xs
xsm
sm
md
lg

มองสายน้ำ ถามเงาตัวเอง แม่กก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวรัสเซียกล่าวว่า แม่น้ำโวลก้าไหลผ่านหัวใจของชาวรัสเซียทุกคน และนั่นอาจเป็นท่วงทำนองความรู้สึกเดียวกันกับที่แม่น้ำกกย่อมไหลผ่านหัวใจของชาวเชียงรายทุกคนเช่นกัน

เช้าตรู่ เชียงรายหายใจรวยรินออกมาเป็นลมหนาวและหมอกเหมยจางๆ ดูอ่อนโยนแต่จับต้องไม่ได้ จังหวะชีวิตของผู้คนเริ่มเคลื่อนไหวไปตามวิถีที่เคยเป็นมา 24 ชั่วโมงของที่นี่ยาวนานกว่าเมืองใหญ่ สำหรับผู้มาเยือนอย่างเรา เหมือนกับว่าความเร่งรีบร้อนรนจะเป็นสิ่งแปลกหน้ากับที่แห่งนี้

เดินเอื่อยๆ ดูความเคลื่อนไหวของเชียงรายรอคอยเวลานัดหมาย แม้ไม่ใช่ครั้งแรกในเชียงราย แต่นี่คงเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ทำความรู้จัก ‘หัวใจเชียงราย’ อย่างจริงจัง

“แม่น้ำกกเป็นแม่น้ำที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนเชียงราย” ภูริณ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (สชล. หรือ Association for Community and Ecology Development: ACED/ม่อนแสงดาว) บอกกับเรา

สิทธารถะสะสมคำถามมายาวนาน เขาพยายามค้นหาคำตอบ แต่ไม่เจอ จนเมื่อเขาเดินทางมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง แม่น้ำก็ได้ให้คำตอบแก่เขา เราจึงคิดฝันทีเล่นทีจริงกับแม่น้ำกก กับเชียงราย และกับตัวเองว่า หากแม่น้ำกกคือหัวใจเชียงราย หัวใจดวงนี้ยังแข็งแรงอยู่หรือเปล่า หรืออ่อนล้ากับการหล่อเลี้ยงแผ่นดินผืนนี้แล้ว และถ้าวันหนึ่งสายน้ำหัวใจหยุดเต้น เชียงรายจะไร้ชีวิตหรือเปล่า

ณ ขณะนี้เรายังมองไม่เห็นแม่น้ำกก เชียงรายยังนิ่งเงียบงันไม่ตอบคำถาม และเราก็เป็นเพียงผู้มาเยือนที่ไร้คำตอบ

1

ดินแดนห่างไกล ที่ที่ทิวเทือกเขาเรียงรายสลับซับซ้อนทางตอนเหนือของเมืองกก รัฐเชียงตุง ประเทศพม่า แม่น้ำกกตั้งต้นการเดินทางที่นั่น ไหลผ่านผืนป่า ผืนดิน ชีวิต เรื่องราว และไหลข้ามสิ่งสมมติของมนุษย์ที่เรียกว่าพรมแดนจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทย ที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ไหลสู่เชียงรายผ่านอำเภอเมือง อำเภอเวียงชัย อำเภอดอยหลวง และไปสมทบกับแม่น้ำโขง – หนึ่งในนิ้วมือแม่ทั้งห้าแห่งเอเชียงตะวันออกเฉียงใต้ – ที่อำเภอเชียงแสน

ในห้องประชุม ชาวเชียงรายจำนวนหนึ่งมีทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ข้าราชการ นักพัฒนาเอกชน และประชาชนที่เป็นห่วงบ่วงใยต่อสุขภาพของแม่น้ำกก กำลังพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อร่วมกันหาหนทางรักษาเยียวยาแม่น้ำกกไม่ให้ทรุดโทรมลงไปกว่าที่เป็นอยู่

มีการศึกษาคุณภาพน้ำ สร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับแม่น้ำกก สร้างเครือข่ายเยาวชนด้วยการใช้แม่น้ำกกเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เป็นบทเรียนวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นที่จะช่วยเกาะเกี่ยวรากชีวิตของพวกเขากับสายน้ำ รวมถึงความพยายามที่จะก่อตั้ง กองทุนอนุรักษ์แม่น้ำกก (Save Maekok Fund)

เรานั่งฟังและนึกถึงแม่น้ำเจ้าพระยา...แม่น้ำเจ้าพระยาคงเหงา

คำตอบของคำถามที่เราตั้งไว้แต่ต้นค่อยๆ เปิดเผยออกมาจากวงสนทนา - จากการติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำของแม่น้ำกก ในปี 2549 (ระหว่างเดือนกันยายน 2548 – สิงหาคม 2549) มีจุดเก็บตัวอย่าง 7 จุด โดยการประเมินคุณภาพน้ำจะพิจารณาตามเกณฑ์ดัชนีคุณภาพน้ำทั่วไป พบว่า น้ำในแม่น้ำกกจะมีคุณภาพพอใช้ถึงเสื่อมโทรมในช่วงฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน – มกราคม) มีคุณภาพดีถึงพอใช้ในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม – มิถุนายน) และมีคุณภาพเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากในฤดูฝน (สิงหาคม – กันยายน)

สาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงในฤดูหนาวและฤดูร้อนคือการปนเปื้อนของโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟอสฟอรัส อันเกิดจากการปล่อยของเสียจากการชะล้างสิ่งปฏิกูลหรือน้ำทิ้งจากชุมชน ส่วนในฤดูฝนก็จะมีปัญหาเรื่องตะกอนซ้ำเติม แม่น้ำกกในฤดูฝนจึงขุ่นข้นเป็นสีน้ำตาล

2

จากที่ประชุม เราขึ้นรถไปอีกไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงท่าเรือ ในที่สุดเราก็ได้ทักทายแม่น้ำกก ขวยเขินต่อกันบ้างตามประสาคนแปลกหน้าที่เพิ่งพบเจอ แต่คงไม่ใช่อุปสรรคที่จะสร้างความคุ้นเคย

ลงเรือกันเสร็จสรรพ เครื่องยนต์เริ่มหวีดร้องส่งพลังงานให้เรือแล่นเลาะไปตามหางเสือของนายท้าย ประนอม เชิมชัยภูมิ รองผู้อำนวยการ ACED/ม่อนแสงดาว บอกว่ากำลังจะพาไปชมทัศนียภาพสองฝั่งลำน้ำกกจนถึงจุดที่มีการสร้างฝาย ซึ่งชาวเชียงรายถนัดที่จะเรียกเขื่อนมากกว่า เขื่อนนี้ผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่ต่างอะไรกับเขื่อนปากมูนตรงที่ฝูงปลาหนีหายไปจากแม่น้ำ

มวลอากาศรอบตัวชุ่มชื่นเหมือนริมฝีปากของหญิงสาว ละอองน้ำแตกแถวออกจากลำน้ำใหญ่เมื่อเรือวิ่งผ่าน สองฝั่งเรือแม่น้ำกกส่วนอื่นยังไหลเป็นปกติไม่สะทกสะเทือน ลมแม่น้ำเย็นๆ บีบนวดไปตามหน้าตาเนื้อตัวชวนให้หลับ เรานั่งเหม่อมองแผ่นน้ำสะท้อนแดดและเงาของบ้านเรือน ต้นไม้ ฯลฯ เป็นอารมณ์ที่ก้ำกึ่งกันระหว่างความสุขสงบแบบเหงาๆ กับความเศร้าที่นุ่มนวล เราหายสงสัยแล้วว่า เหตุใดศาสดาและผู้รู้หลายท่านจึงค้นพบสัจจะธรรมได้จากสายน้ำ กล่าวอย่างไม่ต้องเสแสร้งแต่น่าหมั่นไส้ คุณจะพบว่าตัวเองสามารถครุ่นคิดและตั้งคำถามต่อชีวิตเปราะบางได้มากมาย และสายน้ำจะเชิญชวนให้คุณค้นหาคำตอบ เหมือนเช่นที่เราตอนนี้กำลังเป็น ยามเมื่ออยู่กลางแม่น้ำ

สมาคมวิศวกรรมระหว่างประเทศเคยจันอันดับให้ทรายในแม่น้ำกกเป็นทรายที่มีคุณภาพดีติดอันดับท็อปไฟว์ของโลก ริมตลิ่งสองฝั่ง เราจึงได้เห็นการดูดทรายเป็นระยะๆ แต่ธุรกิจดูดทรายก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าการพังทลายของตลิ่งอันเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ ภูริณบอกว่า

“ถ้าเทียบกับแม่ปิงแล้วแม่น้ำกกดีกว่า แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในขั้นพอใช้กับต่ำแต่ปัญหาที่ค่อนข้างวิกฤตในขณะนี้คือเรื่องตลิ่งพัง ที่เกิดจากสายน้ำเปลี่ยนทิศทางซึ่งเป็นผลจากการดูดทราย การรุกล้ำพื้นที่ชายฝั่งเพื่อทำการเกษตร และการถมพื้นที่รุกเข้าไปในลำน้ำ เมื่อตลิ่งพัง พืชต่างๆ อย่างต้นไคร้ ต้นมะเดื่อที่เคยยึดตลิ่งก็ตายไปด้วย ทั้งยังโดนกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรอีก ปัญหาของเราก็คือมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัดสารเคมีจากการเกษตร เราจึงไม่รู้ว่าสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในแม่น้ำกกมีปริมาณเท่าไหร่”

จากเอกสารของม่อนแสงดาวระบุไว้ว่า ‘ลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ลุ่มน้ำกกส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันตั้งแต่ 400 – 2,000 เมตร ร้อยละประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของลุ่มน้ำกกปกคลุมด้วยป่าไม้ที่มีความหลายหลายทางชีวภาพสูง อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ โดยมีพื้นที่เชิงเขากระจายอยู่ระหว่างหุบเขารูปร่างยาวรีทอดตัวในแนวเหนือใต้ โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มน้ำแม่กกตอนล่าง ตลอดพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำกกจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มที่เกิดจากการทับถมของตะกอนดินและผลของน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ด้วยภูมิประเทศที่ดีดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พื้นที่ราบลุ่มน้ำกกตลอดสองฝั่งและหุบเขาเป็นที่ตั้งของชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ลาหู่ ปกากญอ อาข่า ม้ง เมี่ยน ไทใหญ่ ไทเขิน ไทยวน เป็นต้น และเป็นที่เกษตรกรรมของชุมชนท้องถิ่นชนเผ่าต่างๆ มายาวนาน’

ความอุดมสมบูรณ์อันเป็นต้นทุนที่ธรรมชาติมอบไว้ให้เย้ายวนให้กลุ่มนายทุนเข้าไปบุกเบิกพื้นที่การเกษตร เช่น สวนส้ม ไร่ข้าวโพด ไร่ขิง ซึ่งเป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมีปริมาณมาก ทั้งหมดทั้งมวลก็ไปรวมกันในแม่น้ำ และด้วยทัศนียภาพที่สวยงามก็ยังเกิดการบุกรุกและถมพื้นที่ริมน้ำเพื่อสร้างสถานตากอากาศ แม่น้ำที่เคยกว้างขวางกลับคับแคบและเจ็บป่วย

3

เย็นย่ำ เรานั่งรถไปสู่ที่พักพิงโดยมีประนอมเป็นคนขับ โดยมี รจเรข วัฒนพาณิชย์ และ ลักขณา ศรีหงส์ จากชุมชนคนรักป่า และ อัคนี มูลเมฆ นั่งไปด้วย ระหว่างทางแวะซื้อกับข้าวกับปลาเข้าไปหุงปรุง

ค่ำคืน ประนอมพาเรามาถึงจุดหมาย ‘ม่อนแสงดาว’ เนินเขาเล็กๆ โอบล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้า ระหว่างที่รอคอยอาหารด้วยร่างกายที่อ่อนเพลียและท้องที่หิวโหย เราก็จัดแจงปูเสื่อบนสนามหญ้า ...สมกับชื่อม่อนแสงดาว บนท้องฟ้าฝูงดาวจูงมือพรรคพวกออกมาเต้นรำสว่างไสว อากาศเย็นแต่ดาวก็อุ่นเพียงพอ มื้อนั้นพวกเราอาศัยข้าวเหนียว น้ำพริก หมูย่าง แกง ปลาเผาเกลือ ฆ่าฟันความหิวจนสิ้นซาก จากนั้นก็นัดหมายการเดินทางในวันพรุ่งและแยกย้ายกันไปพักผ่อน ในความง่วงเหงาหาวนอนเสียงเพลงและเสียงกีตาร์ของอัคนี มูลเมฆ ยังแว่วไหวเหมือนลอยมาจากแสนไกล

รุ่งเช้า ประนอมขับรถฝ่ากำแพงหมอกกลับไปยังท่าเรืออีกครั้ง วันนี้เราจะล่องเรือไปเยี่ยมเยือนชุมชนริมฝั่งแม่น้ำกกที่ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำของชีวิต

เราล่องเรือไปคนละทางกับเมื่อวาน เป็นการเดินทางที่ยาวนานกว่า ได้เห็นแม่น้ำกกในอิริยาบทที่แตกต่าง เมื่อเรือพาเรามาไกลขึ้น สองฝั่งตลิ่งก็มีหมู่ไม้แน่นหนามากขึ้นๆ คำถามที่เรามีต่อหัวใจเชียงรายและต่อชีวิตผุดขึ้นมารบกวนอีกหนหนึ่ง

เราแวะที่บ้านกระเหรี่ยงรวมมิตร ตำบลแม่ยาว ที่นี่มีชนพื้นเมืองหลากหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งคนไทย กระเหรี่ยง อาข่า ลาหู่ ม้ง และไทลื้อ ธุรกิจหลักอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่นี่คือธุรกิจบริการช้างสำหรับนักท่องเที่ยวขี่ชมชุมชน

แต่มูลช้างกลับปัญหาใหญ่ที่ตามมา เมื่อชาวบ้านไม่สามารถจัดการกับมูลช้างจำนวนมากได้ ก็เข้าอีหรอบเดิมทั้งหมดทั้งมวลก็ไปรวมกันในแม่น้ำ แต่ปัญหานี้กลายเป็นอดีตไปแล้ว

เมื่อเหล่าเด็กหัวใสชั้น ป.6 ของโรงเรียนบ้านรวมมิตร ออกความคิดเก๋ไก๋ ‘โครงงานการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลช้าง’ ถ้าใครไปแถวนั้นแล้วบังเอิญเห็นเด็กนักเรียนกำลังช่วยกันเก็บมูลช้างก็ไม่ต้องแปลกใจ ทุกวันนี้ไฟฟ้าและแก๊สหุงต้มสำหรับทำอาหารกลางวันคือผลผลิตจากโครงการดังกล่าว และจะขยับขยายโครงการลงไปในชุมชนในเร็วๆ นี้

จากบ้านกระเหรี่ยงรวมมิตร เราล่องเรือต่อไปที่บ้านแคววัวดำเพื่อพักรับประทานอาหาร นอกจากจะทำอาหารอร่อยแล้ว ชาวบ้านแคววัวดำยังมีกำหนดเขตป่าชุมชนของตน ตั้งกฎเกณฑ์ในการอนุรักษ์และหาปลา ภูริณเล่าว่าชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำกกจะสร้างป่าชุมชนกันทุกชุมชน เนื่องจากความเสื่อมโทรมของแม่น้ำกกไม่ได้เกิดจากแค่การดูดทราย การบุกรุกแม่น้ำ หรือการใช้สารเคมีเท่านั้น แต่การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำก็เป็นอีกสาเหตุใหญ่ทำก่อให้เกิดการพังทลายของหน้าดินและปัญหาเรื่องตะกอนในแม่น้ำกก

“ผมมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบจนตอนนี้ 55 แล้ว แม่น้ำมันเปลี่ยนไปเยอะ ตอนเป็นเด็กแม่น้ำมีปลาเยอะ เวลาออกไปหาไม่ต้องใช้เวลามากแค่ชั่วโมงเดียวก็กินไม่หมดแล้ว พอมาช่วงหลังๆ ปลามันหายากขึ้นเพราะคนจับมากขึ้น เป็นคนในเมืองเอาระเบิด เอาไฟมาช็อตปลา ใช้ยาเบื่อก็มี ปลาเล็กปลาใหญ่ก็ตายหมด แล้วยิ่งมาสร้างเขื่อนทีนี้ปลาก็ขึ้นมาไม่ได้ เดี๋ยวนี้หาสามสี่ชั่วโมงได้ปลาแค่ตัวเดียว”

ประพันธ์ อาเมาะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแคววัวดำ ฝ่ายรักษาความสงบ บอกเล่าชีวิตของแม่น้ำผ่านช่วงเวลา 50 ปีของชีวิตเขาว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย ผลักดันให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันดังที่กล่าวมา เพื่อยับยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำกกซึ่งหมายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตของพวกเขา

4

ไม่ใช่เพียงความเสื่อมโทรมของแม่น้ำกกที่เป็นปัญหา แต่ความขัดแย้งของคนร่วมสายน้ำระหว่างคนเมืองกับคนชนบทก็กำลังรอวันปะทุหากไม่รีบทำความเข้าใจ ประนอมบอกว่า

“คนในเมืองใช้ประโยชน์จากน้ำกกด้วยการเอาไปใช้เป็นน้ำประปา แต่คุณภาพมันแย่ลง คนในเมืองก็เริ่มเดือดร้อน ในทางความคิดคนเมืองจะรู้สึกว่าชาวบ้านในชนบท ชาวบ้านที่การเกษตรเป็นคนที่ทำให้น้ำกกมันแย่ลง นี่คือสายตาของคนเมือง เช่นเดียวกัน คนชนบทก็มองว่าเขาไม่รับความเป็นธรรมในการแบ่งปันการใช้น้ำเท่ากับคนในเมือง ตั้งแต่เขื่อนมาตั้งในปี 2536 ก็เกิดความรู้สึกในใจชาวชนบทเลยว่านี่แหละคือคนในเมืองที่เอาน้ำของเขาไปทำน้ำประปา แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการปะทะกัน ขณะเดียวกันคนเมืองก็ปล่อยน้ำใช้ในครัวเรือนลงน้ำกกด้วยซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำกกลดลง

“เราจึงต้องทำให้เกิดเครือข่ายของคนเมืองให้ได้ โดยเฉพาะเครือข่ายชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มองชาวบ้านในชนบทเป็นจำเลยเสมอ เครือข่ายนี้จะทำให้หน้าที่เชื่อมคนเมืองกับคนชนบทเข้าด้วยกัน และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังน้ำกกอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะถ้าเรายังไม่สร้างความเข้าใจกันระหว่างสองฝ่าย สงครามการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรน้ำจะเกิดขึ้น ยิ่งถ้ารัฐบาลออกกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติออกมาจะเปิดให้มีการผูกขาดน้ำ สัมปทานน้ำได้ ตัวนี้จะเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำ”

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกพื้นที่ที่คนเชียงรายไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า หากเกิดปัญหาที่ต้นน้ำคนปลายน้ำก็เลี่ยงผลกระทบไม่พ้น แต่ก็นั่นแหละ เมื่อมนุษย์ขีดพรมแดนให้แม่น้ำ เราก็ทำได้แค่ฝากอนาคตแม่น้ำกกไว้กับชะตากรรม

อีกประการหนึ่ง แม่น้ำกกเป็นสาขาของแม่น้ำโขงเชื่อมโยงเป็นน้ำเดียวกัน ยามนี้น้ำโขงป่วยไข้จากการสร้างเขื่อนและระเบิดแก่งในประเทศจีน ระบบนิเวศแม่น้ำปรวนแปร โขง – อิง – กก กำลังสับสนต่อธรรมชาติของตัวเอง ปลาในแม่น้ำโขงกับแม่น้ำกกเป็นสายพันธุ์เดียวกัน เล่ากันว่าทุกวันนี้ปลาในแม่น้ำกกน้อยลงเพราะปลาในแม่น้ำโขงหายไป ไม่ว่ายเข้ามาวางไข่เหมือนแต่ก่อน ภูริณบอกว่า

“ปริมาณปลาก็ลดลงอย่างหนึ่งคือปัญหาเรื่องเขื่อน อีกเหตุหนึ่งคือการพังทลายของตลิ่ง เพราะปลาน้ำจืดจะหากินตามตลิ่ง และตลิ่งที่ปลาจะสามารถหากินได้ตลิ่งตรงนั้นต้องมีต้นไม้ให้ปลาได้มาหลบภัย หากิน วางไข่ ตอนนี้มีแต่ดินปลาก็เลยหายไป”

“ระบบนิเวศที่นี่เป็นระบบเดียวกับแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนย่อมทำให้การไหลของน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติไป ถ้าจะกระทบก็จะกระทบกับระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำ อย่างพันธุ์ปลาที่อยู่ในแม่น้ำกกก็คือปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนทำให้ปลาที่จะมาวางไข่หายไป ส่วนในแม่น้ำกกที่มีฝายไปกั้นนั่นก็ทำให้ปริมาณปลาบริเวณใต้เขื่อนมีมากกว่าเหนือเขื่อน เนื่องจากมันไม่สามารถว่ายขึ้นมาวางไข่ได้”

ธรรมชาติมีสายใยเชื่อมร้อยที่มนุษย์มักมองข้าม

5

เรือพาเรากลับไปยังจุดเริ่มต้น ภาพสองฝั่งน้ำกลับมาฉายซ้ำอีกรอบ ชีวิตและสายน้ำเหมือนกันตรงที่ไม่ไหลย้อนกลับ และเราคงกลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้

รูปเงาของคำถามสะท้อนขึ้นมาจากสายน้ำกก คำตอบยังเลือนรางไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับที่ยังหาคำตอบให้กับชีวิตไม่เจอ แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึก... แม่น้ำเดินทางไปตามเรี่ยวแรงธรรมชาติ เรียบง่ายแต่ก็สง่างาม มนุษย์เดินทางไปตามเรี่ยวแรงทะเยอทะยาน อาจเปี่ยมพลังแต่ก็ไม่มั่นใจต่อจุดหมายปลายทาง หรือสุดท้ายจะมีแค่ความตายที่รอต้อนรับ ณ ปลายน้ำของชีวิต

เรากำลังกล่าวคำอำลาแม่น้ำกก ลมแม่น้ำโบกมือลา เสียงน้ำบอกให้เราค้นหาคำตอบต่อไป ต้องใช้เวลานานขนาดไหน? ชั่วชีวิตหรือ?

ในประโยคสุดท้ายของการสนทนาประนอมบอกว่า “แม่น้ำกกถือเป็นจิตวิญญาณ เป็นสายเลือดของชาวเชียงราย” เราเชื่อเช่นนั้น

ทิ้งแม่น้ำกกไว้เบื้องหลัง การเดินทางยังดำเนินต่อไป แม่น้ำโขง - เครือญาติใกล้ชิดของแม่น้ำกกรอเราอยู่ บางทีคำตอบอาจอยู่ที่นั่น

โปรดติดตามตอนต่อไป...

เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล








กำลังโหลดความคิดเห็น