xs
xsm
sm
md
lg

4 ทศวรรษ "ศึกษิตสยาม" สถาบันที่เป็นมากกว่าร้านหนังสือของปัญญาชนสยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้านหนังสือศึกษิตสยามในอดีต
ในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2510 ท่ามกลางความเปลี่ยนผันทางการเมืองและสภาพสังคมไทย ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถาบันการศึกษาเก่าแก่ของประเทศ ร้านหนังสือแห่งหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นและได้ชื่อว่าเป็น "แหล่งรวมตัวของปัญญาชนสยาม" ที่คึกคักที่สุดในยุคนั้น

จากทำเลที่คนทำมาค้าขายพากันเข็ดขยาด เพราะอยู่ตรงกับเมรุเผาผีของวัดหัวลำโพง คนหนุ่มที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั้งฝ่ายซ้ายและขวาให้เป็น "ปัญญาชนรุ่นใหม่" ในขณะนั้น นาม "ส.ศิวรักษ์" ได้เปลี่ยนห้องแถวเก่าแห่งนั้นให้กลายเป็นร้านหนังสือในอุดมคติ เพื่อให้เป็นแหล่งพบปะชุมนุมทางปัญญาแก่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยตั้งชื่อร้านหนังสือแห่งนั้นว่า "ศึกษิตสยาม"

40 ปีถัดมา ศึกษิตสยามในความรู้สึกของหลายคน มิใช่เพียงแค่ร้านหนังสือในความหมายของสถานที่สำหรับไปเลือกซื้อหาหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่นี่เปรียบได้ดุจ "สถาบัน" ที่เป็นเบ้าหลอมทางความคิดและสร้างชุมชนทางปัญญาที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย

"บ้าน" ของปัญญาชน

ชื่อร้านหนังสือ "ศึกษิต" นั้นมาจากคำของ น.ม.ส. (พระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัส) ซึ่งแปลได้ว่า Educated และเติมคำว่า "สยาม" เข้าไปด้วย โดยมีอวบ สานะเสน เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ ร้านศึกษิตสยาม เปิดร้านขายหนังสืออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2510 เป็นปฐมฤกษ์ โดยมีพระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) เป็นประธาน ร้านศึกษิตสยามยุคแรก ตั้งอยู่ที่ถนนพระรามสี่แถวสามย่าน ติดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนเฟื่องนครจนถึงทุกวันนี้

ว่ากันว่า สุวรรณี สุคนธา นักเขียนหญิงผู้ล่วงลับก็เคยพักอาศัยอยู่ชั้นบนของร้านศึกษิตสยามที่สามย่านในยุคหนึ่ง ก่อนที่ทางเจ้าของที่อย่างจุฬาฯ จะยกเลิกสัญญาเช่า รวมทั้งเทพศิริ สุขโสภา เมื่อครั้งยังเขียนภาพประกอบหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด "ฟ้าบ่กั้น" ของลาว คำหอม
ร้านหนังสือแห่งนี้จึงเปรียบเป็นเสมือน "บ้าน" ทั้งในความหมายรูปธรรมและนามธรรมของปัญญาชนในยุคสมัยนั้นหลายคน

สุปัน รักเชื้อ กล่าวในงานเสวนา "4 ทศวรรษศึกษิตสยาม กับบทบาทการเปลี่ยนแปลงสังคม" ว่า ในยุคนั้นศึกษิตสยามไม่ได้ขายเฉพาะแต่หนังสือเพียงอย่างเดียว แต่มีการนำรูปแบบของศิลปะเข้ามาประยุกต์ด้วย ซึ่งผู้ที่จะให้ภาพการนำศิลปะเข้ามาผสมผสานในร้านศึกษิตสยามยุคนั้นได้ชัดเจนที่สุด คือ เทพศิริ สุขโสภา

ศิลปินและนักเขียนที่เดินทางมาจากบ้านที่เชียงใหม่เพื่อร่วมงานครบรอบ 4 ทศวรรษศึกษิตสยาม กล่าวว่า เขาเข้ามามีร่วมกับศึกษิตสยามตั้งแต่ครั้งเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเริ่มจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสังคมศาสตร์ปริทัศน์กับส.ศิวรักษ์ "ผมไม่ได้มีความรู้อะไร ก็เรียนทางวาดๆ เขียนๆ ก็ไปช่วยเขียนป้ายบ้าง ไม่มีที่อยู่ก็ไปอาศัยร้านศึกษิตฯ ตอนนั้นอยู่ตรงข้ามวัดหัวลำโพง เขาเผาศพกันเป็นประจำ ไม่มีคนอยู่เฝ้าหนังสือเฝ้าร้าน ผมก็ไปอยู่เป็นเพื่อนพนักงานในร้านนอนที่นั่น เมื่อมีการทำกิจกรรมผมก็ได้ซึมซับเรื่อยๆ มา ได้เรียนรู้การเขียนหนังสือ การพิมพ์หนังสือ ผมไม่เคยเข้าโรงพิมพ์ มาอยู่ศึกษิตก็ได้รู้จักนักเขียนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเพื่อนๆ กันจนทุกวันนี้" เทพศิริย้อนรำลึกความหลังของสถานที่ที่เคยเป็นทั้งบ้านและโรงเรียนของเขาให้ฟัง

เมื่อเอ่ยถึงร้านศึกษิตสยาม แน่นอนว่าย่อมต้องมีภาพของการจัดงานเสวนาและอภิปรายประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมที่เข้มข้นโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นับตั้งแต่ปริทัศน์เสวนา จากวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ของ ส.ศิวรักษ์ มาจนถึงศึกษิตเสวนา ที่ร้านหนังสือศึกษิตจัดขึ้น ต่างก็ได้รวมปัญญาชนคนหนุ่มสาวจากทั่วทุกแขนง ทั้งนักคิดนักเขียน นักกฎหมาย นักการศึกษา พระสงฆ์ ไปจนถึงศิลปิน และนิสิตนักศึกษา อาทิ ดวงมน ปริปุณณะ จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, อาทร เพชรรัตน์ วิยากร เชียงกูล และรังสรรค์ ธนะพรพันธ์ จากธรรมศาสตร์, วิชัย โชควิวัฒน นักศึกษาแพทย์จากศิริราช และพิภพ ธงไชย จากวิยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ เป็นต้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าวว่า ศึกษิตสยามคือร้านหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ ดังนั้น จึงมีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่ร้านหนังสือธรรมดา หากเป็นร้านหนังสือที่มุ่งหาหนังสือสำหรับคอหนังสือที่เป็นนักอ่านระดับจริงจัง หรือ Serious Reader ไม่ใช่หนังสือทั่วไป นอกจากนี้ ทางผู้ก่อตั้งยังไม่ได้มุ่งทำร้านหนังสือให้มีกำไรแต่ทำให้อยู่ได้ เพราะศึกษิตสยามไม่ใช่ร้านหนังสือธรรมดาแต่เป็นที่เสวนาของปัญญาชนยุคนั้น

"ตอนที่เราจัดปริทัศน์เสวนาซึ่งอาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้ก่อตั้ง จบแล้วหลายคนก็ยังไม่อยากจะแยกย้ายกัน เพราะจะรู้สึกว้าเหว่ทางปัญญา ก็ได้ที่ร้านศึกษิตสยามเป็นที่จัดศึกษิตเสวนาที่ชั้นสอง มาทำสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์เรียกว่า Intellectual Masturbation หาความสุขจากการที่พบปะเสวนาทางปัญญากัน ที่นี่มันเป็นมากกว่าร้านหนังสือ มันเหมือนเป็นคลับหรือสโมสรที่พบปะกันของคนที่ว้าเหว่ทางปัญญา"

นอกจากนี้ ร้านศึกษิตสยามยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานของมูลนิธิโกมลคีมทอง และมูลนิธิเด็ก เป็นสถานที่ "ก่อหวอด" ทางปัญญา และที่ นพ.วิชัยประทับใจมากคือ ที่นี่คือที่พำนักของนักเขียนตกยากอย่าง สุวรรณี สุคนธา

"เวลาผมไปรับราชการต่างจังหวัดแล้วเข้ากรุงเทพฯ แต่ละครั้ง ผมประหยัดค่าโรงแรมมานอนที่ศึกษิตสยาม มานอนกับเทพศิรินี่แหละ เทพศิริอยู่ชั้น 4 อาจารย์สุวรรณีอยู่ชั้น 3 เทพศิริไม่ใช่ศิลปินตกยาก แต่เป็นศิลปินอิสระที่ไม่ผูกพันกับเรื่องรายได้ ก็มีโอกาสได้พบปะกันและยืนยันว่าเทพศิริไม่ได้ชื่นชอบกับในเพศเดียวกันแน่ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจมาก ตอนที่มายืนอยู่หน้าร้านศึกษิต ข้างหน้าเป็นบริเวณวัดหัวลำโพง มีอยู่วันหนึ่งฝนตกแล้วก็มีลมพัด ผมมองฝนก็เห็นว่าเป็นฝนธรรมดาเพราะว่าเป็นสายตาแบบคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของศิลปะ แต่อาจารย์สุวรรณีชี้ให้ดูว่า เออ หมอวิชัยดูซิมันสวยมากเลย คือสายฝนมันพลิ้วตกกระทบพื้นแล้วสะท้อนเป็นละอองขึ้นมา เป็นภาพที่สวยมาก ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงสัมผัสของศิลปินเวลาที่เขามองธรรมชาติว่า ไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็นได้แบบธรรมดา เวลาไปอ่านเรื่องเขาชื่อกานต์ เวลาที่อาจารย์สุวรรณีเขียนบรรยายฉากต่างๆ จะเป็นการบรรยายแบบศิลปิน ฉะนั้น ที่ตรงนี้เป็นมากกว่าร้านหนังสือธรรมดา"

เพื่อนทางความคิด มิตรทางปัญญา

นพ.วิชัยเล่าต่อว่า เมื่อตอนที่เขาทำหนังสือรับน้องใหม่ศิริราช เทพศิริเป็นผู้นำหนังสือ "เวียดนาม เวียดนาม" ซึ่งเป็นหนังสือที่สะท้อนเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของหนังสือรับน้องใหม่เล่มที่เขาทำ ขณะที่เทพศิริบอกว่า หนังสือเล่มนั้นเป็นเรื่องที่เขาใช้ทำกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตยกับนักศึกษาที่ออกไปปลุกระดม ทุกครั้งที่ฉายภาพเปรียบเทียบชีวิตชาวนาไทยกับเวียดนามทำให้ผู้ชมถูกสะกดทุกครั้ง จะว่าไปแล้วแนวความคิดทางการเมืองส่วนหนึ่งของเขาก็รับมาจากหนังสือและมิตรทางปัญญาที่ศึกษิตสยามแห่งนี้

ธัญญา ผลอนันต์ นักคิดนักเขียน กล่าวว่า เมื่อตอนที่ศึกษิตสยามก่อตั้ง เขาอายุ 19 ปี เมื่อเดินเข้าไปในร้านศึกษิตสยามของ ส.ศิวรักษ์ ครั้งแรกก็ได้พบความแปลกใหม่ หนังสือเล่มที่ยังไม่เคยพบ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยได้ยินในเมืองไทยก็ได้พบที่นั่น นับเป็นความประทับใจแรกของเขา "พอไปซื้อหนังสือบ่อยๆ ก็เริ่มพบผู้คน เริ่มคุ้นหน้า เดี๋ยวไปเจอกันที่ สนก. ประชุม สัมมนาต่างๆ ก็เริ่มมีมิตรสหาย อาจารย์สุลักษณ์ก็จะใช้วิธีผูกมิตรว่า 'ธัญญาฝากสังคมศาสตร์ฯ ฉบับนักศึกษาไปฝากขายที่เกษตรบ้างสิ' โดยที่ก็จะมีผมกับอาจารย์ดีพร้อมนี่เป็นตัวแทนจำหน่ายในเกษตร มาผูกพันกันตอนที่ใครเขาถามว่าขายอะไรนี่ เราก็ต้องอ่าน ก็เลยอ่านบทความต่างๆ แล้วสนใจขึ้น ก็เลยติดกลุ่มพวกนี้มา คิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจการบ้านการเมือง สังคม เพราะตอนนั้นผมเป็นเด็กเที่ยว ชอบงานลีลาศ เมื่อก่อนมีงานโต้รุ่งก็เที่ยวจนโต้รุ่งเลย พอมาคบกับอาจารย์สุลักษณ์ก็โต้รุ่งเหมือนกัน แต่เป็นโต้รุ่งตามโรงพิมพ์ ไปตรวจงาน ตรวจปรู๊ฟ ทำให้เราได้พบเพื่อนใหม่ๆ เพื่อนแปลกๆ คนอื่นไม่คบเราก็คบกันเอง"

มิตรทางปัญญาผู้หนึ่งที่ธัญญาพบก็คือ รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ที่ตระเวนทำกิจกรรมร่วมกับการเสวนาของ ส.ศิวรักษ์ ในชนบทของภาคอีสาน ซึ่งมีนักศึกษาเป็นอาสาสมัครร่วมกิจกรรมหลายคน "เราคิดว่าศึกษิตฯ ให้เพื่อนให้ความคิด ให้หลายๆ อย่างแก่พวกเรา และเราก็ยังคบกันมาจนถึงทุกวันนี้ 40 ปีแล้ว" ธัญญากล่าวถึงมิตรภาพที่ได้รับจากร้านหนังสือแห่งนี้

ศึกษิตสยาม กับบทบาทการเปลี่ยนแปลงสังคม

ด้านพิภพ ธงไชย กล่าวว่า หากจะพูดถึงศึกษิตสยามแล้วไม่พูดถึง ส.ศิวรักษ์ คงไม่ได้ "ศึกษิตสยามเป็นเครื่องมือของปัญญาชน 'ส.ศิวรักษ์' ปัญญาชนสยามที่มีการปฏิบัติการทางสังคม อันนี้เห็นชัดเจนว่า ส.ศิวรักษ์ ไม่ใช่ปัญญาชนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ที่ได้แต่เขียนหรือพูด แต่การจะปฏิบัติการได้ก็ต้องมีเครื่องมือ ผมคิดว่าศึกษิตสยามเป็นร้านหนังสือซึ่งเป็นเครื่องมือของปัญญาชน ส.ศิวรักษ์ เครื่องมือนี้ไม่ใช่คำไม่ดี แต่เป็นเครื่องมือที่ปัญญาชนหรือผู้ที่สนใจเรื่องความรู้ใช้ตรงนี้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่แต่ขายหนังสือซึ่งเป็นหนังสือที่ ส.ศิวรักษ์เขียนหรือคนไทยควรจะได้อ่านเท่านั้น แต่ได้ให้พื้นที่ของศึกษิตฯ เป็นพื้นที่ในการพบปะของผู้คนที่อยากจะมาถกเถียงกันทางปัญญา"

เมื่อ ส.ศิวรักษ์ มาพบปะกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่กำลังอึดอัดกับระบอบเผด็จการในขณะนั้น โดยมีการทำหนังสือมาเป็นสิ่งจูงใจเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การจะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่างๆ โดยเฉพาะทางการเมืองจึงไม่มีช่องทางมากเท่าสมัยนี้ การทำหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนักศึกษาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาชนไทยยุคถัดมา

"นั่นคือการใช้เครื่องมือล่อให้คนที่มีความคิดความอ่านในสายตา ส.ศิวรักษ์ มาใช้เครื่องมือนั้นเพื่อปฏิบัติทางสังคม อันนี้เป็นคุณูปการ เพราะว่าเรามีโอกาสใช้เครื่องมือตรงนั้น ส.ศิวรักษ์ ไม่สนใจว่าเราคิดอะไร ที่จริงว่าไปแล้วความคิดเราต่างจาก ส.ศิวรักษ์ มาก โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือเรื่องอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราก็คิดแตกต่าง หรือเรื่องความเป็นซ้าย ความเป็นขวา กับความก้าวหน้าก็คิดแตกต่าง คนก็สงสัยกันมากว่าทำไม ส.ศิวรักษ์มีการเอาฟ้าบ่กั้นมาพิมพ์ คนก็นินทาว่าร้าย ส.ศิวรักษ์กันมากว่า อาจารย์สุลักษณ์นี่ที่จริงก็ไม่ได้เป็นซ้ายและไม่ได้สนใจเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา แต่ทำไมเอาฟ้าบ่กั้นของคำสิงห์ ศรีนอก มาพิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือฝ่ายซ้ายยุคแรกๆ ที่พูดถึงความทุกข์ยาก แต่พูดแบบนี้ก็เป็นการปรามาส ส.ศิวรักษ์ เกินไป พอหลังจากนั้น ส.ศิวรักษ์ก็เปลี่ยนมาสนใจชาวนา มาสนใจสามัญชน มายืนอยู่เคียงข้างสมัชชาคนจน อย่างเต็มที่"

พิภพแสดงทัศนะต่อไปว่า ส.ศิวรักษ์ ใช้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นเครื่องมือโดยวิธีการนำคนที่นับถือที่สุดอย่าง พระยาอนุมานราชธนมาเปิดร้านหนังสือศึกษิตสยาม และพยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่สนใจว่าจะเป็นซ้ายหรือเป็นขวา แต่ขอให้เป็นคนกล้าพูดและจริงใจในเรื่องที่ตัวเองที่มีความคิดก็พอ ซึ่งพิภพเห็นว่านั่นเป็นข้อดี
ส่วนตัวนพ.วิชัยนั้น แม้จะมีกรอบข้าราชการกั้นอยู่ แต่เขาก็เห็นด้วยว่า ศึกษิตเสวนาส่งผลทางสังคมผ่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนทางปัญญาแห่งนี้ไม่น้อย
 
"ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์พูดก่อนหน้านี้ชัดเจนว่า เราต้องยึดถือความถูกต้องอย่างที่พิภพพูดถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม ก่อนที่จะทำอะไรก็ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความถูกต้อง และทำอย่างกล้าหาญ สิ่งที่เรียนรู้จากการมาสังสรรค์อยู่ที่ศึกษิตฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาจารย์สุลักษณ์ก็คือ อาจารย์สุลักษณ์จะสอนอยู่เสมอว่า จะทำอะไรก็ตามต้องทำอย่างเปิดเผย ไม่มีซ่อนเร้น แล้วก็ไม่ต้องกลัว ถ้าหากว่าทำปกปิดซ่อนเร้นจะมีปัญหาและทำไม่ยั่งยืน ผมเขียนหนังสือใช้ชื่อจริงมาตลอด แต่พอมีตำแหน่งสูงๆ ขึ้น ใช้ชื่อจริงลำบากขึ้น หลายคนก็ถามว่าผมเลิกเขียนหนังสือไปแล้วหรือ ที่จริงก็ยังเขียนอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าข้อจำกัดทำให้เขียนยากและเปิดเผยตัวเองทั้งหมดยากขึ้น"

ด้านเทพศิริตั้งคำถามจากปัญญาชนร่วมสมัยว่า "ถ้าหากคุณเติบโตมาจากศึกษิตฯ แล้ววันนี้คุณฝันอะไรเมื่อถึงเวลาล่วงวัย ?" เพื่อนร่วมสำนักอย่างนพ.วิชัย เสนอแนะว่า คนรุ่นเขาโชคดีที่มีโอกาสสัมผัสร้านหนังสืออย่างศึกษิตสยาม ความใฝ่ฝันของเขาคือ ทำอย่างไรจึงจะมีร้านหนังสืออย่างศึกษิตสยามให้คนรุ่นนี้บ้าง

พิภพสรุปบทบาทของศึกษิตสยามที่เป็นมากกว่าร้านหนังสือว่า "ผมคิดว่าสิ่งที่เราได้จากศึกษิตสยามก็คือได้จากตัว ส.ศิวรักษ์ ด้วย นั่นคือ การให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ๆ อาจารย์สุลักษณ์กับพวกผมนี่ห่างกันสิบกว่าปี อย่างผมนี่รู้สึกจะรอบหนึ่งพอดี สอง สิ่งที่เราได้อาจารย์สุลักษณ์คือ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันแต่ขอให้จริงใจและยืนอยู่บนความเชื่อของตนที่ถูกต้อง อย่างที่ผมพูดว่าอาจารย์สุลักษณ์กับพวกเราหลายคนคิดไม่เหมือนกันเลย ถ้าบอกว่าอาจารย์สุลักษณ์เป็นขวาหรืออนุรักษ์นิยม พวกเราก็ค่อนข้างจะเป็นซ้ายหรือเป็นกลางมากกว่า แต่อาจารย์สุลักษณ์ก็พร้อมที่จะถกเถียงหรือเปิดโอกาสให้เราพูดคุยกัน"

สิ่งที่ศิษย์จากสถาบันอย่างศึกษิตสยามได้มานั้น คือการทำเรื่องในอุดมคติ พิภพยกตัวอย่างเพื่อนร่วมรุ่นอย่างเทพศิริที่เขียนหนังสือนิทาน, นพ.วิชัยที่อยากจะปรับปรุงด้านการแพทย์ แม้แต่ธัญญาเองที่ทำเรื่องนวัตกรรมทางความคิดก็นับเป็นอุดมคติ ตัวเขาเองก็พยายามปลุกปั้นเรื่องการเมืองในอุดมคติเช่นกัน แต่ด้วยวัยแต่ละคนที่ล่วงเลยมาพอสมควร จึงไม่รู้จะทำต่อไปได้มากน้อยเพียงใด จึงต้องฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นปัญญาชนรุ่นถัดไป

************

เรื่อง รัชตวดี จิตดี
ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนผู้ก่อตั้งศึกษิตสยาม

ร้านศึกษิตสยามที่ถนนเฟื่องนคร
บรรยากาศคึกคักเมื่อวันวาน
งานครบรอบ 40 ปีศึกษิตสยาม

กำลังโหลดความคิดเห็น