ในวันประกาศรายชื่อนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้สมัครเข้าสอบในครั้งนี้กว่าครึ่งหมื่น เวลานี้ไม่มีใครรู้ว่า ตลอดเส้นทางชีวิตอันยาวนานนั้นจะเป็นอย่างไร ความรู้สึกภายในจิตใจของพ่อ แม่ ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งถูกแปรสภาพออกมาเป็นรอยยิ้ม เมื่อสายตากวาดไปพบรายชื่อลูกของตนเองปรากฏอยู่บนบอร์ด แต่ในทางกลับกัน ปริมาณของน้ำตาจากผู้ที่ผิดหวังก็ท่วมล้นให้เห็นเมื่อถามหารายชื่อของตนเองไม่เจอ
“ไม่ได้หรอก...จะไปได้ยังไงเล่าก็ข่าวว่าคนที่สอบได้เขียนไปเป็นล้าน”
“ฉันเขียนไปนิดเดียว”
“อย่างนั้นแสนเดียวก็คงหมดหวัง"
นี่คือถ้อยคำบางตอนระหว่างการสนทนาของผู้ปกครองหลายๆ คนที่กำลังหันหลังลัดเลาะขึ้นไปดูรายชื่อลูกๆ ของตนเองด้วยหัวใจที่กำลังเต้นรัว
Hot Hit HighSchool
นึกย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน หากยังจำเหตุการณ์อื้อฉาวในวงการการศึกษาระบบอุปถัมภ์บ้านเราได้ ที่มีการเล่าลือกับอย่างลับๆ ว่า เจ้าพ่อเกมโชว์ชื่อดัง บริจาครถตู้ 1 คัน เพื่อแลกกับการให้ลูกสาวของตนเองได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนชื่อดังย่านบางเขน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่ากันว่าทำให้เงินแป๊ะเจี๊ยะในโรงเรียน ดี เด่น และดังหลายต่อหลายแห่งนั้นมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และทำให้โรงเรียนรัฐบาลบางแห่งเรียกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือค่าบำรุงเพื่อเข้าสมาคมของโรงเรียน สูงกว่าโรงเรียนเอกชนเสียด้วยซ้ำ
และเป็นที่ทราบกันอย่างดีสำหรับผู้ปกครองที่ทำการบ้านในการหาที่เรียนต่อให้แก่บุตรว่า การศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนที่ถือเป็นยอดนิยมติดลมบน มีผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดเวลานี้หนีไม่พ้น โรงเรียนสาธิตเกษตรที่มาแรงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นโรงเรียนสาธิตจุฬา และโรงเรียนสาธิตประสานมิตร
ส่วนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 นั้นต้องโรงเรียนสาธิตประสานมิตร โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตามลำดับ
สำหรับการเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่นิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นแน่แท้
เรื่อยมาทางในส่วนของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความนิยมไม่แพ้โรงเรียนของรัฐ ซึ่งหากเป็นโรงเรียนชายล้วนนั้นต้อง โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ต่อมาคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนเซนตร์คาเบรียล
ทางด้านโรงเรียนเอกชนที่รับเฉพาะผู้หญิงเพียวร์ๆ นั้นต้อง โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ โรงเรียนมาแตเดอี และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
เมื่อมีคนมอบความสนใจ และให้นิยมสูงมากๆ นั่นก็หมายความว่าค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเงินกินเปล่านั้นต้องสูงตามไปเป็นลำดับ ซึ่งบางแห่งถึงแม้ว่าลูกหลานของคุณจะเป็นเด็กเรียนดีแค่ไหน สอบผ่านในเกณฑ์ที่มาตรฐานของโรงเรียนกำหนด แต่ก็ยังต้องมีการแข่งขั้นในฐานนะทางการเงินของผู้ปกครองด้วยว่าสามารถสู้เพื่อลูกได้แค่ไหนกัน
บวก ลบ คูณ หาร ค่าบำรุงก็ เท่ากับ แป๊ะเจี๊ยะ
ประเทศไทยมีค่านิยมที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างมากอย่างหนึ่ง คือ ค่านิยมในเรื่องระบบอุปถัมภ์ ระบบอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปในทุกองค์กร ทุกสังคม ทำให้สังคมขาดโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพราะคนในสังคมไม่ได้มุ่งในการพัฒนาตนเอง แต่มุ่งที่จะใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งที่น่าตกใจที่สุดก็คือระบบอุปถัมภ์นั้นเริ่มตั้งแต่วันแรกที่คนไทยเข้าสู่สังคมคือการเข้าโรงเรียน แล้วต่อยอดและฝังรากลึกลงไปชั่วชีวิตของคนคนนั้น ระบบอุปถัมภ์เติบโตและยึดกุมสังคมไทยจนคนส่วนใหญ่เห็นว่าค่านิยมเรื่องระบบอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่ถูกต้องไปเสียแล้ว
อัญชัน (นามสมมติ) วัย 37 ปี อาชีพครู คุณแม่มือเดี่ยวเลี้ยงลูกคนเดียวกำลังวางแผนอนาคตของบุตรชายที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้วยความหวังว่าอยากมีพื้นที่ดีๆ มีโรงเรียนยอดนิยมให้แก่บุตร แต่ถึงกระนั้น เธอก็จำยอมต้องแลกกับแป๊ะเจี๊ยะที่มีมูลค่าแสนจะโหดร้าย ถึงแม้ว่าลูกชายของเธอจะมีความสามารถสอบผ่านก็ตามที
“ก่อนหน้านี้กังวลมากกลัวลูกจะสอบเข้าไม่ได้ เพราะเคยผิดหวังมาครั้งหนึ่งแล้วจากการสอบเข้าโรงเรียนในเครือสาธิตตอนที่ลูกอยู่อนุบาล 3 ตอนนั้นจำได้เป็นอย่าดีว่า ทางโรงเรียนให้เขียนว่าเราสามารถทำประโยชน์อะไรให้แก่โรงเรียนได้บ้าง ด้วยความที่เราประกอบอาชีพเป็นคุณครูจึงเขียนไปว่า ให้เงินสดจำนวนหนึ่งบวกกับสามารถมาช่วยสอน และช่วยทำวิจัยได้ แต่สิ่งที่บุคลากรของโรงเรียนตอบกลับเรามาทำเอาเราอึ้งไปเลยคือ “ครูที่ดีเขามีมากแล้ว คนทำวิจัยเก่งๆ ก็มี เราไม่ต้องการ” ซึ่งนั้นก็หมายความว่าสิ่งที่เขาต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือ เงิน ต้องบอกว่ากับโรงเรียนนี้เราสู้ไม่ไหวจริงๆ
“จากนั้นจึงตัดสินใจให้ลูกเข้าโรงเรียนเอกชนชายล้วนแห่งหนึ่งยานสาทร ที่นี่เพียงแค่ไปยื่นใบสมัครยังไม่มีการสอบอะไรเลยก็มีคนส่งกระดาษแผ่นหนึ่งให้เขียนว่าเราจะมอบอะไรให้แก่ทางโรงเรียนได้บ้าง โดยให้เวลาตัดสินใจเพียงแค่หนึ่งวินาที ณ เวลานั้นตรงนั้น เราขอกลับไปคิดที่บ้านก็ไม่ได้ จึงตัดสินในเขียนไปว่าให้เงินสด 1 แสนบาท หลังจากนั้นจึงกลับมาปรึกษากับทางบ้านว่าเขียนน้อยไปหรือเปล่า จะไปขอเพิ่มเงินให้แก่ทางโรงเรียนเป็น 2 แสนบาทดีไหม เพราะสงสารลูกไม่อยากให้ต้องผิดหวังอีก โชคดีที่ทางโรงเรียนโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าลูกสอบผ่าน แต่ที่น่าตกใจมากคือ ให้เตรียมเงินมาให้พร้อมภายใน 2 วัน แล้วเขาจะแจ้งยอดเงินสุทธิที่เราจะต้องจ่ายให้เราได้ทราบ เป็นค่าบำรุง 1 แสน และค่าเทอมอีกประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทให้เราหามาจ่ายให้ได้ ถ้าอยากให้ลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่ก็ต้องทำเพื่อลูก
“คิดดูซิถ้าหากบางคนเขียนไป 3 แสนต้องหาเงินให้ได้ภายใน 2 วันจะต้องทำยังไง แล้วทางโรงเรียนยังบอกเลยว่าเขียนเป็นเช็คมา ไม่อย่างนั้นจะไม่รับ” อัญชันเล่าให้ฟัง
ทางด้าน อรชา (นามสมมติ) วัย 35 ปี อีกหนึ่งคุณแม่ที่กำลังลุ้นลูกสาวของตนเองให้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในเครือสาธิต โดยก่อนหน้านี้เธอลงทุนเสียค่าเรียนพิเศษหมดไปเป็นกว่าแสนบาท
“ในปีนี้ให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนในเครือสาธิตแห่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าไม่ติด ทั้งๆ ที่ลูกเราก็เป็นเด็กเรียนดีในระดับหนึ่ง และเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอีกด้วย หลังจากประกาศผลสอบทราบว่าสอบไม่ติดก็ปรากฏว่าทางโรงเรียนมีการจัดโครงการพิเศษเกิดขึ้น เป็นการรับนักเรียนอุปถัมภ์จำนวน 10 คน หากต้องการรับต้องเข้าไปแสดงความจำนงต่อโรงเรียนในทันที ซึ่งเราก็รู้ทันทีว่าต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะแน่ๆ แต่ว่าจะเท่าไหร่ก็ต้องลุ้นกัน
“ความจริงส่วนตัวอยากให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตเพราะชอบในระบบการเรียนการสอนที่มีกิจกรรม ไม่ปิดกั้นจินตนาการของเด็ก และดูแล้วว่าลูกเราคงไม่เหมาะกับการเรียนในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเป็นระเบียบอย่างโรงเรียนคาทอลิก จึงตัดสินใจให้ลูกเข้าสมัครในโครงการพิเศษ ซึ่งนอกจากจะเสียเงินฟรีๆ ก่อนได้เข้าเรียนไปถึง 3 แสนบาทแล้ว ยังต้องเสียค่าบำรุงต่อปีอีกปีละ 5 หมื่นบาท นอกเหนือจากค่าเทอมอีกต่างหาก” อรชาเล่าให้ฟัง
แล้วเธอยังบอกต่ออีกว่ามีผู้ปกครองที่ยอมเสียเงินมากกว่าเธออีกเป็นจำนวนมากเพื่อให้ลูกได้เข้าศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้ บางคนถึงหลักล้านบาทก็ยังมี
ด้วยค่านิยมการเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนชื่อดัง หมายถึงอัตราการแข่งขันที่สูงมาก จนกลายเป็นเรื่องยากมีผลทำให้ผู้ปกครองหลายคนลำบากใจ แป๊ะเจี๊ยะอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่มีเงินทอง ร่ำรวย แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใคร่ครวญทุกครั้ง ก่อนจะตัดสินใจ ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งใดในสังคมบ้าง
ปฏิวัติสร้างค่านิยมใหม่
ซึ่งทางชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติมีความเห็นว่า การฝากเด็กเข้าเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายให้แก่สังคมเป็นอย่างมาก อำนวย สุนทรโชติ ผู้ประสานงานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ ให้เหตุผลดังต่อไปนี้
โรงเรียนเป็นสมบัติสาธารณะ ฉะนั้นทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าเรียน และใช้เกณฑ์การคัดเลือกเข้าที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเหมือนกัน เพราะโรงเรียนนั้นถือเป็นสถานที่สร้างปัญญาและคุณธรรมให้คน ฉะนั้นโรงเรียนควรเป็นสถานที่บริสุทธิ์โปร่งใส เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีของเด็กๆ ต่อไป
“การรับฝากเด็กจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดให้แก่นักเรียน และใช้ค่านิยมที่ผิดๆไปจนชั่วชีวิตเขา การรับฝากเด็กจะเป็นการสร้างรอยแค้นและเป็นปมด้อยให้แก่เด็กที่เสียสิทธิเพราะเด็กฝาก การรับฝากเด็กจะเป็นการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย อันเป็นระบบที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก การรับฝากเด็กจะนำไปสู่การคอร์รัปชันและความไม่โปร่งใสต่างๆนานา
“ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะนำไปสู่การร้องต่อศาลปกครอง,ศาลอาญา,ศาลแพ่งและการร้องเรียนต่อผู้บริหารโรงเรียนในที่สุด การรับฝากเด็กจะเป็นการนำไปสู่การที่ไม่สามารถจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้องได้ ทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ในปีปัจจุบันในบางโรงเรียนมีมากถึงห้องละ 66 คน ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้เกิดผลเสียโดยตรงต่อเด็ก ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนไม่ดีเท่าที่ควร อาจารย์ต้องเหน็ดเหนื่อย ความประพฤติของนักเรียนก็จะมีปัญหา“ อำนวย เล่าให้ฟัง
สู้เพื่ออนาคตของบุตร...อะไรก็ยอม
“ในเมื่อต้องยอมรับว่าครูทุกคนมีมาตรฐานและความรับผิดชอบไม่เท่ากัน ดังนั้นในโรงเรียนที่มาตรฐานสูงๆ อย่างน้อยเขาคงคัดเลือกครูที่จะเข้ามาสอน เพราะอย่างไรก็ตาม โรงเรียนคงต้องรักษาระดับความน่าเชื่อถือของไว้ ที่ยอมเสียเงินไปเพราะรู้สึกว่าเงินที่ให้ไปเขาก็เอาไปบำรุงโรงเรียนจริงๆ เราต้องคอยเข้าไปดูด้วย” อรชาแสดงความคิดเห็น
“โรงเรียนมันมีหลายระดับมาก ทันทีที่ลูกเดินออกจากบ้านไปเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกเรา ยิ่งเพราะเราเป็นครูด้วยทำให้เห็นภาพของปัญญาสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็ก วัยรุ่นนั้นมีเยอะมาก แต่ก็กลัวนะว่าลูกติดเพื่อนที่หัวสูง เพราะลูกเรา 8 ชั่วโมงไปอยู่กับโรงเรียน เพื่อนๆ บางคนก็ต่างเป็นลูกคนรวยทั้งนั้น ดังนั้นเราควรสอนในเรื่องการใช้ชีวิตให้แก่ลูกด้วย
“เป็นเพราะเรากลัวสังคมด้วย จึงไม่กล้าให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนที่ธรรมดามากๆ บางคนก็บอกว่าเป็นเด็กวัดยังโตมาได้เลย แต่ต้องบอกว่าสมัยนี้สังคมมันเปลี่ยนไปอย่ารวดเร็ว ถ้าเกิดว่าลูกเราจิตใจอ่อนแอ ไปติดยาก็ไม่มีใครรับผิดชอบได้ สิ่งที่ยอมเสียค่าเทอมไปแพงๆ นั้นไม่ใช่เพื่อการศึกษาอย่างเดียว แต่เป็นการซื้อสังคมที่ดีให้ลูก เพราะเราไม่ไว้ใจสังคม” อัญชันกล่าว
เอาจริงกำจัดแป๊ะเจี๊ยะ เด็กฝาก
จากความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้แก่สังคมไทยมาอย่างยาวนานนั้น ขณะนี้ท่าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ทำการยกเลิกโควตาผู้มีอุปการคุณร้อยละ 5 และได้ออกระเบียบใหม่ในการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2550 สำหรับโรงเรียนที่ได้รับความนิยมสูงทั่วประเทศ โดยโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ให้จับฉลากนักเรียนในเขตพื้นที่ให้บริการร้อยละ 50 และให้สอบร้อยละ 50 ส่วนโรงเรียนในเขตต่างจังหวัด ให้จับฉลากนักเรียนในเขตพื้นที่ให้บริการร้อยละ 50 สอบนักเรียนในเขตพื้นที่ให้บริการร้อยละ 40 และสอบนักเรียนนอกเขตพื้นที่ให้บริการแต่อยู่ในจังหวัดนั้นร้อยละ 10 (ส่วนนี้หมายความว่า โรงเรียนจะจัดลำดับคะแนนนักเรียนทั้งหมดโดยไม่แยกพื้นที่อาศัยก่อนร้อยละ 40 ส่วนนักเรียนที่เหลือก็นำมาแยกเอาเฉพาะนักเรียนนอกเขตพื้นที่บริการ แต่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน แล้วเรียงคะแนนเพื่อเลือกอีกร้อยละ 10 แล้วสุดท้ายค่อยเอา นักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่เหลือทั้งหมด มาจับฉลากร้อยละ 50)
โรงเรียนที่ต้องการจะรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเช่น นักเรียนที่มีความเก่งการกีฬาหรือดนตรีเป็นต้นให้รับได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของนักเรียนทั้งหมด โดยให้ร้อยละ 5 นี้รวมอยู่ในโควตาการสอบ โดยทั้งหมดจะยกเว้นโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษในการก่อตั้งจะมีระเบียบในการรับแตกต่างออกไป แต่ก็จะเป็นระเบียบที่ให้ความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคน
แต่ถึงแม้ว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะได้กรุณาออกระเบียบให้การรับนักเรียนในปี 2550 นี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้วก็ตาม แต่จากที่การฝากเด็กเป็นการกระทำที่ทำกันมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนและผู้มีอำนาจในพื้นที่บางคนที่ยังไม่ทราบข้อมูล ยังพยายามที่จะฝากเด็กเหมือนเดิม ฉะนั้นเพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปในการที่จะช่วยกันตรวจสอบ และทำการแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน หรือฟ้องร้องในกรณีที่พบการกระทำความผิด ที่หมายถึงการคอร์รัปชันในวงการการศึกษาไทย มันอาจไม่ใช่การพิสูจน์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันค้นหาความจริง
***************
วิธีการสังเกตและการเก็บหลักฐาน
1.ควรถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกภาพและเสียงในวันจับฉลาก เพื่อจดบันทึกรายชื่อผู้ที่จับฉลากได้
2.ควรถ่ายภาพหรือถ่ายสำเนารายชื่อนักเรียนผู้ผ่านการสอบ
3.สังเกตอันดับของผู้ผ่านการสอบ เพราะการประกาศผลจะประกาศเรียงตามคะแนนจากสูงไปหาต่ำ ถ้ามีนักเรียนที่ประวัติการเรียนไม่ดีนักแต่สอบได้อันดับสูงๆ หรือนักเรียนที่มีผลการเรียนด้อยกว่าบุตรหลานของท่านแต่สอบได้อันดับสูงกว่าบุตรหลานของท่านมาก
4.สังเกตนักเรียนที่เพิ่งมาเข้าเรียนหลังจากเปิดเทอมไปแล้ว โดยไม่มีรายชื่อเป็นผู้ผ่านการสอบหรือการจับฉลาก หรือไม่มีแม้กระทั่งรายชื่อเป็นผู้สมัครเข้าเรียน
แนวทางการต่อต้าน
1.ร้องเรียนกระทรวงศึกษาธิการ
2.ฟ้องศาลปกครอง
3.ฟ้องศาลอาญา(มาตรา 157)
4.ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
5.ฟ้องศาลแพ่ง
6.ประจานให้สังคมรับทราบ
*************
เรื่อง : นาตยา บุบผามาศ