองทำดู บางครั้งก็มีเทคนิคในการจัดการกับเหล็กแต่ละชนิดมาถ่ายทอดให้ฟัง ความรู้เรื่องวัสดุ ซึ่งให้คำแนะนำถึงคุณสมบัติของเหล็กที่แตกต่าง ไปจนถึงวิธีการที่เหมาะสมสำหรับเหล็กแต่ละชนิด พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบ บางครั้งก็แถมด้วยเอกสารแปลเรื่องมีดติดมือมาฝาก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชามีดที่แตกต่างไปจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน เกิดจากการแลกเปลี่ยนความรู้กับลูกค้า ซึ่งเป็นคนรักมีดด้วยกัน ทำให้การทำมีดได้พัฒนาทั้งด้วยความรู้ใหม่ๆและด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น

หลังจากนั้นมางานมีดเมืองอุทัยฯก็ได้สั่งสมคุณภาพจนกลายเป็นงานมีดชั้นเลิศ ที่โด่งดังไปทั่วโลก หาใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่มุ่งหน้ามาหาซื้อมีดชั้นเลิศที่อุทัยธานี แต่ชาวต่างชาติทั้งญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศต่างก็รู้จักและยอมรับในงานฝีมือของช่างมีดกลุ่มหนึ่งในจังหวัดอุทัยธนี

เอกลักษณ์ของช่างทำมีดเมืองอุทัยฯ

มีดทั่วไปอาจมีลักษณะที่คล้ายๆกัน แต่สำหรับมีดของช่างแขกกลับเป็นงานฝีมือที่โดดเด่นไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่น้อย

“จุดเด่นในการทำมีดของเราคือเน้นการทำมีดเฉพาะบุคคล จะทำมีดเพื่อคนใช้มีด โดยลูกค้าที่มาสั่งทำมีดจะต้องวาดมือขนาดเท่ามือจริงลงบนกระดานเพื่อทำด้ามมีดให้เหมาะกับขนาดและลักษณะมือของผู้ใช้”

มีดหนึ่งเดียวในโลก

นอกจากมีดช่างแขกแล้ว “มีดช่างทิน”ผลงานสร้างสรรค์ของ ช่างทิน หรือ เศรษฐา แตงไทย นับเป็นหนึ่งในงานมีดชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กัน แต่ว่า ณ วันนี้ช่างทินไม่สามารถทำให้ใครได้อีกแล้ว เพราะเขาได้อำลาจากโลกนี้ไปในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ด้วยวัยเพียง 43 ปี เท่านั้น พร้อมกับได้ทิ้งมรดกการทำมีดไว้ให้กับสุทธินันท์ แตงไทย หรือ ช่างจุ้ย ผู้เป็นลูกชายให้สืบสานศิลปะการทำมีดในแบบของช่างทินต่อไป

“คุณพ่อหรือช่างทิน จะถือว่าเอกลักษณ์ของมีดช่างทินที่โดดเด่นจนกลายเป็นหนึ่งในของดีแห่งเมืองอุทัย ก็คือการทำด้ามมีด ที่ช่างทินมักจะหาวัสดุที่แปลกๆมาทำ ไม่ว่าจะเป็น เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ ไม้มะเกลือ งาช้าง หรือวัสดุที่มีความแข็งอื่นๆ ซึ่งของทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมายช่างทินถึงจะทำ และก็พยายามที่จะทำให้ไม่ซ้ำแบบใคร เป็นมีดเล่มเดียวหนึ่งเดียวในโลก ถือเป็นงานศิลปะที่ต้องทำจากความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว และผสมผสานกับจิตวิญญาณอันแน่วแน่ เพื่อให้เกิดเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าขึ้นมา สำหรับการทำมีดที่คุณพ่อ(ช่างทิน)ถือว่าภาคภูมิใจมากก็คือ การได้ทำมีดที่ออกแบบอย่างสวยงามและแปลกตาให้กับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติที่โด่งดัง”ช่างจุ้ยกล่าว

สำหรับวิธีการทำมีดในแบบของช่างทินนั้น ช่างจุ้ย เล่าว่า อย่างแรกคือขั้นตอนการเลือกวัสดุในการทำมีด เริ่มตั้งแต่ด้าม ด้ามจะทำมาจากไม้ที่หาได้จากบริเวณหมู่บ้าน ส่วนตัวใบมีดได้มาจากเหล็ก เมื่อก่อนหาเหล็กได้ในประเทศไทยในปัจจุบันเหล็กของไทยมีความคงทนสู้ต่างประเทศไม่ได้ เพราะที่ต่างประเทศเขาจะแยกเป็นประเภทเหล็กอย่างชัดเจน เช่นเหล็กทำมีด เหล็กทำงานก่อสร้าง แต่ของไทยจะเป็นเหล็กรวมกันหมด ทำให้เวลานำเหล็กมาทำมีดประสิทธิภาพด้อยกว่า ทางร้านจึงเลือกใช้เหล็กของต่างชาติแทนเพื่อคุณภาพของมีด

ในการทำมีดแต่ละครั้ง เราจะต้องพูดคุยถึงความต้องการของลูกค้าก่อนว่าต้องการนำไปทำอะไร นำไปใช้งานจริงหรือไว้โชว์อยากได้ลวดลายแบบไหน เพราะลูกค้าแต่ละคนก็มีรสนิยมแตกต่างกันออกไปจึงต้องพูดคุยกันเพื่อความพอใจสูงสุดของลูกค้าเอง

หลังจากเตรียมวัตถุดิบและออกแบบเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการขึ้นรูปเย็น คือการใช้ใบเลื่อยตัดเหล็ก ในขณะที่ตัดนั้นก็จะใช้แบบที่ร่างไว้วางทาบไปบนเหล็ก แล้วนำเลื่อยตัดตามแบบที่ร่างไว้ การเลื่อยลายนั้นจะใช้มือทำทั้งหมด เพราะว่าเหล็กที่นำมาตัดนั้นไม่สามารถเลื่อยด้วยเลื่อยไฟฟ้าได้ เพราะเมื่อเหล็กโดนความร้อนจะแข็ง ทำให้การตบแต่งรูปทรง ลวดลายจะลำบาก จึงใช้วิธีการโบราณ คือการใช้มือเลื่อยแทน

เมื่อเลื่อยด้วยมือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย โดยการตะไบให้เข้ารูปทรง เมื่อแต่งรูปทรงเรียบร้อยแล้ว ก็ประกอบด้าม ถ้าเป็นมีดแบบ “โบวี่” ก็จะมีที่กำบังมือหรือกาดมือด้วย เพราะป้องกันคมมีดมาโดนมือ เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆมาประกอบกันก็จะเก็บรายละเอียดอีกรอบหนึ่ง เป็นการตบแต่งขั้นสุดท้ายก่อนจะนำตัวมีดไป ชุบแข็ง เข้าเตาอบไฟฟ้า

หลังจากนั้นนำส่วนประกอบทั้งหมดถอดแยกออกจากกัน เพื่อนำใบมีดไปลับให้คมมากกว่าเดิม เพราะใบมีดที่ประกอบในตอนแรกจะรับคมแค่ 70% เพราะถ้าลับให้คม 100% ก็จะทำให้เกิดอันตรายเวลาประกอบด้ามได้ จึงต้องนำตัวใบมีดมาลับคมให้ได้ 100% อีกครั้ง แล้วจึงนำใบมีดเข้าเตาอบไฟฟ้าอีกรอบ การเอามีดเข้าเตาอบต้องดูด้วยว่าเหล็กที่ใช้ทำมีดนั้นมาจากประเทศอะไร เพราะเหล็กในแต่ละประเทศจะใช้เวลาอบแตกต่างกัน

แล้วเหล็กที่สั่งมานั้นจะมาพร้อมกับน้ำมัน เพราะก่อนเข้าไปอบนั้นจะต้องชุบน้ำมันของเขาเพื่อความแข็งคงทน อยู่ตัวของมีด พอชุบน้ำมันแล้วนำไปอบเหล็กจะเปลี่ยนจากสีขาวกลายเป็นสีดำ อบเสร็จจะขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 100 มาขัดทุกชิ้นส่วน ทั้งใบมีด ด้ามมีด กาดมีด ขัดจนใบมีดที่ติดน้ำมันเป็นสีดำกลายเป็นสีขาวดังเดิม

แต่ลูกค้าบางรายต้องการใบมีดสีดำ ก็จะไม่ขัดให้ขาว จะแค่ขัดเก็บรายละเอียดเล็กน้อย การขัดจะใช้กระดาษทรายเบอร์100 จนถึงเบอร์ 1000 จะขัดด้วยมือและขัดด้วยเครื่องเจียร เมื่อขัดถึงเบอร์ 1000 แล้วก็จะทดสอบความคม และความคงทนของใบมีดด้วยการฟันท่อนไม้ก่อนหนึ่งครั้ง เมื่อฟันไปแล้วใบมีดไม่บิ่น ไม่เสียรูปทรงก็แสดงว่าใช้การได้ เพราะหัวใจของมีดที่ดีคือความแข็งแรงคงทน

เหล็กในการทำมีดที่ดี คือเหล็กที่ไม่แข็งจนเกินไป เพราะถ้าแข็งมากไปเวลานำไปฟันมีดจะบิ่นง่าย เมื่อทดสอบโดยการฟันท่อนไม้แล้วผ่านเรียบร้อย ก็นำมาเก็บรายละเอียดโดยขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์1000 อีกครั้ง และจึงนำไปขัดให้ขึ้นเงา โดยใช้เครื่องมอเตอร์ที่มีผ้าติดอยู่ จึงสอดมีดเอาไปขัดๆ แล้วจึงนำไปประกอบให้สมบูรณ์ ที่ต้องแยกส่วนประกอบเพราะชิ้นส่วนอย่างอื่นที่ไม่ใช่เหล็กไม่สามารถเข้าเตาอบได้ ประกอบเสร็จแล้วก็นำมาเก็บรายละเอียด ดูน้ำหนักของมีด ว่าเหมาะมือหรือไม่ ถนัดมือหรือไม่ นำไปปัดและขัดเงาให้เรียบร้อย และดูที่ใบมีดว่ายังคม 100% อยู่หรือไม่ ที่ใบมีดเกิดรอยขีดข่วนหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเช็ดทำความสะอาด

ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเป็นเพียงขั้นตอนคร่าวๆในการทำมีดเท่านั้น เพราะการทำจริงๆแล้วต้องอาศัยความอดทน ความตั้งใจ และความประณีตเป็นอย่างมาก มีดทุกเล่มเป็นมีดทำมือ มีดแต่ละเล่มจึงไม่เหมือนกันซะทีเดียว จนอาจกล่าวได้ว่ามีดที่ช่างมีดอุทัยฯทำนั้นเป็นมีดที่มีเพียงเล่มเดียวในโลกก็ว่าได้

สำหรับอนาคตของการทำมีดในอุทัยฯนั้น ช่างทำมีดหลายๆ คนได้แสดงความเป็นห่วงไปในทำนองเดียวกันว่า แม้ปัจจุบันจังหวัดอุทัยฯจะยังมีช่างทำมีดในลักษณะที่เป็นงานศิลปะอยู่จำนวนมาก แต่สำหรับแนวโน้มในอนาคตคาดว่าจะค่อยๆ เลือนหายและค่อยๆหมดไป เพราะช่างเก่าๆค่อยๆล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะทำกัน เนื่องจากกว่าจะได้มีดมาแต่ละเล่มค่อนข้างยากลำบาก ทำให้หนทางของคนที่จะมาเป็นช่างมีดตัวจริงนั้นหมดไปเรื่อยๆ

และนี่ก็เป็นเสียงสะท้อนของช่างทำมีดแห่งเมืองอุทัยฯ ศัสตราวุธที่ดูน่ากลัว น่าหวาดเสียว และอันตรายในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับช่างมีดส่วนหนึ่งของเมืองอุทัยฯกลับมองมีดเป็นงานศิลปะชั้นดี ที่ ณ วันนี้มีดเมืองอุทัยฯได้กลายเป็นหนึ่งในของดีที่เชิดหน้าชูตาให้จังหวัดอุทัยธานีไปแล้ว


*************
ทีมข่าวท่องเที่ยว

มีดสลักลวดลายสวยงามของช่างแขก
ช่างแขกหนึ่งในช่างมีดฝีมือเยี่ยมแห่งอุทัย




ช่างทำมีดในบ้านช่างทินกำลังขะมักเขม้นกับการรังสรรค์ผลงาน
ที่บ้านช่างแขกใช่ว่าจะมีแต่มีดเท่านั้นอาวุธอื่นๆก็ยังมี
กำลังโหลดความคิดเห็น