ในขณะที่โลกหมุนไปวันๆ เทคโนโลยีต่างๆก็พากันแปรเปลี่ยนล้ำหน้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารที่นอกจากจะรวดเร็วแล้วยังง่ายดาย สบาย สะดวก
เพียงพริบตาเดียวก็สามารถส่งสารข้ามจากซีกโลกหนึ่งไปยังซีกโลกหนึ่งได้
อย่างไรก็ตามแม้เทคโนโลยีทางการสื่อสารในโลกปัจจุบันจะรุดหน้าไปมากเพียงใด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ "จดหมาย" และ "โปสการ์ด" นั้น ตายไปจากระบบการสื่อสารยุคใหม่ นอกจากนี้ยังกลับกระตุ้นให้คนบางกลุ่มหันมาให้ความสนใจในการส่งจดหมายและโปสการ์ดมากขึ้น เพราะยังคงเห็นเสน่ห์และคุณค่าในความคลาสสิคร่วมสมัย
ทั้งนี้สำหรับจดหมายและโปสการ์ดแล้ว หากขาดซึ่ง"แสตมป์"การส่งสารก็คงจะไม่บรรลุผล เพราะแสตมป์นอกจากจะเป็นตัวการสำคัญในการส่งจดหมายให้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว แสตมป์ยังเป็นตัวบอกราคา รวมถึงมีรูปแบบและลวดลายที่สวยงาม
หลายต่อหลายคนหลงใหลในเสน่ห์แสตมป์ พร้อมๆ กับเลือกที่จะนำแสตมป์มาเก็บสะสมไว้เป็นคอลเลกชันสวยหรู บางคนเลือกสะสมแสตมป์แบบที่ต้องประทับตราไปรษณีย์แล้ว บางคนเก็บสะสมในสไตล์ที่ซื้อมาแล้วเก็บเลย ในขณะที่บางคนเลือกสะสมแสตมป์ที่ติดอยู่บนโปสการ์ดใบสวยงาม
แม้โลกทางเทคโนโลยีจะก้าวไกลเพียงใด แต่โลกแห่งศิลปะ โลกแห่งสีสันความสวยงามในกระดาษแผ่นเล็กๆที่เรียกว่าแสตมป์ก็ยังคงอยู่ ซึ่งจะมีผู้รังสรรค์ลวดลายสีสันความสวยงามต่างๆบนแสตมป์หรือนักออกแบบแสตมป์เปรียบดังผู้ปิดทองหลังพระ ที่สร้างศิลปะบนกระดาษแผ่นน้อยๆ ที่เต็มไปด้วยรอยหยัก แต่ว่ากลับสามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก
รู้จักนักออกแบบแสตมป์
วีณา จันทนทัศน์ หัวหน้างานออกแบบ แผนกจัดสร้าง ฝ่ายตราไปรษณียากร นักออกแบบแสตมป์ตัวยงของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ขลุกกับงานวาดภาพลงบนแสตมป์ดวงน้อยมากว่า 20 ปี รำลึกอดีตของตนว่า ตนเองจบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ว่าอยากจะทำงานในแบบที่ตนเองเรียนมา อยากจะใช้วิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมาคือการวาดรูปมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน แต่ตอนนั้นยังไม่คิดว่าตัวเองจะได้มาทำงานเขียนแสตมป์ งานแรกที่ได้ทำคือที่ท้องฟ้าจำลอง
จากที่ท้องฟ้าจำลองที่มีงานแสดงมากมาย วีณาได้ใช้ความสามารถของตนในการเขียนรูปสีน้ำมัน ทำโปสเตอร์ ทำแผ่นภาพ จนกระทั่งวันหนึ่งท้องฟ้าจำลองซึ่งขึ้นกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน จะทำแสตมป์ที่ระลึกวันดูหนังสือ เมื่อวีณาได้เข้ามาทำงานตรงจุดนี้ก็ได้รู้ว่าที่ไปรษณีย์รับสมัครนักออกแบบ ด้วยความที่ชอบการวาดรูปจึงได้มาสมัครเข้าทดสอบการวาดรูปเหมือนจริง (เรียลิสติก) จนผ่านการทดสอบและเข้ามาทำงานที่งานออกแบบตราไปรษณียากรนี้ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา
"ในสมัยที่ดิฉันมาสอบยังไม่มีคอมพิวเตอร์ การสอบในสมัยนั้นหลักๆแล้วก็จะให้วาดรูปเหมือน ตอนสอบยังไม่ค่อยกังวล แต่เมื่อสอบผ่านแล้วได้เข้ามาทำงานตรงนี้ก็วิตกเหมือนกันว่าจะทำงานให้เขาได้ไหม จะวาดออกมาดีหรือเปล่า เพราะงานมันเป็นงานที่สำคัญ บันทึกในประวัติศาสตร์ว่าแสตมป์ตัวนี้เราเป็นคนออกแบบ แต่เมื่อเข้ามาก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง ทำไปสักพักก็เข้าที่ เพราะเรามีพื้นฐานตรงนี้อยู่แล้ว"
เมื่อได้เข้ามาทำงานออกแบบแล้ว แสตมป์ชุดแรกในชีวิตที่วีณาออกแบบได้แก่ ชุดกาชาด เธอได้เล่าถึงขั้นตอนการออกแบบคร่าวๆกว่าที่เราๆจะได้เห็นเป็นดวงแสตมป์ว่า แสตมป์ที่ลงมือวาดทั้งหมดเรียกว่า "ออกแบบ" ส่วนแสตมป์ที่เอารูปถ่ายมาใส่ตัวหนังสือเรียกว่า "ประกอบแบบ"
สำหรับแสตมป์มีอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรกเป็นแสตมป์ที่ในแต่ละปีจะต้องมีโครงการทำแสตมป์ซึ่งจะต้องออกตายตัวอยู่แล้ว เรียกว่า "แสตมป์ทั่วไป" ประเภทที่สองคือ "แสตมป์สวยงาม" ที่จะออกมาเพิ่มเติมจากแสตมป์ทั่วไป เช่นชุดดอกไม้ ชุดสัตว์ และสุดท้ายเป็นชุดที่หน่วยงานภายนอกขอมา หรือเรียกว่า "แสตมป์ที่ระลึก" เช่น ครบรอบเพื่อเป็นที่ระลึก 100 ปีของธนาคาร แสตมป์ที่ระลึก 60 ปีทรงครองราชย์ ซึ่งแสตมป์ที่ระลึกนี้จะต่างจากแสตมป์ทั่วไปตรงที่หากจำหน่ายหมดแล้วไม่สามารถพิมพ์เพิ่มได้
ขั้นตอนออกแบบ
"เมื่อกำหนดแสตมป์ในแต่ละปีที่จะต้องทำออกจำหน่ายแล้ว ก็มาดูว่านักออกแบบที่ทีมงานของวีณามีทั้งหมด 7 คน คนไหนถนัดทางไหน ด้านกราฟิกโดยใช้คอมพิวเตอร์ หรือด้านวาดรูป แต่ส่วนใหญ่จะทำได้ทั้ง 2 อย่าง ส่วนพี่ทำคอมพิวเตอร์ก็พอได้ แต่ถนัดด้านวาดรูปเหมือนโดยใช้สีน้ำที่เก็บรายละเอียดเยอะๆมากกว่า เช่น พวกดอกไม้ ภาพยักษ์ ภาพเครื่องกระเบื้องโบราณ ภาพปูหายาก หรือภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพคุณทองแดงและลูกๆ ดิฉันก็เป็นคนวาด"
วีณาอธิบาย ก่อนเล่าต่อว่า เมื่อแบ่งงานได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การศึกษาหาข้อมูลถึงเรื่องที่เราจะวาด วางแผนว่าชุดหนึ่งๆจะทำกี่ดวง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายการตลาดที่จะต้องออกไปสำรวจความต้องการของประชาชนก่อน จากนั้นเราก็วางแผนว่าจะวาดภาพอะไรบ้าง ถ้าเป็นภาพที่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ภาพที่หาดูได้ยาก หรือเป็นภาพพวกดอกไม้ สัตว์ ก็ต้องขอข้อมูลจากนักวิชาการ เช่น แสตมป์ชุดปู เราต้องดูว่าสีที่แท้จริงของปูชนิดนั้นๆมีสีอะไรบ้าง ลักษณะร่างกายเป็นอย่างไร ต้องตรวจสอบตามความเป็นจริงทุกประการก่อนจะส่งให้นักวิชาการตรวจสอบอีกครั้งว่าภาพที่วาดออกมาถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นหรือไม่
"จากนั้นก็เริ่มวาดและลงสีในฉบับร่างก่อน เสร็จแล้วก็ลงตัวหนังสือเพื่อดูว่าลงตัวหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ทำส่วนประกอบอื่นๆไปพร้อมๆกัน เช่น ซอง ตราประทับวันแรกจำหน่ายที่เข้าชุดกัน จากนั้นก็นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งบางครั้งก็ผ่านโดยไม่ต้องกลับไปแก้ บางครั้งก็ต้องแก้ไข หรือบางครั้งต้องทำใหม่หมดก็มี
"ภาพร่างเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจะต้องนำไปวาดใหม่เพื่อเก็บรายละเอียดให้เนี้ยบที่สุด ก่อนที่จะสแกนลงคอมพิวเตอร์เพื่อใส่ตัวหนังสือ และส่งแผ่นดิสก์ ภาพที่ปรินต์ออกมาแล้ว และภาพวาดตัวจริงให้โรงพิมพ์ ที่ต้องส่งภาพตัวจริงไปด้วยนั้นเนื่องจากบางทีคอมพิวเตอร์อาจจะทำให้ภาพมีสีที่เพี้ยนไปบ้าง" นั่นคือขั้นตอนการทำงานออกแบบที่วีณาทำอยู่เป็นประจำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิต
วีณากล่าวว่า แสตมป์แต่ละดวงบอกไม่ได้ว่าใช้เวลานานแค่ไหนในการทำ เพราะเราจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วสำหรับแสตมป์ปกติ แต่อย่างแสตมป์ที่ระลึกหรือแสตมป์ที่เกี่ยวกับราชวงศ์ เช่น แสตมป์ฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีจะใช้เวลานานเพราะต้องผ่านสำนักพระราชวังเพื่อให้ในหลวงทรงวินิจฉัยเห็นชอบก่อน
และสำหรับแสตมป์บางชุดที่ไม่มีต้นแบบมาเลย อย่างเช่น ชุดประเพณีไทย ซึ่งออกเป็นพิเศษในงานดวงตราไปรษณียากรเยาวชนโลก กรุงเทพฯ Bangkok 2000 เราต้องหาข้อมูลมาอ่านว่าสำหรับประเพณีแบบนี้ต้องมีส่วนประกอบอย่างไร คนในรูปจะต้องมีลักษณะแบบไหน แต่งชุดอย่างไร จะเลือกประเพณีขั้นตอนไหนมาเป็นภาพลงบนแสตมป์ แล้วจินตนาการออกมาเป็นภาพด้วยตัวเองทั้งหมด แต่ก็ต้องอิงกับความเป็นจริงของประเพณีนั้นด้วย โดยชุดนี้วีณาได้ใช้รูปตนเองในสมัยเด็กมาเป็นแบบด้วย
ส่วนกระดาษที่จะใช้วาดภาพจะใช้กระดาษขนาด 27 x 45 ม.ม. หลักการคือ จากแสตมป์เล็กๆเราจะขยายออกมาให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสะดวกในการวาดเช่นขยาย 4 เท่า 6 เท่า 8 เท่า คือดูจากตัวแสตมป์จริงแล้วขยายขึ้นมาเวลาย่อมาเป็นตัวแสตมป์จริงจะได้ขนาดแสตมป์ขนาดมาตรฐานที่เราวางไว้
ในเรื่องของซอง และตราประทับวันแรกจำหน่ายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ และหลายๆคนก็นิยมสะสมไปพร้อมๆกับการสะสมแสตมป์ ซึ่งสำหรับซองที่ใส่แสตมป์นั้น วีณาจะออกแบบให้สอดคล้องกับตัวแสตมป์ เช่นแสตมป์รูปคุณทองแดง วีณาก็จะออกแบบใส่รูปคุณทองแดงลงบนซอง เช่นเดียวกับตราประทับวันแรกจำหน่าย วีณาก็จะออกแบบตราประทับเป็นรูปหน้าคุณทองแดงในอิริยาบถต่างๆ เพื่อให้เข้าชุดกันกับดวงแสตมป์
หลังจากที่เล่าเรื่องราวขั้นตอนการทำงานแล้ว วีณาบอกว่า "การวาดรูปในอดีตกับปัจจุบันนั้นไม่ค่อยแตกต่างกัน เพราะคนเขียนรูปคือคนเดิม การใช้สีก็ยังคงใช้สีน้ำเหมือนเดิม มีแต่ฝีมือทำนั้นที่พัฒนาไปเรื่อยๆ การมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น คอมพิวเตอร์เข้ามา ก็ต้องยอมรับว่าช่วยให้การทำงานง่ายและเร็วขึ้นในด้านการออกแบบ การวางรูปแบบใส่ตัวอักษร การกำหนดสี และสามารถปรินต์รูปออกมาให้คณะกรรมการพิจารณาได้"
"สำหรับในปีฉลอง 80 พรรษานี้ ทางไปรษณีย์ก็ได้จัดทำแสตมป์ที่ระลึกขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ทั้งหมด 3 ชุด ซึ่งจะวางจำหน่ายชุดแรกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 แต่ขณะนี้ยังทำไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องจากต้องรอความเห็นชอบจากสำนักพระราชวังก่อน จึงยังไม่สามารถโชว์ให้ดูในตอนนี้ได้" วีณา กล่าว
ในเรื่องของคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นนักออกแบบแสตมป์ วีณากล่าวไว้อย่างง่ายๆ ว่า ต้องวาดรูปได้ ออกแบบได้ออกแบบเป็น ส่วนเรื่องใช้คอมพิวเตอร์ วีณาบอกว่าไม่ห่วง เพราะเด็กสมัยนี้ส่วนมากจะใช้คอมพ์เป็นอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องมีใจรักในการทำงานด้วย
"ดิฉันเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้แขนขวาหัก คนอื่นๆพากันกลัวว่าจะเป็นอย่างไร จะวาดรูปได้อีกหรือไม่ แต่ตัวพี่เองกลับไม่กังวลเพราะคิดว่ายังไงก็ต้องหายเป็นปกติและกลับไปวาดรูปได้เหมือนเดิม" หัวหน้างานออกแบบเล่าเรื่องแขนของตนเคยหักก่อนที่จะกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า "มันเป็นความสุขของเราที่ได้ทำงานที่เรารัก และรู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำงานออกแบบแสตมป์ ซึ่งเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ น้อยคนนักที่จะได้มาทำตรงจุดนี้ ประทับใจมาก"
แม้วันนี้คนจะสื่อสารทางจดหมายกันน้อยลง แต่สำหรับวีณา มันกลับไม่ค่อยส่งผลกระทบมากนัก เพราะยังมีคนบางกลุ่มที่เขาสะสมแสตมป์และเขาก็ยังคงสะสมอยู่ และคนทั่วไปก็เริ่มกลับมาอยากสะสมบ้าง เนื่องจากปัจจุบันมีแสตมป์สวยๆ และทรงคุณค่าออกมามากมาย และการสะสมแสตมป์ยังเป็นงานอดิเรกที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินแก้ความเครียดที่เราต้องเจอะเจอในสังคมได้ดีอีกด้วย
นี่คือความสุขของคนที่อยู่เบื้องหลังภาพแสนสวยบนกระดาษจิ๋วขอบหยัก ที่ทำงานเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ด้วยใจ ...ใจที่รักในงานศิลปะ ของวีณา จันทนทัศน์ หนึ่งในนักออกแบบแสตมป์ของเมืองไทย ที่เปรียบดังผู้ปิดทองหลังพระ คนสร้างศิลปะบนกระดาษแผ่นน้อยที่สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก
รอบรู้เรื่องแสตมป์
แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร (postage stamp) ใช้เป็นหลักฐานการชำระเงินค่าบริการไปรษณีย์ มักเป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมสำหรับติดบนซองจดหมาย แสตมป์ที่มีรูปร่างหรือทำจากวัสดุอื่นก็มีปรากฏให้เป็นบ้าง เช่นแสตมป์รูปสามเหลี่ยม
แสตมป์มักพิมพ์มาในรูปแผ่นหรือชีต ประกอบด้วยแสตมป์หลาย ๆ ดวง ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 20 ถึง 120 ดวง มีการปรุรูรอบดวงแสตมป์เพื่อความสะดวกในการฉีกออกจากแผ่น รอยฉีกที่ได้เรียกว่า “ฟันแสตมป์” ซึ่งการปรุที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการปรุแบบแผ่น (sheet perforation หรือ harrow perforation) คือจะเจาะรูทั้งหมด 4 ด้านแสตมป์ในคราวเดียว แสตมป์ที่ได้จะมีมุมเรียบร้อย ด้านหลังแสตมป์มีกาวฉาบอยู่ด้านหลังดวงแสตมป์เพื่อความสะดวกในการติดบนจดหมาย กาวจะติดได้ก็ต่อเมื่อเอาน้ำลูบบนกาว แต่ในระยะหลังมีการพิมพ์แสตมป์ที่มีลักษณะเหมือนสติกเกอร์ กล่าวคือสามารถลอกแสตมป์ออกจากแผ่นมาติดบนจดหมายได้ทันที กระดาษที่ใช้พิมพ์แสตมป์มักมีสิ่งที่ใช้ป้องกันการปลอมแปลง เช่น ลายน้ำ (watermark) หรือด้ายสี
โดยบนแสตมป์จะมีรายละเอียดต่างๆปรากฏอยู่ตรงส่วนขอบของแผ่น เช่น หมายเลขแผ่น เครื่องหมายระบุ แท่นพิมพ์ หรือ เพนในชีต อาจเป็นหมายเลข หรือตัวอักษร ชื่อโรงพิมพ์ วันแรกจำหน่ายแสตมป์ ครั้งที่พิมพ์ เครื่องหมายตรวจสอบสี เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายว่า พิมพ์ครบทุกสีในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ข้อความประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้ใส่รหัสไปรษณีย์บนจดหมาย เป็นต้น
เมื่อแสตมป์ถูกใช้งานบนซอง จะมีการประทับตรา เป็นเครื่องหมายบนดวงแสตมป์โดยไปรษณีย์ เพื่อไม่ให้นำกลับมาใช้ใหม่
สำหรับแนวคิดเรื่องการใช้แสตมป์เป็นค่าไปรษณีย์ ริเริ่มโดยนาย เจมส์ ชาลเมอส์ (James Chalmers) ชาวสกอตแลนด์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) ซึ่งความคิดดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับต่อมาใน พ.ศ. 2382 และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 ก็ได้ออกแสตมป์ดวงแรกของโลกคือ แสตมป์เพนนีแบล็ก (Penny Black) มีราคาหน้าดวง 1 เพนนี ซึ่งเป็นอัตราค่าไปรษณีย์สำหรับจดหมาย สามารถส่งได้ทุกปลายทางด้วยอัตราเดียวกัน เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ออกแสตมป์ สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union หรือ UPU) กำหนดให้สหราชอาณาจักรเป็นชาติเดียวที่ยกเว้นไม่ต้องพิมพ์ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ดังเช่นของประเทศอื่น ๆ
ส่วนแสตมป์ชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ชุดที่หนึ่ง หรือ ชุดโสฬส ออกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ประกอบด้วยแสตมป์ราคา หนึ่งโสฬส (ครึ่งอัฐ), หนึ่งอัฐ, หนึ่งเสี้ยว (สองอัฐ), หนึ่งซีก (สี่อัฐ), หนึ่งสลึง (สิบหกอัฐ) แสตมป์อีกดวงราคาหนึ่งเฟื้อง (แปดอัฐ) มาถึงล่าช้าและไม่มีการใช้งานจริงทางไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์ (Waterlow and Sons) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในช่วงนั้นไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้จึงยังไม่มีชื่อประเทศปรากฏบนดวง
******************
เรื่อง - ทีมข่าวท่องเที่ยว