xs
xsm
sm
md
lg

‘เครื่องบินลำเล็กๆ’ ที่ทำให้โลกของเด็กๆ หมุนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวลายังคงหมุนไปเรื่อยๆ ทำหน้าที่ของมันตามปกติ เด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังตั้งหน้าตั้งตาใช้ความพยายามที่มี ประคับประคองของเล่นชิ้นโปรดให้ทะยานขึ้นไปโลดแล่นอยู่บนท้องฟ้า ภายในสนามหญ้าผืนกว้างไกลสุดสายตา

ผ่านไปไม่นานนัก ฝันของเขาก็บรรลุเป้าหมาย ชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องบินบังคับลำแรกในชีวิตที่เขาสร้างมันขึ้นมาด้วยสองมือ สามารถขึ้นไปโต้ลมชมฟ้าได้สมบูรณ์ และลงมาสัมผัสพื้นดินได้อย่างสง่างาม

เครื่องบินเล็ก หรือเครื่องบินวิทยุบังคับเป็นของเล่นราคงแพงที่เด็กหนุ่มหลายๆ คนต่างกำลังหลงใหล ถึงกระทั่งมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของ เพราะเสน่ห์ของเครื่องบินที่เป็นเสมือนสิ่งที่ท้าทาย และมีความเป็นอิสระในการทะยานอยู่บนฟากฟ้ากว้าง ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความพิเศษที่เครื่องบินวิทยุบังคับมีนั้น นอกจากให้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นของเล่นที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาอุปนิสัยและสมองของเด็กๆ ด้วย

เยาวชนทั้งหลายโปรดทราบ

ว่ากันว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ว่ากันอีกว่า หากเด็กฉลาด ชาติจะเจริญ แล้วคุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่า ถ้าเด็กขาดโอกาสประเทศชาติจะเป็นเช่นไร...

จากคำถามนี้ พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล วัย 41 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้เริ่มผันชีวิตของตนเองเข้ามาสู่วงการเครื่องบินวิทยุบังคับตั้งแต่ปี 2545 จากเหตุผลง่ายๆ แต่มีความหมายยิ่งใหญ่ คือความฝันในวัยเด็กที่อยากจะสัมผัสและเป็นเจ้าของเครื่องบินวิทยุบังคับแต่ไม่มีโอกาส ในเวลานั้นเขาทำได้แต่เพียงเฝ้าแหงนหน้าคอยมองดูอยู่ไกลๆ เพราะมีเส้นแบ่งในเรื่องของราคาที่อยู่สูงจนเด็กน้อยธรรมดาๆ อย่างเขาไม่มีทางเอื้อมถึง

แต่หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาสักพักใหญ่ ทำให้พิศิษฐ์เติบโตจนมีธุรกิจเป็นของตนเองที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย ซึ่งเขาก็ยังไม่ละทิ้งความฝันเมื่อวัยเยาว์ จึงได้ริเริ่มจุดประกายไฟแห่งความฝันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการเสียเงินจ้างนักบินมาสอนการฝึกบินเครื่องบินบังคับ เพื่อต้องการเอาความรู้เหล่านั้นมาสอนเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสแต่มีความฝันคล้ายๆ กับเขาในวัยเด็ก

“ ผมไม่ได้บ้านะครับ ” เขาพูดเนิบๆ หลังจากจบประโยคที่มีความหมายว่า ต้องหมดเงินไปกว่า 10 ล้านบาทกับการปั้นฝันของตนเอง

พิศิษฐ์เล่าให้ฟังว่า “ ในอดีตคนที่จะเล่นเครื่องบินวิทยุบังคับได้นั้นต้องมีเงินอยู่ในกระเป๋าอย่างน้อยประมาณสองหมื่นบาท และยังต้องเสียเงินเพิ่มมากขึ้นอีกเวลาฝึกบินแต่ละครั้งอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เด็กๆ ก็หมดสิทธิ์เล่นแน่นอน ผมจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้เครื่องบินบังคับนั้นผลิตออกมามีราคาถูก เด็กๆ จะได้สามารถหาเล่นได้ ”

จากนั้นไม่นาน พิศิษฐ์ได้ลงทุนควักเนื้อของตนเองไปทุ่มเทกับการค้นคว้า ทดลอง ทำทุกอย่างให้ได้เครื่องบินบังคับจำลองเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของเด็กๆ ซึ่งเป้าหมายในใจอันสูงสุดของเขาตอนนั้นคือ ต้องการทำให้เครื่องบินที่ราคาเป็นแสนเหลือเพียงไม่กี่หมื่น แล้วไม่กี่หมื่นก็เหลือเพียงไม่กี่พัน ไม่กี่พันเหลือเพียงไม่กี่ร้อย...

“ ผลสุดท้ายของการทดลองมาจบที่การเลือกโฟมมาเป็นวัสดุในการสอนเด็กๆ เนื่องจากเมื่อนำโฟมมาประดิษฐ์เป็นเครื่องบินแล้วสามารถจะบินตกพุ่งใส่พื้นหลายครั้งก็ยังไม่พัง มีลักษณะที่ทนทานและใช้งานได้เป็นอย่างดี ซึ่งคนที่เข้ามาเรียนรู้ในขั้นแรกๆ จะได้รู้สึกสบายใจ ไม่กลัวว่าเครื่องบินจะตกเสียหายแล้วต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก และมีความกล้าที่จะเล่น แล้วเขาจะเกิดการเรียนรู้ต่อ ทำให้มันเกิดการต่อยอดขึ้นมาได้ ” พิศิษฐ์กล่าว

ต่อมาเขาได้เริ่มต้นไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ในนามตัวเองโดยไม่มีการพึ่งพิงใคร เหตุผลเพียงแค่ความรู้สึกอยากสอน อยากเผยแพร่ความรู้ที่ได้มานั้นให้เป็นการศึกษา และเป็นประโยชน์ให้แก่เด็กๆ ที่สำคัญคือเรื่องของโอกาสที่เด็กๆ ทุกคนควรจะได้รับ ได้เล่นของเล่นที่เฝ้ารอ และใฝ่ฝันมานาน โดยจะเริ่มจากการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าความจริงแล้วเครื่องบินบินได้อย่างไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จากนั้นก็สอนให้ประดิษฐ์เป็น และสุดท้ายคือการสอนควบคุมเครื่องบินวิทยุบังคับ ที่เป็นเหมือนการสร้างพื้นฐานของการเป็นนักบินในอนาคตให้เด็กๆ ด้วย

ผ่านมาแล้ว 915 โรงเรียนทั่วประเทศในระยะเวลา 5 ปี ที่พิศิษฐ์และทีมงานได้เดินทางถ่ายทอดความรู้เรื่องการประดิษฐ์เครื่องบินให้แก่เด็กๆ ที่สนใจ พิศิษฐ์เล่าให้ฟังว่า “ ทุกโรงเรียนที่ไปสอนนั้นจะได้รับแจกอุปกรณ์การสร้างเครื่องบินและอุปกรณ์การบิน (วิทยุบังคับ) เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนของครูในโรงเรียนนั้นๆ ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังจากได้ไปสอนตามโรงเรียนเด็กๆ ก็จะมีความสามารถนำไปต่อยอดได้ มีบางโรงเรียนก็นำไปสร้างเป็นสินค้าโอทอป สร้างรายได้เป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน ”

แท้จริงแล้วของเล่นอย่างเครื่องบินเล็กไม่ใช่เพียงให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการนำมาใช้ในการบูรณาการทางการศึกษาให้แก่เด็กๆ อย่างครบวงจร

เนื่องจากเครื่องบินนั้นเป็นเรื่องของทางวิทยาศาสตร์ ที่ขึ้นอยู่กับการทดลองเรื่องของแรงและการเคลื่อนที่ ส่วนในวิชาคณิตศาสตร์จะว่าด้วยเรื่องของการคำนวณ และยังมีการฝึกความรู้เรื่องไอที นั่นคือการฝึกทำอิเล็กทรอนิกส์ วิชาศิลปะที่เด็กๆ จะได้รับจากการออกแบบ สร้างสรรค์และการตกแต่งเครื่องบิน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของสุขศึกษา คือเรื่องของสุขภาพจิตที่ดี และการออกกำลังกาย สุดท้ายคือเรื่องทางสังคมที่เด็กๆ จะได้รับ เพราะต้องมีการทำงานเป็นกลุ่ม

นอกจากนี้พิศิษฐ์ยังบอกอีกว่า “ นอกจากการสร้างเครื่องบินแล้วเรายังมีการสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในการสร้างรีโมตคอนโทรลที่ใช้บังคับเครื่องบินด้วย ซึ่งจากจุดนี้ทำให้พบว่าในเมืองไทยมีคนเก่งอิเล็กทรอนิกส์กันมาก แต่เพียงเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน พอเราเข้าไปเริ่มต้นให้เขาแล้วจะมีคนให้ความสนใจขึ้นมาทันที ในต่างประเทศได้รับการเรียนรู้และปลูกฝังเรื่องของเครื่องบินอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เด็กทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เด็กไทยหลายคนมีความสามารถแต่ไม่มีโอกาส จึงต้องมาเปิดโอกาสเพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้ในอนาคต ทุกวันนี้ผมดีใจที่ได้เป็นจุดเริ่มต้นให้แก่เด็กๆ เขาจะได้ทดลองทำ ไม่ต้องแค่มองอย่างเดียว ซึ่งมันอาจเป็นข้อดีในการจุดประกายความคิดให้แก่เด็กๆ "

“ ภายใน 5 ปีที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้ว่าสายเลือดความเป็นครูได้ซึมซับเข้ามาโดยที่ไม่รู้ตัว ผมเห็นเด็กที่ไม่มีโอกาส ได้มาเรียนรู้ทางด้านนี้ทั้งๆ ที่เขามีความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองกันมาก เขาจะมีรอยยิ้ม มีความ สุข สนุกสนานเฮฮาเวลาที่วิ่งตามเครื่องบิน ภาพนั้นเป็นภาพที่ผมประทับใจมากๆ ” พิศิษฐ์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

เปิดกะลา ลุกขึ้นมาตามหาฝัน

หากวันนี้เราเลือกเดินทางออกจากบ้านในเส้นทางที่เคยใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ทุกอย่างที่พบเห็นก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้จดจำ ซึ่งคงไม่ต่างอะไรไปกับการเล่นของเล่นเมื่อสมัยตอนเป็นเด็ก หากเป็นของเล่นชิ้นเดิมที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้ว ความรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น คงจะมีอยู่ในปริมาณที่เท่าเดิมหรือไม่ก็คงจะลดน้อยลง ถึงแม้ว่าของเล่นกับเด็กเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไรก็ตาม แต่สำหรับบางคนคงไม่ได้หมายความเพียงการเล่นสนุกอยู่ภายใต้หลังคาบ้านเท่านั้น

ลองจินตนาการตามดูเล่นๆ ว่า หากในชีวิตจริงได้เป็นเจ้าของพื้นที่โล่งกว้างเหนือศีรษะ และบวกกับมีความสามารถที่จะติดปีกเดินทางออกไปโต้ลม ชมฟ้า ได้ตามอัธยาศัย จะเป็นสิ่งวิเศษขนาดไหน

แล้วจะถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ได้ไหม หากเด็กหนุ่มธรรมดาๆ เดินดินคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นได้จากเครื่องบินลำเล็กๆ

อภิชาติ เทพบุดดา หรือ จุ่น หนุ่มวัย 18 ปี เป็นอดีตเด็กที่มักซ่อนตัวอยู่ตามร้านเกมออนไลน์ที่สามารถเล่นเกมได้ทั้งวันทั้งคืนจนไม่มีเวลากลับบ้าน สำหรับจุ่นแล้วในเวลานั้นเขาสารภาพตามตรงว่า ร้านเกมแทบจะเรียกว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเขาเลยก็ว่าได้

แต่ในปัจจุบันบ้านหลังที่สองของจุ่นได้เปลี่ยนไปแล้ว จากร้านเกมออนไลน์กลายเป็นสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับที่เขาได้เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยและอาสาสมัครในการฝึกสอนการฝึกบินเครื่องบินวิทยุบังคับอย่างจริงจัง

ความรู้สึกแรกที่ได้เห็นเครื่องบินวิทยุบังคับ เห็นเป็นเพียงของเล่นธรรมดาๆ เพราะในใจเวลานั้นมุงมั่นที่จะเอาดีทางด้านเกมออนไลน์ให้ได้ แต่พอได้ทดลองเล่นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ความคิดก็กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

“ หลังจากที่เข้ามาสมาคมฯ เอาเครื่องบินที่ได้มาไปเล่นกับเพื่อน เจ๋งมาก มันบินได้จริงๆ เล่นจนลืมเวลา กว่าจะกลับบ้านก็เย็น ผมได้มีโอกาสช่วยสอนเด็กๆ ทำเครื่องบิน ออกไปซื้ออุปกรณ์ และอบรมเชิงวิชาการเกี่ยวกับการประดิษฐ์เครื่องบิน ได้ค่าขนมวันละสองร้อยบาท และที่สำคัญ ผมได้รับเลือกเป็นวิทยากรไปสอนน้องๆ ตามโรงเรียนต่างๆ เกี่ยวกับการประดิษฐ์เครื่องบิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สนุกและเพลิดเพลินมาก ” จุ่นกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

จุ่นพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองอย่างภาคภูมิใจว่า “ ตั้งแต่ทำงานที่สมาคม ลืมร้านเกมออนไลน์ไปเลย ไม่ต้องหมกตัวอยู่หน้าจอคอมพ์สี่เหลี่ยมแคบๆ เพิ่งรู้สึกว่าชีวิตมันมีค่าก็วันนี้เอง ได้ออกไปสอนน้องๆ ตามโรงเรียน ได้เห็นความฝันของเด็กๆ ที่อยากมีเครื่องบินเป็นจริงเป็นจัง แถมการทำงานตรงนี้ยังเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วย เพราะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเสมอๆ ผมเพิ่งรู้สึกว่าโลกมันกว้างกว่าที่คิดไว้ก็วันนี้เอง ตอนที่เล่นเกมผมมีความสุขก็จริง แต่เมื่อเงินหมด เกมจบ คอมพ์ฯ ปิด ความสุขมันก็หมดไป แต่ความสุขที่เกิดจากความภาคภูมิใจในตัวเองว่าเราก็ทำเรื่องดีๆ กับเขาเป็นเหมือนกันนะ มันอยู่กับเราไปนาน นึกทีไรก็อิ่มเอมทุกครั้ง ”

“ ผมยอมรับว่าเครื่องบินเล็กๆ นี้ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป ” จุ่นกล่าวด้วยท่าทีดูจริงจัง

บันไดสู่ความสำเร็จ “ไม่มีคำว่าแพ้ก่อนการลงแข่ง”

ลองหลับตานึกภาพตอนสมัยเรียนมัธยมดู หากยังจำกันได้คงเห็นเหล่าเพื่อนๆ ต่างชวนกันนั่งพับจรวดร่อนเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่อย่าคิดว่าการเล่นเครื่องบินนั้นจะอยู่ในความสนใจของหมู่ผู้ชายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหลายครั้งที่เรามักพบเห็นผู้หญิงประสบความสำเร็จอย่างมากจากการทำในสิ่งที่คาดไม่ถึงมาหลายต่อหลายครั้ง อย่างเช่นเด็กผู้หญิงสองคนนี้ด้วย

เพ็ญศรี สิงพันธ์ หรือ ปู และ ธิดารัตน์ เสมอจิตร์ หรือ แก้ว สองสาวชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ที่ชนะเลิศจากการแข่งขันประดิษฐ์เครื่องบินวิทยุบังคับได้ในเวลาอันรวดเร็วและสามารถนำมาทดลองบินได้จริง

“ ยังจำได้เหมือนกันว่าตอนแรกๆ นั้นรู้สึกตื่นเต้นมากเหมือนเห็นของแปลกใหม่ แต่พอมีโอกาสได้ทดลองทำเองเข้าจริงๆ ก็รู้สึกสนุกขึ้นมาทันที ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ติดวิทยุบังคับให้สามารถบินได้บนฟ้าจริงๆ แต่ก็ยอมรับว่า แค่ได้ทำ ได้จับอุปกรณ์ ได้ทดลองตกแต่งแบบง่ายๆ ก็สนุกมากแล้ว ” ปูเล่าพร้อมกับยิ้มเหมือนเด็กที่กำลังอวดของเล่นชิ้นใหม่

จากนั้นแก้วช่วยเล่าย้อนไปถึงเวลาที่เคยฝึกซ้อมให้ได้ฟังอย่างกระจ่าง ว่า “ ตอนแรกๆ ที่เริ่มหัดบังคับเครื่องบินก็จะมีพี่ๆ จากทางสมาคมฯ มาช่วยดูแล สอนให้เราบังคับ ดูทิศทางลม ซึ่งช่วงนั้นบังคับยังไม่ค่อยเป็นทำให้เครื่องบินตกบ่อยมากๆ บางครั้งไปตกในป่าหญ้าก็หาไม่เจอ บางครั้งไปตกกลางถนนก็มีใครไม่รู้มาเก็บแล้วก็เงียบหายไปเลย แต่จำได้ว่าครั้งแรกที่สามารถฝึกบินจนทำได้เอง ตอนนั้นรู้ดีใจมาก ภูมิใจมาก เหมือนว่าเราก็มีความสามารถที่จะบินได้เหมือนคนอื่นๆ ”

“ เวลานั้นคิดอยู่อย่างเดียวเลยว่า เราเป็นเด็กผู้หญิงที่สามารถเล่นเครื่องบินบังคับได้ มันรู้สึกว่าโคตรเท่เลย และยังสามารถเอาชนะอีกหลายๆ ทีมได้ด้วย รวมถึงทีมที่เป็นผู้ชายเราก็ยังสามารถเอาชนะได้ บางคนชอบคิดว่าการเล่นเครื่องบินเป็นเรื่องของเด็กผู้ชาย แต่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นผู้หญิงก็ไม่ได้แตกต่างหรือเป็นอุปสรรคในการเล่นเครื่องบินหรือประดิษฐ์เครื่องบินเล็กเลยแม้แต่น้อย เพราะของอย่างนี้ไม่ต้องใช้แรงกำลังอะไรมากมายเท่าไหร่ สิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือความคิดและความพยายามในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ” ปูบอกถึงความรู้สึกในเวลานั้นให้ฟัง

แก้วเสริมความเห็นของปู ว่า “ มันไม่มีกฎเกณฑ์ว่าผู้หญิงจะเล่นแต่ตุ๊กตาอย่างเดียว หาอะไรแปลกใหม่ให้กับชีวิตบ้าง จะได้รู้ว่ามันท้าทายและสนุกมากแค่ไหน การบังคับเครื่องบินเล็กให้ได้ดีนั้นต้องอาศัยการฝึกซ้อมเยอะๆ เพื่อเก็บชั่วโมงบินให้ได้มากๆ แล้วหลังจากนั้นความเชี่ยวชาญ และความชำนาญในการบังคับก็จะเกิดเพิ่มขึ้นเอง หลักๆ แล้วก็คือความตั้งใจที่ต้องมี เหมือนกับว่าเราเป็นผู้หญิงซึ่งถ้าหากเราตั้งใจทำอะไรจริงๆ ก็สามารถเอาชนะผู้ชายได้ง่ายๆ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ ”

“ ตอนนี้เครื่องบินเล็กได้สอนให้เรียนรู้จักที่จะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีการพัฒนาและรู้จักต่อยอดในการก้าวต่อไปข้างหน้า รู้จักคิด ค้นคว้า กล้าทดลอง และรู้จักดัดแปลงสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เสมือนเป็นการพิสูจน์ " ปูพูดด้วยแววตาแห่งความภาคภูมิใจ

ส่วนแก้วได้เล่าความรู้สึกที่ตนมีต่อกิจกรรมการฝึกบินเครื่องบินเล็กที่คุ้นเคยว่า “ กิจกรรมเครื่องบินเล็กฝึกให้เราคิดเป็น กล้าตัดสินใจ และในบ้างครั้งยังได้แบ่งปันความรู้ให้แก่คนอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นการที่พวกเราได้ไปช่วยสอนตามโรงเรียนต่างๆ อย่างน้อยการฝึกทำเครื่องบินเล็กที่ทางสมาคมฯ จัดนั้นก็เหมือนเป็นการช่วยส่งเสริมให้พวกเรารู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็ได้ประโยชน์จริงๆ และพอเราได้ทำแล้วเราก็อยากที่จะประสบความสำเร็จในงานชิ้นนั้นๆ ด้วย”

************************

เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ








การเรียนการสอนของทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ


กำลังโหลดความคิดเห็น