เมื่อเข้าเทศกาลสงกรานต์ทุกครั้ง "น้ำอบไทย" ก็จะกลายเป็น "น้ำนางเอก" ที่ใครต่อใครถามหา นำไปสรงน้ำพระก็ได้ หรือรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ก็ดี แต่พอเลยเทศกาลสาดน้ำกันไปแล้ว กลิ่นน้ำอบไทยก็จางไปจากใจของคนไทยอีกนาน ภูมิปัญญาเครื่องหอมของไทยที่สืบทอดกันมาเป็นร้อย ๆ ปีจะอยู่ต่อไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้
"น้ำอบไทย" เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ มีกลิ่นหอมรัญจวน หอมสดชื่น ถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อนที่รู้จักนำรากไม้ และกลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิด รวมทั้งเครื่องกำยาน ชะมดเช็ด พิมเสนมาผสมกันจนมีกลิ่นหอมละมุนละไม ไม่มีหลักฐานว่าน้ำอบไทยเกิดขึ้นในสมัยใด แต่ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนของ สุนทรภู่ เคยกล่าวถึงขุนช้างที่ใช้น้ำอบประพรมเนื้อตัว แสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักใช้น้ำอบมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแล้ว
โดยเฉพาะในวังหลวงนั้น จะมีพนักงานฝ่ายในที่ดูแลเรื่องเครื่องหอมต่าง ๆ สำหรับพระมหากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่เรียกว่า " พนักงานพระสุคนธ์ " ซึ่งส่วนมากจะควบคุมดูแลโดยเจ้านายฝ่ายใน รับผิดชอบตั้งแต่น้ำสรง น้ำอบ ไปจนถึงการอบร่ำพระภูษา ผ้าคลุมพระบรรทมต่าง ๆ ให้หอมจรุงอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น สันนิษฐานว่าน้ำอบเริ่มมีการใช้ภายในพระมหาราชวังก่อน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น แต่ละพระตำหนักจะมีการแข่งกันปรุงเครื่องหอมน้ำอบใช้เอง ซึ่งกลิ่นหอมของแต่ละตำหนักนั้นจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าสูตรของใครจะชอบหรือเน้นกลิ่นใดเป็นพิเศษ แต่โดยกรรมวิธีการทำนั้นจะเหมือนกันหมด
อย่างเช่น วังศุโขทัยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ นั้น เป็นอีกวังหนึ่งที่ขึ้นชื่อทางเรื่องน้ำอบ ซึ่งน้ำอบของวังนี้จะเน้นกลิ่นข้าวใหม่ คือดอกชมนาดที่มีกลิ่นอ่อนๆ คล้ายกับใบเตย ส่วนตำรับของวังหลวงมีอยู่หลายพระตำหนักด้วยกัน แต่ส่วนมากจะเน้นจันทน์เทศเป็นหลัก
สำหรับวังวรดิศก็ได้มีการทำเครื่องหอมสืบทอดกันต่อ ๆ มาตามคำบอกเล่าโดยมิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยทำขึ้นมาใช้เองจากวัสดุและสมุนไพรหอมที่ปลูกอยู่ภายในวัง น้ำอบไทยของวังนี้จะมีกลิ่นหอมชื่นใจ เช่น กลิ่นดอกแก้ว กลิ่นลำเจียก กลิ่นจันทน์กะพ้อ กลิ่นมะลิ กลิ่นพิกุล และ กลิ่นกุหลาบ เป็นต้น
โดยเฉพาะตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชื่อว่าเป็นตำหนักที่ทำเครื่องหอมโดยตรง เพราะนอกจากเสด็จพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์จะทรงมีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังทรงทำน้ำอบ น้ำปรุง แป้งสด แป้งร่ำ กระแจะ เทียนอบ จำหน่ายในวังอีกด้วย
เปิดตำรับ "พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์"
อภิรมย์ ชำนิบรรณการ เจ้าของร้านยัวร์ฟลอรีสท์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 30 กว่าปีก่อนมีโอกาสเข้าไปแถวเรือนไม้ท้ายวัง ได้พบกันคุณยายช่วง สุเดชะ ที่พำนักอยู่ในตำหนักวังหลวง
" คุณยายช่วงเล่าให้ฟังว่า ท่านมีคุณแม่เป็นคุณค่าหลวงในพระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ โดยคุณแม่ของคุณยายช่วงมีหน้าที่ทำน้ำอบตำรับของพระตำหนักนี้ แล้วถ่ายทอดมาถึงคุณยายช่วงด้วย "
ปัจจุบันเรือนไม้ท้ายวังหลวงซึ่งเก่าทรุดโทรมก็ได้มีการรื้อออกไปหมดแล้ว พร้อมกับการเสียชีวิตของคุณยายช่วงเมื่อหลายปีก่อน ผู้ที่สืบทอดสูตรตำรับนี้ต่อมามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น หนึ่งในนั้นคืออภิรมย์ด้วย ซึ่งนำตำรับนี้มาปรุง และจำหน่ายในร้านยัวร์ฟลอรีสท์
โดยตำรับของพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์นั้นจะเป็นน้ำอบที่เน้นกลิ่นกระดังงา และพิกุล เป็นหลัก ในราคาขวดละ 195 บาท
ตำรับ ม.ร.ว.หญิง สอิ้งมาศน์
เมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.หญิงสอิ้งมาศน์ นวรัตน เป็นผู้สืบทอดการปรุงน้ำอบมาจากราชสกุล " นวรัตน " ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 2 ท่านได้เป็นอาจารย์คนแรกที่เปิดสอนเรื่องน้ำอบไทย ที่โรงเรียนการเรือนสวนดุสิต ( ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ) นับตั้งแต่มีการเปิดโรงเรียนการเรือนเป็นต้นมา
" ดิฉันได้มาช่วยอาจารย์หญิงสอิ้งมาศน์สอนเรื่องน้ำอบไทยอยู่หลายปี จึงได้รับการถ่ายทอดเคล็ดลับตำรับของท่านมาด้วย จนตอนหลังท่านเกษียณไปแล้ว ดิฉันก็ยังสอนการทำน้ำอบไทยและเครื่องหอมต่าง ๆ ต่อไป ต่อมาท่านจึงได้อนุญาตให้ดิฉันทำน้ำอบไทยขายได้ พร้อมกับมอบโถเคลือบโบราณอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเคยใช้ในการสอนนักศึกษาแก่ดิฉันด้วย เป็นโถที่ใช้ร่ำกำยานซึ่งใช้ทำน้ำอบ ใช้มานานขนาดที่ยางกำยานติดหนาอยู่ข้างโถ อย่างนี้เขาเรียกว่า...อบก็เข้ารมก็ติด...คือเวลาใช้ร่ำน้ำอบก็ทำเพียงไม่กี่ครั้งก็มีกลิ่นแล้ว " ผศ.อ.โสภาพรรณ อมตะเดชะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องหอมคนหนึ่งในเมืองไทย ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่าย อาคารที่พัก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าว
ปัจจุบัน ผศ.อ.โสภาพรรณ นอกจากจะเป็นวิทยากรสอนเรื่องเครื่องหอมไทยและน้ำอบแล้ว ยังปรุงน้ำอบตำรับของ ม.ร.ว.หญิง สอิ้งมาศน์ จำหน่ายเฉพาะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต บริเวณสวนดุสิตเพลส ในราคาขวดละ 80 บาท โดยตำรับนี้จะเน้นกลิ่นหอมของดอกกระดังงาเป็นหลัก
น้ำอบชาวบ้าน
ความหอมของน้ำอบเป็นที่เลื่องลือกันมาก เพราะสาวชาววังนั้นจะมีกลิ่นกายหอมยวนใจด้วยแป้งร่ำ และน้ำอบ เรียกได้ว่าแม้สาวชาววังจะเดินไปทางไหนจะทิ้งกลิ่นหอมเอาไว้เสมอ
บรรดาชาวบ้านทั้งหลายจึงอยากมีกลิ่นกายหอมเหมือนสาวชาววังบ้าง ต่อมาน้ำอบก็เริ่มเผยแพร่ออกมาจากวังด้วยหลาย ๆ ตำหนักมีการทำออกมาจำหน่ายนอกวัง กลายเป็นชาวบ้านก็รู้จักใช้น้ำอบเช่นกัน
คนสมัยก่อนใช้น้ำอบในชีวิตประจำวัน คือหลังจากอาบน้ำเสร็จก็จะนำน้ำอบมาผสมกับแป้งร่ำหรือแป้งนวล แล้วก็นำมาประตามเนื้อตัว นอกจากจะทำให้กลิ่นกายหอมสดชื่นจากน้ำอบแล้ว แป้งร่ำยังจะช่วยทำให้เนื้อตัวลื่นสบาย เหมาะสำหรับเมืองร้อนอย่างประเทศไทยมาก
" น้ำอบไทยจ้า....น้ำอบไทยจ้า หอมเย็นชื่นใจ ทาเมียหอมผัว ทาผัวหอมเมียจ้า....." ภาพของแขกอินเดียที่ถือตะกร้าใส่ขวดน้ำอบ เดินตะโกนร้องเรียกลูกค้าไปตามบ้านช่องเมื่อ 50 กว่าปีก่อนกลายเป็นความเคยชินของชาวบ้าน แม้ว่าน้ำอบที่แขกอินเดียทำขึ้นเองจะไม่มียี่ห้อ แต่ก็ขายดิบขายดี เพราะแขกอินเดียเป็นชาติหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องหอมเช่นกัน
แต่น้ำอบไทยที่ชาวบ้านรู้จักติดหูติดปากมากที่สุดตั้งแต่ยุคแรกเริ่มต้องยกให้ "น้ำอบนางลอย " เจ้าของตำนานน้ำอบแบบชาวบ้านที่รู้จักกันมานานกว่า 83 ปีแล้ว ( ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2467 )
นางเฮียง ชาวไทยเชื้อสายจีน บ้านเดิมอยู่เขตสัมพันธวงศ์ เป็นผู้เปิดตำนานน้ำอบนางลอยขึ้นมา เมื่อนางเฮียงไปได้สูตรน้ำอบของชาววังจากเพื่อนรักที่อยู่ในวัง โดยเพื่อนคนนี้สอนวิธีการทำน้ำอบเพื่อหวังจะให้นางเฮียงนำไปประกอบอาชีพ
หลังจากนั้นนางเฮียงก็ปรุงน้ำอบออกมาขายอยู่หน้าตลาดนางลอย ด้วยกลิ่นหอมที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน ปากต่อปากพูดกันต่อ ๆ จนทำให้คนรู้จักกันทั้งเมือง และเรียกกันต่อ ๆ มาว่า " น้ำอบนางลอย " จนกลายเป็นยี่ห้อจนถึงปัจจุบัน
ส่วนสัญลักษณ์ "นางฟ้าถือขวดน้ำหอม" บนขวดน้ำอบที่เห็นจนชินตานั้น เกิดจากความคิดง่ายๆ แค่อยากหารูปที่เข้ากับชื่อร้านเท่านั้นเอง
เมื่อได้ชื่อของร้านว่า น้ำอบนางลอย ครั้นจะทำสัญลักษณ์ ก็หารูปนางรำแบบต่างๆ มาดู ซึ่งตัวนี้มันลอยอยู่ เหมือนนางฟ้า ก็เลยนำมาใช้ และถือขวดน้ำอบของเรา จะได้เข้ากับชื่อ แล้วก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ จะเปลี่ยนก็ไม่ได้แล้ว เพราะประชาชนจำได้" ฟองจันทร์ ธ เชียงทอง ลูกสะใภ้รุ่นที่ 2 กล่าว
น้ำอบนางลอย เป็นน้ำอบชื่อดังระดับชาวบ้านที่คนรู้จักมากที่สุดและมียอดจำหน่ายเป็นอันดับหนึ่ง ตลอดเวลากว่า 83 ปีที่ผ่านมา เอกลักษณ์ของน้ำอบนางลอย ที่ทำให้สามารถครองใจลูกค้าไว้ได้ คือ กลิ่นหอมที่คุ้นเคย และคุณภาพน้ำไม่ดำ ส่วนสำคัญนั้น ฟองจันทร์ บอกว่าอยู่ที่การผสม และขั้นตอนผลิตอันเป็นสูตรลับเฉพาะตกทอดตั้งแต่ยุคนางเฮียง ในอดีตหัวน้ำหอมจะทำขึ้นเองโดยใช้สมุนไพรต่างๆ เช่น กะดังงา , มะลิ แต่มาในช่วงนั้นมีการ พัฒนาใช้หัวน้ำหอมจากต่างประเทศแทน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่กลิ่นที่ได้ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม
แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่น้ำอบนางลอยก็ยังคงกลิ่นเหมือนเดิม แม้กระทั่งรูปแบบเหมือนเดิมทั้งขวดและฉลาก เรียกว่าแทบจะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเลยนอกจากราคาที่ยุคแรก ๆ ขายขวดละ 1 - 2 บาท ปัจจุบันราคาขวดละ 20 กว่าบาท ตามราคาวัตถุดิบที่ขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันน้ำอบไทยมีคนใช้อยู่ในวงแคบ ๆ แต่ "น้ำอบไทยช่อแก้ว" เป็นอีกรายหนึ่งที่ขอแจ้งเกิดในยุคใหม่บ้าง โดยถือเป็นสินค้าโอทอปของดีของเขตบางแค ซึ่งทัศพร พุ่มเจริญ เจ้าของผลิตภัณฑ์บอกว่าต้องการทำน้ำอบให้แก่ลูกค้าที่พอจะมีกำลังซื้อเพราะราคาสูง ขวดละ 35 -199 บาท ซึ่งสูตรของน้ำอบไทย เรียนมาจากวิทยาลัยในวัง และมาเรียนเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง จนได้มาพัฒนาเป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง
ความโดดเด่นของน้ำอบไทยช่อแก้วนั้น นอกจากเรื่องกลิ่นแล้ว ยังเป็นเรื่องของแพกเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาจนหน้าตาของน้ำอบไทยดูทันสมัยมีลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า อย่างเช่นการตกแต่งน้ำอบไทยด้วยชุดไทยในวันสงกรานต์ ซึ่งก็ดูแปลกและน่ารักไปอีกแบบหนึ่ง
ภูมิปัญญาไทยในเรื่องเครื่องหอม
การทำน้ำอบนั้นถือเป็นศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงที่ต้องใช้ความชำนาญ ละเอียดอ่อนและความอดทนอย่างมาก น้ำอบเริ่มกำเนิดมาจากวังหลวง ดังนั้นกรรมวิธีในทำจึงยุ่งยากและซับซ้อน ละเมียดสุด ๆ กว่าจะได้น้ำอบที่มีกลิ่นหอมจรุงใจสักขวดจะต้องใช้เวลาในการอบร่ำถึง 4 วันทีเดียว
ผศ.อ.โสภาพรรณ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องหอมไทยคนหนึ่งของเมืองไทย บอกเล่าถึงวิธีการทำน้ำอบแบบชาววังว่า
" ดิฉันเคยไปหาคุณท้าวโสภานิเวศน์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัง จึงได้มีโอกาสไปเห็นวิธีการทำน้ำอบของชาววังแล้ว เมื่อมาเปรียบเทียบกับแบบชาวบ้านนั้นแตกต่างกันมาก ในวังเวลาจะอบร่ำจะต้องอยู่ในสถานที่มิดชิด เพราะไม่ให้ลมโกรกเอากลิ่นหอมออกไปหมด "
ขั้นตอนแรกของการทำน้ำอบนั้น เริ่มจากนำน้ำฝนมาต้มให้เดือด ใส่ใบเตยเพื่อให้เป็นกลิ่นพื้นเสียก่อน ส่วนชะลูดเป็นตัวแต่งสีให้เหลืองธรรมชาติและทำให้น้ำอบสามารถเก็บได้นานนับปีอีกด้วย พักให้เย็นใส่ในโถ จากนั้นจึงนำน้ำนั้นมาทำการอบ 3 รอบๆ ละ 15 นาที คือการใช้เทียนอบใส่ถ้วยเล็ก ๆ จุดไฟบนเทียนอบแล้วดับ นำเทียนไปลอยในโถแล้วปิดฝา เพื่อให้ควันที่มีกลิ่นหอมแทรกซึมเข้าไปในน้ำ
จากนั้นเข้าสู่การ "ร่ำ" คือการนำภาชนะเหมือนถ้วยตะไล(ถ้วยเล็ก ๆ ขนาดเท่าขนมถ้วย) ไปเผาไฟให้ร้อนบนเตาอั้งโล่ นำเครื่องปรุงหอมต่าง ๆ ได้แก่ กำยาน แก่นจันทน์เทศ ชะมดเช็ด น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง ผิวมะกรูดป่นหยาบ ขี้ผึ้งแท้
" ความลำบากของการร่ำอยู่ที่จะต้องนั่งทนร้อนอยู่หน้าเตาอั้งโล่เพื่อจะเผาถ้วยให้พอร้อน เมื่อใส่เครื่องหอมลงไปแล้วความร้อนจากถ้วยจะช่วยทำให้ความหอมของเครื่องหอมกระจายออกมา และต้องทำไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที โดยจะต้องเปลี่ยนเครื่องปรุงใหม่ทุกครั้ง " ผศ.อ.โสภาพรรณกล่าว
ความร้อนของภาชนะจะทำให้เครื่องปรุงหอมทั้งหลายส่งกลิ่นหอมออกมาผสมลงไปในน้ำฝนที่อยู่ในโถ
ความหอมอีกแบบหนึ่งของน้ำอบนั้นได้มาจากกลิ่นของดอกไม้ โดยเริ่มจากการเลือกเด็ดดอกไม้ก่อน ซึ่งจะต้องเด็ดในเวลาเย็นที่ดอกไม้จะเริ่มบาน และส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน ดอกไม้กลิ่นหอมแรงที่นิยมนำมาใช้ทำน้ำอบ เช่น ชมนาด มะลิ พิกุล กระดังงา กุหลาบ โดยเฉพาะกระดังงานั้นจะต้องลนไฟที่กระเปาะเสียก่อน เพราะเป็นส่วนที่มีต่อมน้ำมันหอมระเหยอยู่
นำดอกไม้ทั้งหมดมาแช่ในน้ำฝนที่ผ่านการอบร่ำมาแล้ว เคล็ดลับในการแช่นั้นดอกอื่นๆ สามารถเทลงน้ำฝนได้หมด ยกเว้นดอกพิกุลจะต้องใส่จอกเล็กๆ ลอยอยู่บน เพราะเกษรดอกจะทำให้น้ำเน่าได้ง่าย
กรรมวิธีอย่างละเอียดนี้จะต้องใช้เวลาในการทำนานถึง 4 วัน จึงจะเปลี่ยนน้ำฝนสะอาดให้กลายเป็นน้ำอบที่มีกลิ่นหอมเย็นสดชื่น
บางสูตรจะทำน้ำอบแบบไม่ใส่แป้งซึ่งน้ำจะเหลืองใส แต่บางสูตรก็ใส่แป้งหินเพื่อให้ช่วยซับน้ำมันหอมที่เกิดจากเผาเครื่องหอม
เอกลักษณ์วันสงกรานต์
แต่เดิมคนไทยสมัยโบราณจะนิยมใช้น้ำอบในชีวิตประจำวันทุกวัน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทั้งน้ำหอมและแป้งฝุ่นเข้ามาเมืองไทย น้ำอบก็เริ่มเสื่อมความนิยมไปเรื่อย ๆ จะเหลือเพียงคนแก่ที่เคยใช้อยู่เท่านั้นที่ยังเป็นแฟนกันอย่างเหนียวแน่น
ปัจจุบันจะนิยมใช้น้ำอบไทยในงานบุญต่าง ๆ โดยน้ำอบจะกลายเป็นสินค้าที่ขายดีเฉพาะเทศกาลเท่านั้น เช่นวันสำคัญทางศาสนาจะนำไปสรงน้ำพระ งานบุญต่าง ๆ ตามต่างจังหวัด และงานศพที่ยังคงใช้สำหรับรดน้ำศพอยู่
จะมีพิเศษหน่อยก็คือวันปิยมหาราชที่น้ำอบไทยของร้านยัวร์ฟลอรีสท์จะขายดี โดยอภิรมย์ บอกว่า
" คนจะมาซื้อไปถวายพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เพราะสูตรนี้เป็นต้นตำรับที่ทำถวายพระองค์ "
ผศ.อ.โสภาพรรณกล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนยังมีผู้สนใจมาเรียนเรื่องเครื่องหอมกันมาก แต่ในช่วง 10 กว่าปีให้หลังนี้คนไทยเริ่มจะหันไปเห่อวัฒนธรรมต่างชาติกันมากขึ้น ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณของไทยที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมากลับเพิกเฉย ทำให้มีคนสนใจมาเรียนเรื่องเครื่องหอมน้อยลงไปมาก
แต่มาในระยะหลังสัก 5 - 6 ปีที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเริ่มมีการรณรงค์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยกันขึ้น คนไทยรุ่นใหม่จึงเริ่มหันมาสนใจของเก่า ๆ รวมไปถึงเรื่องน้ำอบด้วย
" เปิดร้านยัวร์ฟลอรีสท์มา 8 ปี ขายแป้งร่ำ น้ำอบ และเครื่องหอมอื่น ๆ เมื่อก่อนก็คิดว่าลูกค้าที่มาซื้อน้ำอบไปใช้เป็นพวกคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 - 50 ปีขึ้นไป แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนหนุ่มสาวมาซื้อไปใช้มากขึ้นเหมือนกัน น้ำอบไทยถ้านอกเทศกาลก็จะขายได้เรื่อย ๆ อาศัยเราทำแพกเกจจิ้งสวย ๆ จัดให้เป็นของขวัญของฝาก แต่ถ้าในเทศกาลแล้วก็ขายดี "
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างนี้ "น้ำอบไทย" จะกลายมาเป็น "นางเอก" ขึ้นมาทันที เพราะประเพณีไทยจะนิยมใช้น้ำอบสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอพร รวมถึงการเล่นสาดน้ำก็สามารถใส่น้ำอบไทยให้มีกลิ่นหอมได้ด้วย
ผู้ผลิตน้ำอบไม่ว่าจะเป็นของสูตรชาววังหรือชาวบ้านนั้น เมื่อถึงเวลาใกล้ช่วงสงกรานต์ก็จะต้องรีบผลิตน้ำอบกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพราะปีหนึ่งจะมีเพียงช่วงนี้เท่านั้นที่จะขายของได้
วันสงกรานต์คือวันปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ รวมทั้งรัฐบาลได้พยายามส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้แข็งแรง จึงกำหนดให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดหลาย ๆ วันนั้นเป็นทั้งวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุ เพื่อให้สังคมไทย พ่อ แม่ ลูกมารวมครอบครัวพบปะกันบ้าง
ในสมัยก่อนเมื่อถึงช่วงวันสงกรานต์นั้น ลูกหลานของแต่ละครอบครัวจะต้องกลับบ้านเพื่อมาไหว้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ มีการใช้น้ำอบไทยรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต แล้วก็มีการมอบของขวัญแด่ผู้ใหญ่ ซึ่งของขวัญนั้นมักจะเป็น " ผ้าใหม่" หมายถึงเสื้อผ้า ผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ฯลฯ. เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้นำไปใช้ นอกจากนี้ก็มีแป้งร่ำ น้ำอบ เพื่อใช้ประตัวหลังอาบน้ำ
และอีกประเพณีหนึ่งคือการกิน " ข้าวแช่ " ซึ่งเป็นอาหารโบราณ เป็นข้าวที่หุงสวย ๆ แล้วแช่อยู่ในน้ำที่อบด้วยดอกไม้ให้หอม ซึ่งดอกไม้เหล่านี้ก็นำไปอบในน้ำอบไทยด้วยเช่นกัน การล้อมวงลูกหลานมานั่งทำ " กับข้าวแช่ " ที่มีทั้งลูกกะปิคั่ว หอมสอดไส้ พริกหยวกสอดไส้ หมูฝอย เป็นต้น สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดแก่ครอบครัว
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อย่ามัวแต่เล่นน้ำกันเพลินจนลืมเลือนผู้แก่ที่นั่งเหงาอยู่ที่บ้าน รีบไปหาซื้อน้ำอบสักขวด ซื้อผ้าใหม่สักชิ้น แล้วก็ไปรดน้ำขอพรท่านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตกันเถอะ
*******************
ทีมข่าวสังคม