เอ่ยถึง 'ดร.เสรี วงษ์มณฑา' แล้วหลายคนรู้จักเขาหรือเธอทั้งในฐานะนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ พิธีกรรายการวิทยุ-โทรทัศน์ นักการตลาด อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และประธานบริษัท กู้ด คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดชื่อดังของเมืองไทย เรียกได้ว่าทุกงานที่จับล้วนประสบความสำเร็จและโดดเด่นกว่าอีกหลายๆคนในสาขาอาชีพเดียวกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนยอมรับนับถือคือความกล้าและความเป็นตัวของตัวเองของ ดร.เสรี เพราะเขาเป็นคนดังคนแรกๆที่กล้าเปิดตัวว่าเป็นเกย์ในยุค 20 กว่าปีก่อน ซึ่งสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างและให้การยอมรับกลุ่มชายรักชายเหมือนเช่นปัจจุบัน
ค้นพบตัวตนที่แท้จริง
"คือคิดว่าไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องปิดบัง ไม่อยากหลอกลวงใคร ตอนที่รู้ตัวว่าเราชอบผู้ชายนี่ อายุ 12-13 ปีแล้วนะ"ดร.เสรี เปิดใจถึงครั้งแรกที่เขาไม่อาจปิดกั้นความต้องการที่แท้จริงของตัวเองไว้ภายใน
เด็กชายเสรีในยุคนั้นต่างกับเด็กผู้ชายคนอื่นในวัยเดียวกัน ที่ชอบเตะฟุตบอลหรือเล่นตะกร้อ แต่เขากลับชอบเล่นหมากเก็บ เล่นอีตัก เหมือนกับเด็กผู้หญิงเสียมากกว่า
"ตอนเด็กๆยังไม่รู้อะไรเป็นอะไร ทั้งที่จริงๆแล้วแนวโน้มมันชัดเจนนะ" ดร.เสรีย้อนอดีตวัยเยาว์ให้ฟัง แม้ว่าในช่วงนั้นจะยังไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง
"เราก็มีทั้งเพื่อนผู้หญิงและผู้ชาย แล้วสมัยเด็กๆก็มักจะมีการจับคู่ให้ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นแฟนกัน ซึ่งเราก็โดนจับคู่แบบนั้นด้วย เลยคิดว่าเราชอบเพื่อนผู้หญิงคนนั้นจริงๆ แต่พอโตขึ้นถึงเริ่มรู้ตัวว่ารู้สึกกับผู้หญิงแค่เพื่อน คือมันไม่มีความตื่นเต้นทางเพศ แต่รู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมเวลาเราได้ไปกินข้าว ไปดูหนังกับเพื่อนผู้ชายคนนี้แล้วเรามีความสุข ทำไมเราชวนเพื่อนคนนี้ไปกินข้าวตั้ง 3-4 หน เขาไม่ไป เราก็ยังพยายามชวนครั้งที่ 5 เลยมารู้ที่หลังว่าเราจริงๆแล้วเราชอบผู้ชาย"
แต่การก้าวสู้เส้นทางสายเกย์จะมาจากแรงบันดาลใจภายในหรือไม่ก็ตาม แต่ปัจจัยในครอบครัวก็มีส่วนเกื้อหนุนไม่น้อยในการผลักดันให้ ดร.เสรีก้าวเดินอยู่บนถนนสายนี้
"คุณแม่ชอบจับแต่งตัวให้เป็นเด็กผู้หญิง" ดร.เสรีเล่าพร้อมขายความให้ฟังว่า คุณแม่อยากได้ลูกผู้หญิง คือแม่มีลูก 7 คน คนแรกถึงคนที่ 5 เป็นผู้ชายหมด คนที่ 6 เป็นผู้หญิง แม่ดีใจมาก... พอมาถึงเราคนที่ 7 แม่ก็หวังว่าจะได้ลูกผู้หญิงอีก แต่ดันเป็นผู้ชาย แม่เลยเลี้ยงมาแบบเด็กผู้หญิง จับแต่งเนื้อตัว มัดจุก สอนให้ทำกับข้าว ทำงานบ้าน ให้พับเพียบเรียบร้อย ไม่ดื้อ ไม่ซน
"เราเป็นคนเดียวในบ้านที่ว่ายน้ำไม่เป็นนะ แล้วเวลาแม่เข้าครัวก็จะช่วยหยิบโน่นหั่นนี่ แม่ไปทำผมไปตัดเสื้อผ้าก็เอาเราไปด้วย เวลาเลือกเสื้อผ้าแม่ก็จะถามสีไหนสวย เราก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้มา " ดร.เสรี บอกเล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะสนุกสนาน
ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่ยืนในสังคม
แต่เส้นทางชีวิตของ ดร.เสรีก็หาได้โรยด้วยดอกลาเวนเดอร์อันหอมกลุ่น หากแต่เป็นป่ารกชัฏที่ต้องแผ้วถางทางเดินด้วยตัวเองมาตั้งแต่เริ่มวัยทำงานจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างในปัจจุบัน ในวัยเด็กซึ่งอยู่ในโรงเรียนประจำนั้นเขาโดนแกล้งสารพัด แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนเก่ง เป็นที่พึ่งพาของเพื่อนๆ ช่วงหลังๆปัญหานี้จึงน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเขาเกือบหักเหอีกครั้งเมื่อเรียนจบปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ดร.เสรีสามารถสอบชิงทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาได้ แต่มีกรรมการบางท่านเสนอให้ตัดชื่อออกเพียงเพราะเห็นว่า เป็นเกย์ แต่โชคยังเข้าข้าง มีกรรมการอีกท่านหนึ่งคัดค้านไว้เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรม ในเมื่อเขาสอบได้คะแนนสูงสุดและระเบียบของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ห้ามเป็นเกย์จึงไม่มีเหตุผลที่จะตัดชื่อออก แต่เมื่อจบออกมาทำงานก็ยังไม่วายถูกกีดกันจากค่านิยมของสังคม ซึ่งกว่าเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นั้น เขาต้องฝ่าฟันกับกระแสวิจารณ์มาไม่น้อยทีเดียว
"คือเราจบปริญญาโทมาต้องใช้ทุนให้มหาวิทยาลัย โดยมาเป็นอาจารย์สอนวิชาสื่อสารมวลชนที่ธรรมศาสตร์ แต่มีอาจารย์บางท่านไม่อยากมาเป็นอาจารย์ที่นี่ เพราะกลัวว่าจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของสถาบัน ถึงขนาดเสนอให้ยกทุนให้เราไปเลยฟรีๆ ไม่ต้องมาสอนใช้ทุน(หัวเราะ) ตอนแรกๆเราก็โมโหนะ คือทำไมไม่มองเราที่ความสามารถ แต่เดี๋ยวนี้ปลงแล้ว คือเข้าใจว่าการที่จะบรรจุให้เกย์เข้าทำงานนี่มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก แต่มันยากตรงที่คนซึ่งเรารับเข้าไปเขาจะต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ว่าทำไมต้องเลือกเรา ถ้ามีคนมาสมัครงาน 5 คน ทุกคนเก่งเท่ากัน เขาเลือกผู้หญิงหรือผู้ชาย เขาไม่ต้องตอบคำถาม"
แม้ ดร.เสรีจะประสบความสำเร็จในหลายๆด้าน แต่เจ้าตัวบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เขาทุ่มเททำงานอย่างหนักก็คือแรงกดดันจากสังคม ซึ่งทำให้เขาต้องถีบตัวเองขึ้นมาเพื่อหาอากาศหายใจ
"ที่เห็นว่าเกย์ส่วนใหญ่เป็นคนเก่งนั้นเพราะมันจำเป็นต้องเก่งจึงจะมีที่ยืนในสังคม คือสภาพชีวิตมันย่ำแย่จึงต้องดิ้นรน การที่เกย์จะเข้าไปทำงานในบริษัทต่างๆมันยากกว่าชายจริงหญิงแท้ เพราะคนที่จะรับเราเขาลำบากใจ เราจึงต้องมีความสามารถที่โดดเด่นกว่าคนอื่น ถึงจะได้รับเลือก และถึงเราจะเก่งสักแค่ไหนคนทั่วไปก็ไม่อยากสนับสนุนให้เรามายืนอยู่ข้างหน้า เรียกว่าถ้าเป็นงานเบื้องหลังใครๆก็เรียกหา ดร.เสรี แต่อะไรที่เป็นงานเบื้องหน้าไม่มีใครมาชวนเราหรอก
อย่างรายการทีวีที่เราเป็นพิธีกรอยู่นี่ก็เป็นรายการของเราเอง (หัวเราะร่วน) เพราะถ้ารายการไหนมาจ้างเรา เจ้าของรายการก็จะถามว่าผู้ชายแท้ไม่มีหรือ ที่ผ่านมาเคยมีเพื่อนให้ไปช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไประมัดระวังในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราก็ตกลง ถ่ายทำเป็นหนังโฆษณาเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าหนังไม่ได้ออนแอร์! เพราะว่าเราเป็นเกย์ มีสินค้าหลายตัวที่มาติดต่อให้เป็นพรีเซ็นเตอร์นะ แต่ฝ่ายการตลาดเขาไม่กล้าเลือกเรา" ดร.เสรี ตัดพ้อถึงความไม่เป็นธรรมของสังคมที่ตัดสินคนแค่คำว่า 'เกย์'
คู่แท้ ครองรักมากว่า 23 ปี
อย่างไรก็ดี นอกจากหน้าที่การงานที่ต้องฝ่าฟันมาด้วยความยากลำบากแล้ว เงื่อนปมที่ถือเป็นเรื่องเศร้าใจอย่างหนึ่งของบรรดาชาวสีม่วงก็คือเกย์ส่วนใหญ่จะแก่ง่ายไร้คู่ เนื่องจากในโลกของเกย์นั้นจะมีช่วงชีวิตวัยรุ่นหรือวัยหนุ่ม (สาว) ค่อนข้างสั้น โดยเกย์ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปล้วนถูกตีตราว่าเป็นเกย์เฒ่า เนื่องจากเกย์เป็นกลุ่มคนที่ชอบความสุนทรี จึงมักให้ความสนใจคนที่หน้าตาดี ดังนั้นคนที่อายุเยอะ หน้าตาผิวพรรณเริ่มถดถอย ไม่หล่อ (ไม่สวย) แต่งตัวไม่ดี จึงมักไม่ได้รับความสนใจ หรือแม้แต่การที่เกย์จะไปพรีเซ็นต์ตัวเองกับผู้ชาย ถ้าเป็นเกย์ที่อายุมากแล้วก็ถือเป็นเรื่องลำบากเช่นกัน นอกจากนั้นเกย์ยังจัดเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม จึงหาคู่ได้ยาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วผู้ที่เป็นชายจริงหญิงแท้ก็จะไม่มาคบหาอยู่กินกับเกย์
แต่ในกรณีของ ดร.เสรีแล้วถือว่าโชคดีที่สามารถหารักแท้และอยู่กันกันมายาวนานถึง 23 ปี ซึ่งเหตุที่สามารถครองคู่กันได้ยาวนานขนาดนั้น ดร.เสรี เผยว่า เป็นเพราะทั้งคู่ต่างดูแลเอาใจใส่กันและที่สำคัญต่างไม่ลืมที่จะเติมความหวานให้กันตลอดเวลา ส่วนเขาคนนั้นจะเป็นใคร ดร.เสรีขอเก็บไว้ซอกใจเพียงผู้เดียว
"ถ้าถามว่า เคยอกหักไหม มันก็เคยด้วยกันทั้งนั้น ทำไมถึงเลิกกัน ก็เพราะเขาทิ้งเราไป (หัวเราะ) แล้วทำไมกับคนนี้เราถึงได้รักกันยาวนานขนาดนี้ อย่างหนึ่งก็อาจเรียกได้ว่าเป็นความโชคดีที่เจอคนจริงใจและไปด้วยกันได้ แต่อีกอย่างที่สำคัญมากคือการดูแลเอาใจใส่กัน รู้ใจกันว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร จะเป็นห่วงเป็นใยกันตลอด " ดร.เสรี เล่าถึงเรื่องราวชีวิตรักด้วยแววตาเป็นประกาย
ส่วนที่คนทั่วไปให้คำจำกัดความกับเกย์ก็คือ การแสวงหาความรักและเซ็กซ์อยู่ตลอดเวลานั้น ดร.เสรี แสดงทัศนะไว้อย่างสนใจว่า การที่เกย์มักถูกมองว่ามักมากหรือแสวงหาเซ็กซ์นั้นเป็นเพราะการมีความรักและการมีเซ็กซ์ของเกย์นั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะประชากรเกย์มีน้อย และชายแท้จะไม่มารักกับเกย์ ดังนั้นเกย์จึงต้องใช้ความพยายามในเรื่องนี้มาก
"เกย์ ต้องพยายามพรีเซ็นต์ตัวเอง ต้องใช้ความถี่ในการแสวงหา เพราะมันไม่ค่อยมีใครมาสนใจเรา คือลงทุนจีบคน 10 คน พวกที่เป็นชายจริงหญิงแท้อาจจะได้มา 7 คน แต่เกย์อาจได้แค่ 1 หรือไม่ได้เลย เมื่อพยายามมาก ภาพมันเลยออกว่าไอ้พวกนี้มันกระเหี้ยนกระหือรือเหลือเกิน ซึ่งการที่เกย์จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ก็ต้องยอมรับความจริง อย่าไปหวังอะไรที่มันมากเกินไป หรือหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งในเรื่องงานและความรัก"
ฒ.ผู้เฒ่าขอเม้าท์หน่อย
ในเมื่อชีวิตเกย์ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมายและต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้กลายเป็นเหยื่อของคนที่ใช้จุดอ่อนของเกย์มาเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการจัดทอล์กโชว์ 'เวทีนี้ไม่มี...ผู้ชาย ตอน ฒ.ผู้เฒ่า ขอเมาท์หน่อย' ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 4 และวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย. 2549 โดย ดร.เสรี กล่าวว่า
"การจัดทอล์กโชว์ถือเป็นส่วนหนึ่งของคนชื่อ 'เสรี วงษ์มณฑา' ไปแล้ว โดยที่ผ่านมาเราได้จัดทอล์กโชว์ที่แฝงสาระข้อคิดผ่านอารมณ์ขันเช่นนี้ติดต่อกันมาหลายปี แม้ว่าเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมาจะไม่สามารถจองสถานที่จัดงานได้และเป็นเหตุให้ไม่มีทอล์กโชว์มันๆ ให้ได้ชมกัน แต่ปีนี้รับรับรองได้ว่าไม่ผิดหวังแน่ เพราะยังคงยึดคอนเซ็ปต์เรื่องราวของบรรดาเกย์ซึ่งได้สร้างความฮือฮาอย่างมากเมื่อครั้งทอล์กโชว์ปี 2547
คือในปี 2547 เราทำทอล์กโชว์ชื่อ เวทีนี้ไม่มี...ผู้ชาย ซึ่งพูดถึงการแยกแยะเกย์แต่ละประเภท วิธีสังเกตพวกอีแอบทั้งหลาย รวมทั้งวิธีการเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเกย์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมดีมาก....ปีนี้เลยคิดว่าน่าจะทอล์กเรื่อง เวทีนี้ไม่มี...ผู้ชาย อีกครั้งหนึ่ง แต่เนื้อหาจะต่างออกไปโดยจะเล่าถึงประสบการณ์ทั้งดีทั้งร้ายที่บรรดาเกย์ได้ประสบพบเจอตั้งแต่วัยกระเตาะจนถึงวัยดึก โดยเราเชิญบรรดาเกย์เฒ่ามาขึ้นเวทีเพื่อแชร์ประสบการณ์กัน ก็มีผม คุณมัม ลาโคนิคส์ , เดย์ ฟรีแมน และโจแอน บุญสูงเนิน
เราอยากให้เรื่องราวของเราเป็นอุทาหรณ์ให้คนทั่วไป คือมีบางอย่างที่เราเคยทำสมัยวัยรุ่น แต่พอตอนแก่เราหันไปมองแล้วรู้สึกอาย ทุเรศตัวเอง เช่น ประสบการณ์ที่ถูกผู้ชายหลอก หรือมีบ้างไหมที่เคยหลอกผู้ชาย เรื่องที่เคยผิดหวัง เคยโดนแกล้ง หรือประสบการณ์การฆ่าตัวตาย เพราะคนที่มาทอล์กนั้นเท่าที่ถามดู ทุกคนเคยคิดและลงมือฆ่าตัวตายมาแล้วทั้งนั้น ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมตัวว่าพอเป็นเกย์แก่จะต้องทำตัวอย่างไร เรามองว่าจริงๆแล้วเรื่องของเกย์มันมีอะไรที่น่าสนใจเยอะนะ มีทั้งถูกหลอกด้วยความโง่ หรือด้วยความมักมาก หรือบางคนก็เก๊กแมนเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับผู้ชาย พอผู้ชายเผลอก็เสร็จเกย์!"
///////////////////////
'สุริยะใส'ชวนขึ้นเวทีพันธมิตรฯ
บทบาทหนึ่งของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่โดดเด่นในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ก็คือการขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อร่วมขับไล่รัฐบาลที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง ดร.เสรีเท้าความถึงที่มาที่ไปในการมีส่วนร่วมครั้งนี้ ว่า
"ที่ได้ขึ้นไปแสดงความเห็นบนเวทีพันธมิตรฯ เพราะสุริยะใส (สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) มาชวน คือเขาได้ยินเราจัดรายการวิทยุคลื่น FM.98 วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ และมีบทความในคอลัมน์เหนือกระแสของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ก็ด่ารัฐบาล ก็เลยโทร.มาชวน เราก็ไปเลยเพราะทนกับอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งตอนตัดสินใจไปร่วมกับพันธมิตรฯ นี่ก็ไม่กลัวนะว่าจะถูกรัฐบาลกลั่นแกล้งหรือถูกยุบรายการ เพราะเรามีงานอย่างอื่นด้วย ถ้าจัดรายการไม่ได้เราก็ยังมีงานสอนหนังสืออยู่ จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน แต่ก็แปลกนะ กลับไม่เคยโดนอะไรเลย ไม่เคยโดนขู่ ไม่เคยแม้แต่โทร.มาถาม หรือขอร้องอะไร ตอนนี้ก็คงเหมือนคนอื่นๆคือดีใจที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แล้วก็ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนครั้งนี้"
///////////////
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน