xs
xsm
sm
md
lg

รุ่นแรกพันธุ์ “HOME SCHOOL”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอบ้าขังลูกอยู่กับบ้าน ไม่ยอมให้ไปโรงเรียน” ...ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยกล่าวหาบิดาของ 3 หนูน้อยในครอบครัวหนึ่งว่ามีความคิดผิดเพี้ยน กระทั่งเป็นข่าวครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์ เพียงเพราะผู้เป็นบิดาและมารดาของเด็กๆ ต้องการจะสอนหนังสือ และถ่ายทอดปลูกฝังลักษณะอันพึงประสงค์ให้แก่บุตรหลานด้วยตนเอง

นพ.โชติช่วง ชุตินธร และ วิจิตรา ชุตินธร คือ 2 สามีภรรยา ที่ไม่ยอมส่งลูกให้เข้าไปสู่ระบบโรงเรียน แต่จัดการศึกษาให้ลูกด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ในปัจจุบัน หากแต่ในปี 2527 สังคมไทยไม่เคยรู้จักการศึกษาในรูปแบบดังกล่าว...สิ่งที่หมอโชติช่วงและครอบครัวทำจึงถูกสังคมมองว่าเป็น “หมอบ้า”

ครอบครัวของหมอโชติช่วง ซึ่งเป็น Home School ครอบครัวแรกของเมืองไทย มีลูกทั้งหมด 3 คน ดนัย ชุตินธร บุตรชายคนโต ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สุนิศา ชุตินธร หรือ ซูซาน ปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการทาง Thailand Outlook Channel สถานีโทรทัศน์ ASTV ส่วนบุตรชายคนสุดท้อง กฤษฎา ชุตินธร ศึกษาอยู่ที่ประเทศจีน

**เหตุจากการศึกษาล้มเหลว

หมอโชติช่วง บอกเล่ามูลเหตุของการจัดการศึกษาให้ลูกด้วยตนเองว่า การศึกษาของเมืองไทยล้มเหลว เพราะมุ่งไปที่ความรู้มากเกินไป แต่ขาดคุณธรรม จริยธรรม และทำให้คนคิดเองไม่เป็น จึงต้องการจะจัดการศึกษาให้ลูกด้วยตนเอง ซึ่งในขณะนั้นการจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย จึงทำให้ถูกคนอื่นมองว่า “บ้า” แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นก็ยังออกมาขู่ว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาจัดการ แต่นักวิชาการได้ออกมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า การจัดการศึกษาควรมีความหลากหลาย และสิทธิในการจัดการศึกษาควรเป็นของพ่อแม่มิใช่ของรัฐ หากพ่อแม่ไม่สามารถจัดได้จึงให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ

“ผมรู้ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มีการจัดโฮมสกูลกันเป็นปกติ รวมทั้งได้ศึกษาจากบทความทางวิชาการ งานวิจัยจำนวนมาก ก่อนที่จะตัดสินใจไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน ตอนที่ตกเป็นข่าวก็ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร เพราะเราเชื่อมั่นแล้วว่าทางที่เราเลือกถูกต้อง ก็อย่าไปหวั่นไหว”

วิธีการจัดการศึกษาของหมอโชติช่วงนั้น ให้ลูกได้เรียนรู้จากชีวิตประจำวัน ไปไหนพาไปด้วย ไม่ว่าจะไปเที่ยว ไปตลาด ไปธนาคาร หรือไปทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆ และเมื่อลูกมีคำถามก็ร่วมกันหาคำตอบ หมอและภรรยาจึงสอนลูกเองทุกคนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเอาชื่อไปขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี จากนั้นก็ให้สมัครเรียนการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเรียนในโรงเรียนนานาชาติควบคู่ไปกับ กศน.ด้วย

“ถึงวันนี้ลูกทุกคนเติบโตหมดแล้ว ผมพอใจกับสิ่งที่ได้ปลูกฝังให้กับพวกเขา เพราะองค์ประกอบ 4 ด้าน ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม และเรื่องคุณธรรม ผมว่าลูกทุกคนเขามี ซึ่งสิ่งที่ผมทำ ผมไม่ได้ตั้งใจจะสร้าง Superwoman หรือ Superman ผมต้องการสร้างคนที่เอาตัวรอดได้ เลือกรับในสิ่งที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมได้ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าตัดสินใจแค่นั้นเอง”

หลายๆ คนอาจคิดว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัวนั้น ครอบครัวนั้นๆ จะต้องมีฐานะ แต่ หมอโชติช่วงยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องมีฐานะดีมาก เพียงแต่พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งจะต้องมีเวลาที่จะดูแล และให้การศึกษาลูกอย่างจริงจัง หากต้องทำงานทั้ง 2 คน ก็ไม่ควรจะตัดสินใจเอาลูกออกจากโรงเรียน

**ผลผลิตจากโรงเรียนในบ้าน

ซูซาน บุตรสาวคนกลางของหมอโชติช่วง ซึ่งถือเป็นนักเรียนโฮมสกูลรุ่นบุกเบิก พูดคุยด้วยรอยยิ้มว่า แม้ว่าจะยังเด็ก แต่ก็จำเหตุการณ์ในช่วงที่เป็นข่าวได้ชัดเจน เพราะช่วงนั้นมีนักข่าวไปถึงที่บ้าน ไปพูดคุยด้วยบ้าง ให้อ่านหนังสือให้ฟัง ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

“ซูไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองแปลกจากเด็กคนอื่น เพราะเราเรียนอยู่ที่บ้านมาตลอด และก็มีความสุขดี แต่พอมีคนมาถามหลายๆ คนเราก็เริ่มไม่เข้าใจ เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก ก็จะถามจากคุณพ่อคุณแม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเรา ซึ่งทั้ง 2 ท่านก็จะอธิบายให้เราฟังว่า เด็กคนอื่นๆ เขาไปโรงเรียนกันนะ แต่ซูไม่ได้ไปเพราะซูเรียนอยู่ที่บ้าน พ่อและแม่สอนหนังสือให้ อะไรที่เราติดใจสงสัย ท่านก็จะอธิบายให้ฟังอย่างใจเย็น เราจึงไม่รู้สึกแตกต่าง แต่ถามว่าเคยรู้สึกอยากไปโรงเรียนไหม เคยอยากไปโรงเรียนตามประสาเด็ก แต่จริงๆ แล้วเราอยากอยู่กับครอบครัว ได้อยู่กับแม่มีความสุขมากกว่า”

ซูซานบอกด้วยว่า “ความแปลกแยก” ที่เกิดขึ้นกับเด็กโฮมสกูลนั้น เกิดจากการยอมรับของสังคม แต่ไม่ได้เกิดจากการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เพราะหากสังคมให้การยอมรับกับการศึกษารูปแบบนี้ เด็กก็จะไม่รู้สึกแปลกแยก ส่วนที่หลายคนบอกว่าเด็กที่เรียนอยู่ที่บ้านนั้น จะประสบปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ซูซานยืนยันเช่นกันว่า ทุกวันนี้เธอมีเพื่อนเยอะ และเที่ยวเฮฮากับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันโดยไม่มีปัญหา

เมื่อต้องกลับเข้าสู่การศึกษาในระบบ ซึ่งซูซานเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหิดลนานาชาติเธอระบุว่า ความรู้ที่ได้จากรูปแบบการศึกษาในวัยเยาว์ที่ผ่านมา ไม่ได้ก่อปัญหาในชั้นเรียนให้กับเธอแต่อย่างใด

“ในครอบครัวจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกันเป็นหลัก เพราะฉะนั้นซูและพี่น้องจะไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ ประกอบกับเราได้เรียนควบคู่ในโรงเรียนนานาชาติ และ กศน. ทำให้ความรู้ทางวิชาการไม่ด้อยกว่าเด็กในระบบ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต่างจากคนอื่นคือ เราจะกล้ายกมือถามเมื่อมีปัญหา ขณะที่คนอื่นๆ มักจะนั่งนิ่ง ปล่อยให้ความสงสัยนั้นผ่านเลยไป ซึ่งนิสัยกล้าถามของซู น่าจะเป็นผลมาจากการเรียนกับคุณพ่อ คุณแม่ที่เราถามได้ตลอดเวลา และทุกครั้งที่เรามีปัญหาสงสัย”

นอกจากนี้ ซูซานยังรู้สึกด้วยว่า เธอโชคดีกว่าเด็กคนอื่นๆ อีกมาก เพราะมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากของจริง ทั้งในและนอกตำรา และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวที่ทำได้ตลอดเวลา ไม่ได้ถูกจำกัดให้เรียนเป็นเวลา และต้องเรียนเหมือนกันทุกๆ คน ทั้งที่เด็กไม่ได้อยากเรียนเหมือนกัน หรือบางเวลาเด็กไม่พร้อมที่จะเรียนก็ถูกบังคับให้เรียน

**หมู่บ้านเด็กโรงเรียนของโฮมสคูล

สำหรับครอบครัวโฮมสกูล ชื่อของ “โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก” มูลนิธิเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสถานศึกษาที่ครอบครัวทางเลือกต่างรู้จักกันดี เพราะหลายครอบครัวเลือกที่จะนำบุตรหลานไปขึ้นทะเบียนไว้กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หลังจากตัดสินใจว่าจะจัดการศึกษาให้กับลูกเอง เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้มีความเข้าใจถึงความรู้สึกของพ่อแม่ และเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างดี จึงนำไปสู่การเปิดกว้าง

“แม่แอ๊ว” รัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนโฮมสกูลมาลงทะเบียนไว้จำนวนมากว่า ครอบครัวหมอโชติช่วงเป็นครอบครัวแรกที่พาลูกมาลงทะเบียน และจัดการศึกษาโดยครอบครัวกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โดยหมอโชติช่วงได้พาลูกมาที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทั้งเพื่อร่วมเรียน พูดคุย และสาธิตการสอนที่โรงเรียน

แม่แอ๊วเองก็มีสถานะไม่แตกต่างจากหมอโชติช่วง เมื่อขณะนั้นสังคมไทยไม่คุ้นเคยกับโฮมสกูล แต่เหตุผลที่แม่แอ๊วตัดสินใจรับลูกๆ ของหมอโชติช่วงเข้าเป็นนักเรียนของหมู่บ้านเด็ก โดยให้เรียนหนังสืออยู่ที่บ้านได้ เนื่องจากแม่แอ๊วเชื่อในความรักของพ่อแม่

“แม่แอ๊วเองก็มีลูกและรักลูกมาก จึงมีความเชื่อว่าอะไรดีๆ ที่โรงเรียนอาจจะให้ไม่ได้ คนเป็นพ่อแม่สามารถให้ได้ จึงอยากจะสนับสนุนให้คุณหมอโชติช่วงได้จัดการศึกษาให้กับลูก ซึ่งแม่แอ๊ว และคุณพิภพ ธงไชย(สามี) ก็อยากจะทุบอำนาจของรัฐ ที่รัฐกุมอำนาจการจัดการศึกษาเอาไว้ทั้งหมด ทั้งที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการศึกษา การใช้ชีวิต และพ่อแม่ควรมีส่วนในการกำหนดวิธีคิดของลูกเมื่อลูกยังเล็กได้ด้วย”

อีกทั้งวิธีการเรียนการสอนของหมอโชติช่วง ได้สร้างความประทับใจให้กับแม่แอ๊วเป็นอย่างมาก โดยใช้วิธีสอนเหมือนไม่ได้สอน

“คุณหมอใช้วิธีการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง แต่มีการกำหนดกติกาว่าคุณแม่ของเด็กๆ จะเล่านิทานเป็นภาษาไทย แล้วคุณหมอจะถามเป็นภาษาอังกฤษ แต่ลูกๆ ต้องตอบเป็นภาษาจีน ซึ่งเด็กๆ ต่างสนุกกับวิธีการนี้ เพราะได้ฟังนิทาน อยากโต้ตอบกับพ่อและแม่ และคุณหมอจะไม่บังคับ แต่ให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตนเอง”

ประกอบกับการเรียนการสอนของหมู่บ้านเด็ก จะไม่ “บังคับ” ให้เด็กต้องเข้าห้องเรียนเมื่อเด็กไม่อยากเรียน นักเรียนสามารถวิ่งเล่น สนุกสนานอยู่ภายในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้ จนเมื่อรู้สึกว่าพร้อมที่จะเรียนรู้ นักเรียนก็สามารถเข้าชั้นเรียน หรือขอให้คุณครูสอนให้ได้ทันที ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว คล้ายคลึงกับรูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่บ้านหลายหลังใช้อยู่

ส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทางครอบครัวต้องส่งให้กับทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเพื่อพิจารณานั้น แม่แอ๊ว จะไม่เคร่งครัดว่าจะต้องเป็นไปตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทุกกระเบียด เพราะหากทำเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนในชั้นเรียน เพียงแต่นำเด็กออกมาเรียนที่บ้าน และเรียนตามลำพังแค่นั้น

“ที่เราไม่ได้เคร่งครัดกับหลักสูตรของครอบครัวมากนัก เพราะเราไม่ได้เล็งเลิศที่ผลการเรียนเด็ก แต่เราต้องการให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข และเชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะรู้จักลูกของตนเองดีที่สุด รู้ว่าช่วงไหน วัยไหนลูกควรจะเรียนเรื่องอะไร อย่างไร ซึ่งหลังจากครอบครัวคุณหมอโชติช่วง ก็มีอีกหลายครอบครัวที่มาลงทะเบียนกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กระทั่งสามารถผลักดันให้การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ถูกบัญญัติเอาไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้สำเร็จ

**ไม่เล็งเลิศที่ผลการเรียน

ครอบครัวของแม่แอ๊วเองก็เป็นครอบครัวหนึ่งที่จัดการศึกษารูปแบบโฮมสกูลโดยแม่แอ๊วบอกว่า ตัวแม่แอ๊ว ไม่ได้เป็นคนเลือกที่จะจัดการศึกษาแบบโฮมสกูล หากแต่คนที่เลือกคือลูกชาย

แม่แอ๊ว เล่าเรื่องของ ธาร ธงไชย บุตรชายคนที่สองของแม่แอ๊วให้ฟังว่า ธารนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ธารได้มาบอกกับแม่ว่า ไม่อยากจะไปโรงเรียนแล้ว แต่จะขออยู่บ้านเฉยๆ ซึ่งแม่แอ๊วก็ยอมให้บุตรชายออกจากโรงเรียนและใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับคุณย่า

“ที่เรายอมให้ลูกออกมาอยู่บ้าน เพราะเด็กไม่อยากเรียนหนังสือ แสดงว่าเขาไม่พร้อมที่จะเรียน ไปบังคับให้เขาเรียนก็ไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อไหร่ที่เขาพร้อมเขาจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ธารก็เลยอยู่บ้านกับคุณย่าโดยไม่ต้องไปโรงเรียน แต่แม่แอ๊วจะสังเกตลูกว่าลูกสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ธารจะชอบอ่านหนังสือการ์ตูน เราก็ขอให้คุณย่าสอนเรื่องการอ่านให้เขา หรือเวลาเขาอยากจะซื้ออะไร เราก็จะให้เขาศึกษาก่อน ธารก็จะหาหนังสือเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ มาอ่าน ทำให้เขาติดเป็นนิสัยว่าจะตัดสินใจซื้ออะไร ต้องหาข้อมูลก่อนอย่างละเอียด”

ธารกลับเข้าเรียนในระบบอีกครั้งในระดับ ป.3 แต่เรียนได้เพียงเดือนเดียว ก็ขอกลับมาเรียนที่บ้านอีกครั้ง แต่ระหว่างนั้นธารก็จะได้เรียนเรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์จากที่บ้านด้วย

“ตอนนั้นแม่แอ๊วก็คุยกับคุณพิภพว่า การที่เรายอมแบบนี้ทำให้ลูกเสียโอกาสในการศึกษาไปหรือเปล่า แต่ก็คิดว่าเราควรจะทดลองดู ธารอาจจะเป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย เพราะไม่ต้องถูกบังคับให้เรียนโดยไม่อยากเรียน ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และไม่ต้องแข่งขันกับใคร”

กระทั่งธารพร้อมที่จะกลับเข้าสู่โรงเรียน เขาได้เดินมาบอกผู้เป็นแม่ด้วยตนเองว่า เขาต้องการเรียนหนังสือร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ธารกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับชั้น ป.5

แต่...เมื่อจบชั้น ป.6 ธารก็เลือกที่จะลงทะเบียนเรียนการศึกษานอกโรงเรียนแทนการเรียนในชั้น จนจบชั้น ม.6 และศึกษาจนจบปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

“ธารบอกแม่แอ๊วว่า เขาไม่ชอบเรียนในโรงเรียน เพราะถูกบังคับให้เรียน แต่ในระดับปริญญาตรีซึ่งค่อนข้างให้อิสระมากกว่าเขารับได้ และมีเพื่อนฝูงตามปกติ ซึ่งสิ่งที่แม่แอ๊วสนใจ ไม่ใช่ผลการเรียนที่ปรากฏ แต่ลูกเรียนอย่างมีความสุข ได้ทำงานที่ตัวเองรัก และมีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินชีวิต”

ปัจจุบันธารทำงานอยู่ในฝ่ายศิลปกรรม บริษัท รักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด โดยไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมแต่อย่างใด

ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้ฝากถึงผู้บริหารในกระทรวงศึกษาฯ ว่า ต้องคิดถึงการศึกษาแนวอื่นนอกจากในโรงเรียน และต้องเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ และเด็ก ขณะเดียวกันการประเมินผลก็ต้องมองว่าไม่ใช่แนวเดียวกับทางโรงเรียน แต่ต้องดูหลักสูตรและเป้าหมายของแต่ละครอบครัว

“สิ่งสำคัญของการจัดการศึกษาคือ คือ ให้เด็กสนุกกับการเรียน ให้เขาภูมิใจในตัวเอง เห็นศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกันต้องไม่ปลูกฝังให้เด็กแข่งขัน เพราะหากเขาต้องแข่งขันเท่ากับเขาต้องเขี่ยทุกคนอออกจากทาง จะทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว เมื่อโตขึ้นเขาจะอยู่ในสังคมโดยไม่กอบโกย นี่จึงจะถือว่าเป็นความสำเร็จของการศึกษา”

แม่แอ๊วแนะนำด้วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรเปิดโอกาสให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ร่วมทำหลักสูตรจริยธรรม หรือมีชั่วโมงสอนจริยธรรมที่บ้าน โดยคนในครอบครัวสามารถสอนลูกเรื่องชีวิต การมีน้ำใจ การทำมาหากิน ตลอดจนวัฒนธรรมชุมชนให้กับเด็ก และคิดเป็นชั่วโมงเรียนให้ด้วย

สุดท้าย หมอโชติช่วง คุณพ่อโฮมสกูลคนแรกของไทย กล่าวว่า “การศึกษาโฮมสกูลไม่ได้ดีที่สุดในโลก แต่สิทธิการจัดการศึกษาเป็นของพ่อแม่ หากเราอยากสอนลูกเองเรามีสิทธิทำได้ แต่เราก็ต้องพร้อมด้วย ซึ่งต้องพิจารณาว่าครอบครัวเราควรจะให้การศึกษาลูกแบบไหน หากเราทำไม่ได้ก็ให้รัฐเข้ามาช่วย เพราะการศึกษาทุกรูปแบบมีข้อดี ขึ้นอยู่กับลักษณะและความพร้อมของแต่ละครอบครัวเท่านั้น”

*******************

เรื่อง....คีตฌาณ์ ลอยเลิศ





กำลังโหลดความคิดเห็น