xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์ทดลอง:วัตถุดิบมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


               ความทรงจำในวัยเยาว์ของใครหลายคนคงนึกภาพออก ภาพที่เราร้องไห้ทุกครั้งเมื่อไปโรงพยาบาล หรือ ภาพหมอที่มีผ้าขาวปิดปากปิดจมูก ถือเข็มมาฉีดยาให้กับเรา

               ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย "ยา"คงเป็นคำตอบที่ทุกคนต่างนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเรามีการป่วย ยาดูจะมีบทบาทและอิทธิพลต่อเรามาก ไม่ว่าจะใช้เพื่อการรักษาหรือเพื่อการใดก็ตาม

               บนเส้นขนานอีกปลายด้านหนึ่ง เพื่อแลกกับยาที่นำมาใช้รักษามนุษย์ สัตว์หลายชนิดจำนวนหลายสิบล้านตัวได้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัย งานทดสอบ และงานด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นั้นหมายถึงชีวิตของสัตว์ทดลองทุกตัวต้องเสียไป ชีวิตสัตว์ทดลองเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็น "เพียงวัตถุดิบมีชีวิต"จนมีคำถามในเชิงมนุษยธรรมเกิดขึ้น

1 สัตว์ทดลองในเชิงพาณิชย์

               กาญจนา เข่งคุ้ม ผู้อำนวยการ สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความหมายของสัตว์ทดลองในเชิงพาณิชย์ว่า "สัตว์ทดลองที่มีขายทั่วไป เราจะไม่นับว่าเป็นสัตว์ทดลอง เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ทดลองที่ถูกต้องเราต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีอาหาร มีที่พัก มีการตรวจสอบคุณภาพสัตว์ พันธุ์สัตว์ให้ถูกต้อง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราไม่ถือว่าเป็นสัตว์ทดลอง มันจะเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น ร้านขายสัตว์เลี้ยงตามตลาดนัด ที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นสัตว์ทดลองความจริงมันเป็นสัตว์เลี้ยง แต่คนไทยเอามาใช้ในงานทดลอง ในงานวิจัย"

               ดังนั้น สัตว์ทดลองที่มีขายกันอย่างดาษดื่นตามแหล่งขายสัตว์นั้น หากมีการนำไปใช้ในงานวิจัยจริง ผลที่ออกมาจะไม่ตรงกับความเป็นจริง

               "เมื่อมีการใช้สัตว์ทดลองที่ไม่ได้คุณภาพ งานที่ออกมามันจะไม่ตรงกับความเป็นจริง การเพาะเลี้ยงของร้านเหล่านั้น แน่นอนความสะอาดหรือระบบการจัดการนั้นจะไม่ถูกต้องตามหลัก เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าสัตว์ทดลองนี้มันมีโรคอะไรอยู่ หากเราไปทำการวิจัยผลออกมาไม่ตรงแน่นอน"ผู้อำนวยการ สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติอธิบายให้ฟัง

                กาญจนา อธิบายว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการเพาะเลี้ยงที่ถูกวิธีตาม พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ นั้นจะใช้เงินเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ห้องเพาะเลี้ยงก็ต้องปลอดเชื้อ ร่วมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้ ต้องได้มาตรฐาน บุคลากรต้องมีการอบรม นี่คือเหตุผลของราคาสัตว์ที่สูง เมื่อสัตว์ทดลองมีราคาสูงกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อค้าขายจึงนำเอา หนูสายพันธุ์ของหนูทดลองขึ้นมาเพาะพันธุ์เพื่อการจำหน่าย ในราคาที่ต่ำและไม่มีมาตรฐาน

2 การรุกรานของสัตว์ทดลองต่อระบบนิเวศ

              ปัญหาที่นักวิจัยบางคนนำสัตว์มาทดลองมาใช้โดยไม่ถูกวิธี กลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสำคัญมาก เพราะอาจมองได้หลายมุม ทั้งมุมนักวิทยาศาสตร์ และชาวพุทธ

              "ก่อนอื่นต้องขอพูดว่าประเทศไทยนี้เป็นเมืองพุทธ การใช้สัตว์ทดลองจึงเป็นเรื่องที่โหดร้ายสำหรับใครหลายคน เพราะวิธีการใช้สัตว์ทดลองของเขาได้รับการฝึกฝน หรือเขาใช้อย่างถูกวิธีหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการใช้งานสัตว์ทดลอง คือ เมื่อเสร็จสิ้นการทดลอง ในจรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง คือผู้ใช้งานเสร็จต้องทำให้เขาตายอย่างสงบ ไม่ทรมาน อย่างที่ทราบ คือเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ จะดูการทำตรงนี้ว่าโหดร้าย เช่น งานบางงานต้องทำร้ายโดยใช้วิธีดึงคอ จริงๆแล้วมันเป็นวิธีที่จะทำให้เขาทรมานน้อยที่สุด แต่คนไทยกลับมองว่าเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์"

               อย่างไรก็ตาม เมื่อหลีกเลี่ยงที่จะฆ่าสัตว์หลังการทดลองสิ้นสุดลง เพราะเกรงกลัวต่อบาปทำให้สัตว์เหล่านั้นถูกเลี้ยงอย่างปล่อยปละละเลย และมีโอกาสหลุดออกไปสู่ระบบนิเวศจนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก

               "เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตามมาต่อจากนี้คือ ถ้าคนกลุ่มนี้ไม่รู้จักจรรยาบรรณการใช้สัตว์จริงๆเมื่อเขาสิ้นสุดการทดลองเขาไม่ฆ่า แล้วเขาก็เลี้ยงแบบทิ้งๆขว้างๆไม่รู้วิธีการเลี้ยงจริงๆ เดิมนั้นสัตว์ทดลองจะเหมือนเป็นตัวรับเชื้อโรค ฉะนั้นยิ่งเลี้ยงนานเชื้อโรคก็จะเข้าไปในร่างกายตัวของเขา เนื่องจากได้รับเชื้อต่างๆมา เมื่อเข้าสู่ระบบนิเวศ สัตว์เหล่านี้อาจนำเชื้อโรคเข้าสู่บรรยากาศ และเราไม่มีทางรู้ว่าเชื้อเหล่านั้นคืออะไร อาจจะไปแพร่เชื้อในที่ต่างๆได้อีก ยิ่งกว่านั้นหากมีการผสมพันธุ์กับสัตว์พื้นเมือง แน่นอนเกิดการรุกรานทางสายพันธุ์ของสัตว์ทดลองอย่าว่าแต่ระบบนิเวศเลย กระทั่งการปนเปื้อนทางสายพันธุ์ของสัตว์พื้นบ้านมีผลกระทบแน่นอน อย่าลืมว่าหนูนั้นมีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วมาก 7-8 สัปดาห์ หนูก็จะตกลูก แล้วจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไป จนหนูพื้นเมืองกลายเป็นลูกครึ่ง"กาญจนาเล่าให้ฟัง

3 การมีมนุษยธรรมกับสัตว์ทดลอง

               แม้ว่าพ.ร.บ. การเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์จะควบคุมในเรื่องของการใช้งานและเพาะพันธุ์สัตว์ทดลองให้เป็นไปตามมนุษยธรรม แต่จะมีสิ่งใดที่เป็นเครื่องการันตีว่านักวิจัยทุกคนจะทำงานบนครรลองของความถูกต้อง

               "ถ้านักวิจัยนั้นมีจรรยาบรรณของนักวิจัยเขาจะรู้ว่าเขาจะทำอย่างไรที่จะใช้สัตว์ทดลองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เขาจะต้องรู้ว่าสัตว์ทดลองชนิดนั้นเหมาะสมที่สุดกับงานทดลองชิ้นนั้น เช่น นักวิจัยทราบว่าสารชนิดนั้นเขาไว้ป้อนทางปาก นักวิจัยต้องมาฝึกวิธีการป้อนให้เชี่ยวชาญก่อนทำ เพื่อให้เป็นการทรมานสัตว์น้อยที่สุด และการที่จะตัดสินใจใช้สัตว์ทดลองแต่ละตัว นักวิจัยต้องรู้ว่างานของเขาเหมาะกับสัตว์ประเภทใด เพื่อให้ผลของการทดลองทุกชิ้นคุ้มค่า และถูกถ้วนอย่างที่สุด เพราะการทรมานสัตว์ต้องให้ได้ผลสูงสุด และมีเหตุผลที่เพียงพอที่จะใช้วิธีอื่นไม่ได้แล้วตัวเลือกมีความจำเป็นจริงๆที่ต้องทำ"

               ผู้อำนวยการ สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติบอกว่าแต่ละสถาบันจะมีคณะกรรมการตรวจสอบดูแลเรื่องการใช้สัตว์ในงานวิจัย เพื่อให้มีมนุษยธรรมสูงสุด

               หากไม่มองผ่านความเป็นนักวิทยาศาสตร์ การใช้สัตว์ทดลองเป็นการทรมานสัตว์หรือไม่

               "คือ สัตว์ทดลองหากมองในแง่ทางการแพทย์ ก็เปรียบเหมือนอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นในแง่ของเรา ถ้าถามว่าเป็นการทรมานสัตว์หรือไม่ เราตอบว่าไม่ เพราะหากเราเป็นนักวิจัยที่ดีแล้ว มีจรรยาบรรณ เราจะทราบทันทีว่าเราจะทำอย่างไรให้การใช้สัตว์ทดลองนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิต ชีวิตหนึ่ง หากคิดว่าสัตว์ทดลองก็คือสัตว์ทดลองตรงนี้แหละอันตราย ควรคิดว่าหนึ่งชีวิตของเขาเท่ากับหนึ่งชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหรือมนุษย์ธรรมจะเกิดขึ้น ในคนที่ทำงานด้านสัตว์ทดลองบางครั้งที่เขาทำเขาแยกออกในเรื่องของความถูกต้อง หลายคนก่อนที่จะมีการทำลายสัตว์เราจะเห็นเขาอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ตายไป เมื่อถามเราว่าเราอยากทำหรือไม่ เราไม่อยากทำ แต่เรารู้ว่าถ้าเราทำแล้วจะเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญมันคือหน้าที่"

4 สัตว์ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อการทดลอง

                ผู้อำนวยการ สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ ยืนยันว่า แม้การตัดต่อพันธุกรรมก้าวหน้าขึ้น แต่สัตว์ที่ตัดต่อพันธุกรรมยังไม่เป็นเป้าหมายที่ถูกนำมาใช้ในการทดลอง

               "การพัฒนาสัตว์ทดลองเราต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่หน่วยงานสัตว์ทดลองต้องมีตรงนี้ โดยเฉพาะการตัดต่อทางพันธุกรรมเพื่อสร้างสัตว์ทดลองชนิดใหม่ๆตรงนี้มันคือหน้าที่ แต่ในขณะนี้ในส่วนของสำนักสัตว์ทดลองเรายังไม่พัฒนาถึงขั้นนั้น เนื่องจากในส่วนของเราผลิตเพื่อการบริการอย่างเดียว ตอนนี้ที่เราทำอยู่คือการรักษาสายพันธุ์ เดิมแต่เรื่องของการตัดต่อทางพันธุกรรมก็คืองานที่เราต้องทำต่อและต้องทำเพื่อเพิ่มสายพันธุ์ให้หลากหลายมากขึ้น"

               สิ่งที่กำลังเป็นคำถามก็คือ เมื่อร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฉบับใหม่ ซึ่งผู้ที่นำสัตว์มาทดลองไม่ต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมของแต่ละหน่วยงาน จะส่งผลต่อการใช้สัตว์ทดลองแพร่หลายขึ้นหรือไม่

               "การแพร่หลายของสัตว์ทดลอง ถ้ามันแพร่หลายแล้วเราได้งานวิจัย งานทดลอง งานใหม่ๆขึ้นมานั้นจัดได้ว่าเป็นการแพร่หลายที่มีประโยชน์ เพราะงานวิจัยที่เกิดขึ้นจุดสุดท้ายคือมุ่งไปตรงที่คุณภาพชีวิต แต่ทั้งหมดนี้การใช้สัตว์ทดลองต้องอยู่บนจรรยาบรรณ และมนุษยธรรมของสัตว์เลี้ยงด้วย ไม่ใช่มี พ.ร.บ.ขึ้นมาควบคุมแล้วนักวิจัยจะทำอะไรก็ได้จนลืมหลักจรรยาบรรณต่อสัตว์ทดลอง"กาญจนากล่าวยืนยันว่า ภารกิจหลักของสำนักงานสัตว์ทดลองแห่งชาติคือการผลิตสัตว์สู่ตลาด

               เมื่อความต้องการสัตว์ทดลองมีมากขึ้น และประเภทของสัตว์ทดลองมีความหลากหลายขึ้น หากนักวิจัยมีความต้องการสัตว์ใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ เช่นสุนัข และลิง

               "สิ่งนี้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเราต้องทำงานคู่กับความรู้สึกของคนทั่วไป ที่ว่าการทดลองสัตว์คืองานที่ขัดต่อหลักศาสนา แต่เราต้องชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดถูกต้องที่สุด และคิดว่าผลได้กับผลเสียว่าอะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน แต่สำหรับงานที่ยากที่สุดคือเราต้องทำลายกำแพงความรู้สึกของคนทั่วไปที่มองว่าสัตว์ทดลองคือการทารุณ แต่จริงๆแล้วสัตว์ประเภทนี้มีความสำคัญมากที่สุดในสัตว์ทดลอง เพราะมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุด เราต้องมาดูกันว่ามันสมควรไหมที่จะมี แต่ในหน้าที่ต้องมีมันหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ตอนนี้ก็มีคนขอใช้ แต่เราทำไม่ได้"

               ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศเราวิชาการด้านสัตว์ทดลองยังล้าหลังมาก สิ่งที่ทางสำนักสัตว์ทดลองเริ่มทำ คือ การยกระดับ และขยายหน่วยงานพร้อมกับทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

5 มุมมองของผู้ใช้กับสัตว์ทดลอง

               เรืองชัย โลเกตุ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความเห็นว่า "การใช้สัตว์ทดลองปัจจุบันอยู่บนหลักแห่งจรรยาบรรณ ผู้ใช้ตระหนักถึงเรื่องมนุษยธรรมมากขึ้น ปัจจุบัน วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก มีผู้ใช้สัตว์ในงานทดลอง ทดสอบ และงานผลิตชีววัตถุเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยสัตว์ทดลองอยู่ ในเมื่อไม่มีสิ่งใดที่จะตอบสนองดีกว่าสัตว์ทดลองทั้งหลาย แต่นักวิจัยควรจะยึดจรรยาบรรณของสัตว์ทดลองเป็นหลัก หากเรายึดในข้อนี้ทั้งหมดรับรองได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องการทารุณกรรมสัตว์แน่"

               แม้ปัจจุบันทางการแพทย์ การวิจัยของไทย พัฒนาขึ้นกว่าอดีต ถึงกับใช้มาตรฐานเดียวกันในระดับสากล แต่ไม่ว่าการวิจัยพัฒนามากขึ้นเท่าใด แต่ในทางกลับกันการนำชีวิตสัตว์ทดลองมาใช้ควรคำนึงถึงจรรยาบรรณที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดอย่ามองว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นเพียงวัตถุดิบมีชีวิตของนักวิจัย และเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งของแพทย์

************
เรื่อง : ปานศักดิ์ ซินพรหมราช


 ผลผลิตที่ได้
 ผลผลิตที่ได้
การเลี้ยงดูและการให้อาหาร


การนำสัตว์มาทำการทดลอง
การนำสัตว์มาทำการทดลอง
การนำสัตว์มาทำการทดลอง
การนำสัตว์มาทำการทดลอง
เตาเผาสัตว์ทดลอง

กำลังโหลดความคิดเห็น