นับตั้งแต่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา รูปร่างหน้าตาของโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ก็คงจะไม่มีวันกลับไปเป็นเช่นเดิมได้อีก และพระเจ้า (หากท่านยังไม่ตาย) อาจกำลังกุมขมับ เมื่อทราบว่าชิ้นงานของตัวท่านพยายามใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาปนาเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นเป็นพระเจ้าเสียเอง
เอาอย่างนี้ดีกว่า เราทิ้งถ้อยคำประชดประชันข้างบนนั่นซะ แล้วครุ่นคิดต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเอาจริงเอาจังขึ้น เราจะพบว่านอกจากมันจะเสกสร้างสิ่งดีงามและความมืดร้ายแล้ว มันยังได้สร้างบททดสอบความเป็นมนุษย์ด้วยการตั้งคำถามที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน จนอาจถึงขั้นเป็นคำถามระดับจิตวิญญาณว่า ชีวิตเริ่มต้นที่ไหน? และชีวิตคืออะไร?
คุณผู้อ่านคงเริ่มเห็นด้วยแล้วว่ามันเป็นคำถามที่ตอบยากเอามากๆ โลกยุคที่วิทยาศาสตร์สามารถบอกความผิดปกติของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา สามารถนำเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Sell) ที่ได้จากตัวอ่อนมนุษย์มารักษาโรค และสามารถสร้างตัวอ่อนมนุษย์ได้โดยไม่ต้องพึ่งกระบวนการทางธรรมชาติ ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างมนุษย์ขึ้นจากหลอดทดลอง และจัดการแยกชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์โคลนนิ่งไว้ใช้เป็นอะไหล่ให้แก่มนุษย์ปกติ ...แค่นึกก็วุ่นวายแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลนี้นำมาสู่ประเด็นที่เรียกว่า ชีวจริยธรรม หรือ Bioethics ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยน่าจะยังมีองค์ความรู้และความเข้าใจอยู่ไม่มากเท่าที่ควร
ทางนิตยสาร Bioscope และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงได้ร่วมกันจัดประกวด ‘ชีวจริยธรรม Animation’ ขึ้น เพื่อหวังสื่อสารประเด็นชีวจริยธรรมกับสังคมไทย ซึ่งได้มีการประกาศผลรางวัลไป เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา
‘ชีวจริยธรรม’ ศัพท์ทางการแพทย์หรือการศาสนา
อาจยังไม่ได้มีความหมายที่รัดกุมนักเกี่ยวกับคำว่าชีวจริยธรรม แต่จากหนังสือ ‘ชีวจริยธรรม animation’ ที่จัดพิมพ์โดยนิตยสาร Bioscope กล่าวไว้ว่า
“ความหมายโดยรวมของ ชีวจริยธรรม (Bioethics, Biomedical Ethics) ก็คือการมีความชอบธรรมให้แก่สิ่งมีชีวิตทั้งมวล ในที่นี้เน้นหนักไปทาง ความชอบธรรมทางการแพทย์ เพราะจริยธรรมหรือการประพฤติอย่างถูกต้องดีงามและมีความเป็นธรรมนั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีอยู่ในสามัญสำนึกของผู้เป็นแพทย์... นอกจากตัวบุคลากรที่เป็นแพทย์แล้ว ยังรวมถึงระบบการบริการสาธารณสุข ที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรทางด้านสุขภาพให้ทั่วถึงและเป็นธรรม…”
โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลักที่สังคมไทยจะต้องใส่ใจกันตั้งแต่ตอนนี้คือ การล่วงรู้และตัดต่อพันธุกรรม สเตมเซลล์ และการโคลนนิ่ง เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย
‘Rearrange’ ชีวิตเริ่มต้นที่ 14 วันจริงหรือ...
อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าจะบอกว่า “ตัวอ่อนมนุษย์ที่อายุต่ำกว่า 14 วันไม่นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิต” หลังจบประโยคนี้หลายคนคงกำลังตั้งข้อกังขาว่า เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ทางการแพทย์จึงต้องเร่งชี้ให้คนทั้งโลกหันมาหาให้ความสำคัญ ค้นคว้าหาคำตอบและซึมซับความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่เหล่ามวลมนุษย์ทุกคนพึงกระทำแบบปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่สังคมกำลังต้องการการพิสูจน์
ท่ามกลางสถานการณ์การถามถึงความหมายและความสำคัญของจริยธรรมทางการแพทย์ที่มากขึ้นทุกวัน มีผลทำให้ รัฐ จำปามูล หนุ่มวัย 24 ปี ผู้ทำงานทางด้าน Graphicdesingner และเพื่อนอีก 2 ชีวิต คิดค้นที่จะผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน เพื่อทำการสื่อสารกับคนในสังคมถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว จนสมบูรณ์ออกมาเป็น ‘Rearrange’ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ ‘ชีวจริยธรรม แอนิเมชัน’ ไปครอบครอง ซึ่งรัฐได้เล่าถึงที่มาของการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘Rearrange’ ว่า
“เราเลือกที่จะหยิบเนื้อหาในส่วนที่ทางทีมงานพิจารณาแล้วว่าเป็นการไม่ยัดเยียดข้อมูลทางด้านชีวจริยธรรมให้แก่ผู้ชม โดยไม่เน้นการสรุปเนื้อหา แต่จะตั้งเป้าหมายหลักไว้ว่า ต้องการให้ผู้ชมรับชมแอนิเมชันจบแล้วสามารถหวนมาคิดถึงความสำคัญของชีวจริยธรรม และเรียนรู้ได้เองว่า ชีวจริยธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ซึ่งเราจะมีการสอดแทรกความดำมืดของมนุษย์เข้าไปใน ‘Rearrange’ ให้ผู้ชมได้เห็น
‘Rearrange’ เป็นแอนิเมชันที่เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรในโลกอนาคต ที่คอยควบคุมการก่อการร้ายและอาชญากรรม ด้วยการย้อนเวลาเพื่อกลับมาทำลายตัวอ่อนของอาชญากรตั้งแต่อยู่ในครรภ์
“พอทราบถึงรายละเอียดข้างในลึกๆ ของชีวจริยธรรม จะทำให้หลายคนเกิดความเข้าใจว่าประเด็นดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นสากลที่มีมานานมากแล้ว โดยเฉพาะหนังฝั่งญี่ปุ่นหลายต่อหลายเรื่องมักหยิบประเด็นชีวจริยธรรมมาพูดได้อย่างน่าติดตาม
“ผมรู้สึกว่าปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นของการโคลนนิ่งที่หลายๆ คนรู้จักแต่เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเชื่อมโยงถึงการร่วมกันคิดว่า ทุกวันนี้เราจะเลือกมองว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด และเราจะสามารถทำการควบคุมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ยังไง จึงอยากจะสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันให้คนได้คิดตาม แล้วนำความคิดนั้นๆ มาสร้างข้อตกลงร่วมกัน” รัฐบอกให้ฟังด้วยสีหน้าแห่งความปิติ
‘ก้องคนที่ 129’ ชีวิตควรจะเป็นของเราไม่ใช่ของใคร
‘การโคลนนิ่งมนุษย์’ ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ท่ามกลางข้อถกเถียงอย่างรุนแรงถึงความถูกต้องทางจริยธรรมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบความเป็นมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน แล้วคุณรู้มั้ยว่าปัจจุบัน ชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน!
กิตติอาภา ปุรณะพรรค์ หญิงสาววัย 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนของทีมผู้ผลิตแอนิเมชันเรื่อง ‘ก้องคนที่ 129’ มองว่า ความหมายของชีวจริยธรรมควรจะสื่อถึงเรื่องของความเข้าใจ โดยเน้นที่การปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ไม่ทำร้าย หรือทำอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ ซึ่งมนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่เข้าไปดัดแปลง
‘ก้องคนที่ 129’ เป็นแอนิเมชันที่คว้ารางวัล Popular Vote ไปครอง โดยการถ่ายทอดเรื่องราวในสงครามล้างโลกครั้งสุดท้าย ซึ่งมีคู่รักก้องและกานดาขึ้นยานอวกาศหลบหนีออกไปจากโลก และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำการหาดาวดวงใหม่ที่มีคนอาศัยอยู่ กานดาเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการแก่ตายในยาน จึงคิดที่จะแช่แข็งตนเองไว้ พร้อมบอกให้ก้องคนรักปลุกตนเองขึ้นมาเมื่อกาลเวลาเดินทางมาถึงดวงดาวที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ ทำให้ก้องจำต้องอยู่เพียงลำพังในยานมานาน ซึ่งเมื่อเขารู้ตัวว่าตนเองกำลังจะตาย เขาจึงได้โคลนนิ่งตัวเองขึ้น รุ่นแล้วรุ่นเล่า...เรื่อยมาจนกระทั่งถึงก้องคนที่ 129 แล้วเขาก็ได้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับความรักและการมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริง
“เรื่องราวความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ถือเป็นสิ่งที่น่าติดตาม เนื่องจากความสามารถในการแปรสภาพมนุษย์นั้น ต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกายภาพ แต่มนุษย์มีมากกว่ากายคือ จิตใจ ‘ก้องคนที่ 129’ จึงเน้นที่จะทำการสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่มีผลกระทบของสิ่งมีชีวิต ทั้งด้านความคิดและจิตใจ” กิตติอาภากล่าว
ความโดดเด่นในผลงานแอนิเมชันชิ้นนี้ชัดเจนอยู่ที่เนื้อหาที่ออกแนวหักมุม และบวกกับการสื่อสารทางอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครก้องคนที่ 129 ได้อย่างลึกซึ้ง
“อยากทำอะไรก็ทำเถอะ ชีวิตเป็นของเราไม่ใช่ของใคร” กิตติอาภาพูดเพียงสั้นๆ เมื่อถามถึงว่าแอนิเมชั่นเรื่อง ‘ก้องคนที่ 129’ ต้องการบอกอะไรกับผู้ชม
‘ชีวิตทดลอง’ เมื่อชีวิตตกอยู่ในโลกที่มีแต่การทดลอง
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้วงการแพทย์มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงโดยตรงกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับการค้นคว้า ทดลอง หรืออะไรประมาณนี้ คุณลองคิดเล่นๆ ดูว่า คุณจะมีทัศนคติต่อสาธารณะอย่างไร?
คมสันต์ ไวฉลาด อายุ 23 ปี ผู้คว้ารางวัลความคิดสร้างสรรค์จากการผลิตผลงานแอนิเมชันเรื่อง ‘ชีวิตทดลอง’ ซึ่งเขาได้ทุ่มเทเวลาตลอดสองเดือนเต็มๆ ให้กับการบรรจงสร้างสรรค์ผลงานที่กำลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องชีวจริยธรรม โดยผู้ผลิตแอนิเมชัน เรื่อง ‘ชีวิตทดลอง’ ได้เล่าให้ฟังว่า
“ได้ไอเดียการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ‘ชีวิตทดลอง’ มาจากคำในบทสวดมนต์ของศาสนาคริสต์ที่กล่าวไว้ว่า ชีวิตต้องอย่าอยู่ภายใต้การทดลอง เมื่อคำนี้โผล่เข้ามาในหัวจึงใช้เป็นเหตุผลในการสร้างงานภายใต้คอนเซ็ปต์ชีวจริยธรรม”
‘ชีวิตทดลอง’ เป็นแอนิเมชันที่สื่อถึงภาพสะท้อนจากเด็กคนหนึ่ง ที่มีพ่อเป็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ วันหนึ่งเขาได้เห็นหนูทดลองที่พ่อนำมาไว้ที่บ้าน และหนูตัวนั้นเป็นตัวดำเนินเรื่อง ในการพาเด็กไปยังอีกโลกหนึ่งที่ชีวิตไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็จะพบแต่การทดลอง และในที่สุดเด็กน้อยคนนั้นก็ต้องรู้ตัว และยอมรับความเป็นจริงที่ว่า ชีวิตตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา วิจัย และกำลังตกอยู่ภายใต้การทดลองเช่นเดียวกัน...
“ระยะหลังสิ้นสุดจากการจัดอบรมชีวจริยธรรม ทำให้ชีวิตผมได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นว่า ในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์สามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน และสามารถทำจริงได้แค่ไหน หากทุกคนทำความเข้าใจประเด็นชีวจริยธรรมดีๆ จะรู้ว่าความจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับทางเลือกและวิธีคิดของผู้ที่จะทำการทดลองว่า เขาอยากใช้ประโยชน์ทางด้านบวกหรือทางด้านลบ” คมสันต์กล่าว
ด้วยความสั้นและกะทัดรัดของเนื้อหาแอนิเมชันเรื่อง ‘ชีวิตทดลอง’ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย แต่ก็ยังพบว่า มีสิ่งที่ยากของแอนิเมชันเรื่องนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งคมสันต์บอกว่า ไม่ว่าแอนิเมชันจะออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่ลำบากที่สุดคือการทำให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาที่เราต้องการจะสื่อ อย่างแท้จริง โดยเขาได้ทิ้งท้ายไว้เป็นคำถามว่า “หากชีวิตของคุณถูกนำมาทำลองบ้างคุณจะรู้สึกอย่างไร?”
เรื่องแบบนี้เราปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์คิดอยู่คนเดียวไม่ได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการโครงการชีวจริยธรรมและการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ (มสช.) พูดถึงประเด็นชีวจริยธรรมกับสังคมไทยไว้ว่า
“เนื่องจากวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมชัดๆ ก็เริ่มแล้ว เรื่องสำคัญๆ ก็จะมีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือการที่วิทยาศาสตร์หรือการแพทย์สมัยใหม่สามารถล่วงรู้พันธุกรรมของมนุษย์ และอาจจะสามารถแก้ไขหรือคัดเลือกพันธุกรรมเหล่านั้นได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว จึงถึงเวลาแล้วที่สังคมควรจะศึกษาหาความรู้ ช่วยนักวิทยาศาสตร์เขาดูว่า ความรู้แบบนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ และมันมีข้อเสียอะไรที่ต้องระวัง
“ตัวอย่างรูปธรรมเรื่องที่สองคือการรักษาด้วยสเตมเซลล์หรือเซลล์ต้นตอ การได้มาซึ่งเซลล์ต้นตอนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องได้มาจากตัวอ่อนมนุษย์ และระหว่างการวิจัยก็จำเป็นต้องใช้ตัวอ่อนมนุษย์จำนวนมาก สมควรหรือเปล่าที่สังคมจะปล่อยให้วิทยาศาสตร์หรือการแพทย์เขาทำอยู่ฝ่ายเดียว สังคมน่าจะช่วยเขาดูมั้ยว่ามันมีอะไรที่ควรระวัง มีข้อเสียอะไรที่ควรมองให้รอบด้าน ส่วนข้อดีนั้น ถ้ามี มันก็จะมีประเด็นว่ามันจะไปถึงคนส่วนใหญ่หรือเปล่า คนยากคนจนจะมีโอกาสเข้าถึงมั้ย หรือมันจะได้เฉพาะคนรวย
“เรื่องสุดท้ายคือการโคลนนิ่ง (ซึ่งต้องย้ำว่าไม่ใช่การโคลนนิ่งเพื่อสร้างมนุษย์ขึ้นมาใหม่แบบในหนัง) เพราะว่านักวิทยาศาสตร์เขาก็อยากจะโคลนนิ่งตัวอ่อนมนุษย์ แต่ไม่ได้ต้องการเลี้ยงจนคลอดแบบในหนัง แค่ต้องการตัวอ่อนมนุษย์ในระยะ 5-7 วันหลังการปฏิสนธิ เพราะมันเป็นช่วงที่มีสเตมเซลล์ ในเมื่อไปเอาสเตมเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์จริงๆ ในรังไข่ของผู้หญิงไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็โคลนนิ่งขึ้นได้มั้ย สิ่งที่เกิดจากการโคลนนิ่งใช่สิ่งมีชีวิตหรือเปล่า ของแบบนี้เราไปปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เขานั่งคิดอยู่คนเดียวอาจจะไม่ค่อยเหมาะ
“ในเมืองไทยความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องชีวจริยธรรมยังมีอยู่น้อย กลับไปตัวอย่างแรกเช่นเรื่องพันธุกรรม ผมก็สงสัยอยู่ว่าสังคมไทยรู้หรือเปล่าว่า ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจหาพันธุกรรมของตัวอ่อนมนุษย์ได้ โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยบางแห่งก็มี มันก็จะมีคำถามว่าถ้าเราสามารถตรวจได้ว่าตัวอ่อนอายุแค่ 7 วัน พันธุกรรมออกมาเป็นแบบนี้ๆ เรายุติการตั้งครรภ์เลยดีกว่ามั้ย หรือว่าจะปล่อยให้ตั้งครรภ์จนครบกำหนดแล้วคลอด สังคมรู้มั้ยว่าเทคโนโลยีแบบนี้มี และเมื่อรู้ว่ามีแล้วเราคิดอย่างไร เราจะเอาเกณฑ์อะไรมาตัดสินว่าตัวอ่อนอายุ 7 วันว่ามีพันธุกรรมแบบไหนควรเกิด แบบไหนไม่ควรเกิด บางคนอาจจะคิดว่าถ้าพันธุกรรมเป็นเด็กปัญญาอ่อนไม่ควรเกิด ถ้าอย่างนั้นเรายิ่งจำเป็นต้องถามคนจำนวนมากเลยนะว่าเห็นด้วยแบบนี้จริงหรือเปล่า ไม่มีใครตอบคำถามแบบนี้ได้ สังคมต้องช่วยกันตอบ ไม่อย่างนั้นการตัดสินใจจะไปอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดียว
“เราจึงควรจะมีกฎ กติกา มารยาทอย่างไรในการวิจัยเรื่องเหล่านี้ และการนำเรื่องเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ควรมีกลไกอะไรตามดูแลเรื่องบ้าง
“อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องเหล่านี้มันเกี่ยวพันกับคำว่า ‘นิยามของสิ่งมีชีวิต’ มันเกี่ยวพันกับคำถามที่ว่าแท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่ เราถูกสถานการณ์ของโลก และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่บังคับให้เราต้องหันมาดูคำถามนี้ใหม่ว่า ที่จริงแล้วชีวิตพวกเรามันเริ่มวันไหน เริ่มวันที่อสุจิกับไข่ปฏิสนธิ หรือเริ่มหลังจากนั้น 7 วัน หรือเริ่มหลังจากนั้น 14 วัน หรือว่าเริ่มหลังจากนั้น 120 วัน วันไหนแน่ แล้วอย่างชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิสนธิอย่างการโคลนนิ่งล่ะ ถ้าอย่างนั้นชีวิตเริ่มตรงไหน มันควรมีคำตอบกับเรื่องนี้ หรือที่จริงไม่ควรมีคำตอบ แค่หากลไกมาดูงานวิจัยเหล่านี้ก็พอ”
***********************
เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, นาตยา บุบผามาศ