xs
xsm
sm
md
lg

'Vega' เงาของลูกบาสฯไทยในเอ็นบีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในฟุตบอลโลก 2006 คนไทยได้ภูมิใจว่าลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันอย่าง "ทีมไกสต์" เป็นผลงานที่ประทับตรา "เมด อินไทยแลนด์" พอให้นึกครึ้มกันไปได้ว่าแม้ทีมฟุตบอลไทยจะไม่ได้ไปบอลโลก แต่อย่างน้อยลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันก็บินไปจากแหล่งผลิตที่เมืองไทย อันที่จริงแล้วอุปกรณ์กีฬาที่ประทับตรา "เมดอินไทยแลนด์" มิใช่เพิ่งมีแต่ลูกฟุตบอล "ทีมไกสต์" เพียงรายเดียวแต่มาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาในเมืองไทยหลายแห่งก็เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของแบรนด์ดังทั่วโลก

ดังเช่นเรื่องของลูกกลมๆในกีฬาบาสเกตบอล กีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสามในสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่าอินทรีมหาอำนาจย่อมเผยแพร่ความนิยมในกีฬาประเภทนี้ไปทั่วโลกในภายใต้ทัวร์นาเมนต์อาชีพ บาสเกตบอลเอ็นบีเอ สร้างความน่าตื่นเต้นในเวทีระดับโอลิมปิกด้วย "บาสดรีมทีม" สร้างซูเปอร์สตาร์อย่าง "ไมเคิล จอร์แดน" ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าความน่าตื่นตาทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นหากลีกอย่าง "เอ็นบีเอ" ไม่ได้รับความสนับสนุนจากแรงงานในโรงงานของบริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังของไทย "แกรนด์สปอร์ต" ที่ทำการผลิตลูกบาสภายใต้แบรนด์ "สปาลดิง" (Spalding) ซึ่งเป็นลูกบาสเกตบอลที่ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

ความสามารถของแรงงานไทยรวมไปถึงความพร้อมของวัตถุดิบอันได้แก่ยางพาราเกรดเอ นั่นคือความไว้วางใจแรกที่เจ้าของแบรนด์ดังจากต่างประเทศที่มอบหมายให้บริษัทในเมืองไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ใช้ในการแข่งขันระดับโลกอย่างเอ็นบีเอ แต่เหนืออื่นใดคุณภาพ และ ค่าแรง คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้เมืองไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในสินค้าส่งออกที่อย่างน้อยนำเอาความภาคภูมิใจให้กับคนไทยในเวทีสากล

*ย้อนรอย "แบรนด์สปาลดิ้ง" (Spalding)

อุปกรณ์กีฬาภายใต้ตราสัญลักษณ์สินค้า "สปาลดิง" (Spalding) นั้นไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากกีฬาบาสเกตบอล เมื่อทีมข่าวกีฬาผู้จัดการรายวันได้สืบค้นต้นกำเนิดของแบรนด์ดังในสหรัฐฯยี่ห้อนี้ก็พบว่า ในปี ค.ศ. 1878 อัลเบิร์ต กู้ดวิลล์ สปาลดิ้ง นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้คลั่งไคล้ในกีฬาเบสบอล เป็นผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับเครื่องกีฬาภายใต้ตราสัญลักษณ์ "Spalding" ขึ้นมาที่ชิคาโก

จากนั้นในปี 1891 เมื่อกีฬาบาสเกตบอล เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น "เจมส์ เนย์สมิธ" ชายหนุ่มจากแมสซาชูเซตส์ เป็นอีกหุ้นส่วนหนึ่งได้เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตลูกบาสเกตบอลป้อนให้กับบริษัทของ "อัลเบิร์ต" เพื่อจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้าเดียวกันจนเป็นที่แพร่หลายในสหรัฐฯ ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จาก Spalding รุ่นแรกๆ ภายใต้ชื่อ "Vintage Laceless" ในช่วงทศวรรษที่ 30 จนมาเป็น Rucker 1946 ซึ่งเป็นอีกรุ่นที่แพร่หลายกันในยุค 40 ที่สุดด้วยกระบวนการผลิตที่เจ้าของแบรนด์ไม่ยอมหยุดนิ่ง ทำให้ลีกเอ็นบีเอตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ลูกบาสเกตบอล "Spalding" ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 1983

แน่นอนว่ากว่าจะถึงผลสำเร็จสูงสุดที่ได้รับเลือกเข้าสู่ลีกอาชีพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกอย่างเอ็นบีเอ ผู้ผลิตเครื่องกีฬาภายใต้แบรนด์ "Spalding" มีทีมนักวิทยาศาสตร์การกีฬารวมไปถึงวิศวกรที่ทำการออกแบบลูกบาสฯให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวที่ใช้ในการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในที่ร่มหรือกลางแจ้ง รวมไปถึงลูกบาสเกตบอลที่สามารถใช้ได้กับสภาพพื้นผิวของสนามทั้งสองรูปแบบ

ไม่ใช่เพียงคุณภาพ ความทนทานของบาสเกตบอลทุกลูกเท่านั้นที่ Spalding ใส่ใจให้ความสำคัญ บริษัทยังต้องปรับเปลี่ยนพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับแต่ละยุคสมัย เช่นในรุ่นของ Ballon Officiel NBA Platinum ZK Pro หรือจะเป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดของสีสันลงบนลูกบาสเกตบอลจนมาเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันอย่าง Ballon Officiel NBA Crosscourt Underglass หรือ Ballon Officiel NBA Crosscourt Basic Blue / Red

ด้วยวิวัฒนาการทางกระบวนการผลิตอันก้าวหน้า Spalding ได้พัฒนามาถึงรุ่น Ballon Official NBA Infusion Professional Dual ซึ่งเป็นลูกบาสเกตบอลไฮเทคซึ่งสามารถถอดก้านสลักออกมาเพื่อทำการปั๊มลมเข้าไปในลูกได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ (ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบลมใดๆ) จากนั้นก็ทำการล็อกก่อนจะกดก้านสลักดังกล่าวลงไปเป็นการเสร็จกระบวนการ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวทางบริษัทสามารถการันตีได้ว่าจะไม่ทำให้เรื่องของน้ำหนักหรือการถ่วงดุลของลูกบาสรุ่นดังกล่าวสูญเสียไป

นอกเหนือจากลูกบาสเกตบอลขนาด 7 (เส้นรอบวงอยู่ที่ 29.5 นิ้ว) มาตรฐานที่ใช้ทำการแข่งขันในเอ็นบีเอแล้ว Spalding ยังปรับกลยุทธ์ทางการตลาดในเมื่อได้จับมือสนับสนุนลีกเอ็นบีเออย่างเป็นทางการ ทำให้บริษัทได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตลูกบาสเกตบอลที่มีการเพนต์บอลเป็นสีสันสัญลักษณ์ของทีมต่างๆ ในลีก รวมไปถึงการประทับชื่อและเบอร์ของบรรดาซูเปอร์สตาร์เพื่อให้แฟนๆ ได้ซื้อหาไปเก็บเป็นที่ระลึกกัน

สำหรับ Spading ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของวงการยัดห่วงระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าตลาดของพวกเขามีอยู่ทั่วทุกแห่งหนของโลก และเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจที่ลูกบาสเกตบอลอันเป็นแบรนด์ชั้นนำของโลกนั้นผลิตโดย "แกรนด์สปอร์ต" บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของไทย โดยเป็นการผลิตตามมาตรฐานที่ได้รับการอนุญาตจากสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ ฟีบา (FIBA) โดยแกรนด์สปอร์ตผลิตลูกบาสเกตบอลส่งให้กับ Spalding มายาวนานกว่า 50 ปี

*'Spalding' – 'Vega' ชื่อต่างบนคุณภาพเดียวกัน

แน่นอนว่าระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปีที่แกรนด์สปอร์ตผลิตลูกบาสระดับโลกภายใต้แบรนด์ Spalding สิ่งหนึ่งนอกเหนือจากมูลค่าทางการตลาดที่พวกเขาได้รับนั้นคือ ความชำนาญ ในทุกขั้นตอนของการผลิตลูกบาสเกตบอลระดับโลก ทั้งหมดนี้บวกกับประสบการณ์ในการผลิตอุปกรณ์กีฬาที่แกรนด์สปอร์ตมีอยู่อย่างครบถ้วน ทำให้บรรดาผู้บริหารของแกรนด์สปอร์ตเกิดแนวคิดที่จะนำคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกที่มีอยู่ในมือสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมาเป็นสินค้าของคนไทย

จากแนวความคิดดังกล่าวลูกบาสยี่ห้อ วีก้า (Vega) ที่ใช้วัสดุและระบบการผลิตในแบบเดียวกับ Spalding จึงได้ถือกำเนิดขึ้นและกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกด้วยฝีมือคนไทยภายใต้การรับรองของ FIBA ซึ่งนำฝีมือคนไทยไปผงาดบนเวทีโลกมาแล้ว ที่สำคัญได้รับการรับรองจากฟีบา (FIBA) สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ

"ชัย นิมากร" กรรมการผู้จัดการของบริษัท แกรนด์สปอร์ต จำกัด ได้เล่าให้ทีมข่าวกีฬาฟังถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ว่า

"ชื่อ Vega มาจากโรงงานที่ผลิตบริษัท วีก้าบอลส์ แมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อนราวปี 2531 เป็นโรงงานที่ทางแกรนด์สปอร์ตร่วมทุนกับบริษัทของทางไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตบาสเกตบอลให้กับผู้นำในวงการบาสเกตบอลคือ " Spalding NBA" นอกจากนั้นก็มี "ไนกี้ (NIKE)" อีกรายหนึ่งที่เรารับหน้าที่ผลิตลูกฟุตบอลให้ด้วย ซึ่งสินค้าที่ทางแกรนด์สปอร์ตผลิตให้กับสองแบรนด์ดังนับเป็น 70-80 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตจากโรงงานที่ผลิตให้กับแบรนด์ระดับโลก นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์กีฬาที่ทางแกรนด์สปอร์ตผลิตให้กับรายย่อยอีกกว่า 10 ราย มาตรฐานของผลิตภัณฑ์รวมไปถึงคุณภาพที่ได้รับการยอมรับจาก NBA, FIBA และ FIFA การถือกำเนิดของสินค้าระดับโลกภายใต้แบรนด์ของแกรนด์สปอร์ตที่ชื่อ Vega จึงเกิดขึ้น

โดยผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นลูกบาสเกตบอล ลูกฟุตบอล ในแบรนด์วีก้านั้นเปิดตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาและได้รับความไว้วางใจในการแข่งขันซีเกมส์ 2003 ที่ เวียดนาม, บาสเกตบอลนักเรียนชิงแชมป์อาเซียนครั้งที่ 8 และยู-ลีก ของประเทศไทย"

ซึ่งแน่นอนกว่าจะเดินมาถึงจุดนี้การทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงมาตรฐานการผลิตนั้นไม่ง่ายเลย โดยผู้บริหารของบริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังของไทยเล่าให้ฟังว่า

"ในสายการผลิตนั้นมีมาตรฐานของสินค้าตั้งไว้อยู่แล้ว เราเพียงแต่ตอบโจทย์และผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพหลังจากผลิตเสร็จทุกครั้งเพื่อให้ลูกค้าของแกรนด์สปอร์ตมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์นี้ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกชิ้น และที่โดดเด่นที่สุดคือเรามีตรา FIBA รับประกันเรียบร้อย สามารถใช้ในการแข่งขันระดับสากลได้เลย นอกจากนี้ Vega ยังมีข้อได้เปรียบแบรนด์นอกคือราคาที่ถูกกว่าสนนราคาลูกหนึ่งอยู่ที่ 900 บาท ในขณะที่สเปกเดียวกันเกรดเดียวกันของต่างประเทศอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท อาจจะมีการปรับเล็กน้อยเท่านั้น แต่มาตรฐานและคุณภาพของลูกบาสเกตบอลเท่าเทียมกัน แต่อาจจะมีลิขสิทธิ์ของหนังโรงงานนี้รับสเปกตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็ไปหาโรงงานอื่นมาทำให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันในเรื่องของวัสดุก็ได้"

เท่ากับว่าผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

"มีหลายโรงงานของไทยที่สนับสนุนสินค้าระดับโลก แต่ละกลุ่มอาจจะสนับสนุนให้กับสินค้าเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 หรือไล่ระดับกันลงมา แต่ปัจจุบันนี้แบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาสั่งของมีมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวดมาก ต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าโรงงานนั้นไม่โก่งค่าจ้างแรงงาน ไม่ใช้แรงงานเด็ก ส่วนทาง FIFA หรือ FIBA กว่าเราจะขออนุญาตได้ต้องแสดงใบรับรองจากภาครัฐเช่นกระทรวงแรงงานว่าเราอยู่ในโครงการของเขา และไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก สารที่ใช้ต้องไม่เป็นสารพิษ กาวจะต้องไม่ส่งผลกระทบ จะมีสเปกซึ่งเราต้องผ่านมาตรฐานขั้นต้นเหล่านั้นก่อนถึงมาดูคุณภาพ"

*Vega กับ Spalding มีความแตกต่างกันมากน้อยในระดับไหน

"สเปกหนังกับวัสดุต่างๆ ใกล้เคียงกัน ส่วนประกอบข้างในแทบจะเหมือนกันอยู่แล้ว คือโรงงานของเราต้องคงมาตรฐานการผลิตตั้งแต่แรกเอาไว้ เราไม่สามารถขยับสองมาตรฐานได้เพราะหากคนงานเคยชินกับการผลิตงานไม่ดีหรืองานเกรดบีแล้วอีกวันต้องไปทำของเกรดเออีกลูก ตรงนั้นจะลำบากมาก ดังนั้นเราจะมีการฝึกหัดพนักงานให้เคยชินกับเรื่องของคุณภาพที่ตายตัวและแน่นอน เพราะฉะนั้นเกรดที่ต่ำกว่าคงรับทำไม่ได้ ซึ่ง Vega ก็เป็นหนึ่งในโรงงานผู้ผลิตหลักให้กับ Spalding ทางด้านบาสเกตบอลมานานแล้ว

ปัจจุบันโรงงานของเราทำการผลิตอยู่ 18,000-20,000 ลูกต่อวัน กำลังคนประมาณ 650 คน วัตถุยางก็จากทางใต้แต่ในเรื่องของวัตถุเคมีต้องนำเข้ามา ส่วนใหญ่โครงสร้างเป็นยาง ส่วนหนังด้านนอกที่ใช้ปะเข้าไปก็มีการสั่งจากเกาหลี จากไต้หวัน ส่วนหนึ่งของพีวีซีก็ทำในไทย แต่ถ้าเป็นพียูก็เป็นต่างประเทศ"

*ความภูมิใจในแบรนด์ไทยแต่คุณภาพระดับโลก

"หลังทำการสืบค้นจนพบว่าลูกบาสเกตบอลแบรนด์ดังอย่าง Spalding นั้นผลิตในเมืองไทยจากโรงงานของแกรนด์สปอร์ต ที่สำคัญบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของไทยยังพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งด้วยการผลิต Vega ลูกบาสเกตบอลที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับ Spalding ที่แม้ในวันนี้จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากัน แต่เรื่องของคุณภาพนั้นไม่ได้เป็นรองแม้แต่น้อย และได้รับการยอมรับจากตลาดผู้ใช้ที่ต้องการสินค้าคุณภาพสมราคาโดยไม่สนใจว่าจะเป็นแบรนด์ดังหรือไม่"

เมื่อสามารถผลิตสินค้าในคุณภาพระดับโลกย่อมมีคำถามที่ว่าเมื่อใด Vega จะก้าวไปในระดับเดียวกับ Spalding จึงตามมาซึ่ง ชัย นิมากร ได้ให้คำตอบว่า

"เราอยากเติบโตไปทีละขั้น ถึงด้วยสถานะของ Vega ในเวลานี้คิดว่าคงลงทุนมากเกินไป หากต้องการสร้างความนิยมไปทั่วโลกก็ต้องให้ความสนับสนุนการแข่งขันรายการใหญ่ๆ อย่างฟุตบอลโลกนี่อาจจะต้องทุ่มถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 400 ล้านบาท) แต่หากจะทำเช่นนั้นได้ต้องมีตลาดรองรับสัก 100 ประเทศ ค่าเฉลี่ยต่อประเทศก็จะน้อย แต่ถ้าหากจุดเริ่มต้นมีตลาดเพียงแค่ 3-4 ประเทศเท่านั้น แล้วไปเป็นสปอนเซอร์ระดับโลกยอดขายยังไม่พอค่าสปอนเซอร์ก็จะไม่คุ้มกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้แกรนด์สปอร์ตเบนเข็มมายังตลาดคนที่ต้องการคุณภาพ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินขนาดนั้น เช่นลูกบอลลูกละ 4,000 บาท แต่ไปซื้อลูกละ 700 ได้ 6 ลูกไปเตะ อาจจะใช้ในมหาวิทยาลัยหรือที่ไหนก็ได้ แต่คุณภาพก็ได้รับการยอมรับเหมือนกัน ซึ่งตลาดนี้จะต่างจากตลาดที่ผู้ใช้สนใจเรื่องแบรนด์ที่ส่วนใหญ่จะซื้อเพราะอาจมองว่าเป็นสินค้าระดับโลก หรือซื้อเป็นของที่ระลึกซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เป็นชั้นเชิงทางการตลาด และผู้บริโภคต้องจ่ายค่าพรีเมียมตรงนั้น

ถึงเวลานี้คู่แข่งของ Vega เห็นจะเป็นโมลเท่น (Molten) ส่วนลูกฟุตบอลในระดับนานาชาติคงเป็น Adidas (อาดิดาส) แต่การที่เราได้รับใบรับรองของ FIBA ซึ่งผู้ใช้มั่นใจได้เลยว่าสามารถนำไปเล่นในเกมระดับสากลอย่างสบายใจเพราะอย่างน้อยตรารับรองดังกล่าวจาก FIBA ก็หมายถึงการการันตีมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว"

*อนาคตของ Vega จะไปได้ไกลแค่ไหนในเวทีโลก

"คงต้องอาศัยวิธีการเจาะเข้าไปทีละประเทศ ถ้าจะให้ไปถึงระดับเวิลด์แบรนด์คงจะลำบาก เพราะแรงโฆษณาในระดับโลกเราคงจะไม่มีทุนไปสู้กับเขาได้ แต่ถ้าเป็นในระดับรองลงมาและอาศัยคุณภาพรวมถึงราคาที่สมเหตุสมผลผมเชื่อว่าเรามีโอกาสสูง ส่วนในอนาคต Vega คงจะพัฒนาแค่เรื่องของสีสันและลายกราฟฟิคเท่านั้น เพราะมาตรฐานของตัวอุปกรณ์นั้นค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว"

ถึงเวลานี้คนไทยที่ยังน้อยอกน้อยใจว่าทำไมนักกีฬาไทยไม่โกอินเตอร์สักที คงได้เชิดหน้าด้วยความภูมิใจว่าอย่างน้อยคุณภาพของอุปกรณ์กีฬาที่ผลิตด้วยฝีมือแรงงานไทยก็กลายเป็นสินค้าระดับโลก แม้ว่าทุกวันนี้ลูกบาสเกตบอลแบรนด์ "Vega" อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นหูและรู้จักในวงการบาสเกตบอลระดับโลกดั่งเช่นสปาลดิ้ง แต่อย่างน้อย วีก้า ก็เปรียบได้ดั่งเงาของ สปาลดิ้ง ที่พร้อมจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการคุณภาพมาตรฐานเทียบเคียงระดับโลกแต่งบประมาณมีจำกัด

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง - สรเดช เพชรแสงใสกุล / ดิษฐพงษ์ ภูศิริวรพันธุ์











กำลังโหลดความคิดเห็น