แม้จะไม่เคยตาย แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าพื้นที่ที่จะให้เหล่า "เฮฟวี เมทัล" ในบ้านเราได้ยืนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นมีน้อยเหลือเกิน
ทั้งที่จะว่าไปแล้วในเรื่องความสามารถของเขาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำมาหากินเมื่อเปรียบเทียบกับนักร้องสายพันธุ์อื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่ มิหนำซ้ำอาจจะต้องใช้มากกว่าเสียด้วยซ้ำ
หรือจะเป็นเพราะคนไทยไม่ฟังเฮฟวีฯ หรือก็คงจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องมากนักหากสังเกตเอาจากปริมาณของคนดูที่หลั่งไหลไปชมศิลปินของเมืองนอกในแขนงเดียวกัน
แล้วมันเป็นเพราะอะไร? และคำว่า Rock Never Die จะมีความหมายอะไรอีกหรือ หากแม้ Rock จะไม่ตายก็จริง แต่ก็อยู่ในสภาพที่เรียกกันว่าเลี้ยงเท่าไหร่ก็เลี้ยงไม่โต?
ย้อนอดีตวันวาน
นับย้อนไปเมื่อสัก 20 กว่าปีก่อน ในช่วงที่กำแพงของวัฒนธรรมเปราะบาง หนุ่มสาววัยรุ่นไทยรับกระแสแฟชั่น ดนตรีมากมายมาจากฟากฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในเรื่องของดนตรี ที่ยุค 80 ถือว่าเป็นยุคทองของดนตรีเฮฟวี เมทัลอย่างแท้จริง วงดนตรีจากฝั่งตะวันตกมากมาย ได้ออกมาประกาศลัทธิความสะใจ ความบ้าคลั่ง ความรุนแรงผ่านเส้นสายกีตาร์ กระเดื่องกลอง และเสียงร้องลากไส้ ตะคอกตะเบ็งที่ผลาญพล่าพลังมาจากทุกอณูของร่างกาย จากภาพที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ปลุกพลังความคลั่งไคล้ดนตรีแนวเมทัลของวัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งในบ้านเรา ให้ลุกขึ้นมาแปรเปลี่ยนพลังความชื่นชอบให้กลายเป็นนามธรรม
"สมศักดิ์ แก้วทิตย์" ชายหนุ่มจากจังหวัดน่าน ที่เข้ามาศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในตัวเมือง ได้จับไม้กลอง และรวบรวมสมาชิกซึ่งเป็นพี่น้องของเขาแท้ๆ อีกสองคน คือ สมบัติ แก้วทิตย์(กีตาร์) และสมคิด แก้วทิตย์(กีตาร์เบส/ร้อง) รวมตัวกันในนาม “ดอนผีบิน” วงดนตรีที่ถือเป็นยุคแรกๆ ของวงดนตรีแนวเมทัลในบ้านเรา
สมศักดิ์บอกเล่าที่มาของดนตรีแนวเมทัลในเมืองไทย ว่าจุดเริ่มต้น มาจากการได้รับวัฒนธรรมจากตะวันตก เมื่อยุค 80 ซึ่งเป็นยุคที่ดนตรีเมทัลบูมที่สุด ซึ่งก่อนหน้านั้น มีวงดนตรีแนวร็อกเกิดขึ้นในบ้านเรา เพียงแต่ยังไม่มีวงใดที่เข้าไปถึงจุดที่ใช้คำว่า "เฮฟวี เมทัล" ได้
"ดนตรีเมทัลจริงๆ สมัยยุคเริ่มต้นจริงๆ มันยังไม่มีเมทัลนะครับ สมัยยุคแรกๆ เลยอย่าง เนื้อกับหนัง เขาก็ยังเป็นฮาร์ตร็อกอยู่ เป็นยุตสมัยก่อนมากแล้ว เมื่อสมัยสัก 20 ปีได้แล้วมั้ง พวกนั้นน่าจะเริ่มจาก พวกของพี่โอ้ โอฬารนะ เขาก็เล่น แต่เล่นไม่หนัก คือยุคนั้นมันไม่หนักอยู่แล้ว เพราะแนวเพลงเขาก็ยังเป็นฮาร์ตร็อก เป็นเฮฟวีเมทัล ซึ่งต่างประเทศเขาก็กำลังเริ่มเหมือนกัน อย่างยุค 80 บ้านเราก็ได้รับอิทธิพลมาเต็มๆ นะครับ ช่วงนั้น"
"ซึ่งดอนผีบินของผมเองก็เกิดช่วงนั้นเหมือนกัน 70 นี่ยังถือว่าเป็นฮาร์ตร็อกอยู่ 80 นี่เป็นยุคของเฮฟวี เมทัล ของ LA Metal ซึ่งค่อนข้างรุ่งเรืองน่ะ ผมคิดว่าเมืองไทยก็เริ่มตรงนั้นเหมือนกัน แต่ว่าวงที่สร้างงานจริงๆ ไม่ค่อยมี จะเห็นเป็นเรื่องเป็นราวน่าจะเป็นพวก หิน เหล็ก ไฟ พวกโอฬาร ซึ่งก็ไม่หนักมาก ยังเป็นกึ่งๆ ร็อกอยู่ ยังอิงตลาดอยู่บ้าง อย่างเพลงช้าๆ ของเขา ตอนนั้นดอนผีบินก็เริ่มต้นช่วงนั้น ซึ่งตอนนั้นเขาบอกกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเมทัลบ้านเราเหมือนกัน"
จุดเริ่มต้นจากการรับอิทธิพล เช่น คนทั่วไป เพียงแต่สมศักดิ์และพี่น้องต่างไปจากวัยรุ่นคนอื่นๆ ตรงที่เขาทั้งสามผลักดันความคลั่งไคล้ให้กลายมาเป็นวงดนตรีที่ทำเพลงกันเองจริงๆ รวมถึงความภาคภูมิใจที่ว่า "ดอนผีบิน" ของพวกเขา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวงการดนตรีเมทัลใต้ดินเมืองไทยที่ทำเอง ขายเอง จนสามารถจุดกระแสให้คนไทยที่สนใจทำเพลง ตื่นตัวและกล้าเดินในเส้นทางที่เชื่อมากขึ้น
"ช่วงนั้นยังเป็นคาสเซตอยู่ ซีดียังไม่มี ช่วงนั้นก็ละเมิดลิขสิทธ์กันน่าดู หาซื้ออะไรกันง่ายมาก 30 บาท แล้ววงต่างประเทศอย่าง Metalica อะไรพวกนั้น ก็เป็นจุดที่เราได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก เราก็มาคิดว่าเอ้ เราเป็นคนไทยน่าจะทำเพลงไทยนะ ซึ่งวงแรกจริงๆ ที่ทำออกมาเป็นสปีดเมทัล เป็นเฮฟวีเมทัลจริงๆแล้วเนื้อร้องภาษาไทย ก็น่าจะเป็นดอนผีบินน่ะ อาจจะมีวงอื่นทำน่ะ แต่จุดหัวหอกจริงๆ ผมว่ามันอยู่ตรงนั้น แล้วตอนนั้นพอดอนผีบินออกไป ก็รู้สึกว่ามันฟู่ฟ่าเหมือนกัน วงการอันเดอร์กราวนต์ของพวกร็อกน่ะ"
"ตอนนั้น Metalica มาแสดงคอนเสิร์ตบ้านเราพอดี แล้วผมก็เอาซีดี เอาเทปไปขายหน้างาน นั่นคือวันวางวันแรกของดอนผีบิน คิดดู Metalica มาบ้านเรา ก็ถือว่ามีแฟนเพลงระดับหนึ่งล่ะ คอนเสิร์ตคนมาดูก็ สี่ ห้าพัน จะถึงหมื่นหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะมันนานมาแล้ว นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านเรา คนที่เบื่อๆ เพลง ที่ดารามาร้องเพลง หรือเพลงตลาดอะไรอย่างนี้ ก็หันมาสนใจเพลงพวกนี้กัน"
เหตุที่เมทัลไทยไม่โต
แต่หลังจากกระแสตอบรับที่เปรี้ยงปร้าง ทั้งจากคนทำและคนฟัง ก็ทำให้วงการเพลงใต้ดินเติบโตเกินกว่าที่จะทานไหว ท้ายสุดวงการเพลงอินดี้ที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด ก็ไม่สามารถควบคุมขนาดของตัวเอง จนแตกกระจายกันไปคนละทิศละทางในที่สุด
"มันตอบรับดีนะ ตอนนั้นยอดขายว่ากันเป็นหมื่น สองหมื่นนะ ชุดโลกมืดออกไป สามปีผ่านไป ขายได้เป็นห้าหก หมื่นม้วน ซึ่งตอนนั้นมันจุดกระแสเหมือนกันนะ ว่า พวกใต้ดินมันทำได้ มันขายได้ มีค่ายเกิดขึ้น มีวงอื่นออกมาทำ มีซีเปียตามมา มีหลายๆ วงที่เป็นอินดี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพวกอีไมเนอร์ ก็ออกมาทำค่าย พวกทางกลุ่มของตาวันเขาก็มาทำพวกเฮฟวี มด ทำอะไรคึกครื้นตอนนั้น แล้วก็มีกระแสของอัลเทอร์เนทีฟเข้ามาด้วย ตอนนั้น มันก็เลยเหมือนฟองสบู่น่ะ มีเนียร์วานาเข้ามา มีวงโมเดิร์น ด็อกอะไรเกิดขึ้น เกิดกระแสอินดี้เข้ามา ในที่สุด จริงๆ มันเหมือนมันหลอกเราน่ะ คนแห่เข้ามาทำๆๆ เหมือนฟองสบู่ พอสักพักมันโพล๊ะ มันแตกกระจายไปหมดเลย วูบเลย อินดี้ตอนนั้นก็เดตเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมคิดว่าประมาณสัก 10 ปีก่อนน่ะ ช่วงหลังมันก็เริ่มเกลี่ยๆ ในแวดวงนะ อย่างช่วงนี้มันก็เริ่มเกลี่ยๆ เหมือนกัน อะไรคืออินดี้ อะไรคือพวกเฮฟวี"
เมื่อถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของการไม่เติบโตของวงการเพลงเมทัล สมศักดิ์มองว่าเรื่องของเทคโนโลยีเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดไม่ให้วงการดนตรีก้าวไปข้างหน้า ไม่เฉพาะกับแวดวงเมทัล แต่เกิดขึ้นกับดนตรีทุกๆ แนว นอกจากนั้นวงการดนตรีเมทัลเอง ก็มีการแบ่งพวก แยกย่อย จนไม่สามารถที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ได้เช่นวันวาน
"ตอนนี้ต้องถือว่าเป็นวิกฤตของทุกวงการ ทุกแนวครับ เพราะเทคโนโลยีมันทำให้ทุกอย่าง มันเข้าสู่ทางตีบตันนะ ตอนนี้ ผมมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่วิกฤตน่าดูเลยล่ะ ทางออกของวงการเพลงไทยจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้เลย ยอดขายบางทีอยู่หลักร้อยอย่างนี้ แล้วแฟนเพลงที่เคยติดตามกันมา ในช่วงหนึ่งเทคโนโลยีมันก็เปลี่ยนพฤติกรรมการฟังไปด้วย มันมีผล"
ถึงแม้ว่าดนตรีแนวอื่นที่มีอยู่ในบ้านเรา จะเกิดขึ้น แล้วดับหายไปอย่างไร ก็ดูเหมือนการโผล่ขึ้น และจมลงของแนวเพลงอื่นๆ จะเป็นช่วง เป็นยุคของมัน ตามแต่วันเวลาจะพาไป แต่กับแนวเพลงเมทัล ดูเหมือนว่าการมีอยู่ของยุคสมัยที่ชัดเจนในบ้านเรา จะไม่เคยปรากฏเกิดขึ้นเลยสักครั้ง จุดนี้สมศักดิ์มองว่า เกิดจากคนสร้างงาน ที่ขาดการสร้างงานเชื่อมต่อที่จะพาคนฟังเพลงให้การเดินล่วงมาสู่ใจกลางของความเป็นเมทัลได้
"ผมว่าส่วนหนึ่งคนสร้างงาน ยังไม่สร้างงานที่มันจะเข้าไปจุดกระแสตลาด มันมีหลายปัจจัยเหมือนกันที่นายทุนเขาก็มองไม่เห็นว่ามันจะสร้างรายได้อะไร หิน เหล็ก ไฟ เป็นตัวอย่างที่ดี เดอะ ซันอะไร เขามีโอกาสอยู่ตรงนั้น เขาก็ทำตรงนั้น มันเหมือนกับไปจุดกระแสเหมือนกัน ว่านี่เป็นเพลงเฮฟวีนะ เพลงนางแมว คนฟังพวกโลโซก็คิดว่า เออ มันกว่าเว้ย"
"แต่มันจะมีช่องว่างอยู่ ระหว่างที่หิน เหล็ก ไฟ หรือเดอะ ซัน ทำอยู่ตรงนั้น มันมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ว่าไอ้พวกที่มันหนักกว่านั้น หรือมันสะใจกว่านั้น มันไม่มี ไม่ใช่หนักนะครับ แต่ว่าที่มันเป็นเมทัลจริงๆ มันไม่มี เพราะว่าหิน เหล็ก ไฟ หรือเดอะ ซัน เองก็ยังอิงตลาดอยู่เยอะ เพลงยังอ่อนปวกเปียก ซึ่งมันยังไม่ใช่เฮฟวี เมทัล"
"ช่องว่างตรงนั้นแหล่ะที่มันยังไม่มีใครทำ กระโดดไปอีกทีเป็นพวกหนักๆ เลย เป็นพวกแบล็ก พวกเดต พวกอันเดอร์กราวนต์ วงหนักๆ เล่นบูลทัลกัน อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มันก็มีออกมากันเยอะ ช่องว่างตรงนั้นแหละครับ ผมก็มองๆ อยู่ว่าเราจะทำอย่างไร กับช่องว่างตรงนั้น ที่จะดึงกลุ่มคนที่ฟังวงนอกให้เข้ามา ผมคิดว่ากลุ่มแฟนเพลงโลโซเขาก็มีเหมือนกัน ที่อยากฟังหนักๆ ขึ้น พอเขาก้าวเข้ามาถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะก้าวเข้ามาเรื่อยๆ มันเหมือนเป็นวงน่ะ ก่อนที่จะเข้ามาหาจุดกลาง เขาก็ต้องค่อยๆ ก้าวเข้ามาทีละนิดๆ"
เพราะเพลงมันหนักเกินไป ?
"นี่ไง ที่ผมกำลังจะบอกว่า ไอ้พวกกลุ่มที่อยู่ตรงกลางมันหนักเกินไป ไอ้ที่จะทำตรงส่วนวงรอบๆ มันไม่มี อัลบั้ม DD ของผม ที่ทำออกมาล่าสุดเนี่ย มองตรงนี้เหมือนกันว่า นี่แหละคือ ความเป็นดนตรีเมทัล ที่ไม่ปวกเปียก มีความแข็งแรงอยู่ แล้วคนฟังทั่วไป มาฟังได้ ตรงนี้แหละช่องว่างมันอยู่ตรงนี้ ว่าทำไมบ้านเราจึงไม่มีกระแส เฮฟวีเมทัล เพราะว่าคนสร้างงานเอง ไม่เน้นมาสร้างงานที่ตรงนี้กัน"
"(ไม่มีวงที่เป็นตัวเชื่อม?) วงน่ะมีนะ วงมีแน่ๆ แต่เขาไม่ทำกัน ผมพูดถึงผลงานที่มีอยู่ในตลาดมากกว่า ถ้าจัดกลุ่มเป็นความเข้มของสีน่ะ ไล่ตั้งแต่เบิร์ดมา ไล่หนักมามีใคร ก็พวกโลโซ บิ๊กแอส อีโบล่า ก็ยังอิงตลาดอยู่เยอะ เอาหนักมาอีกหน่อย ก็เป็นพวกหิน เหล็ก ไฟ ก็น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มตรงนั้น แต่เลยนั่นไม่มีแล้วครับ กระโดดไปโน่นเลย ใต้ดินเลย พวกหนักๆ เลย ดอนผีบินก็เคยไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ ส่วนเชื่อม แต่ดอนผีบินจะค่อนข้างแตกต่างไป เพราะงานดอนผีบินค่อนข้างเป็นอาร์ต งานดอนผีบินจะลึก ซึ่งจะไม่อิงตลาดเลย การโปรดิวซ์งานตรงนี้ก็เลยไม่มี มันเลยกระโดดไปอีกที่หนึ่ง เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง"
"แล้วค่ายใหญ่เขาไม่มอง มันน่าจะเป็นเรื่องของคนที่มีศักยภาพทำตรงนี้ เขาไม่ทำ เพราะว่ากลุ่มอาจจะเล็ก หรืออะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเขามองว่าโลโซสามารถทำออกมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เป็นร็อกหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่อะไรที่มันหนักกว่านั้นหน่อย เขาอาจจะไม่มองแล้ว เขาจะมองเฮฟวีเมทัลเป็นกลุ่มที่มันเล็กลง อย่างสลิป น็อตมีอยู่เพลงหนึ่งที่มันเป็นเพลงตลาด แต่ลำพังตัวของสลิป น็อตเองนี่หนักมาก แต่มีเพลงตลาดอยู่เพลงหนึ่งที่มันเป็นมิวสิกวิดีโอนี่ มันทำให้เกิดแฟนเพลงเยอะขึ้น ถึงขนาดมีคอนเสิร์ตบ้านเราน่ะ แต่ทำไมแฟนเพลงเมทัลบ้านเราหายไปไหนหมด พอมีคอนเสิร์ตสลิป น็อตนี่โอ้โห คนร่วมหมื่น มาจากไหน แล้วยอดขายเพลงไทยทำไมอยู่แค่ห้าหกร้อยแผ่น พันแผ่นเต็มที่ แต่ตรงนั้นมันอาจจะมีปัจจัยเรื่องการซื้อมาโยงด้วย"
สมศักดิ์ตั้งความหวังเกี่ยวกับแวดวงดนตรีเมทัล ไว้ว่าอยากเห็นการเจริญเติบโตของดนตรีแนวนี้ในประเทศ ถึงแม้ว่าปัญหาเรื่องเทคโนโลยียังคงรุมเร้า แต่สมศักดิ์ก็ฝากให้คนที่รักและชอบ ผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ ท้ายที่สุดอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เขาเองยังคาดเดาไม่ได้อยู่ดี
"อยากให้โตกว่านี้ อยากให้แต่ละวงที่ทำเพลงกันอยู่นี่ ทำกันออกมาดู จะไปบอกว่าให้โปรดิวซ์ให้มันเป็นเพลงที่ทำให้คนรับได้กว้างหน่อยนะ เดี๋ยวเขาจะหาว่าไปทำเพลงขายอีก (หัวเราะ) มันยากเหมือนกันนะ เอาที่มีอยู่ก็ทำกันให้เต็มที่ เต็มความสามารถ มันอาจจะมีจุดหนึ่งแหละ ที่วงใด วงหนึ่งเอาเพลงตัวเองไปอยู่ในตลาดได้ แต่ทุกวันนี้วงที่อยู่ในค่าย หรือในเครือใหญ่หรืออะไรก็แล้วแต่นี่ ก็ยังโปรดิวซ์ให้มันเป็นตลาดอยู่ แต่นั่นก็ไม่ผิดนะ ผมมองว่าน่าจะเป็นที่ตัวงานมากกว่า ว่าเขามีความลงตัวที่ตัวงานมากน้อยแค่ไหน"
"แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังอยู่ในวงการดนตรีเฮฟวีเมทัลในเมืองไทยอยู่ ก็ยังอยากจะให้มันมีความคึกครื้นขึ้นบ้าง ไม่ใช่เงียบ แบบหดหู่เหลือเกิน มันหดลงๆ ก็คิดว่า แล้วมันจะเป็นอย่างไรเนี่ย วันข้างหน้า แต่ทุกวันนี้นักดนตรี ศิลปินเขาก็ยังสร้างงานกันอยู่ แต่ว่า เขาจะได้อะไรจากการสร้างงานว้า ทำเพื่อความมันเหรอ มันก็ไม่ใช่ บางทีทำออกไป เอ้า ดาวน์โหลดกันเลย ฟรี แล้วไปเจอผมในคอนเสิร์ตอย่างนี้เหรอ"
"ผมก็คิดว่า มันจะยังคงไปเรื่อยๆ นะ ศิลปินกลุ่มคนสร้างงานก็ยังจะคงสร้างงานไปเรื่อยๆนะ จนกว่ามันจะอย่างที่ว่านั่นแหละ ถ้ายังขายไม่ออกก็ถึงขั้นแจกฟรีกันละมั้ง เพราะว่าเทคโนโลยีการอัดเสียงเดี๋ยวนี้มันก็ง่ายขึ้น คอมพิวเตอร์ตัว มีอินเตอร์ เฟท มีลำโพงอะไร ทำงานกันในห้องนอนมันก็พอไหว ถ้าคุณมีความสามารถในเรื่องของซาวนด์ เอนจิเนียหน่อย ซาวนด์ออกมามันก็โอเคน่ะ"
เส้นทางวันพรุ่ง
นอกจากจะมุ่งมั่นในแนวทางของตนเองแล้วสิ่งที่ "สมศักดิ์" กำลังทำในตอนนี้ก็คือโปรเจกต์ DayOneRecords (www.dayone-records.com) สถานที่ที่พร้อมจะเพาะพันธุ์วงดนตรีสายพันธุ์เมทัลของไทยขึ้นมา
โดยหนึ่งในผลผลิตคลื่นลูกใหม่ของนักดนตรีเมทัลในไทยของสมศักดิ์ ก็คือ วงดนตรีแนว เมทัล คอร์ ในนาม G6PD วงดนตรีที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลวงดนตรีหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในงาน สีสัน อวอร์ดส์ครั้งที่ 19 ถึงแม้จะพลาดจากรางวัลไป แต่จากการถูกเสนอชื่อครั้งนั้น ก็ทำให้ “ต้อง-วิภูพงศ์ จิระประภูศักดิ์ (เบส ), เติ้ล-พิศิษฐ์พงค์ จันทฉายา (ร้องนำ), แนท-ธรณิศ กีรติปาล (กีตาร์) และ บี-เอกสิทธิ์ นิลแก้ว (กลอง)” หรือ G6PD เป็นที่จับตามองของคนแวดวงเมทัลมากขึ้น
เมื่อถามถึงปัญหาของคนทำดนตรีเมทัลในไทย สี่หนุ่มยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีการโหลดไรต์ในปัจจุบันและเรื่องของสื่อที่ยังมีไม่มากพอ
บี - "อย่างในไทยนี่ ที่เจอมาอย่างแรกเลยก็คือ เรื่องเอ็มพี สามครับ นี่คือปัญหาใหญ่เลย ไม่ใช่แต่ดนตรีแนวเมทัลนะครับ แนวอื่นๆ อย่างเพลงตลาดก็เจอปัญหานี้ แต่ว่ายังไงเขาก็ยังมีคนซัปพอร์ต ใช่ไหมครับ เพราะสื่อเขากว้าง แต่ว่าอย่างเมทัลของเรานี่ เราทำแบบหนักครับ แล้วมันก็ออกมาจากใจเรา นี่คือปัญหาหลักคือ ไม่มีตังค์กันครับ ก็ต้องสู้ด้วยตัวเองครับ"
แนท - "สื่อก็ไม่มี ไม่มีสื่อจะโฆษณาอย่างนี้ครับ ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตจากตัวเอง จากเว็บไซต์ จากปากต่อปากอะไรอย่างนี้มากกว่า จะไม่ค่อยมีหนังสือ ยิ่งทีวีนี่ยิ่งยากไปใหญ่"
บี - "ก็มีท้อบ้างนะครับ อย่างตอนแรกเราก็รู้ว่า ถ้าทำมาก็คงขายได้เฉพาะกลุ่ม คงขายไม่ได้มาก แต่คือเราก็ยังอยากทำน่ะ เพราะเราถือว่ามันเป็นส่วนเติมเต็มของชีวิตเราครับ เรารู้ว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ เราปฏิเสธตัวเองไม่ได้ อย่างน้อยในชีวิตหนึ่งก็ขอสักครั้งหนึ่ง มันต้องทำครับ ก่อนที่เวลาจะหมด"
ต้อง - "มันก็เหมือนกับเราอยากจะให้ดนตรีแนวนี้ในประเทศไทยมันโตขึ้นให้เทียบเท่ากับฝรั่งได้ครับ พวกเราก็พยายามทำกัน"
หากมองไปถึงสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนชอบดนตรีเมทัลในเมืองไทยไม่ขยายตัว G6PD บอกว่า สื่อเป็นปราการด่านสำคัญที่จะช่วยทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายได้
แนท - "สื่อ ผมว่าสื่อเป็นส่วนใหญ่ ทีวีอย่างนี้ก็เห็นอยู่แต่สองค่ายกันครับ แล้วเพลงที่ออกมาก็เน้นเพื่อที่จะขายมากกว่า จนบางทีเขาก็ลืมนึกถึงอะไรที่ใส่เข้าไปในเพลง คือเน้นจะขายอย่างเดียว เพราะฉะนั้นมันจะไปบีบตัวเองให้แคบไป ถ้ามีใครที่ทำอะไรที่ต่างออกไปจากนั้น คนก็จะไม่เห็น อย่างที่พวกผมไปเห็นวงฝรั่งกันนี่ ก็ไม่ใช่จากทีวี เราไปหาจากอินเทอร์เน็ต จากวีซีดี ไปดู หาฟังกันเอง จะเป็นอย่างนั้นมากกว่าครับ"
บี - "แต่ตอนนี้ก็น่าชื่นใจอย่างหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าแวดวงดนตรีพวกอินดี้นี่ ถึงจะเป็นหนักๆ ขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าเด็กสมัยนี้เขาฟังกว้างขึ้นนะครับ มากกว่าแต่ก่อนมากเลย ก็แอบดีใจนิดๆ นะครับ ที่ว่าก็ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับดนตรีอย่างพวกเรา ก็ถือว่าแค่นี้ก็ชื่นใจแล้วครับ"
เหมือนกับวงดนตรีวงอื่นทั่วๆ ไปก็คือพื้นที่ที่จะให้พวกเขาแสดงนั้นมีน้อยเหลือเกิน บางวงก็ถึงขนาดที่เอางานของตนเองไปเร่ข่ายตามปั๊มน้ำมันด้วยการฝากเพื่อนหรือคนที่รู้จัก
ต้อง - "แล้วก็สถานที่เล่นครับ สถานที่ที่เราจะเอาเพลงเราไปแสดงสด ไม่ค่อยมี เราต้องจัดกันเองนะครับ ไปขอสปอนเซอร์เอง เดินเรื่องกันเอง(ควักกระเป๋าเอง?)มีครับ มีแน่นอน ขาดทุนตลอดเวลาอยู่แล้วครับ"
บี - "ช่วงแรกๆ คือ ก็มีปัญหาอีกอย่างคือ มันเป็นเพลงหนักนะครับ บางทีพวกเราเล่นไป มีงานหนึ่งที่ไปเล่นงานสงกรานต์ที่เชียงใหม่ ก็โดนเทศกิจมาไล่ก็มี(หัวเราะ) เพราะว่าเพลงเรามันเกินไปนะครับ เกินที่เขารับได้ ก็เจ็บใจเหมือนกัน(หัวเราะ) แต่ว่าก็ทำไงได้ ก็ต้องเข้าใจครับ"
"อย่างบางทีเขาบอก หนักเกินไป เล่นเพลงเบาๆ หน่อย แนท(มือกีตาร์)ก็บอกครับๆ แล้วก็ไปหรี่วอลุ่มกีตาร์ลง แล้วก็เล่นหนักเหมือนเดิม (หัวเราะ)ก็ตลกดี สุดท้ายก็โดนไล่อยู่ดีครับ เขาอยากให้พวกเราไปเล่นเพลงพวกซอฟต์ๆ แต่ว่าเราไม่ได้ไปทางนั้นครับ ก็ลำบากใจ"
สิ่งที่อยากจะฝากถึงสังคม?
แนท - "ครับก็ ฝากให้ลองฟัง ลองเปิดใจ ลองตั้งใจฟัง ไม่ใช่ว่าฟังรอบเดียวแล้วไปคิดตีความว่ามันจะเป็นแบบนี้ ก็ลองฟังหลายๆ รอบ ฟังสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อ ไม่ว่าจะแนวนี้ หรือแนวที่ค่อนข้างจะฟังยากหน่อย ลองศึกษาเขาจริงๆ ลองตั้งใจฟัง หลังจากนั้นคุณจะตัดสินว่ามันเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่คุณเลย ขอแค่ลองตั้งใจฟัง ลองเปิดใจฟังศิลปินที่ทำงานแบบนี้ดูครับ"
********************
เรื่อง : ทีมข่าวบันเทิง