ยุคที่โลกกำลังฟาดฟันแข่งขันกันทั้งสงครามเศรษฐกิจและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและอาวุธนิวเคลียร์ มีผลให้เทคโนโลยีทางด้านต่างๆ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันสารพิษตกค้างในสภาวะแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โลกทั้งโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังตื่นตัวกับปัญหานี้ โดยเฉพาะสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร
ย้อนกลับมามองยังประเทศไทย ที่อดีตผู้นำเคยประกาศนโยบายว่าต้องการให้กลายเป็นครัวโลก หนึ่งในโผที่คณะกรรมการตรวจสอบโครงการของรัฐ หรือ คตส. จะดำเนินการตรวจสอบ มีชื่อของโครงการเซ็นทรัล แล็บ 'บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด' หรือชื่อย่อว่า LCFA ที่ก่อตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 ปรากฏอยู่ด้วย และแม้จะก่อตั้งมาหลายปีแล้ว แต่น้อยคนนักจะรู้จักว่าองค์กรบริษัทที่ได้รับทุนดำเนินการจากรัฐบาลนี้ทำหน้าที่อะไร ในโอกาสที่ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงาน LCFA สาขาสมุทรสาคร จึงเป็นโอกาสดีที่จะเปิดประตูเยือนห้องแล็บที่ได้ชื่อว่าทันสมัยและแพงที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย !!
ไขข้อสงสัย ทำไมต้องมี ?
สภาพการณ์ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้แหล่งทรัพยากรต่างๆ ในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษยชาติ เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะตั้งแต่มนุษย์กลุ่มแรกรู้จักทำการเพาะปลูกเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินดาวเคราะห์สีฟ้าที่ชื่อว่าโลกก็แปรผกผันกับจำนวนประชากรตลอดมา
จากการผลิตอาหารเพื่อยังชีพกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประเทศไทยที่เป็นแดนอู่ข้าวอู่น้ำแห่งคาบสมุทรแหลมทองก็ก้าวเข้าไปมีบทบาทเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ในตลาดโลกที่มีมูลค่ามหาศาล ประเด็นเรื่องความสะอาดปลอดภัยของสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อกีดกันทางการค้า อันนำมาสู่นโยบายที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาและยกระดับในการตรวจสอบคุณภาพอาหารให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ธีรยุทธ กันตรัตนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด (LCFA) เปิดเผยว่า LCFA มีฐานะเทียบเท่ารัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางสำหรับตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าและอาหาร ทั้งการนำเข้าและส่งออกด้วยกระบวนการที่รวดเร็วแม่นยำเพื่อช่วยผู้ส่งออกและนำเข้าในการให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรแบบวันสตอปเซอร์วิส ครอบคลุม 6 เขตพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ, ขอนแก่น, สงขลา, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่ และสมุทรสาคร
โดยเฉพาะสาขาสมุทรสาครที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อการส่งออก เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีชื่อเสียงทางด้านอาหารทะเล ดังนั้น จึงมีโรงงานผลิตอาหารทะเลอยู่มาก ซึ่งห้องแล็บของ LCFA นั้นจะตรวจสอบทั้งด้านจุลชีววิทยาและทางเคมีในอาหาร น้ำ และน้ำสัตว์ ตลอดจนยาสารตกค้าง เช่น ไนโตรฟูแรน, คลอแรมฟินิคอล, ออกโซลินิกเอซิด, ออกซีเตตราไซคลิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ กุ้ง ปู และปลา LCFA ที่ช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบเชื้อโรคในอาหารล่วงหน้า จึงคอยเฝ้าระวังและควบคุมก่อนที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มนั้นๆ
ปัจจุบันนี้ มีแล็บของบริษัทเอกชนต่างชาติที่รับตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอาหารอยู่ 3 แห่ง การเปิดตัวของ LCFA จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ผลิตและส่งออกอาหารชาวไทย เนื่องจาก LCFA กำหนดเป็นนโยบายว่าจะให้บริการตรวจสอบมารตฐานคุณภาพของสินค้าอาหารในราคาที่ต่ำกว่าบริษัทเอกชนอื่น
ซึ่งเท่าที่ผ่านมาสมาคมผู้ส่งออกอาหารทะเลของไทยต้องประสบกับปัญหาเครื่องมือในการตรวจสอบหาสารตกค้างไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศให้เป็นปีแห่งอาหารปลอดภัย ทางคณะกรรมการจึงได้ศึกษาถึงความจำเป็นของเครื่องมือชนิดต่างๆ และระเบียบข้อบังคับเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพอาหารและสารตกค้างที่แต่ละประเทศผู้นำเข้ากำหนด อีกทั้งได้ทำการฝึกบุคลากรขึ้นมารองรับ กระทั่งห้องปฏิบัติการของ LCFA ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามระบบ ISO/IEC 17025 จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
"โดยปกติประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากไทยจะมีคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบประจำอยู่แล้ว เขาต้องมั่นใจว่าเรามีมาตรฐานที่เขายอมรับได้ มาตรฐานในที่นี้ หนึ่ง คือมาตรฐานเครื่องมือต้องมีความแม่นยำเที่ยงตรงเป็นที่ยอมรับ สอง บุคลากรเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญในระดับมาตรฐาน ซึ่ง ISO/IEC 17025 นั้นเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราก็มีความพร้อมให้เขามาตรวจสอบได้ตลอดเวลา" กรรมการผู้จัดการ LCFA กล่าว พร้อมเสริมว่า การตรวจสอบย้อนกลับเช่นนี้เป็นมาตรฐานระบบเดียวกันทั่วโลก
นอกจากนี้ LCFA ยังได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ตลอดจนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผลการทดสอบได้รับการยอมรับจากกรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สามารถนำไปประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัย หรือ Health Certificate
ใบรับรองนี้ไม่ใช่แค่เพียงกระดาษธรรมดา แต่เป็นใบรับรองความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าสามารถไว้วางใจในตัวผลิตภัณฑ์ได้ในเบื้องต้น
เปิดประตูสู่ตลาดโลก
ด้วยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 30 ล้านคนของประเทศยังชีพด้วยเกษตรกรรมเป็นหลัก การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีกลไกที่จะส่งเสริมให้สินค้าเกษตรและอาหารมีมาตรฐาน เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้นและมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็งนั้น นับเป็นตลาดใหญ่ของผู้ส่งออกชาวไทย การตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ส่งออกอย่างรวดเร็วได้มาตรฐานโลกภายใต้มาตรการความปลอดภัยอาหารของแต่ละประเทศผู้นำเข้านั้น จึงมีส่วนสำคัญในการยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ
อนุรัตน์ โค้วคาสัย กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรายใหญ่ ที่ดำเนินการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งครบวงจร เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกที่ไว้วางใจใช้บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้ากับแล็บของ LCFA โดยให้เหตุผลว่า นอกจากราคาค่าบริการที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนรายอื่นแล้ว LCFA ยังมีความน่าเชื่อถือเพราะได้รับการยอมรับจากกรมประมง เนื่องจากแต่ละประเทศมีมารตรฐานไม่เหมือนกัน ทางบริษัทจึงตัดสินใจใช้มาตรฐานเดียวกับของกรมประมง ซึ่งเท่าที่ผ่านมากลุ่มประเทศทางยุโรปก็มีการกีดกันทางการค้าโดยการตรวจสารตกค้าง
ผนวกเข้ากับกระแสนิยมที่ผู้บริโภคในปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการบริโภคอาหารที่ถูกสุขอนามัยปราศจากสารตกค้างปนเปื้อนใดๆ ทำให้ห้องแล็บ LCFA กลายเป็นกุญแจที่ช่วยไขสลักของการกีดดันทางการค้าเปิดประตูสู่ตลาดโลก นอกจากการตรวจสอบคุณภาพอาหารด้วยเครื่องมืออันทันสมัยแล้ว LCFA ยังมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายทั่วโลกสำหรับการสืบค้นอ้างอิง เพื่อให้บริการตั้งแต่ผู้ส่งออกรายใหญ่จนถึงผู้ผลิตรายย่อย
ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่กะหล่ำปลีที่เชียงใหม่, ชาวนาที่ขอนแก่น, ชาวสวนที่สงขลา หรือชาวประมงที่สมุทรสาครก็สามารถใช้บริการของ LCFA ได้เช่นเดียวกับบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่…นี่คือเจตนารมณ์ของ LCFA แต่ทว่าในความเป็นจริงขององค์กรที่อยู่ในรูปแบบบริษัท ชาวไร่ชาวนาที่เป็นเพียงตาสีตาสาจะเข้าถึงบริการของบริษัทจำกัดที่เป็นของคนไทยนี้หรือไม่ ?
อารมณ์ แสงวนิชย์ ผู้อำนวยการ LCFA สำนักงานกรุงเทพฯ ชี้แจงว่า แม้บริษัท LCFA จะได้รับเงินลงทุนจากรัฐ แต่ก็ไม่ได้รับฟรีๆ หากต้องใช้คืนภายในกำหนด LCFA จึงต้องบริหารตัวเองให้พออยู่ได้ และคืนเงินลงทุนให้แก่รัฐด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรที่ตั้งอยู่ในรูปแบบธุรกิจจำเป็นต้องมีรายได้เพื่อประคองตัวให้อยู่รอด แต่หากมีกรณีฉุกเฉิน LCFA สามารถประสานงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐเพื่อบริการประชาชนได้
ขณะที่ กรรมการผู้จัดการ LCFA ระบุว่า นอกเหนือจากเครื่องมืออันทันสมัยแล้ว LCFA ยังมีทีมศูนย์ข้อมูลและนักวิชาการซึ่งสามารถให้บริการทางด้านสังคมได้มากขึ้น โดยการให้บริการที่ปรึกษา ตั้งแต่มาตรฐานการผลิตระดับฟาร์มแก่เกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยในการดำเนินการผลิตที่ปราศจากสารตกค้าง ไปจนถึงระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 ซึ่งการให้บริการคำปรึกษาตรงจุดนี้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ก็อยู่ในเรตที่ต่ำกว่าภาคเอกชนทั่วไป
"จริงอยู่ที่เราเป็นบริษัทจำกัด แต่เรื่องของการบริการสังคมก็ต้องช่วย ส่วนที่เราจะเข้าไปบริการปีหน้าก็คือ เรื่องการช่วยผู้ประกอบการเซ็ตระบบต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างต้องมีการสอบเทียบที่แผนกสอบเทียบเครื่องมือ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือที่ใช้ในโรงงานมีมาตรฐานเทียบเท่าที่มาตรฐานสากลกำหนด"
มีอะไรอยู่ในห้องแล็บ ?
ด้วยมาตรฐานห้องปฏิบัติการและเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ระดับโลก ซึ่งเป็นเครื่องมือระบบดิจิตอลที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย ตลอดจนทีมงานและผู้เชี่ยวชาญ 6 สาขาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศของ LCFA ที่ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่โมเลกุลน้ำไปจนถึงสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และอาหารทะเล โดยปณิธานที่ว่า 'ไม่ว่าท่านจะมีความประสงค์อย่างไรในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร เรามีคำตอบสำหรับท่านเสมอ'
พระเอกของ LCFA จึงหนีไม่พ้นเครื่องไม้เครื่องมือในแล็บที่กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงสนนราคานับสิบๆ ล้าน (ตัวเลขรวมทั้งหมดคือ 1,597 ล้านบาท ) !?
เครื่องมือชิ้นเด่นๆ ของ LCFA ได้แก่ เครื่อง GC-MS with auto sampler ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของสาร โดยฉีดตัวอย่างได้อย่างอัตโนมัติ สามารถตรวจสอบได้ทั้งสารเคมีทั่วไปและยากำจัดศัตรูพืช ชิ้นต่อมาคือ เครื่อง LC-MS/MS เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ระบุโครงสร้างของสารประกอบผลิตภัณฑ์ โดยสามารถตรวจได้ถึงการแปรสภาพในสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ, เคมีทั่วไป, ยากำจัดศัตรูพืช, สารพิษ และวิตามิน ส่วนเครื่องมือชิ้นสุดท้ายได้แก่ เครื่อง ICP-MS เครื่องตรวจวิเคราะห์แร่ธาตุและสารตกค้างโลหะหนักที่ตรวจวัดได้ถึงระดับความเข้มข้นต่ำ (ppb) อาทิ ตะกั่ว, สารหนู หรือแคดเมียม
อนาคตสู่ความเป็น 'มหาชน' และการกระจายหุ้น
"เมื่อเราเข้าสู่ระบบมหาชนในอนาคต รายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนกำไรยังมีอยู่ในมาตรฐานที่ผู้ถือหุ้นยอมรับได้" กรรมการผู้จัดการ LCFA กล่าวถึงแนวทางในการกระจายหุ้นในรูปแบบบริษัท มหาชนของบริษัท LCFA ในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้บริหาร LCFA ยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นราคาค่าบริการสูงขึ้นจนผู้ผลิตไม่สามารถมาใช้บริการได้ เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งภาคเอกชนอยู่ 3 บริษัทแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานภาครัฐให้บริการอีก 3 กรมด้วยเช่นกัน การกำหนดราคาจึงต้องเป็นราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้
กรรมการผู้จัดการ LCFA เปิดเผยตัวเลขการดำเนินการปีที่ผ่านมาว่ายังขาดทุนอยู่กว่า 17 ล้านบาท แต่ก็ยังเตรียมดำเนินการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ โดยในการกระจายหุ้นนั้นจะยึดหลักความโปร่งใสและยุติธรรม
"ที่ผ่านมาก็จะได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องการกระจายหุ้น แต่ว่าอันดับแรกผมคิดว่าเราต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ความชัดเจน ความยุติธรรม ความเสมอภาคในการที่จะขายหุ้น เราคงไม่ใช่บริษัทใหญ่โตที่ใครๆ จะอยากเข้ามาถือหุ้นทุกคน จึงคิดว่าน่าจะยังคงยึดหลักธรรมาภิบาลไว้ได้"
เจตนารมณ์ในการก่อตั้งบริษัทตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรของไทยแห่งแรกนี้นับว่ามีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอติดตามผลการดำเนินงานในอนาคตต่อไปว่า บริษัทจำกัดของคนไทยที่กำลังจะกลายเป็นมหาชนในอนาคตนี้จะยังคงยืนยันเจตนารมณ์เพื่อคนไทยต่อไปหรือไม่ เช่นกันกับที่ คตส.ก็ยังคงเดินหน้าติดตามตรวจสอบต่อไปถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาในอดีตของ LCFA
///////////////////////////
เรื่อง – รัชตวดี จิตดี