ว่ากันว่า ‘สงคราม’ สร้างวีรบุรุษ
แต่หลายครั้งหลายหน ที่วีรกรรมของวีรบุรุษเองก็ถูกเลือนหายไปในกระแสธารประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาไม่ถึง 70 ปีดี จึงดูเหมือนนานแสนนานในความทรงจำของยุคสมัย เพราะหากลองไปถามเด็กยุคใหม่คงมีน้อยคนที่จะเคยได้ยินนามของขบวนการผู้รับใช้ชาติ ‘เสรีไทย’ แต่ที่น่าสลดใจยิ่งกว่าคือ ‘ผู้ใหญ่’ บางกลุ่มที่กลับพยายามฉกฉวยผลประโยชน์จากวีรกรรมของผู้รับใช้ชาติกลุ่มนี้
ไม่น่าเชื่อว่า ในยุคที่สถานการณ์บ้านเมืองมิได้แหลมคมสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเอกราชเช่นในอดีตที่ผ่านมา กลับยังมีปรากฏการณ์ที่เสรีไทยในอดีตและทายาท ต้องออกมาเรียกร้องต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวว่านักการเมืองกลุ่มหนึ่งมีแนวคิดนำชื่อ ‘เสรีไทย’ ไปใช้ก่อตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองใหม่
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้วีรชนที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองในอดีตต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ‘ผู้จัดการปริทรรศน์’ พาไปค้นหาคำตอบที่มีมากกว่าเรื่องของ ‘ชื่อ’ ธรรมดา แต่สืบย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ 65 ปีแห่งวีรกรรมผู้รับใช้ชาติอย่าง ‘เสรีไทย’
กำเนิดเสรีไทย
เมื่อสัญญาณเตือนภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น และฝ่ายอักษะที่เป็นมหามิตรของเยอรมนีอย่างญี่ปุ่นได้แพร่ขยายรุกคืบเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ประเทศไทยในห้วงยามนั้นกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นใช้เป็นพื้นที่ลำเลียงพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ ครั้นผู้นำประเทศในเวลานั้นยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่แผ่นดินไทยได้ จึงเท่ากับว่าประเทศไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ข้างเดียวกับญี่ปุ่นในทันที
คืนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ณ บ้านถนนสีลมของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตรงกับคืนแรกที่ญี่ปุ่นยกพลบุกขึ้นฝั่งอ่าวไทยถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า ปัญญาชนและกลุ่มบุคคลหลากหลายวิชาชีพได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยของชาติไทย ซึ่งประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ อันเป็นที่มาของขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) ขบวนการใต้ดินที่ดำเนินงานในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาในเวลาต่อมา
ถ้าหากว่า ไม่มีวีรชนกลุ่มหนึ่งเสี่ยงชีวิตทำงานกู้ชาติอย่างลับๆ โดยมีภารกิจสำคัญคือ ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น และทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าการประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 นั้น เป็น ‘การกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย’ แล้วล่ะก็ ในวันนี้ เราอาจต้องตกอยู่ในฐานะประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม ต้องสูญเสียเอกราชและค่าปรับจำนวนมหาศาลอย่างประเทศที่พ่ายแพ้เคยเจอ
ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้ดำรงตำแหน่ง ‘ปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชาน’ แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งสนใจค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นทายาทของเสรีไทย เน้นความสำคัญให้เห็นชัดเจนว่า การที่อังกฤษและไทยเป็นคู่สงครามกันถือเป็นเรื่องล่อแหลมและน่ากลัวมาก เพราะเราอาจต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม สูญเสียเอกราช และกองทัพถูกปลดอาวุธ ประเทศไทยอาจถูกทหารต่างชาติยึดครองในระยะหนึ่ง ร้ายแรงไปกว่านั้นคือ ไทยอาจต้องสูญเสียดินแดนบางส่วน แม้กระนั้น ภายหลังจากที่อังกฤษยอมยกเลิกสถานะสงครามกับเราเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1946 ประเทศไทยก็ยังต้องยกข้าวกว่า 1.5 แสนตันให้แก่อังกฤษฟรีๆ จากที่ตอนแรกเราเกือบต้องสัญญายกข้าวให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่าถึงกว่า 1.5 ล้านตัน หากมิใช่เพราะอังกฤษเห็นแก่ขบวนการต่อสู้ของเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงคราม
คุณูปการของขบวนการเสรีไทย จึงมีผลต่อระบบโครงสร้างของสังคมไทยทั้งระบบในปัจจุบันก็ว่าได้
‘เสรีไทย’ นามนั้นสำคัญไฉน
ผลพวงจากวีรกรรมของผู้รับใช้ชาติในอดีต ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานราชการหลายแห่งได้ประกาศยกย่องเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงวีรกรรมอันเสียสละของขบวนการเสรีไทย อาทิ ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 เป็น ‘วันสันติภาพไทย’ ภายหลังจากครบ 50 ปีแห่งการที่ไทยได้ประกาศสันติภาพหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็มีถนนชื่อ ’ถนน16 สิงหา’ และมีอนุสรณ์สถาน ‘ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย’ ด้านกรุงเทพมหานครได้ตั้งชื่อถนนที่เชื่อมระหว่างถนนนวมินทร์ กับถนนรามคำแหงว่า ‘ถนนศรีบูรพา’ และเปลี่ยนชื่อถนนบึงกุ่มเป็น ‘ถนนเสรีไทย’ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อจากสวนน้ำบึงกุ่มเดิมเป็น ‘สวนเสรีไทย’ นอกจากนี้ยังได้จัดสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์เสรีไทยนุสรณ์’ ภายในสวนดังกล่าวเพื่อเชิดชูเกียรติเป็นอนุสรณ์แก่ขบวนการเสรีไทย
นาม ‘เสรีไทย’ จึงมิใช่ชื่อที่เปล่าดายไร้ความหมายแต่อย่างใด หากเกี่ยวพันกับเลือดเนื้ออันเสียสละของบุคคลมากมายในประวัติศาสตร์ ควรแล้วหรือที่จะถูกนำไปใช้โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ?
สืบเนื่องจาก ข่าวที่อดีตสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง มีดำริจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ใช้ชื่อว่า พรรคเสรีไทย ขณะเดียวกันปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลเปิดเว็บไซต์ใช้ชื่อว่า ขบวนการเสรีไทย จึงนำมาสู่การจัดแถลงข่าวของเสรีไทยและทายาท ที่ประกาศว่า “พวกเราในฐานะอดีตเสรีไทยทั้งภายในและนอกประเทศ และทายาทขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว”
อดีตเสรีไทยทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ เสรีไทยในประเทศอย่าง ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์, สุพจน์ ด่านตระกูล, ร้อยตรีปราโมทย์ สูตะบุตร, ไกรศรี ตุลารักษ์, วณิช ไชยพร และเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา พลตรีนิรัตน์ สมัถพันธุ์, ราชัน กาญจนะวณิชย์, ศ.ดร.เจริญ เจริญรัชตภาคย์ ฯลฯ รวมทั้งทายาทของเสรีไทย ตลอดจนนักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักกิจกรรม นักพัฒนาได้ร่วมลงรายชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยและได้ยื่นคำคัดค้านไปยัง กกต. แล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
คณะเสรีไทยได้ชี้แจงว่า เมื่อสงครามเสร็จสิ้น ภาระหน้าที่รับใช้ชาติในยามสงครามของเสรีไทยก็ยุติลง ต่างคนต่างกลับไปประกอบอาชีพของแต่ละบุคคลต่อไป แต่ทว่า สาเหตุที่ต้องกลับมารวมตัวกันอีกในครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการเห็นชื่อของเสรีไทยที่จัดตั้งขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยทั้งชาติ ช่วยให้ประเทศไทยก้าวออกมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเกียรติศักดิ์ เกียรติภูมิของชาติ ถูกกลุ่มบุคคลใดนำไปใช้เป็นชื่อพรรคการเมืองหรือกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหาย และผิดวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย
“เราคงไม่มีสิทธิไปห้ามไม่ให้ใครเอาชื่อเสรีไทยไปใช้ แต่อยากจะขอให้เห็นใจว่าเราทำเพื่อชาติบ้านเมืองมา พวกเราทุกคนเกิดมาป่านนี้ 80 ปีแล้ว เราใช้ชื่อนี้มาก่อนแต่ดั้งเดิม ก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร เพียงขอความกรุณาว่าชื่ออื่นยังมีอีกเยอะครับ มันอาจจะเพราะกว่าเสรีไทยก็ได้ หน่วยงานราชการก็รับรองและประกาศเป็นชื่อถนน ชื่อสวนหลายแห่งแล้ว” ร้อยตรีปราโมทย์ สูตะบุตร อดีตเสรีไทยในประเทศกล่าว
สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือเกี่ยวกับ ‘ศรีบูรพา’ และขบวนการเสรีไทยกล่าวถึง กรณีการนำชื่อเสรีไทยไปใช้ตั้งชื่อพรรคการเมืองว่า ไม่มีความจำเป็นต้องมาแถลงข่าวในวันนี้เลย ถ้าหากไม่มีความเห็นของนักการเมืองออกมาในลักษณะเป็นข่าว ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีความทรงจำสั้น ทั้งที่ชื่อเสรีไทยนั้นมีบทบาทความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ชัดเจน แต่เดิมสถานะของนายปรีดีและเสรีไทยถูกตัดตอนไปจากประวัติศาสตร์ไทยอยู่แล้ว ซ้ำคนรุ่นหน้าก่อนยังได้ตัดต่อความทรงจำเสียอีก การดำริว่าจะนำชื่อนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะตั้งเป็นชื่อเว็บไซต์หรือพรรคการเมือง ควรมีจิตสำนึกว่า ‘เสรีไทย’ คือชื่อเฉพาะ ได้รับการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรของทางรัฐเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรนำไปใช้ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้คนในสังคม
“คำว่าเสรีไทยมันน่าจะอยู่ในจิตสำนึกของนักการเมืองที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของเราเรียบร้อยแล้ว จำเป็นจะต้องให้เสรีไทยและทายาทไปจดสิทธิบัตรหรือ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมนักการเมืองไทยถึงคิดได้แค่นี้ ชื่ออื่นๆ มีอีกมากมายทำไมไม่ไปจด ถ้านักการเมืองไทยคิดแบบนี้ผมคงพูดได้แค่ว่าน่าสงสารอนาคตของประเทศ” บก. เครางามกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากเสรีไทยมีความมักใหญ่ใฝ่สูงทางการเมือง ก็คงไม่ส่งมอบคืนอาวุธแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรภายหลังจากสงครามสงบแล้ว งานของเสรีไทยจึงเป็นอุดมการณ์รับใช้ชาติ ไม่ใช่อุดมการณ์ของพรรคการเมือง
“ทั้งๆ ที่คณะนายปรีดี พนมยงค์และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดีในช่วงนั้น ถ้าหากว่ามักใหญ่ใฝ่สูงก็สามารถใช้อาวุธทำการยึดอำนาจ แต่ว่าอาจารย์ปรีดีไม่ได้ทำเช่นนั้น” ทว่าผลจากการเสียสละของเสรีไทยในครั้งนั้นก็ส่งผลทำให้โครงสร้างการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงจนเกิดนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการทำให้คำนี้ กลายเป็น ‘คำสามานย์’ ในภายหลัง
เสียงจากทายาทเสรีไทย
ขบวนการเสรีไทย ไม่ได้มีเพียงแต่ปัญญาชน หรือนักเรียนนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสรีไทยกลุ่มที่เป็นชาวบ้านชนชั้นสามัญตามที่ต่างๆ เต็มไปด้วยหัวใจหวงแหนแผ่นดินไทย และปรารถนาที่จะเห็นแผ่นดินไทยของตน ‘เสรี’ เช่นดังที่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ทายาทเสรีไทยสว่าง สามโกเศศ ว่าไว้ ซึ่งนักวิชาการทายาทเสรีไทยยังกล่าวย้ำว่า การนำชื่อเสรีไทยไปใช้ในพรรคการเมืองและเว็บไซต์ต่างๆ ถือเป็นการอกตัญญู แม้โดยภาระหน้าที่จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ ที่สำคัญ เขาคิดว่าคำว่าเสรีไทยเป็นคำวิสามัญนาม ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องแปลความหมาย อีกทั้งยังเป็นทั้งชื่อสถานที่ราชการ และต่างประเทศก็รู้จักในชื่อเฉพาะว่า Free Thai Movement
ทางด้าน ดุษฎี (พนมยงค์) บุญทัศนกุล ทายาทหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ‘ปรีดี พนมยงค์’ กล่าวว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการที่รับใช้ชาติ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจทุกคนก็กลับไปทำหน้าที่ตามเดิมของตนเอง ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์จากงานนี้ จึงไม่มีพรรคการเมืองชื่อเสรีไทย มิหนำซ้ำสมาชิกเสรีไทยบางส่วนในยุคนั้นก็ได้ถูกอุ้มฆ่าไปจำนวนไม่น้อย แทบไม่ต่างจากเวลานี้ ดุษฎีจึงอยากให้คนรุ่นใหม่กลับไปทบทวนศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีต
“จริงๆ แล้วชื่อนี้เป็นชื่อเฉพาะ และเป็นตำนานอันงดงามของประวัติศาสตร์ไทย ท่านที่คิดจะตั้งชื่อไม่ทราบว่าท่านหวังจะใช้ประโยชน์จากงานนี้หรือเปล่า อย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าแล้วทางกฎหมายเราทำได้หรือเปล่า กฎหมายคงเอาผิดไม่ได้ถ้าเขาจะไปตั้งชื่อนี้ แต่ทางคุณธรรม จริยธรรม สำนึกทางประวัติศาสตร์ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร คนไทยส่วนหนึ่งไม่ค่อยมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ เห็นข่าวก็รู้สึกโกรธ”
ต่อประเด็นที่นักการเมืองบางคนพยายามเทียบการพลัดแผ่นดินของตนเข้ากับนายปรีดี พนมยงค์นั้น ทายาทหัวหน้าขบวนการเสรีไทยตอบเรียบๆ ว่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน เพราะถึงวันนี้ภารกิจของนายปรีดีก็ได้พิสูจน์แล้วด้วยการได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งผลงานนี้ก็ยากที่คนอื่นจะฉวยเอาไปเป็นผลประโยชน์หรือเปรียบเทียบ
ฤาประวัติศาสตร์จะเลือนหาย
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า จากที่อดีตสมาชิกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งออกมาแก้ข่าวว่า ไม่มีแนวคิดจะใช้ชื่อเสรีไทยไปก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองนั้น ก็เนื่องมาจากนักการเมืองนั่นล่ะที่เป็นผู้ให้ข่าวในทีแรกจนกลายเป็นประเด็น เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องออกมาแก้ข่าว และถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการติดต่อเพื่อพูดคุยหรือมีเอกสารชี้แจงจากนักการเมืองที่ให้ข่าวนั้นกับทางทายาทหรือเสรีไทยอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด มีเพียงกระแสข่าวที่ออกมาจากสื่อมวลชนเท่านั้น ทางเสรีไทยและทายาทจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อ กกต. และหากจำเป็นก็พร้อมที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อไป
โดยการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านครั้งนี้นั้น เขาไม่อยากให้มองเฉพาะประเด็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่อยากให้มองถึงจิตสำนึกรับใช้ชาติด้วย “ไม่อยากให้แนวความคิดริเริ่มในการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยนั้นถูกบิดเบือนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เสรีไทยได้ปฏิบัติภาระหน้าที่มาตั้งแต่ พ.ศ.2484 จนถึง 2488 เสียดายที่ในเมืองไทยหลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง จริงๆ มีหลายท่านพยายามผลักดันให้เป็นหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ถูกนำไปใช้เป็นครั้งคราว ไม่ได้ประกาศใช้อย่างถาวร ฉะนั้น อนุชนรุ่นหลังควรจะรู้เรื่องของขบวนการเสรีไทยแง่ของจิตสำนึกรับใช้ชาติ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ และให้คุณูปการนั้นเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ”
ขณะที่อาจารย์วิภา ดาวมณี กรรมการโครงการกำแพงประวัติศาสตร์ : ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เพื่อตอกย้ำความสำคัญของคำว่าเสรีไทยและขบวนการเสรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สร้างประติมากรรม ‘ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย’ ขึ้น เนื่องจากเมื่อครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยเป็นกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย และเป็นสถานที่คอยช่วยเหลือและดูแลคนต่างชาติ ไม่ให้ตกไปอยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น เพื่อให้ฝ่ายพันธมิตรมีความเข้าใจอันดีต่อเจตนาของประเทศไทย มีบุคลากรและนักศึกษาชาวธรรมศาสตร์ร่วมกับประชาชนชาวไทย ในนามของขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่น
“เพราะฉะนั้นคำๆ นี้ ใครจะนำไปใช้เพื่อสร้างเครดิตให้ตนเอง เป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ ไม่ต้องรอการลงโทษทางกฎหมาย แต่มวลชนจะเป็นผู้ลงโทษ แม้แต่อาจารย์ปรีดีเองก็ยังเคยถูกนำไปอ้าง อย่างเช่นนักการเมืองที่ปัจจุบันไม่มีที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย เคยพยายามเปรียบเทียบตัวเองว่าเหมือนอาจารย์ปรีดี เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องสร้างสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของกระบวนการเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้ลูกหลานไทยได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการต่อสู้อันกล้าหาญ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยินดีถ้าเราจะได้รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านการนำชื่อเสรีไทยไปใช้อย่างผิด”
เพราะขบวนการเสรีไทย คือตำนานประวัติศาสตร์ไทย
*********************
เรื่อง รัชตวดี จิตดี