xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนซอยหวั่งหลี ธรณี (สงฆ์) นี่นี้ใครครอง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เหลืออยู่แต่ห้องหัวดื้อ ห้องว่านอนสอนง่ายไปหมดแล้ว"

แว่วเสียงของสุรพล เลาหลียานุรักษ์ ชาวชุมชนซอยหวั่งหลี ที่ประกาศกร้าวว่าหากจะต้องไปจากที่นี่ เขาขอไปเป็นคนสุดท้าย…

โศกนาฏกรรมกลางเมืองใหญ่ บนผืนแผ่นดินที่เคยร่มเย็นด้วยร่มเงาของพุทธศาสนา กำลังถูกกัดกร่อนด้วยแรงขับเคลื่อนของทุนนิยมไปทุกทั่วหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่ในเขตวัดวาและพื้นที่สงฆ์

เมื่อที่ดินริมแม่น้ำกลายเป็นทำเลทอง เราจึงเห็นภาพที่ไม่น่าจะเห็น การเผชิญหน้าระหว่างชุมชนกับวัดที่เคยเกื้อกูลอยู่ร่วมกันมายาวนาน โดยมีสถาปัตยกรรมตึกแถวโบราณรูปเรือสำเภาอันเป็นเอกลักษณ์อายุกว่า 80 ปี และประวัติศาสตร์ชุมชนการค้าอันเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เป็นเดิมพัน

ตามรอยอดีตที่ซอยหวั่งหลี

เพียงขึ้นที่ท่าเรือสาทรหรือลงเดินจากสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินแล้วเลี้ยวขวามาไม่เกิน 50 เมตร จะเห็นป้ายซอยเจริญกรุง 52 โดดเด่นริมถนน แต่อีกชื่อหนึ่งของซอยเล็กๆ แห่งนี้ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักคือ 'ซอยหวั่งหลี' ตามชื่อของตระกูลเจ้าสัวใหญ่ 'หวั่งหลี' ที่เป็นผู้สร้างตึกแถวโบราณอายุกว่า 80 ปีทั้งสองฟากฝั่งในซอยแห่งนี้

ในอดีต พื้นที่โดยรอบของวัดยานนาวานับเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การค้าของชาวจีนยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่ท่าเรือที่สำคัญ ซึ่งรู้จักกันในนามว่า 'ท่าเรือเมล์จีน' โดย ท่านพระครูพรหมจริยาจารย์ (ยิ้ม พุทธสโร) เจ้าอาวาสองค์ที่ 8 ของวัดยานนาวา ได้ย้ายกุฏิสงฆ์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาออกไป แล้วให้ 'บริษัท เรือเมล์จีนสยามทุน จำกัด' เช่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นท่าเรือในปี 2453

ประชิต ศิริเผ่าสุวรรณกุล ชาวบ้านเก่าแก่ในชุมชนเล่าว่า ท่าเรือแห่งนี้ดั้งเดิมมีชื่อว่า 'ท่าเรือฮั่วเสียม' ซึ่งแปลว่า 'สยามรุ่งเรือง' ต่อมาหลังจากที่มีการตั้งบริษัทเรือเมล์จีนสยามทุนจำกัดแล้ว ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า 'ท่าเรือเมล์จีน' นอกจากนี้ยังเล่ากันสืบมาว่า คนจีนโพ้นทะเลเกือบทุกคนที่เดินทางอพยพมาจากเมืองจีนจะมาขึ้นที่ท่าเรือแห่งนี้

ตรงกับคำบอกเล่าของ 'จริยา' ลูกหลานชุมชนซอยหวั่งหลีที่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ บอกว่าในสมัยที่ก๋งของเธอหอบเสื่อผืนหมอนใบขึ้นฝั่งมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินที่นี่ สมัยนั้นยังเป็นเพียงห้องแถวไม้เลี้ยงเป็ดไก่อยู่ใต้ถุน วัดยานนาวาก็ยังเป็นเพียงอาศรมเล็กๆ ที่ชาวบ้านเข้าไปทำบุญ สมัยนั้นน้ำประปายังไม่มีใช้ ชาวบ้านต้องเดินข้ามถนนไปโยกน้ำบาดาลมาไว้ใช้ตามครัวเรือนเอง

จนกระทั่งในราวปี 2468-2470 ตระกูลหวั่งหลีที่ได้เข้ามาสืบทอดทำธุรกิจขนส่งในบริเวณท่าเรือแห่งนี้ได้รื้ออาคารไม้ชั้นเดียวลง แล้วสร้างตึกแถวสองชั้นที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน อาคารพาณิชย์เก่าแก่อายุ 80 ปีนี้ เป็นสถาปัตยกรรมในยุคสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ออกแบบโดยชาวฝรั่งเศส มีลักษณะการก่อสร้างที่เน้นความสูงของหัวและท้ายอาคารเป็น 3 ชั้น ส่วนแนวอาคารตรงกลางเป็น 2 ชั้น คล้ายรูปเรือสำเภาที่ได้แรงบันดาลใจจากพระเจดีย์รูปเรือสำเภาที่วัดยานนาวา ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้สร้างจำลองไว้เป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังเพื่อเป็นที่ระลึกของการค้าสำเภาจีนในอดีต

ในพื้นที่ซอยหวั่งหลี ตามหลักฐานและความทรงจำของราชบัณฑิต อาจารย์นิจ หิญชีระนันท์ โดยการสัมภาษณ์ของชาตรี ประกิตนนทการ ได้เล่าว่า ซอยและท่าเรือหวั่งหลีมีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อราว 60 ปีก่อนว่า 'ถนนบรุสการ์ด' ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่า ท่าเรือแห่งนี้มีบริษัทเรือเมล์หลักที่มาขึ้นท่านี้เป็นประจำอย่าง บริษัทเรือเมล์สัญชาตินอร์เวย์ 'รุสการ์ด กิออสเตรุด' (Bruusgarrd Kiosterud) ซึ่งตระกูลหวั่งหลีเป็นเอเย่นต์ผูกขาดการจำหน่ายตั๋วเรือไว้ โดยมีเส้นทางเดินเรือจากกรุงเทพฯ-ประเทศจีน โดยผ่าน ฮ่องกง ซัวเถา หอยเฮา กวางตุ้งและสิงคโปร์

ลีฟิน บุญวิริยะ เจ้าของร้าน 'ประสิทธิ์ผล' ซึ่งในอดีตเคยเป็นบาร์เต้นรำแห่งแรกของประเทศไทย และยังคงหลงเหลือบรรยากาศย้อนยุค ด้วยตู้ไม้โบราณติดผนังที่วางโชว์ขวดเหล้าเรียงรายให้เห็นถึงปัจจุบัน รวมถึงพื้นซีเมนต์พิมพ์ลายซึ่งเป็นของเก่า บอกเล่าอดีตอันรุ่งเรืองของธุรกิจบาร์เต้นรำที่พ่อของเธอเป็นผู้บุกเบิก และจดทะเบียนเป็นบาร์แห่งแรกของกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2481 ด้วยสีหน้าภาคภูมิใจเมื่อเอ่ยถึงความหลังว่า สมัยก่อนใครจะเดินทางไปซัวเถา ไปจีน หรือฮ่องกงก็ต้องมาลงเรือที่นี่ รวมทั้งลูกเรือสินค้าต่างชาติก็ต้องมาขึ้นท่าเรือซึ่งมีด่าน ตม. ที่นี่ ตึกแถวฝั่งตรงข้ามชุมชนนี้จึงเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทาง ธุรกิจด้านความบันเทิงเช่นบาร์เต้นรำของครอบครัวเธอจึงมักมีกัปตันและลูกเรือต่างชาติเป็นลูกค้าสำคัญ

ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า ในยุคนั้นซอยหวั่งหลีคึกคักเป็นอย่างยิ่ง มีร้านรวงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายมีลีลาศ รำวง จนกระทั่งเปิดเป็นบาร์อย่างร้านของลีฟินไว้ต้อนรับชาวไทย จีนและฝรั่ง แต่ความรุ่งเรืองนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ (ท่าเรือคลองเตย) ขึ้น และเปิดดำเนินการในปี 2494 การขนส่งสินค้าทางเรือเกือบทั้งหมดก็ถูกย้ายจากท่าเรือหวั่งหลีแห่งนี้ไปที่ท่าเรือคลองเตย นับจากนั้นเป็นต้นมา ซอยหวั่งหลีก็เงียบเหงาซบเซาลงจนกระทั่งในปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงรอยอดีตอันรุ่งเรืองให้รำลึกจดจำ

แต่ในวันนี้ อดีตนั้นกำลังจะถูกลบเลือนจนไม่เหลือร่องรอยเดิม เมื่อทางวัดยานนาวา เจ้าของตึกแถวยื่นคำขาดไม่ต่อสัญญาเช่าแก่ชาวชุมชนหวั่งหลี ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 3 ชั่วอายุคน และในวันที่ 4 มกราคม 2550 ชาวชุมชนซอยหวั่งหลีทั้งหมด 34 ครัวเรือนต้องย้ายออกตามคำสั่งศาล เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์สมัยใหม่สูง 4 ชั้น ตามแผนพัฒนาที่ดินของวัดยานนาวา

สายใยแห่งอดีตที่ยึดโยงระหว่างผู้คนที่นี่ เหลือเพียงเส้นด้ายบางๆ แห่งความหวัง เมื่อศาลเมตตารับอุทธรณ์ผ่อนผันให้ผู้เช่า 4 ราย ยืดระยะเวลาอยู่ที่นี่อีกต่อไปได้ แม้จะไม่นานนัก แต่นี่ก็นับเป็นข่าวดีแก่เพื่อนบ้านอีกสิบเอ็ดครอบครัวที่เหลืออยู่ในชุมชน ตึกแถว 15 ห้องที่จับมือกันสู้ยืนหยัดจนถึงวาระสุดท้าย หลังจากที่มีบางส่วนต้องยอมพ่ายแพ้ต่อคำข่มขู่และเสียงที่ดังกว่าของอำนาจทุน

"เขาบอกว่าจะปรับย้อนหลังเดือนละหมื่นถ้าหากไม่ยอมย้าย บางบ้านเขากลัวก็ต้องย้ายออกไป" สุภี ธัญมันตา วัย 62 ปีซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่กับพี่สาวที่นัยน์ตาไม่สู้ดี และหลานชายในห้องแถวแห่งหนึ่ง ชี้ให้ดูห้องข้างเคียงที่เพื่อนบ้านย้ายออกไป และถูกทุบทำลายโครงสร้างอาคารภายในจนกลายเป็นบ้านร้าง

'เขา' ในที่นี้ หมายถึงผู้รับเหมา ที่ได้รับอำนาจจากเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรของวัดยานนาวา ให้ควบคุมการรื้อไล่ชุมชนที่อยู่ติดกำแพงวัด โดยยกพวกชายฉกรรจ์กว่า 50 คน บุกเข้ารื้อทุบอาคารในชุมชนหวั่งหลีในช่วงเช้ามืดวันที่ 30 ธันวาคม 2549 เวลาประมาณ 03.00-04.00 น. ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสในยามวิกาลขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังหลับพักผ่อน และยังมีการข่มขู่วางเพลิงอาคารที่เหลือ

ถึงแม้ชาวชุมชนหวั่งหลีจะแพ้คดีในศาล แต่ก็ยังไม่ครบกำหนดเวลาการประนีประนอมยอมความในวันที่ 4 มกราคม 2550 และยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีอย่างถูกต้อง อีกทั้งการรื้อถอนอาคารดังกล่าว อยู่ภายใต้ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตฯ จึงจะทำการรื้อถอนได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตสาทรแต่อย่างใด

ที่สำคัญ การบุกรุกเข้าทำลายอาคารนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่กรมศิลปากรทำหนังสือขออนุรักษ์อาคารแถวโบราณรูปเรือสำเภาในซอยหวั่งหลีไปยังวัดยานนาวาเพียง 4 วัน ซึ่งแม้จะไม่เข้าเกณฑ์โบราณสถานของกรมศิลปากร แต่ก็มีมติเห็นควรให้เป็น 'อาคารควรอนุรักษ์' ตามรูปแบบเดิมเพื่อดำรงไว้ถึงสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ ไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับชุมชนที่เคยทำบุญใส่บาตรให้พระสงฆ์เป็นประจำ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองที่เรือสำเภาในวัดถูกระเบิดทำลาย ชาวบ้านก็ช่วยกันลงเงินลงแรงบูรณะซ่อมแซม และยังเป็นชุมชนเดียวกับที่เจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ เคยบอกกับชาวบ้านว่า

"ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าเช่า เราจะอยู่กันไปจนตายนั่นแหละโยม"

หากในวันนี้ 'ค่าเช่า' กลับกลายเป็นประเด็นที่ทางวัดยานนาวาหยิบมาตั้งข้อหากับชาวบ้านว่าเอาเปรียบวัด ด้วยค่าเช่าที่ทำสัญญากันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายที่เคยอาศัยอยู่ในห้องแถวเรือนไม้ที่ปลูกสร้างบนที่ดินของวัด จนขยับขยายมาอยู่ในตึกแถวที่ปลูกสร้างขึ้นภายหลัง นับตั้งแต่สมัยหลวงปู่เทียน หลวงพ่อไสว จนมาถึงพระพรหมโมฬีเป็นเจ้าอาวาส แทบไม่เคยมีการปรับค่าเช่าตามอย่างราคาอสังหาริมทรัพย์อื่นในยุคสมัยเดียวกัน ทางวัดกับชาวบ้านต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย 'ศรัทธา' และ 'น้ำใจ' มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ

จนกระทั่งการเข้ามารับตำแหน่งของพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวาคนใหม่เมื่อปี 2546

การเมืองสีเหลือง

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอนุกรรมาธิการที่ดินของวุฒิสภา กล่าวว่า กรณีไล่รื้อชุมชนซอยหวั่งหลีต้องคำนึงถึงสิทธิผู้เช่า เพราะไม่ใช่ชุมชนที่บุกรุกที่หลวง หรือสถานที่ราชการ แต่เป็นการบอกเลิกสัญญาและขับไล่

"ประเด็นอยู่ที่ว่าเรื่องของสิทธิผู้เช่ามันไม่กำหนดในกฎหมายไทย ในแง่กฎหมายเขามองแต่ว่าใครเป็นเจ้าของ เจ้าของเขาไม่ให้อยู่คุณก็ต้องออก แต่ประเด็นมันไม่ใช่อย่างนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่าการที่คุณให้เขาเช่าอยู่เป็นเวลานานๆ คุณได้ผลประโยชน์จากเขาและเขาก็ไม่เคยทำอะไรให้คุณเดือดร้อน เพราะว่าถ้าทำให้เดือดร้อนคุณไล่เขาไปนานแล้ว ในเมื่อคุณได้เงินจากเขาในสภาวะปกติ ถึงเวลาคุณคิดว่าคุณจะได้มากกว่าก็ไล่เขาไป แล้วถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันมีผลเสียต่ออนาคตครอบครัวเขา แล้วยิ่งหากทำธุรกิจด้วยจะไปเริ่มธุรกิจใหม่ยังไง ถ้าหากว่าคุณจะเลิกสัญญาเช่า มันควรจะให้ช่วงระยะเวลาที่เขาจะต้องตั้งตัว ไม่ใช่ 7 วัน 30 วันที่ใครจะไปทำอะไรได้ หลายๆ ประเทศเขาให้เป็นปีนะ 3 ปี 5 ปี เพราะมันสะเทือนถึงชีวิตและอนาคตของเขา" อ.ปฐมฤกษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่าประเด็นเรื่องสิทธิผู้เช่านี้กำลังเป็นประเด็นที่กำลังรณรงค์ในต่างประเทศ

โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่มานานอย่างหวั่งหลี ที่ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องของคนแต่เป็นเรื่องของชุมชน เป็นเรื่องของสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติในภาพรวมของเมือง ซึ่งอ.ปฐมฤกษ์ตั้งคำถามว่ามรดกทางประวัติศาสตร์ในทางวัฒนธรรมเหล่านี้มันเป็นของใคร ไม่ใช่ของเจ้าของทรัพย์ แต่เป็นของส่วนรวม ซึ่งถ้าหากโยงไปถึงเรื่องแนวคิดในแง่ประชาสังคม (Civil Society) ก็เท่ากับว่าทำลาย 'ทุน' ในทางสังคม และทำลายทุนในทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ในชุมชนได้

"ถ้าหากคุณย้าย คุณไล่เขาไป แน่นอนประวัติศาสตร์จากความทรงจำส่วนนี้ถูกลืมหมด การประพฤติปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมสลายตัวหมดแน่นอน เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าคุณทำลายทรัพย์ส่วนกลางของเมืองของสังคมนะ ถามว่าเจ้าของที่หรือเจ้าของทรัพย์มีสิทธิทำลายเมืองหรือเปล่า ถึงแม้เป็นทรัพย์ของคุณก็จริง ฉะนั้น ในเรื่องสิทธิในการให้อยู่เป็นอีกเรื่องหนึ่งของชุมชนที่มีรากเหง้า ชุมชนที่อยู่มานาน"

ทางออกคือสังคมต้องร่วมเข้ามาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านเพื่อรักษามรดกของส่วนรวมด้วย "การต่อสู้ในลักษณะนี้กฎหมายมันไม่เอื้อกับคนจนหรอก กฎหมายมันถูกร่างขึ้นมาโดยคนที่ไม่ใช่คนจน มันก็รักษาผลประโยชน์ของเขา สิ่งที่คนจนเสนอขึ้นไปมันก็ไม่เคยได้รับการพิจารณาเท่าไหร่ถ้าจะพูดกันจริงๆ เพราะฉะนั้น ในการต่อสู้ทางกฎหมายมันเป็นรอง โอกาสที่จะแพ้มันมีเยอะ มันก็ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษา ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่ง แนวทางการต่อสู้ที่สำคัญมันก็คือแนวทางในทางสังคม เราต้องชี้ให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเมือง คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา มันเป็นคดีแพ่งซึ่งเจรจาจบเรื่องได้ง่าย ต่อสู้ด้วยตนเองมันไม่มีทางชนะหรอกครับ ฉะนั้น ต้องเอาเครือข่ายเข้ามาช่วย และต้องสร้างความเคลื่อนไหวในหลายๆ ระดับ"

อ.ปฐมฤกษ์ กล่าวว่า กรณีชุมชนซอยหวั่งหลีไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่กระทบเมืองทั้งเมืองเป็นระลอกคลื่น "ถ้าเราดูว่าเมืองในขณะนี้ถูกทำให้คนที่มีเงินอยู่ คนที่ไม่มีโอกาส ไม่มีเงิน ไม่มีทรัพยากรก็ถูกไล่ออกไปทีละชุมชน เมื่อก่อนนี้มันเป็นเรื่องของสลัม แต่ตอนหลังเริ่มพัฒนาไปแทนที่จะใช้วิธีการรุนแรงอย่างการเผาไล่ที่ในอดีต ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีรุนแรงอีกแบบคือมาตรการทางกฎหมาย ในขณะนี้หวั่งหลีเป็นตัวอย่างของปัญหาคนชั้นกลางที่กำลังเดือดร้อน ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของชนชั้นล่างอีกต่อไปแล้ว คนชั้นกลางก็โดน เพราะฉะนั้น หมายความว่าในอนาคตทุกคนมีสิทธิโดนเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นกลางหรือคนชั้นล่าง นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย"

อ.ปฐมฤกษ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจของเมืองมีมากแค่ไหนในการกำหนดทิศทางการเติบโตหรือวิถีชีวิตของคนในเมือง ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสิทธิของเจ้าของที่ดินอย่างเดียว การมองภาพเมืองจึงต้องถึงมองย่านทั้งย่านไม่ใช่มองเพียงจุดเดียว

"กรณีของหวั่งหลีมันเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ในน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างที่ดินวัด ผมตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมสงฆ์ เวลานี้พระต้องการเงินอะไรมากมายขนาดนั้นถึงได้ไล่ที่ชาวบ้านเต็มไปหมด ข้ามไปทางฝั่งธนฯ อีกกี่สิบวัด แล้วที่สลายตัวไปแล้วเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ปัญหามันอยู่ที่ว่าพระทำหน้าที่พระหรือเปล่า พรบ.สงฆ์ต้องแก้แน่นอน ไม่ใช่แก้เรื่องที่มาของพระสังฆราช แต้ต้องแก้ทั้งระบบขององค์กรปกครองคณะสงฆ์ รวมทั้งวิธีคิดของพระด้วย คือพระแบบพระธุรกิจแบบนี้ สังคมไทยรับได้หรือเปล่า แล้วพระเคยทำอะไรให้แก่ชาวบ้าน อย่าลืมว่าพระนั้นน่ะ ชาวบ้านเลี้ยงนะ วัดน่ะเจ้านายบริจาคที่สร้างวัด ชาวบ้านบริจาคเงินสร้างให้ ใส่บาตรทุกวัน ทำบุญทุกปี แล้วทำแบบนี้มันเรียกว่าอะไร ถ้าเป็นคนธรรมดาเขาเรียกเนรคุณนะครับ พระดีๆ ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมีเยอะมาก แต่พระแบบนี้ทำให้สงฆ์เสื่อมเสีย มันถึงเวลาที่ต้องสังคยานาเสียทีหรือยัง" อ.ปฐมฤกษ์ทิ้งท้าย

เสียงเพรียกแห่งการอนุรักษ์

ปองขวัญ (สุขวัฒนา) ลาซูส อุปนายกและประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ เขียนจดหมายเปิดผนึกให้ทางวัดยานนาวาทบทวนแผนการพัฒนาโดยการขับไล่และทำลายอาคารเก่าแก่ของชุมชนซอยหวั่งหลี รวมทั้งเรียกร้องให้สถาปนิกไทยสวมบทบาทเป็นทั้งนักอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการออกมาปกป้องมรดกของชาติที่กำลังจะถูกทำลาย และโน้มน้าวให้เจ้าของพื้นที่นั้นหันมาลองคิดพัฒนาในแนวทางใหม่ คือพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ เก็บสิ่งที่มีคุณค่าและหาไม่ได้แล้วไว้ แล้วออกแบบสร้างสรรค์เพิ่มเติมส่วนที่ขาดไปให้พื้นที่นั้นกลับฟื้นคืนชีพมาอีกด้วย

อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังได้ร่างข้อเสนอแนะให้มีการอนุรักษ์อาคารแถว 80 ปีไว้ในรูปแบบเดิม โดยให้มีการปรับปรุงอาคารให้มีสภาพที่สมบูรณ์ และจัดแบ่งให้เช่าตามราคาที่เหมาะสมกับราคาตลาดในปัจจุบัน โดยที่มีคนในชุมชนเดิมได้มีโอกาสอยู่ต่อไปด้วย เพราะชุมชนก็เป็นประวัติศาสตร์หนึ่งของพื้นที่ รวมทั้งให้มีการปรับปรุงให้ซอยหวั่งหลีเป็นถนนคนเดินแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในเทศกาลสำคัญต่างๆ ซึ่งผู้ดูแลผลประโยชน์สามารถสร้างรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ขายของ หรือจัดเป็นร้านกาแฟกลางแจ้งได้ในลักษณะ Cultural Management ที่มีการควบคุมรูปแบบแผงและลักษณะร้านให้มีความสวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

สำหรับข้อปฏิบัติและแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ทางวัดควรยกเลิกสัญญาเช่ากับทางบริษัทเอกชนเนื่องจากไม่เป็นไปตามนโยบายของกรมศิลปากรที่ต้องการอนุรักษ์ หรือหากต้องการทำสัญญาต่อก็ให้เป็นการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ โดยมีพื้นที่ส่วนกลางให้ทางวัดกับชุมชนพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ทั้งสองแบบแล้ว การพัฒนาเชิงอนุรักษ์จะให้ผลตอบแทนระยะยาวอย่างยั่งยืนมากกว่า

สุรพล เลาหลียานุรักษ์ ตัวแทนชุมชนที่ขึ้นศาลสู้คดีเป็นรายแรก เพราะผู้เช่าที่มีคิวขึ้นให้การก่อนหน้าเขาเกิดหัวใจวายก่อนถึงวันขึ้นศาล กล่าวว่า การที่ทางวัดยานนาวาทำแบบนี้ทำให้ชาวบ้านที่สูงอายุหลายรายล้มเจ็บเข้าโรงพยาบาลเพราะความเครียด หลายครอบครัวจำต้องย้ายออกไป แต่หลายรายที่ทนอยู่ก็เพราะไม่มีที่ไป ไม่มีใครอยากถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ ซึ่งหากทางวัดและเอกชนยอมปรับทิศทางการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านก็พร้อมจะสนับสนุน ยอมให้วัดขึ้นค่าเช่า เพียงขอโอกาสให้ผู้อยู่มีส่วนร่วมบ้าง "ถ้าผู้รับเหมาต้องการรายได้ก็เข้ามาพัฒนาพื้นที่สิครับ แต่ขอให้พัฒนาระยะยาว คุณอย่าพัฒนาแล้วคุณหายไปเลยมันไม่ใช่ ไม่ใช่แค่สร้างตึกแล้วคุณจบ อย่างท่าน้ำจะสร้างเป็นเขื่อนทางเดิน เป็น walking street แล้วทอดยาวไปจนถึงแชงกรีล่า มันสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งค้าขายที่ดีมาก"

เช่นกันกับพรชัย โล่ห์ชัยชนะ ที่ทุกวันนี้เขาต้องอยู่บ้านดูแลแม่ที่อายุมากและสุขภาพไม่ดี เพราะเกรงว่าหากที่บ้านมีแต่คนแก่อยู่เฝ้าบ้านในตอนกลางวันจะไม่ปลอดภัย เพราะตั้งแต่เพื่อนบ้านหลายห้องย้ายออกไป ทำให้มิจฉาชีพถือโอกาสอาศัยบ้านที่ถูกทิ้งร้างเป็นช่องทางเข้ามางัดแงะบ้านที่ยังมีทรัพย์สินและคนอยู่ เหมือนอย่างเช่นที่ร้านของลีฟินถูกปล้นกลางวันแสกๆ โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ที่สวมผ้าปิดหน้าและฉกทองที่ญาติของเธอสะสมมาจากน้ำพักน้ำแรงอันสุดจริตทั้งชีวิตไปจนหมด ซึ่งถ้าหากเป็นเมื่อก่อนที่ชาวชุมชนยังอยู่กันหนาแน่นจะไม่มีทางเกิดเรื่องแบบนี้เลย

"ตอนนี้ความเจริญมันวิ่งเข้ามาหาเรา เราก็ไม่ผิด แต่เขาก็หาว่าเราเอาเปรียบวัด เราไม่ได้เอาเปรียบตรงไหน ค่าเช่าเขามาเก็บเราก็จ่ายทุกเดือน ค่าภาษีโรงเรือนเราก็จ่ายกับกรมการศาสนา" จริยา ที่ยึดอาชีพเข็นรถขายขนมผักกาดหน้าศาลเจ้ากล่าว เธอต้องหาเลี้ยงคนในครอบครัวอีก 5 ชีวิต หากต้องย้ายจากที่นี่ไป ก็เท่ากับต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

สุดท้าย ชาวชุมชนซอยหวั่งหลีอยากฝากถึงเจ้าอาวาสวัดยานนาวาองค์ปัจจุบันว่า "อยากให้ท่านทราบว่าถ้าหากท่านรื้อชุมชนก็เท่ากับว่าท่านทำลายประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงจุดนี้ ที่ทางกรมศิลปากรและพวกเราอยากจะอนุรักษ์ให้มันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตจนชั่วลูกหลาน"








กำลังโหลดความคิดเห็น