xs
xsm
sm
md
lg

สงครามกล้วยทอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'พระเจ้าช่วยกล้วยทอด !!!' เป็นประโยคฮิตติดปากคนยุคนี้ ที่ต้องหยิบยืมมาใช้หลังจากได้พบเห็นว่าบนถนนสายสั้นๆ อย่างถนนจักรพรรดิพงษ์เส้นนี้ คึกคักไปด้วยร้านขายกล้วยทอดชื่อดังถึงสี่ร้านด้วยกัน

นับตั้งแต่คุณเลี้ยวรถมาจากถนนนครสวรรค์จนกระทั่งถึงสี่แยกหลานหลวง ตลอดเส้นทางสายนี้สามารถพบเห็นปรากฏการณ์ 'กล้วยทอดฟีเวอร์' จากบรรดาผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคันที่จอดแวะซื้อกล้วยทอดเป็นระยะ ถึงขนาดที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องหาป้ายประกาศมาติดเตือนว่า 'ห้ามจอดรถซื้อกล้วยทอด' กันเลยทีเดียว

ความโด่งดังของถนนสายกล้วยทอดสายนี้ได้รับการบอกเล่ากันปากต่อปาก ขาชิมผู้ที่ชื่นชอบรับประทานกล้วยทอดทั้งหลายต่างไม่พลาดมาลองชิมกล้วยทอดชื่อดังของกรุงเทพฯ ที่นี่ ตั้งแต่ศิลปิน ดารานักร้อง ไฮโซ ตลก ไปจนถึงรัฐมนตรี การันตีความอร่อยจนกลายเป็นขาประจำ หลายร้านต่างงัดเทคนิคกลยุทธ์ขึ้นมาใช้เพื่อเรียกลูกค้า กลายเป็นศึกย่อยๆ แต่สงครามนี้มีอาวุธเป็น 'กล้วยทอด' ที่แต่ละร้านก็มีสูตรเด็ดเป็นของตัวเอง

ใครเป็นใคร ร้านไหนเป็นร้านไหน 'ผู้จัดการปริทรรศน์' พาไปตระเวนชิม

ถนนสายกล้วยทอด

ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นถนนสายกล้วยทอดอย่างทุกวันนี้ ในอดีต เริ่มต้นจากเพียงแผงขายกล้วยทอดเล็กๆ ในตรอกแคบๆ ใกล้สี่แยกจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม 'ซอยกล้วยทอด' เท่านั้น ก่อนจะพาไปตะเวนชิมทั้งสี่ร้าน จึงต้องเท้าความให้เห็นคร่าวๆ ก่อนว่าแต่ละเจ้ามีความเป็นมาอย่างไร

เดิมทีนั้น ในตรอกมีร้านกล้วยทอดของ 'แม่กิมยุ้ย' เริ่มต้นเป็นเจ้าแรก แต่เมื่อแม่กิมยุ้ยหยุดขายไป ก็มีกล้วยทอด 'แม่กิมล้ง' ขึ้นมาแทนที่ ด้วยรสชาติความอร่อยที่ไม่ต่างกันนั้นก็สร้างชื่อให้ซอยกล้วยทอดแห่งนี้มาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี จุดพลิกผันของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังจากการเสียชีวิตของแม่กิมล้ง ลูกสะใภ้ทั้งสองของแม่กิมล้งได้รับช่วงกิจการต่อ โดยสลับกันขายกล้วยทอดในซอยคนละอาทิตย์ และไม่นานหลังจากนั้นทางครอบครัวของแม่กิมยุ้ยก็กลับมาขอแชร์พื้นที่ขายด้วย จำนวนร้านกล้วยทอดถึงสามเจ้า ดูเหมือนจะมากเกินไปสำหรับตรอกเล็กๆ เช่นนี้ นั่นคือชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งเล็กๆ ที่เริ่มต้นขึ้น

ด้วยความที่ทั้งสามเจ้าเป็นเครือญาติกันด้วยแล้ว จึงเป็นที่โจษขานกันในวงการกล้วยทอดว่า เป็นศึกสายเลือดบ้าง, สงครามหน้าเตา (กล้วยทอด) บ้าง ยิ่งภายหลังการปรากฏของร้านกล้วยทอดเจ้าล่าสุดที่เพิ่งสะเด็ดน้ำมันหมาดๆ อย่าง 'กล้วยทอดคุณชาย' บนถนนเส้นนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำให้อุณหภูมิการแข่งขันดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละร้านต้องส่งพนักงานเดินสาย 'ดีลิเวอรี่' ส่งตรงลูกค้าถึงประตูรถ ด้วยกลยุทธ์ 'ใครเร็วใครได้'

จุดสังเกตง่ายๆ สำหรับลูกค้าแต่ละร้านก็คือ 'เอี๊ยม' หรือผ้ากันเปื้อนหลากสีที่แต่ละเจ้าคิดค้นขึ้น เรียกได้ว่าใครเป็นแฟนกล้วยทอดติดใจรสชาติร้านไหน ขับรถมาก็กวักมือเรียกตามสีเอี๊ยมได้เลยทันทีไม่ต้องเสียเวลาลงจากรถ

เอี๊ยมขาว สะใภ้เล็ก 'แม่กิมล้ง'

หากขับรถมุ่งหน้าสี่แยกหลานหลวง ร้าน 'กล้วยแขกแม่กิมล้ง' ที่มีตราสัญลักษณ์เอี๊ยมขาวจะอยู่ฝั่งทางซ้ายมือของถนน ด้วยขนาดร้านที่ใหญ่ถึงสองคูหา ปริมาณเตากว่าหกเตา ทำให้ถือได้ว่าร้านกล้วยทอดแม่กิมล้ง (เอี๊ยมขาว) เป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดบนถนนเส้นนี้

บังอร เจ้าของร้านและสะใภ้เล็กแม่กิมล้ง ที่สืบทอดสูตรต้นตำรับจากแม่กิมล้งมานับ 30 ปี เปิดเผยว่า เดิมทีเธอสลับกันขายกับคู่สะใภ้ในตรอกคนละอาทิตย์ โดยทางร้านจะใส่เอี๊ยมกันเปื้อนสีขาวเป็นสัญลักษณ์ ขณะที่ร้านของคู่สะใภ้ใช้เอี๊ยมสีน้ำเงิน และร้านแม่กิมยุ้ยที่ขายเฉพาะวันอาทิตย์จะใช้เอี๊ยมโค้กสีแดง

จนกระทั่งต่อมา บังอรเกิดแนวคิดอยากขยายกิจการจึงมองหาทำเล และมาได้ที่ที่ตึกแถวแห่งนี้ ช่วงแรกนั้นทางคู่สะใภ้ก็มาขอขายด้วย แต่เธออยากจะแยกออกมาทำเป็นส่วนของตัวเอง ทำให้แผงร้านกล้วยทอดในซอยหลายร้านเริ่มขยับขยายมาเปิดร้านบนทำเลถนนใหญ่ต่อมาภายหลัง

จุดเด่นของกล้วยทอดแม่กิมล้ง (เอี๊ยมขาว) จะอยู่ที่รสชาติแบบกรอบนอกนุ่มใน บังอรบอกว่าทางร้านจะผสมกลอยเป็นส่วนผสมพิเศษลงไปในแป้งด้วย ทำให้เนื้อแป้งที่ได้มีความมันกรอบ ส่วนกล้วยที่ใช้นั้นเป็นกล้วยสวนคัดจากเพชรบุรีที่รับประจำมาตั้งแต่รุ่นแม่สามี โดยจะมีแม่ค้าเอามาส่งถึงที่ร้านตอนตีสี่ทุกวัน เฉลี่ยวันเกือบละร้อยหวี บังอรเองก็จะตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาดูแลความเรียบร้อย และผสมแป้งต่างๆ ด้วยตัวเอง ก่อนที่กล้วยทอดกระทะแรกจะถูกยกออกจากเตาในตอนหกโมงเช้าที่ลูกค้าเริ่มมาซื้อ

เทคนิคพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เจ้าของร้านแม่กิมล้งเอี๊ยมขาวบอกว่าอยู่ที่การทอด โดยทางร้านจะทอดซ้ำถึงสองครั้งในกระทะ ครั้งแรกพอเหลืองก็ตักออก จากนั้นค่อยนำลงทอดใหม่อีกครั้งหนึ่ง สาเหตุที่ต้องทอดถึงสองครั้งแบบนี้บังอรเฉลยว่าจะช่วยให้กล้วยล็อตแรกไม่ไหม้เกรียมเกินไปเพราะไฟแรง และกล้วยทั้งกระทะก็จะสุกเสมอกันดี
อร่อยจนคนกินติดใจแบบนี้ บังอรบอกว่าลูกค้าประจำมีทั้งนักแสดงและนักการเมือง โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหญ่ อาทิ ยอดชาย เมฆสุวรรณ, สมบัติ เมทะนี ฯลฯ ไปจนถึงนักชิมจอมบ่นอย่างสมัคร สุนทรเวชก็เคยมาซื้อบ่อยๆ นอกจากนี้ทางร้านยังรับจัดส่งงานเลี้ยงนอกสถานที่ โดยมียอดสั่งขั้นต่ำอยู่ที่ 2,500 บาท

แม้จะย้ายมาอยู่ริมถนนใหญ่ที่ทำเลดีขึ้น แต่การมีร้านกล้วยทอดอีกสองร้านตั้งประจันกันอยู่อีกฟากถนน ก็ทำให้ร้านแม่กิมล้งเอี๊ยมขาวต้องจ้างพนักงานมาอำนวยความสะดวก ส่งตรงแบบดีลิเวอรี่แก่ลูกค้าโดยเฉพาะ แต่ร้านอื่นๆ ก็ใช้วิธีเดียวกัน ดังนั้นส่วนใหญ่ต้องใช้วิธีแบบใครเร็วใครได้ บางครั้งอาศัยช่วงเวลารถติดไฟแดงลงไปขาย คุณสมบัติของพนักงานขายกล้วยทอดริมถนนจึงต้องหูไวตาไว พอลูกค้ากวักมือเรียกปั๊บจะได้มองเห็นทันที

พนักงานเอี๊ยมขาวคนหนึ่งบอกกับเราว่า ลูกค้ามีหลากหลายประเภท ทั้งที่ขับรถส่วนตัว แท็กซี่ ไปจนถึงรถเมล์ โดยเฉพาะคนขับรถเมล์สาย 49 ที่ใจดีมาก เธอบอกว่าพอขับใกล้มาถึงร้าน พขร.จะถามผู้โดยสารว่ามีใครอยากจะซื้อกล้วยทอดไหม หากมี เธอก็สามารถนำไปส่งให้ลูกค้าถึงบนรถได้เลย นับเป็นบริการเสริมที่ประทับใจผู้โดยสารโดยถ้วนทั่ว ส่วนลูกค้าชาวต่างชาติก็มี เพราะสงสัยว่าคนจอดซื้ออะไรกัน ครั้นพอได้ชิมก็ติดใจแวะซื้อกลับไป แถมยังให้ทิปหนักกว่าค่ากล้วยทอดอีกต่างหาก

ด้านเทคนิคในการขายก็มีส่วนสำคัญ พนักงานขายจะเวียนเป็นรอบๆ ละ 15 ถุง แต่ละถุงจะบรรจุกล้วยทอด เผือก มัน ข้าวเม่า ไว้จำนวน 20 บาท จึงต้องมีเทคนิคการจำว่าถุงไหนเป็นอะไร โดยหลานชายที่เป็นผู้ช่วยของบังอรบอกเคล็ดลับว่าอยู่ที่การจำนิ้วที่หิ้ว

"นิ้วชี้นิ้วกลางนิ้วนางนี้จะเป็นถุงกล้วยทั้งหมด นิ้วก้อยจะเป็นมันเผือกข้าวเม่า พนักงานแต่ละคนต้องจำนิ้วของตัวเองอย่างละชุด พอลูกค้าสั่งว่าต้องการอะไรจะได้หยิบถูกและเร็ว"

เอี๊ยมน้ำเงิน 'แม่กิมล้ง' สะใภ้ใหญ่

หากมาจากทางสะพานพระราม 8 มุ่งหน้าสี่แยกหลานหลวง เลยจากร้านแม่กิมล้งเอี๊ยมขาวมาไม่ไกล ให้สังเกตฝั่งขวามือก็จะเห็นร้าน 'กล้วยแขกแม่กิมล้ง' อีกแห่ง ร้านนี้มีขนาดเล็กกว่า แต่ยืนยันว่าเป็นเจ้าดั้งเดิมเหมือนกัน และใช้เอี๊ยมสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์

วิมลรัตน์ นิลเอวะ สะใภ้ใหญ่แม่กิมล้ง ยังคงยืนหยัดและยืนยันราคาขายกล้วยทอดอยู่ที่ถุงละ 10 บาท ด้วยจำนวนกล้วย 6 ชิ้น หากขายแพ็คคู่ก็ราคา 20 บาท เลือกได้ว่าจะเอากล้วยทอด เผือก มัน หรือข้าวเม่า ขณะที่ความอร่อยก็ยังคงเดิมเหมือนเมื่อสมัยแม่กิมล้งยังอยู่
ร้านแม่กิมล้งเอี๊ยมน้ำเงินนี้จะเปิดตั้งแต่ตี 5-6 โมงเย็น
ปัจจุบันมีร้านกระจายอยู่หลายจุด อาทิ ร้านที่แยกหลานหลวงแห่งนี้, ร้านในซอยกล้วยทอดที่เก่า และบริเวณจุดเลี้ยวถนนนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่แถบนางเลิ้งเกือบทั้งหมด ทำให้วิมลรัตน์บอกว่าเปอร์เซ็นต์ยอดขายริมถนนนั้นจะมากกว่าขายหน้าร้าน

"แถวนี้ไม่มีที่จอดรถ จึงไม่สะดวก บางครั้งลูกค้าอยากทาน บางทีไม่ติดไฟแดงก็ไม่ได้ทาน แต่หน้าร้านสามารถโฉบเข้ามาจอดได้เลย พนักงานเราไม่ได้ลงถนน เราจะขายอยู่ริมฟุตบาท เพราะว่าตำรวจจับ" ดังนั้น เมื่อมีหน่วยงานราชการใกล้ๆ อย่างกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงคมนาคม สั่งกล้วยทอดทางร้านก็รับส่งให้โดยไม่คิดค่าจัดส่ง ยกเว้นสถานที่ห่างไกลเท่านั้น

จุดเด่นของกล้วยทอดเอี๊ยมน้ำเงินอยู่ที่แป้งจะกรอบ กล้วยจะนุ่ม "สูตรของเราแป้งจะกรอบมาก แต่เราไม่ได้ใส่สารอะไร กรอบนอกนุ่มใน กล้วยที่ใช้เป็นกล้วยอย่างดี ลูกสวยเสมอกัน คัดพิเศษ ไม่งอมเกินไปไม่สุกเกินไป" โดยวันหนึ่งเฉลี่ยแล้วทางร้านจะใช้กล้วยประมาณร้อยกว่าหวี วิมลรัตน์บอกว่าเนื่องจากขายกันเยอะหลายเจ้า จึงต้องเฉลี่ยยอดขายกับร้านอื่นด้วย

ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำจริงๆ อย่างข้าราชการที่ทำงานละแวกนั้น "บางคนตามกินมาเกือบ 30 ปีแล้ว ของเราอร่อยขึ้นทุกวัน ไม่ใช่คุณภาพของเราจะด้อยลงทุกวัน ส่วนใหญ่เราก็จะขายให้ขาประจำที่เคยมาทาน บางทีก็มีศิลปินนักแสดงมาซื้อ" ในอนาคต วิมลรัตน์บอกว่าอาจจะขยายแฟรนไชน์ออกไปเมื่อพร้อม เราอาจจะได้เห็นเอี๊ยมน้ำเงินอยู่หน้าเตาบนถนนสายอื่นในเวลาไม่นานนี้

เอี๊ยมแดง 'แม่กิมยุ้ย' ร้านนี้เน้นสุขภาพ

ด้วยการโปรโมตว่าเป็นร้านกล้วยทอดเจ้าแรกของนางเลิ้ง ทำให้ร้านกล้วยทอดแม่กิมยุ้ยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อยู่เป็นประจำ ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นเอี๊ยมสีแดงที่มาจากความเชื่อว่าเป็นสีมงคลของชาวจีน และรูปลักษณ์หีบห่ออย่างถุงกล้วยทอดที่สวยงามเป็นพิเศษ

"ร้านของเราเน้นสุขภาพ" ไพบูลย์ ชูประเสริฐวงศ์ ลูกชายของแม่กิมยุ้ยกล่าว ด้วยความที่เรียนจบมาทางด้านการตลาด ทำให้ไพบูลย์คิดค้นกลยุทธ์เพื่อแข่งขันกับร้านอื่น เนื่องจากว่าร้านเขามีปริมาณพนักงานเดินขายริมถนนน้อย จึงต้องเปลี่ยนมาเน้นที่การเลือกใช้ส่วนผสมที่มีคุณภาพ ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดน่าซื้อ เขาลงทุนใช้กระดาษเอสี่แทนกระดาษรีไซเคิลที่มีหมึกพิมพ์อย่างร้านอื่น และยังเป็นร้านเดียวที่ให้ความสำคัญในการดีไซน์ถุงที่มีแบรนด์ของร้าน พร้อมเบอร์โทรศัพท์และนามบัตรให้ลูกค้าติดต่อกลับมาอีกด้วย

นอกจากนี้ ร้านกล้วยทอดแม่กิมยุ้ยยังคัดสรรวัตถุดิบชั้นดี อาทิ ใช้งาขาว งาดำ และขมิ้นชัน ที่ไพบูลย์บอกว่าเป็นเคล็ดลับสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นสมุนไพรมีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อแล้ว ที่สำคัญขมิ้นชันยังช่วยไม่ให้น้ำมันดำอีกด้วย เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพที่อยากรับประทานกล้วยทอดไร้สารปนเปื้อน

กล้วยทอดสูตรดั้งเดิมต้นตำรับแม่กิมยุ้ย ได้รับความนิยมจากลูกค้าหลากหลายสาขาอาชีพ ขายดีตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น แต่ช่วงที่ขายดีที่สุดจะเป็นช่วงเที่ยงจนถึงบ่ายสองโมง วันไหนขายดีเป็นพิเศษแค่ 4 โมงเย็นก็หมดเกลี้ยง เขายกตัวอย่างลูกค้าขาประจำที่มีทั้งรัฐมนตรี ยักษ์ใหญ่แห่งมีเดียไทคูนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งนักธุรกิจชื่อดังที่ต่างก็ติดใจรสชาติกล้วยทอดแม่กิมยุ้ยทั้งนั้น เป็นที่นิยมขนาดนี้จึงมีการขยายสาขาหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น แถบบางบอน, ปิ่นเกล้า, พระรามสอง และกำลังจะเปิดอีกสาขาที่ห้วยขวาง ซึ่งหากใครสนใจจะติดต่อซื้อแฟรนไชน์เขาก็ยินดี

"หากใครมีที่ดีๆ ทำเลดีๆ อยากขายกล้วยทอดก็ลองมาคุยกัน มาฝึกทอด ฝึกฝานกล้วย แล้วก็เอาแป้งของเราไป แต่ละที่รสชาติค่อนข้างเหมือนกันเพราะแป้งเราสูตรเดียวกัน มันอยู่ที่เทคนิคการทอดเหมือนกัน อยู่ที่กล้วยอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคุณเลือกกล้วยไม่ดี กล้วยงอมมันก็อมน้ำมัน ต้องดูเทคนิคหลายอย่างรวมกัน" ไพบูลย์ว่า ก่อนเสริมว่าบางครั้งก็มีลูกค้ามาจากที่ไกลๆ อย่าง ลาดยาว, พงษ์เพชร มาซื้อทีละ 500 บาท หากมีแฟรนไชน์ก็น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่อยู่ไกลได้ แต่สำหรับคนที่ไม่สะดวกมาซื้อที่ร้าน แม่กิมยุ้ยก็รับออกร้านนอกสถานที่ โดยมีราคาสั่งขั้นต่ำอยู่ที่ 5,500 บาท และมีบริการดีลิเวอรี่ส่งถึงที่โดยมอเตอร์ไซค์อีกด้วย ส่วนการขายตามสี่แยกนั้นไพบูลย์ชี้แจงว่าค่อนข้างเสี่ยงกับการถูกจับปรับ

"พนักงานขายของเราพอติดไฟแดงเราค่อยลงไป ไฟเขียวเราไม่เดิน หากตำรวจจับ ถูกปรับถึง 2000" ดังนั้นจึงจะรอที่ริมฟุตบาทจนกว่าลูกค้าจะส่งซิก หรือบีบแตรเรียกซื้อจึงจะลงไปส่งให้ที่รถ และการที่ร้านตั้งอยู่ใกล้แยกจักรพรรดิพงษ์ก็นับเป็นทำเลที่ได้เปรียบเวลาที่รถจอดติดไฟแดงด้วย

"ถนนเส้นนี้ส่วนใหญ่รถติดเกือบตลอดทั้งวัน เขาเดินกันหมดทุกเจ้าทั้งถนนเส้นนี้ยาวเลย เลี้ยวขวามาเจอหมด...หลานหลวง นครสวรรค์ จนเมื่อก่อนเขต, ตำรวจทนไม่ไหว เขาวิ่งไล่จับเหมือนจับโจรเลย เจ้าอื่นเขาคนเยอะกว่า คนเราน้อยก็ต้องวิ่ง ไม่งั้นเราสู้เขาไม่ได้ ร้านเรามีแค่สองเตาเอง คนเราก็น้อย ทำกันในครอบครัว เราขายพอเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างในหลวงบอก พออยู่ได้ พอเลี้ยงลูกน้องได้เท่านั้น" ไพบูลย์กล่าว และพิเศษสำหรับใครที่อยากชิมฝีมือปลายจวักแม่กิมยุ้ยกันสดๆ ตัวจริง ไพบูลย์กระซิบให้มาวันอาทิตย์ที่ซอยกล้วยทอดเก่า เพราะแม่ของเขาจะมาขายทุกอาทิตย์

"ถ้าใครผ่านไปผ่านมาแถวถนนจักรพรรดิพงษ์ แล้วอยากทานกล้วยแขกที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ มีส่วนผสมของสมุนไพร รสชาติกรอบนอกนุ่มในก็มาแวะได้ที่ร้านกล้วยทอดแม่กิมนุ้ยครับ สู้แล้วรวย เอี๊ยมแดง"

เอี๊ยมเหลือง 'กล้วยทอดคุณชาย'

แม้จะเป็นเจ้าล่าสุดบนถนนสายกล้วยทอดแห่งนี้ แต่เอี๊ยมเหลืองอย่าง 'กล้วยทอดคุณชาย' ก็ไม่เชิงเป็นหน้าใหม่ในวงการกล้วยทอดเท่าใดนัก เพราะเจ้าของร้านอย่าง อนุชา วิเชียร ทำงานในแวดวงนี้มากว่า 3 ปี เขาเคยเป็นลูกจ้างของร้านแม่กิมล้งเอี๊ยมขาวมาก่อนจะออกมาตั้งร้านของตัวเองเมื่อไม่นานนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหน้าร้านขายอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ใช้กลยุทธ์กระจายกำลังคน และรับส่งกล้วยทอดด้วยมอเตอร์ไซค์แทน

"ถือว่าเราเป็นเจ้าล่าสุดบนถนนสายนี้ ก่อนหน้านี้เขาจะมีเอี๊ยมขาว เอี๊ยมน้ำเงิน เอี๊ยมแดง แล้วเราเปิดตัวเป็นน้องใหม่ล่าสุดคือเอี๊ยมเหลือง คิดว่าเสื้อแดงขาวน้ำเงินเขามีแล้ว เป็นสีธงชาติด้วย ปีนี้เป็นปีมงคลเลยเลือกใช้สีเหลือง ลูกค้าก็ชอบด้วย อยู่บนถนนก็เด่น"

"จริงๆ แล้วเราก็ไม่ใช่หน้าใหม่อะไร เพราะเราก็อยู่ในวงการกล้วยทอดอยู่ สูตรมันก็คงไม่ห่างกัน ลูกค้าได้ทานก็ติดใจ" อนุชากล่าว แต่ตอนนี้เอี๊ยมเหลืองของเขายังมีแต่เฉพาะกล้วยทอดอย่างเดียว ยังไม่มีเผือกมันและข้าวเม่า เพราะจำนวนเตาน้อย ทอดไม่ทัน เมื่อมีแต่กล้วยเพียงอย่างเดียว วันหนึ่งเขาจึงใช้กล้วยเฉลี่ยถึง 200 หวีเลยทีเดียว

"เราใช้กล้วยน้ำว้าห่ามไม่สุกมาก พอทอดมันจะกรอบแป้งด้านนอก นุ่มกล้วยด้านใน รสชาติมันจะพอดี เทคนิคจริงๆ แล้วมีอยู่สองอย่าง คือ การผสมแป้ง และวิธีการทอด ที่จำเป็นต้องคอยระวัง คือถ้าผสมมากไปแป้งก็จะแข็ง ต้องจำสูตรไม่งั้นมันจะเพี้ยนไป วิธีการทอดไฟแรงก็ไม่ได้ ไฟอ่อนก็ไม่ได้" ประสบการณ์เหล่านี้เขาได้มาตั้งแต่ยังไม่มีร้านเป็นของตัวเอง พอมาทำเองจึงไม่ต้องเสี่ยงกับการลองถูกลองผิด

ถามถึงการไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเองบนถนนใหญ่เหมือนเอี๊ยมสีอื่นๆ อนุชาบอกว่าไม่ถือเป็นข้อเสียเปรียบ อาจเพราะเขาเองเป็นเจ้าของร้านที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ตื่นไปจ่ายตลาด คั้นมะพร้าว ลงมือผสมแป้ง ไปจนถึงเดินขายริมถนนด้วยตัวเอง ทำให้ลูกค้าจดจำเขาได้ เมื่อมีข้อติชมแนะนำอะไรเขาก็สามารถนำไปปรับปรุงได้ทันที

"จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นการเสียเปรียบอะไรเลย ถ้าหากลูกค้ามาซื้อกล้วยทอดบนถนนเส้นนี้ พอชิมแล้ว รสชาติมันอร่อย วันหลังเขาเห็นเอี๊ยมเราเขาก็จะซื้อจากเราอีก ลูกค้าส่วนมากเขาจะจำที่เอี๊ยม การเดินมาขายกลับดีเสียอีก ลูกค้าได้รู้ว่าเราเป็นเจ้าของก็จริงแต่สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าร้านอยู่ในร้านคอยรับเงิน เราเปิดใจกับลูกน้อง เราสามารถช่วยลูกน้องขายได้ อยู่ด้วยกันแบบสบายๆ"

ด้วยความที่จุดขายกับเตากล้วยทอดของเอี๊ยมเหลืองอยู่กันคนละจุด อนุชาจะใช้มอเตอร์ไซค์บรรทุกกล้วยทอดไปส่งให้พนักงานแต่ละจุด ก่อนจะเดินเลาะตามถนนไปเรื่อยๆ แต่เขาย้ำว่าจะไม่ไปรบกวนผู้ใช้ถนน หากเมื่อมีลูกค้าเรียกจึงจะลงไปขาย พนักงานขายทุกคนจะไม่ใช้เด็กวัยรุ่น แต่จะเลือกคนที่อายุมากหน่อย เพื่อมีวุฒิภาวะพอพูดจาสุภาพต่อลูกค้า

ถามถึงปัญหาจราจรที่ก่อนหน้านี้เคยมีการร้องเรียนว่าผู้ขายกล้วยทอดทำรถติด อนุชาบอกว่า "การที่เขามาจอดรถซื้อทำให้เกิดปัญหารถติด มันไม่มีที่จอดรถ เราใช้บริการส่งถึงที่แบบนี้ก็อาจจะขัดใจคนอื่นเขาบ้าง จริงๆ แล้วตำรวจเขาก็ไม่อยากจะจับแต่มันเป็นหน้าที่ เราก็ยอมรับผิด เพราะมันผิดพรบ.ท้องถนน แต่เราก็พยายามสร้างความเดือดร้อนให้น้อยที่สุด จริงๆ แล้วเราก็เสี่ยงนะ การที่ลงไปขายอย่างนี้ แต่เราไม่ได้ลงไปขายช่วงไฟเขียว เราลงไปขายตอนไฟแดง รถมันไม่ได้ขยับเขยื้อน สมมติถ้าลูกค้ามาจอดยังไงรถก็ต้องติดแน่ การมีดีลิเวอรี่แบบนี้มันน่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ ดีกว่าให้เขามาจอดซื้อแล้วรถติด"

ถึงบรรทัดนี้ อยากรู้ว่าเจ้าไหนจะอร่อยกว่ากัน คงต้องลองไปชิมด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าสงครามนี้มีแต่ความอร่อย!

********************
เรื่อง/ภาพ รัชตวดี จิตดี














กำลังโหลดความคิดเห็น