xs
xsm
sm
md
lg

ตุลา'16-'19... สู่ ย่างก้าววรรณกรรมเพื่อชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เมืองไทย...ไม่นานปี ก่อนเหตุการณ์โค่นล้มอำนาจเผด็จการในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะเกิดขึ้น เหล่านิสิต นักศึกษา คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย รู้สึกไม่ต่างไปจากการ "โดนทุบที่ศรีษะ" ดัง คาฟกาว่า เพราะเมื่อวารสารยูงทอง ฉบับที่ตีพิมพ์ "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ซึ่งเขียนโดย วิทยากร เชียงกูล ออกเผยแพร่ ก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในหลายแง่มุม

เพียงวลี "ฉันจึงมาหาความหมาย" ก็สามารถปลุกเร้าให้ผู้อ่าน ตั้งคำถามถึงจุดหมายในชีวิต กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่มุ่งให้ความรู้ตามหลักสูตร มากกว่าการปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ถ้อยคำที่ถูกเรียงขึ้นเพียงไม่กี่วรรค มีพลังมากมายถึงเพียงนั้น

และด้วยผลสะท้อนที่น่าสนใจนี้เอง "ผู้จัดการปริทรรศน์" จึงขอนำเสนอวิวัฒนาการ หรือต้นธารแห่งการก่อเกิด "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ในสังคมไทย อันมีความหมายครอบคลุมถึง วรรณกรรมที่มีเนื้อหามุ่งสะท้อนความคิด ทั้งทางสังคม การเมือง ปัญหาต่างๆ โดยมีธงอยู่ที่ความมุ่งหวังเพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

-บางบท จาก "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" โดย วิทยากร เชียงกูล---


* * * * * * * * *  *

ก่อน "เพื่อชีวิต" จะผลิบาน

ฟรันซ์ คาฟกา นักเขียนสายเลือดยิวผู้ได้รับการกล่าวขานให้เป็นอัจฉริยะด้านสัญลักษณ์และการตีความ ได้ทิ้งเจตจำนงอันแน่วแน่ของตนเองไว้ ซึ่งตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ความคิดดังกล่าวได้รับการเห็นพ้อง ยอมรับ ไม่แพ้คุณค่าในงานเขียนของเขา

ประโยคอมตะที่ว่านั้น ก็คือ

"ถ้าหนังสือที่เราอ่าน ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าโดนทุบที่ศีรษะแล้วล่ะก็ เราจะอ่านหนังสือเล่มนั้นไปทำไม?" เฉกเดียวกับแนวทางของวรรณกรรมเพื่อชีวิต

ขณะที่เมืองไทย กระแสของ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 นั้น กล่าวได้ว่าเป็นยุคสมัยของวรรณกรรมแนวพาฝัน คืองานที่เน้นความบันเทิง อ่านสนุก ไม่แตะต้องปัญหาทางสังคม ซึ่งเป็นแนวทางของงานเขียนที่ก่อรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน

"วรรณกรรมพาฝัน เป็นงานที่พัฒนามาจากวรรณคดี งานในแนวนี้ไม่มีทางถูกทำลาย หรือขัดขวางเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือวรรณกรรมซึ่งเติบโตมากับยุคสมัยที่ใฝ่หาประชาธิปไตย จะต้องมีอุปสรรคเสมอ" วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่เรียกได้ว่า ถ่ายทอดวรรณกรรมเพื่อชีวิต ออกมาได้อย่างมีพลัง คนหนึ่ง ทั้งยังเป็นผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งสองครั้ง แสดงทรรศนะได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนบอกเล่าต่อไปว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก มักสะท้อนภาพของประชาชนที่ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ อยู่อย่างไพร่ติดแผ่นดินมานานหลายร้อยปี

ผลงานของ เสนีย์ เสาวพงศ์, อิศรา อมันตกุล, ศรีบูรพา,นายผี และจิตร ภูมิศักดิ์ ที่สะท้อนชีวิต ปัญหาของชาวนา ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เหล่านี้นับเป็นงาน "เพื่อชีวิต" ในยุคแรกๆ และถือเป็นงานต้องห้าม ไม่มีอยู่ในห้องสมุด เนื่องด้วยมีแนวคิดที่ไปกระทบต่อผู้มีอำนาจในสังคม จึงถูกบีบคั้นรังแก ขัดขวาง หากอยากอ่านต้องขวนขวายหาด้วยความยากลำบาก ส่งต่อๆ กันบ้าง ไม่ก็ซื้อขายอย่างลับๆ เพราะรัฐบาลเผด็จการ กวาดล้างและปิดกั้นงานในแนวนี้อย่างเข้มงวด

ซึ่งการเสนอแนวคิดที่ต่างออกไปและถูกปิดกั้นนี้ ก็นับเป็นลักษณะสำคัญอีกข้อของงานเขียนที่เรียกได้ว่า เป็นแนว "เพื่อชีวิต" ในยุคเริ่มแรก

พ้องกับความเห็นของ อำนาจ เย็นสบาย ผู้เขียน นวนิยาย อันลือลั่น อย่าง "คืนฟ้าหนาว" ที่บอกเล่าเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้งในปี 2514-2516 ให้เห็นภาพของความไม่ชอบธรรมในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน วันนี้ เขาสละเวลามาพูดคุย บอกกล่าวมุมมองของตน ว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตเปรียบได้กับ องค์ความรู้ หรือชุดความคิดใหม่ในช่วงเผด็จการ พูดให้ง่ายเข้าก็คือ เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ดำรงอยู่ในช่วงนั้น พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจน

"เช่น ในยุคเผด็จการ เมื่อใครพูดถึงประชาธิปไตย พูดถึงประชาชน คำพูดเหล่านี้ก็จะถูกเกี่ยวโยงไปกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งหมายถึง สิ่งใหม่ แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่เคยเกิดขึ้นในโลก แต่มันคือการนำเสนอ ศิลปะทุกแขนง ทั้งภาพเขียน บทเพลง วรรณกรรม ครอบคลุมทุกสิ่งที่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ฐานความคิดใหม่ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในสังคม ทำให้เกิดการปะทะกับสิ่งเก่า ดังนั้น วรรณกรรม ที่สะท้อนความคิด ถึงความยากจน ปัญหาของคนในสังคม จึงปะทะเข้ากับวรรณกรรมแนวพาฝัน แนวบันเทิง ที่ไม่พูดถึงชีวิตอันดำมืดของผู้คนในสังคม"

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ไม่ใช่รากเหง้าของไทย หากแต่เป็นแนวคิดที่เผยแพร่มาจากตะวันตก เป็นสิ่งที่สังคมไทยได้รับอิทธิพลมา และเมื่อคนไทยหยิบมาแล้ว ก็ได้นำมารับใช้ทั้งในงานศิลปะและการเมือง ผสานเข้ากับกลิ่นอายของความเป็นตะวันออก ซึ่งการ "รับใช้การเมือง" ในที่นี้ ก็คือ การสะท้อนความคิด นำไปเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการปฏิวัติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นเอง

สำหรับนักวิชาการอย่าง อาจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในยุคสมัยแรกๆ อาจถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์ แต่แก่นที่แท้จริง คือการตั้งคำถามต่อสังคม ตั้งคำถามต่อความถูกต้อง ดีงาม

ดังนั้นในมุมมองของเขา งานที่สื่อถึงสิ่งเหล่านี้ จึงล้วนเรียกได้ว่า เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตเช่นกัน โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ ว่า ต้องกล่าวถึง ชาวนา กรรมกรเท่านั้น เช่น ปิศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ไม่ได้เล่าถึงความทุกข์เข็ญของชาวนา แต่ผู้เขียนกล้าที่จะวิพากษ์การปกครองของชนชั้นศักดินา ได้อย่างชาญฉลาด ส่วนวรรณกรรมที่เขามองว่า เปลี่ยนแปลงชีวิต และทัศนคติคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยใฝ่หาประชาธิปไตยได้มากที่สุด ก็ คือ บทกวี "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ของวิทยากร เชียงกูล แม้ว่ามีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. แต่ก็ต้องยอมรับว่า วรรณกรรมมีส่วนสำคัญในการผลักดันไม่น้อยไปกว่ากัน

14 ตุลาฯ แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา

วรรณกรรมเพื่อชีวิต จำนวนมากที่ถูกปิดกั้นให้หายไป ได้กลับมาเฟื่องฟู แพร่หลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังการโค่นล้มอำนาจเผด็จการของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2516

"ด้วยความที่ถูกปิดกั้นไว้นาน วรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงตื่นตัวอย่างแพร่หลาย ในช่วงปี พ.ศ.2516 -2518 งานวรรณกรรมแนวนี้ขายดีมาก ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนหนุ่มสาว ซึ่งก็คือคนรุ่นผมในยุคนั้น" วัฒน์ เล่าย้อนถึงความรู้สึกของเขาและเพื่อนร่วมสมัย

งานของเสนีย์ เสาวพงศ์ ,รวมเรื่องสั้นของศรีบูรพา, ฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม,บทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ และนายผี รวมทั้งวรรณกรรมแปลจากรัสเซีย เช่น แม่ ของแมกซิม กอร์กี้ กลับมาสู่ความสนใจของคนหนุ่มสาว และผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย อีกครั้ง และไม่ใช่การคืนกลับธรรมดา ทว่ายิ่งใหญ่และแผ่ขยายในสังคมได้กว้างไกลกว่าเดิมมาก

นับเป็นยุคทองงานเขียนแนวเพื่อชีวิตอย่างแท้จริง !!!!

ขณะที่ อำนาจ เย็นสบาย แสดงทรรศนะเพิ่มเติม ว่า ก่อน 14 ตุลาฯกลุ่มคนที่เขียนงานในแนวนี้มีค่อนข้างจำกัด แต่หลังเหตุการณ์ดังกล่าว งานวรรณกรรมและศิลปะเพื่อชีวิต ก็ได้กลายเป็นกระแสหลักของสังคม

"ถือว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นที่ไม่ได้ศึกษางานเพื่อชีวิตกลายเป็นคนตกยุคไปเลยก็ว่าได้" อำนาจ กล่าว

ยุคมืด ถอยร่น นกปีกหัก

ฟ้าแห่งสิทธิเสรีภาพเพิ่งเปิดได้ไม่นาน กระบอกปืนและความรุนแรงจากอำนาจเผด็จการก็กลับมาปิดกั้นอีกครั้ง เหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษา ประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เปรียบเสมือนฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนไม่รู้จบสิ้น ไม่ต่างจากพิราบที่เคยโบยบิน กลับถูกยิงถอยร่น หลงรวงรัง วรรณกรรมเพื่อชีวิต ก็เช่นกัน...

วันที่ 6 ต.ค. 2519 วันที่รัฐบาลเผด็จการปราบปรามนักศึกษา ประชาชนอย่างหนัก เป็นวันเดียวกับที่ วัฒน์ วรรลยางกูร ตัดสินใจหนีเข้าป่า เขาสะท้อนถึงความรู้สึก ที่มีต่อวรรณกรรมเพื่อชีวิต ในครานั้น ว่า ไม่ต่างจาก การที่ต้อง "มุดลงดิน" อีกครั้งหนึ่ง

นับเป็นห้วงบรรยากาศที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับช่วงหลัง14 ตุลาฯ ด้วยตอนนั้น เปรียบได้กับพลังที่แจ่มใส ทุกคนต่างวาดหวังว่าประชาธิปไตยแท้จริงจะเกิดขึ้นในสังคมไทย หลังจากอยู่ในยุคเผด็จการอันมืดมิดมานาน แนวความคิดต่างๆ ที่ถ่ายทอดออกมาในงานเขียน สามารถเปิดเผย แพร่หลายได้ทั่วไป

ขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ส่งผลให้งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตเต็มไปด้วยความหม่นหมอง เป็นงานที่ออกมาด้วยความรู้สึกเจ็บปวดคับแค้น "บ้านเมืองกลับไปสู่ยุคมืดอีกครั้ง นักศึกษาประชาชนถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณผิดมนุษย์ บ้างถูกแขวนคอ บ้างถูกเผา อารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมา จึงหม่นเศร้า และคับแค้น"

นักเขียนที่อยู่ในเมือง ล้วนต้องใช้นามปากกา นามแฝงปกปิดชื่อ นามสกุลที่แท้จริง อย่างเช่น สถาพร ศรีสัจจัง จากที่เคยเขียนอย่างเปิดเผย เมื่อหลัง 14 ตุลาฯ 2516 ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้นามปากาว่า "พนม นันทพฤกษ์" ภายหลัง 6 ตุลาฯ 2519 และงานที่เขียนก็ดูอ่อนโยนลง แต่ไม่ว่าจะหนีเข้าป่า หรืออยู่ในเมือง ความคิดเชิงลึก หลักใหญ่ใจความ อย่างการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ที่พวกเขาสื่อออกมา ก็ไม่ต่างกัน

ส่วน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ มองทั้ง 2 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ว่า 14 ตุลาฯ เปรียบได้กับยุค "ชักธงรบ" ขณะที่ 6 ตุลาฯ เป็นยุค "หลบอำพราง" คือ นักเขียนส่วนใหญ่ใช้นามปากกาแทบทั้งสิ้น แต่หลังจากชะงักไปไม่นาน กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็กลับมาอีกครั้ง เพราะนักเขียนได้เรียนรู้ ได้ค้นหาบางสิ่งบางอย่างในตนเอง แล้วเข้าใจมากขึ้น การกลับมาคราวนี้ งานเขียนไม่น้อยจึงมีความเข้มข้นมากขึ้นในด้านจิตสำนึกส่วนรวม

บรรเจิดอยู่บนนภาดั่งแสงดาว ?

จากวันนั้น ถึงวันนี้ วันเวลาตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคม จากเผด็จการทหาร หมุนสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และต่อเนื่องมายัง เผด็จการทุนนิยมของรัฐบาลชุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทิ้งไว้ให้เน่าเหม็นหมักหมม แต่สิทธิบางอย่างของคนในสังคมก็คล้ายกับถูกมือที่มองไม่เห็นบดบัง ทั้งที่เราประกาศตนว่าเป็น "ประชาธิปไตย" สิทธิ เสรีภาพที่คล้ายกับจะเต็มใบ จึง แหว่งวิ่นอยู่เรื่อยมา

เผด็จการทุนนิยม ไม่อาจผลักดันให้ก่อเกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวมหรืออย่างไร? วรรณกรรมเพื่อชีวิต ในวันนี้ จึงคล้ายกับหดหายไปจากการรับรู้ของคนหมู่มาก

"มันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เราไม่อาจชี้หน้าโทษใครได้ ทุกสิ่งย่อมหมุนไปตามโลก" วัฒน์ เอ่ยขึ้น ก่อนเพิ่มเติม ว่า ทุกวันนี้ งานของเขาก็หนีไม่พ้นความคิดที่อยากปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น เพียงแต่อยู่ในบริบทของวรรณกรรม ที่ต้องมีความบันเทิง มีพระเอก นางเอก แต่ยังคงมีเรื่องของสิทธิชาวบ้านแฝงอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เพ่งไปตรงๆ อย่างยุคของ 14 ตุลาฯ

ส่วน วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะอยู่ถึงวันไหน จะหมดไปหรือไม่ เขาไม่ห่วง ขอเพียงให้คนในสังคมยังอ่านหนังสือดีๆ อยู่ ก็พอใจแล้ว พร้อมฝากแง่คิดดีๆ ถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเขียนงานในแนวนี้ ว่าถ้าสนใจจะเขียนงานวรรณกรรมการเมือง หรือสนใจความเป็นไปของชาติบ้านเมือง ก็ขอให้ศึกษาประวัติศาสตร์ให้มาก เพราะคนหนุ่มสาวอาจถูกหลอกได้ง่าย เนื่องจากอยากเห็นผลสำเร็จโดยเร็ว ขอให้ระลึกว่า ทุกอย่างมันไม่เป็นอย่างใจเราเสมอไป การที่จะรับมือกับการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ด้วยมีความสลับซับซ้อนสูง และอันตรายพอควร ถ้าไม่มีความเข้าใจมากพอ

คฑาวุธ ทองไท หนึ่งในนักร้องนำ วง มาลีฮวนน่า กลุ่มดนตรีและสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อชีวิต ก็ได้บอกเล่ามุมมอง ที่มีต่อวรรณกรรมในแนวเดียวกัน ว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะไม่มีวันตาย ไม่หายไปจากสังคมไทยแน่นอน แม้อาจจะไม่มากมายเหมือนก่อน แต่แนวความคิดที่มุ่งสะท้อนสังคมยังคงอยู่ โดยเขาเชื่อมั่นว่าอะไรที่เป็นของแท้ ของจริง ย่อมไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา อาทิ งานของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ กวีซีไรต์ผู้ล่วงลับ ก็นับเป็นงานเพื่อชีวิตชั้นดีของยุคสมัยนี้

สุชาติ ทัพมาลัย แห่งกลุ่ม วรรณกรรมริมทางเท้า ก็ร่วมบอกเล่าความเห็นของเขา ที่มีต่อวรรณกรรมเพื่อชีวิต จากมุมมองของประชาชนคนหนึ่งที่สนใจปัญหาส่วนรวม เมื่อได้เสพรับงานเหล่านี้ โดยบอกว่าเขาสนใจวรรณกรรมเพื่อชีวิต ภายหลังจากที่ได้ฟัง เพลง "นกสีเหลือง" ที่วงคาราวานร้อง นับแต่นั้นเขาจึงหันมาอ่านหนังสือแนวนี้

"งานวรรณกรรมเพื่อชีวิต ทำให้ผมได้รับรู้ถึงความยากลำบากของชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ได้รู้ถึงปัญหาในสังคม อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เราเกิดความคิดที่มองทุกคนอย่างเท่าเทียม เห็นคุณค่าของชาวนา กรรมกร สนใจในปัญหาของเขา"

ทั้งยังฝากให้คนรุ่นใหม่ หันมาศึกษางานเหล่านี้บ้าง เพราะมีคุณค่า ชวนให้เรามีทัศนคติที่กว้างขึ้น มีมุมมอง มีจิตสำนึกที่คิดถึงผู้อื่น สนใจปัญหาบ้านเมือง "พูดตรงๆ ตอนนี้ ดูเหมือนว่า เมืองไทย มีแต่หนังสือแนวคลายเครียด บันเทิง ซุบซิบ พ็อกเกตบุ๊กดารา วางเต็มแผงไปหมด งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตไม่ค่อยมีวางบนแผงเลย แต่ผมก็เชื่อว่ามันจะไม่หายไปไหน เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนยุคที่ผู้คนออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย" เขาทิ้งท้ายก่อนจากกัน

เจตจำนงบริสุทธิ์ อันมุ่งมั่น แน่วแน่ ที่ส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่ง สู่คนอีกยุคสมัยหนึ่งในรูปของงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต จะยืนยง ถาวรหรือต่อเนื่องเพียงใด กาลเวลาเท่านั้น จะให้คำตอบ โดยมี "จิตสำนึก" ของเราทุกคน รับบทบาท " นำแสดง"

* * * * * * * * * * *

เรื่อง - รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
วัฒน์ วรรลยางกูร
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น