กว่า 10 ปีที่ อนุรัตน์ โค้วคาสัย ทุ่มเททั้งกำลังใจและกำลังทรัพย์ไปกับการสะสมเหรียญกษาปณ์ของไทยอย่างเอาเป็นเอาตาย แม้ว่าเขาอาจจะไม่ใช่คนที่มีเหรียญโบราณของไทยอยู่ในมือมากที่สุด แต่เขาก็ได้สร้างคุณูปการให้แก่วงการเหรียญกษาปณ์ไทยไม่น้อย โดยเฉพาะการตามไล่ซื้อเหรียญสำคัญจำนวนมากจากฝรั่งที่กว้านเก็บเหรียญโบราณของไทย แต่วันนี้เขาเริ่มหมดแรงกายและกำลังทรัพย์เสียแล้ว การตัดสินใจเปิดประมูลขายเหรียญโบราณที่มีอยู่ทั้งหมดบนเว็บไซต์ www.pantavanij.com จะสร้างประวัติศาสตร์การขายครั้งใหญ่ เพื่อหวังส่งต่อของรักของหวงเหล่านี้ไปสู่เศรษฐีไทยที่เห็นคุณค่าเหรียญไทย
จุดประกาย คนบ้าเหรียญ
ความชอบของคนจำนวนไม่น้อยเริ่มขึ้นเมื่อวัยเด็ก และคงเช่นเดียวกันที่ส่วนเสี้ยวสำคัญของการเก็บสะสมของโปรดในดวงใจมักได้รับอิทธิพลจากคนในครอบครัว อนุรัตน์ โค้วคาสัย เด็กหนุ่มจากครอบครัวร้านขายยาใน อ.สรรพยา จ. ชัยนาท นักสะสมตัวยงแห่งวงการเหรียญกษาปณ์ไทยก็ถอดพิมพ์นิยมเช่นนี้มาด้วย จุดเล็กๆ ของการเริ่มสะสมสิ่งสารพัดที่ชื่นชอบ ทั้ง แสตมป์ เหรียญ ธนบัตร ลอตเตอรี่ ฯลฯ ล้วนแต่ซึมซับมาจากผู้เป็นพ่อที่ชอบดูพระ จึงเก็บสะสมสิ่งเหล่านี้เรื่อยมาตั้งแต่ ม.ศ.4-5 ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรนักกับงานอดิเรกของคนทั่วไป ที่หากสนใจในสิ่งใดแล้วก็อยากจะใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้นจนถึงขั้นเฝ้าติดตามและเก็บสะสม
แต่ดีกรีความหลงใหลในของสะสมที่มีมาแต่วัยเยาว์ของเขาถึงเวลาถูกกระตุ้นและจูงใจอีกครั้ง เมื่อถึงวันที่ต้องเดินผ่านร้านขายของเก่าแห่งหนึ่งในตลาดนัดจตุจักร แหล่งสรรพสินค้าเวอร์ชันไทยๆ ที่เต็มไปด้วยฝรั่งมังค่าสายตาแหลมคม คอยจับจ้องซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ไทยกันอย่างคึกคัก ซึ่งที่แห่งนี้เองทำให้เขารู้ว่าตัวเองหลงมนต์เสน่ห์เหรียญกษาปณ์ไทยเข้าอย่างจัง และตัดสินใจเดินหน้าต่อยอดเก็บสะสมอย่างจริงจังไปด้วย โดยเริ่มต้นจากศูนย์พร้อมกับความสนใจในเหรียญที่มีอยู่เต็มเปี่ยม
“ผมเดินเข้าไปในตลาดนัดจตุจักร เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นเหรียญหน้าตาประหลาด ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในบ้านเราจะมีเหรียญแบบนี้ แล้วทำไม? ฝรั่งถึงต้องมาเลือกซื้อ จนได้พูดคุยกับฝรั่งคนหนึ่ง แลกนามบัตรกัน ทราบว่าเขาหลงใหลในประวัติศาสตร์ชาติไทย จนได้มาเจอเหรียญไทย แล้วคิดว่ามันมีคุณค่ากับเขามาก ทำให้เขาอยากสะสม เอ๊ะ! แล้วทำไมเราเป็นคนไทยถึงไม่สนใจล่ะ จึงให้พ่อค้าช่วยแนะนำ เอาหนังสือมานั่งอ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหรียญอย่างจริงจัง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ก็เริ่มเก็บเหรียญกันใหม่แบบรู้จริง รู้ลึก นำเหรียญมาเรียงใส่เมาท์ เก็บลงสมุด โห! ช่วงนั้นเสาร์-อาทิตย์ไม่เคยไปไหน มุ่งหน้าไปที่จตุจักรทุกสัปดาห์ ใช้เวลาไม่นานนักก็ได้เหรียญสมัย ร. 9 จนครบทุกเหรียญ”
จุดเริ่มที่ดีถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง สำหรับอนุรัตน์แล้ว การเก็บเหรียญ คงไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บให้ได้จำนวนมากที่สุดหรือเก็บเพื่อเก็งกำไร แต่จิตวิญญาณของการเก็บเหรียญของเขานั้นอยู่ที่การให้คุณค่าตามความสนใจ และด้วยเหตุนี้ จึงค้นพบว่าการเก็บเหรียญในสไตล์ของตัวเองนั้น เป็นการเก็บสะสมเชิงประวัติศาสตร์ ที่สามารถตอบโจทย์ความเป็นมาของเหรียญแต่ละเหรียญได้อย่างไม่ตกหล่นเรื่องที่มาของเหรียญว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการใช้งานจริงในระบบเงินตราของไทยมายาวนานเท่าไหร่ และยังทำให้เขาทราบถึงพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการวางระบบเงินตราให้ทัดเทียมอารยประเทศ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจต่อราษฎรของพระองค์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งเขาบอกว่า ใช่ว่าเหตุผลของการเก็บเหรียญจะมีอยู่อย่างเดียว รูปแบบของการสะสมอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ การสะสมเหรียญเฉพาะยุคสมัย การสะสมเฉพาะเหรียญทองคำเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การเก็บเฉพาะเหรียญตัวอย่าง(Pattern) หรือแม้แต่การเก็บสะสมเพื่อวิจัยและทำออกมาเป็นหนังสือขาย ก็ยังเป็นเหตุช่วยสร้างนักสะสมเหรียญกษาปณ์อีกจำนวนมาก
“เราเก็บเหรียญเพื่อต่อประวัติศาสตร์ให้ครบ ถ้าได้ครบแล้วก็พอ แต่เพื่อนๆ ในวงการมีหลายประเภท บางคนเก็บเฉพาะยุคสมัย เช่น ยุคสุโขทัย พวกเงินพดด้วง ถ้าเราเอาเหรียญแบนที่หายากไปเสนอ ต่อให้ดีและราคาไม่แพง เขาจะไม่สนเลย เพราะอยู่นอกความสนใจ เขาไม่เห็นคุณค่าของเหรียญพวกนั้น ส่วนพวกที่เก็บเฉพาะเหรียญทองคำ กลุ่มนี้จะมองว่าอะไรก็ตามที่เป็นการเก็บทองมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่พวกที่เก็บสะสมเพื่องานวิจัยและต้องการทำหนังสือเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ไทยออกมา เขาก็จะทุ่มเทอย่างมากที่จะรู้จักเหรียญแต่ละเหรียญให้ลึกที่สุด”
ปฏิบัติการ...ไล่ล่า ตามหาเหรียญ
บนเส้นทางของนักสะสมเหรียญเก่าของอนุรัตน์นั้นช่างเต็มไปด้วยขวากหนามและเรื่องท้าทายมากมาย ใช่ว่ามีเงินแล้วจะมีโอกาสได้ครอบครองเหรียญที่หมายตาเอาไว้
สำหรับอนุรัตน์แล้วเขาออกตัวว่าไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง อาศัยเป็นคนไม่ฟุ่มเฟือยกับเรื่องอื่น ๆ ตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายการตลาดและประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทพรานทะเลจึงพอจะมีเงินมาหาซื้อเหรียญเก่าได้ ประกอบกับภรรยาและลูก ๆ ให้การสนับสนุนเต็มที่ เขาจึงสามารถทุ่มเทกำลังใจและกำลังเงินไปกับการค้นหาเหรียญเก่า
ความชื่นชอบเหรียญของอนุรัตน์คงไม่เป็นแรงขับที่เพียงพอนัก หากจะดึงดูดเหรียญไทย ที่กระจายอยู่ในมือผู้อื่นให้มาอยู่ในครอบครองของตน โดยเฉพาะกับนักสะสมเหรียญกษาปณ์ไทยชาวต่างชาติ แต่แม้จะยากเย็นเพียงใด คนบ้าเหรียญก็มุ่งมั่น ดั้งด้นเสาะแสวงหาอย่างไม่ลดละ เริ่มก้าวแรกของการสะสมจากเหรียญในสมัยรัชกาลที่ 9 ไล่เรียงย้อนกลับไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ของเหรียญกษาปณ์ไทยในยุคสมัยที่ไกลตัวเขามากขึ้นเรื่อยๆ ที่ดูเหมือนยิ่งย้อนยุคสมัยกลับไปยาวนานเท่าไหร่ ความพยายามก็ต้องมีเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะเหรียญที่ต้องการเก็บแบบเรียง พ.ศ. ให้ครบ เหรียญที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัดและจัดทำขึ้นมาในวาระพิเศษเท่านั้น ซึ่งแต่ละรูปแบบในการตามล่าหาเหรียญของเขา นอกจากจะเดินหาซื้อเหรียญตามร้านขายของเก่าเจ้าประจำ ตามกองกษาปณ์และกองเครื่องราชย์แล้ว การตามตื๊อขอซื้อเหรียญจากเจ้าของเดิม และการทุ่มเงินประมูลเหรียญรุ่นหายากทางอินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกหลากหลายกลยุทธ์ในการเปลี่ยนมือเจ้าของเหรียญมาไว้ที่ตัวเขาเองเช่นกัน
“ของเก่ามีคติอยู่ว่า ถ้าเห็นแล้วต้องซื้อเลย จะไม่มีวันหวนมาอีกเด็ดขาด เหมือนโชคมาถึงเราแล้ว ถึงจะไม่มีเงินพอ ต่อให้ต้องกู้มาซื้อผมก็ยังเคยยอมกู้เลย”
จากนั้นเขาจึงมุ่งมั่นสานต่อประวัติศาสตร์ของเหรียญให้สมบูรณ์อย่างที่ตั้งใจ ด้วยการพาตัวเองเข้าสังกัดสมาคมเหรียญกษาปณ์ไทย ขึ้นแท่นเป็นสมาชิกแถวหน้า คอยแนะนำตัวทำความรู้จักกับเพื่อนฝูงคอเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเหรียญเป็นประจำทุกเดือน
“เหรียญในยุคสุโขทัย อายุกว่า 800 ปี บอกตรงๆ ไม่มีใครยอมให้แม้แต่เม็ดเดียว พดด้วงสุโขทัยเม็ดแรกที่ได้มา ผมต้องตามตื๊อเค้าทุกวัน กัดฟันจนได้มาเม็ดแรก 20,000 บาท จับมาเรียงใส่กล่อง เป็นความภาคภูมิใจของเราที่เริ่มมีเหรียญในสุโขทัย เท่านั้นยังไม่พอบางเม็ดในยุคนี้ กว่าจะได้มาก็ยากไม่แพ้กันในราคา 120,000 บาท สำหรับคนทั่วไปอาจจะมองเป็นแค่เม็ดโลหะเล็กๆ เท่านั้นเอง แต่สำหรับนักสะสม มันขนลุกเลยที่เห็นพดด้วงเม็ดนี้”
ทั้งหมดนี้ หากเป็นการตามล่าเหรียญกับคนไทย หรือบางรายที่ต้องบากหน้าไปอ้อนวอนเข้าทางภรรยา หมั่นถามว่าเมื่อไหร่จะปล่อยเหรียญสักที และการยอมจ่ายในราคาที่เจ้าของเดิมพอใจจะแบ่งขายให้แบบไม่อั้น คนบ้าเหรียญคนนี้เคยทำมาหมดแล้ว มีทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่ที่ถึงขั้นลุ้นระทึก! ต้องปาดเหงื่อกว่าจะตามเอาเหรียญมาอยู่ในมือได้นั้น เขาขอยกให้การต้องใช้พลังเงินแย่งชิงเหรียญมาจากนักสะสมชาวต่างชาติ ที่หลายครั้งก็ทำให้เขาต้องพลาดเหรียญนั้นไปอย่างน่าเสียดาย เขาเล่าว่า กว่าจะได้มาแต่ละเหรียญ สู้กันยิบตา โดยเฉพาะการเข้าไปประมูลบนเว็บไซต์eBay ซึ่งถือเป็นสนามล่าเหรียญชั้นเยี่ยมเลยของนักสะสมทั่วโลก
“เหรียญบางเหรียญได้มาง่าย เป็นจังหวะและโชคช่วย แต่ที่ต้องไปอ้อนวอนให้เขาแบ่งขายก็ต้องใช้ความอดทนกันพอสมควร บางครั้งถึงจะยอมปล่อยเหรียญมาให้ ก็อาจได้เหรียญที่แย่ที่สุดมาอีก ซึ่งหลายครั้งพลังของเงินบาทก็ต้องพ่ายเงินดอลลาร์ เหมือนที่ครั้งหนึ่งผมต้องพลาดเหรียญที่เฝ้าหามานานให้หลุดมือไป ใช่ว่าเราไม่สู้ราคานะ แต่การซื้อขายก็ต้องต่อรองกันบ้าง ถูกตัดหน้าไปเฉยๆ เพราะพวกฝรั่งทุ่มไม่อั้น”
เอ่ยถามว่าเหรียญไหนหายากที่สุด คนคลั่งเหรียญยอมรับว่าถ้าเป็นเหรียญที่ผลิตออกมาจำกัดและมีประวัติที่พิเศษในตัวเองถือว่าเหรียญนั้นเป็นเหรียญปราบเซียน ถึงจะคร่ำหวอดมานานหรือกระเป๋าหนักก็ใช่ว่าคนนั้นจะมีเหรียญครบทุกเหรียญ อาทิ เหรียญบรรณาการ , เหรียญช้าง , เหรียญดอกบัว , พดด้วงสมัยสุโขทัย , พดด้วงช่อรำเพย สมัย ร.5 ฯลฯ
ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าช่องทางในการได้เหรียญหายากและสภาพดีมาเป็นของเราจะถึงทางตันเสมอไป การได้เป็นเจ้าของเหรียญแบบโชคช่วยก็ยังพอมีโอกาสอยู่บ้าง แม้ต้องใช้เวลาอดทน รอให้นักสะสมรุ่นใหญ่คิดว่าถึงเวลาที่จะเกษียณอายุจากวงการ โดยไม่มีลูกหลานมารับช่วงต่อ คนกลุ่มนี้ก็จะทยอยปล่อยเหรียญที่ตัวเองสะสมออกมาให้นักสะสมรุ่นใหม่ๆ ได้ชื่นใจอยู่เหมือนกัน
สังคมนักสะสมเหรียญ
นักสะสมเหรียญแบบมือสมัครเล่นในเมืองไทยมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าจะนับรวมถึงพวกที่บ้าคลั่งสะสมเหรียญแบบลงลึกแล้วแทบจะนับคนได้ เพราะทุกคนรู้ว่าการซื้อเหรียญเพื่อมาเก็บไว้เชยชมนั้นทำให้เงินจม จะขายก็เสียดายยิ่งเก็บก็ยิ่งถลำลึก ดังนั้นคนที่สะสมจริงจังไต่ระดับจนเป็นมือเซียนแล้วจำเป็นจะต้องมีกำลังทรัพย์สูงระดับเจ้าของกิจการทีเดียว
ในวงการมือเซียนที่เก็บสะสมเหรียญนั้นส่วนมากจะรู้จักกันหมดเพราะแต่ละคนมีแหล่งซื้อขายเหมือนกันคือ แหล่งขายเหรียญเก่าที่ตลาดจตุจักรไปจนถึงชมรมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทย เพราะเมื่อใครได้เหรียญเก่าที่หายากมาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องนำไปอวดเพื่อน ๆ
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก้าวข้ามไปถึงสังคมอินเตอร์ที่มีเว็บไซต์ eBay เป็นศูนย์กลางในการประมูลซื้อขาย อย่างเช่นที่อนุรัตน์มีเพื่อนชาวต่างชาติที่สะสมเหรียญไทยเหมือนกันโดยการรู้จักกันในเว็บไซต์ แม้ว่าทั้งที่คู่จะไม่เคยพบหน้ากันเลย แต่เขาก็ไปมาหาสู่กันทางอีเมลแทบทุกวันเพื่อจะอวดเหรียญใหม่ที่ได้ครอบครองหรือให้ข้อมูลข่าวสารของวงการนักสะสมด้วยกัน
แต่ถ้าจะให้ระบุนักสะสมสุดยอดเซียนของเมืองไทยนั้น ในวงการยอมรับว่ามีเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งแต่ละคนมีเหรียญเก่าที่หายากเป็นจำนวนมากด้วยสนนราคาที่ประเมินค่าคนละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่คนกลุ่มนี้แทบจะไม่ออกงานและปิดตัวเองมาก
“ นักสะสมเหรียญเก่ามีนิสัยเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าปกติจะไม่ยอมขายหรอก แต่ถ้าอายุเริ่มมากขึ้นจนรู้สึกว่าสังขารไม่ไหวแล้วก็จะมองหาคนดูแลแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีทายาทสืบทอด ถึงตอนนั้นจึงจะยอมทยอยปล่อยออกมาก็เป็นโอกาสของนักสะสมรุ่นใหม่ใจถึง เรียกว่าสมบัติผลัดกันชม ”
นิสัยอีกอย่างหนึ่งที่คนสะสมเหรียญมักจะมีเหมือนกันคือการปกปิดราคาซื้อขายจริง เพราะกลัวครอบครัวรับไม่ได้กับเหรียญเก่า ๆ ธรรมดาในสายตาของตัวเอง
“ ในวงการนักสะสมจะฝากกันเลยว่า ถ้าเป็นอะไรไปแล้วให้ช่วยจัดการขายเหรียญให้ด้วย อย่าให้ครอบครัวขายเอง เพราะเคยมีตัวอย่างแล้วว่าตอนซื้อไปโกหกเมียว่าซื้อมา 500 บาทเท่านั้น กลัวเมียด่า แต่พอตายเมียเอาไปขายได้เงินพันกว่าบาทก็ดีใจใหญ่เลยว่าขายได้กำไรตั้งเท่าตัว ทั้ง ๆที่เม็ดนั้นราคาซื้อขายจริง ๆ เป็นแสนบาท ”
ฝรั่งไล่เก็บเหรียญไทย
ไม่เพียงคนไทยเท่านั้นที่ชื่นชมเหรียญโบราณของไทย ยังมีฝรั่งกลุ่มหนึ่งที่หลงใหลในความงดงามและประวัติศาสตร์ของแต่ละเหรียญเช่นกัน ทำให้ฝรั่งกลุ่มนี้สะสมอย่างจริงจังจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ไล่เก็บเหรียญมากกว่าคนไทยเสียอีก
มีหลักฐานจากหนังสืองานศพของนักสะสมเหรียญท่านหนึ่งเขียนระบุเอาไว้เมื่อปี 2506 ว่า มีฝรั่งต่างชาติเริ่มเก็บเหรียญเก่าของไทยไปเป็นจำนวนมาก และถ้านับเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้เหรียญสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยหลายอันก็อยู่ในมือของฝรั่งกลุ่มนี้เช่นกัน
อย่างน้อยก็มีฝรั่ง 2 คนที่อนุรัตน์รู้จักและระบุว่าไล่เก็บเหรียญโบราณของไทยมาหลายปีจนกลายเป็นเซียนระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งมีทุกรุ่นทุกแบบ ทั้งรุ่นที่หายากและหายากที่สุด คนหนึ่งเป็นฝรั่งชื่อแซม อยู่เมืองไทยมา 30 ปีแล้ว ขณะที่อีกคนหนึ่งชื่อรอน ขาประจำที่เขาคุยทางอีเมล
“ ฝรั่งคนนี้มีครบหมด เขาซื้อเหรียญบรรณาการตั้งแต่ราคา 80,000 บาทไล่ไปจนถึง 200,000 บาท ทุกวันนี้เขายังบอกว่าถ้าใครมีเขาจะซื้อเก็บไปเรื่อย ๆ เพราะเขาหวังจะเก็บให้หมด ” อนุรัตน์กล่าว
ยิ่งได้รับรู้ว่าพวกฝรั่งกลุ่มนี้ไล่เก็บเหรียญไทยไปเกือบหมด ทำให้อนุรัตน์เริ่มคิดว่าถ้าไม่ช่วงชิงกลับมาสักวันหนึ่งลูกหลานคนไทยคงต้องไปดูเหรียญของไทยเราเองที่เมืองนอกอย่างแน่นอน และหลายครั้งที่เขาทุ่มเทเวลาและเงินทองเพื่อไปไล่ซื้อเหรียญของไทยแข่งกับฝรั่งที่เมืองนอก อย่างเช่น กรณีเหรียญแบนรุ่นแรกที่ผลิตในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ.2399 ซึ่งเขาไปพบว่าอยู่ในมือของต่างชาติและพยายามจะประมูลซื้อกลับมาสู่แผ่นดินไทย จนในที่สุดเขาก็ได้เหรียญแบนอายุ 150 ปีที่ต้องเดินทางไปอยู่ไกลถึงสหรัฐอเมริกาเหรียญนี้ กลับมาอยู่ในคอลเลกชันของเขาได้เป็นผลสำเร็จ
หัวใจที่บอบช้ำ
ชีวิต 10 กว่าปีที่ทุ่มเทให้กับการสะสมเหรียญของอนุรัตน์ นอกจากความหลงใหลในประวัติศาสตร์ของเหรียญโบราณของไทยแล้ว เขายังมีความฝันอยากจะอนุรักษ์เหรียญเหล่านี้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าวิวัฒนาการของเหรียญไทย เมื่อปี 2548 เขาลงทุนเขียนหนังสือชื่อ “ เหรียญกษาปณ์ กับคนรุ่นใหม่ ” หวังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เรื่องเหรียญโบราณเพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้มาช่วยสานต่อปณิธานการเก็บเหรียญของไทยไว้ให้อยู่ในเมืองไทยนาน ๆ
“ ความตั้งใจสูงสุดของผมคืออยากทำพิพิธภัณฑ์ ” อนุรัตน์ประกาศเจตนารมณ์ของเขา เพื่อเดินหน้าไปหาฝันเขาจึงมองหาที่ดินประมาณ 5 ไร่ พร้อมกับเขียนแปลนอาคารที่จะใช้ทำพิพิธภัณฑ์ไว้เรียบร้อย โดยเขาวางแผนบริหารสถานที่แห่งนี้ว่าจะต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ในที่สุดก็มาถึงจุดหักเหที่ทำให้อนุรัตน์ตัดสินใจวางมือจากสิ่งที่เขารักและหวงแหนมากว่า 10 ปี ด้วยสาเหตุของการพลาดท่าเหรียญแพทเทิร์นเป็นรูปช้างและดอกบัวในสมัยรัชกาลที่ 3 มูลค่า 1.5 ล้านบาทให้กับฝรั่งต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่เขาใช้เวลาติดต่อจับจองมาหลายเดือนแล้ว แต่นายหน้ากลับแอบเอาไปเสนอขายให้ฝรั่ง
“ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ผมท้อมาก ชุดนี้ไม่มีอีกแล้วมีเพียงอันเดียว น่าจะได้อยู่ในเมืองไทย ”
และความคิดที่จะหยุดสะสมเหรียญโบราณจึงเริ่มแวบเข้ามาในจิตใจของเขา เขาใช้เวลาตัดสินใจอยู่เกือบปี ในที่สุดจึงประกาศขายเหรียญทั้งหมดที่เขามี โดยคาดหวังว่าผู้ซื้อจะนำไปสานฝันของเขาด้วยการทำพิพิธภัณฑ์ เพราะเขาใช้เวลาเกือบปีในการจัดคอลเลกชั่นเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ โดยสั่งทำกล่องพิเศษขึ้นมา 82 กล่อง แล้วเรียงเหรียญจัดวางตามประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อหวังว่าใครก็ตามที่ประมูลไปแล้วจะสามารถนำไปจัดตั้งพิพิพธภัณฑ์ได้เลย
ประมูลเหรียญประวัติศาสตร์
“ ผมหวังว่าจะมีคนไทยที่ร่ำรวยและเห็นคุณค่าของเหรียญไทยโบราณ หรือสถาบันการเงินสักแห่งที่จะมาเก็บเหรียญทั้งหมดของผมไปสานต่อ ”
วิธีการขายเหรียญของอนุรัตน์นั้นเขาได้ร่วมมือกับอีก 2 บริษัท คือ บริษัท พันธวณิช จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลผ่านเว็บไซต์ของเมืองไทย และเป็นที่ยอมรับจากทางภาครัฐและเอกชน และอีกบริษัทคือ เอื้อเสรี คอเล็กติ้ง จำกัด บริษัทที่มีความชำนาญในการคัดสรรและตรวจสอบวัตถุสิ่งของทรงคุณค่า พร้อมกับประสบการณ์ในการจัดประมูล
ส่วนความพร้อมในการเปิดประมูลคงจะเป็นช่วงต้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้เขากำลังจัดทำหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเพื่อแนะนำเหรียญทั้งหมดของเขา โดยภายในเล่มจะให้รายละเอียดทั้งหมดและจะส่งไปตามสถาบันการเงิน องค์กรขนาดใหญ่ของไทยทั้งหมด และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เขาจะเปิดโรงแรมดุสิตธานีเพื่อแสดงเหรียญโบราณทั้งหมดแก่ผู้สนใจ หลังจากนั้นก็ต้องไปสู้ราคากันบนอินเทอร์เน็ตใน www.pantavanij.com ซึ่งเป็นเว็บของคนไทยเพื่อป้องกันมิให้ฝรั่งต่างชาติเข้ามาประมูล ซึ่งใครจะเข้าประมูลจะต้องลงทะเบียนในเว็บก่อน
ส่วนสนนราคาที่เปิดไว้เบื้องต้น 20 ล้านบาท โดยเขาหวังว่า ถ้าโชคดีจะมีเศรษฐีคนไทยสักคนที่รู้คุณค่าหรือนายแบงก์สักคนเหมาไปหมด เพียงเท่านั้นเขาจะมีความสุขที่ได้มีคนมาสานต่อภาระของเขาได้แล้ว
“ ความสุขที่ได้เป็นเจ้าของเหรียญเหล่านี้มา 10 กว่าปีได้ชื่นชมทุกมุมและทุกลวดลายบนหน้าเหรียญ เป็นความสุขแล้ว ยังไม่อิ่มตัวหรอกแต่ไม่มีเงินที่จะสานต่อเท่านั้น”นี่คือความในใจสุดท้ายของคนบ้าเหรียญที่จำต้องยกธงขาว
* * * * * * * * * * * *
ข้อแนะนำ... คลื่นลูกใหม่ หัดเก็บเหรียญ
สำหรับใครก็ตามที่เริ่มหลงเสน่ห์เหรียญกษาปณ์ไทยเข้าแล้ว ควรเริ่มเก็บสะสมตั้งแต่เหรียญสมัยรัชกาลที่ 9 ให้ครบเสียก่อน แล้วจึงไล่เรียงเก็บตามรัชสมัยย้อนกลับไปจนถึงสมัยสุโขทัย โดยไม่จำเป็นต้องหาซื้อเหรียญที่มีราคาแพง ให้เลือกสะสมตามความสนใจและกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ ควรเลือกเก็บเหรียญที่เราสามารถเก็บได้ก่อน แล้วนำมาเรียงใส่ในสมุดหรือกล่องให้สวยงาม
ข้อแนะนำสำหรับการเริ่มต้นสะสมเหรียญนั้น ก่อนอื่นต้องมีคู่มือเสียก่อน ซึ่งปัจจุบัน มีการผลิตคู่มือการสะสมเหรียญออกมาพอสมควร ซึ่งมีรายละเอียดและราคาประเมินอยู่ในนั้น แต่สำหรับราคาขายจริงอาจจะถูกกว่าหรือแพงกว่า ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขายเป็นหลัก และอัตราส่วนของความต้องการเหรียญเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิต เพราะแม้จะเป็นเหรียญที่เพิ่งจะผลิตออกมา แต่ถ้ามีจำนวนน้อย ราคาเหรียญก็จะสูงขึ้นได้
การเริ่มเก็บเหรียญ อาจเริ่มเก็บเป็นรุ่นๆ ก่อน แล้วจึงเริ่มเก็บเป็น พ.ศ. หากเหรียญใดที่ผลิตออกมาน้อย มีราคาแพงก็ให้ข้ามไป เนื่องจากหน้าตาเหรียญจะเหมือนกันทุกประการ ต่างกันก็เพียงตัวเลขแสดงปีผลิตเท่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นที่นักสะสมมือใหม่ต้องยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้เหรียญมาเก็บไว้
นอกจากนี้ การสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทย ก็เป็นช่องทางสำคัญ ช่วยให้นักสะสมทั้งมือเก่าและมือใหม่ได้รับความรู้เพิ่มเติมและยังได้พบปะกับสมาชิกผู้มากประสบการณ์ที่จะคอยให้คำแนะนำดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักสะสมรุ่นใหม่อีกด้วย ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ : 16 ซ.พัฒนเวศม์ ถ.สุขุมวิท 71 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110
สำหรับแหล่งเหรียญโบราณยอดฮิต ที่จะพาบรรดามือใหม่ทุกคนเปิดประตูไปสู่เหรียญกษาปณ์หน้าตาแปลกๆ นั้น ได้แก่ กองกษาปณ์ กองเครื่องราชย์ ร้านขายของเก่าในตลาดนัดจตุจักร และคนเก็บเหรียญที่ตัดสินใจยอมปล่อยเหรียญให้เปลี่ยนมือเจ้าของ ซึ่งร้านขายของเก่าข้างต้นนี้ จะเป็นที่รู้กันว่า ทางร้านจะการันตีเหรียญแท้ให้ด้วย นั่นคือ หากซื้อเหรียญมาแล้วพบว่าเป็นเหรียญปลอมก็สามารถคืนเหรียญได้ทันที
แต่การจะเก็บเหรียญให้สนุกและมีความสุขแบบไม่รู้จบนั้น อนุรัตน์ยังฝากมาถึงนักสะสมมือใหม่ด้วยว่า ... ควรเก็บเหรียญเพราะรักในเหรียญกษาปณ์ของไทย หมั่นค้นคว้าหาข้อมูลของเหรียญประกอบกันไป ให้เข้าใจถึงความเป็นมาที่หลอมรวมกันเป็นประวัติศาสตร์ของเหรียญกษาปณ์ไทยในยุคต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทุกคนทึ่งไปกับเบื้องหลังของเหรียญแต่ละเหรียญที่สูงค่าเสียยิ่งกว่ามูลค่าการแลกเปลี่ยนซื้อขายใดๆ ในปัจจุบัน
** หมายเหตุผู้เขียน** เนื่องจากเกิดปัญหาเรื่องการเข้าใจผิด จึงขอแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะใช้ประมูลเหรียญกษาปณ์จาก eBay มาเป็น www.pantavanij.com
* * * * * * * * * *
เรื่องโดย ปาณี ชีวาภาคย์ / ภาษิตา ภิบาลญาติ