ท่ามกลางพ็อคเก็ตบุ๊คส์แนว ‘แฉ’ ทั้งหลายบนแผงหนังสือ ทั้งแฉชีวิตดารา, สาวไซด์ไลน์ ไปจนถึงเด็กใจแตก ที่นำเอาประสบการณ์ลับๆ โดยเฉพาะเรื่องหวือหวาบนเตียงมาเป็นจุดขาย และทำท่าว่าจะขายดิบขายดีเพราะมีหนังสือประเภทนี้ออกมาเกลื่อนกลาด อีกทั้งยังยึดเนื้อที่บนชั้นหนังสือไปเกือบหมด จนหนังสือวรรณกรรมแทบจะไม่มีที่ทางเหลือเป็นของตนเองในร้านหนังสือ
ในสภาวะการณ์เช่นนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกที่มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาพูดถึงเรื่อง ‘การจัดเรตติ้ง’ หนังสือ เพราะไม่เพียงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไดโนเสาร์ตกยุค ซึ่งไม่เพียงไม่ยอมกระโดดร่วมขบวนแต่กลับว่ายทวนกระแสนิยมของสังคม ผนวกกับเสียงเรียกร้องเองทั้งจากนักอ่านและนักเขียนกลุ่มหนึ่ง ทำให้หลายสำนักพิมพ์เริ่มหันมาทบทวนเนื้อหาและแนวทางหนังสือของตน โดยเฉพาะนวนิยายประเภท ‘โรมานซ์’ ที่มักถูกมองว่า ความรักกับกามารมณ์เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้
นวนิยายประโลมโลก (ย์) ?
ยุคหนึ่ง นวนิยายไทยโดยเฉพาะนวนิยายของนักประพันธ์สตรี หรือเรื่องที่แต่งออกมาสำหรับผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงมักจะถูกเรียกขานว่าเป็นหนังสือนวนิยายแนว ‘ประโลมโลกย์’ ที่มีเนื้อหาเน้นสร้างโลกียสุขแก่ผู้อ่าน ทำให้คอวรรณกรรมระดับจริงจังอาจมองข้ามหนังสือแนวนี้ไป ด้วยเห็นว่ามีเนื้อหาเบาหวิวไม่เหมาะสำหรับการเสพเพื่อครุ่นคิดจริงจัง
ทว่า นักเขียนเสาหลักแห่งวงวรรณกรรมไทยหลายคนอย่าง ศรีบูรพา, พนมเทียน, ก.สุรางคนางค์, ดอกไม้สด, สุวรรณี สุคนธา ฯลฯ กลับแสดงให้เห็นว่างานเขียนไม่ว่าจะเป็นประเภทใด สามารถสร้างพลานุภาพและส่งผลสะเทือนต่อความคิดของคนอ่านได้เช่นกัน หากว่างานประพันธ์นั้นสามารถเจาะลึกเข้าถึงแก่นของชีวิตจริงได้
ด้วยไม่อาจปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำว่า สังคมไทยไม่ว่าจะในอดีตหรือกระทั่งปัจจุบัน หลายครั้งที่ชีวิตจริงของคนเรานั้น ‘น้ำเน่า’ ยิ่งกว่านวนิยายเสียด้วยซ้ำ
กลับมาสู่ประเด็นงานเขียนในสมัยปัจจุบัน ที่สำนักพิมพ์ใหม่ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดหน้าฝน ส่งผลให้มีการแย่งชิงบทประพันธ์จากนักเขียนแม่เหล็กใหญ่ขึ้น สำนักพิมพ์น้องใหม่ทุนน้อยจึงจำต้องสร้างนักเขียนใหม่ของตนเองขึ้นมาแทนที่ และบางแห่งก็สร้างจุดขายด้วยการประกาศแนวทางว่าเป็นหนังสือแนวเรื่องรักหวานใสสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ
นี่เอง ที่นำมาสู่ประเด็นปัญหาใหม่ ว่าด้วยเรื่อง ‘ศีลธรรม’ ในงานเขียน โดยเฉพาะในงานเขียนของคนรุ่นใหม่ เพราะนักอ่านมากประสบการณ์บางคนชี้ว่า นี่เป็นการ ‘สอดไส้วรรณกรรม’ เพราะหลายเรื่องมีเนื้อหาแทบไม่ต่างจากนิยายเล่มละ 10 สตางค์ในอดีต แต่ถูกนำมาแต่งหน้าทาปากให้ดู ‘ร่วมสมัย’ มากขึ้นเท่านั้น !!
และที่ต้องเป็นกังวลก็เพราะกลุ่มผู้อ่านแนวนี้ไม่ใช่หญิงสาววัยทำงานเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่ลดระดับอายุเหลือเพียงนักเรียนชั้นมัธยม (หรือบางแห่งแค่ประถม) เท่านั้น ‘วิจารณญาณ' ในการอ่านด้วยวุฒิภาวะระดับนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
‘โรมานซ์’ โฉมใหม่
หากจะกล่าวถึงงานประพันธ์แนว ‘โรมานซ์’ (Romance) แล้ว มีคำนิยามถึงงานแนวนี้หลายอย่าง อาทิ เรื่องเล่าย้อนยุคเกี่ยวกับการผจญภัยและพฤติกรรมที่ห้าวหาญของพระเอกผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม, นวนิยายขนาดยาวเกี่ยวกับพระเอกผู้กล้าหาญกับเหตุการณ์ลึกลับน่าพิศวงต่างๆ , งานศิลปะที่เกี่ยวกับความรักที่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องแบบเพ้อฝัน เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนว่างานโรมานซ์ของไทยจะเข้าข่ายประเภทหลังมากที่สุด
ประดับเกียรติ ตุมประธาน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ปริ๊นเซส ในเครือสถาพรบุ๊คส์ ผู้ซึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติโฉมหน้านวนิยายแนว ‘โรมานซ์’ ของไทย จากในอดีตที่มักเป็นเรื่องแปลจากต่างประเทศ และมักใช้หน้าปกเป็นรูปชายหนุ่มล่ำและหญิงสาวระทดระทวยในอ้อมแขน มาเป็นหนังสือหน้าปกภาพวาดการ์ตูนธรรมดา แต่ประทับตราหราว่าเป็น ‘Romance novel’ ชัดเจน กล่าวถึงสาเหตุการตัดสินใจแยกออกมาพิมพ์งานแนวโรมานซ์โดยเฉพาะว่า เนื่องมาจากการหันมาจับงานเขียนแนววัยรุ่นของสำนักพิมพ์เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหนังสือไทยแนวนี้ค่อนข้างบูมมาก และมีหลายสำนักพิมพ์กระโดดลงมาจับงานแนวนี้มากขึ้น
ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านงานแนวโรมานซ์อยู่แล้ว โดยเฉพาะงานแปลของสำนักพิมพ์แก้วกานต์ วันหนึ่งประดับเกียรติก็ได้ไอเดียที่จะลองทำหนังสือแนวนี้ดู จึงเริ่มต้นค้นหางานโรมานซ์ไทยเก่าๆ อย่างงานของวลัย นวาระ, จามรี พรรณชมพู มาอ่านอย่างจริงจัง และได้เห็นว่างานเหล่านี้เป็นโรมานซ์ไทยก็จริง แต่มักมีกลิ่นอายของฝรั่งมาเจือปน กระนั้นงานเหล่านี้ก็ช่วยจุดประกายความคิดว่าคนไทยก็เขียนนวนิยายโรมานซ์ได้ หากเมื่อลองนำเสนอผู้ใหญ่ทางสำนักพิมพ์ไปในตอนแรกก็ถูกติงว่าคงสู้งานแปลของต่างประเทศไม่ได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสำนักพิมพ์ แต่ประดับเกียรติก็ยังคงยืนยันความตั้งใจจริงของเขา
“ก็บอกกับทางผู้ใหญ่ว่าผมจริงใจนะ ผมจะใส่พาดลงบนปกให้รู้เลยว่าเป็นโรมานซ์ ไม่ใช่ว่าพอเด็กหรือใครมาซื้อแล้วไม่รู้ เพราะมันจะมีผล หน้าปกอาจเป็นรูปเก้าอี้ รูปเสื้อผ้า พอไปอ่านข้างในแล้วเป็นโรมานซ์ แต่เราอยากให้ผู้ปกครองรู้ได้ว่ามันเป็นงานโรมานซ์ หนังสือเรื่องนี้วางอยู่ในบ้านผู้ปกครองก็รู้ ร้านค้าก็จะช่วยเราในเรื่องของการบอกกล่าวกับผู้อ่านด้วย”
แต่ความที่ปกดูหวานใสน่ารักเหมือนนวนิยายรักธรรมดาทั่วไป เสี่ยงต่อการหยิบผิดได้นั้น ประดับเกียรติมองประเด็นนี้ว่าอย่าไปดูถูกคนอ่านสมัยนี้ว่าเขาจะไม่รู้ เพราะบางทีคนอ่านนั้นรู้มากกว่าที่เรารู้ด้วยซ้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานวัยรุ่นบางแห่งถูกทวงถามถึงความเหมาะสมกับเนื้อหาที่ล่อแหลมทางศีลธรรมในหนังสือ
“จริงๆ แล้วสำนักพิมพ์ควรจะใส่เรตติ้งหนังสือให้ชัดเจน เพราะขนาด FHM ก็ยังมีบอก ผมเองก็ไม่ได้คิดมากถึงขนาดการแสดงความรับผิดชอบ คิดแต่ว่าให้รู้ซะเลย จะได้ไม่หยิบแล้วไปรู้ตอนหลัง ผู้ปกครองมาเจอว่างานโรมานซ์เป็นยังไง แต่ถามว่าสำนักพิมพ์ต้องรับผิดชอบหรือเปล่า ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับตัวสำนักพิมพ์เอง”
ในส่วนของการคัดเลือกต้นฉบับที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตนั้น ประดับเกียรติบอกว่าเขาจะใช้วิธีพิจารณาตามความเหมาะสมของเนื้อหา หากฉากเลิฟซีนใดไม่จำเป็นต่อเนื้อเรื่องก็จะตัดออก เพราะหัวใจสำคัญของนวนิยายโรมานซ์ที่แท้จริงแล้วอยู่ที่การวางโครงเรื่อง ไม่ใช่ฉากเลิฟซีน ถึงแม้ว่าเรื่องใดที่มีฉากแบบนี้มากจะได้รับคะแนนนิยมจากคนอ่านถล่มทลายก็ตาม
“ตอนอยู่ในเว็บโรมานซ์ก็จะมีหลายเรท เรทของเราก็จะเป็นเรทอ่อนสุด บางเรื่องในเว็บบางเว็บคะแนนนิยมสูงกว่าเรื่องที่เราเลือกมาด้วยซ้ำ เพราะผมมีความรู้สึกว่าจริงๆ โรมานซ์ไม่ได้สำคัญที่ฉากเลิฟซีน แต่นิยายสำคัญที่โครงเรื่อง แล้วโรมานซ์ที่เลือกมามันมีฉากที่พระเอกกับนางเอกได้แสดงความรัก มันก็ไม่ได้แตกต่างจากนิยายฝรั่งบางเรื่องที่มีฉากเลิฟซีน ถ้าเราให้ความสำคัญที่โครงเรื่อง มันจะอยู่ยาวกว่า ไม่จำเป็นว่าทั้งเล่มต้องมีแต่เลิฟซีน”
ซึ่งสิทธิการพิจารณาตัดทอนเนื้อหาของบรรณาธิการนี่เองที่ทำให้นักอ่านจากเว็บไซต์กลุ่มหนึ่งไม่เข้าใจ “นักเขียนเองก็เข้าใจ แต่ว่านักอ่านกลุ่มหนึ่งจะไม่เข้าใจ เพราะรู้สึกว่าเนื้อหามันหายไปเยอะมาก บางเรื่องหายไปที 5-6 หน้า ซึ่งเราก็ต้องอธิบายกับเขาว่า เราเอาโครงนะ บางทีบางฉากถ้ามันไม่จำเป็นจะต้องมีก็พยายามตัด”
ทั้งนี้ ภายหลังจากการแยกประเภทงานโรมานซ์ออกมาชัดเจนของสำนักพิมพ์ ประดับเกียรติบอกว่ายอดขายก็ไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไร นวนิยายบางเรื่องอาจได้ตีพิมพ์ซ้ำ แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ ส่วนเล่มที่ขายดีนั้นน่าจะเป็นเพราะสำนวนของผู้แต่งที่มีสำนวนการเขียนดีไม่แพ้นักเขียนมืออาชีพ
“นักเขียนผู้ใหญ่หลายคนก็เคยอ่านงานของจามรี พรรณชมพู งานของวลัย นวาระ สำหรับผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการตอบสนองความต้องการทางเพศ แต่มันมีความกุ๊กกิ๊ก น่ารัก ธรรมชาติของมนุษย์มันมีความอยากรู้อยากเห็น แต่ผู้หญิงกับผู้ชายมันต่างกัน ผู้ชายอาจจะวิ่งเข้าหาแบบเต็มๆ เลย แต่ตัวผู้หญิงเองจะไม่ชอบอะไรที่มันโจ๋งครึ่ม แต่ชอบอะไรที่มันดูซอฟท์ ดูสวยงามละเมียดละไม ไม่ใช่แบบหนังสือนวลนางที่ผู้ชายอ่านกัน แต่เป็นงานแบบของจามรีที่มันมีอะไรนิดๆ หน่อยๆ พอได้ฝันก็พอแล้ว แต่คงไม่ลุกขึ้นไปทำอะไรมากกว่านั้น”
ประดับเกียรติเองบอกว่า เขาอยากสร้างนักเขียนที่เป็นโลโก้ของงานแนวโรมานซ์อย่างจามรี-วลัย ขึ้นมาประดับวงการอีกสักคน “ล่าสุดผมได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘สิบเอ็ดนาที’ (eleven minutes) ของเปาโล โคเอโย ผมก็รู้สึกว่าทำไมเซ็กส์ของเขามันดูสวยงาม เรื่องโรมานซ์ของฝรั่งโครงเรื่องเขาเยี่ยมมาก ผมตั้งคำถามว่าเขาคิดพล็อตได้ยังไง บางเรื่องพอเราอ่านๆ ไป จะข้ามฉากเลิฟซีนไปเลย เพราะไม่อยากรู้ตรงนั้นมากมายแล้ว พอถึงจุดหนึ่งเราจะไม่รู้สึก เราจะมาอ่านโครงเรื่อง และชอบวิธีการคิดโครงเรื่องแทน ผมว่าหนังสือมันก็สะท้อนรสนิยมของ บก. เหมือนกันนะ แต่ว่าอาจจะไม่ทั้งหมด เพราะว่า บก.ก็อยู่ในเงื่อนไขของธุรกิจ การตลาด และเงื่อนไขของอะไรบางอย่าง”
สำหรับมาตรฐานของ บก.ประดับเกียรติเอง เขาบอกว่า เรื่องที่เขาเป็นบรรณาธิการนั้นจะไม่เน้นลงรายละเอียดฉากเซ็กส์มาก แต่จะเป็นแบบสำนวนแค่ ‘เดินเฉี่ยวกัน’ เท่านั้น บางฉากที่มีผลต่อเรื่องก็เก็บเอาไว้เป็นสีสันหรือน้ำจิ้มช่วยชูรสชาติแก่เรื่อง
“จริงๆ โรมานซ์มันไม่ได้เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ อย่างงานของทมยันตี นามปากกาโรสลาเรนหลายเรื่องก็เป็นงานโรมานซ์ งานโรมานซ์คืองานที่หลุดออกจากโลกของความเป็นจริง แต่คนไทยเราก็ยังคิดว่าโรมานซ์คืองานเกี่ยวกับเซ็กส์ แต่ของปริ๊นเซสเราคิดว่างานเราอยู่ตรงกลางระหว่างงานที่หลุดโลกจากความเป็นจริงกับงานอีโรติก ผมยังมองโรมานซ์แบบไทยๆ มากกว่าจะมองแบบโรมานซ์ของฝรั่ง คือน้ำยากินกับเส้นขนมจีนแบบไทยๆ ยังไงก็อร่อยกว่ากินกับเส้นสปาเก๊ตตี้ นักเขียนเป็นคนไทยมันหลุดมุมมองความเป็นไทยอยู่แล้ว และสื่อกับคนอ่านได้ง่ายมากกว่าด้วย”
ต่อประเด็นนักเขียนในอินเทอร์เน็ตที่เขียนเรื่องแนวโรมานซ์มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ประดับเกียรติมองว่าเขาไม่กังวลตรงจุดนั้น เพราะถือว่านั่นคือการนำจินตนาการมาปลดปล่อยในงานเขียน ดีกว่าเอาไปปลดปล่อยในทางด้านอื่น
“เหรียญมันมีสองด้าน ดาบมันมีสองคม เหมือนที่ผมอ่านในโคลงโลกนิติ เขาบอกในโลกนี้ทุกสิ่งล้วนเป็นสอง มันอยู่ที่คนมอง ผมมีความรู้สึกอย่างนั้น เชื่อว่ามันคือจินตนาการ บางทีเขาอาจจะมีความสุขกับการได้ทำตรงนั้น เด็กอายุ 18 ปี 16 ปี ถ้าเขาเอาเวลาส่วนใหญ่มานั่งเขียนหนังสือตรงนี้ ดีกว่าเขาเอาเวลาไปใช้ชีวิตอย่างสิ้นเปลือง การเขียนหนังสือได้ต้องใช้ความอดทน ต้องมีสมาธิ ต้องมีวิธีการคิดที่เป็นระบบ ผมว่ามันมีผลถึงเขานะ คนเขียนหนังสือไม่ค่อยเสียคนหรอก เพราะคนจะเขียนหนังสือได้ต้องมีพื้นฐานเป็นคนอ่านหนังสือ อย่างที่ผมเคยพูดกับหลายคนว่า ชีวิตผมเป็นหนี้นักเขียนมาตั้งแต่เด็ก เนื่องมาจากว่าตอนเด็กเรามีปัญหา แล้วเราเจ็บปวดกับมัน เราก็วิ่งไปหาหนังสือ เราได้พบว่าในงานของโบตั๋น ของกฤษณา ของสีฟ้า ของนักเขียนทุกคนที่อ่านมันมีอะไรสอนเรามาก แม้กระทั่งนิยายรักก็สอน บางเรื่องเราได้เรียนรู้วิธีการคิดของคนที่มันผ่านมาจากตัวละคร มันเป็นสติที่ยับยั้งเรา ซึ่งพอเขาอ่านถึงจุดหนึ่งก็อยากมาเขียน ซึ่งเป็นวิธีตอบสนองความสนใจอย่างหนึ่ง เท่าที่เจอคนที่เขียนหนังสือส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่ผาดโผนเกินมากมาย อาจจะมีบ้างแต่ก็อยู่ในจุดที่โอเค”
สุดท้าย สำหรับการเรียกร้องให้มีการจัดเรตหนังสือนั้น ประดับเกียรติบอกว่าเขาพร้อมจะทำ แต่ที่สำคัญคืออย่าไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ
“ผมว่าเราอย่าไปแก้เมื่อวางแผงแล้ว เราต้องแก้ตั้งแต่กระบวนการผลิตส่วนหนึ่ง เราต้องบอกว่ามันคือโรมานซ์นะ ต้องตัดออกไปซะอะไรที่มันมากเกินไป ในความคิดของผมทำไมถึงต้องใส่หน้าปกว่าเป็นโรมานซ์ เพราะมันช่วยในการสื่อสารกับคนไปในตัวโดยไม่ต้องบอก ผู้ใหญ่หลายคนก็ชมมาว่าดีนะที่ใส่เข้าไป เด็กผู้ใหญ่ที่อ่านก็จะได้รู้ หน้าร้านก็ชมมาว่าง่ายในการบอกผู้ปกครอง การจัดระดับของโรมานซ์ในบ้านเราอาจจะยาก เพราะจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีโรแมนซ์ในวันนี้ แต่งานอีโรติกมันมีมานานแล้วตั้งแต่จันดารา ผมว่าเราเองต่างหากที่ต้องช่วยกันจำกัดขอบเขตว่าควรมากน้อยแค่ไหน”
‘โรมานซ์’ แบบไทยๆ
ปัญหาการจัดเรตและเซ็นเซอร์สื่อในบ้านเราเป็นเรื่องที่ถกกันมานาน ดังนั้น ทัศนะของคนทำหนังสือที่มีประสบการณ์การทำหนังมาอย่างโชกโชนอย่าง ประไพพรรณ เหล่ายนต์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์มันดี จึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะสำนักพิมพ์มันดีนั้นก็ได้จัดเรตตัวเอง ด้วยการนิยามแนวหนังสือใหม่ขึ้นมาว่า แนว ‘อี - โรแมนติก’
เริ่มจากการจัดประเภทหนังสือที่ประไพพรรณมองว่าเป็นงานวรรณกรรม และวรรณกรรมนั้นก็แบ่งออกเป็นหลายประเภท ตั้งแต่วรรณกรรมชาวบ้าน วรรณกรรมเยาวชน จนไปจนถึงแนวโรมานซ์ ซึ่งเราจะปฏิเสธแนวทางของมันเหมือนกับหนังหรือเปล่า? มันก็มีตั้งแต่แนว R, PG, NC 17 ฯลฯ แต่วรรณกรรมไม่เหมือนกับภาพยนตร์ คือภาพยนตร์จะเห็นภาพ แต่หนังสือเป็นเรื่องของจินตนาการ และขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนผ่านช่วงชีวิตมายังไง มันก็จะเห็นต่างกัน
“แล้วถามว่าหนังสือที่วางอยู่บนแผงทุกวันนี้เราจำกัดอายุกันยังไง ตัวปกมันค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว ดิฉันแบ่งกลุ่มผู้อ่านของงานพ็อคเก็ตบุ๊คส์แนวของผู้หญิงออกมาเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งก็คือกลุ่มของแม่ยก, กลุ่มที่สองก็คือกลุ่มสาวทันสมัย กลุ่มที่สามแบ่งเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น ถ้าเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนวัยรุ่นก็จะเป็นปกแนวตุ๊กตา แนวเกาหลี-ญี่ปุ่น กลุ่มสาวทันสมัยก็จะไฮขึ้นมาเป็นกลุ่มสาวทำงานสมัยใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะไม่รวมกลุ่มแม่ยกซึ่งค่อนข้างจะกว้างมาก ตั้งแต่กลุ่มสาวโรงงาน ไปจนถึงพี่ป้าน้าอาทั้งหลาย กลุ่มแม่บ้านที่มีสตางค์ เป็นตลาดใหญ่ของเรา กลุ่มนี้พูดง่ายๆ ก็คือรสนิยมชาวบ้าน ก็จะออกแนวน้ำเน่านิดๆ เป็นแนวโรมานซ์ สมัยก่อนปกมันก็จะเป็นแนวหนุ่มล่ำ ซึ่งตลาดกลุ่มนี้หลายคนก็อ่าน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะซื้อแบบเปิดเผยหรือแอบแฝง”
จากหน้าปกเช่นนี้ ประไพพรรณมองว่าก็คล้ายกับการจัดเรตอยู่กลายๆ
“เราต้องสกรีนตั้งแต่ปกไปเลย ว่าอันไหนใช่อันไหนไม่ใช่ หนังสือที่ไม่ใช่โรมานซ์ก็จะเป็นปกอีกแนวหนึ่ง เคยได้ยินข่าวมาเหมือนกันที่บางแห่งเขาแปะหน้าปกว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ข้างในมีฉากอัศจรรย์ เคยมีคนแนะนำเหมือนกันว่าให้โปรยหน้าปกว่าสำหรับผู้อ่านอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป แต่คิดไปคิดมาเราไม่ทำดีกว่า เพราะกลัวว่าเตือนแบบนี้จะกลายเป็นเหมือนยิ่งห้ามยิ่งยุ”
สำนักพิมพ์มันดีนั้นพิมพ์หนังสือทุกแนว แต่แนวใหม่ล่าสุดคือแนว ‘อี - โรแมนติก’ ที่เป็นการผสมระหว่างโรมานซ์กับอีโรติก “อีโรติกที่ว่านี่เป็นอีโรติกผู้หญิงไม่ใช่อีโรติกผู้ชาย มันก็คือหนังสือนิยายธรรมดา เพียงแต่ว่าจะมีฉากอัศจรรย์เข้าไปบ้าง มันก็อยู่ที่ว่าผู้อ่านคิดยังไง ถ้าหากคนที่มีครอบครัวก็อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ”
“ดิฉันเคยทำหนังมาและมีการมาถก สัมมนาเยอะแยะและมีการกล่าวหาว่าหนังไทยนี่เป็นผู้ร้ายของสังคม เขาจะโทษว่าปัญหาทุกอย่างเป็นเพราะว่าได้รับอิทธิพลมาจากหนัง แต่จริงๆ คิดว่าตรงนั้นมันเป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง คนทำหนังเองเราก็ต่อพยายามสู้เรื่องเรตติ้งตลอดเวลา ซึ่งมันก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ถามว่าทุกวันนี้คนจะเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาจากที่ไหนก็จากหนังหรือหนังสือ ซึ่งสมัยที่ดิฉันเรียนมัธยมไม่เคยได้เรียนวิชาเพศศึกษาในโรงเรียนเลยเพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่ว่าปัจจุบันนี้มีแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะคุณไม่ควรปิดบังเขาแล้วมาแก้ปัญหาทีหลัง”
ประไพพรรณถือว่าทั้งงานหนังสือและภาพยนตร์คืองานศิลปะ ที่เกิดจากจินตนาการ ไม่ควรถูกปิดกั้นตีกรอบด้วยเหตุผลทางด้านศีลธรรม
“ถามว่าศีลธรรมอันดีมันเริ่มต้นจากตรงไหน มันต้องเริ่มจากพื้นฐานของคน ที่ต้องอบรมแยกแยะให้รู้ถูกผิด การสอนของครอบครัว ของโรงเรียน สำนักพิมพ์เรายอมรับว่าหนังสือของเรามีแนวอี-โรแมนติก คนอ่านมีสิทธิที่จะเรียนรู้ไม่ว่าเป็นหนังสือแนวไหน แต่หนังสือของเราไม่ใช่หนังสือแนววัยใสแน่นอน ตั้งแต่ปกแล้วเราไม่เคยทำอะไรใสๆ เลยนะ คนก็ยังว่าปกเชยด้วยซ้ำไป เด็กไม่จับ ดิฉันแฮปปี้มากเลยที่ได้ยินคำนั้น เพราะดิฉันไม่ได้ทำหนังสือให้เด็กจับ ดิฉันทำหนังสือให้ผู้ใหญ่อ่าน ซึ่งถามว่าผู้ใหญ่มีสิทธิที่จะอ่านเรื่องแบบนี้ไหม มีสิทธินะ ดิฉันคิดเรื่องเรตติ้งมาตั้งนานตั้งแต่สมัยทำหนังสือหนังแล้ว พอถึงเวลาที่มีฉากเลิฟซีนก็จะโดนตัดไปเลย ซึ่งมันเสียอรรถรส”
ประไพพรรณมองต่างมุมว่า การให้ความรู้ในสถาบันการศึกษาตั้งแต่แรก เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมความแข็งแกร่งทางด้านอารมณ์แก่เยาวชน ให้สามารถแยกแยะผิดถูกได้ด้วยตนเอง
“ถามว่าหนังสือผู้หญิงผู้ชายอ่านไหม บางทีเรื่องพวกนี้ผู้ชายก็เขียน ถามว่าเราจะมองเซ็กส์เป็นแบบไหน ในวรรณกรรมนี่มองเซ็กส์เป็นเรื่องสวยงามนะ แต่ในสังคมไม่มองเซ็กส์เป็นเรื่องสวยงาม มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ปิดบังไม่ให้รู้ไม่เห็นเพื่อที่จะแก้ปัญหาในด้านสังคมทั้งหมด การจัดเรตติ้งหนังสือสุดท้ายแล้วเป็นแค่การแก้ปัญหาปลายเหตุ มันอยู่ที่จิตสำนึกของคนเท่านั้นเอง นอกจากการให้การศึกษาเรื่องศีลธรรมอันดีแล้ว เราต้องให้การศึกษาในเรื่องเพศศึกษาด้วย”
ตราบใดที่คนอ่านมีวิจารณญาณ และวุฒิภาวะพอที่จะแยกแยะได้ การจัดเรตติ้งก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
“หนังสือก็คือหนังสือ นิยายก็คือนิยาย โรมานซ์ก็คือโรมานซ์ มันก็ทำหน้าที่ของมัน นิยายโรมานซ์มันก็คือหนังสือประโลมโลกย์ที่เราว่ากันให้มันดูต้อยต่ำ มันไม่เคยมีจริงหรอกนะเหมือนอย่างในหนังสือนิยาย มันเป็นเรื่องเพ้อฝัน ก็ว่ากันไป แต่ทำไมผู้หญิงยังอ่านกันเป็นวรรคเป็นเวร อันนี้ไม่ได้พูดถึงเฉพาะนิยายอีโรติกแต่หมายถึงนิยายทุกประเภท ถามว่ามันตอบสนองความต้องการของผู้หญิงไหม ผู้หญิงอยากอ่านไหม ดิฉันเคยทำการสำรวจตลาดว่าผู้หญิง 100 คนจะอ่านหนังสือแนวนวนิยายกี่คน ก็ประเมินว่าสัก 70 มั้ง พอไปถามสายส่งเขาบอกร้อยเปอร์เซ็นต์เลยค่ะ เรื่องโรแมนซ์หรืออีโรติกยังไงมันก็เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าบางคนกล้าที่จะเขียน ถามว่ามันจำเป็นไหม มันก็แล้วแต่คนมอง เซ็กส์กับคนที่เรารักสำหรับผู้หญิงมันคือเรื่องธรรมชาติที่สวยงาม เคยถามนักเขียนแนวนี้ว่าเขาไม่อายเหรอ เขาบอกอายสิ แล้วทำไมยังเขียน เขาบอกว่าเพราะผู้อ่านอ่านแล้วมีความสุข จุดประสงค์ของการเขียนหนังสือก็คือเขียนให้กลุ่มเป้าหมายของเราอ่านแล้วมีความสุข”
ที่เหลือคงเป็นเรื่องของการตีความคำว่า ‘ความสุข’ ตามมุมมองของแต่ละบุคคล
เรื่อง รัชตวดี จิตดี