xs
xsm
sm
md
lg

"สังฆทาน" INTREND !!!!!! ลบภาพปรากฏการณ์ "ถังเหลือง" เต็มวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สังฆทานรูปแบบใหม่ ชุดธรรมะเพื่อสุขภาพ
ภาพ "สังฆทานถังเหลือง" ที่เคยชินตาของบรรดาชาวพุทธที่นิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทานมานานนับหลายสิบปี จนกลายเป็นปรากฏการณ์ถังเหลืองเต็มวัดไปหมดนั้น ในวันนี้เริ่มเลือนหายไปบ้างแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่และคนที่เบื่อหน่ายกับสิ่งของที่จำเจลุกขึ้นปฏิวัติพร้อมพยายามมองหาของแปลกใหม่ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพระและวัดมากขึ้น ณ วันนี้รูปแบบสังฆทานจึงพลิกโฉมไปแบบไม่มีขีดจำกัด แต่งานนี้กลับสร้างความแฮปปี้ทั้งผู้ถวายและผู้รับ

ย้อนยุคถิ่นสังฆทาน

เมื่อสมัยเมื่อ50 ปีก่อนนั้น คนกรุงเทพฯเมื่อจะไปซื้อผ้าต้องไปย่านพาหุรัด ถ้าจะไปซื้อทองต้องไปบ้านหม้อ และถ้าใครจะทำอะไรเกี่ยวกับงานบุญงานบวชจะต้องไปย่านถนนบำรุงเมือง เพราะถือเป็นแหล่งจำหน่ายสังฆภัณฑ์ตั้งแต่ พระพุทธรูป เครื่องบวช ผ้าไตรจีวร ย่าม บาตร กลด ตาลปัตร ของใช้ในการทำบุญไปจนถึงเครื่องสังฆทาน ตลอดถนนบำรุงเมืองจะแทบทุกร้านค้าที่อยู่ติดถนนจะเปิดร้านขายแต่สังฆภัณฑ์ตลอดสองฟากทาง

นอกจากนี้ยังมีย่านอื่น ๆ ซึ่งอาจจะใหญ่ไม่เท่ากับย่านถนนบำรุงเมือง อาทิ สำราญราษฎร์ บางลำพู เป็นต้น ที่เหลือจะเป็นร้านค้าที่อาศัยทำเลตามวัดชื่อดังที่มีคนนิยมมาถวายสังฆทานกันเป็นจำนวนมาก อาทิ วัดสร้อยทอง ย่านนนทบุรี, วัดหลวงพ่อโอภาสี ย่านฝั่งธน, วัดอโศการาม ย่านสมุทรปราการ เป็นต้น

สานิต อิงคภัทรางกูร เจ้าของร้านอิทธิมนต์ ซึ่งจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ด้านถนนดินสอ เล่าว่าเขาเป็นคนที่เกิดในย่านนี้จึงคุ้นตากับสังฆภัณฑ์มาตั้งแต่เล็กและมีโอกาสทำงานในร้านค้าแถวนี้จนกลายมาเป็นเจ้าของร้านในที่สุด

"เมื่อก่อนคนไม่รู้จักสังฆทานหรอก เพราะคนจะทำบุญถวายของให้พระแต่ละครั้งจะมาจัดชุดไทยทาน ซึ่งเป็นของใช้ประจำวันของพระ อาทิ สบู่ ยาสีฟัน ผลซักฟอก กระดาษชำระ นมข้น โอวัลติน ของทั้งหมดจะจัดลงถาดแล้วห่อด้วยกระดาษแก้วสีเหลือง"

แต่เมื่อถามถึงการเข้ามาของถังเหลืองที่กลายเป็นรูปแบบมาตรฐานของสังฆทานในยุคใหม่นั้น สานิตกลับไม่แน่ใจว่าเป็นมาอย่างไร แต่ยืนยันว่าสังฆทานถังเหลืองเกิดขึ้นและอยู่ยงมานานหลายสิบปีแล้ว

สังฆทานถังเหลืองในยุคแรก ๆ ที่สานิตรับจัดให้ลูกค้านั้นเขาบอกว่ามีตั้งแต่ หอม กระเทียม พริกแห้ง กะปิ น้ำปลา ข้าวสารไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันเช่น สบู่ ผงซักฟอก ใบชา ไม้ขีดไฟ ยาสามัญประจำบ้าน ผ้าอาบน้ำฝนหรือจีวร เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะวางจัดเรียงอยู่ในถังสีเหลืองแบบพูน ๆ เพื่อความสวยงามและปิดทับด้วยกระดาษแก้วสีเหลืองอีกชั้นหนึ่ง

"เมื่อก่อนลูกค้ามาให้จัดสังฆทานก็ลำบากใจ เพราะของสดพวกนี้เก็บได้ไม่เกิน 1 - 2 วัน มันจะมีปัญหาเรื่องความชื้นและขึ้นรา จนตอนหลังก็ต้องเลิกใช้กันไป จะมีก็เพียงไม่กี่คนที่ยังต้องการครบชุดแบบนี้อยู่"

"สังฆทาน" ติดแบรนด์

แม้ว่าเมื่อก่อนร้านค้าสังฆภัณฑ์ต่าง ๆ จะรับจัดสังฆทานไปด้วย แต่สินค้าสังฆทาน เป็นเพียงสินค้ารองที่เจ้าของร้านต้องมีไว้เพื่อความสะดวกของลูกค้าเท่านั้นและได้กำไรเพียงเล็กน้อย ส่วนมากรายได้หลักยังเป็นสินค้าสังฆภัณฑ์อื่น ๆ มากกว่า

จนเมื่อ 3 - 4 ปีที่เมืองขยายตัวขึ้นพร้อมกับคนยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น การไปหาซื้อสังฆทานตามย่านเก่า ๆ ที่ไม่มีที่จอดรถจึงกลายเป็นภาระขึ้นมา จึงเริ่มมีคนแห่ไปจัดสังฆทานในห้างโดยเดินช้อปของใช้ในห้างที่มีสินค้าทุกอย่างที่ต้องการ ซึ่งมีคนเห็นช่องทางที่จะปรับการตลาดตามพฤติกรรมของคนยุคใหม่

สมจิต แก่นสาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรพลชัย จำกัด เป็นรายแรกที่นำสังฆทานไปเจาะช่องทางตลาดในห้างสรรพสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "วิจิตรพลชัย" กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจนี้เห็นว่าการทำสังฆทานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมของชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ จึงเสนอรูปแบบของเครื่องสังฆทานเข้าไปยังห้างเทสโก้โลตัส

"ในครั้งแรกทางห้างเทสโก้โลตัสบอกว่าจะจัดชุดสังฆทานขายเอง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าหากว่าทำไม่ทันและจะให้เราช่วยเหลือก็ยินดี หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับการติดต่อจากผู้บริหารของเทสโก้โลตัส ว่ายินดีจะสั่งซื้อเครื่องสังฆทานของเรา"

สมจิต เล่าว่า เมื่อส่งสังฆทานไปวางขายที่เทสโก้โลตัสแล้ว เพียงสัปดาห์เดียวก็จำหน่ายหมดและทางเทสโก้โลตัสก็สั่งซื้อเรื่อยมา เมื่อโลตัสขยายสาขาเพิ่มขึ้น ยอดขายเครื่องสังฆทานของวิจิตรพลชัยก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

สังฆทานภายใต้ยี่ห้อ"วิจิตรพลชัย" ถือได้ว่าเป็นรายแรกที่บุกเบิกตลาดสังฆทานในรูปแบบใหม่ที่ติดตรายี่ห้อ โดยพยายามจะสร้างมิติใหม่ในวงการตลาดนี้โดยให้ลูกค้าเรียกหาสินค้าที่มีตรายี่ห้อเพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ยังติดรายการสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน และเพิ่มความหลายทั้งรูปแบบทั้งถังเหลืองและกล่องพลาสติก พร้อมตั้งราคาของสินค้าให้หลากหลายเพื่อผู้บริโภคทุกระดับได้เลือกซื้อหา

จากความสำเร็จของการติดแบรนด์ในสังฆทานยุคแรก ๆ ทำให้ผู้ค้าหลายรายเริ่มแห่กันจัดสังฆทานขึ้นห้างมากขึ้น ขณะที่ทุกห้างสรรพสินค้าต่างก็เห็นความสำคัญของตลาดนี้จึงเริ่มจัดแผนกสังฆภัณฑ์ขึ้นมา

หลายแบรนด์ที่ผุดขึ้นมาก็ใช้รูปแบบของการตลาดเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับตัวสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบแพ็คเกจจากถังเหลือง ให้เป็นภาชนะอื่น ๆ อาทิ กล่อง ปิ่นโต บาตรพระ พาน เป็นต้น ไปจนถึงขั้นตัดราคาและทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

ปรากฏการณ์ "ถังเหลือง"หมดอายุ

เมื่อมีการแข่งขันสูงทำให้มีคนเข้ามาแข่งกันทำสินค้าในตลาดนี้มากขึ้น จนบางรายนำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือสินค้าที่ใกล้หมดอายุมาบรรจุในหีบห่อ ทำให้เริ่มมีการพูดเตือนกันแบบปากต่อปากว่าให้ระวังของหมดอายุ ถวายไปแล้วพระจะไม่ได้ใช้ และจะเป็นบาป ส่งผลให้ตลาดสังฆทานเริ่มสะดุด

เคยมีทั้งฆราวาสและพระจำนวนไม่น้อยที่ออกมาโวยวายและเตือนกันเรื่องของสินค้าหมดอายุจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ทุกฝ่ายพยายามปัดความรับผิดชอบกันหมด ไม่ว่าจะเป็นห้างซึ่งยืนยันไม่รับผิดชอบสินค้าเพราะเป็นการฝากขาย ส่วนบริษัทที่จัดสังฆทานก็ปัดว่านำสินค้ามีคุณภาพมาขาย แต่สินค้าอาจจะอยู่บนชั้นขายนานเกินไปจนหมดอายุ หรือบางทีอาจจะไปอยู่กับพระที่รับสังฆทานเป็นจำนวนมากแล้วใช้ไม่ทันจนถึงวันหมดอายุก็เป็นได้

ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามใหญ่โต สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้งัดประกาศว่าด้วยฉลากเรื่องให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลากฉบับล่าสุดขึ้นมาใช้ โดยสังฆทานจะต้องมีรายการสินค้าที่ระบุขนาด น้ำหนัก และราคาของแต่ละรายการ รวมไปถึงชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย วันเดือนปีที่บรรจุ หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรบริโภค

นอกจากนี้ในประกาศฯยังเตือนเรื่องสินค้าเช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่และผงซักฟอก ที่อาจจะทำปฏิกิริยาต่อกันจนทำให้มีสี กลิ่นและรสเปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ซึ่งควรจะแยกสินค้าเหล่านี้ออกจากกัน

สังฆทาน "เวียนเทียน"

นอกจากปัญหาเรื่องสังฆทานถังเหลืองที่มีแต่ของหมดอายุแล้ว เรื่องของ "บริขาร" ที่ถวายมากับสังฆทานนั้นเริ่มจะล้นวัด เพราะความที่ฆราวาสนิยมถวายสังฆทานกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง
จึงเกิดปรากฏการณ์ถังสีเหลืองที่ใช้บรรจุเครื่องบริขารต่าง ๆ วางอยู่เต็มวัดจนพระนำไปใช้ไม่ทัน รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคกองเรียงรายจนบางวัดเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้าไปทุกที

มีบางวัดหรือพระบางองค์ที่รับสังฆทานอยู่เป็นประจำจนของล้นวัด ก็จะนำไปมอบให้กับวัดที่กันดารต่างจังหวัดเพื่อเป็นการทำบุญตามความประสงค์ของฆราวาส รวมทั้งระบายของไปด้วย

ขณะที่บางวัดจะใช้วิธีทำ "สังฆทานเวียนเทียน" คือการนำถังสังฆทานที่ฆราวาสถวายแล้วมาให้ญาติโยมนำมาถวายต่อ วัดประเภทนี้จะมีการจัดทำบุญถวายสังฆทานโดยเฉพาะ และจัดคิวถวายเป็นรอบ ๆ ไป ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้ทำบุญว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า "จะต้องไปดูก่อนว่าวัดนั้นทำอะไรอยู่บ้าง เช่นบางวัดกำลังสร้างโบสถ์ มีโรงเรียนสอนศาสนา หรือมีกิจกรรมอื่น ๆ ของวัด ซึ่งเงินที่ญาติโยมบริจาคซื้อสังฆทานเวียนเทียนนี้จะนำไปใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ ก็ดีกว่าซื้อสังฆทานมาถวายแล้วพระใช้ไม่ทันก็จะเหลือเต็มวัดอีก"

ขณะที่พระนิวาสน์ ภทฺทจารี วัดงาแมง จ.เชียงใหม่ เคยแสดงความคิดเห็นว่า "อาตมาภาพเห็นว่าการถวายทานแบบนี้มีทั้งดีและไม่ดี ส่วนที่ว่าดีนั้น เพื่อนำเงินที่ได้มาไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในด้านต่างๆ หรือไปใช้ประโยชน์แก่ส่วนรวมตามความเหมาะสม ญาติโยมจะได้บูชาสังฆทานที่ราคาถูก ส่วนที่ไม่ดี คือ อาจจะเป็นช่องว่างให้พวกที่เห็นแก่ได้ปลอมเข้ามาบวช เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่น กักตุนสังฆทานแล้วนำไปขายให้ร้านค้า นำเงินมาใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง"

ไฮโซ-ดารา ดาหน้าจับธุรกิจทำบุญ

ในช่วงหลังๆ ที่สังฆทานเริ่มกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงในวงกว้างทั้งเรื่องคุณภาพและของที่ถวายนั้นมากเกินความต้องการของพระ จึงมีคนลุกขึ้นมาปฏิวัติรูปแบบของสังฆทานเสียใหม่ งานนี้อาจจะต้องใช้เกมเดาใจพระว่ายังขาดเหลืออะไรอยู่บ้าง เพื่อที่ว่าจะถวายสังฆทานทั้งทีจะได้เป็นประโยชน์สูงสุดกับพระที่รับจริงๆ

เมย์-มาริสสา มหาวงศ์ตระกูล สาวไฮโซที่ชอบทำบุญเป็นชีวิตจิตใจก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่ด้วยความช่างสังเกตตอนไปวัด จะพยายามมองดูรอบ ๆ วัดหรือกุฏิพระว่ายังขาดสิ่งใดบ้าง และพยายามไปหาสิ่งที่คิดว่าเป็นความจำเป็นของพระมาถวาย และเมื่อถวายแล้วกลายเป็นความอิ่มเอิบใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

เธอจึงปิ๊งไอเดียนี้พร้อมทุ่มเงิน 10 ล้านบาท ตั้งบริษัท ใบโพธิ์ ไทยแลนด์ จำกัด ขึ้นเพื่อจำน่ายสังฆทานรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ "ใบโพธิ์" ซึ่งนอกจากสังฆทานถังเหลืองที่จำเป็นต้องมีแล้ว เมย์ยังมีอัฐบริขารรูปแบบใหม่ไฉไล 3 เซ็ท ซึ่งแต่ละเซ็ทจะตั้งชื่อไว้อย่างระรื่นหู อาทิ ชุดธรรมะเพื่อสุขภาพ ชุดนี้เป็นชุดชงชาที่มีกาน้ำชาพร้อม ใบชาใบหม่อนพร้อมชงสะดวกสบาย ชุดธรรมะเพื่อความบริสุทธิ์เป็นกาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า และชุดสุดท้ายที่แทบจะไม่มีใครนึกถึงคือ คือ ชุดธรรมะเพื่อความร่มเย็น ที่ถวายเป็นพัดลมให้แก่พระ
ต้องยกเครดิตในการกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนโฉมหน้าจากสังฆทานถังเหลืองสู่รูปแบบที่คิดว่าน่าจะโดนใจพระสงฆ์

ส่วน เปิ้ล-นาตาชา คอฟแมน ดารานางแบบสาวสวยก็เป็นอีกคนหนึ่งที่พลิกผันมาจับธุรกิจทำบุญเช่นกัน โดยเปิดร้าน "สาละ ธรรม" ขึ้น ในคอนเซ็ปท์ชอปปิ้งบุญคือภายในร้านจะจำหน่าย, พระพุทธรูปประดับคริสตัล ในรูปแบบดีลิเวอรี่ที่ส่งให้กับลูกค้าถึงบ้าน

เปิ้ลเล่าว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะชอบมองหาสังฆทานแปลกใหม่ไปถวายให้กับวัด ซึ่งเธอก็พยายามเซ็ทชุดแปลกใหม่ขึ้นมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น ชุดปัญญา ซึ่งจัดเป็นเครื่องเขียนและหนังสือธรรมะซึ่งจะขายดี รวมทั้งพระพุทธรูปประจำวันเกิดเป็นต้น

สังฆทานคิกขุ

อภิรมย์ ชำนิบรรณการ เจ้าของร้านยัวร์ฟลอริสต์ เล่าว่าแต่เดิมเปิดกิจการจำหน่ายเทียนหอม แป้งร่ำ น้ำอบไทย จัดดอกไม้สดและดอกไม้ประดิษฐ์ เมื่อเวลาไปทำบุญที่วัดจะจัดสังฆทานด้วยตัวเองไปถวาย ซึ่งสังฆทานของอภิรมย์นั้นไม่เหมือนใครเพราะเธอจะใช้ของภายในร้านบรรจุในตะกร้าหวายใบเล็ก ๆ ที่ประดิษฐ์ประดอยด้วยลูกไม้สีสันสวยงามไปถวายวัดอยู่เป็นประจำ ซึ่งเธอบอกว่าพระสงฆ์ทุกองค์ที่รับสังฆทานจากเธอแล้วก็ชอบเช่นกัน

เมื่อเริ่มมีคนมาเห็นไอเดียกิ๊บเก๋นี้จึงตามมาสั่งสังฆทานแบบนี้ที่ร้านของเธอ จนกลายมาเป็นสินค้าประจำร้านไปในที่สุด

อภิรมย์บอกว่าสังฆทานของเธอนั้นค่อนข้างจะจัดยากจึงต้องสั่งกันล่วงหน้า 3 - 5 วันเป็นอย่างน้อย เพราะความยากอยู่ที่ตะกร้าหวายที่ต้องใช้เวลาในการตกแต่งลูกไม้และลูกปัดด้วยมือให้ดูงดงาม ส่วนของที่จะบรรจุภายในตะกร้าก็จะต้องทำให้ดูดีอีกเช่นกัน อาทิ ข้าวสารจะใส่ถุงพลาสติกแล้วมีถุงผ้าโปร่งผูกโบว์อย่างสวยงามอีกด้วย ดูไปแล้วเหมือนของขวัญที่นิยมไปมอบให้กันตอนปีใหม่มากกว่าจะเป็นสังฆทาน

ด้วยรูปแบบที่สวยงามแปลกตาเช่นนี้ อภิรมย์เปิดเผยว่าชุดสังฆทานของเธอจะจัดในราคาเริ่มตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ส่วนมากลูกค้าจะนิยมสั่งทำเพื่อถวายพระผู้ใหญ่ ซึ่งทางร้านเคยจัดชุดที่แพงที่สุดในราคาสูงถึงชุดละ 3,500 บาทที่เป็นตะกร้าชุดใหญ่ที่มีช่อดอกไม้โบเก้ติดอยู่ด้านบนด้วย ส่วนชุดที่อลังการกว่านั้นคือมีฆราวาสมาสั่งให้ทำครั้งเดียวถึง 65 ชุดเพื่อจะถวายพระในงานสวดมหาสันติหลวงที่ พุทธมณฑล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา

การแสวงหารูปแบบแปลกใหม่ของสังฆทานคงยังไม่สิ้นสุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่เริ่มมีคำถามว่าของอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจาก "สังฆทานถังเหลือง" นั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องและจะได้บุญหรือไม่ พระพจนารถ ได้กล่าวว่า

"หลักของการถวายสังฆทานนั้นจะเป็นวัตถุอะไรก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นสีเหลืองหรอก ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเราถวายไปแล้ว เราสบายใจและเกิดความสุขจากการให้ก็ถือว่าได้บุญกุศลแล้ว"

**************************

ถวาย "สังฆทาน" ให้ได้บุญสูงสุด

ทุกวันนี้บรรดาพุทธศาสนิกชน ทั้งหลายนิยมถวายสังฆทานแก่พระภิกษุสงฆ์ จนสังฆทานกลายเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่กำลังมีนักธุรกิจและนักการตลาดมองเห็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มมีคนนำ "สังฆทาน" มาเป็นสินค้าแบบพุทธพาณิชย์ที่เย้ายวนใจไม่น้อย

แต่คนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักคำว่า "สังฆทาน" อย่างถ่องแท้ว่าถวายอะไรจึงจะได้บุญที่แท้จริงกันแน่

"สังฆทาน" หมายถึง การถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปจึงจะครบองค์ประชุม ซี่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าการถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์โดยไม่เจาะแล้ว จะได้บุญสูงสุดยิ่งกว่าถวายแก่พระอรหันต์หรือถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าทรงต้องการให้ชาวพุทธเป็นคนใจกว้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ดังนั้นเมื่อใครก็ตามที่ได้ถวายสังฆทานแล้วพระสงฆ์ที่มารับกล่าวคำว่า "อาตมารับแทนสงฆ์" นั่นหมายความว่าพระสงฆ์รูปนั้น ๆ ถือเป็นตัวแทนรับแทนคณะสงฆ์ทั้งวัดเพื่อมารับสังฆทาน และจะต้องนำสังฆทานที่ได้รับการถวายนั้นเข้าส่วนกองกลางของวัด เพื่อเป็นประโยชน์แก่พระภิกษุสงฆ์ภายในวัด

ในระยะหลังนั้นรูปแบบของ "สังฆทาน" ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยถวายจัตุปัจจัยไทยทาน กลายมาเป็นสิ่งของที่จำเป็นแก่วัดวาอาราม จนกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันว่าสังฆทานนั้นจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

เรื่องนี้ได้รับการอรรถาธิบายจากพระพจนารถ ปภาโสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กล่าวว่า

"ในการหาสังฆทานมาถวายพระภิกษุสงฆ์นั้นจะมีหลัก 3 ประการคือ หนึ่งมีความตั้งใจจริงก่อน สองปัจจัยที่หามานั้นต้องบริสุทธิ์ และสิ่งของเหล่านี้จะต้องไปหามาด้วยตัวเองและถวายด้วยตัวเอง ถ้าทำตามหลักทั้ง 3 ประการก็ถือว่าได้บุญแล้ว"

ส่วนการจัดสังฆทานถวายพระสงฆ์นั้นต้องประกอบด้วยวัตถุทาน 10 อย่าง อาทิ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ใบมีดโกน ผงซักฟอก เครื่องดื่ม ผ้าอาบน้ำฝน และของอื่น ๆ
สังฆทานแบบเก่าๆ รุ่นบรรจุในถังเหลืองที่เราเห็นจนชินตา
ปัจจุบันมีแพ็คเก็จแบบใหม่ๆ ที่สะดวกทั้งคนซื้อ คนขาย และผู้รับ
ใส่พานถวายก็ได้บุญไปอีกแบบ
หรือจะบรรจุในกระติก หลังถวายเสร็จทางวัดสามารถนำไปใช้งานต่ออีกได้
พุทธศาสนิกชนสามารถถวายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น




มาริสสา มหาวงศ์ตระกูล
นาตาชา คอฟแมน อดีตนางแบบลูกครึ่งที่ผันตัวมาทำธุรกิจทำบุญ
กำลังโหลดความคิดเห็น