ใครจะรู้บ้างว่า จระเข้ที่หลุดจากบ่อในช่วงน้ำท่วมซึ่งสร้างความหวาดผวาให้ชาวบ้านจนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วนั้น แท้จริงแล้วพวกมันคือจระเข้วัยละอ่อนที่ไม่สามารถกินสัตว์ที่ใหญ่ไปกว่าไก่ตัวย่อมๆ อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่ใจเสาะและกลัวคน 'ผู้จัดการปริทรรศน์' จะพาท่านไปดูเส้นทางของ 'จระเข้เลี้ยง' ที่พร้อมจะพลีชีพเป็นกระเป๋าถือสุดหรูและเนื้อจระเข้แช่แข็งส่งขายตามซูปเปอร์มาร์เก็ต
'ชาละวันไทย'ไม่ดุอย่างที่คิด
ในช่วงหลายปีมานี้ประเทศไทยมีการเลี้ยงจระเข้ในเชิงธุรกิจกระจายไปในหลายพื้นที่ ทั้งภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก เรื่อยไปจนถึงจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย ทำรายได้ดี และมีต้นทุนไม่สูงนัก การเลี้ยงจระเข้ในลักษณะ'ฟาร์มคอนแทกต์' หรือรับเลี้ยงจระเข้เพื่อส่งขายให้แก่ฟาร์มที่เป็นเจ้าของลูกพันธุ์ จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงไก่และหมูเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้จะมีต้นทุนค่าอาหารจระเข้ต่ำหรือไม่มีเลย เพราะสามารถนำไก่หรือหมูที่ป่วยตายมาเลี้ยงจระเข้ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมัน เนื่องจากเชื้อไม่สามารถแพร่ข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมายังสัตว์เลื้อยคลานได้
แต่ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงจระเข้นั้น เราควรทำความรู้จักกับวิถีชีวิตและธรรมชาติของพวกมันเสียก่อน จระเข้ที่เลี้ยงในประเทศไทยนั้นเป็นสายพันธุ์ Siamese Fresh Water Crocodile หรือสายพันธุ์น้ำจืดไทย ซึ่งไม่มีความดุร้าย และเนื่องจากฟันของจระเข้เป็นฟันสำหรับกัด-ฉีก แต่ไม่มีฟันสำหรับบดเคี้ยว อีกทั้งสายพันธุ์ที่เลี้ยงในไทยนั้นแต่ละตัวจะหาอาหารโดยลำพัง ไม่ชอบการล่าอาหารเป็นฝูงเหมือนจระเข้ในแถบแอฟริกา ดังนั้น มันจึงกินได้แต่สัตว์เล็กๆ เช่น ปลา กบ เขียด นก และไก่ หรือเนื้อสัตว์บดหรือสับเป็นชิ้นที่คนโยนให้เท่านั้น และบางครั้งยังจำเป็นต้องกินกรวดทรายเข้าไปเพื่อช่วยย่อยอาหารในกระเพาะ
ดังนั้น การที่ชาวบ้านหวาดกลัวว่าจะถูกจระเข้ที่หลุดมาจากบ่อทำร้ายและกินเป็นอาหารนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากขนาดของคนเรานั้นใหญ่โตเกินกว่าที่จระเข้จะสามารถกินได้ และโดยธรรมชาติแล้วจระเข้จะกลัวคนเพราะรู้สึกว่าคนเป็นสัตว์ใหญ่ หากเจอคนมันจะหนีหรืออยู่นิ่งๆ แต่ไม่เข้ามากัด นอกจากมันจะถูกต้อนจนมุม
ยศพงษ์ เต็มศิริพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชา โมด้า จำกัด ดูแลด้านการผลิตและจำหน่ายเนื้อจระเข้ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านจระเข้เนื่องจากเขาจบการศึกษาในสาขา Wildlife Ecology & Conservation จากมหาวิทยาลัยฟอริดา ให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของจระเข้ ว่า
" จระเข้เป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยมีพิษสงนะ มีจุดเดียวคือฟัน ถ้ามัดปากมันได้ก็หมดปัญหา ถึงฟันจะคมแต่ปากของมันจะสามารถงับได้อย่างเดียว แต่ไม่มีแรงเปิด แค่เอาหนังยางวงเล็กๆ 2-3 วงรัดปากก็อยู่แล้ว วิธีการจับเขาจะจับตรงคอเพื่อไม่ให้มันสะบัดหัวมากัดเรา จากนั้นก็กดปากเอาไว้ แล้วเอาหนังยางหรือเชือกรัด ถ้าจระเข้ตัวเล็กๆ คนเดียวก็จับได้ แต่ถ้าตัวใหญ่หน่อยต้องช่วยกัน 2-3 คน จุดอ่อนของมันคือที่จมูกและขาพับทั้ง 4 จุด เพราะบริเวณนี้เนื้อจะอ่อนมาก ถ้าเจอจระเข้แค่เอาไม้แหย่จมูกมันก็หนีแล้ว เพราะมันจะเจ็บมาก แต่คนส่วนใหญ่กลัวมันจะมาทำร้ายเลยชิงทำร้ายมันก่อน"
จระเข้มีอายุมากกว่าอายุเฉลี่ยของคนเล็กน้อย คืออยู่ที่ 90- 100 ปี เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ 7-8 ปี โดยจะผสมพันธุ์ในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 45 วัน จึงเริ่มวางไข่ โดยแต่ละตัวจะตกไข่ประมาณ 30 ฟอง แต่น่าเสียดายที่สามารถฟักเป็นตัวและอยู่รอดได้เพียง 20 ตัวเท่านั้น
ส่วนคำเปรียบเปรยที่ว่า 'ลิ้นจระเข้' ซึ่งหมายถึงคนที่กินอะไรก็ได้เพราะไม่รู้รสชาติของอาหารนั้นก็เป็นความเข้าใจผิดเช่นกัน เพราะแม้จระเข้จะไม่มีลิ้นที่สามารถตวัดเพื่อคลุกเคล้าอาหารแบบลิ้นของคน แต่ก็มีต่อมรับรสอยู่บริเวณเพดานล่างของปากทำให้มันสามารถแยกแยะประเภทของอาหารได้ดี ว่ากันว่าหากนำ เนื้อสด เนื้อต้ม และเนื้อเน่า มาวางให้จระเข้กิน มันจะเลือกกินเนื้อสดก่อน หากไม่อิ่มจึงกินเนื้อต้ม และถ้าอดอยากจริงๆจึงจะยอมกินเนื้อเน่า
จระเข้เลี้ยงไม่ยาก
การเลี้ยงจระเข้นั้นดูจะไม่ยุ่งยากแต่ก็ต้องอาศัยทักษะและความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่มีฟันอันแหลมคม ผู้เลี้ยงจระเข้ที่นอกจากจะดูแลและให้อาหารแล้วยังสามารถจับจระเข้ได้นั้น จึงต้องผ่านการฝึกฝนมาพอสมควร
'อุ๊'อุทิตย์ แซ่ตัง หนุ่มเข้มวัย 25 ปี ซึ่งมีอาชีพดูแลและจับจระเข้มากว่า 8 ปี เล่าว่า
" ผมเลี้ยงจระเข้มาตั้งแต่อายุได้ 13-14 ปี ก็อาศัยสังเกตพฤติกรรมของมัน เราต้องให้อาหารเป็นเวลา อย่างให้ทุก 2 วัน ให้เวลา 10 โมงเช้า ก็ต้องให้เวลานี้ เพื่อที่เวลาเราลงไปให้อาหารมัน มันจะได้จำเราได้ จริงๆแล้วมันกลัวเรานะ ถ้ามันขวางทาง เราเดินไปเอาไม้แหย่ๆมันก็หนีแล้ว แต่ช่วงที่ผสมพันธุ์กับช่วงวางไข่นี่มันดุ เราก็ไม่พยายามเข้าใกล้ เวลาเก็บไข่จะไปช่วยกัน 2-3 คน คือ คนหนึ่งเก็บไข่ อีกคนคอยเอาไม้ไล่จระเข้ไว้
เวลาไปรับซื้อจระเข้คืนจากชาวบ้านนี่เราใช้วิธีใช้ไฟฟ้าช็อตให้มันสลบ แต่เป็นไฟกระแสต่ำนะ มันจะสลบแค่ 5-10 นาที ซึ่งช่วงที่สลบนี่เราต้องรีบวัดและจดขนาด จับมัดปากและห่อด้วยกระสอบ มัดให้แน่น ก่อนลำเลียงขึ้นรถ ก็ใช้เวลาแป๊บเดียว 4-5 นาทีก็เสร็จแล้ว แต่เราต้องช็อตและจับทีละตัวนะ ไม่งั้นไม่ทัน เดี๋ยวมันตื่นก่อน (หัวเราะ) คนจีนเขานิยมกินเนื้อจระเข้นะ เวลาส่งไปเมืองจีนก็ต้องส่งไปเป็นๆ"
จากบ่อเลี้ยงสู่โรงฟอกหนัง
สำหรับการเลี้ยงจระเข้แบบคอนแทกต์ฟาร์มนั้นจะเริ่มตั้งแต่การที่เกษตรกรซื้อลูกพันธุ์จระเข้จากบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมเครื่องหนังแบบวงครบวงจร ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดของความยาว (วัดจากหัวถึงหาง) โดยขนาดที่นิยมจะอยู่ที่ความยาว 31-40 เซนติเมตร ราคาตัวละ 1,300 บาท ซึ่งใช้เวลาเลี้ยง 3 ปี ก็สามารถขายคืนได้ และความยาว 91-100 เซนติเมตร ราคา 2,500 บาท ใช้เวลาเลี้ยง 3 ปี จึงขายคืน โดยในช่วงที่เป็นลูกจระเข้นั้นผู้เลี้ยงจะให้ไก่สับละเอียดเป็นอาหาร เมื่ออายุได้ 1 ปีจึงเปลี่ยนมาเป็นซี่โครงไก่ โดยจะให้อาหาร 2-3 วันต่อครั้ง มาก-น้อยตามน้ำหนักตัวของจระเข้ และเนื่องจากในช่วงที่จระเข้ยังตัวเล็กอยู่นั้นมันจัดเป็นเมนูโปรดของนกกระยาง จึงต้องมีการนำตาข่ายมาคลุมบ่อเพื่อป้องกันนกลงมาโฉบไปเป็นอาหาร
การเลี้ยงนั้นมีทั้งแบบบ่อรวมคือเลี้ยงหลายๆตัวรวมกัน และบ่อเดี่ยวซึ่งจะได้หนังจระเข้ที่มีคุณภาพดีกว่าบ่อรวมเนื่องจากจระเข้จะไม่มีแผลจากกัดกัน หรือการเกยก่ายไปมาเพื่อแย่งอาหาร โดยปกติเกษตรกรจะเลี้ยงทั้งแบบบ่อเดี่ยวและบ่อรวมเนื่องจากไม่มีต้นทุนพอที่จะทำแบบบ่อเดี่ยวทั้งหมด โดยจะแยกจระเข้ตัวที่จะเลี้ยงในบ่อเดี่ยวออกจากลูกจระเข้อื่นๆในช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะหากอายุเกินกว่านั้น ถ้าจระเข้เป็นแผล หนังจะไม่สามารถสมานกันได้สนิท
บริษัทจะรับซื้อจระเข้คืนจากเกษตรกร เมื่อจระเข้โตจนมีความยาว 180 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเลี้ยง 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกพันธุ์ที่ซื้อไป และราคารับซื้อจะขึ้นอยู่กับความยาว และคุณภาพหนังของจระเข้เป็นหลัก
หนังจระเข้ไทยคุณภาพเยี่ยม
กำธร เต็มศิริพงศ์ อีกหนึ่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชา โมด้า จำกัด ซึ่งดูแลด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องหนังจระเข้ ภายใต้แบรนด์ 'karissa' อธิบายถึงวิธีการรับซื้อจระเข้ ว่า
"หนังจระเข้นิยมนำไปผลิตเป็นกระเป๋ามากที่สุด รองลงมาก็เป็นพวกรองเท้าและเข็มขัด หนังจระเข้ที่นำมาใช้จึงต้องมีขนาดใหญ่พอ และหนังส่วนที่นิยมนำมาผลิตเป็นกระเป๋าก็คือหนังท้องซึ่งมีความนุ่ม ดังนั้นจระข้ที่เราจะซื้อคืนจึงต้องมีความยาวตั้งแต่หัวถึงหาง 180 ซม.ขึ้นไป หรือวัดรอบอกได้ 50 ซม.ขึ้นไป โดยราคาจะพิจารณาจากคุณภาพหนังและความยาวรอบอกเป็นหลัก ในที่นี้จะพูดถึงจระเข้ที่เลี้ยงบ่อเดี่ยวซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เกรด คือถ้าเป็นเกรดเอ ความยาวรอบอก 50 ซม. ราคาเซนติเมตรละ 139 บาท รอบอก 65 ซม.ขึ้นไป ราคาเซนติเมตรละ 145 บาท เกรดบี ความยาวรอบอก 50 ซม. ราคาเซนติเมตรละ 129 บาท รอบอก 65 ซม.ขึ้นไป ราคาเซนติเมตรละ 135 บาท และเกรดซี คิดราคาเดียวคือเซนติเมตรละ 90 บาท แต่หากเป็นจระเข้ที่เลี้ยงแบบบ่อรวมราคาก็จะลดลงอีก"
หลังจากรับซื้อจระเข้คืนจากเกษตรกรแล้วผู้ผลิตเครื่องหนังก็จะนำจระเข้เข้าโรงชำแหละ โดยถ้าเป็นจระเข้ที่มีคุณภาพหนังท้องสวยก็จะแล่โดยการผ่าหลัง แต่หากหนังท้องมีตำหนิมากก็จะใช้วิธีผ่าท้องเพื่อใช้หนังกระดูกซึ่งอยู่ส่วนหลังเป็นหลัก เมื่อชำแหละเสร็จจะนำหนังไปหมักเกลือเพื่อขจัดกลิ่นคาวและถนอมคุณภาพหนัง ส่วนเนื้อจะนำไปแปรรูปเป็นเนื้อจระเข้แช่แข็ง สำหรับกระดูก เครื่องใน และเลือดนั้นจะมีบริษัทมารับซื้อเพื่อผลิตเป็นยาต่อไป แต่บางบริษัทก็อาจจะทำการผลิตยาจากส่วนต่างๆของจระเข้เอง
ทั้งนี้ เหตุที่ผู้ประกอบการนิยมเลี้ยงจระเข้สายพันธุ์ Siamese Fresh Water Crocodile นั้น นอกจากจะเป็นเพราะไม่มีความดุร้ายแล้ว เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือขายได้ราคาดี เนื่องจากหนังจระเข้สายพันธุ์ไทยได้รับการยอมรับจากวงการแฟชั่นทั่วโลกว่าเป็นหนังจระเข้ที่มีคุณภาพดีและมีการเรียงตัวของหนังสวยเป็นอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากการเรียงตัวของหนังท้องมีสัดส่วนของลายวงกลมและลายสี่เหลี่ยมที่ความสมมาตรกัน (การผลิตเครื่องหนังจากหนังจระเข้นั้นนิยมใช้หนังส่วนท้องมากที่สุด) โดยมีลายสี่เหลี่ยมตรงกลางท้อง 60% และลายวงกลมซึ่งอยู่บริเวณข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง ด้านละ 20% (รวมเป็น 40%) อีกทั้งลายวงกลมยังเรียงจากใหญ่มาเล็ก ขณะที่จระเข้สายพันธุ์ออสเตรเลีย ลายสี่เหลี่ยมตรงกลางมีเพียง 40% และมีลายวงกลมด้านข้างถึง 60% ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาลายวงกลมข้างลำตัวจะมีขนาดเท่ากันหมด ซึ่งถือว่าไม่สวย
เนื้อจระเข้ถูกกว่าเนื้อวัว
ส่วนเนื้อจระเข้ที่ผู้รับซื้อนำไปทำเป็นเนื้อแช่แข็งนั้นปัจจุบันนอกจากจะส่งขายตามร้านอาหารจีนย่านเยาวราชแล้ว บางรายยังส่งขายตามซูปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าทั่วไปด้วย โดยเนื้อที่นิยมรับประทานและขายได้ราคาดีที่สุดคือส่วนหาง ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 240 บาท รองลงมาคือเนื้อลำตัว กิโลกรัมละ 160 บาท และเนื้อซี่โครง กิโลกรัมละ 80-100 บาท
ยศพงษ์ ซึ่งดูแลด้านการผลิตและจำหน่ายเนื้อจระเข้ ภายใต้แบรด์ 'deli croco' กล่าวว่า
" ผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้นี่ถือเป็นผลพลอยได้ที่นำมาเฉลี่ยต้นทุนของหนังจระเข้มากกว่า เพราะเมื่อนำหนังไปใช้แล้ว จะทิ้งเนื้อก็เปล่าประโยชน์ ปัจจุบันเนื้อจระเข้ราคาถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก ถูกกว่าเนื้อวัวอีกนะ คือถึงแม้จะมีผู้นิยมบริโภคมากขึ้น แต่ก็มีจำนวนผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วย แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยกล้ากินจระเข้นะ ไม่เหมือนคนจีนซึ่งถือว่าเนื้อจระเข้เป็นยาชูกำลัง บางตำราก็ว่าแก้ไซนัสเพราะกินแล้วมันร้อน ญี่ปุ่นก็ชอบกิน ส่วนใหญ่จะกินดิบเป็นซูชิ ส่วนพวกกระดูก เครื่องในต่างๆ ยกเว้นลำไส้ ทำเป็นยาได้หมด คนที่รับซื้อจะนำไปตากแห้งแล้วส่งออกไปจีน ไต้หวัน และฮ่องกง แต่ปัจจุบันเราไม่ได้ขายพวกนี้แล้ว เพราะตั้งใจว่าจะผลิตเป็นยาขายเอง แต่ก็คงต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนาน"
พ่อแม่พันธุ์
อย่างไรก็ดี นอกจากจระเข้ที่เลี้ยงไว้เพื่อแปรรูปเป็นหนังและเนื้อแช่แข็งแล้ว จระเข้เลี้ยงอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือจระเข้ที่เลี้ยงไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยผู้เลี้ยงจะคัดเอาจระเข้ในวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุ 7-8 ปี ขึ้นไปมาเลี้ยงในบ่อรวม ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม และถ่ายเทน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์คือในช่วงปลายปีนั้นจระเข้จะดุกว่าปกติ เวลาให้อาหาร ผู้เลี้ยงจึงต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ หลังจากจระเข้ตั้งท้องและวางไข่แล้วผู้เลี้ยงจะเก็บไข่ไปฟักในโรงฟักเพื่อนำลูกจระเข้ที่ได้มาขายเป็นลูกพันธุ์ให้เกษตรกรต่อไป
ยศพงษ์ บอกว่า " โดยธรรมชาติเวลาจะวางไข่จระเข้จะกวาดเอาใบไม้ใบหญ้ามารอง เราจึงเตรียมพื้นที่เลียนแบบธรรมชาติเพื่อที่จะสามารถกำหนดจุดที่วางไข่ได้ด้วย การเก็บไข่ก็ต้องเก็บภายใน 24 ชั่วโมงเพราะตัวอ่อนยังไม่ติดกับพนังด้านใดด้านหนึ่งของเปลือกไข่ และห้ามพลิกไข่เด็ดขาด ตอนเคลื่อนย้ายหยิบขึ้นมาอย่างไรก็ต้องวางกลับลงไปอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นไข่ขาวจะไหลลงมาทับตัวอ่อนซึ่งเกาะอยู่ที่ผนังเปลือกไข่ ทำให้ตัวอ่อนขาดอากาศตาย ส่วนการฟักจะต้องเก็บไข่ไว้ในห้องที่มีความชื้นสูงถึง 95% ของพื้นที่ เนื่องจากไข่ต้องดูดความชื้นจากอากาศเพื่อเพิ่มน้ำให้ตัวเอง โดยเราใช้หม้อต้มน้ำเพื่อสร้างความชื้นและควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม"
เส้นทางชีวิตของจระเข้เลี้ยงอาจจะดูน่าสงสารในสายตาของหลายคน แต่หากมองในแง่ดีจระเข้ก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศได้ไม่น้อยทีเดียว
* * * * * * * * * * *
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน