“ปัง.....ปัง....ปัง....ปัง....”
เสียงปืนจากฝืมือของเหล่า “ผู้พิทักษ์ป่า” ดังขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อขับไล่ผู้บุกรุกที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำร้ายผืนป่าและสัตว์ป่า นับเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด
ทว่า แม้จะเหนื่อย หนักและเสี่ยงตายเพียงใด แต่พวกเขาก็ประกาศก้องว่าพร้อมจะทำหน้าที่วิญญาณ ปกป้องและพิทักษ์ผืนป่าที่เขียวขจีไว้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้ออย่างไม่คิดที่จะเสียดาย เพียงเพราะมีคติที่ยึดมั่นประจำใจไว้เพียงสิ่งเดียวคือ ป่าอยู่ได้ คนก็อยู่ได้
แน่นอนว่า...เรื่องราวของพวกเขาคือตำนานบทหนึ่งของพงไพรที่เต็มไปด้วยสีสันและอันตรายอย่างเอกอุเลยทีเดียว
เส้นแบ่งแห่งความถูกต้องกับศีลธรรม
บุญชู ธงชัยนำมา หัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเล่าถึงประสบการณ์การทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่ามาถึง 17 ปี ด้วยสายตาที่เป็นประกายสดใสว่า ในอดีตก่อนที่ห้วยขาแข้งจะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกนั้น ทางหน่วยจะต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ไปเกือบจะทุกปี บางปีก็ 2-3 คน
ทั้งนี้ เนื่องจากต้องปะทะและต่อสู้กับผู้ที่มาบุกรุกป่า โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาล่าสัตว์ป่า เพื่อแลกกับการปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
“เราจะมีการใช้กำลังต่อสู้กันเป็นประจำ บางครั้งการขับไล่ก็ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ถ้าผู้ที่มาล่าสัตว์ออกไปโดยดี แต่ถ้าบางครั้งไม่ยอมออกไป เราก็ต้องใช้กำลัง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาล่าสัตว์ป่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยหรือพวกกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน”
แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ นอกจากต้องต่อสู้กับชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาล่าสัตว์แล้ว ผู้พิทักษ์ป่าทุกคนยังจะต้องต่อสู้กับคนของรัฐที่เข้ามาใช้อำนาจในการจับจองพื้นที่ป่า ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่แก้ปัญหาได้ยากมากกว่าการปราบปรามพวกชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาล่าสัตว์เป็นอีกเท่าตัว
“ในพื้นที่ของป่าทุกที่มักจะต้องประสบกับปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข ก็คือเรื่องของการจับจองพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่ของตัวเอง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรู้ความสามารถพิเศษในการใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาเป็นข้ออ้างในการจับจองพื้นที่ รวมทั้งผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่มีทั้งกำลังทรัพย์และกำลังอาวุธ ก็จะเข้ามาข่มขู่และคุกคามทำสงครามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หลากหลายรูปแบบ เพื่อที่จะเอาพื้นที่ป่าไปเป็นประโยชน์ของตัวเอง”
แน่นอนว่าชีวิตของการทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่านอกจากจะต้องทำหน้าที่ในการปกป้องป่าไว้อย่างสุดชีวิตแล้ว บางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ก็จะยังคงต้องเผชิญหน้ากับเรื่องของความถูกต้องและคำว่าศีลธรรมอยู่เสมอ
บุญชูเล่าถึงความหนักใจในการทำงานว่า บางครั้งการป้องกันและปราบปรามผู้ที่ลักลอบเข้ามาล่าสัตว์หรือผู้ที่เข้ามาบุกรุกป่า ถือได้ว่าเป็นหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ทุกคน แต่ก็ใช่ว่าผู้ที่เข้ามาล่าสัตว์ทุกคนจะเป็นคนไม่ดี บางครั้งอาจจะเข้ามาด้วยภาวะที่จำยอม เพราะฉะนั้น บางครั้งการทำงานจึงต้องคาบเกี่ยวกับคำสองคำ ระหว่าง คำว่า ถูกต้องและศีลธรรมอยู่เสมอ
“บางทีผู้ที่เข้ามาล่าสัตว์ในป่าก็ใช่ว่าจะมาเพื่อนำสัตว์ป่าไปขาย พรานบางคนก็อาจจะเข้ามาล่าสัตว์เพื่อไปประทังชีวิต เพราะความยากจนก็มี อย่างเช่นบางรายที่เราได้สอบถามก็รู้ว่าที่บ้านไม่มีอะไรที่จะเลี้ยงปากท้องต้องเลี้ยงดูลูกอีก 3-4 คน แต่ด้วยหน้าที่ของเราคือการป้องกันและปราบปรามผืนป่าไม่ให้ใครเข้ามาทำร้ายเราจึงต้องจำเป็นดำเนินการตามกฎหมาย แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเพียงแค่เขียนบันทึกแจ้งความไว้เท่านั้น และก็ปล่อยให้เขากลับบ้าน”
“ในทางปฏิบัติมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่บางครั้งเรื่องของศีลธรรมความมีน้ำใจให้กับเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ร่วมโลกกับเรา ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างความหนักใจให้กับคนปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนกัน ระหว่างความอยู่รอดของปากท้องกับความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ จนกลายมาเป็นปัญหาที่หนักใจของผู้ปฏิบัติงาน ในเรื่องของศีลธรรมกับความถูกต้อง ถ้ามันต้องก้าวผ่านเข้ามาให้เราเลือก” บุญชูอธิบาย
ป่าคือชีวิตที่ต้องรักษา
“จิตวิญญาณ ผู้พิทักษ์ ป่าทุ่งใหญ่ รักษาไว้ ผืนป่า ให้ลูกหลาน สรรพสัตว์ ทุกชีวิต พ้นภัยพาล มั่นสืบสาน ปณิธาน เพื่อผองไทย”
น้ำเสียงที่สั่นเครือแต่เต็มไปด้วยความหนักแน่นของ เอิบ เชิงสะอาด หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ที่กล่าวถึงปณิธานคำยึดมั่นที่ท่องจำจนขึ้นใจ เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน จะนำปณิธานข้อนี้เป็นหลักในการปกป้องและรักษาผืนป่าไว้ให้คงอยู่เพื่อพี่น้องคนไทยทุกคน
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่าด้วยสีหน้าแช่มชื่นว่า ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้รักป่าไม้ขนาดที่ว่าใครมาแตะต้องป่าแล้วปานว่าใจจะขาด แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่หมดอายุราชการ ก็จะทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าไว้ให้ถึงที่สุด แม้จะต้องสละชีพก็ตาม
“ผมเริ่มทำงานรับราชการที่กรมป่าไม้ตั้งแต่ปี 2519 ก็ประมาณ 30 ปี และส่วนใหญ่งานที่ทำจะเป็นงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าและงานปราบปราม โดยเฉพาะผู้ที่ลักลอบเข้ามาล่าสัตว์และตัดไม้ ตลอดชีวิตการทำงานของผมได้เห็นคนที่พยายามที่จะเข้ามาล่าสัตว์ป่า และพยายามเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากป่าหลากหลายรูปแบบ การที่จะให้เรามาต่อสู้กับพรานที่เข้ามาล่าสัตว์คงจะไม่ใช่ปัญหาที่ยุ่งอยากอะไร แต่ปัญหาที่หนักใจที่สุด และปราบอยากก็คงจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในพื้นที่ที่พยายามจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากป่าไปเป็นของตัวเอง”
สำหรับหน้าที่ของการทำหน้าที่พิทักษ์และดูแลป่า เอิบบอกว่า ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การป้องกันและรักษาป่าไว้ให้คงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะถือว่าถ้าตราบใดก็ตามที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ย่อมที่จะเป็นเกาะป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ให้กับมนุษย์และสัตว์ป่าได้ แม้แต่บางครั้งจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของเราเองก็ตาม เพราะบางครั้งก็ต้องมีการ ปะทะกับผู้ที่ลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ หรือเข้ามาตัดไม้ อย่างเช่นปีที่แล้ว มีพรานซึ่งเป็นชาวบ้านที่หมู่บ้านแม่จันทะแอบเข้ามาล่าสัตว์ที่ทุ่งพระฤษี ก็มีการยิงประทะกันแต่โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไรมาก
แต่ความโชคดีก็คงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ กับผู้ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อผืนป่า เพราะหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯบอกว่า ถ้าผู้ล่ามีอาวุธที่ดีกว่าบางครั้งเราก็ต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ไป และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเราต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขณะที่กำลังออกลาดตระเวน และบังเอิญเดินไปเหยียบกับระเบิดที่เขาวางไว้ทำให้ต้องเสียชีวิตไปในทันที
“ถ้าถามผมว่ารักป่าไม้มากแค่ไหนผมคงตอบไม่ได้ แต่ผมรู้เพียงแค่ว่าตอนนี้ป่าได้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม เกือบค่อนชีวิตของผมส่วนใหญ่จะอยู่แต่ในป่า และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของป่าว่าป่าเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่เป็นทั้งที่พักพิง และเป็นแหล่งหลบภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือคน ต่างก็ได้รับประโยชน์จากป่าด้วยกันทั้งสิ้น ถ้ามีคนที่คิดจะมาทำลายบ้านของเรา เราก็คงจะต้องสู้ เพราะป่าก็เปรียบเสมือนกับชีวิตของทุกสิ่งบนโลกใบนี้”
นอกจากนี้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกยังเล่าต่ออีกว่า การทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่านอกจากจะต้องเสียสละชีวิตแล้ว ยังจะต้องทนกับการเสียเวลาที่เป็นส่วนตัวโดยเฉพาะกับครอบครัว
“ในช่วงหน้าเทศกาลต่างๆ อย่างเช่นปีใหม่ก็จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาพักที่นี่เป็นจำนวนมาก เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเปิดให้เข้าใช้บริการได้ในช่วงหน้าหนาว ซึ่งในฤดูนี้ก็จะมีนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอากาศที่หนาวเย็น และชื่นชอบการดูสัตว์ก็จะมาพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศที่นี่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องคอยมาดูแลอำนวยความสะดวก และที่สำคัญจะต้องคอยระวังไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวนป่าและก็สัตว์ป่ามาก ดังนั้นการที่จะกลับบ้านไปพักผ่อนกับครอบครัวเป็นเรื่องที่ลืมคิดไปได้เลย เพราะโอกาสที่จะได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตานั้นแทบไม่มีให้เห็น”
ชาวบ้านอยู่ได้ป่าก็ต้องอยู่ได้
ทางด้าน สมปอง ทองสีเข้ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกผู้ที่ทำงานและคลุกคลีอยู่ในวงจรของการปราบปรามมาถึง 18 ปี ซึ่งตั้งแต่เริ่มแรกของชีวิตการรับราชการของเขาก็จะต้องอยู่กับการป้องกันและปราบปรามป่าไม้มาโดยตลอด ต้องประสบกับปัญหากับความยุ่งอยากใจมาโดยตลอด โดยเฉพาะการมีปัญหากับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกท้อหรือเหนื่อยกับการต่อสู้แต่อย่างใด ด้วยมีเป้าหมายเดียวคือ “ป่าไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ”
สมปองบรรยายถึงขอบเขตและหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่าว่า หน้าที่ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุกคนคือ การป้องกันและปราบปราม โดยได้มีการเน้นและพุ่งเป้าไปที่การป้องกันมากกว่าการปราบปราม เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างปัญหาที่ซ้ำรอยเกิดขึ้นมาอีก
“หน้าที่หลักของผู้พิทักษ์ป่าทุกคนคือ งานป้องกันและปราบปราม งานลาดตระเวน งานด้านการศึกษาและวิจัย รวมไปถึงการบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องของการบริการด้านการท่องเที่ยวนั้น เป็นหน้าที่ที่เราไม่อยากจะทำ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหนีนโยบายไปได้ แต่หน้าที่หลักของทุกคนคืออยู่ที่การป้องกันและปราบปรามไม่ให้ใครเข้ามาทำร้ายป่า สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นภารกิจหลักของหน่วยพิทักษ์ทุกคน”
...บนพื้นที่กว่า 9 แสนไร่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม จึงมักจะมีผู้ที่ลักลอบเข้ามาล่าสัตว์โดยกลุ่มชาวเขาและชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการจับกุม แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปราบปรามผู้นี้จึงหันมาใช้วิธี การถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างป่าและชาวบ้านในพื้นที่
“วิธีที่เรานำมาใช้ในการป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกป่าคือ เราจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของป่า และการดูแลรักษาป่า เพราะเราเชื่อว่า การจับกุมผู้ที่เข้ามาล่าสัตว์นั้นถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราจึงได้คิดหาวิธีการป้องกันไม่ให้ป่าถูกบุกรุก จึงได้จัดทำโครงการชาวบ้านอยู่ได้ป่าก็ต้องอยู่ได้ โดยดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเราให้มากที่สุด เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าส่วนใหญ่จะเป็นพวกชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามา การที่จะพูดกับเขาให้เข้าใจคงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้าใช้กำลังเข้าไปปราบปรามก็ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาให้พวกชาวบ้านหนักข้อขึ้นไปอีก”
“วิธีเดียวที่เราจะสามารถบริหารจัดการป่าได้ คือการขอความร่วมมือเชิญผู้นำหมู่บ้านมานั่งทำความใจเกี่ยวกับความสำคัญของป่า และให้ผู้นำหมู่บ้านเป็นคนบอกชาวบ้านเอง เพราะตามความเชื่อของพวกชนกลุ่มน้อยจะเชื่อผู้นำของเขามากกว่า”
สมปองเล่าต่อว่า ในอดีตเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับกลุ่มชาวบ้านนั้นถือได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากันเลยก็ว่าได้ปะทะหน้ากันทีไรก็มีแต่เรื่อง แต่หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการนี้ไปแล้วนั้นชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างร่มรื่นภายใต้ผืนป่าของทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก
...แน่นอนว่า ความเสียสละ ความอดทน ของคนกลุ่มนี้คงจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนคนไทยทุกคนได้แล้วว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรจะต้องหันมาช่วยกันปกป้องรักษาผืนป่าไว้ให้คงอยู่ เพราะป่าไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือสมบัติของคนทั้งชาติที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้
*******************
เรื่อง - ศศิวิมล แถวเพชร