xs
xsm
sm
md
lg

ปากั้วจ่าง-ฝ่ามือแปดทิศ ดนตรีแจ๊สแห่งศิลปะการต่อสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'พลิ้วไหวและนุ่มนวลเหมือนเริงระบำ มากมายอิสระและจินตนาการที่จะปรับเปลี่ยน ดัดแปลง เพิ่มเติม ประดิษฐ์คิดค้นได้ตามความสร้างสรรค์เหมือนดนตรีแจ็ซ แฝงเร้นปรัชญาเต๋าไว้อย่างลุ่มลึกชวนค้นหา' หากนี่คือคำนิยามของอะไรสักสิ่ง คุณคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร???

สังคมไทยรู้จักไท่จี๋ (Tai Ji) หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อของไท่เก๊ก กันอย่างแพร่หลายมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี จากการพบเห็นอากง อาม่า ร่ายรำเชื่องช้าตามสวนสาธารณะ ไปจนถึงการรับรู้จากนวนิยาย-ภาพยนตร์จีนกำลังภายใน ผ่านไปเนิ่นนานความเข้าใจเกี่ยวกับไท่เก็กในเมืองไทยก็เป็นไปในทำนองของศิลปะเพื่อสุขภาพ หรือศิลปะการต่อสู้ที่ใช้อ่อนพิชิตแข็งและฝึกแสนยากเย็น ไท่เก็กจึงถูกจัดเป็นมวยภายใน หรือ Internal Style (เป็นมวยที่เน้นการฝึกจิต สมาธิ ปราณหรือการหายใจ และไม่เน้นการใช้พละกำลังที่รุนแรง) 1 ใน 3 วิชาที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน

ถ้าอย่างนั้นอีก 2 วิชาที่เหลือมันเป็นมวยประเภทไหนกันนะ

'ปริทรรศน์' ขอพาคุณไปรู้จักกับมวยภายในอีกวิชาหนึ่งที่ถูกจัดชั้นอยู่ในระดับเดียวกับไท่จี๋ ทั้งในเชิงสุขภาพและเชิงศิลปะการต่อสู้ พลิ้วไหวนุ่มนวล มากมายจินตนาการ และลุ่มลึกคมคาย

ฝ่ามือแปดทิศ หรือ ปากั้วจ่าง (Ba Gua Zhang)

ปากั้วจ่าง ศิลปะที่สอนให้รู้จักเปลี่ยนแปลง

'ปากั้วจ่าง' (Ba Gua Zhang) หากแปลความหมายตามตัวอักษรจะมีความหมายว่า 'ฝ่ามือแปดทิศ' ตามประวัติศาสตร์ที่มีการบอกเล่ากันมากล่าวว่า ถูกคิดค้นโดยตง ไห่ ชวน หัวหน้าองครักษ์ในพระราชสำนักของราชวงศ์แมนจูหรือราชวงศ์ชิงของจีน แน่นอนว่าด้วยฝีไม้ลายมือระดับหัวหน้าองครักษ์ย่อมต้องไม่ใช่ธรรมดา แต่แล้ววันหนึ่งขณะกำลังเดินทางอยู่ ณ ภูเขาจิ่วหลงซาน ตง ไห่ ชวน ได้พบกับนักพรตน้อยรูปหนึ่งกำลังเดินจงกลมด้วยท่าทางแปลกๆ จึงเข้าไปสนทนาด้วย คุยไปคุยมาก็เกิดการลองของกันขึ้น ผลก็คือนักพรตน้อยใช้การเดินวงกลมที่ตนเองเดินอยู่ทุกวันหลบหลีกตง ไห่ ชวนได้ตลอด

ฝ่ายหัวหน้าองครักษ์จึงตระหนักว่าเจอของจริงเข้าให้แล้ว จึงขอให้นักพรตน้อยช่วยถ่ายทอดวิชา นักพรตน้อยปฏิเสธแต่ก็ได้พาตง ไห่ ชวนไปพบกับอาจารย์ของตน ตง ไห่ ชวนจึงได้นำเคล็ดวิชาที่ได้รับจากนักพรตบนภูเขาจิ่วหลงซานมาผสมผสานเข้ากับวิชาดั้งเดิมของตน และบัญญัติขึ้นเป็นวิชามวย

ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ก่อตั้งศูนย์บูรณาการศาสตร์และภูมิปัญญาโบราณ ผู้สนใจในศิลปะการต่อสู้ของจีนกล่าวถึงศิลปะแขนงนี้ว่า

"ปากั้วจ่างคือมวยเต๋า เป็นมรดกของชาวจีนแท้ๆ ในบรรดามวยเต๋าแท้ก็จะมีไท่จี๋กับปากั้ว แต่ถ้าถามผมว่าไท่จี๋กับปากั้ว มวยไหนสะท้อนความเป็นอี้จิงหรือความเปลี่ยนแปลงมากกว่ากัน ผมก็ต้องบอกว่าปากั้ว เพราะปากั้วว่าด้วยเรื่องความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งในความเห็นของผมปากั้วคือมวยบู๊ตึ๊ง เพียงแต่ในทางประวัติศาสตร์อาจจะไม่ยอมรับ เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่ากำเนิดของปากั้ว กำเนิดของไท่จี๋มาจากไหน แต่ถ้าโดยหลักทฤษฎีแล้วปากั้วเป็นมวยสายบู๊ตึ๊ง สายเต๋า สายนักพรต และมวยพวกนี้จะสมบูรณ์ได้ก็เมื่อเกิดการบูรณาการ บูรณาการมวยไท้เก๊ก มวยปากั้ว มวยสิ่งอี้เข้าด้วยกัน" (มวยสิ่งอี้เป็นมวยภายในอีกแขนงหนึ่ง)

ดร.สุวินัย เชื่อว่าแม้ประวัติศาสตร์ของศิลปะแขนงนี้จะย้อนกลับไปไม่ไกล แต่ถ้ามองในเชิงเค้าโครงของวิชาสายนักพรตของจีนซึ่งเกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรและแนวคิดแบบเต๋า ก็อาจสันนิษฐานได้ว่ามีอายุประมาณ 3-5 พันปี

"มวยสายเต๋าแตกต่างจากมวยสายอื่นตรงที่เกี่ยวข้องกับหยิน-หยาง ถ้าสมัยนี้เรียกว่าเป็นมวยดิจิตอล แต่มวยอื่นโดยส่วนใหญ่จะเป็นอนาล็อก คือมีแพตเทิร์นอันหนึ่งมา รุก-รับชัดเจน มาอย่างนี้ รับอย่างนี้ แต่ดิจิตอลมันมีแค่ศูนย์หนึ่ง หนึ่งศูนย์แล้วใช้หลักการแปรเปลี่ยนสร้างทุกอย่างขึ้นมา"

ไม่เพียงแต่ความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น ปากั้วจ่างยังมีความหมายแฝงในเชิงปรัชญาและรูปลักษณ์ของตัวศิลปะเองอีกด้วย พูนศักดิ์ ธนพันธ์พาณิช สมาชิกชมรมกายบริหารปากั้วจ่างแห่งประเทศไทย เขาฝึกศิลปะชนิดนี้มา 7 ปี อธิบายว่า ปากั้วจ่างถ้าแปลตามความหมายเชิงปรัชญาจะแปลว่า ความเปลี่ยนแปลง

"ปากั้วเป็นศิลปะที่สอนให้เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขที่เข้ามาปะทะเรา หมายความว่าเวลาที่เราเผชิญกับอะไรสักอย่าง เราไม่สอนให้เข้าไปควบคุมสิ่งนั้น แต่เราฝึกให้คุณเคยชินที่จะเข้ารวมกับมัน เอาประโยชน์จากเงื่อนไขตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ให้มันสอดคล้องกับผลพลอยได้ของเรา ทีนี้การแสดงออกปากั้วจึงเหมือนเป็นมวยรับ ตั้งรับ ไม่มุ่งเน้นให้คุณไปต่อยตีกับคนอื่น แต่หมายความว่าให้ยอมรับในสิ่งที่เขามอบให้ และแปรเปลี่ยนให้เป็นโอกาสของเรา"

จากจีนสู่ไทย

ปากั้วจ่างค่อนข้างจะเป็นวิชาที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทย บวกกับความที่มีคนสนใจและฝึกซ้อมกันอยู่ในวงจำกัดจึงทำให้วิชาแขนงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ดร.สุวินัย กล่าวว่า

"ต้องเข้าใจว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่มาอยู่ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นมวยใต้ เป็นคนจีนใต้ แต่มวยที่เป็นเหนือแท้ๆ มันกลายเป็นวูซู (ปากั้วเป็นมวยเหนือ) และการที่มีคนรู้จักมวยปากั้วน้อยก็เพราะความรับรู้ของคนจีนโพ้นทะเลซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนแถบภาคใต้ของจีนมีจำกัด ดังนั้น เมื่อมวยเหนือแปรเปลี่ยนไปในทางวูซูก็เลยเป็นเหมือนวิชาพละ เรื่องของปรัชญา รหัสนัยจึงหายไป"

ส่วนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำปากั้วจ่างเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นยุคแรกอาจารย์ หลี่ เว่ย ตง เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวกันว่าอาจารย์ หลี่ เว่ย ตง ผู้นี้เป็นเหลนศิษย์ของตง ไห่ ชวน เขาเริ่มฝึกมวยจีนตั้งแต่อายุ 11 ปีโดยเริ่มจากมวยมี่จงก่อน แล้วจึงขยับขยายมาเรียนปากั้วจ่าง ปัจจุบันเขาอายุ 55 ปี หากแต่หน้าตาและการเคลื่อนไหวร่างกายยังคงพลิ้วไหวดูอ่อนเยาว์กว่าอายุจริง อาจารย์หลี่ เว่ย ตงจะเดินทางมาสอนที่สวนลุมพินีในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี

เนื่องจากปากั้วจ่างเผยแพร่และแตกแขนงออกไปหลายสาย ซึ่งแต่ละสายก็มีลักษณะเด่นเฉพาะของตนเอง โดยปากั้วจ่างที่อาจารย์หลี่ เว่ย ตง สอนเรียกว่าสายเหลียง อาจารย์หลี่ เว่ย ตง อธิบายว่า

"อาจารย์ทวดตง ไห่ ชวน รับศิษย์ 8 คน ซึ่งทั้ง 8 คนต่างก็เรียนมวยมาก่อน อาจารย์ทวดจึงเอาปากั้วเสริมเข้าไปให้ในมวยเดิม เป็นเหตุให้มวยปากั้วของทั้ง 8 คนไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนจะมีแก่นของปากั้วผสมผสานอยู่ในมวยเดิมของแต่ละคน ส่วนจุดเด่นของสายเหลียงคือเป็นสายที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากอาจารย์ทวดตง ไห่ ชวนมากที่สุด"

ในเมืองไทยขณะนี้สถานที่ที่เปิดสอนปากั้วจ่างอย่างเป็นทางการน่าจะมีอยู่ 2 แห่งคือที่ศูนย์บูรณาการศาสตร์และภูมิปัญญาโบราณ และที่สวนลุมฯ เท่านั้น

แจ๊สแห่งศิลปะการต่อสู้

ตอนนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่าศิลปะการต่อสู้แขนงนี้มีรูปร่างหน้าตายังไง ก็มีคำแนะนำว่าให้ลองหาภาพยนตร์ของเจ็ท ลี เรื่อง 'The One' มาชม เรื่องนี้เจ็ท ลี เล่นเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย แต่เจ็ท ลีที่เป็นพระเอกจะใช้ปากั้วจ่างในการต่อสู้

รายละเอียดการฝึกซ้อมของทั้ง 2 แห่งมีข้อแตกต่างกันไปตามแต่ละสาย และตัวศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้เองก็มีวิธีการฝึกค่อนข้างแตกต่างจากศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นๆ อยู่มาก เนื่องจากสิ่งแรกที่คุณต้องฝึกไม่ใช่การออกหมัด ออกเท้า แต่ผู้ฝึกจะต้องหัดเดินช้าๆ เป็นวงกลมด้วยลักษณะท่าทางเฉพาะของปากั้วจ่าง มีชื่อเรียกว่า 'แปดฝ่ามือเล็ก' เพื่อเป็นการปรับเตรียมเส้นสายต่างๆ ในร่างกายให้เกิดการผ่อนคลายสำหรับการฝึกในระดับต่อไป ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความอดทนสูงพอสมควร เนื่องจากไม่มีการฝึกที่โฉ่งฉ่าง ขึงขังเหมือนศิลปะการต่อสู้ประเภทอื่น พูนศักดิ์อธิบายว่า

"ปากั้วเป็นมวยที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย แขน ขา ทั้งบิด ยืด หมุน ในลักษณะที่อาจจะขัดกับสรีระปกติ ดังนั้น ขั้นต้นของการฝึกจึงจำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมเสียก่อน"

ผู้ที่ฝึกมาในระดับหนึ่ง ยามที่รำปากั้วจ่างจึงดูเหมือนร่างกายอ่อนนุ่มไปทั้งตัว คล้ายการเต้นรำที่อ่อนช้อยมากกว่าเรื่องหมัดมวย

ด้านอาจารย์สุวินัย กล่าวว่า

"ในเรื่องของการเคลื่อนไหว ไท่จี๋จะฝึกความช้าอย่างต่อเนื่อง แต่ปากั้วจะมีช้า มีเร็ว ทั้งที่ฝึกความอ่อนเหมือนกัน เรื่องการฝึกสะสมลมปราณ ไท่จี๋จะฝึกท่ายืนเป็นหลัก แต่ปากั้วจะฝึกการเดินวงกลมเป็นหลัก แต่กระบวนการของทั้ง 2 มวยจะเป็นการฝึกพลังรังไหมหรือฉันซือจิ้งเหมือนกัน ไท่จี๋ถือเป็นการฝึกฉันซือจิ้งแบบสองขา แต่ปากั้วจะฝึกแบบขาเดียว และถ้าจะเปรียบเทียบทั้ง 2 มวยนี้ ในเรื่องการสร้างแหล่งพลังหรือการพัฒนาจักรแบบโยคะ ในมวยปากัวจะมีความสมบูรณ์กว่าไท้เก๊ก เพราะกระบวนการของการฝึกจักรคือการฝึกหมุนซึ่งวิชาปากัวจะสร้างวงกลมเยอะกว่าโดยระบบของตัวมันเอง"

จุมพล วรรณโชติ ผู้ฝึกสอนของศูนย์บูรณการศาสตร์ฯ กล่าวถึงการฝึกว่า

"โดยปกติแล้ว เริ่มต้นเราจะแสดงให้ผู้ฝึกดูก่อน หลังจากนั้นนักเรียนแต่ละคนจะมีจุดที่ต้องแก้ไขไม่เหมือนกัน เราก็จะต้องค่อยๆ ชี้บอกเขาไปซึ่งก็ไม่ยาก เพราะการเคลื่อนไหวในปากัวก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวทางกลศาสตร์ ทางกายภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องฝึกให้เกิดความชำนาญ"

เล่ากันว่าต้องใช้จ่ายเวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อแปดฝ่ามือเล็ก (แต่ในยุคนี้คงไม่ต้องลงทุนขนาดนั้น) ขั้นต่อมาคือ 'แปดฝ่ามือใหญ่' เป็นกระบวนการฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ ของปากั้วจ่าง ฝึก 64 ฝ่ามือ ดาบ พลอง กระบี่ ฯลฯ และเมื่อผู้เรียนฝึกไปถึงจุดหนึ่งที่ผู้สอนเห็นว่า ผู้เรียนมีทักษะเพียงพอก็อาจจะมีการทดสอบที่เรียกว่า 'เก้าวิหาร' สิ่งที่น่าสนใจของการทดสอบเก้าวิหาร พูนศักดิ์เล่าว่าแม้การรำมวยแบบเก้าวิหารจะมีรูปแบบของตัวเองอยู่ แต่ถ้าคุณจำไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดรำ เพียงแค่นำกระบวนท่าที่คุณมีอยู่นำออกมาใช้ให้เป็นปากั้วจ่างของคุณ

"หยุดแปลว่ารำผิด แต่ถ้ารำต่อไปเรื่อยๆ... ไม่ถือว่าผิด"

จุดนี้เป็นจุดเด่นประการหนึ่งของปากั้วจ่าง ที่แม้จะมีโครงสร้างของตัววิชาอยู่ แต่ก็เปิดอิสระและเสรีภาพทางความคิดให้แก่ผู้ฝึกได้ใช้จิตนาการของตนในการร่ายรำสร้างสรรค์ท่วงท่า เปรียบเหมือนนักดนตรีแจ๊ซด้นสด หรือ Improvise เสียงดนตรีของตน

ส่วนลักษณะการต่อสู้ของปากั้วจ่างมีการเปรียบเทียบเป็นลูกตะกร้อ ในทำนองว่าคงรูปแบบการโจมตีของอีกฝ่ายเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผู้ใช้ปากั้วจ่างจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลง หมัด เท้าที่พุ่งเข้ามาก็จะทะลุเข้าไปในลูกตะกร้อและจะถูกจัดการอยู่ภายใน

ฟังดูเป็นเรื่องยุ่งยากและเปล่าเปลืองเวลามากโขทีเดียวกว่าจะเข้าใจศิลปะแขนงนี้ …ก็อาจจะจริง ถ้าคุณผู้อ่านคิดจะฝึกเพื่อเป็นยอดฝีมือ แต่ยุคสมัยที่ปืนมีประสิทธิภาพกว่าการซัดฝ่ามือ การฝึกปากั้วจ่างจึงมุ่งเน้นไปที่สุขภาพเสียมากกว่า เพราะปากั้วจ่างข้องเกี่ยวกับการฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ การบริหารอวัยวะภายใน และกระดูกไปในตัวอยู่แล้ว จึงนับเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมตามแบบภูมิปัญญาตะวันออก

พัฒนากาย พัฒนาจิต

ปากั้วจ่างไม่เพียงแต่เป็นศิลปะการต่อสู้ แก่นของวิชายังมีความเกี่ยวพันกับหลักปรัชญาเต๋าชนิดแยกกันไม่ขาด การศึกษาปากั้วจ่างจึงไม่ใช่เรื่องของการต่อยตีหรือการสร้างเสริมสุขภาพเท่านั้น แต่หากผู้ฝึกให้เวลาศึกษาตัวแนวคิดผนวกเข้าไปด้วย ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางในการเข้าใจชีวิต

เพราะปากั้วจ่างไม่ได้สอนให้ผู้ฝึกยึดติด แต่สอนให้ปล่อยวาง ละทิ้งตัวตน เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป แม้แต่ตัวผู้ฝึกเอง

'พลิ้วไหวและนุ่มนวลเหมือนเริงระบำ มากมายอิสระและจินตนาการที่จะปรับเปลี่ยน ดัดแปลง เพิ่มเติม ประดิษฐ์คิดค้นได้ตามความสร้างสรรค์เหมือนดนตรีแจ็ซ แฝงเร้นปรัชญาเต๋าไว้อย่างลุ่มลึกชวนค้นหา' หากนี่คือคำนิยามของอะไรสักสิ่ง

สิ่งนั้นก็คือปากั้วจ่าง...

จิตรา เทียมมงคลรัตน์ อาชีพแม่บ้าน อายุ 52 ปี
"เรียนมา 5-6 ปีแล้ว ตอนแรกมาสวนลุมฯ ออกกำลัง เล่นนั่น เล่นนี่มาเรื่อย พอมาเจอเหล่าซือก็เลยอยากลองเล่นดู ปีแรกที่มาเล่นรู้สึกว่ามันเล่นยากเหมือนกันนะ ว่าจะเลิกอยู่เหมือนกัน แต่ขอลองอีกหน่อย เล่นไปเล่นมารู้สึกเข้าท่าดี เลยเล่นมาเรื่อยๆ ปากั้วมันรู้สึกเหมือนมีอะไรให้ค้นหาอยู่เรื่อยๆ ปากั้ววิชามันเยอะ เดี๋ยวมีนั่น เดี๋ยวมีนี่ แตกไปเรื่อยๆ น่าเล่น สมัยก่อนที่ยังไม่ได้ออกกำลังก็ไปหาหมอบ่อยเหมือนกัน เป็นหวัดก็ต้องหาหมอ แต่เดี๋ยวนี้เป็นหวัดเราก็มาเล่นปากั้ว แล้วหวัดมันหายเอง ไม่ต้องหาหมอ และก็คิดว่าจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ"

พินิจ เหลืองปฐมอร่าม อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว อายุ 37 ปี
"มาสวนลุมฯ เพราะอยากเล่นไท่จี๋ แล้วพอดีมาเจอตรงนี้ก่อนบวกกับที่รู้จักปากั้วอยู่บ้างก็เลยเข้ามาเรียนด้วยกับเขา เคยอ่านเจอวิชานี้ แต่ไม่เคยรู้ว่าเมืองไทยมีสอน สิ่งที่เราเคยเข้าใจเกี่ยวกับปากั้วคือเป็นมวยที่ไม่ต้องใช้แรงมาก ค่อยๆ ฝึก อีกอย่างผมชอบการออกกำลังกายลักษณะนี้อยู่ก่อนแล้ว พอมาได้รู้เกี่ยวกับทักษะการต่อสู้ในมวยปากั้วด้วยก็ยิ่งชอบ เล่นมาประมาณ 4 ปีแล้วครับ สุขภาพดีมาก แข็งแรง ฟิตเลย ในเรื่องของความยืดหยุ่น เมื่อก่อนการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่เคยทำได้ เดี๋ยวนี้ก็ทำได้ ส่วนจุดประสงค์ในการฝึกของผมก็มีทั้งเรื่องสุขภาพและการป้องกันตัว การฝึกปากั้วจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่าฝึกเพื่ออะไร อย่างหนึ่งที่เราชอบซึ่งถือเป็นจุดเด่นของปากั้วคือเราเล่นแล้วมันเห็นพัฒนาการ ทุกๆ ช่วงที่เราเล่นพัฒนาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

วีรยา ทีปกร อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว อายุ 40 ปี
"พอดีหลานเรียนอยู่แถวนี้แล้วเราอยากให้เขามาฝึกกังฟู พอดีว่าจังหวะช่วงนั้นหลานยังไม่ว่างก็เลยเห็นที่นี่ (ศูนย์บูรณาการศาสตร์ฯ) มีสอนผู้ใหญ่ด้วยก็เลยลองมาเรียนดู เริ่มจากชี่กงก่อนแล้วค่อยเรียนปากั้ว พอมาเรียนแล้วก็ดีเพราะตัวเองเป็นคนไม่แข็งแรง เป็นโรคภูมิแพ้ ฝึกแล้วก็ป่วยน้อยลง ทั้งที่ปกติจะป่วยบ่อย ทำท่าเหมือนจะไม่สบายแต่ก็ไม่เป็นไร ฝึกมาประมาณ 10 เดือนแล้ว ตอนนี้ฝึกท่ารำ ฝึกลมหายใจ โดยส่วนตัวไม่ได้สนใจในเรื่องศิลปะป้องกันตัว แต่เราคิดว่ามันดีกับเรื่องสมาธิ เรื่องสุขภาพ ช่วยปรับอารมณ์ให้เราด้วยเพราะปกติเป็นคนใจร้อน ขี้โมโห แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้นบ้าง โมโหแล้วก็หยุดได้เร็วกว่า ตั้งใจว่าจะเรียนไปเรื่อยๆ"

****************************

เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

หมายเหตุ สนใจติดต่อได้ที่ ชมรมกายบริหารปากั้วจ่างแห่งประเทศไทย (สวนลุมฯ) คุณพูนศักดิ์ 08-5913-6612 หรือที่ศูนย์บูรณาการศาสตร์และภูมิปัญญาโบราณ 0-2721-8290






กำลังโหลดความคิดเห็น