xs
xsm
sm
md
lg

เดินตามฝัน 'เลียบหิมาลัย' กับโลกที่มองผ่านเลนส์ของดวงดาว สุวรรณรังษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชื่อของดวงดาว สุวรรณรังษี เป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพ-นักเขียนสารคดีชั้นดีคนหนึ่งของเมืองไทย เธอเป็นผู้ก่อตั้งและปลุกปั้นนิตยสาร Nature Explorer นิตยสารสารคดีท่องเที่ยวที่คุณภาพของภาพถ่ายและเนื้อหาไม่แพ้หนังสือต่างประเทศเล่มไหน นอกจากนี้เธอยังเป็นนักเดินทางตัวยง ประสบการณ์ที่กลั่นตัวจนเข้มข้นอยู่ในสายเลือด ปลุกเร้าให้ผู้หญิงคนนี้ไปไกลจนถึงดินแดนหลังคาโลก และเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสเดินทางเลียบเลาะเชิงเขาหิมาลัยเพื่อซึมซับความงามผ่านเลนส์เกือบจะทุกแง่มุม

นับตั้งแต่การค้นหาดินแดนแชงกรี-ลา มายังทิเบต เนปาล สิกขิม ภูฏาน แคชเมียร์ ลาดักห์ และเส้นทางสายไหม-คาราโครัม เรื่องราวและภาพถ่ายในการเดินทางทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงในหนังสือที่มีชื่อว่า "เลียบหิมาลัย จากแชงกรี-ลา สู่หลังคาโลก" และขยายไปสู่การจัดนิทรรศการภาพถ่ายการแรมทางเลียบหิมาลัย เพื่อให้หลายคนที่ยังไม่มีโอกาสเดินตามฝัน ได้เลียบเลาะอาณาจักรหิมาลัยไปกับภาพถ่ายของเธอ

จากแชงกรี-ลา สู่หลังคาโลก

"…ฉันเองได้พบดินแดนแชงกรี-ลาของตนแล้ว หวังว่าคนที่ยังมิได้สัมผัสจะได้พบแชงกรี-ลาของตนเข้าสักวันหนึ่งเช่นกัน" คือถ้อยความที่ดวงดาว สุวรรณรังษี ปิดท้ายในสารคดี 'แรมทางสุดขอบฟ้าค้นหาดินแดนแชงกรี-ลา'

แชงกรี-ลาคืออะไร…ทำไมใครๆ ถึงอยากค้นหาดินแดนนี้นัก?

ในบ่ายวันที่ฟ้าหลัวอากาศหม่นมัวชวนอึดอัด เรามีโอกาสมาเยือนบ้านย่านคลองจั่นของช่างภาพสารคดีหญิงแถวหน้าของเมืองไทยคนนี้ ดวงดาวต้อนรับเราในชุดอยู่บ้านสบายๆ เช่นเดียวกับบรรยากาศรอบตัว แทบไม่น่าเชื่อว่าไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เธอกำลังดั้นด้นระหกระเหินอยู่บนเส้นทางของนักสำรวจสู่ดินแดนหลังคาโลก ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันคนละขั้ว มิต้องเอ่ยถึงสภาพภูมิอากาศอันโหดร้ายทารุณต่อคนพื้นราบ

จุดเริ่มต้นของการเดินทางเลียบอาณาจักรหิมาลัยของดวงดาว เริ่มมาจากการสำรวจเส้นทาง เมื่อครั้งที่เธอยังทำงานอยู่ที่นิตยสารอสท.ให้แก่ททท. เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ครานั้น ดวงดาวเป็นหนึ่งที่ร่วมขบวนคาราวานมิตรภาพ จากเมืองไทย ผ่านพรมแดนพม่า ลาว เพื่อไปยังยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งจุดหมายไม่ใช่แค่เพียงการทำหนังสือท่องเที่ยวสวยงาม แต่เป็นการบุกเบิกเส้นทางรถยนต์เชื่อมโยงลุ่มแม่น้ำโขงสายใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ และนับเป็นการเปิดเส้นทางสู่สิบสองปันนาจากประเทศไทย รวมทั้งสิ้นใช้เวลาสำรวจ 16 วัน

"คาราวานมิตรภาพครั้งนั้นใช้รถโฟร์วีลเป็นพาหนะกว่า 50 คัน นับเป็นการบุกเบิกสำรวจเส้นทางรถยนต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะตอนนั้นยังไม่มีการเปิดพรมแดนเป็นทางการ พม่าก็มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ตอนนั้นก็มีกระแสแย้งมาว่าททท.ทำอะไรอยู่ สนับสนุนให้คนไปเที่ยวนอกประเทศอย่างนั้นหรือ แต่ที่จริงเป็นเรื่องของการพัฒนาและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวที่ไทยเราก็ได้ประโยชน์ด้วย"

จากนั้น ในปี 2543 เธอและทีมงาน Explorer ได้บุกเบิกเส้นทางสำรวจสู่ดินแดนแชงกรี-ลา ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในบริเวณจงเตี้ยนและเต้าเฉิงในจีน และเดินทางขึ้นไปถึงชินเจียง บนเส้นทางสายไหมที่พาดผ่านขึ้นไปบรรจบเส้นทางสายคาราโครัมไฮเวย์ ซึ่งอยู่ปลายเทือกเขาหิมาลัยตะวันตกในปีถัดมา

และเมื่อเรื่องราวการค้นหาดินแดนแชงกรี-ลา ได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature Explorer ก็มีเสียงตอบรับจากผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนในฝันแห่งหิมาลัยอย่างมากล้น กอปรกับมนต์เสน่ห์แบบ Exotic ก็ผลักดันให้ทีมงานนิตยสารต้องชีพจรลงเท้าย่ำไปในดินแดนนี้อีกหลายหน จนกลายเป็นเส้นทางเลียบเลาะหิมาลัยในเวลาต่อมา

ดวงดาวอธิบายถึง 'ดินแดนแชงกรี-ลา' ว่า เป็นดินแดนในอุดมคติ หรือยูโธเปียของนักเดินทาง ที่มาจากจินตนาการของ เจมส์ ฮิลตัน ผู้ประพันธ์เรื่อง 'Lost Horizon' ซึ่งกล่าวถึง แชงกรี-ลาว่าเป็นดินแดนที่สงบงดงามราวสรวงสวรรค์ ผู้คนเป็นมิตร และการบรรยายอย่างวิจิตรของเขานี่เองที่ทำให้หลายคนออกตามหาดินแดนในจินตนาการที่ว่า และหลายคนเชื่อว่าแชงกรี-ลา คือดินแดนบนหลังคาโลกที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้

"ในนิยาย ธีมจะเหมือนทิเบตมาก จึงคาดเดาว่าแม้ในชีวิตผู้เขียนจะไม่เคยเดินทางมาในดินแดนแถบนี้ แต่ก็น่าจะมีเรื่องราวที่เป็นพื้นฐานของความเป็นจริง อีกอย่างคำว่าแชงกรี-ลา ก็ใกล้เคียงกับคำว่าชัมบาลาในภาษาทิเบตที่แปลว่า ดินแดนที่มีพื้นฐานแห่งความสุขสงบในเทือกเขาหิมาลัย"

ทุกชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณรอบเทือกเขาหิมาลัยต่างก็เชื่อว่า ตนเองคือดินแดนแชงกรี-ลาทั้งสิ้น หากแต่ในสายตาดวงดาวมองว่า จีนทำการตลาดได้เก่งที่สุด จึงไม่แปลกที่เพียงไม่กี่ปีถัดมา ถนนสู่จงเตี้ยนและเต๋อชิง แชงกรี-ลาของจีนจะได้รับการพัฒนาอย่างผิดหูผิดตา เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังดินแดนในฝัน กระทั่งในเวลาต่อมาทางการจีนได้เปลี่ยนชื่อจาก 'จงเตี้ยน' ให้เป็นแชงกรี-ล่าในที่สุด

หากแต่สำหรับดวงดาวแล้ว มิสำคัญว่าแชงกรี-ล่าอยู่ที่ใด หากแต่การเดินทางสู่ 'แชงกรี-ล่าภายในจิตใจ' คือสิ่งสำคัญที่เธอได้รับจากการเดินทางสู่เมืองนิมิตรนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงบันดาลใจสำคัญจากการเดินตามรอยของนักสำรวจพรรณไม้นาม โจเซฟ ร็อก

"ถามตัวเองว่าในชีวิตนี้อยากเดินทางไปไหน ซึ่งความฝันของนักเดินทางทั่วโลกทุกคนก็ฝันอยากจะไปสัมผัสดินแดนหลังคาโลกที่ทิเบต" ดวงดาวเล่าด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย นั่นจึงนำไปสู่การเดินทางสำรวจแชงกรี-ลาสายใหม่ตามรอยโจเซฟ ร็อก แห่งนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก โดยเส้นทางของนักสำรวจผู้นี้จะเดินทางจากลี่เจียง ข้ามมณฑลไปทะลุเสฉวน ผ่านถิ่นคามไปจนกระทั่งถึงทิเบต

คาราวานพิสูจน์ใจ

เส้นทางค้นหาแชงกรี-ลาสายใหม่ ตามรอยโจเซฟ ร็อก มายังภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ย่าติงในปี 2546 ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสำรวจครั้งสำคัญของดวงดาวในปี 2547 ถัดมาด้วยการสำรวจทิเบต อาณาจักรหลังคาโลก โดยเส้นทางรถยนต์จากยูนนาน ซึ่งเคยมีการบุกเบิกเส้นทางรถยนต์จากเมืองไทยมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่คราวนี้คณะสำรวจที่มีการบินไทยและททท.เป็นสปอนเซอร์ จะเริ่มต้นสำรวจต่อจากคุนหมิงไปลาซา ด้วยระยะเวลาที่ตั้งเป้าไว้ 14 วันโดยเส้นทางรถยนต์

และการสำรวจทางคาราวานรถยนต์ครั้งนี้เอง ที่ส่งบทพิสูจน์มาวัดใจดวงดาวและคณะสำรวจหลายครั้งหลายหน

"อุปสรรคในการเดินทางสำรวจมีมากมาย กับคนจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะโชคดีว่า การเดินทางแบบนี้ได้มันจะสกรีนคนให้แล้วระดับหนึ่ง แต่จะมีปัญหากับระบบที่ต้องขออนุญาตซับซ้อนหลายขั้นตอน บางครั้งเดินทางไปทั้งวันกว่า 200 กิโลเมตรตลอดทางไม่มีร้านอาหารหรือที่พักเลย ไหนจะปัญหาเรื่องของความสูงที่ส่งผลต่อสุขภาพ หรือรถในคณะสำรวจเกิดอุบัติเหตุคว่ำ แล้วยังพายุหิมะระหว่างทางอีก"

ปัญหาที่หนักที่สุดในการเดินทางสำรวจสู่ทิเบตคราวนี้ ก็คือเกิดการผิดแผนอย่างคาดไม่ถึง เมื่ออยู่ๆ เส้นทางสู่ทิเบตสายใต้ที่พวกเขาใช้เดินทางอยู่นั้น กลับมีอุปสรรคทั้งที่อีกเพียงไม่กี่วันก็จะเดินทางถึงเมืองลาซาแล้ว

"วันที่ 3 ก่อนจะถึงก็มีข่าวว่าสะพานข้างหน้าทางขาด ไปต่อไม่ได้ ซึ่งต้องรอซ่อม ไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ ตอนแรกที่รู้ว่าไปต่อไม่ได้ ท้อมาก เพราะเราเป็นคนวางแผนและมีผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วมด้วย ก่อนจะเดินทางได้ตกลงว่าจะร่วมรายงานการสำรวจทางโทรศัพท์กับรายการของดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ก็โทรไปบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดร.สมเกียรติกลับแนะนำให้มองวิกฤตเป็นโอกาสว่า โชคดีแล้วที่ขบวนรถในคณะเราไม่ได้อยู่บนสะพานนั้น"

"เราก็เลยมากางแผนที่ดูกันแล้วตัดสินใจเปลี่ยนแผนไปใช้เส้นทางทิเบตสายเหนือ ซึ่งต้องย้อนกลับขึ้นไปหนึ่งวัน และเส้นทางนั้นก็อ้อมกว่า และเราไม่มีข้อมูลอะไรเลย เนื่องจากเตรียมตัวมาใช้เส้นทางทิเบตสายใต้ พอผิดแผนทุกอย่างก็รวนหมด ทั้งที่พักที่จองไว้ ไหนจะเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงเงินค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น คนในคณะส่วนใหญ่ก็มีเวลาจำกัดกันทุกคน ก็เลยมีคนเสนอให้ไปทางเครื่องบินแทน แต่นั่นมันผิดจากที่เราตั้งใจไว้คนละเรื่องเลย"

โชคดีของดวงดาว ที่ประธานคณะสำรวจครั้งนั้นอย่างปองพล อดิเรกสาร เข้าใจจุดประสงค์ของการเดินทางสำรวจนี้ ในที่สุดคณะสำรวจก็เปลี่ยนมาใช้เส้นทางทิเบตสายเหนือจนกระทั่งเดินทางถึงลาซาในที่สุด แม้จะล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมไป 2-3 วัน

"การเดินทางเส้นทางทิเบตสายเหนือจะแย่กว่าสายใต้ เพราะสภาพถนน ระหว่างที่เดินทางกันนั้น เราก็ได้พบเห็นการจาริกแสวงบุญของชาวทิเบต ซึ่งเขาจะเดินเท้าไปแสวงบุญที่ลาซาโดยการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ไปตลอดทาง พอพูดคุยกับเขาก็ทราบว่าพวกเขาต้องใช้เวลาเดินทางถึง 140 วัน ทำให้คิดได้ว่าการเดินทางของเราก็เหมือนการจาริกแสวงบุญ การเดินทางด้วยศรัทธาเหมือนกัน เราจะล้มเหลวไม่ได้ เพราะเป้าหมายที่เดินทางมาในเดือนพฤษภาคมก็เพราะตั้งใจว่า จะเดินทางไปให้ถึงลาซาในวันวิสาขบูชา อยากเห็นบรรยากาศทิเบตในวันสำคัญทางศาสนา ฉะนั้น ก่อนที่จะเดินทางมาที่นี่เราต้องรู้และถามตัวเองก่อนว่า เรามาเพื่ออะไร" ช่างภาพสารคดีหญิงผู้รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ สรุปถึงข้อคิดที่ได้จากการสำรวจเส้นทางจากแชงกรี-ลาสู่ทิเบตครั้งนี้

ที่สำคัญ การเดินทางครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการเดินทางสำรวจทางรถยนต์เป็นไปได้ และประเทศไทยได้กลายเป็นประตูสู่ 'หิมาลัย' หรือ 'Gateway to the roof of the World' อย่างแท้จริง

อาณาจักรหิมาลัย

หากแต่เมื่อมาถึงลาซา ได้สัมผัสดินแดนหลังคาโลกอย่างทิเบตสมความตั้งใจ ทั้งชมเทศกาลแข่งม้าและประเพณีการแขวนผ้าพระบฏแล้ว หัวใจผจญภัยของดวงดาวยังร่ำร้องที่จะออกไปเผชิญโลกกว้างต่อไป เธอจึงออกเดินทางข้ามหิมาลัยมาอีกฝั่งทางเนปาลที่มีเอเวอร์เรสต์ (เบสแคมป์) เป็นพระเอก ไปจนถึงสิกขิม นครรัฐที่เข้ามาอยู่ในความปกครองของอินเดีย, แคชเมียร์…สวิสเซอร์แลนด์ แดนภารตะ นอกจากนี้ ดวงดาวยังมีโอกาสได้ไปเยือนดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยอย่าง 'ภูฏาน' โดยไม่คาดฝัน

และที่ดูเป็นไฮไลต์อีกอย่างก็คือ คาราวานเลียบหิมาลัยในดินแดนที่ถูกขนานนามว่าเป็น 'ทิเบตน้อย' อย่างลาดักห์ ด้วยเส้นทางเก่าแก่ที่พุทธศาสนาในอินเดียใช้เผยแผ่เข้าไปในปากีสถาน ที่เชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าที่เก่าแก่ที่สุดอย่างเส้นทางสายไหม บนที่ราบสูงคาราโครัม ซึ่งพระถังซำจั๋งได้เดินทางมานำพระไตรปิฎกไปเผยแผ่ในแผ่นดินจีน และเป็นเส้นทางที่พระปัทมสัมภาวะใช้จาริกขึ้นไปก่อตั้งพุทธศาสนาสายวัชรยานที่ทิเบต จึงไม่แปลกที่ดวงดาวจะยังรู้สึกว่า การเดินทางเลียบหิมาลัยจะสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากขาดการแรมทางข้ามเทือกหิมาลัยโดยเส้นทางที่เก่าแก่ที่สุดสายนี้

ดินแดนทั้งหมดนี้ ดวงดาวขนานนามว่าคือ ดินแดนแห่ง 'อาณาจักรหิมาลัย' ซึ่งเธอก็มิได้เดินทางเพียงลำพัง แต่ยังมีทีมงานและช่างภาพ Explorer อย่าง สุรชัย มั่นคงพิทักษ์กุล และมนตรี ศรีโอภาส ร่วมทางไปเก็บประสบการณ์และภาพมาเรียงร้อยถักทอจนเป็นเรื่องราว 'เลียบหิมาลัย' ในครั้งนี้

"เราอยากจะนำเรื่องราวการเดินทางทั้งหมดนี้มาจัดทำเป็นนิทรรศการ โชคดีที่ไปเจอคุณศุภลักษณ์ อัมพุช ในงานของการบินไทย ก็เล่าความฝันและเอาหนังสือให้เธอดู เธอก็บอกว่าประทับใจในสิ่งที่เราทำมาก ฉะนั้น งานนิทรรศการครั้งนี้มันจึงเป็นทั้งงานศิลปะ และก็บอกเล่าถึงการเดินทางของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานช่างภาพและเป็นนักเดินทางเพียงไม่กี่คนที่สามารถเดินทางเลียบหิมาลัยจนครบ แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือในธีม 'จากแชงกรี-ลา ถึงหลังคาโลก' เป็นคนแรก หนังสือเล่มนี้มันจึงค่อนข้างจะเจาะเฉพาะกลุ่มมาก แต่อยากจะบอกว่านี่เป็นผลงานของคนไทย ซึ่งถ้าเอาไปเทียบกับต่างชาติก็ต้องบอกว่าเราไม่แพ้ฝรั่ง"

การขยายผลจากหนังสือ มาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ ดวงดาวหวังว่าไม่เพียงจะบอกเล่าประสบการณ์การเดินทางอันยากลำบากและยาวนาน แต่ยังหวังให้เส้นทางสายนี้สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่ได้รับชมเช่นกัน

"สิ่งที่ตั้งใจในแง่ศิลปินที่ทำงานถ่ายภาพมา 25 ปี แล้วได้มีโอกาสเดินทางเส้นทางนี้สำเร็จ มันเหมือนกับประกาศนียบัตรชีวิต สามารถบอกว่าถ้ามีทริปไหนที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตก็คงเป็นทริปนี้ มันไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่เป็นการแสวงหาและค้นพบตัวเอง ดิฉันพบว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง นอกจากแค่เป็นช่างภาพหญิงที่ถ่ายภาพวิวได้สวย แต่สามารถสัมผัสผู้คน วัฒนธรรม และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ด้วย อย่างน้อยที่สุดมันทำให้จิตใจและชีวิตเรามีคุณค่ามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ดิฉันไม่อยากได้รับคนเดียว แต่อยากให้คนอื่นได้มีความฝันจุดประกายแรงบันดาลใจให้คนอื่นด้วย"

เรื่อง - รัชตวดี จิตดี

//////////////////////

นิทรรศการภาพ "เลียบหิมาลัย จากแชงกรี-ลา สู่หลังคาโลก"

นิตยสาร Nature Explorer ร่วมกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เชิญชม "นิทรรศการภาพถ่าย เลียบหิมาลัย ภูฏาน เนปาล ทิเบต อินเดีย (Passage to The Himalayas : Bhutan, Nepal, Tibet, India)" ซึ่งรวบรวมสุดยอดภาพถ่ายจากการแรมทางเลียบเทือกเขาหิมาลัย ของดวงดาว สุวรรณรังษี ช่างภาพและนักเขียนสารคดีผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการท่องเที่ยวกว่า 20 ปี มาจัดแสดงในบริเวณ Lifestyle Hall ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน วันที่ 22 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน 2549 เวลา 10.00-21.00 น. โดยมีพิธีเปิดนิทรรศการในวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2549 เวลา 16.30 น. ประธานเปิดงานคือคุณปองพล อดิเรกสาร

ภายในงาน นอกจากจะได้ชมภาพถ่ายเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน วิถีชีวิตเรียบง่าย แต่งดงาม และงานประเพณีอันยิ่งใหญ่ตระการตาแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาบนเวทีเกี่ยวกับประสบการณ์การเดินทางเลียบหิมาลัยของนักเดินทาง นักเขียน ช่างภาพ และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 14.00-15.00 น. มีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้
วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพและเบื้องหลังการถ่ายภาพ โดย ดวงดาว สุวรรณรังษี และสุรชัย มั่นคงพิทักษ์กุล นักเขียนและช่างภาพผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวกว่า 10 ปี

วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม เรื่องคนรักหิมาลัย โดย นาธาน โอมาน ศิลปินเชื้อสายเนปาล, กันต์ สุสังกรณ์กาญจน์ ช่างภาพนักเดินทาง

วันเสาร์ที่ 2 กันยายน เรื่องประสบการณ์การขับรถเลียบหิมาลัย โดย กฤษณะ แก้วธำรงค์, สมศักดิ์ บูรพาพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญการขับรถออฟโรด มีประสบการณ์ขับรถข้ามประเทศ

วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน เรื่องเล่าประสบการณ์ปีนป่ายเทือกหิมาลัย โดย สุรจิต จามรมาน,นิพัทธ์พงศ์ ชวนชื่น และกลุ่มนักผจญภัยผู้ชื่นชอบการพิชิตขุนเขาสูงชัน

สำหรับผู้สนใจด้านการถ่ายภาพและเดินทางท่องเที่ยวรอบเทือกหิมาลัย สามารถพบปะพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับคุณดวงดาว สุวรรณรังษีและทีมงาน ทุกเสาร์และอาทิตย์ เวลา 17.00 -18.00 น. ได้ตลอดงาน
ทะเลสาบ Pangkong ลาดักห์
เทือกเขาเอเวอร์เรสต์
ถนนสู่เอเวอเรสต์ เบสแคมป์
พระราชวังโพทาลา ทิเบต
เทศกาลเทชู (Techu Festival) ภูฏาน
พิธีกรรม Mandara

ภูเขา Kanjengjunga สิกขิม
ดวงดาว สุวรรณรังษี

ดวงดาว และทีมช่างภาพ สุรชัย มั่นคงพิทักษ์กุล กับมนตรี ศรีโอภาส
หน้าปกหนังสือ “เลียบหิมาลัย จากแชงกรี-ลา สู่หลังคาโลก”
กำลังโหลดความคิดเห็น