หลังจากตกระกำลำบากบนรถทัวร์นานกว่า 12 ชั่วโมง เชียงของก็รอต้อนรับอยู่ตรงหน้า เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้กลับมาเยือนเมืองสงบๆ ริมฝั่งน้ำของแห่งนี้ และก็เหมือนครั้งที่ผ่านมา ทันทีที่ลงจากรถ ท่วงทำนองลมหายใจก็เฉื่อยช้าลงโดยอัตโนมัติตามประสาคนเกียจคร้านจากเมืองหลวง
ครั้งก่อน เรามาเชียงของเพื่อตามหาคำตอบที่สายน้ำกกทิ้งคำถามไว้ให้ ...ใครล่ะจะกล้ายืนยันว่าเราได้คำตอบจากน้ำของ แต่ก็ช่างเถอะ เพราะครั้งนี้เราไม่ได้กลับมาฟังคำตอบ แต่เรามาตามหาคนหาปลา
คนที่เป็นแฟนนวนิยายผจญภัย ‘เพชรพระอุมา’ ของ ‘พนมเทียน’ รู้แน่แก่ใจว่า ‘รพินทร์ ไพรวัลย์’ คือจอมพรานที่เก่งกาจขนาดไหน รพินทร์คือพรานป่า ส่วนคนที่เรากำลังตามหาคือพรานปลาแห่งเชียงของที่มีชื่อเรียกน่าเกรงขามว่า
เสือตาไฟ พรานปลาผู้ใช้สายตาคมกริบเป็นอาวุธ
ปลาน้อยลง สายน้ำของขุ่นข้น ความเปลี่ยนแปลงหลั่งไหลถึงเชียงของ ประเพณี พิธีกรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมกำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ
-1-
พลิกดูปฏิทินการท่องเที่ยวของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วันที่ 18 เมษายนใต้ฟ้าเชียงของของทุกปีถูกบรรจุเข้าไว้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว
เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮักเชียงของคนหนึ่งพาเราไปที่ บ้านหาดไคร้ ริมฝั่งของ เพื่อชมพิธีกรรมเซ่นสรวงเจ้าพ่อปลาบึกประจำปี บริเวณงานมีซุ้มปะรำพิธีประดับด้วยผ้าสีสดตั้งอยู่ วัยรุ่นหนุ่ม-สาวในชุดแต่งกายพื้นเมืองยืนรอเพื่อร่วมขบวนแห่เป็นกลุ่มๆ ขณะที่ชาวเชียงของก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยว สื่อมวลชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเก็บภาพและเรื่องราวกลับไป
“เมื่อก่อนเวลาล่าปลาบึกเริ่มจากการใช้ฉมวก หลังจากนั้นก็มีการคิดค้นวิธีต่างๆ สุดท้ายก็ใช้อวน ซึ่งผมคิดว่าต่อไปถ้าเครื่องไม้เครื่องมือเจริญกว่านี้ปลาบึกไม่รอดแน่ แต่เราโชคดีที่มีกลุ่มอนุรักษ์เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ปลาบึก จึงมีการขอให้หยุดจับและหันมาอนุรักษ์แทน แต่ในเชิงวิชาการตอนนี้ปลาบึกไม่สูญพันธุ์แล้ว เนื่องจากเราสามารถเพาะพันธุ์เองได้”
นวพล อุ่ยอุทัย นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเวียงเชียงของ เล่าถึงการล่าปลาบึกของชาวเชียงของ และบอกว่าประเพณีเซ่นสรวงเจ้าพ่อปลาบึกเป็นประเพณีเก่าแก่ของพรานปลาที่จะทำกันก่อนลงหาปลา ด้วยความเชื่อว่าปลาบึกเป็นปลาเทพเจ้า เป็นปลาที่มีผีคอยดูแลรักษา ก่อนจับจึงจำเป็นต้องขอขมาลาโทษเสียก่อน
ยิ่งเวลาล่วงเลย แดดแรงขึ้น แต่ผู้คนก็มากขึ้น ทุกคนกำลังเฝ้ารอขบวนแห่เรือประมาณ 20 ลำที่จะล่องลงมาตามสายน้ำของเพื่อมาร่วมพิธีที่บริเวณบ้านหาดไคร้
พิธีกรรมเป็นไปอย่างเอิกเกริก ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนนำเครื่องบวงสรวงขึ้นสู่ปะรำพิธีและกล่าวคำขอขมาลาโทษเจ้าพ่อปลาบึก เพื่อขอปลาบึกสำหรับเลี้ยงชีวิตคนหาปลา ทั้งยังมีริ้วขบวนแห่แหน มีการรำถวายเจ้าพ่อปลาบึก การแสดงเจิง (ศิลปะการต่อสู้ชนิดหนึ่งทางภาคเหนือ) การตีกลองสะบัดชัย มหรสพดนตรีลูกทุ่ง ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีของมัน
แม้ว่าในคำบริกรรมของพ่อเฒ่าจะเอ่ยปากขอปลาบึกจากผี จากแม่น้ำ แต่ความเป็นจริงทุกวันนี้ไม่มีการจับปลาบึกแล้ว เนื่องจากปลาบึกได้รับการบัญญัติให้เป็นสัตว์สงวน หากใครจะจับต้องเป็นไปเพื่อการศึกษาเท่านั้น และข้อเท็จจริงอีกข้อก็คือปลาบึกมีน้อยลง
-2-
เราพยายามสืบหาคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเสือตาไฟ หลายคนที่เราได้มีโอกาสพูดคุยต่างรู้ว่าเสือตาไฟคืออะไร แต่ที่ตอบไม่ค่อยได้ก็คือเชียงของยังหลงเหลือเสือตาไฟอยู่กี่คน
เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮักเชียงของคนเดิมแนะนำให้เรารู้จักกับพ่อเฒ่าวัย 67 ปีคนหนึ่ง เสาร์ รัตนไตร พ่อเสาร์เป็นคนประกอบพิธีบวงสรวงปลาบึกมา 10 กว่าปี หลังจากหน้าที่ของพ่อเสาร์สิ้นสุดและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของการแสดงต่างๆ พ่อเสาร์จึงแยกตัวออกมาพูดคุยกับเราเกี่ยวกับพิธีกรรม และเราตั้งใจว่าพ่อเสาร์คงพอจะรู้จักเสือตาไฟที่ยังมีชีวิตอยู่
เราถามคำถามแรกต่อพ่อเสาร์ว่ารู้จักเสือตาไฟหรือเปล่า พ่อเสาร์ตอบว่ารู้จัก ด้วยลางสังหรณ์อะไรบางอย่างที่กระทุ้งเตือนหัวใจอยู่ข้างใน ทำให้เราถามพ่อเสาร์ไปอีกครั้งว่า “พ่อเสาร์เป็นเสือตาไฟหรือเปล่า?”
“แม่น”
ในที่สุดเราก็เจอคนที่เรากำลังตามหา จากคำบอกเล่าที่เราได้ยินมาจากคราวก่อน เสือตาไฟคือคนหาปลาที่ใช้วิธีดูฟองคลื่นในแม่น้ำของ เนื่องจากปลาบึก ปลาเลิม ปลาเพี้ยะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ เวลาที่มันว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมาโดยอยู่ใกล้ผิวน้ำ พรานปลาจะสามารถสังเกตเห็นฟองคลื่นได้และส่งสัญญาณให้แก่คนหาปลาที่อยู่ในเรือเป็นผู้จับ ว่ากันว่าเสือตาไฟที่เก่งกาจสามารถดูปลาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ดูจากฟองคลื่นก็รู้ได้ว่าปลาตัวนั้นเป็นปลาอะไร เป็นปลาตัวผู้หรือตัวเมีย!!
“สมัยก่อนเสือตาไฟดูรู้หมดว่าเป็นตัวผู้ ตัวแม่ ถ้าปลาตัวผู้มันจะว่ายลิ่วๆ มันไม่หยุด ฟองคลื่นมันจะแหลมน้อย แต่ถ้าตัวเมียมันจะหยุดๆ จ้องๆ เพราะมันหวงไข่มัน ปู่ย่าตายายบอกว่าถ้าตัวผู้มันจะมาเร็ว แต่ถ้าตัวเมียมันจะมาช้า ตัวแม่ฟองคลื่นจะถี่ ตัวผู้จะฟองห่าง”
พ่อเสาร์เล่าว่าเริ่มหาปลามาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ในการหาปลาจากคนเฒ่าคนแก่และพ่อของตนซึ่งก็เป็นเสือตาไฟเช่นกัน
“ไปตอนกลางคืนสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า เราจะไปนั่งอยู่เกาะกลางแม่น้ำ พอเห็นเงาปลาก็เอาไฟฉายส่งสัญญาณให้เรือที่อยู่ทางเหนือขึ้นไป พอเรือเห็นสัญญาณก็จะปล่อยนาม (เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง) วนมาหาปลาที่กำลังว่ายขึ้นไป ลุงจะบอกเขาด้วยว่าต้องขว้างหินทางไหน ปลาไปถึงไหนแล้ว บอกให้เอาเรือเข้าๆ นี่พูดถึงปลาเลิม (ปลาเทโพ)”
แต่ถ้าเป็นปลาบึกจะใช้เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘กวัก’ มีลักษณะเป็นถุง ปากถุงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 เมตร ความลึกประมาณ 5 เมตร วิธีจับปลาบึกในสมัยก่อน คนที่เป็นเสือตาไฟจะต้องขึ้นไปอยู่บนห้างสูงที่สร้างขึ้นบนริมฝั่งหรือถ้ามีต้นไม้ใหญ่อยู่บริเวณนั้นก็ขึ้นต้นไม้แทน
พุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกเชียงของ เล่าว่าคนที่เป็นเสือตาไฟนอกจากสายตาต้องดีแล้ว ยังต้องมีความอดทนสูง ไม่ใช่ว่าขึ้นไปนั่งชั่วโมงสองชั่วโมงแล้วจะได้ปลา บางครั้งอาจต้องนั่งเฝ้าเป็นวันเพื่อสังเกตฟองคลื่น เพราะถ้าปล่อยให้เสือตาไฟคนไหนเห็นก่อนนั่นหมายความว่าปลาชะตาขาดตัวนั้นจะต้องเป็นของคนที่เจอก่อน
พ่อเสาร์อธิบายว่าการจับปลาบึกในสมัยก่อนที่จะมีอวนแบบเดี๋ยวนี้ว่า
“พอเสือตาไฟเห็นว่าปลามาแล้ว ก็จะส่งสัญญาณให้คนจับในเรือที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือน้ำประมาณ 200 เมตร คนเรือก็จะพายเรือมาดัก ขวางเรือกับลำน้ำแล้วก็ปล่อยกวักลงน้ำ คนหนึ่งเหยียบปากกวักไว้ที่หัวเรือ อีกคนอยู่ตรงท้ายเรือ พอปลาบึกว่ายเข้ามาใกล้คนที่อยู่บนเรืออีกคนจะโยนก้อนหินลงไปในน้ำพร้อมๆ กันด้านหางปลากับสองข้างของปลา ปลามันจะตกใจแล้วพุ่งเข้าไปในกวัก กวักที่คนบนเรือเหยียบไว้ก็จะหลุดจากเรือ ปล่อยให้ปลาบึกมันลากไป แล้วค่อยสาวเชือกกวักขึ้นมา”
ฟังไปฟังมาเราก็เกิดความสงสัยขึ้นตะหงิดๆ ว่า แล้วถ้าเกิดปลาบึกที่ว่ายมา อยู่ดีๆ มันเกิดเปลี่ยนทิศทาง ไม่ว่ายตรงไปทางเรือที่ลงกวักเอาไว้จะทำยังไง
พ่อเสาร์บอกว่าแม่ย่านางเรือขวัญอ่อน
“ถ้าขวางเรือแล้วจู่ๆ ปลาบึกว่ายเฉออกจากแนวที่เรือขวางแปลว่าแม่ย่านางเรือไม่กินปลา ขวัญแม่ย่านางเรือมันน้อย แพ้ปลา ปลาบึกมันมีผี มีเจ้าคุ้มครองอยู่ เรือขวัญมันอ่อน ต้องเลี้ยงเรือ ต้องเอาไก่เป็นๆ ไปฟาดเรือให้ตายตั้งแต่หัวถึงท้าย ให้เลือดตกใส่เรือ ให้เรือกินเลือด ปลุกแม่ย่านางเรือให้ตื่น ถ้าแม่ย่านางลุกแล้วก็เอาไก่ 2 ตัว เหล้าขวดหนึ่งไปเซ่น บริกรรมคำบวงสรวง ถ้าไม่ทำอย่างนี้ออกเรือยังไงก็จับปลาไม่ได้”
ด้วยวิธีหาปลาแบบเสือตาไฟ ถึงแม้ว่าชาวบ้านอยากจะจับให้ได้มากก็เป็นไปไม่ได้ เพราะข้อจำกัดในด้านเครื่องไม้เครื่องมือ อีกทั้งยังมีจารีตประเพณีของพรานปลากำกับอยู่อีกชั้นหนึ่ง ในอดีตจึงมีปลาบึกชะตาขาดไม่มากตัวต่อปี
-3-
ปี 2539 เชียงของได้มีโอกาสรับเสด็จ เจ้าชายอากิชิโน แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเสด็จฯ มาทอดพระเนตรชมการจับปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกในปีนั้นจึงจัดขึ้นอย่างใหญ่โตอลังการ มีริ้วขบวนแห่แหน มีการแสดงพื้นบ้าน และครั้งนั้นก็คือที่มาของการถูกบรรจุพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกลงไปในปฏิทินท่องเที่ยวของ ททท.
ครั้นเมื่อสืบสาวย้อนกลับไปสู่อดีต พ่อเสาร์บอกกับเราว่าแต่ก่อนพิธีกรรมไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ การบอกกล่าวขอโทษ ขอปลา จากเจ้าพ่อปลาบึกก็ไม่ได้สั้นๆ เพียง 10 นาที แต่ยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 นาที แต่เพราะนี่คือการท่องเที่ยวย่อมไม่มีใครอยากพิรี้พิไรกับอะไรที่นานเกินความอดทน พิธีกรรมที่จัดขึ้นใน พ.ศ. นี้จึงเป็นเพียงรูปแบบที่จัดขึ้นเพื่อจำลองพิธีกรรมจริงในอดีต
จากนิตยสาร Mekong Post ลำดับที่ 3 ปีที่ 1 ระบุไว้ว่า
‘การจับปลาใหญ่ซึ่งเป็นปลายักษ์และเชื่อกันว่ามีเจ้าหรือผีลวงเป็นเจ้าของหมายถึงผีผู้ใหญ่ในวังปลา จำเป็นต้องทำพิธีกรรมขอปลาจากผี ทางเชียงของเรียกว่า ผีโพ้ง โดยเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นง่ายๆ เป็นการภายในของใครของมัน ไม่พิถีพิถันอะไรมากมาย และคนภายนอกที่ไม่จับปลาไม่สามารถเข้ามาร่วมในพิธีได้'
ส้อ จินะราช หรือ พ่อส้อ เสือตาไฟคนหนึ่งเคยพูดไว้ในนิตยสารฉบับนี้ว่า “พิธีบวงสรวงที่มีการแห่แหนตุงอย่างสมัยนี้ มันของปลอม มันเป็นเหยื่อล่อให้คนมาเที่ยว”
อีกทั้งคำว่า ‘เสือตาไฟ’ ก็ไม่ใช่คำที่คนเชียงของเรียกคนหาปลาด้วยวิธีการดูคลื่น คนที่นี่เขาเรียกว่า ‘ผกลอย’ ซึ่งแปลได้ประมาณว่าแอบดู ส่วนคำว่าเสือตาไฟนั้น สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการตั้งชื่อของสื่อมวลชนเสียมากกว่า เขาพูดถึงกระแสการท่องเที่ยวด้วยว่า
“กิจกรรมใดก็ตามถ้ามันเป็นแค่เรื่องเฉพาะหน้า แค่เรื่องภาพลักษณ์ ผมว่ามันก็ไม่มีความหมายอะไรเท่าไหร่ ถึงแม้มันจะเป็นความยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเป็นพิธีกรรมที่ความหมาย ให้ข้อมูล สร้างแรงจูงใจให้คนหันมาดูแลรักษาธรรมชาติ พิธีกรรมนั้นก็จะมีความหมายมากกว่าพิธีกรรมที่จัดเพื่อการท่องเที่ยว เราไม่ได้ปฏิเสธการท่องเที่ยว แต่ว่าจะต้องทำให้คนคิดถึงความหมายของพิธีกรรมให้มากกว่านี้”
เราถามพ่อเสาร์ว่าตอนนี้ในเชียงของเหลือเสือตาไฟอยู่สักกี่คน ถ้ารวมตัวพ่อเสาร์ด้วย พ่อเสาร์รื้อฟื้นความทรงจำและบอกว่าน่าจะเหลืออยู่ 3 คน คือลุงยืน เฒ่าสีซึ่งตอนนี้ก็อายุมากจนไม่สามารถสื่อสารได้เสียแล้ว และตัวพ่อเสาร์เอง
พ่อเสาร์บอกว่าเสือตาไฟที่แกยอมรับว่าฝีมือจัดจ้านก็คือพ่อส้อนั่นเอง แต่เรามาช้าเกินไป เพราะพ่อส้อ จอมพรานปลา เสือตาไฟแห่งเชียงของเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
-4-
ทุกอย่างบนโลกคือเครื่องเซ่นสังเวยของเวลาและความเปลี่ยนแปลง
ทุกคนที่เราได้สนทนาต่างพูดไปในทำนองเดียวกันว่าอีกไม่นานข้างหน้าเสือตาไฟคงสูญหายไปตลอดกาล เสือตาไฟ 3 คนสุดท้ายแห่งเชียงของก็ไม่มีใครคิดสืบทอดวิชานี้ต่อให้แก่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากการจับปลาแบบเสือตาไฟเป็นวิธีเก่าแก่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ลงแรงอีกแล้ว
พ่อเสาร์เล่าว่าหลังจากที่คนหาปลาเปลี่ยนมาใช้อวนและเรือยนต์แทนเครื่องมือสมัยก่อน การจับปลาบึกก็จับได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งเฝ้าดูคลื่นทั้งวันเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของการลดลงของปลาบึกจนทำให้ต้องมีการห้ามจับดังที่กล่าวไปแล้ว
“การจับในปริมาณเยอะย่อมมีผลต่อการแพร่พันธุ์ของปลาบึก นั่นเป็นผลกระทบส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ข้อสรุปว่าปลาบึกลดลงเพราะชาวประมงล่า แต่ต้องมองในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของแม่น้ำโขงด้วย เพื่อจะให้ความเป็นธรรมแก่คนที่มีวิถีหากินอยู่กับธรรมชาติ” สมเกียรติอธิบาย
เพราะนอกจากเรื่องเทคโนโลยีการจับปลาที่พัฒนาขึ้นแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและจีนก็มีผลอย่างสำคัญที่ทำให้ปลาบึกลดจำนวนลง การสร้างเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงในประเทศจีน ทำให้วงจรการขึ้น-ลงของน้ำตามธรรมชาติถูกบิดเบือนโดยน้ำมือมนุษย์ เล่นเอาปลาใหญ่ ปลาเล็ก และผู้คนสองฝั่งของเกิดอาการสับสนในชีวิตไปตามๆ กัน แม่น้ำของขุ่นข้นขึ้น เรือยนต์เพิ่มจำนวนขึ้น สมเกียรติยอมรับถึงอนาคตริบหรี่ของภูมิปัญญาเสือตาไฟว่า
“เราตั้งสมมติฐานว่าแต่ก่อนแม่น้ำโขงยังใส ไม่ได้ขุ่นข้นเหมือนเดี๋ยวนี้ มันยังสามารถเห็นปลาขนาดใหญ่ที่ผ่านไปผ่านมาได้ ทั้งปลาบึก ปลาเลิม ปลาเพี้ยะ แต่พอแม่น้ำโขงเริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มขุ่นข้นขึ้น การสังเกตด้วยสายตาอาจจะมองไม่เห็น เรือก็เพิ่มขึ้นซึ่งปลาบึกหรือปลาอีกหลายชนิดจะมีการรับรู้ที่ไวมาก มันก็เลยไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็น จึงทำให้ภูมิปัญญาความรู้ของชาวบ้านเริ่มหายไป
“การรักษาภูมิปัญญาตรงนี้จึงเป็นเรื่องยากอยู่ที่จะรักษาเอาไว้ เพราะว่าธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว กระแสน้ำก็ขึ้นลงผิดปกติ แล้วอนาคตเรือก็จะเพิ่มขึ้น เขื่อนก็จะสร้างเพิ่มขึ้น การที่จะกลับมาใช้ความรู้ท้องถิ่นคงเป็นเรื่องยาก เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่มีใครมองเห็นปลาบึกก็ไม่มีใครไปยืนมอง”
ทุกวันนี้องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ และชาวเชียงของจึงได้แต่พยายามปกป้องสายน้ำของและปลาบึกอย่างสุดกำลัง ขณะที่คนหาปลาบึกก็แขวนแห แขวนอวนเลิกล่า เข้าร่วมปกป้องสายน้ำของ และรอคอยการส่งเสริมอาชีพที่ยังไม่มีวี่แวว
“ก่อนหน้านั้นทางจีนจะระเบิดเกาะแก่ง ทางเราก็ต่อสู้ เพราะการระเบิดเกาะแก่งมันมีผลกระทบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้าน เราไม่ใช่ว่าจะจับปลาบึกอย่างเดียว ปลาเล็กๆ เราก็จับ เกษตรริมโขงเราก็ทำ พวกเราจึงห่วงว่าถ้ามีการระเบิดเกาะแก่งออก น้ำอาจจะไหลเชี่ยว น้ำจะซัดตลิ่ง ดอนทรายต่างๆ จะหายไป ส่วนข้อเรียกร้องของเราคือการชดเชยอาชีพ เพราะปีเศษแล้วที่ยังไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ชาวบ้านก็ท้อ สมัยก่อน หน้าร้อนถ้าเราไม่ลงน้ำจับปลาก็ไม่รู้จะทำอะไร บางคน 10 ปีไม่เคยได้ปลาบึกสักตัวก็มี ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียเวลาทำมาหากิน แต่เขาไม่มีทางเลือก ถ้าเขามีทางเลือก มีอาชีพเสริม เขาก็คงจะเปลี่ยน” พุ่มอธิบายความอึดอัดของคนหาปลาให้เราฟัง
......................
หากวัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม เสือตาไฟ-วัฒนธรรมภูมิปัญญาการหาปลาของคนเชียงของที่ถูกความเปลี่ยนแปลงเฆี่ยนตีเสียจนฉีกขาดออกจากความสัมพันธ์กับคนและสายน้ำ เหลือแค่ซากหักพังของพิธีการที่อิงแอบกับการท่องเที่ยว มันก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่เสือตาไฟจะต้องสูญหายไปในอีกไม่นาน
“เดี๋ยวนี้ใช้อวน มองไม่เห็นคลื่นแล้ว ปลาอยู่ที่ไหนก็จับได้ จะไปถ่ายทอดการมองปลาให้ใคร ลุงนี่มันก็เฒ่าแล้ว ลูกลุงเขาก็ไม่มาทำงานแบบนี้แล้ว เลยเลิก ขายเรือ ขายอวนให้ชมรมปลาบึก คนที่อยากเป็นเสือตาไฟ หายไปหมดแล้ว”
พ่อเสาร์ รัตนไตร เสือตาไฟคน (เกือบ) สุดท้ายแห่งเชียงของบอกทิ้งท้าย ก่อนที่ลมแม่น้ำสายหนึ่งจะพัดมาปะทะเราแล้วก็จากไป...
************************
เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล