xs
xsm
sm
md
lg

“ไคโรแพรคติก” ศาสตร์พิชิตโรคกระดูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรอบ แกรบ ....นี่ไม่ใช่เสียงขบเคี้ยวขนมกรุบกรอบ แต่เชื่อไหมว่านี่คือเสียงของช่องว่างระหว่างกระดูกข้อต่อที่คุณจะได้ยิน หากเดินเข้าไปรับการจัดกระดูก หรือเรียกอีกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ไคโรแพรคติก” ฟังดูอาจจะน่ากลัวไปหน่อยแต่ถ้าลองทำความเข้าใจกันอย่างถี่ถ้วนแล้วจะรู้ว่าการรักษาแบบไคโรแพรคติกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เช่นกันหากเอาศาสตร์แขนงนี้ไปถามในกลุ่มคนสักร้อย คงไม่ถึงครึ่งที่จะพยักหน้าพร้อมให้คำตอบว่าคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในทางกลับกันไคโรแพรคติกกำลังเป็นที่นิยมและยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแวดวงนักกีฬา และซูเปอร์โมเดล เนื่องด้วยเป็นสายวิชาชีพที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บเกี่ยวกับกระดูกมากที่สุด

ดังนั้น ไคโรแพรคติก จึงเป็นแพทย์ทางเลือกที่ไม่น่ามองข้ามได้เลยทีเดียว...

**ทำความรู้จัก “ไคโรแพรคติก”

ดร.โอ๊ต บูรณะสมบัติ นายกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ศาสตร์วิชาแพทย์ไคโรแพรคติก (Doctor of Chiropractic) เริ่มต้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมือง Davenport รัฐ lowa ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1895 หรือประมาณ พ.ศ.2438 โดยผู้ริเริ่มคนแรกคือ Dr.D.D.Palmer

ทั้งนี้ ไคโรแพรคติกมีความหมายที่มีนัยในตัวเองอยู่แล้ว กล่าวคือ คำว่า Chiropactic เป็นภาษากรีก ซึ่งคำว่า “Cheir” และ “Praktikas” มาผสมกัน ซึ่งความหมาย “รักษาด้วยมือ”

อย่างไรก็ตาม หากจะลงลึกในรายละเอียด ต้องบอกว่าไคโรแพรคติกเป็นศาสตร์วิชาการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โดยการตรวจรักษาระบบประสาท การดูแลกระดูกสันหลัง และข้อต่างๆ ในร่างกายเพื่อให้ระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จ่ายยา ใช้เข็ม หรือผ่าตัดแต่อย่างใด แต่ทำการรักษาความผิดปกติของโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือการคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งปกติ ของข้อกระดูกสันหลัง เนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นจุดศูนย์กลางของดุลยภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย ฉะนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในบริเวณนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อระบบประสาท ซึ่งควบคุมร่างกายทั้งหมดของเรา การแพทย์ไคโรแพรคติกจึงเน้นถึงความสมดุลของระบบโครงสร้างสภาวะจิต และสารเคมีต่างๆในร่างกาย

ดร.โอ๊ตเล่าต่อว่า ไคโรแพรคติกคือการแพทย์ทางเลือกที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับส่วนสำคัญของร่างกาย 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ กระดูกสันหลัง ระบบประสาท ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย และโภชนาการด้านอาหารและวิตามิน ซึ่งการทำงานภายในร่างกายของมนุษย์ถือเป็นความสำคัญส่วนหนึ่งของสุขภาพ และนั่นก็คือความเกี่ยวข้องระหว่างระบบประสาทที่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการควบคุมการทำงานของอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเรา

ดังนั้น หลักปรัชญาทางการแพทย์ของไคโรแพรคติก คือมองที่ร่างกายเป็นหลัก เพราะร่างกายมีประสิทธิภาพในการรักษาตัวเอง และควบคุมการทำงานได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากระบบประสาททำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งระบบประสาทเป็นตัวควบคุมการทำงานของร่างกาย ฉะนั้นการรบกวนการทำงานของระบบประสาทไม่ว่าจากสาเหตุใด ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดน้อยลง

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการทำที่ระบบประสาทโดนรบกวนและพบเห็นได้บ่อยครั้งคือการคลาดเคลื่อนของกระดูกสันหลัง และการคลาดเคลื่อนของกระดูกสันหลังนี้ สามารถเกิดจากอิริยาบถที่ผิดๆ อาทิ การหกล้ม ถูกกระแทก อุบัติเหตุต่างๆ ความเครียด บุคลิกภาพท่านอนไม่ปกติ ยกของหนัก บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นต้น

“การรักษาสุขภาพโดยการดูแลกระดูกสันหลังและโครงสร้างให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องจะเป็นการช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี และร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ดร.โอ๊ตกล่าว

**ป่วยไม่ป่วยก็ต้องได้รับการ “จัดกระดูก”

อย่างไรก็ตาม อาการปวดๆ ทั้งหลายที่มักเกิดขึ้นกับคนในยุคปัจจุบัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดเชื่อว่าทุกคนต่างก็เคยทำความรู้จักกับมันมาแล้วทั้งสิ้น

ทว่าแล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ายามใดที่เราเกิดความรู้สึก ปวดหัว ปวดหลัง ไหล่ ฯลฯ คืออาการที่มีสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังและสามารถเดินเข้าไปรับการรักษาได้ด้วย ไคโรแพรคติก

นายกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย อธิบายว่า อาการปวดหลังไม่ว่าจะโดยมีหรือไม่มี อาการที่แผ่กระจายไปที่ขา เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาทิ อาการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดแขน มักจะพบบ่อยในผู้ที่ทำงานในออฟฟิศและผู้ที่ขับรถมาก เนื่องด้วยความไม่เหมาะสมของอิริยาบถ รวมทั้งอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน และอาการปวดศีรษะโดยทั่วไป สามารถรักษาได้ด้วยการรักษาแบบไคโรแพรคติก ส่วนอาการอื่นๆ เช่น อาการกล้ามเนื้อตึง อาการคล้ายเป็นเหน็บ อาการชาและอาการเวียนศีรษะ สามารถสันนิษฐานหรือเป็นตัวอย่างของอาการซึ่งเกิดจากการคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งปกติของข้อกระดูกสันหลังได้

“การเคลื่อนของกระดูกสันหลัง ส่วนมากเกิดจากการที่เราทำกิจกรรมประจำวันโดยที่ไม่ระมัดระวัง เช่น การนั่ง การนอน การยืน ในท่าที่ผิด หรืออิริยาบถที่ผิด เป็นระยะเวลานานๆ การล้ม การกระแทก การยกของหนัก โดยไม่ถูกวิธี อุบัติเหตุ เช่น รถชน รถคว่ำ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษาแบบไคโรแพรคติกนั้น ก็มีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับการแพทย์ทั่วๆ ไปที่จะต้องมีการซักประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ ตรวจร่างกายทั้งกล้ามเนื้อกระดูก และระบบประสาท รวมถึงการเช็คลักษณะโครงสร้าง ร่างกายที่ผิดปกติ ตรวจเอกซเรย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย จากนั้นก็วินิจฉัยโรคและทำการรักษา และปัจจุบันในการรักษาแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 1000-1500 บาท แล้วแต่อาการของผู้ป่วยแต่ละราย”

สำหรับวิธีการรักษาแบบไคโรแพรคติกหรือการจัดกระดูกสันหลังนั้น ดร.โอ๊ต บอกว่า การจัดกระดูกสันหลังก็เปรียบเสมือนการจัดฟัน กระดูกฟันที่อยู่ตำแหน่งผิดปกติ สามารถรักษาด้วยวิธีการจัดฟัน กระดูกสันหลังก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังออกจากแนวปกติ แล้วทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทก็สามารถที่จะรักษาด้วยวิธีการ จัดกระดูกสันหลัง ซึ่งไม่ใช่วิธีการนวดดังเช่นการนวดบำบัดแบบทั่วไป แต่เป็นวิธีการใช้มือหรือเครื่องมือในการปรับแนวกระดูกสันหลังแต่ละข้อ โดยจะมีเทคนิคต่างๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการจัดกระดูกสันหลังเท่านั้น ถึงจะทำได้โดยถูกต้อง

“การรักษาไคโรแพรกติคจะทำการรักษาด้วยมือโดยไม่มีการใช้ยาหรือการผ่าตัดช่วยแต่อย่างใด โดยปกติจะใช้มือจัดข้อกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานจากตำแหน่งที่ผิดปกติให้กลับเช้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้การทำงานของระบบประสาทดีด้วย นอกจากนี้แพทย์อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือ ช่วยคลายกล้ามเนื้อ หรือลดการเจ็บปวดของคนไข้เมื่อจำเป็น สำหรับผลการรักษานั้น คนไข้บางราย รู้สึกมีอาการดีขึ้นทันทีที่ได้รับการรักษา”

“แต่บางรายต้องรับการรักษาหลายครั้งก่อนที่จะรู้สึกดีขึ้น ซึ่งเรารักษาที่ต้นเหตุของปัญหา ไม่ใช่รักษาที่อาการเท่านั้น สำหรับคนไข้บางรายที่มีอาการปวดหลังเป็นเวลานาน อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาระยะหนึ่งก่อนที่ร่างกายจะปรับตัว และเริ่มหายเป็นปกติ ขณะเดียวกันเมื่อได้รับการรักษาและหายดีแล้ว แต่ยังคงกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ โอกาสที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกก็มีสูงมากเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกัน แม้กับคนที่ไม่เป็นอะไรเลย หมอก็แนะนำให้มาทำจัดกระดูกสักเดือนละ 1 ครั้งเพื่อปรับสมดุลในร่างกาย”ดร.โอ๊ตสรุป

**อนาคต “ไคโรแพรคติก” ในเมืองไทย

เกริ่นสรรพคุณมาตั้งมากมาย เชื่อว่าใครหลายคนคงจะเริ่มให้ความสนใจการแพทย์ทางเลือกอย่างไคโรแพรคติกนี้กันบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคุณหมอหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้ว่า เหตุอันใดจึงทำให้พวกเขาสนใจในศาสตร์แขนงนี้

ดร.ธีระ รอดพ่วง รองนายกสมาคมไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงเหตุผลส่วนตัวที่เข้ามาทำงานในสายอาชีพนี้ว่า เนื่องด้วยขณะที่เรียนเตรียมแพทย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้ประสบอุบัติเหตุรถชน จนกระดูกคอเคลื่อน ซึ่งต้องใส่ปลอกคออยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ กระทั่งเพื่อนแนะนำให้ไปรักษากับแพทย์ไคโรแพรคติกซึ่งก็เป็นที่น่าแปลกใจมาก เพราะหลังจากเข้ารับการรักษาเพียง 1-2 ครั้งอาการก็เริ่มดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้สนใจและเรียนต่อทางด้านนี้จนสำเร็จการศึกษา

ทว่า ไคโรแพรคติกในประเทศไทยยังถือว่ามีคนรู้จักน้อยมาก นั่นเป็นเพราะส่วนใหญ่คนไทยมักคุ้นเคยกับการรับประทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดหลัง แต่เมื่ออาการหนักมากๆ ก็ต้องเข้ารับการผ่าตัด

ดังนั้น การที่มีไคโรแพรคติกเข้ามาในประเทศไทย ดร.ธีระศักดิ์บอกว่าเป็นทางเลือกและโอกาสที่ดีแก่ประชาชน เพราะนี่คือสิทธิในการรักษาของทุกคน ไม่ใช่รักษาแต่วิธีเดิมๆ ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ไคโรแพรคติกที่เป็นคนไทยจริงๆมีน้อยมากประมาณ 10 คน เท่านั้น จึงเป็นการดีหากในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยทำการเปิดสอนสาขาไคโรแพรคติกอย่างจริงจัง และควรทำเป็นหลักสูตรนานชาติเพราะในภูมิภาคเอเชียยังไม่มีโรงเรียนที่สอนด้านนี้โดยตรง

สำหรับหลักสูตรไคโรแพรคติกนั้น ต้องใช้เวลาในการศึกษาเหมือนการแพทย์ทั่วๆไป คือประมาณ 6-8 ปี โดยจะต้องจบวิชาพื้นฐานการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ (Pre-Medicine) ในมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเอนทรานซ์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแพทย์ไคโรแพรคติก โดยจะใช้เวลาการศึกษาอีกประมาณ 4-5 ปี ซึ่งระหว่างเรียนในช่วงปี1-2 นั้นได้ศึกษาวิชาทั่วๆไป พอเข้าสู่ปี 2 ตอนปลาย เริ่มศึกษาลงลึกในรายละเอียดเรื่องของกระดูกโดยตรง รวมทั้งได้เริ่มลงมือปฏิบัติกันจริงๆโดยใช้เพื่อนร่วมชั้นเป็นหุ่นทดลอง ภายใต้การดูแลของอาจารย์

“กระดูกสันหลังมีความสำคัญมาก แต่เวลามีการปวดเมื่อหลังคนส่วนใหญ่จะตีความไปว่าเป็นการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อธรรมดา บางคนหันไปพึ่งวิธีการนวดซึ่งก็ช่วยได้ในส่วนที่ว่าช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ กล้ามเนื้อเกร็งมากๆ จะมีผลในการเข้าไปกดทับกระดูกสันหลัง ส่งผลไปยังเส้นประสาทที่เป็นตัวควบคุมอวัยวะภายในร่างกาย ดังนั้นหากส่วนนี้ผิดปกติไปก็จะทำให้ระบบของร่างกายรวนไปหมด อีกทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้แนวโน้มของคนมีอัตราที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกสูงขึ้น เช่นการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน การใช้ชีวิตส่วนใหญ่หมดในรถยนต์ แม้กระทั่งเด็กสมัยใหม่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะปวดหลัง”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ปัจจุบันคนทั่วไปยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับศาสตร์ด้านไคโรแพรคติกอยู่บ้าง ดังนั้นแพทย์ไคโรแพรคติกในไทยจึงใช้ความพยายามกว่า 6-7 ปีในการทำเรื่องเพื่อขอใบรับรองประกอบโรคศิลปะ ซึ่งล่าสุดในพ.ศ.2549 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีพระราชบัญญัติให้การรับรองการรักษา ซึ่งเป็นวิธีการรักษาและส่งเสริมสุขภาพของร่างกายโดยเฉพาะในส่วนของกระดูกสันหลัง และเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีการใช้ยาหรือผ่าตัด ส่งผลให้ศาสตร์ด้านนี้เริ่มแพร่หลาย มีทั้งนักกีฬาและนางแบบ นิยมเข้ารับบริการ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยปัจจุบันมีคลินิกที่ให้บริการรักษา รวมกว่า 20 แห่งและมีความหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้หลายคนจะรู้จักไคโรแพรคติกกันดีกว่านี้

...และในอนาคตอันใกล้นี้ ทราบมาว่าจะมีสถาบันการศึกษา 2 แห่งในประเทศไทย ที่กำลังจะเปิดสอนการแพทย์ไคโรแพรคติกอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเริ่มในปีใด นั่นคือที่ มหาวิทยาลัยรังสิตและสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับวงการแพทย์บ้านเราที่จะต้องติดตามกันต่อไป

****************

เรื่อง - ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
ดร.โอ๊ต บูรณะสมบัติ นายกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น